ปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกช่วงรัชสมัยฮวน-หลิง(ปี146-189)ได้ริเริ่มสถาปนา “วัดพระเจ้าอโศก/阿育王寺” โดยก่อสร้างพระเจดีย์ไม้ 4 ชั้นเพื่อเป็นแห่งที่ห้าใน 19 วัดของจีนที่ได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดีย
ราชวงศ์ซีเว่ยได้ขยับขยายบริเวณวัดให้กว้างขวางใหญ่โตมากยิ่งขึ้นในปี 555 ล่วงมาถึงรัชสมัยถังเกาจู่ ปฐมกษัตร์ราชวงศ์ถัง(ปี566-635) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดฝ่าเหมินซื่อ—ประตูสู่พระธรรม” ในยุคถังนี้เองที่วัดฝ่าเหมินซื่อเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด
รัชศกว่านลี่ปีที่ 7 ราชวงศ์หมิง(ปี 1579) ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ขึ้นมาใหม่โดยการก่ออิฐแทนไม้ทรง 8 เหลี่ยม 13 ชั้น สูง 47 เมตร ครั้นล่วงมาถึงวันที่ 24 ส.ค. 1981 ได้เกิดฝนตกหนัก เป็นเหตุให้ซีกฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระเจดีย์เกิดแตกร้าวพังทลายลงมา ส่วนซีกด้านตะวันตกเฉียงเฉียงใต้ เกิดการเอียงตัวแต่ยังสามารถตั้งอยู่ได้ เหตุเภทภัยครั้งนี้นำไปสู่การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในวงการโบราณคดี
รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งจำเป็นต้องทำการปรับฐานรากใหม่ และแล้วในวันที่ 3 เม.ย. 1987 ได้ค้นพบวังใต้ดินที่ใต้ฐานพระเจดีย์องค์เก่าโดยบังเอิญ เมื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดี ได้ขุดพบสมบัติล้ำค่าที่หาได้ยากยิ่งของยุคถังเป็นจำนวนมาก ล้วนถือเป็นตัวแทนบนยอดปิรามิดของวัฒนธรรมยุคถัง
โบราณวัตถุที่ขุดพบในวังใต้ดินวัดฝ่าเหมินซื่อ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุ 4 องค์(1 องค์แท้ 3 องค์จำลอง)แล้ว ยังมี : เครื่องเงินชุบทอง 121 ชิ้น เครื่องแก้ว 20 ใบ เครื่องเคลือบ 17 ใบ เพชรนิลจินดา 400 เม็ด โบราณวัตถุหิน 12 ชิ้น เครื่องเขินและจิปาถะ 19 รายการ เสื้อผ้าอาภรณ์และสิ่งทอผ้าไหม 700 กว่าชิ้น และเงินอีแปะทองแดงหลายหมื่นเหรียญ ซึ่งชื่อเรียก เจ้าของ ขนาด วัสดุของโบราณวัตถุเหล่านี้ แต่ละรายการล้วนถูกบันทึกอย่างละเอียดลงบน《ศิลาจารึกบัญชีรายการวัตถุ》
ในบรรดาโบราณวัตถุที่ถูกฝังเก็บกว่าพันปีภายในวังใต้ดินวัด ในนั้นมีอุปกรณ์ชาราชสำนักยุคถังที่สวยเลอเลิศในปฐพีอยู่ชุดนึง ประกอบด้วยเครื่องเคลือบมี่สื้อ เครื่องแก้ว เครื่องเงินชุบทอง เป็นต้นที่ได้โผล่ขึ้นมารับแสงตะวันอีกครั้ง
เครื่องเคลือบมี่สื้อ มีจำนวนทั้งหมด 14 ชิ้นที่มีหลักฐานระบุแน่ชัดบน《ศิลาจารึกบัญชีรายการวัตถุ》ถือเป็นเครื่องเคลือบศิลาดลชนิดหนึ่งจากเตาเผาเย่ว เป็นเครื่องเคลือบที่เผาผลิตเพื่อราชสำนักโดยเฉพาะ จำนวนผลิตมีน้อยมากๆ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครได้พบเห็นของจริง เพียงแต่มีการกล่าวถึงและเขียนพรรณนาถึง การขุดพบครั้งนี้จึงเป็นการไขรหัสสิ่งเร้นลับกว่าพันปีในประวัติศาสตร์เครื่องเคลือบดินเผาของจีน
เครื่องแก้ว เนื่องจากเมืองจีนในช่วงสมัยนั้นยังขาดทักษะในการเผาผลิตเครื่องแก้ว กรรมวิธีการผลิตได้รับอิทธิพลจากทางแถบเอเชียตะวันตก ส่วนใหญ่จึงมีเอกลักษณ์ตามรูปแบบของเปอร์เซีย เนื่องจากเป็นของหายาก เครื่องแก้วจึงมีความล้ำค่าดั่งทองหยก ที่ขุดพบครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาม จาน ถ้วยและจานรอง มีจำนวนทั้งสิ้น 20 กว่าชิ้น
เครื่องเงินชุบทองอุปกรณ์ชา นี่เป็นชุดอุปกรณ์ชาพระราชวังที่วิจิตรประณีตที่สุด ตราบจนถึงทุกวันนี้ถือเป็นชุดที่เก่าแก่ที่สุด องค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด และเกรดระดับสูงสุดของโลก ประกอบด้วยตะกร้า เครื่องบด เครื่องกรอง ช้อน จาน ถ้วย ภาชนะที่เก็บและใส่เครื่องปรุง เป็นต้น
อุปกรณ์ชาพระราชวังอันสุดวิลิศมาหราชุดนี้ ซึ่งใช้ใน「พิธีชงชา/茶道」ในพระราชวังราชวงศ์ถัง ไม่เพียงเป็นอุปกรณ์ชาใช้ในวิถีการดื่มชาแบบ “การเคี่ยวชา/煎茶法” ยังมีอุปกรณ์หลายชิ้นที่ใช้การได้กับวิถีการดื่มชาแบบ “การตีชา/点茶法” บนตัวอุปกรณ์ชาเหล่านี้สามารถที่จะเห็นต้นกำเนิด “การตีชา” ของยุคซ่ง หรือกล่าวได้ว่า “การตีชา” ได้เริ่มขึ้นในปลายยุคถังแล้ว
วิถีการดื่มชาในราชวงศ์ถัง ก็เป็นไปตามที่ ลู่หยี่/陆羽 ยุคถังที่ได้กล่าวถึงใน《คัมภีร์ชา/茶经》นั่นก็คือ “การเคี่ยวชา” ซึ่งมีกระบวนการอันประกอบด้วย 6 ขั้นตอน :
1. การปิ้งชา/炙茶
การดื่มชาในยุคถังโดยนำ “ใบชา” ผ่านกระบวนการแล้วอัดขึ้นรูปเป็นชาแผ่นกลมหรือเหลี่ยม เก็บแผ่นชาในตะกร้าชา แขวนไว้ในที่สูงให้ลมพัดระบายความชื้น เมื่อต้องการนำมาต้มดื่ม ถ้าหากแผ่นชายังมีความชื้นอยู่ ก็นำไปปิ้งอังไฟไล่ความชื้นพร้อมตะกร้าชาได้อย่างสะดวกง่ายดาย
2. การบดชา/碾茶
แผ่นชาหลังผ่านการปิ้งให้แห้งแล้ว นำมาบดให้เป็นผงละเอียดโดยใช้เครื่องบด
3. การกรองชา/筛茶
ใบชาที่ผ่านการบดจะมีผงเหยาบและละเอียด จึงจำเป็นต้องคัดกรองโดยผ่านเครื่องกรอง เมื่อได้ผงชาละเอียดที่ผ่านการกรองแล้ว ก็นำไปเก็บใส่ในภาชนะเก็บ
4. การต้มน้ำ/煮水
เมื่อทำการตระเตรียมผงชาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ก่อไฟต้มน้ำ การต้มน้ำของคนยุคถัง จะให้ความสำคัญต่อ “สามเดือด/三沸” : “เดือดแรก/一沸” คือเริ่มมีฟองอากาศเล็กๆของน้ำเดือดปุดขึ้นมา พร้อมส่งเสียงเบาๆ ; “เดือดสอง/二沸” คือฟองอากาศเม็ดใหญ่เดือดปุดออกมาจากตรงริมขอบหม้อต้ม ; “เดือดสาม/三沸” คือเกิดคลื่นน้ำเดือดแปรปรวน
5. การปรุงแต่งชา/调茶
เมื่อต้มน้ำถึงจุด “เดือดสาม” ก็เป็นเวลาอันควรในการตักตวงผงชาใส่ลงไปต้มเคี่ยว อาจทำการปรุงแต่งรสโดยการเติมเกลือ หัวหอม ขิง เปลือกส้ม เป็นต้น ใช้ทัพพีคนให้ทั่วแล้วต้มเคี่ยวจนเป็นซุปชา
6. การทานชา/吃茶
ตักน้ำซุปชาใส่ถ้วยแก้วที่มีจานรอง เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ เชิญ “ทานชา” ได้นะครับในขณะที่ยังร้อนอยู่
▲玻璃茶盏与茶托分置/ถ้วยแก้วแยกส่วนจากจานรองแก้ว---ถ้วยชาสูง 5.2 ซม. จานรองสูง 3.8 ซม.นอกเหนือจากอุปกรณ์ชาที่ได้กล่าวถึงใน 6 ขั้นตอนข้างต้นแล้ว ยังมีอุปกรณ์ชาที่เป็นภาชนะใช้ในการเก็บ ภาชนะใช้ในการชงและดื่ม และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ซึ่งบางชิ้นใช้การได้ในวิถี “การตีชา”
เอกสารอ้างอิง :
1. 一套唐代宫廷茶具 : https://3g.163.com/dy/article/FUD1V2SV05339P7A.html?spss=adap_pc
2. 极致奢华的唐代宫廷茶具 : http://www.gg-art.com/article/index/read/aid/27746
3. 法门寺_百度百科 : https://baike.baidu.com/item/%E6%B3%95%E9%97%A8%E5%AF%BA/55080
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น