วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561

ตัวปั้น...(ตอนที่2)

ตัวปั้น (壶身)...(ตอนที่2)



     ๒. รูปร่างลักษณะของตัวปั้น

     รูปลักษณ์ของปั้นจื่อซามีหลากหลายชนิดมาก รูปลักษณ์ของตัวปั้นเป็นส่วนสำคัญที่เป็นตัวกำหนดรูปลักษณ์องค์รวมของปั้น ตัวปั้นเป็นพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ปั้นใบหนึ่ง และก็เป็นตัวค้ำจุนที่สำคัญที่สุดต่อประสิทธิภาพของการใช้งาน ในกระบวนการผลิต ไม่เพียงแต่ต้องพิจารณาถึงผลกระทบของตัวปั้น เช่นความจุ ข้อกำหนด รูปแบบเป็นต้น ยังต้องคำนึงถึงตำแหน่งทางฐานันดรศักดิ์พิเศษของปั้น ตัวปั้นจะมีปริมาตรใหญ่เล็ก ขนาดสูงต่ำ และรูปลักษณ์ที่ถูกต้องหรือไม่ ตัวปั้นเป็นตัวกำหนดหรือมีอิทธิพลในระดับใหญ่ต่อข้อกำหนดและความเหมาะของการใช้งานขององค์ประกอบอื่นๆ เช่นพวย ฝา หูของปั้นเป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า ตัวปั้นเป็นตัวหลักของงานศิลปะปั้นชิ้นหนี่ง

▲ปั้นจื่อซาคลาสสิก 18 แบบของม่านเซิน(曼生十八式)

     1. ลักษณะทรงลูกบอล (球形) ครอบคลุมถึงรูปทรงกลม ครึ่งทรงกลม รูปทรงรีและเอวกลม วิธีการขึ้นรูปโดยการตีกระบอกร่าง จะสูงจะต่ำ จะหดตัวตรงส่วนไหนได้ตามใจชอบ สามารถเปลี่ยนแปลงได้หลากหลาย ลักษณะทรงสูงเช่นปั้นเหลียนก่ง(莲贡壶) ทรงกลางเช่นปั้นฉินเฉียน(秦权壶) ทรงแบนเช่นปั้นลูกพลับ(柿扁壶) เป็นต้น

▲ปั้นเหลียนก่ง

▲ปั้นฉินเฉียน

▲ปั้นลูกพลับ

     2. ลักษณะทรงเหลี่ยม (方形) ครอบคลุมถึงรูปทรงสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม เป็นการขึ้นรูปโดยนำแผ่นเนื้อดินที่ตัดตามแบบแล้วมาเชื่อมต่อกัน เช่นปั้นหมวกพระ(僧帽壶) ปั้นสี่เหลี่ยมอิฐ(砖方壶) เป็นต้น

▲(บนซ้าย)ปั้นแปดเหลี่ยม (บนขวา)ปั้นสี่เหลี่ยม (ล่าง)ปั้นหกเหลี่ยม

▲ปั้นหมวกพระ

     3. ลักษณะทรงถังน้ำ (桶形) มีแบบทรงถังตรง เช่นปั้นหยางถ่ง(洋桶壶) ปั้นเต๋อจง(德钟壶) ปั้นโคนเสา(柱础壶) ปั้นถังห่วงคู่(双圈桶壶) เป็นต้น ทรงถังตรงแบบเปลี่ยนรูป เช่นปั้นท่อนต้นสน(松段壶) ปั้นท่อนต้นเหมย(梅段壶) เป็นต้น ทรงถังบนเล็กล่างใหญ่ เช่น ปั้นสือเผียว(石瓢壶) เป็นต้น

▲(บน)ปั้นหยางถ่ง (ล่างซ้าย)ปั้นเต๋อจง (ล่างกลาง)ปั้นโคนเสา (ล่างขวา)ปั้นถังห่วงคู่

▲(บน)ปั้นท่อนต้นสน (ล่างซ้าย)ปั้นท่อนต้นเหมย

     4. ลักษณะถ้วยประกบ (合碗形) มีแบบการขึ้นรูปโดยกรรมวิธีการเชื่อมต่อ เช่นปั้นเหอโต่ว(合斗壶) ; การขึ้นรูปแยกกันคนละส่วนด้วยวิธีการอัดให้เข้ารูปบนแบบ แล้วนำประกบติดกัน เช่นปั้นเหอฮวน(合欢壶)

▲ปั้นเหอโต่ว

▲ปั้นเหอฮวน

     ปั้นจื่อซาเป็นงานศิลปะที่มีเนื้อหาทางวัฒนธรรมสูงมาก มันเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มา เกิดขึ้นถูกกาลเวลา การปรากฏตัวที่นำของใช้ประจำวันและงานศิลปะมาผสมผสานได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นความสัมพันธ์ที่ลงตัวอย่างสุดยอด
     ปั้นจื่อซา ดินคือร่าง ทองคือวิญญาณ ดินน้ำไฟต่างหลอมรวมกัน ก่อให้เกิดความดื่มด่ำที่ไร้ขอบเขต
     ปั้นจื่อซา ประกอบด้วยธาตุทั้ง5ที่ลึกล้ำ ฟ้าดินมนุษยชาติหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว 

-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

เอกสารอ้างอิง :
1. 紫砂壶结构解析|壶身、壶底  : https://kknews.cc/collect/5bp582.html
2. 紫砂壶壶各部位图解!http://www.e110.info/zishahu/67245.html

วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

ตัวปั้น

ตัวปั้น (壶身)



     ตัวปั้น ก็เรียกกันว่า “กระบอกร่าง” (身筒) เป็นองค์ประกอบตัวหลักของปั้น พูดในแง่ของอุปกรณ์สำหรับการชงชาแล้ว ตัวปั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของ “ภาชนะ” ในฐานะที่เป็นภาชนะ ก่อนอื่นจะต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับกักเก็บของเหลว ดังนั้น กระบอกร่างของปั้นกลายเป็นรูปร่างที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็หลีกหนีไม่พ้นต้นฉบับ กระบอกร่างคือพื้นฐานของการขึ้นรูปปั้น

     《ตัวปั้น》ในที่นี้ขอนำเสนอโดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน : วิธีการขึ้นรูปของกระบอกร่าง และ รูปร่างลักษณะของตัวปั้น

     ๑. วิธีการขึ้นรูปของกระบอกร่าง

     คนดื่มชาอาจจะมากหรือน้อยล้วนเคยทำการศึกษาเรื่องปั้นจื่อซา ขณะเดียวกัน ก็เคยได้สอบถามผ่านช่องทางต่างๆเกี่ยวกับราคาของปั้นจื่อซา มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยหลักพัน กระทั่งถึงหลักหมื่นหลักแสนจนเป็นล้าน บอกเป็นปั้นจื่อซาเหมือนกัน ทำไมราคาถึงแตกต่างกันมากเช่นนี้? ราคาที่แตกต่างกันเหล่านี้หลักใหญ่ใจความอยู่ที่วิธีการการผลิตที่แตกต่างกัน คุณภาพของเนื้อดินจื่อซาและช่างปั้นที่ไม่เหมือนกันต่างเป็นตัวกำหนดร่วมกัน

     การขึ้นรูปกระบอกร่าง สามารถแบ่งออกได้ 5 วิธีการ :

     1. การหล่อน้ำดิน (灌浆) เป็นการนำน้ำดินที่เตรียมไว้แล้วเทลงในแบบปูนพลาสเตอร์ ปูนจะดูดน้ำและทำให้เนื้อดินเกาะติดผนังแบบ ปล่อยทิ้งให้เนื้อดินแข็งตัวแกะชิ้นงานออกจากแบบ ได้เป็นกระบอกร่างตามแบบที่ต้องการ ทั่วไปจะทำการพ่นน้ำดินจื่อซาทับอีกชั้นบนผิวกระบอกร่าง เพื่อให้ดูสมจริงราวกับปั้นจื่อซา เป็นเพราะเนื้อดินต้องบดให้ละเอียดมากประมาณ200เมชและผสมสารเคมีเติมแต่งในน้ำดิน กระบอกร่างจึงขาดคุณสมบัติในการระบายอากาศของจื่อซา จะไม่เกิดผลผิวปั้นมันเงา(包浆)จากการเลี้ยงปั้น เป็นวิธีการขึ้นรูปที่สามารถผลิตได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนต่ำมาก ไม่มีความหมายทางงานศิลปะ

▲การหล่อน้ำดิน

▲ปั้นหล่อน้ำดิน

▲ปั้นชาที่ทำจากการหล่อน้ำดินปัจจุบัน จะไม่ใช้ดินจื่อซา แต่ใช้ดินเหนียวทั่วไปผสมสารเคมี หลังการขึ้นรูปแล้วจะพ่นทับผิวด้วยน้ำดินจื่อซาอีกชั้นหนึ่ง หลังการเผาแม้สีจะออกมาเหมือนจื่อซา แต่แท้จริงได้เปลี่ยนเป็นเครื่องดินเผาไหม้แล้ว พื้นที่หน้าตัดมี Glass Phase(玻璃相) ซึ่งไม่ระบายอากาศ จึงสูญเสียความสามารถในการระบายอากาศซึ่งเป็นลักษณะเด่นของปั้นจื่อซา ไม่อยู่ในบริบทของเครื่องจื่อซาแล้ว ตามท้องตลาดเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปั้นเคมี

     2. งานแป้นหมุน (手拉坯) เป็นการใช้แป้นหมุนไฟฟ้า โดยอาศัยหลักการแรงเหวี่ยงจากศูนย์กลางของแป้นหมุน ใช้มือในการดึงดินหรือรีดดินให้เป็นกระบอกร่างรูปทรงตามที่ต้องการ อันเนื่องจากเนื้อดินจื่อซาที่บริสุทธิ์ไม่สามารถขึ้นรูปโดยแป้นหมุนได้ จึงต้องผสมดินเกาลินและสารเคมีเติมแต่งเพื่อปรับความเหนียว เฉกเช่นเดียวกับการหล่อน้ำดิน ล้วนไม่ใช่การขึ้นรูปปั้นจื่อซาด้วยมือแบบดั้งเดิม และสูญเสียคุณสมบัติที่ดีเด่นของปั้นจื่อซา งานแป้นหมุนนี้คนหนึ่งสามารถทำการผลิตกระบอกร่างได้หลายสิบอาจเป็นร้อยใบต่อวัน ต้นทุนจึงต่ำ

▲งานแป้นหมุน

▲ปั้นแป้นหมุนสามารถจำแนกได้จากวงก้นหอยที่วนเป็นระเบียบในผนังด้านในของปั้น

▲เนื่องจากเนื้อดินสำหรับงานแป้นหมุนมีการผสมสารเคมีเติมแต่ง โดยทั่วไปผิวนอกของปั้นใหม่จะมีลักษณะเป็น Glass Phase ซึ่งค่อนข้างมันวาว

     3. จิกเกอร์ริ่ง (机车) คนจำนวนมากอาจเพิ่งเคยได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก เป็นกรรมวิธีการทำปั้นที่ปรากฏในระยะไม่กี่ปีมานี้ โดยนำแผ่นเนื้อดินมาวางในแบบปูนพลาสเตอร์ แล้วใช้ใบมีดกรีดให้เนื้อดินได้รูปร่างตามต้องการ ดูจากลักษณะโดยองค์รวมแล้ว รูปทรงปั้นจากวิธีการนี้ค่อนข้างไม่ธรรมชาติ ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ กำลังการผลิตได้เกิน10ใบต่อวัน

▲จิกเกอร์ริ่ง (Jiggering)

     4. ปั้นด้วยมือ (全手工) เป็นวิธีการขึ้นรูปซึ่งทำด้วยมือที่เก่าแก่โบราณ เป็นการทำงานศิลปะด้วยมือแบบดั้งเดิม ถูกยกย่องให้เป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

     ไม่ว่าการขึ้นรูปกระบอกร่างจะเป็นรูปทรงกลม เหลี่ยม ลวดลาย หรือซี่โครง ก่อนอื่นนำก้อนดินตัดออกเป็นชิ้นดิน[ทั่วไปเรียกกันว่า “หนีลู่ซือ”(泥路丝)] แล้วนำชิ้นดินเหล่านี้มาทุบตีให้เป็นเส้นดินและแผ่นเนื้อดินที่สอดคล้องตามต้องการของรูปร่างลักษณะของกระบอกร่าง ต่อจากนั้นใช้เครื่องมือวัดตัดออกเป็นเส้นดินที่มีความกว้างพอเหมาะเพื่อนำมาทำเป็นก้นปั้นและแผ่นโอบล้อม

▲การตัดก้อนดินจื่อซาที่หมักได้ที่แล้วออกเป็น “หนีลู่ซือ” (การขึ้นรูปแบบดั้งเดิมของปั้นจื่อซา)

▲การวัดตัดเส้นดินออกเป็นแผ่นเนื้อดินสี่เหลี่ยมยาว

     การขึ้นรูปกระบอกร่างโดยปั้นด้วยมือ โดยพื้นฐานจำแนกออกเป็น 4 กรรมวิธี

        (1) โอบล้อมกระบอกร่าง (围身筒) เหมาะในการทำกระบอกร่างรูปทรงกลม โดยนำเส้นดินที่ตัดเป็นสี่เหลี่ยมยาวมาโอบล้อมเป็นกระบอกหรือรูปทรงกรวย (ใช้สำหรับกึ่งปั้นด้วยมือด้วย)

▲กรรมวิธีการขึ้นรูปโดย “โอบล้อมกระบอกร่าง”

        (2) การตีกระบอกร่าง (打身筒) โดยมือหนึ่งหนุนอยู่ด้านในกระบอกร่าง อีกมือหนึ่งจับไม้ตีบนกระบอกร่าง เป็นการตีเพื่อขึ้นรูปกระบอกร่าง (ใช้สำหรับกึ่งปั้นด้วยมือด้วย)

▲กรรมวิธีการขึ้นรูปโดย “การตีกระบอกร่าง”

        (3) การเชื่อมกระบอกร่าง (镶身筒) เหมาะในการทำกระบอกร่างทรงเหลี่ยม โดยทำแผ่นแม่แบบที่มีขนาดตามที่ออกแบบไว้ นำแผ่นแม่แบบทาบบนแผ่นเนื้อดินเพื่อตัดออกเป็นชิ้นๆ นำชิ้นดินที่ตัดตามแบบเหล่านี้มาเชื่อมติดกันขึ้นรูปกระบอกร่างตามที่กำหนด

▲กรรมวิธีการขึ้นรูปโดย “การเชื่อมกระบอกร่าง”

        (4) ประกบกระบอกร่าง (合身筒) เหมาะในการทำตัวปั้นที่ส่วนบนล่างมีรูปลักษณ์และขนาดใหญ่เล็กเหมือนกัน เช่น “ปั้นเหอฮวน”(合欢壶) โดยนำแผ่นเนื้อดินที่วาดตัดออกมาแยกเป็นส่วนบนและล่างตีออกมาเป็นรูปครึ่งวงกลม แล้วนำส่วนบนล่าง2ส่วนนี้มาเชื่อมประกบติดกัน

▲《ปั้นเหอฮวน》ของเฉินม่านเซิน (陈曼生合欢壶》) กรรมวิธีการขึ้นรูปโดย “ประกบกระบอกร่าง”

▲กระบอกร่างที่ขึ้นรูปโดยวิธีการ “ปั้นด้วยมือ” ด้วยกรรมวิธี “การตีกระบอกร่าง”

     5. กึ่งปั้นด้วยมือ (半手工) นำกระบอกร่างที่ตีได้รูปร่างคร่าวๆแล้วใส่เข้าไปในแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ แล้วใช้มือหรือเครื่องมือเฉพาะในการกด-อัด-ขูด เรียกว่า “อัดให้เข้ารูป” (Block ; 挡坯) จนกระบอกร่างขึ้นรูปเสร็จสมบูรณ์

▲แม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ สำหรับกึ่งปั้นด้วยมือ

▲การตีกระบอกร่างให้ได้รูปร่างคร่าวๆ (การขึ้นรูปเบื้องต้น)

▲นำกระบอกร่างหลังการขึ้นรูปเบื้องตันไปใส่ในแม่พิมพ์

▲ประกบแม่พิมพ์

▲การอัดให้เข้ารูปโดยใช้มือกด-อัด

▲แกะแม่พิมพ์หลังกระบอกร่างขึ้นรูปเสร็จสมบูรณ์

▲การตกแต่งผิวปั้นขั้นสุดท้ายอย่างละเอียดให้เรียบมันโดยใช้แผ่นเขาควาย(明针) ก่อนนำไปเผา

     รูปลักษณ์ของปั้นจำนวนมากที่ออกแบบมาสลับซับซ้อนมาก กรรมวิธีการปั้นด้วยมือจะยุ่งยากมากหรือไม่สามารถปั้นออกมาได้ โดยพื้นฐานแล้วส่วนใหญ่ล้วนใช้วิธีการกึ่งปั้นด้วยมือโดยการใช้แม่พิมพ์เป็นตัวช่วย เพราะการปั้นด้วยมือกลับมีจิตวิญญาณสู้กึ่งปั้นด้วยมือไม่ได้

▲《ปั้นชวี》ของวังหยินเซียน (汪寅仙曲壶》) โดยวิธีการขึ้นรูป “กึ่งปั้นด้วยมือ”

     ปั้นจื่อซาทุกวันนี้อย่าแสวงหาจนเกินไปว่าใช่ปั้นด้วยมือหรือกึ่งปั้นด้วยมือหรือไม่ น่าจะแสวงหาว่าใช่เนื้อดินจื่อซาบริสุทธิ์หรือไม่ สุนทรียภาพได้ถึงระดับของปั้นรูปทรงดั้งเดิมหรือไม่ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำปั้นจื่อซาอย่างไร(ยกเว้นการขึ้นรูปแบบการหล่อน้ำดินและงานแป้นหมุน) ขอเพียงสามารถแสดงออกได้ตามมาตรฐานทางศิลปะ การตกตะกอนทางวัฒนธรรมของคนปั้น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้าใจเข้าถึงศิลปะจื่อซา แล้วก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้ความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้ชื่นชอบจื่อซา ล้วนเป็นศิลปกรรมที่ดีน่ายกย่อง ดังนั้น การเสาะแสวงหาปั้นด้วยมือเป็นสิ่งที่จำเป็นแน่นอน แต่ถ้าหากแสวงหาอย่างดึงดัน ก็จะก่อให้เกิดการประเมินค่าองค์รวมของศิลปะอย่างสุดโต่ง และจะทำให้หลงทางได้ง่าย แล้วจะไม่สามารถเข้าใจอย่างแท้จริงต่อความในใจของคนปั้นและรู้ซึ้งอย่างแท้จริงของศิลปะจื่อซา

-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

เอกสารอ้างอิง :
1. 揭秘紫砂壶的成型:你的紫砂壶是全手,半手,拉坯还是灌浆壶?https://kknews.cc/collect/nqy2q4q.html
2. 浅谈几种不同成型工艺的紫砂  :  https://kknews.cc/collect/ooz345o.html
3. 紫砂壶中半手工和全手工、灌浆壶和手拉胚壶的概念是什么  :  https://kknews.cc/culture/mnlkog.html
4. 原来紫砂壶是这样成型的  : https://kknews.cc/collect/vzjybyq.html

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

ก้นปั้น

ก้นปั้น (壶底)



     ก้นปั้นในองค์รวมของปั้นจื่อซาอาจไม่เป็นที่ดึงดูดตามากนัก แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ เป็นส่วนที่แบกรับน้ำหนัก มันมีผลกระทบต่อรูปแบบและการวางอย่างมั่นคงของปั้นจื่อซา



     ก้นปั้นโดยพื้นฐาน แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ

     1. ก้นเรียบ (平底) : ก็เรียกขานกันว่า “ก้นตัวเอง” (自身底) หรือเรียกว่า “ก้นตัด” (截底) เป็นเนื้อดินแผ่นหนึ่งที่ปิดผนึกอยู่บนก้นปั้น ออกแบบอย่างเรียบง่าย กรรมวิธีไม่ยุ่งยาก โครงสร้างรวบรัดชัดแจ้ง ก้นแบบนี้ทำขึ้นมาง่ายแต่เผาผนึกยาก หลังการเผาแล้วต้องไม่เปลี่ยนรูป ไม่บิดงอ จึงสารมารถตกแต่งได้ตามต้องการ เป็นรูปแบบก้นปั้นที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก

▲ก้นเรียบ

     2. ก้นเสริม (加底) : เป็นก้นปั้นที่พบเห็นบ่อยรูปแบบหนึ่ง ก็เรียกขานกันว่า “ก้นเทียม” (假底) จากกรรมวิธีการผลิต แบ่งออกเป็น

        ๑. ขาขุด (挖足) ในขั้นตอนการทำตัวปั้น นำแผ่นเนื้อดินไปยึดติดที่ก้นล่าง แล้วทำการขุดส่วนตรงการออกเหลือไว้เพียงบริเวณรอบนอกเพื่อเป็นขาปั้น

▲ก้นเสริมแบบขาขุด

        ๒. ขาวงแหวน (圈足) ในขั้นตอนการทำตัวปั้น ไม่ใช้แผ่นเนื้อดินไปยึดติดโดยตรง แต่เป็นการทำขาปั้นขึ้นเป็นรูปวงแหวนแล้วไปแปะติดที่ก้นปั้น

▲ก้นเสริมแบบขาวงแหวน

     3. ก้นตอก (一捺底) : หรือเรียกขานกันว่า “ก้นอรหันต์” (罗汉底) ก็คือการตอกทำให้เป็นรอยโบ๋จมลึกลงไป บริเวณรอบข้างก็จะนูนขึ้นมาโดยปริยายกลายเป็นขาปั้น

▲ก้นตอก

     4. ขาหมุด (钉足) : ก็เป็นรูปแบบก้นปั้นที่พบเห็นบ่อยชนิดหนึ่ง เหมาะสำหรับปั้นจื่อซาที่มีรูปแบบบนเล็กล่างใหญ่ มีจุดกำเนิดมาจากขาแท่นของเครื่องสำริด หรือขารูปแบบอื่นๆ ขาหมุดจะให้ความสำคัญต่อ มั่นคงแต่ไม่จมปลัก เจตวิญญาณ ยืดหยุ่นไม่ตายตัว

▲ก้นปั้นแบบขาหมุด 3 ขา

▲ก้นปั้นแบบขาหมุด 4 ขา

     ก้นปั้นเรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดา

     ก้นปั้นไม่เพียงแค่มีรูปแบบที่สวยงามและประโยชน์ใช้สอย ยังเป็น Γบัตรประชาชน˩ ของปั้นใบหนึ่ง จากการเริ่มต้นที่ก้นปั้นบักโกร๋นว่างเปล่า มาถึงปั้นสือต้าปิง(时大彬)ใช้ใบมีดไผ่แกะชื่อ แล้วมาถึงปั้นเฉินม่านเซิน(陈曼生)เลิกแกะชื่อประทับตราแทน จนถึงทุกวันนี้ทั้งประทับตราและแกะข้อความ คำอธิบายหรือบทกวี

▲ก้นประทับตรา Γ啜墨看茶˩ แกะข้อความ : “เนื่องจากเสียดายที่หูของตัวปั้นนี้ได้หักไป จึงทำการซ่อมแซมกลับมาให้เหมือนเดิมเมื่อฤดูหนาวปี1990 บันทึกโดยกู้จิ่งโจว(景舟记)”

▲ก้นปั้นแกะบันทึกเรื่องราวอดีตใน ณ ขณะหนึ่งของอารมณ์

-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

เอกสารอ้างอิง :
1. 深扒紫砂壶底的秘密,这有点意思!https://kknews.cc/culture/kxj5qrv.html
2. 难得壶途 | 紫砂壶壶底https://kknews.cc/zh-cn/collect/6zj6bp.html

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

พวยปั้น

ปากปั้น (壶嘴)



     ปากปั้นหรือเรียกว่า “พวยปั้น” (壶流) ออกแบบมาเพื่อการรินน้ำชา พวยของปั้นจื่อซาจากมุมมองด้านการใช้ประโยชน์คือเพื่อให้พวยน้ำพุ่งไหลคล่อง จากมุมมองด้านศิลปะคือเพื่อความสวยงาม แต่บางครั้งที่การออกแบบเพื่อความสวยงามของปั้นแล้วก็มาขัดกันกับความสามารถในการไหลของพวยน้ำ

     ๑. การเชื่อมต่อพวยกับตัวปั้น จำแนกออกได้ 2 รูปแบบ :

        (1) การเชื่อมต่อแบบเปิด (明接) รอยต่อของพวยกับตัวปั้นเห็นได้ชัดเจน เป็นรูปแบบโครงสร้าง Intersecting Line (相贯线)

▲พวยเชื่อมต่อกับตัวปั้นแบบเปิด [《ซินจู๋》ของทังเซวียนอู่(汤宣武歆竹》)]

        (2) การเชื่อมต่อแบบลับ (暗接) รอยต่อของพวยกับตัวปั้นไม่เด่นชัด รวมตัวกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นรูปแบบโครงสร้าง Transition Line (过渡线)

▲พวยเชื่อมต่อกับตัวปั้นแบบลับ [《สือเผียว》ของเฉินหย่งเลี่ยง(陈永亮石瓢》)]

     ๒. รูปลักษณ์ของริมฝีปากปั้น : ริมฝีปากเรียบ (平口嘴) ริมฝีปากงุ้ม (包口嘴) ริมฝีปากลิ้น (舌口嘴)

▲ริมฝีปากเรียบ [《เต๋อยี่》ของเฉินหลิ่วหลิ่ว(陈柳柳德意》)]

▲ริมฝีปากงุ้ม [《เม็ดบัว》ของสวีเส้าฟง(徐少锋莲子》)]

▲ริมฝีปากลิ้น [《หกเหลี่ยมแตกกลีบ》ของหยางจวินป่าว(杨军保六方抽角》)]

     ๓. รูปแบบของพวยปั้น แยกออกได้ 5 รูปทรง :

        (1) พวยตรง (直嘴) : รูปทรงเรียบง่าย พวยน้ำพุ่งไหลออกอย่างมีพลัง การเชื่อมต่อมีทั้งแบบเปิดและแบบลับ

▲พวยตรง [《ฉืนหลง》ของซ่าวซุ่นเซิน(邵顺生螭龙》)]

        (2) พวยโค้งเดียว (一弯嘴) : รูปร่างเหมือนจงอยปากนก จึงเรียกขานกันว่า “ปากจงอย” การเชื่อมต่อของพวยรูปแบบนี้เป็นแบบลับ

▲พวยโค้งเดียว [《ชิงหยิ่ง》ของเสิ่นฉ่ายเอ๋อ(沈彩娥清影》)]

        (3) พวย2โค้ง (二弯嘴) : ฐานของพวยที่ติดกับตัวปั้นจะใหญ่ น้ำออกจากพวยรูปแบบนี้จะลื่นไหล การเชื่อมต่อมีทั้งแบบเปิดและแบบลับ

▲พวย2โค้ง [《ห้านฟางฝูโซ่ว》ของพานกั๋วเซิ่น(潘国胜汉方福寿》)]

        (4) พวย3โค้ง (三弯嘴) : ส่วนใหญ่ปรากฏร่างอยู่บนเครื่องใช้ยุคต้น ได้แรงบันดาลใจจากปั้นทองแดงดีบุก การเชื่อมต่อส่วนใหญ่เป็นแบบเปิด

▲พวย3โค้ง [《วีรบุรุษ》ของสื่ออ้ายหมิน(史爱民英雄》)]

        (5) ปากเป็ด (鸭嘴) : ได้แรงบันดาลใจจากแก้วนม ส่วนใหญ่ใช้ในปั้นหมวกพระ(僧帽壶) กากาแฟ

▲ปากเป็ด [《หมวกพระ》ของซ่าวย่าฟาง(邵亚芳僧帽》)]

     จะตัดสินอย่างไรว่าพวยน้ำพุ่งไหลคล่องหรือไม่ ?

     น้ำจะไหลออกจากพวยอย่างง่ายดายหรือไม่ ไม่เพียงบ่งชี้ถึงอัตราการไหลของน้ำ ยังรวมถึงความเร็วของพวยน้ำ ความเร็วของพวยน้ำสูง ระยะการพุ่งไหลของน้ำจะได้ไกลกว่า

 ▲พวยของปั้นจื่อซาที่ดีพวยน้ำพุ่งไหลคล่อง ไหลหมดจดไม่เกิดหยดน้ำ น้ำพุ่งออกเป็นลำเส้นโค้งอย่างมีพลัง

     1. ระยะจากริมปากพวยถึงขอบปากปั้นยิ่งห่าง ความเร็วของพวยน้ำก็จะยิ่งสูง มิใช่ว่าพวย3โค้งจะมีพวยน้ำพุ่งไหลออกด้อยกว่าพวยตรง

▲ระยะห่างจากริมปากพวยถึงขอบปากปั้นยิ่งมาก ความเร็วของพวยน้ำยิ่งสูง

     2. ฐานของพวยควรออกแบบอยู่บนขอบนอกสุดของทรวดทรงตัวปั้น ซึ่งก็คือตำแหน่งที่เส้นตั้งฉากสีแดงสัมผัสกับเส้นขอบนอกสุดของตัวปั้น

▲ฐานของพวยควรเชื่อมต่ออยู่บนขอบนอกสุดของทรวดทรงตัวปั้น

-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..---

เอกสารอ้างอิง :
1. 紫砂壶的“明接”和“暗接”http://m.96hq.com/xinwen/a/20171009/20972.html
2. 你知道紫砂壶壶嘴(壶流)共有几种造型么?https://kknews.cc/collect/x58q5aq.html
3. 紫砂小壶嘴大乾坤https://kknews.cc/collect/lxkmz5b.html