4.【เคลือบหลางหยาวหง】(Langyao Red Glaze/郎窑红釉)
ช่วงรัชสมัยคังซีราชวงศ์ชิง สังคมเศรษฐกิจค่อยๆเจริญพัฒนา ภาพแห่งความรุ่งเรืองได้ปรากฏในทุกๆด้าน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเคลือบได้เข้าสู่ยุคทอง จิ่งเต๋อเจิ้นรักษาตำแหน่ง “เมืองหลวงแห่งเครื่องเคลือบเมืองจีน” ไว้ได้อย่างตลอดกาล สถานะเป็นเตาหลวงเพื่อทำการเผาผลิตเครื่องเคลือบสำหรับราชสำนักโดยเฉพาะ สามารถทุ่มทุนอย่างไม่อั้นเพื่อการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่สุดอลังการอย่างวิจิตรประณีต และแสดงความมีเอกลักษณ์ทางศิลปะที่พิเศษเฉพาะให้ปรากฏ เป็นการก้าวสู่จุดสูงสุดของการสร้างสรรค์เครื่องเคลือบสีใหม่ๆบนพื้นฐานของการเลียนแบบวัตถุโบราณ
เคลือบหลางหยาวหงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของเตาจิ่งเต๋อเจิ้นช่วงปลายรัชสมัยคังซีที่กลายพันธุ์มาจากบนพื้นฐานของการเลียนแบบเคลือบเซียนหงซวนเต๋อราชวงศ์หมิง ภายใต้การกำกับควบคุมการเผาผลิตของ “หลางถิงจี๋” จนมีชื่อก้องโลกในนาม「หลางหยาวหง」ก็เรียกขานกันว่า「หลางหง」เป็นเครื่องเคลือบสีแดงไฟสูงที่ใช้คอปเปอร์ออกไซด์เป็นสารให้สี ทำการชุบเคลือบบนหุ่นดินดิบ แล้วเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิสูง 1300ºC ขึ้นไปภายใต้บรรยากาศการเผาไหม้แบบรีดักชั่นอย่างยิ่งยวดจนเสร็จในการเผาผลิตครั้งเดียว มีโทนสีที่สวยสดและหนาเข้มกว่าเคลือบเซียนหงซวนเต๋อ มีลักษณะความเป็นแก้วสูง ผิวมันแวววาว ผิวเคลือบมีรอยแตกราน
▲郎窑红釉 (大卫德基金会藏) เคลือบหลางหยาวหง : เก็บรักษาอยู่ที่ Percival David Foundation Chinese Art
▲郎廷极 หลางถิงจี๋ (ปี1663-1715) : ได้เป็นผู้รับผิดชอบเพื่อกำกับดูแลการผลิตเครื่องเคลือบที่เตาจิ่งเต๋อเจิ้นในช่วงปลายรัชศกคังซีปีที่44-51 แม้เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่เตาหลวงคังซีสามารถสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมมากมาย จนถูกยกย่องและให้เกียรติโดยการริเริ่มนำแซ่นามสกุลมาเป็นคำนำหน้าของชื่อเตาหลวงว่า “หลางหยาว/郎窑”
เคลือบหลางหยาวหงมีการแบ่งออกเป็นเคลือบชั้นเดียวและเคลือบสองชั้น เคลือบชั้นเดียวจะชุบเคลือบค่อนข้างบาง ผิวเคลือบมันเงา รอยแตกรานเป็นแผ่นเล็กๆ มักจะเรียกเป็น「แดงเลือดไก่」แดงเลือดไก่คือการบ่งชี้ถึงเครื่องเคลือบหลางหงที่มีชั้นเคลือบบางและมีสีแดงสดเหมือนเลือดไก่ จะมีลักษณะพิเศษคือฟองอากาศภายในเคลือบมีขนาดเล็กและเปล่งประกาย ผิวเคลือบมีจุดสีขาวแผ่กระจายไปทั่ว
▲鸡血红 แดงเลือดไก่
เคลือบสองชั้นโดยการชุบเคลือบให้หนาขึ้น ผิวเคลือบเรียบสม่ำเสมอ เกิดการแตกรานเป็นลายลึก มักจะเรียกเป็น「แดงเลือดวัว」แดงเลือดวัวคือการบ่งชี้ถึงเครื่องเคลือบหลางหงที่มีเคลือบออกสีเลือดหมูเหมือนเลือดวัวที่เข้มข้น มีจุดเด่นคือชั้นเคลือบจะหนา สีจะออกคล้ำ ฟองอากาศในเคลือบจะมีจำนวนมากและขนาดใหญ่ ผิวเคลือบมีรูเข็ม ในชั้นเคลือบที่หนาจะมีจุดดำเล็กๆ เป็นผลจากอนุภาคของทองแดงกระจายตัวไม่สม่ำเสมอในชั้นเคลือบ
▲牛血红 แดงเลือดวัว
ตรงขอบปากของเคลือบสีแดงซวนเต๋อราชวงศ์หมิงที่ขึ้นเคลือบทั้งด้านนอกและด้านในภาชนะมักมีเส้นรอบวงสีขาวที่เป็นระเบียบ เรียกว่า “หลุดปาก” ซึ่งหลุดปากนี้เป็นลักษณะขอบปากขาวที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เกิดสีตัดกันกับเคลือบสีแดงที่สดใสได้อย่างกลมกลืน แต่หลุดปากของเคลือบหลางหยาวหงคังซี เป็นการตกแต่งด้วยการทาเคลือบสีขาวแบบผงหรือแบบน้ำข้นโดยฝีมือมนุษย์ ทั่วไปเรียกว่า “ตึนฉ่าวเบียน”
▲明宣德 霁红釉盘 ถาดเคลือบสีแดงซวนเต๋อราชวงศ์หมิง : เนื้อดินตรงขอบปากปรากฏเป็นสีขาวเนื่องจากการไหลตัวลงของเคลือบสีแดงไฟสูง ทั่วไปเรียกว่า “หลุดปาก/脱口”
▲清康熙 郎窑红釉圆炉 กระถางธูปทรงกลมเคลือบหลางหยาวหงคังซีสมัยชิง : เคลือบสีแดงจากทองแดงจะเกิดการไหลตัวสูงขณะหลอม การไหลตัวลงมาของเคลือบ อนุภาคของทองแดงก็ไหลตามลงมาด้วย ทำให้บริเวณตรงริมปากปรากฏออกเป็นสีขาว เรียกว่า “ตึนฉ่าวเบียน/灯草边” เคลือบบริเวณใกล้ขาภาชนะจะยิ่งหนาขึ้น สีแดงจะยิ่งเข้มขึ้นจนอาจปรากฏเป็นสีแดงดำ
การเผาผลิตเคลือบหลางหยาวหงให้สำเร็จชิ้นหนึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ความต้องการต่ออุณหภูมิการเผาผลิต บรรยากาศการเผาไหม้ เป็นต้นซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางเทคนิคจะสูงมาก มีคำพังเพยที่กล่าวว่า “อยากพาจน เผาหลางหง/若要穷,烧郎红”
5.【เคลือบเจียงเต้าหง】(Bean Red Glaze/豇豆红釉)
เคลือบเจียงเต้าหงขึ้นชื่อพร้อมกันกับเคลือบหลางหยาวหง เจียงเต้าหงเป็นผลิตภัณฑ์เคลือบสีแดงจากทองแดงไฟสูงชนิดใหม่ในช่วงปลายรัชสมัยคังซีที่มีสีสันแปรปรวนที่กลายพันธุ์มาจากบนพื้นฐานของการเลียนแบบเคลือบเซียนหงซวนเต๋อราชวงศ์หมิง วิธีการขึ้นเคลือบของเครื่องเคลือบเจียงเต้าหงจะพิเศษเฉพาะมาก ไม่ใช่เป็นการชุบเคลือบหรือการเทเคลือบ แต่เป็นการพ่นเคลือบ ที่เรียกกันว่า “พ่นแดง/吹红”
▲豇豆红釉 เคลือบเจียงเต้าหง
ในกระบวนการขึ้นเคลือบและการเผาผลิต เนื่องจากความหนาแน่นในการกระจายและอนุภาคขนาดใหญ่เล็กของทองแดงแตกต่างกัน ทำให้โทนสีที่ปรากฏออกมาไม่เหมือนกัน เคลือบเจียงเต้าหงเป็นชนิดที่เผาผลิตยากมากที่สุดในบรรดาเคลือบสี สีจะปรากฏออกมาไม่แน่นอน ยากที่จะควบคุม เคลือบสีแดงจากทองแดงบนผิวด้านนอกภาชนะที่ทำการพ่นเคลือบหลายครั้งแล้วผ่านการเผาผลิตที่อุณหภูมิสูงจนเสร็จ เนื่องจากจำนวนชั้นของการพ่นเคลือบแตกต่างกัน บนผิวเคลือบหลังการเผาผลิตแล้วจะปรากฏปรากฏการณ์ของคราบน้ำระดับต่างๆกัน ภายใต้อิทธิผลของบรรยากาศการเผาไหม้แบบออกซิเดชั่น ผิวเคลือบตรงบริเวณปากหรือตัวภาชนะจะปรากฏจุดลิเวอร์เวิรตสีเขียวเป็นจุดด่างพร้อยที่ปนเปอยู่ท่านกลางมวลของเคลือบสีแดงอ่อน รอยมลทินจากกรรมวิธีการเผาผลิตแบบนี้ ก็ถือเป็นสุนทรียะแบบหนึ่งที่ได้มาโดยบังเอิญ ตามหลักแล้วเจียงเต้าหงที่แท้จริงควรที่จะเป็นสีแดงทั่วทั้งผิวเคลือบ
▲绿斑苔点 จุดลิเวอร์เวิรตสีเขียว(Liverwort Spot) : จุดด่างสีเขียวที่ปนเปอยู่ท่านกลางมวลของเคลือบสีแดงอ่อนบนผิวเคลือบเจียงเต้าหง
เจียงเต้าหงมีสีเนียนนุ่มภูมิฐาน โทนสีพื้นฐานเหมือนสีแดงของถั่วพุ่ม(豇豆)ที่สุกงอม จากการสังเกตภาชนะที่ตกทอดถึงปัจจุบัน เจียงเต้าหงจะปรากฏสีเข้มจางแตกต่างกัน จึงมีการจัดแบ่งออกเป็นระดับสูง-ต่ำ ระดับบนสุดเรียกว่า「ต้าหงผาว」เป็นสีเดียวทั่วทั้งผิวเคลือบ สีเคลือบสดใส สะอาดหมดจดไร้มลทิน ; ระดับรองลงมา คือสีเคลือบที่เหมือนถั่วพุ่ม ประกอบด้วยจุดด่างลิเวอร์เวิรตสีเขียวที่เข้มจางต่างๆกัน เรียกขานกันว่า「นารีเมา」; ส่วนสีเคลือบที่โทนสีอ่อนลงมาอีกนิดจนออกชมพู ประกอบด้วยจุดแผ่ซ่านของสีแดงม่วงที่เข้มจางแตกต่างกันเรียกว่า「หน้าทารก」แม้อาจสวยสดไม่เท่าตัวที่มีสีเข้มกว่า แต่ก็มีความน่ารักอ่อนโยน ; ลำดับที่รองลงมาอีก คือสีเคลือบที่โทนสีซีดจางลงมาอีก หรือขุ่นหมองมืดมัว เรียกว่า「ผิวหนูตัวอ่อน」; ส่วนผิวเคลือบที่ออกสีเทาดำไม่สม่ำเสมอก็คือ「ตับลา」หรือ「ปอดม้า」ซึ่งจัดอยู่ในระดับต่ำสุด
▲清康熙 豇豆红釉镗锣洗 ถาดล้างทังหลอเคลือบเจียงเต้าหงคังซีสมัยชิง : เจียงเต้าหงระดับบนสุดชื่อว่า “ต้าหงผาว/大紅袍” หรือ “แดงแท้/正紅”
▲清康熙 豇豆红釉柳叶尊 แจกันใบหลิวเคลือบเจียงเต้าหงคังซีสมัยชิง : เจียงเต้าหงระดับรองที่ชื่อว่า “นารีเมา/美人醉” หรือ “นางนามเสงี่ยม/美人霁”
▲清康熙 豇豆红釉菊瓣瓶 แจกันกลีบเก๊กฮวยเคลือบเจียงเต้าหงคังซีสมัยชิง : เจียงเต้าหงระดับสามที่ชื่อว่า “หน้าทารก/娃娃面” หรือ “กลีบดอกท้อ/桃花片”
▲清康熙 豇豆红釉印色盒 ตลับเคลือบเจียงเต้าหงคังซีสมัยชิง : เจียงเต้าหงระดับที่สี่ที่ชื่อว่า “ผิวหนูตัวอ่อน/乳鼠皮” หรือ “เปลือกต้นอัลมัส/榆树皮”
▲豇豆红釉太白尊 เหยือกเหล้าเคลือบเจียงเต้าหง : เจียงเต้าหงระดับต่ำสุดที่ชื่อว่า “ตับลา/驴肝” หรือ “ปอดม้า/马肺”
เคลือบสีแดงจากทองแดงไฟสูงเมื่อขึ้นน้ำเคลือบที่มีคอปเปอร์ออกไซด์เป็นสารให้สีบนหุ่นดินดิบแล้ว จะเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิ 1250ºC ขึ้นไปทำการเผาผลิตครั้งเดียว ภายใต้สภาวะไฟสูง การปรากฏสีของไอออนทองแดงจะมีความอ่อนไหวมากต่ออุณหภูมิและบรรยากาศการเผาไหม้ คิดอยากทำการเผาผลิตเคลือบสีแดงที่สวยสดงดงาม จะต้องประคับประคองอุณหภูมิการเผาที่เหมาะสม และต้องควบคุมบรรยากาศการเผาไหม้ภายในเตาเผาให้ดี มิฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจะล้มเหลว การเผาผลิตเคลือบสีแดงจากทองแดงได้หยุดลงโดยปริยายตั้งแต่กลางสมัยหมิง สาเหตุหลักก็เป็นเพราะการขาดกรรมวิธีการเผาผลิตที่ดีและมาตรฐานสูง ในรัชสมัยเจียจิ้งราชวงศ์หมิง ได้หันมาเผาผลิตเครื่องเคลือบสีแดงไฟต่ำมาทดแทนเครื่องเคลือบสีแดงไฟสูง จึงริเริ่มเผาผลิต「เคลือบฝานหง/矾红釉」
เอกสารอ้างอิง :
1. 陶瓷釉色之单色釉 (1)--红釉 : https://kknews.cc/culture/e3gp4rq.html
2. 康熙时期高溫铜红釉瓷器的分类与分析 : https://www.pressreader.com/china/collections/20190806/283347588811295
3. 康熙名贵的 “郎窑红”, “豇豆红” 瓷器 : http://www.aihuau.com/a/25101014/227904.html