《บทเพลงชา 7 ถ้วย》
ในกระบวนการชิมดื่มชา ประสาทสัมผัสทั้ง 5 : การได้ยิน การเห็น การได้กลิ่น การรับรส การรู้สึก โดยผ่านอวัยวะ หู ตา จมูก ลิ้น ร่างกาย ที่รับรู้ความรู้สึกของเสียง สี กลิ่น รส และสัมผัส แล้วส่งผลผ่านไปที่จิตใจ ก่อให้เกิดความรู้สึกรื่นรมย์ เพริศพริ้ง ตกอยู่ในภาวะการณ์เพ้อฝันและมโนภาพ นี้ก็คือ ความดื่มด่ำของชา
ความดื่มด่ำของชาเป็นความรู้สึกที่เมื่อได้กระทบรสที่พิเศษเฉพาะ เป็นรสเหนือรสชาติของชา เป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบายออกมาได้ แต่มันเป็นภาวะการณ์ที่ดำรงอยู่จริง ถ้าจะหาตัวหนังสือที่มีการเขียนบันทึกไว้เพื่อพรรณาถึงความดื่มด่ำของชา แม้จะเป็นความรู้สึกเชิงแคบ เช่น《บทเพลงชา 7 ถ้วย》ของ หลูถง(盧仝 : คศ. 795-835) นักกวียุคสมัยราชวงค์ถัง ได้เขียนบทกลอนท่อนหนึ่งว่า :
《七碗茶歌》
一碗喉吻潤
二碗破孤悶
三碗搜枯腸 , 惟有文字五千卷
四碗發輕汗 , 生平不生事 , 盡向毛孔散
五碗肌骨清
六碗通仙靈
七碗吃不得也 , 唯覺兩腋習習清風生 .
《บทเพลงชา 7 ถ้วย》
- ชาถ้วยแรก รู้สึกชุ่มปากลื่นคอ ความกระหายน้ำมลายไป
- ชาถ้วยที่สอง เมื่อตกถึงท้อง ความเหงาหงอยก็สิ้นสุดลง
- ชาถ้วยที่สาม สติปัญญาเพิ่มทวี เต็มไปด้วยตัวหนังสือที่จะร้อยกรองเป็นบทกวี
- ชาถ้วยที่สี่ ร่างกายจะค่อยๆขับเหงื่อซึมออกมา ความโศกเศร้าที่ประสบมาก็ถูกขับออกตาม
- ชาถ้วยที่ห้า เต็มไปด้วยความรู้สึก สดชื่น...สบาย...ผ่อนคลาย
- ชาถ้วยที่หก เสมือนได้ขึ้นไปอยู่ในวิมานสุขาวดี
- ชาถ้วยที่เจ็ด รู้สึกได้ใต้รักแร้ทั้งสองมีลมปลิวไหวๆพยุงปีกลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า...
ความดื่มด่ำของชาเป็นสิ่งอัศจรรย์แต่ไม่เร้นลับ รู้สึกสัมผัสได้แต่จะแตกต่างกันของแต่ละบุคคล ชาทุกชนิดต่างมีความดื่มด่ำของชาที่เฉพาะของตนเอง แต่อย่าลืมก่อนอื่นต้องเป็นชาดีจึงจะมีความดื่มด่ำได้ ชาผูเอ๋อร์ถือเป็นตัวแทนทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาจีนได้ดีที่สุด เพราะเป็นชาที่มีความลึกลับซับซ้อนมากกว่าชาชนิดอื่นๆ เป็นชาที่มีชีวิตตามวิถีกาลเวลา
การชิมดื่มชาไม่เฉพาะเพียงเพื่อกลิ่นหอมและรสชาติเข้มข้นของชา แต่เพื่อค้นหาความดื่มด่ำของชาที่เลี่ยมฝังอยู่ในชีวิตแล้ว ความดื่มด่ำของชาก็คือมนุษย์และธรรมชาติได้หลอมรวมเป็นหนึ่งโดยธรรมชาติ(天人合一)...
(อ่าน-แปล จากหลายบทความ เรียบเรียง-ย่อ-เขียน ลงบนบทความนี้)
โพสต์นี้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2557 ลงในเฟสเพจสมาคมผู้รักชาผูเอ่อร์แห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/groups/1465523990337272/