วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ศิลปะการตกแต่งปั้นจื่อซา


        วิจิตรศิลป์ของศิลปะการตกแต่งปั้นจื่อซา มีความโดดเด่นกว่าเครื่องเคลือบดินเผาบรรดามี ซึ่งศิลปะการตกแต่งปั้นจื่อซาเป็นการผสมผสานหลากวัฒนธรรม ได้นำเทคนิคศิลปะหลากหลายวิธีมาดำเนินการ ถือเป็นศิลปกรรมที่ยิ่งใหญ่แขนงหนึ่ง


        ศิลปะการตกแต่งปั้นจื่อซา สามารถแยกแยะออกมาได้หลากหลายวิธีการ ดังต่อไปนี้ : 


        (1) การแกะสลัก เป็นวิธีการหนึ่งที่พบเห็นบ่อยในปั้นจื่อซา

▲การแกะสลัก/陶刻


        (2) การระบายโคลน นำดินจื่อซามาบดให้ละเอียดทำเป็นโคลน(Paste) แล้วนำมาระบายรูปทับบนตัวปั้น ความหยาบละเอียดและสั้นยาวของลายเส้น ขนาดใหญ่เล็กและหนาบางของพื้นที่ แสดงให้เห็นระยะใกล้ไกลและความเสมือนจริงของวัตถุในภาพ ดุจประติมากรรมแบบนูนต่ำ(Bas Relief) ดูแล้วมีความโดดเด่นและมีมิติ

▲การระบายโคลน/泥绘


        (3) การปั้นแปะ ใช้วัตถุดิบดินที่สีเดียวกันหรือต่างกันกับตัวปั้นจื่อซา มานวดปั้นเป็นรูปร่างตามที่ต้องการ แล้วนำไปแปะติดบนปั้นจื่อซาตรงตำแหน่งที่ต้องการ การปั้นแปะนี้ทำให้ดูแล้วมีมิติมากขึ้น

▲การปั้นแปะ/贴塑


        (4) การพิมพ์ลาย ก่อนอื่นทำการแกะสลักลวดลายที่ออกแบบไว้บนแม่พิมพ์ นำดินแผ่นจื่อซามาอัดขึ้นลายบนแม่พิมพ์ แล้วนำดินแผ่นจื่อซาพิมพ์ลายมาเชื่อมติดขึ้นรูปเป็นปั้นจื่อซา

▲การพิมพ์ลาย/印模


        (5) การแต้มทราย นำเม็ดทรายจื่อซาที่สีเดียวกันหรือต่างกันกับสีดินปั้นจื่อซา มาแต้มบนผิวดินปั้นจื่อซา แล้วตบอัดฝังเข้าไปในผิวดินปั้นจื่อซา

▲การแต้มทราย/点砂


        (6) ดินริ้วหลากสี เป็นการนำดินจื่อซาสองชนิดหรือมากกว่าสองชนิดที่สีไม่เหมือนกัน ผ่านการบีบนวดหรือกดอัดเป็นชั้นๆ ทำให้ดินที่สีต่างกันรวมตัวกันเป็นริ้วหลากสี ก่อเกิดเป็นลวดลายที่พิเศษเฉพาะอย่างหลากหลาย ทำเป็นเทคเจอร์ที่สีสันแพรวพราว

▲ดินริ้วหลากสี/绞泥


        (7) การฝังดิน หลังการขึ้นรูปตัวปั้นแล้วทิ้งให้แห้ง ทำการแกะกรีดร่องออกเป็นโครงร่างตามที่ออกแบบไว้ แล้วนำดินที่มีสีตัดกันเด่นชัดฝังเข้าไปในร่อง ทำให้ปั้นจื่อซาที่ผ่านการเผาเสร็จแล้วจะมีรูปลักษณะภายนอกสีเปล่งประกาย เห็นแล้วสดุดตา

▲การฝังดิน/嵌泥


        (8) การฝังเส้นทองเงิน ทำการแกะกรีดร่องโครงร่างบนดินปั้นจื่อซาก่อน หลังผ่านการเผาเสร็จแล้วก็นำเส้นทอง-เงินฝังลงในร่อง ใช้ค้อนทุบอัดให้แน่น แล้วขัดให้เรียบเสมอผิวปั้นจื่อซา

▲การฝังเส้นทองเงิน/镶金银丝


        (9) การเขียนสีทอง นำผงทองมาผสมเป็นโคลนสีทอง เขียนสีทองระบายรูปตามที่ออกแบบไว้บนปั้นจื่อซาที่ผ่านการเผาเสร็จ แล้วนำมาเผาอบแห้งที่อุณหภูมิ 600-800 ºC

▲การเขียนสีทอง/描金


        (10) การเขียนสีเคลือบ เขียนสีเคลือบบนปั้นจื่อซาที่เผาเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำไปผ่านการเผาครั้งที่สองที่อุณหภูมิ 800-850 ºC สีเคลือบมี ฝ้าหลางไฉ่ เฝินไฉ่ เตี่ยนไฉ่(点彩/แต้มเคลือบ) เป็นต้น

▲การเขียนสีเคลือบ/彩釉 ในรูปเป็นการเขียนฝ้าหลางไฉ่/珐琅彩


        (11) การเขียนสีเคลือบเครื่องเขิน หลักสำคัญคือทำการทาน้ำมันแลคเกอร์สีดำเคลือบเงาปั้นจื่อซา แล้วเขียนสีเคลือบทับลงบนผิวเคลือบแลคเกอร์

▲การเขียนสีเคลือบเครื่องเขิน/髹漆彩繪


        (12) การแกะสลักเครื่องเขิน โดยการทาแลคเกอร์สีแดงบนผิวปั้นจื่อซาให้หนาถึง 10 ชั้น อาจมีสูงถึง 200 ชั้น แล้วใช้มีดแกะสลักชั้นแลคเกอร์เป็นรูปลวดลายอันวิจิตร ส่วนใหญ่ทำขึ้นเพื่อเป็นของใช้ในวัง

▲การแกะสลักเครื่องเขิน/雕漆 เรียกอีกชื่อว่า “剔红(ทีหง)”


        (13) การแกะฉลุ อาศัยวิธีการแกะสลักเครื่องเขิน โดยนำดินแผ่นประกบให้เป็นโครงสร้างปั้นสองชั้น แล้วทำการแกะฉลุฝาปั้น ชั้นนอกของตัวปั้นออกมาเป็นลวดลายฉลุ

▲การแกะฉลุ/镂雕


        (14) การเลี่ยมทอง นำทอง เงิน ทองแดงมาตีเป็นแผ่นบางๆ ทั่วไปจะทำการเลี่ยมตรงปากพวย หัวเม็ด หูจับและริมปากปั้นจื่อซา นอกจากเป็นการตกแต่งให้สวยงามแล้ว ยังเป็นการป้องกันสึกและปิ่น ปกปิดตำหนิ

▲การเลี่ยมทอง/包金


        (15) การหุ้มดีบุก โดยใช้แผ่นดีบุกมาหุ้มปั้นจื่อซาทุกส่วน แล้วทำการแกะสลักลวดลายบนดีบุก

▲การหุ้มดีบุก/包锡


        (16) การขัดเงา อาศัยวิธีการรูปแบบการเจียระไนอัญมณีมาเจียรขัดผิวหน้าที่หยาบของปั้นจื่อซาให้เรียบมันเงาเหมือนแก้ว

▲การขัดเงา/磨光---ปั้นจื่อซา “กงเก็ก/贡局” ที่ประเทศสยาม(ไทย)สั่งผลิตในปลายราชวงศ์ชิง โดยทำการขัดเงาและเลี่ยมทองโดยช่างฝีมือสยาม


        (17) หวู่ฮุย เป็นวิธีการที่นำปั้นจื่อซามาเผาภายใต้บรรยากาศพร่องออกซิเจน(โดยใช้ขี้เถ้ากลบปั้นให้มิด/捂灰) ทำให้สารประกอบออกไซด์เหล็กและคาร์บอนในจื่อซาเกิดปฏิกิริยารีดักชั่นได้สารไอเอิร์น(II)ออกไซด์ ทำให้สีผิวของปั้นจื่อซาออกเป็นสีเทาดำ

▲หวู่ฮุย/捂灰


        (18) เพี้ยนเตา ขณะที่เผาปั้นจื่อซาในเตาโดยไม่ปิดผนึก เนื่องจากภายในเตาเผาประกอบด้วยสารให้สีหลากหลายชนิด เมื่อผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและรีดักชั่น จะเกิดสีเคลือบที่คาดเดาไม่ได้บนปั้นจื่อซาหลังออกจากเตาเผา ดังคำกล่าวที่ว่า “เข้าเตาดินสีเดียว ออกเตาหลากสีเคลือบ

▲เพี้ยนเตา/窑变





เอกสารอ้างอิง :

1. 紫砂壶的装饰工艺,最全的都在这里!https://m.sohu.com/a/401498561_171231/?pvid=000115_3w_a

2. 紫砂壶装饰,都有哪些方法?https://www.taozs.com/mobile/article-464.html

3. 紫砂壶装饰技巧十三式,看看你手里的有几种?

https://m.sohu.com/a/330139396_291721/?pvid=000115_3w_a