วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ความยั่วยวนใจของการเก็บชา(ภาค III) --- (2)

การศึกษากลไกการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์ --- การประเมินการเก็บชาไว้ที่บ้านเรือนและการเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้า
普洱茶后发酵机理研究 --- 家庭储茶与仓储存茶的评估



        1. การเก็บชาไว้ที่บ้านเรือน

        แต่กาลก่อนเกิดขึ้นที่ฮ่องกงและใต้หวัน กลางศตวรรษที่แล้ว หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ก่อตั้งขึ้นมา การดื่มชาผูเอ๋อร์ในจีนแผ่นดินใหญ่(ยกเว้นธิเบต)ได้หยุดชงักลงโดยพื้นฐาน มีเพียงฮ่องกงที่ยังเก็บรักษาตลาดที่ยังมีความต้องการชาผูเอ๋อร์บางส่วน ฮ่องกงก็นำชาผูเอ๋อร์เข้าไปในใต้หวันและบางประเทศในอาเซียน ดังนั้น เนื่องเพราะฮ่องกงอยู่ในตำแหน่งทางการค้าที่พิเศษในช่วงเวลานั้นจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางกระจายชาผูเอ๋อร์โดยปริยาย อันที่จริง เป็นเพราะการค้าจึงก่อเกิดแนวความคิดการเก็บชากระทั่งการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์ขึ้นมา พูดอีกนัยหนึ่ง แม้ว่าตั้งแต่โบราณกาลหยินหนานก็มีคำกล่าวว่า “รุ่นปู่ทำชา รุ่นหลานขายชา”(อีกคำพูดหนึ่งคือ “รุ่นหลานดื่มชา”) แต่การเก็บชาของฮ่องกงแรกเริ่มเป็นเพียงแนวความคิดของ “รวบรวมสินค้า”(屯货) แล้วภายหลังค่อยๆเริ่มตระหนักรู้ในการเก็บชา และคิดค้นหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้เข้าใกล้การเก็บชาแบบมืออาชีพ  ฮ่องกงเนื่องจากคนมากพื้นที่น้อย เงื่อนไขของโกดังมีข้อจำกัด ยิ่งประกอบกับใบชาในมวลรวมการค้าทั้งหมดของฮ่องกงเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก  ผุ้มีงานทำมีเงินทุนและศักยภาพค่อนข้างต่ำ เป็นเหตุให้รูปแบบของการเก็บชาโดยพื้นฐานเป็นการเก็บชาไว้ที่บ้านเรือนเป็นหลัก รูปแบบนี้ในกลางยุคปีที่ 90 ศตวรรษที่แล้ว ได้แพร่ขยายเข้าไปในเขตพื้นที่กว่างตง จนถึงจุดสูงสุดเมื่อต้นศตวรรษนี้ กว่างตงอาศัยศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางกระจายชาผูเอ๋อร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าและเงื่อนไขความสะดวกง่าย นำการจัดเก็บชาผูเอ๋อร์พัฒนากลายเป็น “จุดร้อนแรงทางเศรษฐกิจ”แห่งใหม่ แล้วผลักดันออกไปทั่วเมืองจีนอย่างรวดเร็ว

        การเก็บชาไว้ที่บ้านเรือนที่ได้เริ่มขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้กับการเก็บชาไว้ที่บ้านเรือนของฮ่องกงต่างมีบุคลิกลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน การเก็บชาไว้ที่บ้านเรือนของฮ่องกงเพื่อการครองชีพ เป็นวิธีการหนึ่งในการทำมาหากิน ; การเก็บชาไว้ที่บ้านเรือนของจีนแผ่นดินใหญ่โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะความชื่นชอบแล้วกลายมาเป็นวิถีการบริโภครูปแบบหนึ่ง ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วมันจะเบี่ยงเบนไปทางรูปแบบเชิงขนาดเล็ก มีบ้างที่เป็นการเกี่ยวโยงกับพื้นที่การดำรงชีพของครอบครัวตัวเอง มีบ้างที่เป็นพื้นที่อิสระแยกออกมาต่างหาก(หรือห้อง โรงเก็บรถ ห้องใต้ดิน ฯลฯ) มันมีข้อดีลักษณะหนึ่ง คือสามารถรับประกันถึงความสะอาดของสภาพแวดล้อม ไม่เกิดปรากฏการณ์ที่ยุ่งเหยิง ผู้เก็บชาสามารถเข้าไปในพื้นที่เก็บชาที่อยู่ใกล้ๆเพื่อ “อุปการะ” ได้อย่างสม่ำเสมอ ด้านหนึ่งสร้างความพึงพอใจแก่ผู้เก็บชาที่สนุกกับการเป็น “นักเล่น” หล่อหลอมจิตใจ อีกด้านหนึ่งสามารถมาให้ความสนใจใบชาได้ทุกเมื่อ พินิจพิเคราะห์และเรียนรู้สัมผัสการเปลี่ยนแปลงของชา นี่คือวิธีการที่ผู้ชื่นชอบชาผูเอ๋อร์ควรค่าแก่การนำไปอ้างอิงและเผยแพร่ ก็เฉกเช่นเดียวกับไวน์แดงของฝรั่งเศส แม้ว่าโรงกลั่นเหล้าองุ่นของฝรั่งเศสล้วนมีห้องใต้ดินเก็บเหล้าไวน์ของตนเอง แต่คนฝรั่งเศสจำนวนมากก็มีห้องเก็บเหล้าไวน์ขนาดเล็กอยู่ในบ้านของตัวเอง พวกเขายิ่งชอบไปซื้อไวน์แดงจำนวนหนึ่งทุกปีเพื่อนำไปเก็บไว้ที่ห้องเก็บเหล้าไวน์ในบ้าน จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อต้องการ “ดื่มจัด” และไม่ใช่เพื่อมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แต่เป็นการผ่อนคลายแบบหนึ่งในยามว่าง หรือชื่นชม หรือชิมดื่ม อันที่จริงเป็นการแสดงความรู้สึกทางการใช้ชีวิตในรูปแบบที่สง่างาม ดังนั้น ห้องเก็บเหล้าไวน์ในบ้านของพวกเขาไม่มีรูปแบบที่เป็นแบบฉบับเดียวกัน แต่ต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นพื้นที่ที่แขกที่ได้รับเชิญมาที่บ้านต้องเข้ามาเยี่ยมชม สิ่งสำคัญคือการแสดงถึงรสนิยมและขอบเขตทางจิตวิญญาณของเจ้าของ



        มีอยู่จุดหนึ่งที่พวกเราต้องขอเตือนความจำก็คือ การเก็บชาไว้ที่บ้านเรือนยากต่อการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ตลอดทั้งกระบวนการหมักภายหลังได้ในระยะเวลาอันสั้นที่สุด นี่ก็เป็นเพราะว่าเงื่อนไขข้อจำกัด 2 ข้อของการเก็บชาไว้ที่บ้านเรือน : ๑. สภาพแวดล้อมของบ้านเรือนที่ “ความเข้มข้น”(浓度) ของจุลิทรีย์ไม่สามารถถึงระดับตามที่ต้องการได้ ทำให้อัตราความเร็วของการหมักลดต่ำลงโดยธรรมชาติ ; ๒. คือข้อจำกัดของปริมาณการจัดเก็บ ไปจำกัดการเกิดของ “Quorum Sensing¹”(聚量反应) ในกระบวนการหมักภายหลัง เนื่องจาก “Quorum Sensing” จะสอดคล้องกับปริมาณชาในปริมาณหนึ่ง ดังนั้น การหมักแบบมืออาชีพที่พวกเราได้กล่าวถึงก็เหมือนกับ “รถแทรกเตอร์เกลี่ยดิน”(推土机) ได้ทำการบุกเบิกถนนในบริเวณรกร้าง ว่างเปล่า การเก็บชาไว้ที่บ้านเรือนก็เหมือนกับ “รถบดถนน”(压道机) ทำการบดถนนใหม่ที่บุกเบิกให้ราบเรียบยิ่งขึ้น ทำนองเดียวกัน ห้องเก็บไวน์ที่บ้านเรือนและห้องใต้ดินเก็บเหล้าไวน์ของโรงกลั่นเหล้าไวน์ของฝรั่งเศสต่างก็มีบุคลิกลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน มองโดยผิวเผิน พวกมันมีลักษณะเชิงคล้ายกัน บนระดับเทคโนโลยีล้วนเป็นลักษณะหลีกเลี่ยงแสงส่องกระทบโดยตรง และควบคุมความสมดุลของอุณหภูมิและความชื้น แต่ก็ตระหนักได้ถึงความแตกต่างจากห้องใต้ดินเก็บไวน์แบบมืออาชีพ อย่างเช่นการควบคุมและอ่อนแรงของ “ความเข้มข้น” ในสภาพแวดล้อมของจุลินทรีย์ บนกำแพงไม่มีดวงเชื้อรา การถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่มี “กลิ่นห้องเก็บใต้ดิน” อย่างเด่นชัด มันค่อนข้างไปทางขนาดเล็ก ค่อนข้างละเอียดประณีต บรรยากาศวัฒนธรรมเข้มข้นกว่า ความรู้สึกทางทัศนวิสัยก็ดีกว่า อันที่จริง มันและห้องใต้ดินเก็บไวน์แบบมืออาชีพได้แบ่งงานกันทำอย่างเฉียบขาดมาก ห้องใต้ดินเก็บเหล้าไวน์แบบมืออาชีพรับผิดชอบการหมักครึ่งแรก ห้องเก็บไวน์ในบ้านเรือนจะรับผิดชอบ “การดำเนินอย่างประณีตบรรจง” ของครึ่งหลัง

        2. การเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้า

        เป็นรูปแบบการเก็บชาไว้ที่คลังสินค้า เอกลักษณ์ที่พื้นฐานที่สุดคือคลังสินค้า คือพื้นฐานภายใต้การโยน “โกดังเปียก” และ “โกดังแห้ง” ของอฮ่องกงและใต้หวันทิ้งไป เป็นการคิดค้นวิธีการเก็บชารูปแบบหนึ่งที่มีผลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น การเก็บชารูปแบบนี้ก่อเกิดขึ้นในปลายยุคปีที่ 90 ศตวรรษที่แล้ว แล้วแพร่กระจายไปพื้นที่มากมายในกว่างตงอย่างรวดเร็วที่เป็นไปตาม “ชาผูเอ๋อร์ร้อนแรง” การเก็บรวบรวมชาผูเอ๋อร์ปริมาณมากในสิบกว่าปีที่ผ่านมาในเขตพื้นที่กว่างตง เกือบทั้งหมดได้ใช้รูปแบบนี้ ท่ามกลางนี้ ก็มีองค์กรผลิตชาของหยินหนานจำนวนไม่น้อยที่นำผลิตภัณฑ์บางส่วนขนถ่ายไปที่กว่างตง เพื่อเข้าร่วมการเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้าแบบนี้

        การเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้าพื้นฐานคือร้านค้าเป็นหลัก การลงทุนจากรายบุคคลเป็นตัวเสริม การเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้าแบบนี้ได้เข้าใกล้มาตรฐานของการหมักแบบมืออาชีพแล้ว มันคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างใหญ่หลวงครั้งหนึ่งในกระบวนการวิวัฒนาการกว่าพันปีของชาผูเอ๋อร์ เป็นเพราะว่ามันได้แก้ไขปัญหา 2 ประการ :

        ๑. เป็นความพยายามริเริ่มการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์แบบมืออาชีพ แม้ว่าการศึกษานี้เป็นแค่ขั้นพื้นฐาน ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ทว่าก่อนหน้านี้ ชาผูเอ๋อร์มีเพียงกรรมวิธีการเด็ดเก็บและการดำเนินการผลิต ไม่มีกรรมวิธีการหมักภายหลังหลังจากการผลิต ผู้ดำเนินธุรกิจและผู้ชื่นชอบชาผูเอ๋อร์ในเขตพื้นที่กว่างตงได้อาศัยเงื่อนไขที่เหนือกว่าของสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ดำเนินการทดลองต่างๆของการหมักภายหลังของการเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้า และได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์มากมาย นี่คือการทดลอง “การหมักภายหลัง” ขนาดที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีประวัติของการนำชาผูเอ๋อร์เป็นผลิตภัณฑ์ของการหมัก



        ๒. คือการเข้าใกล้มาตรฐานของการหมักแบบมืออาชีพ อันดับแรก ปริมาณการเก็บรวบรวมชาเชิงขนาดใหญ่โดยพื้นฐานเป็นปริมาณชาตามต้องการที่เพียงพอต่อ “Quorum Sensing” ของการหมักภายหลัง โดยเฉพาะสัดส่วนที่ต้องการของพื้นที่และปริมาณชา ; อันดับรอง การวางกองผลิตภัณฑ์สินค้าได้โน้มเอียงไปทางเชิงมืออาชีพมากขึ้น รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นของพื้นที่การเก็บของคลังสินค้า ได้หลุดพ้นจากเงื่อนไข “โกดังเปียก” ของการเก็บรวบรวมชาก่อนหน้านี้ที่ทั้งสกปรก ยุ่งเหยิง ย่ำแย่

        การเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้ายังดำรงความไม่พอเพียงอยู่ 2 ประการ :

        ๑. คือการเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้าบางแห่งยังจำกัดอยู่ในระดับของคลังสินค้า กระทั่งเหมือนกับศูนย์กลางโลจิสติกส์ยุคสมัยใหม่มากกว่า สถานที่การเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้าจำนวนมากในกว่างตงที่พวกเราได้พบเห็นนั่นคือมีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ สะอาด พื้นผิวเป็นแบบ Self Leveling(自流平 : พื้นผิวที่เคลือบด้วยสีอีพ็อกซี่ ส่วนใหญ่ใช้ในโรงพยาบาลและพื้นที่ธุรกิจที่สะอาดมาก) ติดตั้งระบบการขนถ่ายสินค้าแบบออโตเมติก ระดับความสะอาดเข้าใกล้ความต้องการของระดับปลอดเชื้อ แต่ทว่าในที่นี้จะดำรงอยู่ปัญหาหนึ่ง เกี่ยวเนื่องกับการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์ คือความต้องการ “จุ้นจ้าน” ของจุลินทรีย์ และยังต้องเป็น “สัดส่วนมากเป็นพิเศษ” ของกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ “ความเข้มข้น” ของจุลินทรีย์ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมของคลังสินค้ามีไม่ถึงระดับที่ต้องการแล้ว การหมักภายหลังแทบจะไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่และการขยายพันธุ์ของจุลินทรีย์ก็ต้องการอุณหภูมิและความชื้นที่เฉพาะเจาะจง มิฉะนั้น ประสิทธิภาพของมันก็จะลดต่ำลง แล้วมีผลกระทบต่ออัตราความเร็วของการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์โดยตรง ดังนั้น สกปรกเกินไป ชื้นเกินไป ร้อนเกินไปจะทำให้ใบชาเกิดเชื้อรา และง่ายต่อการเกิดมลภาวะครั้งที่ 2 สำหรับการหมักภายหลังแล้วเป็นความเสียหายอย่างหนึ่ง แต่ถ้าสะอาดมากเกินไป กระทั่งความสะอาดถึงระดับที่การหมักภายหลังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้าไม่ควรแค่ให้น้ำหนักทางแนวความคิดของคลังสินค้า แต่ควรทำการยกระดับสถานที่ของคลังสินค้าให้เป็นสถานที่ของการหมักแบบมืออาชีพ

        ๒. คือ ณ ปัจจุบัน การเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้ายังจำกัดอยู่ในการสร้างสมประสบการณ์ ก็เหลือเพียงการนำประสบการณ์มายกระดับให้อยู่ในระดับมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ชาที่ไม่เหมือนกัน ล้วนมีรูปแบบการหมักภายหลังที่เป็นรูปแบบของตนเอง ตัวอย่างเช่นชาดิบและชาสุก การหมักภายหลังของชาดิบต้องการจาก 30ºC ถึง 40ºC (อุณหภูมิที่จุลินทรีย์ขยายพันธุ์ที่ดีที่สุด) แล้วจาก 40ºC ถึง 50ºC (อุณหภูมิที่แบคทีเรียขยายพันธุ์ที่ดีที่สุด) สุดท้ายคือ 50ºC ถึง 60ºC (อุณหภูมิที่การหมักที่เร่งโดยเอนไซม์ที่ดีที่สุด) ตลอดทั้งกระบวนการจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ มันเป็นกระบวนการหมักที่เป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ แล้วมาถึงการหมักภายหลังของชาสุก ซึ่งไม่ต้องใช้ความสลับซับซ้อนมาก เนื่องจากในกระบวนการ “หมักกอง” ของชาสุก ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนผ่านมาหมดแล้ว เพียงต้องการขั้นตอนการหมักที่มีเอนไซม์เป็นตัวเร่ง ดังนั้น การสร้างสรรค์รูปแบบการหมักของชาแต่ละชนิดจึงจะสามารถมุ่งเข้าใกล้การหมักแบบมืออาชีพ จึงจะสามารถยกระดับคุณภาพ

        ดังนั้น การเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้ามีช่องว่างมากที่จะทำการยกระดับเทคโนโลยีให้สูงขึ้น โดยจาการเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้าพัฒนาไปทางการเก็บที่ห้องใต้ดินแบบมืออาชีพ ซึ่งก็คือความต้องการของยุคผลัดเปลี่ยนที่จะต้องทำการยกระดับการเก็บรวบรวมชาในคลังสินค้า

........ยังมีต่อ........


แปล-เรียบเรียง จากบทความ《ความยั่วยวนใจของการเก็บชา(ภาค III)》ตอนที่ 2---เขียนโดย เฉินเจี๋ย



วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ความยั่วยวนใจของการเก็บชา(ภาค III) --- (1)

การศึกษากลไกการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์ --- การประเมินเกี่ยวกับโกดังเปียกและโกดังแห้ง
普洱茶后发酵机理研究 --- 有关湿仓与干仓的评估



        ก่อนปี 2000 “ชาผูเอ๋อร์เก่าแก่” อายุปี 20 ขึ้นไปที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด เกือบทั้งหมดมาจากกว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน ทิเบตที่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่หลักที่บริโภคชาผูเอ๋อร์ก็ปรากฏมี “ชาแก่” เช่นกัน แต่เขตพื้นที่ผลิตชาผูเอ๋อร์---หยินหนาน “ชาแก่” ส่วนใหญ่โดยทั่วไปเป็นส่วนที่อาศัย “ไหลย้อนกลับ” จากกว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน การปรากฏเป็นปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่ 2 สาเหตุ :

        1. คือคนพื้นที่หยินหนานไม่ได้ดื่มชาผูเอ๋อร์มาเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร อย่างน้อยตั้งแต่ปลายศตวรรษที่แล้ว(ปี 1949)ที่ประเทศจีนใหม่(จีนคอมมิวนิสต์)ก่อตั้งขึ้นจวบจนถึงต้นศตวรรษนี้ คนพื้นที่หยินหนานทั่วไปดื่มชาเขียวเป็นหลัก แต่เมื่อเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นไปตาม “กระแส” ของชาผูเอ๋อร์ ชาผูเอ๋อร์จึงค่อยๆเข้าไปในทัศนะพิสัยของคนดื่มชา แต่การตระหนักรู้ในการเก็บชาแทบจะยังไม่ปรากฏ

        2. คือผู้คนจำนวนมากตราบจนถึงทุกวันนี้ยังมีความเชื่อว่ากว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน แม้กระทั่งมาเลเซีย เป็นต้นเป็นเขตพื้นที่ที่ดีที่สุดในการเก็บชาผูเอ๋อร์

        ชาผูเอ๋อร์เป็นผลิตภัณฑ์จากการหมัก ขอเพียงเป็นการหมัก ก็มีความต้องการภาวะด้านอุณหภูมิและความชื้น อุณหภูมิตั้งต้นของมันคือที่ 15ºC ทุกๆ 10ºC ที่เพิ่มขึ้น ปฏิกิริยาจากการเร่งของเอนไซม์(酶促反应)ก็จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเกินกว่า 60ºC คุณลักษณะโปรตีนของเอนไซม์จะเปลี่ยนไป อัตราการเกิดปฏิกิริยาจะลดลง ดังนั้น ”อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุด”(最适温度) ของกระบวนพัฒนาการชาผูเอ๋อร์ควรอยู่ระหว่าง 15ºC ถึง 60ºC อุณหภูมิทั้งปีของกว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน ทั่วไปอยู่ที่ 20ºC ขึ้นไป ส่วนฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วงส่วนใหญ่อยู่ที่ 30ºC ขึ้นไป ยิ่งเป็นฤดูร้อนส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 40ºC อุณหภูมิกลางวันและกลางคืนไม่แตกต่างกันมาก โดยพื้นฐานเป็น “อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุด” ที่สอดคล้องกับความต้องการของปฏิกิริยาจากการเร่งของเอนไซม์ แต่หยินหนานปีหนึ่ง 4 ฤดู ระยะเวลาในภาวะที่ “ร้อนสูงชื้นสูง”(高温高湿) จะสั้น และอุณหภูมิในฤดูหนาวส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 10ºC อุณหภูมิกลางวันกลางคืนแตกต่างกันมาก นี่ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ชาผูเอ๋อร์เหมือนกัน เปรียบเทียบระหว่างการเก็บที่กว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน กับการเก็บที่หยินหนาน ผลของพัฒนาการจะไม่เหมือนกัน พัฒนาการที่แรกจะมีอัตราเร็วกว่าที่หลัง

        ขณะเดียวกัน การหมักของชาผูเอ๋อร์ก็หลีกหนีไม่พ้นภาวะของ “ความชื้น” “ความแห้งแล้ง” ในความหมายทั่วไปไม่เป็นผลดีต่อการเจริญพันธุ์ของจุลินทรย์ “ความชื้นที่เหมาะสมที่สุด”(最适湿度) ของกระบวนพัฒนาการชาผูเอ๋อร์จะอยู่ระหว่าง 55% ถึง 85% กว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน นอกจากฤดูหนาวแล้ว ความชื้นทั่วไปอยู่ที่ 70% ขึ้นไป ความชื้นในฤดูหนาวก็อยู่ที่ 55% ขึ้นไป

        แต่หยินหนานตลอดทั้งปีความชื้นส่วนใหญ่อยู่ที่ 70% ลงมา ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวความชื้นยิ่งจะต่ำกว่า 45% ทำให้ผลของพัฒนาการของชาผูเอ่อร์ต่ำกว่าพื้นที่กว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน นี่จึงก่อให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติในตลาดที่ยังคงเก็บรักษาไว้ตราบจนถึงทุกวันนี้ : ชาผูเอ๋อร์ผลิตจากหยินหนาน แต่พัฒนาการต่อเนื่องภายหลังหลักใหญ่อยู่ที่กว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน เป็นต้น

        มีอยู่จุดหนึ่งที่พวกเราควรที่ทำให้กระจ่างก็คือ กว่างตง ฮ่องกง ใต้หวัน เป็นต้นนอกจากปัจจัยของสภาพอากาศที่ร้อนสูง ชื้นสูง เป็นต้นที่มีผลดีต่อการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์แล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญกว่า ก็คือพวกเขาเป็นผู้นำในการดำเนินความพยายามต่างๆนานาและศึกษาวิจัยกลไกของการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์ ทฤษฎี “โกดังเปียก” และ “โกดังแห้ง” ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางก็ออกไปจากหลายเขตพื้นที่นี้



                การประเมินเกี่ยวกับโกดังเปียกและโกดังแห้ง

        การที่กล่าวกันว่า “โกดังเปียก” คือกำเนิดจากวิธีการเก็บชาในฮ่องกงยุคก่อนหน้านี้ โดยอาศัย “ร้อนสูงชื้นสูง” ที่เป็นลักษณะพิเศษทางธรรมชาติของสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ดำรงอยู่ในของฮ่องกง มีความตระหนักที่นำชาผูเอ๋อร์ไปเก็บไว้ในโกดังที่เปียกชื้นมากยิ่งขึ้น กระทั่งมีบางคนทำการพรมน้ำเป็นระยะๆเพื่อเพิ่ม “ร้อนสูงชื้นสูง” จุดประสงค์เพื่อเร่งพัฒนาการของชาผูเอ๋อร์ วิธีการแบบนี้แม้อาจจะค่อนข้าง “ซาดิสม์”(激进) แต่ถือเป็นความพยายามที่มีประโยชน์ต่อการหมักของชาผูเอ๋อร์ การหมักชาผูเอ๋อร์ที่มนุษย์ประดิษฐ์ยุคใหม่---กำเนิดการหมักแบบหมักกอง อันที่จริงเป็นการผลักดันมาจาก “โกดังเปียก” แล้วใช้เส้นทางแนวความคิดนี้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และกฏเกณฑ์เพิ่มขึ้นอีกเท่านั้น

        การที่ใช้คำว่า “โกดังแห้ง” คือเพื่อเทียบเคียงกับ “โกดังเปียก” เป็นเพราะว่า “โกดังแห้ง” ไม่มีดำรงอยู่อย่างแท้จริง กระบวนพัฒนาการของชาผูเอ๋อร์ไม่สามารถแยกออกจากสภาพแวดล้อม “ร้อนสูงชื้นสูง” การขาดซึ่ง “ชื้น” จะทำให้จุลินทรีย์ขาดน้ำตายได้ ถ้าหาก “ร้อนสูง” แต่ไม่มี “ชื้นสูง” ที่สัมพันธ์กันแล้ว ก็จะกลายเป็นกระบวนการที่ “แห้งแล้ง”(干燥) จุลินทรีย์ภายใต้อุณหภูมิสูงแต่แห้งแล้งจะยิ่งตายเร็วขึ้น ความจริง การที่กล่าวกันว่า “โกดังแห้ง” หลักใหญ่คือการบ่งชี้ “อุณหภูมิและความชื้น” ต่ำกว่าสภาพแวดล้อมที่ “ร้อนสูงชื้นสูง” ที่กว่างตง อย่างเช่นพ่อค้าชาจำนวนมากนำชาผูเอ๋อร์ที่เก็บใว้ที่กว่างตงให้พัฒนาการสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วขนย้ายไปเขตพื้นที่แห้งแล้งโดยเทียบเคียงเพื่อให้พัฒนาการต่อเนื่อง(เช่นพื้นที่ทางเหนือของแม่น้ำฉางเจียง) ผลพัฒนาการของการหมักภายหลังจะดีกว่าที่เก็บอย่างต่อเนื่องที่เดียวที่กว่างตง และมีคนเสนอว่า หลังการอัดขึ้นรูปชาสุกผูเอ๋อร์ที่หยินหนานแล้ว ไม่ต้องผ่านสภาพแวดล้อม “ร้อนสูงชื้นสูง” แบบกว่างตง แต่นำไปเก็บในเขตพื้นที่แห้งแล้งโดยเทียบเคียงโดยตรงเลย ผลของการ “ออกคลัง”(退仓) จะดีกว่าผลของพื้นที่ “ร้อนสูงชื้นสูง” ท่ามกลางนี้ เขตพื้นที่บางแห่งของหยินหนาน เช่นคุนหมิง ก็ได้กลายเป็นสถานที่ทางเลือกแรกของ “โกดังแห้ง”

        น่าจะกล่าวได้ว่า กว่างตง ฮ่องกง เป็นพื้นที่ภาคปฏิบัติของ “โกดังเปียก” และ “โกดังแห้ง” เป็นความพยายามที่เกิดประโยขน์ต่อการเร่งการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์ครั้งหนึ่ง แต่ทว่า มันก็ยังมี 2 ปัญหาดำรงอยู่ :

        1. คือการดำเนินกระบวนการหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์เชิงเรียบง่ายเกินไป โดยใช้วิธีการ “ร้อนสูงชื้นสูง” เพียงด้านเดียวในการเพิ่มอัตราการหมักแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ละเลยเงื่อนไขอื่นๆที่สำคัญต่อการหมักภายหลัง ก่อให้เกิดข้อจำกัดในการควบคุมคุณภาพ “โกดังเปียก” ที่พวกเราได้พบเห็นในกว่างตงจำนวนมาก ส่วนใหญ่จัดอยู่ในแบบเรียบง่ายที่สุด กระทั่งสามารถใช้ “ล้าหลังสุดสุด” สองคำนี้มาบรรยาย บวกกับความสกปรกของสถานที่จัดเก็บ เป็นปรากฏการณ์ที่ยุ่งเหยิง เทียบกับความหมายที่แท้จริงของสถานที่สำหรับพัฒนาการ(วงการชาผูเอ๋อร์เรียกขานว่า “การหมักภายหลัง”)แล้ว ยังห่างไกลกันมาก ง่ายต่อการปรากฏการเกิดมลพิษครั้งที่ 2 (二次污染) วิธีการของ “โกดังเปียก” เกิดผลลัพธ์จริงแท้แน่นอนในการเร่งการเปลี่ยนแปลงของชาผูเอ๋อร์อย่างเด่นชัด แต่ก็นำมาซึ่งการปฏิบัติผิดพลาดที่คาดคิดไม่ถึง เพราะเนื่องจากใบชาดูดซึมปริมาณน้ำมากเกินไปในกระบวนการของการหมัก ก่อให้เกิดการยับยั้งต่อเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยขน์และ “เจริญเติบโต” ของเชื้อแบคที่เรียที่ทำให้เน่าเปื่อย เป็นเหตุให้ปรากฏชาผูเอ๋อร์บางส่วนเกิดปรากฏการณ์ “ปูดเน่า” “กลิ่นโกดังเปียก” ที่พวกเรารู้สึกได้จากการดื่ม “ชาโกดังเปียก” อันที่จริงก็คือ “กลิ่นเชื้อรา” ที่เกิดจากคุณภาพของใบชาบางส่วนเปลี่ยนไป ผู้คนจำนวนมากที่ได้ดื่มชาชนิดนี้จะปรากฏร่างกายรู้สึกไม่สบาย กระทั่งเกิดปราฏกการณ์อ้วกอาเจียนออกมา ซึ่งเป็นผลจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอาเจียนและเชื้อราบางชนิด กล่าวในด้านความปลอดภัยของการดื่มใบชา ซึ่งเกินจุดวิกฤติทางความปลอดภัยของอาหารแล้ว แม้ว่ามีผู้คนจำนวนมากได้ให้ความสนใจถึงปัญหานี้ พร้อมนำเสนอใช้ “โกดังแห้ง” มารักษาเยียวยา แต่ “บาดแผล” ของ “โกดังเปียก” ยากที่ขจัดออกไปได้ นี่ก็คือเหตุผลที่ทำไมชาผูเอ๋อร์ที่ผลิตในต้นยุคปี 90 เช่นเดียวกัน กลายเป็นผลิตภัณฑ์โด่งดังอย่างแท้จริงมีจำนวนน้อยมาก

        2. คือรูปแบบลักษณะของ “โกดังเปียก” และ “โกดังแห้ง” ถือเป็นรูปแบบการผลิตที่ล้าสมัยไปแล้วในทุกวันนี้ ไม่ว่าจากมุมมองด้านสุขอนามัยอาหารและความปลอดภัยอาหาร หรือเป็นมุมมองเชิงความชำนาญการพิเศษทางเทคโนโลยี และมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ ล้วนถือเป็นรูปแบบการผลิตที่ถูกยกเลิกไปแล้ว การหมักภายหลังของชาผูเอ๋อร์ถือเป็นเคมีการเก็บรักษาใบชา เป็นการเน้นย้ำถึงการศึกษาวิจัยและภาคปฏิบัติด้าน “After Ripening”(后熟作用) ของอาหาร มันต้องการสร้างรูปแบบการหมักที่ยิ่งมายิ่งเข้มงวด เสริมด้วยการปฏิบัติและการปรับปรุงแก้ไขอย่างไม่หยุดยั้ง จาก “ควบคุมประสบการณ์” ยกระดับไปถึงมาตรฐานทางวิทยสศาสตร์ ด้วยวิธีนี้เพื่อไปให้ถึงความหมายที่แท้จริงของความชำนาญการพิเศษทางการหมัก(การหมักแบบมืออาชีพ)

........ยังมีต่อ........


แปล-เรียบเรียง จากบทความ《ความยั่วยวนใจของการเก็บชา(ภาค III)》ตอนที่ 1---เขียนโดย เฉินเจี๋ย


วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สงครามใบชา

สงครามใบชา
茶叶战争



     ใบชา เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ใบชาเฉกเช่นเดียวกับไหม เป็นสิ่งที่ต้องการของการค้าทางตะวันออกและตะวันตกมาช้านาน ผู้คนแทบไม่สามารถนำชาอันมีกลิ่นหอมที่เรียบง่ายสนทรีย์ มาเชื่อมโยงกับสงครามที่เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดได้ แต่ทว่า ในบางช่วงที่พิเศษของประวัติศาสตร์ ใบชาคือ “ทัพยากรทางยุทธศาสตร์” ที่มนุษย์ต้องมาแก่งแย่งชิงกัน ใบชา เคยเป็น “สายชนวน” ที่สำคัญต่อการล่มสลายของราชวงศ์หมิง และเป็นสาเหตุทำให้จักรวรรดิชิงและจักรวรรดิอังกฤษระเบิดศึก “สงครามฝิ่น

        สายชนวนของการล่มสลายราชวงศ์หมิง

        ปี 1573 ต้นรัชสมัยว้านลี่(万历)ของราชวงศ์หมิง หลังการสถาปนาราชวงศ์หมิงมา 250 ปี เป็นปีที่จักรพรรดิว้านลี่ขึ้นครองราชย์ซึ่งยังทรงเยาว์วัยด้วยอายุเพียง 8 ขวบ อุปราชจางจีเจิ้น(张居正) ช่วยว่าราชการแทน แสงแดดยามพลบค่ำ ส่องไปที่พระราชวังต้องห้าม ม้าเร็วตัวหนึ่ง ได้นำพระบรมราชโองการ ของลูกหลานรุ่นที่ 14 ของราชวงศ์หมิง ภายใต้เวลาย่ำค่ำสีเลือด รีบควบม้ามุ่งไปยัง “ด่านซานไห่”(山海关)

        ไม่มีใครคาดคิดถึงว่า ประกาศใช้ของพระบรมราชโองการนี้ ทำให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เขตแดนทางเหนือเต็มไปด้วยกองทหารม้าเสื้อเกราะ โดยท่านข่านมองโกล Zha Sake Figure Khan(札萨克图汗)ได้รวบรวมชนเผ่าเร่ร่อนมองโกล และด้วยความร่วมมือของชนเผ่าหนี่ว์เจิน(女真族 : Jurchen) เคลื่อนทัพเข้าประชิด “ด่านชิงเหอ”(清河关) ทางเหลียวตงของราชวงศ์ชิง

        ศึกสงครามใหญ่ กำลังจะระเบิดขึ้น

        ที่แท้ นี่คือพระบรมราชโองการที่มีคำสั่งให้ปิดการค้าชายแดน ด้วยการค้าชายแดนต่อราชวงศ์หมิง สำหรับชนเผ่ามองโกลและหนี่ว์เจินที่อยู่ทางนอกด่านซานไห่แล้วมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะมีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวพันถึงความเป็นความตาย พวกเขาไม่เสียดายที่ต้องนำม้าที่เทียบเคียงชีวิตของตนเอง หนังขนสัตว์ล้ำค่าและโสมเพื่อมาแลกเปลี่ยน---สิ่งนี้ก็คือ ใบชา !!



        ในเมืองจีน ชาส่วนใหญ่ผลิตจากแถบตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียงและหวายเหอ(江淮之南) ในยุคที่รุ่งเรืองของเส้นทางสายไหม ใบชา ไหม และ เครื่องปั้นดินเผา เป็นสินค้าที่ส่งไปขายทางตะวันตกเป็นจำนวนมาก สามารถกล่าวได้ว่า “เส้นทางสายไหม” อันที่จริงก็คือ “เส้นทางชาไหม” ผ่านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารการกิน ชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนทางแถบเหนือได้สร้างสรรค์การดื่มชาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง---ใช้นมผสมกับชา ชานมผสมกัน เป็นตัวอย่างที่ดีงามของการหลอมรวมกันของวัฒนธรรมเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและวัฒนธรรมการเกษตร 

        วิถีการกินของคนลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่คือเนื้อวัวแพะ นมเป็นต้น ซึ่งร้อนแห้งและเต็มไปด้วยไขมัน ยากต่อระบบการย่อย ส่วนใบชาซึ่งประกอยด้วยสารแอลคาลอยด์และโพลิฟีนอลส์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร สำหรับคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนแล้ว ชา ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องดื่ม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีพ เป็นสายธารแห่งชีวิต ราชวงศ์จงเหยียน(ที่ราบภาคกลาง)ก็ตระหนักถึงใบชาที่สามารถใช้เป็นอาวุธมาควบคุมชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนทางแถบเหนือได้ การค้าใบชา “ตลาดชายแดนชาม้า”(茶马互市) ริเริ่มตั้งแต่ยุคสมัยถัง การควบคุมใบชาระบบนี้ ซึ่งก็เป็นนโยบายแห่งชาติที่สำคัญของยุคสมัยซ่งจวบจนถึงยุคสมัยหมิงและชิง 

        ในบางยุคของประวัติศาสตร์ ลักษณะทางการเมืองของชาจะเหนือกว่าลักษณะทางสินค้ามาก “เรื่องใหญ่ของชาติคือกองทัพ เรื่องใหญ่ของกองทัพคือม้า” การค้าชาม้าจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารจัดการทางเขตแดน

        พอมาถึงยุคสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิจูเหยียนจาง(朱元璋) ปฐมกษัตริย์ได้ผลักดันนโยบาย “ชาควบคุมกองทัพ” อย่างต่อเนื่อง ใช้เป็นกลยุทธควบคุมความสมดุลสร้างสันติภาพ การดำเนินนโยบาย “ชาควบคุมกองทัพ” ทางเขตแดนอย่างเหมาะสมแล้ว ก็ทำให้เกิดประสิทธิภาพมาก แต่แล้ว ราชวงศ์ยิ่งมายิ่งตกต่ำ ซึ่งก็คือยิ่งผลักดันนโยบายนี้อย่างสุดขั้ว ยิ่งก่อให้เกิดผลของการต่อต้านมากขึ้น ชาที่ราคาสูงและการผูกขาด พฤติกรรมต่างๆนานาที่ตั้งใจจะไปกดราคาของม้า ทำให้ชนเผ่าทางเหนือไม่พอใจอย่างยิ่ง การค้าใบชาทางแถบเขตแดนของเหลียวตงเกิดความขัดแย้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนั้น ระบบการผูกขาดของทางการ ทำให้ชาของชาวบ้าน ชาตลาดมืดรุ่งเรืองขึ้นมา ชาชาวบ้าน ชาตลาดมืดจำนวนมากที่คุณภาพดีกว่ามาก พ่อค้าเถื่อนนำไปขายข้ามชายแดนเป็นประจำ 

        เพื่อที่จะหยุดยั้งพ่อค้าเถื่อน รัฐบาลราชวงศ์ชิงได้ทำการปิดตลาดชายแดนชาม้าอยู่เนื่องๆ การดำเนินนโยบายเช่นนี้ เดิมก็เพื่อปกป้องฐานะการผูกขาดการค้าใบชาของรัฐบาล ปกป้องผลประโยชน์อันสูงจากการผูกขาด แต่ในขณะเดียวกันที่พ่อค้าใบชาเถื่อนได้รับผลกระทบ การค้าอีกด้านหนึ่งคือชนเผ่ามองโกลและชนเผ่าหนี่ว์เจินก็เป็นผู้ได้รับความเสียหายสุดท้ายอย่างแท้จริง ใบชาของทางการได้หยุดการจัดหาป้อนให้ ใบชาจากเส้นทางของพ่อค้าเถื่อนก็ถูกตัดขาด ถ้าเช่นนั้น ทางเลือกที่แทบจะเหลืออยู่ทางเดียวก็คือ “สงคราม



        ปี 1573 พระบรมราชโองการกระดาษแผ่นเดียวของราชวงศ์หมิงได้ทำการปิดการค้าชายแดน เจตนาเพื่อตรวจเช็คพวกพ่อค้าเถื่อนค้าชาอย่างเข้มงวด และจัดการเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดกฏหมายอย่างร้ายแรง แต่แล้ว การปิดตลาดชายแดนชาม้า ทำให้การจัดหาใบชาจากการค้าชายแดนถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง

        ภายใต้ความสิ้นหวัง ชนเผ่ามองโกลร่วมมือกับชนเผ่าหนี่ว์เจิน ร่วมกันเคลื่อนทัพมุ่งสู่ด่านชิงเหอเมืองยุทธศาสตร์ทางเหลียวตงของราชวงศ์หมิง เพื่อที่จะใช้กำลังบังคับให้ราชวงศ์หมิงเปิดการค้าชายแดน จัดหาใบชาป้อนให้ทางด่านนอก อย่างต่อเนื่องต่อไป

        ระยะเวลา 5 เดือน ท่านข่าน Zha Sake ได้นำทัพใหญ่มองโกเลียโดยการสนับสนุนของชนทุกเผ่าหนี่ว์เจิน ได้ปิดล้อมโจมตีเมืองชิงเหอ ไผเฉินจู่(裴成祖)แม้ทัพรักษาเมืองชิงเหอได้ทำการต่อต้านข้าศึกอย่างสุดฤทธิ์ สุดท้าย ปกป้องเมืองชิงเหอไว้ได้ แต่ทว่า แม่ทัพไผเฉินจู่ถูกหัวหน้าชนเผ่าหนี่ว์เจินฆ่าตาย

        หลังจากสองปีที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยาตราทัพ ราชวงศ์หมิงก็ได้ฟื้นฟูเปิดตลาดชายแดนชาม้าที่เมืองชิงเหอ ผู้มีอำนาจของราชวงศ์หมิงใช้ตลาดชายแดนชาม้ามาเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์สงคราม เดิมคิดว่าถ้าควบคุมการจัดหาป้อนใบชาได้ ก็สามารถควบคุมชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนได้ เป็นวิธีที่ขจัดภัยการรุกรานจากเขตแดนได้ แต่แล้ว ลืมนึกไปว่ากำลังและความเข้มแข็งของประเทศตนเอง จึงถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่ปกปักษ์รักษาความเจริญรุ่งเรืองและความปลอดภัย การแก่งแย่งชิงอำนาจภายในพระราชวัง การฉ้อราษฎ์บังหลวงและความอ่อนแอของข้าราชบริพารและทหารรักษาเขตแดน ความสมดุลทางผลประโยขน์ของตลาดชายแดนชาม้ากำลังเอียงเอียนไปทางนอกด่าน

        พื้นแพเดิม คนหนี่ว์เจินดั้งเดิมเป็นชนเผ่าล่าปลา แต่เพียงไม่ถึง 11 ปีหลังสงครามป้อมปราการชิงเหอ เดือนมีนาคม 1584 ใน 17 ครั้งของการค้าแลกเปลี่ยนม้า คนหนี่ว์เจินก็ได้ซื้อใบมีดคันไถเหล็กมา 4848 ชิ้น เดือนเดียวกันในการค้าแลกเปลี่ยนวัว 29 ครั้ง ได้ซื้อวัวมาทั้งหมด 430 ตัว นี่เป็นการบ่งชี้ว่า คนหนี่ว์เจินได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจการเกษตรแล้ว

        ตลาดชายแดนชาม้า ไม่ใช่สถานที่การค้าสำหรับชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนเพื่อแลกเปลี่ยนปัจจัยยังชีพอีกต่อไป แต่กลายเป็นช่องทางของทรัพยากรที่คนหนี่ว์เจินได้รับปัจจัยการผลิต เทคโนโลยีการผลิต ยกระดับความสามารถทางการผลิตของทั้งชนเผ่า

        คนหนี่ว์เจินได้โผล่ขึ้นมาในด่านซานไห่ กลายเป็นพลังที่เข้มแข็งคุกคามจงเหยียน ราชวงศ์หมิงได้ทำการเลือกผู้ฝังศพของตนเองแล้ว และก็ได้ปลูกฝังผู้ฝังศพของตนเองจากผู้อ่อนแอกลายเป็นผู้ปีกกล้าขาแข็ง



        ชักนำสงครามใบชาทั่วโลก

        ปี 1644 ราชวงศ์ชิงเข้ามาแทนที่ราชวงศ์หมิง ใช้เบ่ยจิงเป็นราชธานี นโยบายแห่งชาติทางใบชาของราชวงศ์ที่รุ่งโรจน์ขึ้นมาก็เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เริ่มยุคปีที่ 30 ศตวรรษที่ 19 ใบชานำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ระหว่างอารยธรรมตะวันออกและอารยธรรมตะวันตกของยุคอันใกล้นี้ ต่อจากนั้น สงครามอันเหี้ยมโหดที่นำเมืองจีนเข้าสู่ชะตาชีวิตของ “กึ่งศักดินากึ่งอาณานิคม” นั่นก็คือ “สงครามฝิ่น” ที่พวกเราคุ้นเคย กล่าวจากมุมมองบางด้าน สงครามฝิ่นคือสงครามการค้า ซึ่งก็คือ “สงครามใบชา

        ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ใบชาได้ตามกองคาราวานอูฐของพ่อค้าไปตาม “เส้นทางสายไหม” เข้าสู่เอเชียกลาง ยุคสมัยถังได้แพร่ขยายไปถึงเอเชียตะวันตก ยุคสมัยเหยียน คนมองโกลบนหลังม้าได้สถาปนาจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่เชื่อมติดยุโรปเอเชีย วัฒนธรรมชาก็ไปตามขนาดใหญ่แพร่เข้าไปแหลมอาหรับและอินเดีย รอยต่อหมิงชิง “เส้นทางสายไหม” ได้เปลี่ยนเป็น “เส้นทางใบชา” อย่างสิ้นเชิง กองคาราวานของพ่อค้าชาติต่างๆข้ามที่ราบสูง Pamir นำชาแดงเมืองจีนลำเลียงไปยังประเทศต่างๆอย่างไม่หยุดหย่อน

        ประวัติศาสตร์ของการค้าใบชา ก็คือประวัติศาสตร์ของการขยายล่าอาณานิคม ในขณะเดียวกันกับที่การแย่งชิงล่าอาณานิคมบนแผ่นดินใหม่ในอินเดียตะวันออก ผู้มีอำนาจทางทะเลก็ได้เปิดศึกสงครามการค้าใบชาครั้งแรกในแผ่นดินเก่า 2 ฝ่ายที่ทำศึกสงครามครั้งนี้ก็คือฮอลแลนด์ และ โปรตุเกส

        ต้นศตวรรษที่ 16 เรือพาณิชย์โปรตุเกสแล่นมาเมืองจีนเพื่อดำเนินการค้า นับจากนี้ไป เป็นการเริ่มเปิดการค้าใบชาทางทะเลกับตะวันตก คนฮอลแลนด์รีบตามหลังมา เพื่อการค้าจึงได้ทำสงครามรบชนะโปรตุเกส ปี 1602 ฮอลแลนด์ได้ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก ยื้อแย่งสิทธิ์อำนาจการผูกขาดทางการค้าใบชา ส่วนโปรตุเกสที่ได้ยึดครองช่องแคบมะละกาอันเป็นจุดศูนย์กลาง หลังบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลแลนด์เอาชนะคนโปรตุเกสแล้ว ได้เริ่มต้นสร้างป้อมปราการอาณานิคมในเขตพื้นที่ริมฝั่งทะเลของเมืองจีน เป้าหมายเพื่อใช้กำลังรุกรานมาเก๊าและเผิงหู(澎湖) เพื่อจะยึดครองเกาะใต้หวัน แต่ล้วนถูกกองทัพจีนทำให้พ่ายแพ้กลับไป



        ในยุโรป ริเริ่ม-ใบชาถูกใช้เป็นยาในการรักษาอาการกึ่งสลบ อ่อนเพลีย ปวดกระเพาะ ภายหลัง-ใบชาถือเป็นของหรูหราทันสมัยถูกแนะนำให้พระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษ ทั่วทั้งพระราชวังจะรู้สึกมีเกียรติยศเมื่อได้ดื่มชา พวกตระกูลชั้นสูงผู้ดีอังกฤษก็ต่างเลียนแบบตามกันมา

        ปี 1662 การราชาภิเษกสมรสของกษัตริย์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษและเจ้าหญิงแคทเธอรินแห่งโปรตุเกส ในงานเลี้ยงฉลองอันโอ่อ่า พระราชินีแคทเธอรินได้ปฏิเสธเหล้าต่างๆที่แขกผู้มีเกียรตินำมาถวาย ทรงถือแก้วของเหลวสีแดงแสดงคารวะต่อแขกทุกท่าน การเคลื่อนไหวเช่นนี้นำมาซึ่งความแปลกใจให้แก่พระราชินีฝรั่งเศส พระองค์จึงส่งสายลับซ่อนตัวเข้าไปในพระราชวังอังกฤษ สืบหาความจริงได้ว่าที่แท้ของเหลวสีแดงนี้ชงมาจากพรรณพืชชนิดหนึ่งของเมืองจีน พรรณพืชชนิดนี้ถูกเรียกขานว่า” cha” เป็นความโชคร้าย ตอนที่สายลับคนนี้คิดที่จะขโมยชาแดงบางส่วนแต่ถูกองครักษ์พระราชวังอังกฤษจับได้ แล้วถูกประหารชีวิตอย่างรวดเร็ว กรณีนี้กลายเป็นความขัดแย้งทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญในช่วงเวลานั้น นี่ก็คือสงครามการจารกรรมเล็กๆที่เกิดจากใบชาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

        ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตชา จักรวรรดิจงเหยียน(ที่ราบภาคกลาง) ที่เคยครอบครองความได้เปรียบในตลาดชายแดนชาม้า เมื่อต้องมาผจญกับการค้าใบชาทางทะเลที่เกิดใหม่ คนจีนก็เริ่มปฏิบัติการออกตัว ทำให้การค้าใบชาของทางตะวันออกและตะวันตกโด่งดังขึ้นมา

        ปี 1683 ราชวงศ์ชิงได้ยกเลิกข้อห้ามการเดินเรือทะเล เรือสำเภาจีนที่เคยได้ออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำการค้าใบชาและเครื่องปั้นดินเผา หลังการปิดประเทศมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน คนจีนได้สูญเสียความสารถในการต่อเรืออย่างเรือสมบัติเจิ้งเหอ(郑和宝船)ไปนานแล้ว จากช่วงระยะปี 1690 ถึง 1718 ทุกปีโดยเฉลี่ยจะมีเรือสำเภาจีนออกสู่การค้าทางทะเล 14 ลำ เรือสำเภาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรือแบบเรียบง่ายที่มีท้องเรือแบนและมีเสากระโดงเรือต้นเดียว พวกมันจึงเพียงสามารถล่องไปถึงแค่เมืองบาตาวียา ซึ่งก็คือจาร์การ์ตาเมืองหลวงของอินโดนีเซียในปัจจุบัน

        การปิดประเทศเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยี และก็ไปจำกัดการค้าใบชา พ่อค้าชาเมืองจีนเพียงสามารถล่องเรือไปถึงแค่เมืองจาร์การ์ตา แต่ไม่สามารถแล่นเรือไกลไปถึงยุโรป ใบชาดีที่มีอยู่ในมือ นอกจากต้องขายให้บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลแลนด์แล้ว ไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งคนฮอลแลนด์ก็ได้มั่วซั้วกดราคารับซื้อใบชาที่จาร์การ์ตา พ่อค้าเมืองจีนได้รับความเสียหายอย่างหนัก



        หลังศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้ทำการท้ารบกับฮอลแลนด์เพื่อแย่งชิงสิทธิ์ขาดอำนาจทางทะเล สงคราม 5 ปี ฮอลแลนด์ถูกโจมตีอย่างหนัก ปี 1795 บริษัทอินเดียตะวันออกที่เป็นของฮอลแลนด์ต้องล่มละลายไป บริษัทอินเดียตะวันออกที่เป็นอังกฤษเริ่มควบคุมสิทธิ์ขาดทางการค้าใบชาของทั่วโลก

        การค้าใบชาไม่เพียงมีความสำคัญต่อความเป็นความตายของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ และยังมีความสำคัญต่อการคลังของอังกฤษ หลังการรบชนะฮอลแลนด์ 20 ปี บริษัทฯได้รับผลกำไรจากการค้าใบชาล้วนเกินกว่า 1 ล้านปอนด์ทุกปี คิดเป็นอัตราผลกำไร 90% ของธุรกิจการค้าทั้งหมด และเป็น 10% ของรายได้การคลังของอังกฤษ 

        เมืองจีนได้สมญานามว่า “จักรวรรดิธาตุเงิน” แต่ทว่า เมืองจีนไม่ใช่ประเทศที่ผลิตธาตุเงินได้มาก ธาตุเงินทั่วโลกเป็นเพราะการค้าใบชาจึงไหลเข้าสู่เมืองจีน ปี 1700 จนถึงก่อนสงครามฝิ่น ธาตุเงินจากยุโรป อเมริกาต่างขนเข้าไปเมืองจีนเป็นตัวเลขที่น่าตกใจถึง 170 ล้านเหลี่ยง() ซึ่งก็หมายความว่า ทรัพย์สินของทั่วโลกรวมตัวกันเข้าไปอยู่ในเมืองจีน 

        ตั้งแต่หลังยุคปี 60 ศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้ขยายทำการค้ากับจีนอย่างรวดเร็ว ใบชาเมืองจีนส่งออกได้ถึง 18 ล้านชั่ง()ทุกปี มูลค่าสินค้าคิดเป็นกว่า 90% ของมูลค่ารวมของการส่งออก ส่วน ผ้า นาฬิกา เป็นต้นสินค้าเล็กน้อยที่ยุโรปส่งเข้าไปเมืองจีน มีมูลค่าเพียง 10% ของสินค้าส่งออกของจีน การขาดดุลการค้าจำนวนมาก ทำให้ธาตุเงินของยุโรปเกิดการขาดแคลนอย่างมาก นำไปสู่วิกฤติทางการเงิน



        ริเริ่มสงครามฝิ่นระหว่างจีนและอังกฤษ

        เพื่อเป็นการลดการขาดดุลทางการค้า และเพื่อกู้วิกฤติธาตุเงิน ที่เหลือเก็บอยู่ไม่มาก อังกฤษได้ตัดสินใจจัดส่งสารสกัดจากดอกไม้ที่สวยงามชนิดหนึ่งเข้าไปในเมืองจีน---ฝิ่น

        บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้จัดตั้งหน่วยงานธุรกรรมฝิ่นโดยเฉพาะ ทำการผูกขาดการผลิตและส่งออกฝิ่นของอินเดีย ฝิ่นจากแหล่งผลิตบังคลาเทศขนส่งตามเส้นทางทะเลไปที่อ่าวกว่างโจว ขนถ่ายลงบนเกาะร้างเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าชนิดแข็งก็คือธาตุเงิน แล้วขนขึ้นเรือท้องแบนลักลอบขึ้นฝั่งโดยพ่อค้าคนจีน

        บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้นำรายได้จากการขายฝิ่นไปจ่ายค่าใบชาที่รับซื้อมา ผ่านไปเป็นระยะเวลาเกือบ 50 ปี ฝิ่นที่นำไปเมืองจีนทุกปีจาก 2000 หีบ เพิ่มเป็น 40000 หีบ ตราบจนถึงการห้ามค้าฝิ่นของหลินเจ้อสวี(林则徐) มูลค่าฝิ่นที่นำเข้าไปในเมืองจีนประมาณ 240 ล้านเหลี่ยงธาตุเงิน

        การไหลออกของธาตุเงินจำนวนมากทำให้เงินเหรียญทองแดงลดค่าลง ต้นศตวรรษที่ 19 ธาตุเงิน 1 เหลี่ยงเท่ากับเงินเหรียญทองแดง 1000 เหวิน() ช่วงก่อนสงครามฝิ่น ธาตุเงินทุกเหลี่ยงทำการแลกได้ 1600 เหวิน จักรวรรดิอังกฤษได้ผลประโยขน์ที่คาดคิดไม่ถึงจากการค้าโดยนำฝิ่นแลกกับใบชา

        กลิ่นหอมใสของใบชากลับแลกมาด้วยบรรยากาศอันน่าคลื่นใส้ของฝิ่น ฝิ่นได้ลักลอบเข้าไปในเมืองจีน ทำให้เกิดผลอันร้ายแรง ช่วงระยะ 30 ปีของต้นศตวรรษที่ 19 นิสัยอันชั่วร้ายของการดูดฝิ่นได้แผ่ขยายจากแถบริมฝั่งทะเลเข้าไปแถบในอย่างรวดเร็ว จากเมืองสู่ชนบท จากเกษตรกรคนงานพ่อค้าสู่ชนชั้นปกครอง ทุกหนทุกแห่ง ทันทีที่ได้เสพติดฝิ่นแล้ว ก็ยากที่จะถอนตัวออกมาได้ อันเป็นเหตุให้บ้านแตกสาแหรกขาด



        ปี 1839 จักรพรรดิต้าวกวางได้ส่งข้าหลวงหลินเจ้อสวี ไปกว่างโจวเพื่อห้ามค้าฝิ่น เดือนมิถุนายน ได้ทำการเผาฝิ่นที่หู่เหมิน(虎门)

        ฝิ่นที่นำมาทำการค้าใบชา ถือเป็นรายได้ 1 ใน 7 ของพระคลังอังกฤษในอินเดีย การปฏิบัติการห้ามค้าฝิ่นของพระราชวังชิง ถือเป็นการตัดเส้นทางการหาเงินอย่างชัดเจน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษจึงโกรธแค้นมาก ตัดสินใจโดยไม่ลังเลหันไปใช้กำลัง

        ปี 1840 รัชวงศ์ชิงพ่ายแพ้สงครามฝิ่น ต้องร่วมลงนามกับอังกฤษใน《#สนธิสัญญาหนานจิง》อังกฤษได้เกาะฮ่องกงไป ราชวงศ์ชิงต้องเปิดกว่างโจว ฝูโจว เซี่ยเหมิน หนิงปอ ซ่างไห่ เป็นต้น 5 เมืองท่าเพื่อการค้า(五口通商) ล้วนเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่จักรวรรดิชิงใช้ในการส่งออกใบชา

        ต่อจากนั้น ไม่เพียงแค่การส่งออกเฉพาะใบชา ต้นกล้าชาก็เริ่มทยอยออกสู่ไปข้างนอก

        ปี 1848 Robert Fortune นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษได้ถูกบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษส่งเข้าไปในเมืองจีนเพื่อทำการค้นหาพันธุ์ใบชาที่ดีที่สุด ผลของการเดินทางไปเมืองจีนครั้งนี้ ก็คือได้คัดเลือกต้นกล้าชาจากพื้นที่ที่ผลิตชาที่ดีที่สุด 2000 ต้น อาจารย์ผลิตชาที่สุดยอด 8 คน และ เครื่องไม้เครื่องมือการทำชาจำนวนมาก แล้วนำพาพวกเขาเหล่านี้ขนส่งไปที่สวนเพาะปลูกที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดเอียงแถบตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัยโดยสวัสดิภาพ นี่ก็คือการเตรียมการที่ต่อมาใบชาของอินเดียและศรีลังกาแทนที่ใบชาเมืองจีนในตลาดตะวันตก (สนใจบทความที่สรุปเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วง Robert Fortune เข้าไปในเมืองจีนปฏิบัติการขโมยเทคโนโลยีการผลิตใบชาของเมืองจีน โปรดคลิกอ่าน《ใครเป็นคนจารกรรมชาจีนไป》 ซึ่งเป็นบทความที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดตั้งแต่สร้าง PuerThaiBlog

        การพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น ทำให้เมืองจีนเข้าสู่ภาวะย่ำแย่ของกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น อังกฤษกลับใช้เมืองขึ้นทางเอเชียใต้ทำการพัฒนาเพาะปลูกชาอย่างขนานใหญ่ เมืองจีนไม่ใช่ประเทศหนึ่งเดียวที่ป้อนใบชาเข้าสู่ตลาดโลกอีกต่อไป ชาเมืองจีนที่เคยรุ่งโรจน์สุดขีดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะไม่สามารถกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาได้อีก

        “ชา” เดิมเป็นเครื่องดื่มที่ทำให้จิตใจสงบ แต่สิ่งที่อยู่แวดล้อมมัน กลับทำให้เกิดความวุ่นวายและสงครามนับครั้งไม่ถ้วน ทุกวันนี้ ใบชาได้กลับคืนสู่สันติภาพ มิตรภาพ และภราดรภาพอันเป็นสัญลักษณ์ที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่เป็นแค่พืชทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง มันเคยมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประวัติศาสตร์ของโลก

........จบบริบูรณ์........


สารคดีโทรทัศน์มินิซีรีส์ 4 ตอน : 茶叶战争

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ใครเป็นคนจารกรรมชาจีนไป

ใครเป็นคนจารกรรมชาจีนไป ?
谁偷走了中国茶 ?



        เมืองจีนเป็นถิ่นกำเนิดของชา...มีประวัติศาสตร์ การดื่มชา การปลูกชา อันยาวนานนับจากโบราณกาล

        ชาแดงเจิ้นซานเสี่ยวจ่ง...มีต้นกำเนิดที่ด่านถงมู่หวู่หยีซานฝูเจี๋ยนของเมืองจีน เมื่อ 400 กว่าปีก่อน เล่ากันว่าเกิดขึ้นมาจากเหตุโดยบังเอิญ น้ำชามีสีแดงเงาสดใส พร้อม รสชาติที่มีกลิ่นต้นสนและรสลำใย เป็นชาชนิดแรกๆที่ส่งออกไปยุโรป

        ต้นศตวรรษที่17...ปี 1610 พ่อค้าฮอลแลนด์เป็นคนนำชาแดงเข้าไปในยุโรป เนื่องจากวัฒนธรรมเบียร์และไวน์ฝังรากลึกของยุโรป ทำให้ชาไม่สามารถแพร่ขยายที่เยอรมันและฝรั่งเศสได้อย่างราบรื่น ปี 1662 พระราชินีแคทเธอรินนำเข้าไปในพระราชวังอังกฤษ หลังจากได้สาธิตโดยพระองค์เอง “ชาแดง” เครื่องดื่มลี้ลับจากแดนสนธยาเมืองจีนโบราณ กลายเป็น “ของหรูหราชั้นสูง” ได้รับความนิยมจากสังคมผู้ดีอังกฤษอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากใบชาที่ผ่านการหมักมาแล้วมีลักษณะสีดำ จึงเรียกว่า “Black Tea

        ก่อนสงครามฝิ่น...เมืองจีนควบคุมการผลิตใบชาที่ป้อนให้ตลาดโลกถึง 90% ถือได้ว่าอยู่ในฐานะผูกขาดทางการค้าใบชาของโลก จากความต้องการอันมหึมาของประเทศทางยุโรปยากที่นำสินค้าเพื่อให้เกิดสมดุลทางการค้าได้ อังกฤษจึงนำฝิ่นไปค้าขาย แต่ถูกทางการจีนคว่ำบาตร นำไปสู่การเกิด “สงครามฝิ่น” (ปี 1839-1842)

        หลังสงครามฝิ่น... ภายใต้ “สนธิสัญญาหนานจิง” อังกฤษมีสิทธิพิเศษมากมายทางการค้าต่อจีน อาศัยการค้าฝิ่นเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า แต่ยังต้องพึ่งพาอาศัยใบชาของเมืองจีน เนื่องจากเมืองจีนเคร่งครัดในการเก็บความลับการเพาะปลูกชาและกรรมวิธีการผลิตใบชา และก็ยังผูกขาดการค้าใบชา



         กลางศตวรรษที่19... บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษซึ่งได้รับสิทธิการผูกขาดการค้าใบชาส่งออกไปยุโรป ได้ตัดสินใจที่จะนำเข้าต้นชาจากเมืองจีนมาเพาะปลูกที่อินเดีย เพื่อจะทำการผลิตใบชาเอง ได้วางแผน “การจารกรรม” ที่ถือเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ เพื่อไปขโมยความลับการเพาะปลูกและการผลิตใบชาที่มีประวัติความเป็นมาเป็นร้อยเป็นพันปีของเมืองจีน ปี 1848 จึงได้ส่งสายลับ “ทอมครูซ” (นามสมมุติ) ไปปฏิบัติการ “Mission Impossible” ครั้งนี้จนประสบความสำเร็จในปี 1851

         ปลายศตวรรษที่19...ใบชาอินเดียเริ่มเข้ามาอยู่บนเวทีการค้าใบชาแทนที่เมืองจีน ปี 1890 ใบชาอินเดียครองส่วนแบ่งตลาดภายในอังกฤษได้ถึง 90% เมืองจีนในสงครามการค้าและสงครามการจารกรรมธุรกิจครั้งนี้พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ในที่สุดต้องกลายมาเป็นผู้ชมข้างเวที กว่าจะรู้ว่านี่เป็นผลของ “การจารกรรมความลับธุรกิจ” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ช้าไปแล้วครับต๋อย คนจีนยังไม่เข้าใจตลอดมาว่า “ความลับใบชา” ของตนเองรั่วไหลออกไปได้อย่างไง การค้าใบชาส่งออกที่สำคัญที่สุดของเมืองจีนต้องเสื่อมถอยหดตัวลงอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองจีนอย่างรุนแรง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติยิ่งตกต่ำอ่อนแอลงไปอีก จนถูกชาติมหาอำนาจยุคจักรวรรดินิยมมาข่มเหงรังแกและดูถูกเหยียดหยามตราหน้าให้เป็น “คนป่วยแห่งเอเชียบูรพา”(东亚病夫 : “บรูซลี” ในหนังเรื่อง “ไอ้หนุ่มซินตึ๊งภาค 2” ได้ถีบป้ายที่เขียนข้อความนี้ขาดเป็น 2 ท่อน)

        การดื่มชายามบ่าย...ใบชาได้เป็นที่นิยมแพร่หลาย เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนอังกฤษ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกือบทุกบ้านของอังกฤษทำกันเป็นกิจวัตรประจำวัน ชาแดงดีๆที่ชงในกาเงิน รินน้ำชาลงในถ้วยชาที่ผลิตอย่างวิจิตรสวยงาม จิบดื่มน้ำชาเคล้าคู่กับอาหารว่าง ขนมหวาน เป็นการดื่มชาในยามบ่ายของวันอันแสนอบอุ่น และเพื่อผ่อนคลายร่างกาย

        จอมโจรหรือนักล่า...”สายลับ” เพียงหนึ่งคนที่เหนือกว่าทั้งกองทัพ ทำให้เมืองจีนเกิดผลกระทบด้านลบอย่างใหญ่หลวงยิ่งกว่าผลจากสงคราม ได้รับสมญานามว่า “จอมโจรขโมยชา”(The Tea Thief) เป็นเพราะความกล้าหาญในการผจญภัยและมีสัญชาตญาณของนักล่าที่ทำการจารกรรมขโมย “เมล็ดพันธุ์ต้นชา” และ “เทคโนโลยีการผลิตชา” ของเมืองจีน ทำให้ประวัติศาสตร์การพัฒนาใบชาต้องมาเขียนหน้าใหม่ ใบชาเป็นเครื่องดื่มของโลกาภิวัฒน์จวบจนปัจจุบัน ก็ได้รับฉายาว่า “นักล่าพรรณพืช”(The Plant Hunter) ไม่ว่าจะเป็นจอมโจรหรือนักล่าล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องจารึกและจดจำ ผู้ซึ่งเป็นความลับที่วารสาร《ประวัติศาสตร์》ของฝรั่งเศสฉบับเดือนมีนาคม 2002 เพิ่งเปิดเผยออกมาจนสั่นไหวทั่วโลก...เค้าคือใคร ?



        เมืองจีนจักรวรรดิใบชา

        การค้าข้ามมหาสมุทรเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของโลก พรรณพืชบางชนิดที่เดิมเพียงเจริญเติบโตได้ในบางเขตพื้นที่นับจากนี้ได้ข้ามไปอยู่ทั่วทุกแห่งหน แพร่ขยายไปต่างถิ่นที่แสนไกล การแพร่ขยายของพรรณพืชเสมือนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่แฝงด้วยความหมายที่กว้างลึก พวกมันไม่เพียงเปลี่ยนแปลงชีวิตของประชากรกว่าพันล้านคน ยังมีผลต่อการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของประวัติศาสตร์โลก

        “ใบชา” พืชพรรณที่ทำให้คนเสพติด แต่ไม่มีอันตราย เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า เมืองจีนเป็นประเทศแรกที่รู้จักการผลิตชาและเทคโนโลยีการผลิต แต่เนื่องจากดำเนินการค้าเชิงขีดจำกัด การดื่มชาเป็นช่วงระยะเวลาอันยาวนาน เพียงจำกัดอยู่ในเมืองจีนและบางประเทศที่อยู่รอบข้าง ประมาณช่วงปี 850 ชาวอาหรับได้ชาเมืองจีนโดยผ่าน “เส้นทางสายใหม” ปี 1559 พวกเขาได้นำใบชาผ่านเมืองเวนิชเข้าไปในยุโรป

        “เจิ้นซานเสี่ยวจ่ง ขายต่างประเทศ” เป็นเรื่องที่แปลกของหวู่หยีซาน ผู้บุกเบิกเส้นทางการค้าทางทะเลของ “ชาแดงหวู่หยีซาน” คือคนฮอลแลนด์ ในปี 1610 คนฮอลแลนด์นำชาแดงหวู่หยีซานเข้าไปในยุโรป ปี 1640 เข้าไปที่อังกฤษเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากใบชาที่ผ่านการหมักมาแล้วมีลักษณะสีดำ ทางยุโรปจึงเรียกว่า “Black Tea

        ปี 1662 ในงานเฉลิมฉลองราชาภิเษกสมรสของเจ้าหญิงแคทเธอรินแห่งโปรตุเกส และ กษัตริย์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ พระราชินีแคทเธอรินได้ทรงยกแก้วขาสูงที่ไม่ใช่ใส่ไวน์ แต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เป็นเครื่องดื่มลี้ลับจากแดนสนธยาเมืองจีนโบราณ---ชาแดง



        ทำไมจึงต้องจารกรรมชาจีน ?

        สืบเนื่องจากพระราชินีแคทเธอรินได้ทำการสาธิตโดยพระองค์เอง การดื่มชาแดงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพระบรมวงศานุวงค์อังกฤษ พระราชวังเป็นผู้นำร่อง สังคมชั้นสูงผู้ดีก็ตามกันมา ประกอบกับ “บริษัทอินเดียตะวันออก” ของอังกฤษได้ขยับเลื่อนขึ้นมาเป็น “เจ้าแห่งการค้าโลก” เป็นผู้ผูกขาดการนำใบชาจากเมืองจีนโดยตรงแล้วป้อนตลาดภายในประเทศ ประชาชนทั่วไปก็เริ่มมาดื่มชาเป็นจำนวนมาก---นับจากนี้ไป การดื่มชาค่อยๆวิวัฒนาการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอังกฤษที่จะไม่มีหรือขาดไปไม่ได้

        “วัฒนธรรมดื่มชาแดง” เป็นที่นิยมแพร่หลายในอังกฤษ บนเกาะที่ไม่สามารถผลิตชาต้องการดื่มชา โดยเฉพาะชอบชาแดงหวู่หยีซาน บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษทุกปีจะต้องนำเข้าใบชา 4000 ตันจากเมืองจีน แต่ต้องใช้ “เงินขาว” มาจัดซื้อแลกเปลี่ยน ในช่วงเวลานั้น ใบชาหนึ่งตันราคารับซื้อ 100 ปอนด์ ราคาขายส่งสูงถึง 4000 ปอนด์ ทำให้บรษัทอินเดียตะวันออกได้ผลกำไรมหาศาล แต่ทว่า เงินขาวภายในประเทศที่ต้องใช้จัดซื้อใบชาเมืองจีนวันๆมีแต่ร่อยหรอลง เพราะขาดดุลทางการค้าเป็นจำนวนมาก และสินค้าอื่นที่จะส่งขายกลับไปให้เมืองจีนก็มีไม่มากชนิด จึงได้นำ “ฝิ่น” เข้าไปค้าขายในเมืองจีน เพื่อชดเชยการขาดดุลการค้า อันเป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิด “สงครามฝิ่น

        เพื่อพลิกผันการขาดดุลทางการค้า อังกฤษได้พยายามหาวิธีการต่างๆ รวมทั้งการบุกเบิกสวนชาไร่ที่อินเดียและบังคลาเทศซึ่งเป็นเมืองขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลานั้นมีพันธุ์ชาเพียง 2 ชนิด ชนิดหนึ่งคือ “ชาแดงอัสสัม” อีกชนิดหนึ่งคือ “พันธุ์ชาเขียว” ที่ขโมยจากกว่างตง ชาแดงอัสสัมซึ่งเป็นชาดังของโลกในปัจจุบัน แต่ในช่วงเวลานั้นมันเป็นชาป่าชนิดหนึ่ง แม้ชงออกมาจะมีกลิ่นหอมของข้าวบาร์เลย์ แต่จะมีรสเผ็ด ไม่สามารถดื่มทานได้ ส่วนพันธุ์ชาเขียวที่ขโมยจากกว่างตง เนื่องจากกว่างตงไม่ใช่เขตโดดเด่นของการผลิตชาเขียวเมืองจีน ชาชนิดนี้เมื่อหลังจากไปถึงยุโรป จะดื่มยากมาก ดังนั้น บริษัทอินเดียตะวันออกจึงคิดที่จะนำพันธุ์ต้นชาที่ดีที่สุดของจีนมาทำการเพาะปลูกที่อินเดียได้หรือไม่ ?

        เนื่องจากช่วงเวลานั้น “ราชวงศ์ชิง” ดำเนินการนโยบายปิดประเทศอย่างเข้มงวด เพียงอนุญาตให้ทำการค้าต่างประเทศที่กว่างโจวเท่านั้น อังกฤษจึงคิดอุบายโดยวิธีการขโมย “ความลับใบชา” จึงได้ส่ง Robert Fortune ซึ่งมีความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และประสบการณ์ทางเมืองจีนมาเป็น “ผู้ถอดรหัส” นี้


        ทำไมถึงต้องเลือก Robert Fortune ไปจารกรรมเทคโนโลยีใบชาของเมืองจีน ?

        Robert Fortune เป็นนักพฤกษศาสตร์ นักล่าพรรณพืชชาวสก๊อตแลนด์ การศึกษาไม่สูง เป็นนักพฤกษศาสตร์จากการฝึกอบรมจากสวนดอกไม้ มีประสบการณ์จากภาคสนามจริงอย่างช่ำชอง ปี 1843 ได้เข้าไปที่เมืองจีนเป็นครั้งแรก โดย “สวนหลวงอังกฤษ” ได้ว่าจ้างเพื่อให้ไปค้นหาชนิดพรรณพืชตะวันออก อาศัยการลุยเดี่ยว ประกอบกับมีความสามารถเรียนรู้ภาษาได้เร็ว มีความอดทน ขยัน รักการผจญภัย และก็ชอบจดบันทึก ผลสุดท้ายได้ขโมย “ต้นฉบับพรรณพืช” ร้อยกว่าชนิดกลับไปที่ตะวันตก เป็นเพราะ “ตำนานประสบการณ์” ที่ผ่านมาของเขา บริษัทอินเดียตะวันออกจึงตัดสินใจเลือก Robert Fortune สำหรับภารกิจนี้ ครั้งที่สวนหลวงอังกฤษว่าจ้างเขาเพียงปีละ 100 ปอนด์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆต้องรับผิดชอบเอง ส่วนบริษัทอินเดียตะวันออกทำสัญญาจ้าง 3 ปีด้วยค่าจ้างปีละ 550 ปอนด์ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างทำการเบิกได้หมด นี่ทำให้ Fortune ต้องเข้ามาเมืองจีนเป็นครั้งที่ 2 ในบทบาทของ “สายลับธุรกิจ” ภายหลังได้รับสมญานามว่า “จอมโจรขโมยชา

        ปี 1862 Robert Fortune ได้เดินทางกลับอังกฤษ จากการที่เขาเคยเดินทางเข้าไปใน เมืองจีนทั้งหมด 4 ครั้ง จากประสบการณ์เมืองจีนที่เขาได้จดบันทึกไว้ ได้เขียนหนังสือโดยตัดรายละเอียดส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการจารกรรมออกไป เขียนออกมา 4 เล่ม :
        【Three Years’Wandering in the Northern Provinces of China】เผยแพร่ปี 1847
        【A journey To The Tea Countries of China】เผยแพร่ปี 1852 
        【Two Visits To The Tea Countries of China】เผยแพร่ปี 1853 
        【Yedo and Peking】เผยแพร่ปี 1863

        บั้นปลายชีวิตของ Fortune ไม่มีข่าวคราวอันใด พระราชวังอังกฤษก็ไม่ได้ประกาศเกียรติคุณมอบเหรียญตราใด้แก่เขา และก็ไม่ได้กล่าวถึงเขาเลยในการที่เขาเป็นผู้นำผลประโยชน์ทางการค้าใบชาให้แก่อังกฤษ ปัจจุบันในเมืองจีน มีเพียงที่สถาบันศูนย์กลางการศึกษาวิจัยใบชาเมืองหังโจวจึงจะสามารถหาอ่านหนังสือของ Fortune ได้ ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าเขาเคยเป็น “สายลับอังกฤษ” ปฏิบัติการที่เมืองจีน แล้ว “ขโมยชาจีน” ไป

    

        ความลับการเพาะปลูกชาและการผลิตชาของเมืองจีนถูกถอดรหัสแล้ว

        1. เป้าหมาย : ใบชา

        วันที่ 3 กรกฎาคม 1848 : ข้าหลวงใหญ่ Dalhousie ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียมีคำสั่งต่อ Fortune ว่า : “คุณจะต้องไปทำการคัดเลือกต้นชาและเมล็ดพันธุ์ชาที่ดีที่สุดในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการผลิตชาของเมืองจีน จากนั้นคุณก็เป็นผู้รับผิดชอบนำต้นชาและเมล็ดพันธุ์ชาจากจีนขนส่งไปที่เมืองกัลกัตตา แล้วขนย้ายไปที่เทือกเขาหิมาลัย คุณยังต้องพยายามให้ถึงที่สุดเพื่อทำการว่าจ้างคนเพาะปลูกชาและคนผลิตชาที่มีประสบการณ์มาจำนวนหนึ่ง ถ้าปราศจากพวกเขา พวกเราจะไม่สามารถพัฒนาการผลิตชาในเทือกเขาหิมาลัยได้”

        2. อำพรางตัวเพื่อทำการจารกรรม

        กันยายน 1848 : Fortune ได้ไปขึ้นท่าที่เซี่ยงไฮ้ ช่วงเวลานั้น ภายใต้ “สนธิสัญญาหนานจิง” ฝิ่นได้ไหลเข้าไปในเมืองจีน คนจีนประมาณ 2 ล้านคนหมกมุ่นอยู่กับมัน ฝิ่นสำหรับเมืองจีนแล้วถือเป็นภัยพิบัติภัยหนึ่ง แต่พ่อค้าอังกฤษถือเป็นวิธีการที่หาเงินได้ดีวิธีหนึ่ง คนจีนจึงโกรธแค้นชาวยุโรปมาก ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ Fortune ต้องอำพรางตัวเป็นคนจีน โดยโกนหัวแล้วใส่ผมเปียปลอม ใส่เสื้อผ้าชุดจีน แม้ว่าตัวจะสูง 1.8 ม. ผิวสีคนอังกฤษ แต่ชาวเกษตรกรดูไม่ออกเขาเป็นคนยุโรป (เกษตรกรชาวจีนก็ไม่เคยเห็นชาวยุโรปมาก่อน) แล้วว่าจ้างคนจีน 2 คนที่มาจากพื้นที่ผลิตชาซึ่งรับเงินค่าจ้างของ Fortune จึงช่วยกันปกปิดตัวตนที่แท้จริงของเขา เริ่มเดินทางมุ่งสู่ “หวงซาน” ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตชาเขียวอันมีชื่อ แล้วได้เดินทางลึกเข้าไปในหลายพื้นที่ที่ทางการจีนห้ามชาวต่างชาติเข้าไป

        Fortune ถือเป็นคนต่างชาติคนแรกที่ได้ลึกเข้าไปภายในดินแดนของเมืองจีนหลังจากชาวโปรตุเกส เป็นภารกิจที่เต็มไปด้วยภยันตราย ถ้าหากถูกองครักษ์ราชวงศ์ชิงพบเห็น เขาจะต้องตายอย่างไม่ต้องสงสัย และอันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บและโจรผู้ร้าย แต่เขาไม่เคยหวั่น กลับทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นกระตือรือร้น เขาเป็น “นักพฤกษศาสตร์” ที่ดีเด่นคนหนึ่ง ขณะเดียวกัน เขาก็เป็น “นักผจญภัย” ที่กล้าหาญคนหนึ่ง



        3. ลักลอบเคลื่อนย้ายและสรรหาผู้ชำนาญการ

        กุมพาพันธ์ 1849 : Fortune ได้ลักลอบเข้าไปในหวู่หยีซาน ที่ซึ่งผลิตชาแดงอันมีชื่อเสียงเพื่อทำการสำรวจ โดยอาศัยพักนอนตามวัดจีนต่างๆ ได้ทำการสอบถามและทำความเข้าใจถึงกระบวนการผลิตชาแดงและหลักสำคัญของเทคโนโลยีการผลิต ได้เรียนรู้กระบวนการที่ทำให้ชาเขียวเปลี่ยนเป็นชาแดง วิธีการดำเนินการหมักของใบชา ทำให้สีของใบชาเป็นสีมืดเข้ม การผลิตชาเขียวที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนนี้ ก่อนหน้านี้ชาวตะวันตกคิดว่าชาเขียวและชาแดงเป็นพรรณพืช 2 ชนิด

        Fortune เตรียมตัวที่จะกลับอินเดีย แต่ทว่า ความรู้เรื่องชาที่เขาได้ขโมยเรียนรู้มายังไม่เพียงพอ ก็มีเพียงคนปลูกชาชาวจีนจึงจะสามารถนำความรู้การเพาะปลูกชาและการผลิตชาถ่ายทอดให้คนเพาะปลูกชาชาวอินเดียให้เข้าใจได้ ก่อนกลับอินเดีย จากการแนะนำของที่ปรึกษาชาวจีนของพ่อค้าตะวันตก จึงได้ว่าจ้างคนงานจีน 8 คน (รวมนักเพาะปลูกชาและนักผลิตชา) โดยทำสัญญาจ้าง 3 ปี

        16 มีนาคม 1851 : Fortune และพวกคนงาน 8 คน ที่ทำสัญญาจ้างได้อยู่บนเรือลำที่บรรทุกเต็มไปด้วยต้นกล้าชา 2000 ตัน และ เมล็ดพันธุ์ชา 17000 เมล็ด มุ่งตรงไปจอดเทียบท่าเมืองกัลกัตตา แล้วขนถ่ายไปที่รัฐอัสสัม และ ดาร์จิลิ่ง ในเทือกเขาหิมาลัย หลังจากนั้นก็ไหลเข้าไปสู่ศรีลังกา

        ใบชาเป็นพืชพรรณที่ยากต่อการอยู่รอด เริ่มแรกนำต้นชาใส่ในตู้กระจก ระยะทางจากเมืองจีนถึงเทือกเขาหิมาลัยต้องใช้ระยะเวลา 2 เดือน โยกโคลงเคลงตลอดทาง เกิดการตายจำนวนมาก Fortune ได้คิดค้นวิธีการหนึ่ง โดยปูดินชั้นนึงก่อนในตู้กระจก นำเมล็ดพันธุ์ชาวางลงไป แล้วกลบด้วยดินอีกชั้นอยู่ข้างบน ลักษณะแบบนี้ทำให้เมล็ดพันธุ์ชาแตกเป็นยอดอ่อนระหว่างเส้นทาง ถือเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดมาก แม้ว่าระยะเส้นทาง 2 เดือน แต่เมื่อไปถึงเทือกเขาหิมาลัยต้นกล้าชาก็เจริญงอกออกมาพอดี ชารุ่นนี้ขโมยจากหวู่หยีซาน แล้วเจริญเติบโตดำรงอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย แล้วนำมาผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์ท้องถิ่นชาแดงอัสสัม “ชาแดงอัสสัม” ที่พวกเราดื่มในทุกวันนี้ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น “ราชันชาแห่งโลก” อันที่จริงมีส่วนหนึ่งของชาจีนที่เป็นส่วนสำคัญอยู่ในนี้ด้วย


        4. ผลกระทบต่อประเทศจีนจากผลการจารกรรมของ Robert Fortune

        ระยะเวลา 3 ปี ผลสุดท้าย Fortune ก็ได้ครอบครองความรู้และเทคโนโลยีของการเพาะปลูกชาและการผลิตชาทั้งหมดไปแล้ว นับจากจากนี้ไป อินเดียก็โผล่ออกมาจากฟากฟ้า เป็นประเทศอันดับ 1 ของชาแดงแทนที่เมืองจีน ชาแดงของอินเดีย ศรีลังกา ที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษต่างค่อยๆกลายเป็นกระแสหลักของชาแดงของโลก ตลาดชาแดงยุโรปก็ค่อยๆหลุดพ้นจากการที่ต้องพึ่งพาอาศัยเมืองจีน ทำให้ใบชาเมืองจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ภาพอันน่าประทับใจเมื่อวันวานของ “ชาแดงหวู่หยีซาน” ที่ยึดครองทั่วปฐพี จะไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว               

        ที่ผ่านมามีผู้คนน้อยมากกที่จะมาสนใจ Robert Fortune ต่อมาภายหหลังจึงค้นพบว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น ราชวงศ์ชิงได้ลงทุนเป็นจำนวนมากด้านผลผลิตของใบชา เชื่อว่าควรที่จะต้องมีฐานของการผลิตมาค้ำยัน หวังไว้ว่าเพื่อมาชดเชยความเสียหายหลายสิบล้านของสงคราม ในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยีของเมืองจีนที่ก้าวล้ำนำหน้าโลกก็คือ “ใบชา” แต่ Fortune ได้มาทำการขโมยพันธุ์ต้นชาไปมากมาย ทำให้การลงทุนของราชวงศ์ชิงคว้าน้ำเหลว เมื่อเทคโนโลยีของเมืองจีนถูกขโมยไป ชะตาชีวิตของราชวงศ์ชิงก็เตรียมชะตาขาดในอีกไม่ช้าไม่นาน

        เมืองจีนพุ่งพรวด (中国崛起

        ปี 1912 ราชวงศ์ชิงก็ล่มสลายถูกโค่นล้มโดย “บิดาแห่งชาติ” ซุนจงซานผู้บุกเบิกการปฏิวัติซินไฮ่ แล้วก่อตั้ง “สาธารณรัฐจีน” ต่อมาเมื่ออยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทางทหารของพรรคกั่วหมิงต่างโดย จอมพลเจี่ยงเจี่ยสือ แล้วถูกสงครามปลดแอกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของท่านประธานเหมาเจ้อตง ขับไล่หนีไปเกาะใต้หวัน จึงถือเป็นการปฏิวัติที่สำเร็จสมบูรณ์ของเมืองจีนในปี 1949 ก่อตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” นายกรัฐมนตรีรัฐบุรุษโจวเอินหลายได้จัดการบริหารประเทศเกิดใหม่อย่างจีนที่อ่อนแอทำให้เข้มแข็งไปรอดได้ในขณะนั้น เมื่อมารับช่วงต่อ เติ้งเสี่ยวผิงผู้วางรากฐานเศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นผู้ริเริ่มแนวเศรษฐกิจและการปกครองแบบ “แมวไม่ว่าจะสีขาวหรือสีดำ ให้จับหนูได้เป็นพอ” ที่ยังคุณูปการแก่ประเทศจีนจวบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันประเทศจีนกำลังอยู่ในแนวเศรษฐกิจ “一带一路”(One Belt One Road)

        กระบวนการเจริญก้าวหน้าของชาติตะวันตก สามารถกล่าวได้ว่า การทำให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาภายใต้เลือดและไฟราคะ เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดของการรุกรานแย่งชิง สงครามและการสังหารหมู่ซึ่งได้เป็นชาติอุตสาหกรรมก่อนของชนชาติอเมริกายุโรป เป้าหมายสุดท้ายล้วนเพื่อการปล้นแผ่นดินและทรัพยากรต่างๆ เพื่อเปิดตลาดใหม่และขยายอำนาจทุน

        การพัฒนาก้าวกระโดดเป็นประเทศทันสมัยภายในระยะเวลาแค่ประมาณ 30 ปีของเมืองจีน โดยไม่มีการปล้นสดมภ์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ไม่มีการแผ่ขยายโดยใช้กำลังอำนาจบาตรใหญ่ ไม่มีการล่าอาณานิคม ไม่มีเมืองขึ้น ล้วนอาศัยการพึ่งตนเอง ต่อสู้อดทน ริเริ่มสร้างสรรค์ ยืนหยัดเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ยึดมั่นการพัฒนาอย่างสันติ ภายใต้เงื่อนไขที่มีอุปสรรคต่างๆนานา ได้เปิดศักราชแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติสังคมอย่างขนานใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แก้ปัญหาบรรดามีด้วยตนเอง ไม่แม้เพียงไม่ได้เพิ่มความยุ่งยากใดๆให้แก่มวลมนุษยชาติ กลับนำผลประโยขน์ที่จริงแท้แน่นอนให้แก่ประเทศชาติส่วนใหญ่และประชากรโลก กล่าวจากมุมมองทางการพัฒนาอย่างสันติแล้ว ความหมายของ “เมืองจีนพุ่งพรวด” ไม่ธรรมดา ในชนชาติที่มีอยู่บนโลก ในช่วงเวลาผ่านของความทันสมัย “บุกเบิกเส้นทางด้วยตนเอง ยืนบนลำแข้งของตนเอง”          

        ป้ายที่เขียนข้อความ “东亚病夫”(คนป่วยแห่งเอเชียบูรพา) เชิงการดูหมิ่นเหยียดหยาม ได้ถูก “ประเทศจีนยุคใหม่” ถีบขาดเป็น 2 ท่อนไปแล้วในโลกแห่งความจริง และในการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกวันนี้ คุณอาจมีประสบการณ์ในด้านดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ คุณก็ยากที่จะหนีพ้น “中国制造”(Made in China)

........จบบริบูรณ์........


เอกสารอ้างอิง :

1. 《茶人小传 (二) 苏格兰园丁福琼缘何成为盗茶贼

2.《改变世界茶叶历史人---罗伯特 福琼

3. 武夷山红茶种植加工如何被窃取并流传海外

4.植物间谍福琼 : 茶叶大盗的中国之