วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562

หินโมราในเคลือบของอยู่เหยา



        เฉินหยินเก๋อ(陈寅格 : นักประวัติศาสตร์ชาวจีน ปี1890-1969) เคยกล่าวไว้ว่า : “วัฒนธรรมแห่งชนชาติจีน วิวัฒนาการผ่านมาหลายพันปี สู่จุดสุดยอดในยุคราชวงศ์ซ่ง”...อยู่เหยา---ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งโรจน์ยุคสมัยซ่งเหนือ เป็นเพราะกรรมวิธีการเผาผลิตที่พิเศษเฉพาะและความหมายโดยนัยทางสุนทรียภาพ ได้ปักหมุดพิกัดเชิงสุนทรียภาพและก่อตั้งมรดกทางศิลปกรรมที่น่าทึ่งไว้สำหรับคนรุ่นหลัง

 ▲ 汝窑盛于北宋  อยู่เหยาเฟื่องฟูในยุคสมัยซ่งเหนือรัชสมัยซ่งฮุ่ยจง แต่รุ่งเรืองได้เพียงในช่วงระยะสั้นๆแค่ 20 ปี แล้วหายเข้ากลีบเมฆ เป็นของล้ำค่าที่ตกทอดถึงยุคปัจจุบันไม่เกิน 100 ชิ้น

        อยู่เหยามีอายุการเผาผลิตเพียง 20-30 ปี เมื่อชนเผ่าหนี่เจิน(บรรพบุรุษของแมนจู)ยกกำลังเข้ายึดครองไคฟง(เมืองหลวง) เป็นอันสิ้นสุดของราชวงศ์ซ่งเหนือ พร้อมกันนี้การเผาผลิตอยู่เหยาก็หายสาบสูญเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวของมันยังถูกกล่าวขานกันอย่างต่อเนื่อง จักรพรรดิที่ต่อกันมา โดยเฉพาะจักรพรรดิยุงเจิ้นและเฉียนหลงยุคราชวงศ์ชิง จะเทิดทูนอยู่เหยาราวกับของล้ำค่า ได้ทรงทุ่มเทให้มีการเผาผลิตเลียนแบบขึ้นมาในจิ่งเต๋อเจิ้น แต่เป็นที่น่าสลดใจคือของเลียนแบบที่เผาผลิตออกมาขาดซึ่งมนตร์เสน่ห์แห่งอยู่เหยาที่แท้จริง

宋汝窯盤(上) 雍正仿汝瓷(下)  (บน)จานอยู่เหยายุคสมัยซ่ง ผิวเคลือบเรียบเนียนเนื้อด้าน (ล่าง)จานเครื่องเคลือบเลียนแบบอยู่เหยายุคจักรพรรดิยุงเจิ้น ผิวเคลือบมันเงาสว่าง : ของเลียนแบบยุงเจิ้นได้เพียงรูปลักษณ์แต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ยังอยู่ในรูปแบบคลาสสิกของ “ยุงเจิ้นนิยม” เนื่องจากอยู่เหยาเป็นเครื่องเคลือบที่เผายากมาก ทำนอง “ความยากของเคลือบสีเขียวฟ้า ความยากยิ่งกว่าขึ้นสวรรค์” (天青釉之难,难于上青天)  

        สีเขียวฟ้า สีเคลือบอยู่เหยาถูกยกย่องให้เป็นสีที่สวยงามที่สุดในประวัติศาสตร์เครื่องเคลือบดินเผาของเมืองจีน เฉกเช่นสีท้องฟ้าในบรรยากาศ “ฟ้าที่สดใสไร้เมฆบดบังหลังฝนตก” โดยโทนสีพื้นฐานของสีเคลือบอยู่เหยาคือสีเขียวอ่อน เรียกขานว่า “สีเขียวเปลือกไข่เป็ด” ภายใต้แสงที่ตกกระทบและมุมการมองที่แตกต่างกัน สีที่ปรากฏก็จะแปรเปลี่ยนออกมาแตกต่างกัน---ภายใต้แสงแดดที่สว่างจ้า สีจะออกมาทางเขียวอมเหลือง ภายในสถานที่แสงสลัว สีจะออกเขียวค่อนไปทางฟ้า เสมือนน้ำใสนิ่งของทะเลสาบ

▲【青如天】 เขียวเหมือนฟ้า : “สีเขียวฟ้า” (天青色) คือสีฟ้าเหมือน “ท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆหลังฝนตก” (雨过天晴云破处) ในเขียวมีฟ้า ในฟ้ามีเขียว ไออุ่นไอเย็นผสมกลมกลืนกันพอดี ผิวตรงขอบเส้นส่วนที่ชั้นเคลือบบางจะปรากฏสีชมพูอ่อนๆ 

        เคลือบของอยู่เหยาที่ผิวเคลือบสามารถปรากฏลักษณะ「เขียวเหมือนฟ้า หน้าเหมือนหยก ลายปีกจักจั่น มีดาวน้อย」ที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะแบบนี้ นอกจากกรรมวิธีการผลิตที่ประณีตบรรจงและใช้น้ำเคลือบที่คัดวัตถุดิบจากพื้นถิ่นแล้ว มีการใช้ผงหินโมราผสมอยู่ในน้ำเคลือบ เมื่อเป็นเช่นนี้ หินโมราในเคลือบ จะส่งผลถึงลักษณะของเคลือบอย่างไร ?

2015年清凉寺村汝窑遗址IV区出土的北宋时期玛瑙  หินโมรายุคสมัยซ่งเหนือ ขุดค้นพบจากพื้นที่ IV บริเวณของซากเตาเผาอยู่เหยาตำบลวัดชิงเหลียงเมื่อปี 2015 : สามารถถือเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ได้ว่า การเผาผลิตอยู่เหยามีการผสมผงหินโมรา 

        1. หินโมราทำให้ความเป็นแก้วของเคลือบลดลง ความวาวของผิวเคลือบอยู่เหยาจึงไม่มันเงามากเหมือนเครื่องเคลือบอื่นๆ ลักษณะเนื้อของผิวเคลือบอยู่เหยาเสมือนหยกโบราณ

▲【面如玉】 หน้าเหมือนหยก : ลักษณะเนื้อเชิงความเป็นแก้วของอยู่เหยากับเครื่องเคลือบทั่วไปจะแตกต่างกัน ผิวเคลือบอยู่เหยามีสุนทรียภาพเชิงเสมือนหยกมิใช่หยก (似玉非玉之美)

        2. ความหนืดของเคลือบหินโมราจะสูงมาก ทำให้ผิวเคลือบเกิดการรานตัวตามแนวขวางในมุมที่แตกต่างกัน และทำให้เกิดฟองอากาศขนาดใหญ่และเล็กอย่างดวงดาวกระจายห่างๆอยู่ในชั้นเคลือบ เมื่อแสงตกกระทบจะเกิดแสงหักแหสองแนว(Birefringence) ทำให้สีเคลือบแปรเปลี่ยนไป

▲【蝉翼纹】 ลายปีกจักจั่น : การรานตัว ภาษาช่างเรียกว่า “เคลือบล่ม” (崩釉) เนื่องจากสัมประสิทธิ์การขยายตัวจากความร้อนของเนื้อดินและสีเคลือบมีค่าแตกต่างกัน เมื่อเย็นตัวลงหลังเผาเสร็จ จะค่อยๆเกิดการรานตัวตามแนวขวางซึ่งมีลายรานขนาดใหญ่เล็กต่างๆกัน จะดูเหมือนเส้นลายปีกจักจั่นเมื่อเกิดแสงหักเห

▲【晨星稀】มีดาวน้อย : ในชั้นเคลือบจะมีฟองอากาศจำนวนไม่มากนัก มีขนาดใหญ่เล็กปะปนกัน ในรูปเล็ก01 จะเห็นฟองใหญ่จะมีขนาดใหญ่หลายเท่าถึงสิบเท่าของฟองเล็ก เมื่อแสงมากระทบจะเกิดดับๆติดๆ ราวกับดวงดาวแสงระยิบระยับ

        3. เนื่องจากมีการผสมผงหินโมราอยู่ในเคลือบ ความหนืดสูงขึ้น ทำให้เนื้อเคลือบมีคุณลักษณะในการยึดติดเพิ่มขึ้น ภายใต้สภาวะอุณหภูมิสูงซึ่งเคลือบที่หลอมเหลวควรที่จะไหลลงตามแรงโน้มถ่วงโลก แต่เคลือบกลับเกิดการไหลย้อนขึ้นเล็กน้อย นี่คือปรากฏการณ์ที่พิเศษเฉพาะหินโมราในเคลือบ ปรากฏการณ์แบบนี้ใช้อธิบายว่าทำไมผิวเคลือบของอยู่เหยาจึงมีความเรียบเนียนและหนาอย่างสม่ำเสมอทุกส่วน แม้กระทั่งตรงส่วนที่เป็นปาก และตรงส่วนโค้งมน

北宋汝窑天青釉莲花式温碗  ถ้วยอุ่นเหล้าดอกบัวเคลือบสีเขียวฟ้าของอยู่เหยาในยุคสมัยซ่งเหนือ : เนื้อผิวเคลือบมีความเรียบเนียนและหนาอย่างสม่ำเสมอทุกส่วน แม้กระทั่งตรงส่วนที่เป็นปาก และตรงส่วนโค้งมน

        โดยสรุป หินโมราในเคลือบมีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะมากมาย จุดที่สำคัญที่สุดคือทำให้ความวาวของผิวเคลือบสุกใสแต่ซ่อนเงื่อน และทำให้เคลือบปรากฏสีเขียวฟ้าที่เย็นสงบแต่ซ่อนเร้น แต่ก็มีข้อเสีย คือผิวเคลือบบ้างออกมาดี บ้างออกมาดีครึ่งเสียครึ่ง บ้างมีจุดตำหนิมาก ลักษณะเช่นนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการเผาผลิตเคลือบอยู่เหยามีความยากมาก นี่เป็นเหตุผลที่ผลิตภัณฑ์อยู่เหยาจึงมีจำนวนน้อย ของสำเร็จรูปที่สมบูรณ์แบบแทบจะหาไม่เจอ...

《十二美人图》之【博古幽思】 : หนึ่งใน 12 รูปภาพนางงาม เป็นภาพวาดลงสีบนผ้าไหมโดยบุรุษนิรนามในช่วงต้นราชวงศ์ชิง แต่บนภาพประทับตราชื่อเรียกอื่นๆของยิ่นเจิน (胤禛 ; จักรพรรดิยุงเจิ้นครั้นยังดำรงเป็นเจ้าฟ้าชาย)---ท่านสามารถบ่งชี้โบราณวัตถุต่างๆที่เก็บอยู่บนหิ้งว่า มีอยู่เหยาทั้งหมดกี่ชิ้น? อะไรบ้าง?





เอกสารอ้างอิง :
1. 名贵玛瑙入釉  https://www.jianshu.com/p/3e8a5e405b20
2. 玛瑙釉汝瓷的这些特点你都知道吗? https://kknews.cc/history/vzl6pyl.html

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2562

มีหินโมราผสมอยู่ในเคลือบของอยู่เหยาหรือไม่ ?



        เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2017 บริษัทประมูลโซธบีส์(Sotheby)ในฮ่องกง จัดการประมูลจานกระเบื้องล้างพู่กันเคลือบสีเขียวอมฟ้าของอยู่เหยาในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ โดยถูกประมูลไปในราคาราว 1,259 ล้านบาท ถือเป็นราคาประมูลเครื่องเคลือบราชวงศ์จีนซึ่งมีราคาแพงที่สุดในโลก

北宋汝窑天青釉洗 จานกระเบื้องล้างพู่กันเคลือบสีเขียวอมฟ้าของอยู่เหยาในยุคสมัยซ่งเหนือ : ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 13 ซม. คาดว่าผลิตขึ้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1086-1106 มีอายุเก่าแก่กว่า 900 ปี เป็นหนึ่งในจำนวนไม่เกิน 100 ชิ้นงานของอยู่เหยาที่สภาพยังสมบูรณ์และตกทอดถึงยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานต่างๆทั่วโลก

北宋汝窑天青釉洗 จานกระเบื้องล้างพู่กันเคลือบสีเขียวอมฟ้าของอยู่เหยาในยุคสมัยซ่งเหนือ : ผิวเคลือบเนื้อเรียบเนียน สีเขียวฟ้าดั่งหยก ลายน้ำแข็งรานเป็นประกาย

        อยู่เหยา—เป็นหนึ่งในห้าเตาเผาผลิตเครื่องเคลือบอันโด่งดังในยุคสมัยซ่งของเมืองจีน ริเริ่มขึ้นในปลายยุคสมัยซ่งเหนือ ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองตอบต่อความต้องการที่พิเศษเฉพาะของพระราชวังราชวงศ์ซ่ง สถานที่เตาเผาตั้งอยู่ภายในบริเวณเมืองอยู่โจว(ปัจจุบันอยู่ทางแถบหมู่บ้านวัดชิงเหลียง เมืองเป่าฟง มณฑลเหอหนาน) มีการกล่าวขานกันว่า「สุดยอดแห่งเครื่องเคลือบ ที่หนึ่งยกให้อยู่เหยา」(名瓷之首,汝窑为魁)

▲เครื่องเคลือบ5เตาเผาอันโด่งดังในยุคสมัยซ่ง : (จากซ้ายไปขวา) กวน() อยู่() จีน() เกอ() ติ้ง(

河南省宝丰县清凉寺村的汝官窑遗址 ซากปรักหักพังของอยู่เหยาในสถานที่ตั้งปัจจุบันหมู่บ้านวัดชิงเหลียง เมืองเป่าฟง มณฑลเหอหนาน

        ความมีคุณค่าของอยู่เหยาอยู่ที่สัณฐานและสีเคลือบของมัน สีเคลือบเหมือนหยก สีแปรเปลี่ยนตามแสง ความมันเงาของผิวเคลือบสว่างสุกใสแต่ไม่บาดตา อยู่เหยาจึงได้รับการยกย่องให้เป็น「เหมือนดั่งหยก มิใช่หยก เหนือกว่าหยก」(似玉,非玉,而勝玉) ผิวเคลือบอยู่เหยาโดยส่วนใหญ่จะมีลวดลายแบบ「แตกลายงา」[เป็นปรากฏการณ์ “เคลือบล่มสลาย” (崩釉) ดั้งเดิมถือเป็นของที่มีตำหนิ] จะมีจำนวนน้อยมากที่ผิวเคลือบเรียบไม่มีลวดลาย(ดั้งเดิมถือเป็นของที่สวยสมบูรณ์แบบ)

汝窑长颈赏瓶 แจกันคอยาวของอยู่เหยา : ผิวเคลือบมีลวดลายแบบแตกลายงา (开片) ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถาน Percival David Foundation of Chinese Art กรุงลอนดอน

北宋汝窑青瓷无纹水仙盆  กระถางกระเบื้องดอกไม้ซุ่ยเซียนเคลือบสีเขียวอมฟ้าของอยู่เหยาในยุคสมัยซ่งเหนือ : ผิวเคลือบเรียบไม่มีลวดลายแบบแตกลายงา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานกู้กงกรุงไทเป

        หินโมราในเคลือบ—เคลือบสีเขียวฟ้าที่ลึกลับและพิเศษเฉพาะของอยู่เหยา คนในยุคสมัยซ่งใต้ได้บันทึกไว้ว่า อยู่เหยามีการใช้หินโมราผสมอยู่ในเคลือบ แต่ผู้คนมีความเชื่อมาตลอดว่านั่นเป็นเรื่องราวที่ผู้มีปัญญาตกแต่งขึ้นมาเพื่อยกระดับสถานภาพทางสังคมและเพิ่มความขลังของอยู่เหยาให้สูงขึ้น

汝窑的标志性颜色是天青色 สีที่เป็นสัญลักษณ์ของอยู่เหยาคือสีเขียวฟ้า
     
        ปี 2002 สถาบันเซรามิกแห่งเซี่ยงไฮ้สังกัดสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ได้ทำการวิเคราะห์ชิ้นแผ่นเครื่องเคลือบอยู่เหยาโดยวิธีการทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ผลลัพธ์ออกมา ไม่มีหินโมราเป็นส่วนประกอบอยู่ในเคลือบของอยู่เหยา
        แต่แล้ว จาการขุดค้นทางโบราณคดีที่กระทำมาอย่างต่อเนื่อง และการวิเคราะห์โดยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้บ่งชี้ชัดว่า : ในเคลือบของอยู่เหยาอาจมีหินโมราผสมอยู่จริง

玛瑙 หินโมรา : เป็นแร่รัตนชาติในกลุ่มคาลซิโดนี(Chalcedony) หมายถึงควอทซ์ที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ ผงหินโมราที่ผสมลงในเคลือบจะมีผลต่อสีเคลือบ คุณค่าเชิงผัสสะ การแตกลายงาของเครื่องเคลือบหรือไม่ หรือจะเกิดผลกระทบอย่างไร ?

        เมืองอยู่โจวเดิมในยุคสมัยซ่งก็อุดมไปด้วยหินโมรา ในประศาสตร์แห่งซ่งได้มีการบันทึกไว้มากมายเกี่ยวกับเมืองอยู่โจวได้ถวายหินโมราเป็นเครื่องราชบรรณาการ ในการขุดค้นรอบบริเวณซากเตาเผาวัดชิงเหลียงเมื่อปี 2015 ได้ขุดพบแร่หินโมราที่ถูกคัดทิ้ง กลายเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักของ “หินโมราในเคลือบ” ของอยู่เหยา

玛瑙矿石 แร่หินโมรา : ขุดค้นพบจากบริเวณซากเตาเผาวัดชิงเหลียงเมื่อปี 2015

        ปี 2017 ติงหยิงจง(丁银忠)รองหัวหน้าฝ่ายศึกษาวิจัยของพิพิธภัณฑสถานกู้กงได้นำชิ้นตัวอย่างอยู่เหยาที่ขุดพบในสถานที่ตั้งเตาเผาวัดชิงเหลียงมาเจียรให้เป็นแผ่นบางๆแล้วทำการสังเกตด้วยกล้องจุลทรรศน์ บนตัวอย่างได้พบเห็นโครงสร้างที่คลับคล้ายคลับคลากับหินโมรา สงสัยจะเป็นวัตถุที่คล้ายคลึงกับหินโมรา

▲ซ้ายเป็นภาพโครงสร้างจากกล้องจุลทรรศน์ของชิ้นตัวอย่างอยู่เหยา ขวาเป็นภาพโครงสร้างจากกล้องจุลทรรศน์ของหินโมรา : สามารถสังเกตเห็นได้ว่าทั้งสองมีส่วนที่คล้ายคลึงกันมาก

        วัตถุที่ใกล้เคียงกับหินโมราชนิดนี้ที่แท้เป็นหินโมราหรือไม่ ? ถ้าหากเป็นหินโมราจริง แล้วมันมีผลต่อคุณค่าเชิงผัสสะและสีเคลือบของอยู่เหยาหรือไม่ หรือจะเกิดผลกระทบอย่างไร ? กล่าวสรุปโดยย่อ ปัญหาของ “หินโมราในเคลือบ” ของอยู่เหยายังมีข้อสงสัยอีกมากมาย  ต้องรอคอยให้นักวิชาการทั้งหลายทำการสืบเสาะเพิ่มเติมต่อไป



เอกสารอ้างอิง :
1. 关于汝窑的七大误区https://m-news.artron.net/20180508/n1000501.html
2. 宋汝窑天青釉洗拍出近3亿 破中国瓷器拍卖纪录https://news.sina.cn/2017-10-03/detail-ifymkwwk8102089.d.html?from=wap