วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเครื่องหมายการค้า"ชาผูเอ๋อร์"

ความรู้เรื่องชาผูเอ๋อร์ ตอน...
จุดประสงค์ของการบังคับใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเครื่องหมายการค้า"ชาผูเอ๋อร์"



     สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication : GI) คือ การใช้ชื่อสถานที่ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศสมาชิกประกอบกับสินค้า เพื่อแสดงให้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคได้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าว่า คุณภาพ ชื่อเสียง หรือลักษณะอื่นของสินค้า มีส่วนสำคัญมาจากแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น

     GI ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้การคุ้มครองตาม"ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า(Trade-Related Intellectual Property Rights : TRIPS) โดย WTO ร่วมมือกับ WIPO นำหลักการทั่วไปและอนุสัญญาเข้ามาไว้ในความตกลงเดียว

     TRIPS ให้ความคุ้มครอง GI ในสองระดับ คือ การคุ้มครอง GI แบบทั่วไป (มาตรา 22) และการคุ้มครอง GI แบบเข้มงวด (มาตรา 23) กล่าวคือ

     (1) การคุ้มครอง GI แบบทั่วไป กล่าวถึงวิธีการระบุสินค้าที่มีแหล่งที่มาจากภาคีสมาชิก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี มีชื่อเสียง หรือลักษณะพิเศษอื่นๆ ที่เป็นลักษณะจำเพาะของแหล่งที่มานั้นๆ โดยประเทศภาคีสมาชิกจะต้องออกกฏหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ชื่อที่มี GI กับสินค้าที่มิได้มีแหล่งในทางภูมิศาสตร์ ณ ที่นั้นจริง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้บริโภคหลงเชื่อการโฆษณาของสินค้าชนิดนั้น รวมทั้งการกระทำใดๆที่ขัดต่อการค้าเสรีภายใต้ความหมายของมาตรา 10 (ทวิ : การกระทำใดๆที่ก่อให้เกิดความสับสน ทำลายภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของสินค้าของคู่แข่ง ทั้งในแง่ของตัวสินค้า กระบวนการทางอุตสาหกรรม หรือกระบวนการทางการค้าของคู่แข่ง) แห่งอนุสัญญากรุงปารีส (Paris Convention) ที่ตราขึ้นในปี 1967 อีกทั้งภาคีสมาชิกจะต้องไม่รับขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสินค้าที่มีการละเมิด GI หากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ผู้บริโภค

     (2) การคุ้มครอง GI แบบเข้มงวด เป็นการคุ้มครองเพิ่มเติม GI สำหรับไวน์และสุราเป็นพิเศษ โดยเพิ่มกฏเกณฑ์นอกเหนือจากการออกกฏหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ชื่อที่มี GI กับสินค้าที่มิได้มีแหล่งในทางภูมิศาสตร์ ณ ที่นั้นจริง ให้รวมถึงการห้ามมิให้ใช้ GI ในคำแปล หรือมีสิ่งแสดงประกอบ เช่น ชนิด ประเภท แบบ และการเลียนแบบ เป็นต้น (เช่น การระบุว่า "ผลิตแบบแชมเปญ" หรือ "ผลิตเลียนแบบแชมเปญ" ซึ่งต้องบอกให้สาธารณชนทราบว่ามิใช่แชมเปญแท้ แต่ผลิตแบบเดียวกับแชมเปญ เป็นสิ่งต้องห้ามด้วยเช่นกัน)

     การบังคับใช้ GI ของเครื่องหมายการค้า"ชาผูเอ๋อร์"

     การบังคับใช้ GI ของเครื่องหมายการค้า"ชาผูเอ๋อร์" เป็นพัฒนาการครั้งยิ่งใหญ่ของธุรกิจชาหยินหนาน เป็นการเปิดศักราชใหม่ของธุรกิจชาหยินหนาน มันได้บ่งชี้ถึงธุรกิจชาหยินหนานกำลังพัฒนา ความได้เปรียบทางทรัพยากรธรรมชาติ ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ความได้เปรียบทางมนุษยธรรม ความได้เปรียบทางชนเผ่าพันธุ์ เป็นต้นรวมเข้าด้วยกัน เป็นผลสำเสร็จที่ยิ่งใหญ่จากการคุ้มครองทางทรัพย์สินที่เป็นเอกสิทธิ์ของธุรกิจชาหยินหนาน เป็นหลักสำคัญใหม่ของพัฒนาการธุรกิจชาหยินหนาน

     อุตสาหกรรมชาผูเอ๋อร์เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักของเขตพื้นที่หยินหนาน ผู้คนทุกวงการในหยินหนานจึงควรที่จะมาปกป้องดั่งเช่นสวนบ้านอันสวยงาม พิทักษ์รักษารากเหง้าที่เป็นความอยู่รอดของชาผูเอ๋อร์ กิจอันเร่งด่วน "ชาผูเอ๋อร์(普洱茶)" เครื่องหมายการค้าที่ขึ้นชื่อของหยินหนานสมควรได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น

     ภายใต้รวบรวมพลังการผลักดันหลายๆด้านของสมาคมชาผูเอ๋อร์แห่งหยินหนาน เริ่มตั้งแต่ปี 1999 จากความพยายามอย่างไม่ย่อท้อเป็นระยะเวลา 8 ปี สุดท้ายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ชาผูเอ๋อร์" สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้สำเร็จ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2007 เป็นปฏิบัติการทางกลยุทธ์ตราสินค้าดังของใบชาหยินหนาน การเข้าสู่นานาประเทศของใบชาหยินหนาน เป็นเครื่องหมายรับประกันที่สำคัญเพื่อการเป็นตราสินค้าที่มีชื่อของนานาชาติ

     เพื่อค้นหาเชิงลึกจุดประสงค์ที่สำคัญในการบังคับใช้ GI ของเครื่องหมายการค้า"ชาผูเอ๋อร์" เพื่อเป็นการใช้เครื่องหมายฯนี้อย่างถูกต้อง มีความจำเป็นที่จะต้องมาทำความเข้าใจถึงเครื่องหมายการค้า GI

     เครื่องหมายการค้า GI :

     1. เป็นสัญลักษณ์เพื่อบ่งชี้แหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้า
     GI ทั่วๆไปที่พบมากคือจะใช้"ชื่อสถานที่"มาประกอบ อย่างเช่น "จิ่งเตอะเจิ้น(景德镇)"-(เครื่องปั้นดินเผา) "หลู่อัน(六安)"-(กวาเพี่ยน : ชาเขียวชนิดหนึ่ง) "ต้งถิงซาน(洞庭山)"-(ปิหลอชุน : เป็นชื่อทั่วไปของชาเขียวชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ชื่อสถานที่ที่เป็นเครื่องหมายการค้าอย่าง"ต้งถิงซาน" ดังนั้น ถ้าหยินหนานจะปลูกและผลิตแล้วตั้งชื่อเรียก"เตียนปิหลอชุน"มีสิทธิ์ทำได้ แต่จะไปตั้งชื่อเรียก"ต้งถิงซานปิหลอชุน"ไม่ได้เพราะไปละเมิด GI) เป็นต้น มี่เครื่องหมายการค้าส่วยน้อยที่ใช้ภาพที่มีความหมายสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ เช่น "ชาผูเอ๋อร์"

     2. เพื่อบ่งชี้ถึงคุณภาพที่พิเศษเฉพาะ ชื่อเสียง หรือลักษณะอื่นของสินค้า

     3. คุณภาพที่พิเศษเฉพาะ ชื่อเสียง หรือลักษณะอื่นของสินค้าที่กำหนดจากปัจจัยทางธรรมชาติหรือปัจจัยทางมนุษยธรรม
     ปัจจัยทางธรรมชาติที่สำคัญประกอบด้วย คุณภาพน้ำ พื้นดิน ภูมิประเทศ ลมฟ้าอากาศ เป็นต้นที่ต้นชาผูเอ๋อร์เจริญเติบโตขึ้นมา แต่เมื่อพันธุ์ชนิดเดียงกันต้องจากไปจากภูมิศาสตร์และสภาพอากาศที่กำหนดเฉพาะแล้ว คุณภาพของผลิตภัณฑ์โดยทั่วไปจะแตกต่างกันมาก ปัจจัยทางมนุษยธรรมคือปัจจัยด้านการใช้วัตถุดิบ สูตร วิธีการผลิต ขนบธรรมเนียมทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น คุณภาพหรือลักษณะอื่นของสินค้าบางชนิดกำหนดจากปัจจัยทางธรรมชาติหรือปัจจัยทางมนุษยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คุณภาพหรือลักษณะอื่นของสินค้าบางชนิดเป็นผลลัพธ์ของปฏิบัติการร่วมทั้งสองของปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยทางมนุษยธรรม อย่างเช่น ชาผูเอ๋อร์ เครื่องปั้นดินเผาจิ่งเตอะเจิ้น เป็นต้น

     จุดประสงค์สำคัญต่ออุตสาหกรรมชาหยินหนานจากการบังคับใช้ GI ของเครื่องหมายการค้าชาผูเอ๋อร์

     ๑. สามารถคุ้มครองตำแหน่งทางแหล่งต้นกำเนิดชาผูเอ๋อร์---หยินหนานและทางอุตสาหกรรมชาหยินหนาน

     ๒. สามารถยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชาผูเอ๋อร์และเพิ่มจุดแข็งทางบริหารการจัดการอุตสาหกรรมชาผูเอ๋อร์

     ๓. เกิดภาพลักษณ์ที่เป็นด้านบวกในใจของผู้บริโภคแล้วพิทักษ์รักษาอุตสาหกรรมชาผูเอ๋อร์

     ๔. มีผลดีต่อการสร้างตราสินค้าของชาผูเอ๋อร์ที่เป็นชาดังทางประวัติศาสตร์

     ๕. มีผลดีต่อการเป็นสินค้านานาชาติของชาผูเอ๋อร์

      ๖. เป็นผลประโยชน์ต่อความมั่นคงแข็งแรงของอุตสาหกรรมชาหยินหนาน แล้วมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีแบบแผน


เอกสารอ้างอิง :
  1. 对启用 "普洱茶" 地理标志证明商标意义的探讨 : 周红杰 , 张春花 , 单治国
  2. Geographical Indication : ศิรยา เลาหเพียงศักดิ์
  3. GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ : อังคณา สุวรรณกุฏ  

โพสต์นี้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2558 ลงในเฟสเพจสมาคมผู้รักชาผูเอ่อร์แห่งประเทศไทย  https://www.facebook.com/groups/1465523990337272/
   

คำนิยามของ"ชาผูเอ๋อร์"ที่เป็นทางการ

ความรู้เรื่องชาผูเอ๋อร์ ตอน...
คำนิยามของ"ชาผูเอ๋อร์"ที่เป็นทางการ



     ตามมาตรฐานแห่งชาติของประเทศจีนGB/T 22111-2008 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ชาผูเอ๋อร์ ได้จำกัดความหรือนิยามชาผูเอ๋อร์ว่า :
   
     "ชาผูเอ๋อร์เป็นผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกทางภูมิศาสตร์ที่มีเฉพาะในหยินหนาน วัตถุดิบเป็นใบชาพันธุ์ใบใหญ่ตากเขียวของหยินหนานที่สอดคล้องกับสภาวะสภาพแวดล้อมของพื้นที่ผลิตชาผูเอ๋อร์ ทำการผลิตตามวิธีการที่กำหนดเฉพาะ เป็นใบชาที่มีคุณภาพลักษณะพิเศษเฉพาะ ชาผูเอ๋อร์แบ่งออกเป็น ชาผูเอ๋อร์(ชาดิบ) ชาผูเอ๋อร์(ชาสุก) สองกลุ่มใหญ่........"

     จากคำนิยามอย่างเป็นทางการดังกล่าวข้างต้น แน่นอน มีจุดประสงค์หนึ่งและเป็นจุดประสงค์ข้อแรกเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมชาของหยินหนานที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดของชาผูเอ๋อร์ แต่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งมากมายในวงการชาผุเอ๋อร์ โดยเฉพาะแนวความคิด 2 ด้าน :

     1. มณฑลหยินหนาน
     แน่นอน หยินหนานถือเป็นแหล่งที่ผลิตชาผูเอ๋อร์ที่ดีที่สุด แต่จากตั้งแต่อดีตกาลมีชาผูเอ๋อร์ที่ใช้วัตถุดิบและผลิตนอกเขตหยินหนานมากมาย แม้ปัจจุบันยังดำรงอยู่ เมื่อนิยามว่าชาผูเอ๋อร์จะต้องใช้วัตถุดิบเฉพาะในหยินหนานเท่านั้นผลิตเป็นชาผูเอ๋อร์ ดังนั้น ชาผูเอ๋อร์นอกเขตหยินหนาน และชาผูเอ๋อร์แนวเขตชายแดน จะจัดชาเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน?

     2. ใบชาพันธุ์ใบใหญ่
     ใบชาพันธุ์ใบใหญ่ประกอบด้วยสารประกอบอุดมสมบูรณ์ เข้มข้น ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีของผลิตภัณฑ์ชาผูเอ๋อร์ ถ้าหากกำหนดใช้เพียงใบชาพันธุ์ใบใหญ่เท่านั้นผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชาผูเอ๋อร์ แล้วใบชาพันธุ์ใบเล็กที่เคยนำมาผลิตชาผูเอ๋อร์แล้วถวายเข้าพระราชวังสมัยราชวงค์ชิง และเป็นชาที่มีชื่อในโพ้นทะเล ปัจจุบัน ยังมีเขตพื้นที่ชาบางส่่วนในหยินหนานที่ยังมีใบชาพันธุ์ใบเล็กและใช้ผลิตชาผูเอ๋อร์อยู่ แล้วผลิตภัณฑ์ชาที่ผลิตจากใบชาพันธุ์ใบเล็กถือเป็นชาผูเอ๋อร์หรือไม่?

     เพื่อเป็นข้อมูลย่อๆอีกด้านที่ให้ผู้สนใจศึกษาพิจารณา ถ้าอยากศึกษาฉบับเต็มGB/T 22111-2008 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ชาผูเอ๋อร์(ฉบับภาษาจีน)คลิกเข้าไปใน : http://blog.sina.cn/dpool/blog/s/blog_a226da480100ygh8.html

โพสต์นี้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2558 ลงในเฟสเพจสมาคมผู้รักชาผูเอ่อร์แห่งประเทศไทย  https://www.facebook.com/groups/1465523990337272/