การดื่ม “ชากงฟู/工夫茶” เป็นสิ่งอันดับแรกในการดำเนินชีวิตของคนแต้ซัว (ชื่อเรียกรวมกันของเมืองแต้จิ๋วกับเมืองซัวเถา)
คนในยุคชิงเคยกล่าวไว้ว่า มีเขตพื้นที่ 4 แห่งที่นิยมชากงฟูมากที่สุด : “ทิงโจว จางโจว เฉวียนโจวในฝูเจี้ยน แต้จิ๋วในกว่างตง” นอกจากทิงโจวที่ตั้งอยู่ในหมิ่นซี(ฝูเจี้ยนตะวันตก)ซึ่งจัดอยู่ในวัฒนธรรมฮากกาแล้ว นอกนั้น 3 เมืองตั้งอยู่ในหมิ่นหนาน(ฝูเจี้ยนใต้)และแต้ซัวในปัจจุบัน
มีผู้คนมากมายที่ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งต่อความเกี่ยวข้องของ “หมิ่นหนาน/闽南” กับ “แต้ซัว/潮汕”---สรุปโดยย่อก็คือ พื้นที่สองแถบนี้ แม้ว่าหนึ่งอยู่ในฝูเจี้ยน อีกหนึ่งอยู่ในกว่างตง แต่บนภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ที่เชื่อมติดเป็นผืนแผ่นเดียวกัน ภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมาก สามารถยืดถือได้ว่าแถบแต้ซัวกับใต้หวัน จางโจว เฉวียนโจวล้วนจัดอยู่ในบริบทของวัฒนธรรรมหมิ่นหนาน
จากการค้นคว้าวิจัยทางเอกสาร เริ่มตั้งแต่ยุคซ่ง ชาวหมิ่นหนานจำนวนมากได้อพยพเข้าไปในแต้ซัว ได้ปรับเข้ากันในวัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิม ดังนั้น วัฒนธรรมแต้ซัวหลังยุคซ่งบนพื้นฐานเหมือนกับของหมิ่นหนาน
ถ้าเช่นนั้น สิ่งที่พวกเราอยากถามในวันนี้ก็คือ ทำไมคนแต้ซัวและคนหมิ่นหนานถึงชื่นชอบชากงฟูกันนัก ?
นิยามการดื่มชาขึ้นมาใหม่
กล่าวสำหรับคนแต้ซัวและคนหมิ่นหนานแล้ว การดื่มชาเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยจินตนาการเรื่องหนึ่ง
ก่อนอื่น เมื่อมีสภาวะการดื่มชา ก็ต้องทำการดื่มอย่างแน่นอน เมื่อไม่มีสภาวะ ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมาเพื่อดื่มให้ได้
▲ภาพที่พบเห็นบ่อยๆบนรถไฟความเร็วสูงสายเซี่ยเหมิน-เซินเจิ้น ที่วิ่งผ่านหมิ่นหนาน แต้ซัว | กลิ่นหอมชาอบอวลฟุ้งกระจายอย่างอิสระเสรี ในความเร็ว 300 กม./ชม.
▲ไม่ว่ารถจะติดบนทางด่วนในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือในวันเชงเม้ง ขออนุญาตใช้ผืนแผ่นดินมาทำเป็นที่รองชง(茶船)
▲น้ำท่วมเข้าบ้านสูง 1 เมตร ขอดื่มชาสักจอกเพื่อสงบสติอารมณ์
▲การวิ่งมาราธอน-กีฬายุคกรีกโบราณ เมื่อเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์แต้ซัวแล้ว ก็เข้าทำนองเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม | ไม่ว่าจะวิ่งเร็วแค่ไหน ชาก็จะวิ่งไล่ตามทันบริการเสมอ
การกระเพื่อมจินตนาการของคนแต้ซัวยังปรากฏให้เห็นในเวลาการชงชา
โปรดระลึกเสมอว่า การชงชาของคนที่เป็นคนแต้ซัวแท้จริงนั้นน้ำชาน้ำแรกไม่สามารถนำมาดื่มได้ จะต้องเททิ้งไป
มีคำพังเพยของแต้จิ๋วที่เล่าว่า : “รอบแรกคราบตีน รอบสองใบชา รอบสามคนชั้นต่ำเอื้อมไม่ถึง” ความหมายก็คือ น้ำชาน้ำแรกที่ดื่มคือเหงื่อไคลบนเท้า น้ำสองจึงจะเป็นรสดั้งเดิมของใบชา น้ำสามก็คือรสที่มีบุคลิคมากที่สุด ซี่งคนต่ำต้อยไม่มีโอกาสดื่มได้
“การนวด” หนึ่งในขั้นตอนการผลิตของชาอูหลงดั้งเดิมจะใช้ตีนเท้าเหยียบ ทุกวันนี้ได้ใช้เครื่องจักรที่ผ่อนแรงและประสิทธิภาพสูงมาทดแทนแล้ว แต่ในใจของคนแต้ซัวยังจินตนาการถึงขี้ไคลของเท้าที่ไม่ดำรงอยู่แล้ว จึงนำน้ำชาน้ำแรกเททิ้ง
หลังจบการชงชาจะไม่ทิ้งกากใบชา ไม่ล้างปั้นชา ให้ใบชาในปั้นเพาะเลี้ยงแก่นสาร ยิ่งนานวันเข้า บนผิวเนื้อดินเผาที่มีรูระบายอากาศมากมายจะก่อเกิดเป็นชั้นของสารสีดำ คนแต้ซัวเรียกมันว่า “คราบชา/茶渣” ถ้าสามารถครอบครองปั้นที่สะสมชั้นคราบชาอย่างหนาใบหนึ่ง บ่งชี้ว่าท่านคือยอดฝีมือทางชา แต่ถ้าบอกว่านั่นก็คือ “คราบสกปก/污垢” งั้นก็ขอเชิญท่านออกไปไกลๆ
▲คนแต้ซัวที่ดื่มชาเป็นทุกคนล้วนหวังที่จะมีปั้นชาที่สะสมคราบชาชั้นหนาๆสักใบ
ในยุคชิงมีเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาว่า : เศรษฐีแต้จิ๋วที่ชอบดื่มชาท่านหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งมีขอทานมาที่บ้าน ไม่ต้องการอาหาร ไม่ต้องการเงิน เพียงขอแค่ดื่มชา เศรษฐีแปลกใจมากจึงถามว่า “มึงเป็นขอทาน รู้จักดื่มชาด้วยเหรอ?” ขอทานตอบว่า “เดิมข้าก็เป็นคนมีกะตังค์เหมือนท่าน เนื่องจากลุ่มหลงกับการดื่มชาจึงจนลงกลายเป็นขอทาน” หลังได้ดื่มชาของเศรษฐีไปแล้ว ขอทานได้เอ่ยขึ้นมาว่า “ชาเป็นชาดี เสียดายปั้นเป็นปั้นใหม่” พูดพลาง ได้ดึงปั้นชาเก่าที่มีคราบชาหนาๆออกมาใบหนึ่ง เปิดฝาขึ้นมาก็มีกลิ่นหอมฟุ้ง เมื่อทำการชงชายิ่งสุดยอดเข้าไปอีก
ดังนั้น คนแต้ซัวที่ดื่มจนล่มละลายแล้วยังอยากที่จะดื่มอีก เพื่ออะไรกันแน่ถึงบากบั่นกับการดื่มชาเช่นนี้ ?
การดื่มชาสามารถโอ้อวดความมั่งมี
มีคนกล่าวว่า การชื่นชอบในการดื่มชาปรากฎให้เห็นถึงเรียบง่ายสมถะ สงบสุขในกาลเวลาของคนแต้ซัว ถือเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้อยู่บนความจริงอย่างสิ้นเชิง
เริ่มต้นคนหมิ่นหนาน คนแต้ซัวดื่มชากงฟู ที่แท้เป็นการอวดร่ำอวดรวย
เริ่มตั้งแต่ยุคถัง คนฝูโจว เฉวียนโจวมณฑลฝูเจี้ยนได้ริเริ่มข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำการค้ากันแล้ว ยุคซ่งได้ก่อตั้งสำนักงานชิปปิ้งที่เฉวียนโจว เฉวียนโจวกลายเป็นเมืองท่าใหญ่แห่งแรกแห่งตะวันออก ถึงแม้มีการจำกัดการค้าต่างประเทศในยุคหมิง แถบทางจางโจวฝูเจี้ยน แต้จิ๋วกว่างตงก็ยังฝ่าฝืนข้อบังคับทางกฎหมาย กระทั่งทำสงครามกับทหารราชวงศ์หมิง ซึ่งราชนาวีพระราชวังมิอาจรบชนะนักรบผู้กล้าที่พร้อมอาวุธของพ่อค้าจางโจวและแต้จิ๋วได้
▲บนโต๊ะชาในบ้านคนแต้ซัวและหมิ่นหนานแทบจะต้องมีภาชนะชิ้นใหญ่ที่เรียกว่า “ฉาฉวน/茶船” (เรือชา ; ภาชนะรองชง) อาจทำจากดินเผา อาจทำด้วยไม้ ฉาฉวนมีทั้งใหญ่และเล็ก ขนาดเล็กเป็นเพียงถาดที่มีฝา ปั้นชาจอกชาวางอยู่ข้างบนโดยตรง ถ้าเป็นขนาดใหญ่แล้วไซร์ โต๊ะชาทั้งโต๊ะทำเป็นฉาฉวน
นักวิชาการทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า การห้ามเข้าออกทางทะเลกลับกลายเป็นการสร้าง “การค้าเอกชนทางทะเลของเมืองจีนถูกควบคุมอยู่ในมือของคนจางโจวและคนแต้จิ๋ว”
จากยุคซ่งถึงยุคหมิงและชิง พ่อค้าของหมิ่นหนานและแต้ซัวรวยไม่รู้เรื่อง แต่เนื่องจากพื้นเพเดิมเป็น “แดนป่าเถื่อนทางใต้/南蛮之地” ก็ยังถูกจัดให้เป็นคนชั้นต่ำในห่วงโซ่ชั้นวรรณะทางสังคมของเมืองจีน
เมื่อมีเงินแล้วแต่ยังถูกรังเกียจดูแคลน เศรษฐีใหม่ท้องถิ่นหมิ่นหนานและแต้ซัวได้กระทำการหลายๆสิ่งหลายๆอย่าง เพื่อยกระดับ “ลักษณะบุคลิคภาพอันศิวิไลซ์/人文气质” ของตนเอง อย่างเช่น บรรดาพ่อค้าหมิ่นหนานบริจาคเงินสร้างโรงเรียน หลังจากกลางยุคหมิง จำนวนบัณฑิตพระราชวังของจางโจวและเฉวียนโจวมากกว่าฝูโจว เป็นอันดับต้นๆของฝูเจี้ยน
ด้านการดื่มชา เป็นกิจกรรมมาตรฐานของชนชั้นคนมีเงินและมีเวลาว่าง โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคถังที่ลู่หยี่ได้เขียน《คัมภีร์ชา/茶经》ชายิ่งกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการโอ้อวดสถานะภาพและวัฒนธรรมของชนชั้นสูง ก่อนยุคหมิงและชิง พื้นที่ศูนย์กลางการผลิตและการบริโภคใบชาล้วนอยู่ที่เจียงเจ้อ(ชื่อเรียกรวมกันของมณฑลเจียงซูกับมณฑลเจ้อเจียง)ที่มั่งคั่งร่ำรวย
แต้ซัวดั้งเดิมไม่มีประเพณีนิยมการดื่มชา ใบชาก็มีน้อยมาก ข้าหลวงฝูเจี้ยนตันยุคชิงได้บันทึกไว้ว่า : ช่วงยุคหมิง ใบชาฝูเจี้ยนที่ถวายบรรณาการพระราชวัง เพียงแค่นำมาล้างถ้วยชามในราชสำนัก
ถึงยุคชิง คนมีเงินของหมิ่นหนานและแต้ซัวมีความต้องการดื่มชา ในฐานะที่เป็นพื้นที่สำคัญทางการผลิตใบชาของฝูเจี้ยน การลุกขึ้นยืนขึ้นมาได้ของใบชาอู่หยีก็ขึ้นอยู่กับใบชามาตรฐานที่ใช้ในชากงฟู---การคิดประดิษฐ์ของชาอูหลง
▲《แผ่นที่ฝูเจี้ยน/福建全图》เขียนขึ้นในรัชศกถงจื้อปีที่ 3 (ปี 1863) ราชวงศ์ชิง | วงกลมสีแดงตรงมุมบนซ้ายคือตำแหน่งที่ตั้งของอู่หยีซาน(武夷山) อยู่บนเขตแดนระหว่างเจียงซีกับฝูเจี้ยน ใบชาอู่หยีซานขนส่งลำเลียงจากแม่น้ำทิงและแม่น้ำหานลงสู่แต้ซัว
ใบชาที่เป็นกระแสนิยมในช่วงกลางยุคชิงก็ยังเป็นชาเขียวคั่วเส้น ไม่ผ่านการหมัก หลักใหญ่ดำรงไว้ซึ่งรสดั้งเดิมของใบชา ส่วนชาอูหลงกึ่งหมักที่กระบวนการผลิตต้องสิ้นเปลืองแรงงานมาก จำเป็นที่จะต้องคั่วปิ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงจะสามารถทำให้ใบชาอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมที่ร้อนแรงกว่าชาเขียว
ดังนั้นเบื้องหลังของกลิ่นหอมชาอูหลง ก็คือการค้ำจุนของอำนาจเงิน เทคโนโลยีและแรงงาน
▲ความสำคัญของการสร้างสรรค์ชาอูหลง | เนื่องจากเทคโนโลยีของชากึ่งหมัก หลังจากใช้น้ำดือดในการชง มันสามารถปลดปล่อยกลิ่นหอมที่เร็วและร้อนแรงกว่าชาเขียว และยังสามารถชงทนหลายน้ำ ดังนั้น แบบฉบับของวิธีการชงชากงฟู---น้ำเดือด แช่แพล็บ ชงซ้ำหลายรอบ จึงสามารถแสดงจุดโดดเด่นที่สุดออกมาได้
ฤดูการเด็ดเก็บใบชาในยุคชิง บนอู่หยีซานสามารถรวบรวมคนเด็ดใบชาได้เกินหมื่น อาจารย์ทำชาที่จ้างมาคือคนเฉวียนโจว นอกจากชาอู่หยีซานทั่วไปแล้ว คนหมิ่นหนานยังได้พัฒนาเถี่ยกวนยินจากอานซีฝูเจี้ยนใต้ เฟิ่งหวงตานฉงของเฟิ่งหวงซานแต้จิ๋ว เป็นต้นที่เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อลือนาม
ลำดับรองลงมา คนแต้ซัวเรียนการดื่มชาแบบคนเจียงเจ้อ สิ่งที่ใช้คือปั้นจื่อซาที่ผลิตจากหยีซิงเจียงซู ซึ่งคนที่รวยจริง สามารถอาศัยอำนาจทางการบริโภคมาบังคับการปฏิรูปของผู้ผลิต
ปั้นจื่อซาหยีซิงดั้งเดิมยังไม่มีการผูกมัดกับใบชาชนิดใดๆ ปลายหมิงต้นชิง การติดต่อการค้าระหว่างแต้จิ๋วกับซูโจวเจริญรุ่งเรือง บรรดาพ่อค้าแต้จิ๋วได้นำเข้าปั้นจื่อซาหยีซิงเป็นจำนวนมาก
นักโบราณวัตถุได้ค้นพบว่า ศิลปะชากงฟูของหมิ่นหนานและแต้ซัวทำให้เกิดความต้องการปั้นจื่อซาหยีซิงเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรดาช่างฝีมือของหยีซิงปฏิรูปรูปแบบดั้งเดิมของปั้นชา สร้างสรรค์รูปลักษณะเฉพาะที่ป้อนให้หมิ่นหนานและแต้ซัว
▲ปั้นรูปลักษณะแบบนี้มีความจุน้อย ปากพวยลู่เข้า จึงเหมาะกับชาอูหลงมากกว่าปั้นรูปแบบเก่า มีความงามที่เรียบง่าย แต่ไม่มีความหมายแฝงที่ลึกซึ้งทางคตินิยมอย่างที่ปัญญาชนเจียงเจ้อชื่นชอบถวิลหา
เศรษฐีพ่อค้าหมิ่นหนานท่านหนึ่งในช่วงรัชสมัยเจียชิ่ง จะใช้โถแก้วเป็นการเฉพาะในการเก็บน้ำแร่เพื่อชงชา น้ำหนึ่งโถชงชาหนึ่งปั้น ขึ้นวันใหม่จะต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ ช่วงการชงชา จะต้องมีเด็กรับใช้มาปรนนิบัติ ที่รับผิดชอบดูแลเตาไฟก็ปาเข้าไปหลายคน ล้วนหน้าตาจิ้มลิ้ม
การชงชาอย่างหรูหราฟู่ฟ่ารูปแบบนี้ ความเป็นจริงนี่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะในพื้นที่หมิ่นหนานและแต้ซัว มีนักวิชาการเคยกล่าวไว้ว่า : แต้จิ๋วในอดีตที่ผ่านมามีเพียงคน 2 ประเภทที่ดื่มชา---คนว่างงานที่ศาลเจ้าบรรพบุรุษ คนรวยที่ทำการค้า ; ตราบจนถึงปัจจุบัน อุปกรณ์ชาจะดีเลวในบ้านของคนหมิ่นหนานและแต้ซัว ยังสามารถปรากฏให้เห็นถึงอำนาจทางการเงินของครอบครัว
ดื่มชาจอกนี้แล้วก็คือกากี่นั้ง
ชากงฟูเริ่มต้นเพื่อโอ้อวดความมั่งมีและเป็นการชุบตัว ปัจจุบันได้หล่อหลอมเข้าไปในชีวิตของคนทั่วไปแล้ว
▲การดื่มชากงฟูของคนแต้ซัว เริ่มฝึกหัดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
แม้ว่าอุปกรณ์ชา ใบชาขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละคน แต่กฎเกณฑ์ของการชงชากงฟูจะไม่ถูกละเลย จิตวิญญาณแห่งความหมายแฝงของชากงฟูได้ฝังรากลึกลงในกฎระเบียบของสังคมชาติเชื้อหมิ่นหนานและแต้ซัวแล้ว
ในวงชากงฟู ผู้ที่รับผิดชอบการชงชาทั่วไปจะเป็นเจ้าภาพผู้ชาย การสังสรรค์ร่วมรับประทานอาหารในกลุ่มเครือญาติ ทั่วไปจะเป็นลูกชายคนโตหลานชายคนโต สถานการณ์ที่ผู้หญิงมาดำเนินการชงชาแทบจะพบเห็นได้น้อยมาก จำนวนจอกของชาแต่ละรอบมีจำกัด ดังนั้นจึงเกิดการจัดลำดับก่อนหลัง---ทั่วไปแขกเป็นคนอันดับแรก ผู้อาวุโสชายเป็นคนแรก คนชงชาเป็นคนสุดท้าย
▲ความต้องการของชากงฟูแบบฉบับแท้จริง “หนึ่งถ้วยสามจอก/一盅三杯” ให้มีจอกชาเพียง 3ใบ ผลัดกันใช้ในหมู่คนที่ร่วมดื่มชา ทุกรอบของการดื่มจะล้างจอกหนึ่งครั้ง ทุกคนแบ่งปันน้ำชาอันน้อยนิดในปั้นปังโคย นี่ก็คือข้อกำหนด คนที่จะเข้าร่วมวงชาไม่ควรมากเกินไป
ในหมิ่นหนานและแต้ซัว ชากงฟูไม่เพียงเชื่อมโยงกับลำดับตระกูลอย่างแนบแน่น การดื่มชาเป็นเครื่องมือที่สำคัญใช้เป็นพิธีการในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เปลี่ยนเป็นพลังความสามัคคีภายในต่อสู้กับภายนอก---ดื่มชาจอกนี้แล้ว คุณก็คือกากี่นั้ง(家己人)
“ที่ที่มีคนแต้ซัว จะต้องมีชากงฟู” ชาวจีนโพ้นทะเลที่มาจากหมิ่นหนานและแต้ซัวมีเป็นจำนวนมาก ในยุคปี 40 มีภาพยนต์เรื่อง《ตามหาผัวโพ้นทะเล/海外寻夫》ได้บรรยายประวัติการต่อสู้ดิ้นรนของคนแต้ซัวโพ้นทะเล นางเอกตามท้องเรื่องเป็นแม่บ้านแต้จิ๋ว ผัวของนางต้องเดินทางมาเมืองไทยเป็นจับกังที่ท่าเรือแบกกระสอบข้าวสาร เนื่องจากเป็นโอกาสโดยบังเอิญ เถ้าแก่ชาวแต้จิ๋วได้ดื่มชากงฟูที่เขาชง รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก จึงให้เขามาทำงานที่ห้างขายข้าวสารเพื่อชงชากงฟูโดยเฉพาะ---นับต่อแต่นี้ไปเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ก้าวสู่จุดสุดยอดบนเส้นทางชีวิต
ดังนั้น ถ้าหากเพื่อนๆรอบข้างของคุณมีที่มาจากหมิ่นหนานหรือแต้วซัว ในขณะที่พวกเขานำอุปกรณ์ชงชากงฟูออกมา คุณอาจต้องระมัดระวัง ไม่แน่เขาก็คือทายาทรุ่นที่สองของเจ้าสัวที่แฝงกายอยู่ คิดจะเป็นพี่น้องกับคุณ นำคุณสู่ความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว ถ้าหากคุณไม่กล้าพอที่จะดื่ม เชิญติดต่อผมได้นะครับ !
เอกสารอ้างอิง :
1. 潮汕人喝茶 , 野到不行 !: https://k.sina.cn/article_1653689003_62914aab01900gnuo.html