วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สงครามใบชา

สงครามใบชา
茶叶战争



     ใบชา เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ใบชาเฉกเช่นเดียวกับไหม เป็นสิ่งที่ต้องการของการค้าทางตะวันออกและตะวันตกมาช้านาน ผู้คนแทบไม่สามารถนำชาอันมีกลิ่นหอมที่เรียบง่ายสนทรีย์ มาเชื่อมโยงกับสงครามที่เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดได้ แต่ทว่า ในบางช่วงที่พิเศษของประวัติศาสตร์ ใบชาคือ “ทัพยากรทางยุทธศาสตร์” ที่มนุษย์ต้องมาแก่งแย่งชิงกัน ใบชา เคยเป็น “สายชนวน” ที่สำคัญต่อการล่มสลายของราชวงศ์หมิง และเป็นสาเหตุทำให้จักรวรรดิชิงและจักรวรรดิอังกฤษระเบิดศึก “สงครามฝิ่น

        สายชนวนของการล่มสลายราชวงศ์หมิง

        ปี 1573 ต้นรัชสมัยว้านลี่(万历)ของราชวงศ์หมิง หลังการสถาปนาราชวงศ์หมิงมา 250 ปี เป็นปีที่จักรพรรดิว้านลี่ขึ้นครองราชย์ซึ่งยังทรงเยาว์วัยด้วยอายุเพียง 8 ขวบ อุปราชจางจีเจิ้น(张居正) ช่วยว่าราชการแทน แสงแดดยามพลบค่ำ ส่องไปที่พระราชวังต้องห้าม ม้าเร็วตัวหนึ่ง ได้นำพระบรมราชโองการ ของลูกหลานรุ่นที่ 14 ของราชวงศ์หมิง ภายใต้เวลาย่ำค่ำสีเลือด รีบควบม้ามุ่งไปยัง “ด่านซานไห่”(山海关)

        ไม่มีใครคาดคิดถึงว่า ประกาศใช้ของพระบรมราชโองการนี้ ทำให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เขตแดนทางเหนือเต็มไปด้วยกองทหารม้าเสื้อเกราะ โดยท่านข่านมองโกล Zha Sake Figure Khan(札萨克图汗)ได้รวบรวมชนเผ่าเร่ร่อนมองโกล และด้วยความร่วมมือของชนเผ่าหนี่ว์เจิน(女真族 : Jurchen) เคลื่อนทัพเข้าประชิด “ด่านชิงเหอ”(清河关) ทางเหลียวตงของราชวงศ์ชิง

        ศึกสงครามใหญ่ กำลังจะระเบิดขึ้น

        ที่แท้ นี่คือพระบรมราชโองการที่มีคำสั่งให้ปิดการค้าชายแดน ด้วยการค้าชายแดนต่อราชวงศ์หมิง สำหรับชนเผ่ามองโกลและหนี่ว์เจินที่อยู่ทางนอกด่านซานไห่แล้วมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะมีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวพันถึงความเป็นความตาย พวกเขาไม่เสียดายที่ต้องนำม้าที่เทียบเคียงชีวิตของตนเอง หนังขนสัตว์ล้ำค่าและโสมเพื่อมาแลกเปลี่ยน---สิ่งนี้ก็คือ ใบชา !!



        ในเมืองจีน ชาส่วนใหญ่ผลิตจากแถบตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียงและหวายเหอ(江淮之南) ในยุคที่รุ่งเรืองของเส้นทางสายไหม ใบชา ไหม และ เครื่องปั้นดินเผา เป็นสินค้าที่ส่งไปขายทางตะวันตกเป็นจำนวนมาก สามารถกล่าวได้ว่า “เส้นทางสายไหม” อันที่จริงก็คือ “เส้นทางชาไหม” ผ่านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารการกิน ชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนทางแถบเหนือได้สร้างสรรค์การดื่มชาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง---ใช้นมผสมกับชา ชานมผสมกัน เป็นตัวอย่างที่ดีงามของการหลอมรวมกันของวัฒนธรรมเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและวัฒนธรรมการเกษตร 

        วิถีการกินของคนลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่คือเนื้อวัวแพะ นมเป็นต้น ซึ่งร้อนแห้งและเต็มไปด้วยไขมัน ยากต่อระบบการย่อย ส่วนใบชาซึ่งประกอยด้วยสารแอลคาลอยด์และโพลิฟีนอลส์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร สำหรับคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนแล้ว ชา ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องดื่ม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีพ เป็นสายธารแห่งชีวิต ราชวงศ์จงเหยียน(ที่ราบภาคกลาง)ก็ตระหนักถึงใบชาที่สามารถใช้เป็นอาวุธมาควบคุมชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนทางแถบเหนือได้ การค้าใบชา “ตลาดชายแดนชาม้า”(茶马互市) ริเริ่มตั้งแต่ยุคสมัยถัง การควบคุมใบชาระบบนี้ ซึ่งก็เป็นนโยบายแห่งชาติที่สำคัญของยุคสมัยซ่งจวบจนถึงยุคสมัยหมิงและชิง 

        ในบางยุคของประวัติศาสตร์ ลักษณะทางการเมืองของชาจะเหนือกว่าลักษณะทางสินค้ามาก “เรื่องใหญ่ของชาติคือกองทัพ เรื่องใหญ่ของกองทัพคือม้า” การค้าชาม้าจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารจัดการทางเขตแดน

        พอมาถึงยุคสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิจูเหยียนจาง(朱元璋) ปฐมกษัตริย์ได้ผลักดันนโยบาย “ชาควบคุมกองทัพ” อย่างต่อเนื่อง ใช้เป็นกลยุทธควบคุมความสมดุลสร้างสันติภาพ การดำเนินนโยบาย “ชาควบคุมกองทัพ” ทางเขตแดนอย่างเหมาะสมแล้ว ก็ทำให้เกิดประสิทธิภาพมาก แต่แล้ว ราชวงศ์ยิ่งมายิ่งตกต่ำ ซึ่งก็คือยิ่งผลักดันนโยบายนี้อย่างสุดขั้ว ยิ่งก่อให้เกิดผลของการต่อต้านมากขึ้น ชาที่ราคาสูงและการผูกขาด พฤติกรรมต่างๆนานาที่ตั้งใจจะไปกดราคาของม้า ทำให้ชนเผ่าทางเหนือไม่พอใจอย่างยิ่ง การค้าใบชาทางแถบเขตแดนของเหลียวตงเกิดความขัดแย้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนั้น ระบบการผูกขาดของทางการ ทำให้ชาของชาวบ้าน ชาตลาดมืดรุ่งเรืองขึ้นมา ชาชาวบ้าน ชาตลาดมืดจำนวนมากที่คุณภาพดีกว่ามาก พ่อค้าเถื่อนนำไปขายข้ามชายแดนเป็นประจำ 

        เพื่อที่จะหยุดยั้งพ่อค้าเถื่อน รัฐบาลราชวงศ์ชิงได้ทำการปิดตลาดชายแดนชาม้าอยู่เนื่องๆ การดำเนินนโยบายเช่นนี้ เดิมก็เพื่อปกป้องฐานะการผูกขาดการค้าใบชาของรัฐบาล ปกป้องผลประโยชน์อันสูงจากการผูกขาด แต่ในขณะเดียวกันที่พ่อค้าใบชาเถื่อนได้รับผลกระทบ การค้าอีกด้านหนึ่งคือชนเผ่ามองโกลและชนเผ่าหนี่ว์เจินก็เป็นผู้ได้รับความเสียหายสุดท้ายอย่างแท้จริง ใบชาของทางการได้หยุดการจัดหาป้อนให้ ใบชาจากเส้นทางของพ่อค้าเถื่อนก็ถูกตัดขาด ถ้าเช่นนั้น ทางเลือกที่แทบจะเหลืออยู่ทางเดียวก็คือ “สงคราม



        ปี 1573 พระบรมราชโองการกระดาษแผ่นเดียวของราชวงศ์หมิงได้ทำการปิดการค้าชายแดน เจตนาเพื่อตรวจเช็คพวกพ่อค้าเถื่อนค้าชาอย่างเข้มงวด และจัดการเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดกฏหมายอย่างร้ายแรง แต่แล้ว การปิดตลาดชายแดนชาม้า ทำให้การจัดหาใบชาจากการค้าชายแดนถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง

        ภายใต้ความสิ้นหวัง ชนเผ่ามองโกลร่วมมือกับชนเผ่าหนี่ว์เจิน ร่วมกันเคลื่อนทัพมุ่งสู่ด่านชิงเหอเมืองยุทธศาสตร์ทางเหลียวตงของราชวงศ์หมิง เพื่อที่จะใช้กำลังบังคับให้ราชวงศ์หมิงเปิดการค้าชายแดน จัดหาใบชาป้อนให้ทางด่านนอก อย่างต่อเนื่องต่อไป

        ระยะเวลา 5 เดือน ท่านข่าน Zha Sake ได้นำทัพใหญ่มองโกเลียโดยการสนับสนุนของชนทุกเผ่าหนี่ว์เจิน ได้ปิดล้อมโจมตีเมืองชิงเหอ ไผเฉินจู่(裴成祖)แม้ทัพรักษาเมืองชิงเหอได้ทำการต่อต้านข้าศึกอย่างสุดฤทธิ์ สุดท้าย ปกป้องเมืองชิงเหอไว้ได้ แต่ทว่า แม่ทัพไผเฉินจู่ถูกหัวหน้าชนเผ่าหนี่ว์เจินฆ่าตาย

        หลังจากสองปีที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยาตราทัพ ราชวงศ์หมิงก็ได้ฟื้นฟูเปิดตลาดชายแดนชาม้าที่เมืองชิงเหอ ผู้มีอำนาจของราชวงศ์หมิงใช้ตลาดชายแดนชาม้ามาเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์สงคราม เดิมคิดว่าถ้าควบคุมการจัดหาป้อนใบชาได้ ก็สามารถควบคุมชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนได้ เป็นวิธีที่ขจัดภัยการรุกรานจากเขตแดนได้ แต่แล้ว ลืมนึกไปว่ากำลังและความเข้มแข็งของประเทศตนเอง จึงถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่ปกปักษ์รักษาความเจริญรุ่งเรืองและความปลอดภัย การแก่งแย่งชิงอำนาจภายในพระราชวัง การฉ้อราษฎ์บังหลวงและความอ่อนแอของข้าราชบริพารและทหารรักษาเขตแดน ความสมดุลทางผลประโยขน์ของตลาดชายแดนชาม้ากำลังเอียงเอียนไปทางนอกด่าน

        พื้นแพเดิม คนหนี่ว์เจินดั้งเดิมเป็นชนเผ่าล่าปลา แต่เพียงไม่ถึง 11 ปีหลังสงครามป้อมปราการชิงเหอ เดือนมีนาคม 1584 ใน 17 ครั้งของการค้าแลกเปลี่ยนม้า คนหนี่ว์เจินก็ได้ซื้อใบมีดคันไถเหล็กมา 4848 ชิ้น เดือนเดียวกันในการค้าแลกเปลี่ยนวัว 29 ครั้ง ได้ซื้อวัวมาทั้งหมด 430 ตัว นี่เป็นการบ่งชี้ว่า คนหนี่ว์เจินได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจการเกษตรแล้ว

        ตลาดชายแดนชาม้า ไม่ใช่สถานที่การค้าสำหรับชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนเพื่อแลกเปลี่ยนปัจจัยยังชีพอีกต่อไป แต่กลายเป็นช่องทางของทรัพยากรที่คนหนี่ว์เจินได้รับปัจจัยการผลิต เทคโนโลยีการผลิต ยกระดับความสามารถทางการผลิตของทั้งชนเผ่า

        คนหนี่ว์เจินได้โผล่ขึ้นมาในด่านซานไห่ กลายเป็นพลังที่เข้มแข็งคุกคามจงเหยียน ราชวงศ์หมิงได้ทำการเลือกผู้ฝังศพของตนเองแล้ว และก็ได้ปลูกฝังผู้ฝังศพของตนเองจากผู้อ่อนแอกลายเป็นผู้ปีกกล้าขาแข็ง



        ชักนำสงครามใบชาทั่วโลก

        ปี 1644 ราชวงศ์ชิงเข้ามาแทนที่ราชวงศ์หมิง ใช้เบ่ยจิงเป็นราชธานี นโยบายแห่งชาติทางใบชาของราชวงศ์ที่รุ่งโรจน์ขึ้นมาก็เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เริ่มยุคปีที่ 30 ศตวรรษที่ 19 ใบชานำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ระหว่างอารยธรรมตะวันออกและอารยธรรมตะวันตกของยุคอันใกล้นี้ ต่อจากนั้น สงครามอันเหี้ยมโหดที่นำเมืองจีนเข้าสู่ชะตาชีวิตของ “กึ่งศักดินากึ่งอาณานิคม” นั่นก็คือ “สงครามฝิ่น” ที่พวกเราคุ้นเคย กล่าวจากมุมมองบางด้าน สงครามฝิ่นคือสงครามการค้า ซึ่งก็คือ “สงครามใบชา

        ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ใบชาได้ตามกองคาราวานอูฐของพ่อค้าไปตาม “เส้นทางสายไหม” เข้าสู่เอเชียกลาง ยุคสมัยถังได้แพร่ขยายไปถึงเอเชียตะวันตก ยุคสมัยเหยียน คนมองโกลบนหลังม้าได้สถาปนาจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่เชื่อมติดยุโรปเอเชีย วัฒนธรรมชาก็ไปตามขนาดใหญ่แพร่เข้าไปแหลมอาหรับและอินเดีย รอยต่อหมิงชิง “เส้นทางสายไหม” ได้เปลี่ยนเป็น “เส้นทางใบชา” อย่างสิ้นเชิง กองคาราวานของพ่อค้าชาติต่างๆข้ามที่ราบสูง Pamir นำชาแดงเมืองจีนลำเลียงไปยังประเทศต่างๆอย่างไม่หยุดหย่อน

        ประวัติศาสตร์ของการค้าใบชา ก็คือประวัติศาสตร์ของการขยายล่าอาณานิคม ในขณะเดียวกันกับที่การแย่งชิงล่าอาณานิคมบนแผ่นดินใหม่ในอินเดียตะวันออก ผู้มีอำนาจทางทะเลก็ได้เปิดศึกสงครามการค้าใบชาครั้งแรกในแผ่นดินเก่า 2 ฝ่ายที่ทำศึกสงครามครั้งนี้ก็คือฮอลแลนด์ และ โปรตุเกส

        ต้นศตวรรษที่ 16 เรือพาณิชย์โปรตุเกสแล่นมาเมืองจีนเพื่อดำเนินการค้า นับจากนี้ไป เป็นการเริ่มเปิดการค้าใบชาทางทะเลกับตะวันตก คนฮอลแลนด์รีบตามหลังมา เพื่อการค้าจึงได้ทำสงครามรบชนะโปรตุเกส ปี 1602 ฮอลแลนด์ได้ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก ยื้อแย่งสิทธิ์อำนาจการผูกขาดทางการค้าใบชา ส่วนโปรตุเกสที่ได้ยึดครองช่องแคบมะละกาอันเป็นจุดศูนย์กลาง หลังบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลแลนด์เอาชนะคนโปรตุเกสแล้ว ได้เริ่มต้นสร้างป้อมปราการอาณานิคมในเขตพื้นที่ริมฝั่งทะเลของเมืองจีน เป้าหมายเพื่อใช้กำลังรุกรานมาเก๊าและเผิงหู(澎湖) เพื่อจะยึดครองเกาะใต้หวัน แต่ล้วนถูกกองทัพจีนทำให้พ่ายแพ้กลับไป



        ในยุโรป ริเริ่ม-ใบชาถูกใช้เป็นยาในการรักษาอาการกึ่งสลบ อ่อนเพลีย ปวดกระเพาะ ภายหลัง-ใบชาถือเป็นของหรูหราทันสมัยถูกแนะนำให้พระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษ ทั่วทั้งพระราชวังจะรู้สึกมีเกียรติยศเมื่อได้ดื่มชา พวกตระกูลชั้นสูงผู้ดีอังกฤษก็ต่างเลียนแบบตามกันมา

        ปี 1662 การราชาภิเษกสมรสของกษัตริย์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษและเจ้าหญิงแคทเธอรินแห่งโปรตุเกส ในงานเลี้ยงฉลองอันโอ่อ่า พระราชินีแคทเธอรินได้ปฏิเสธเหล้าต่างๆที่แขกผู้มีเกียรตินำมาถวาย ทรงถือแก้วของเหลวสีแดงแสดงคารวะต่อแขกทุกท่าน การเคลื่อนไหวเช่นนี้นำมาซึ่งความแปลกใจให้แก่พระราชินีฝรั่งเศส พระองค์จึงส่งสายลับซ่อนตัวเข้าไปในพระราชวังอังกฤษ สืบหาความจริงได้ว่าที่แท้ของเหลวสีแดงนี้ชงมาจากพรรณพืชชนิดหนึ่งของเมืองจีน พรรณพืชชนิดนี้ถูกเรียกขานว่า” cha” เป็นความโชคร้าย ตอนที่สายลับคนนี้คิดที่จะขโมยชาแดงบางส่วนแต่ถูกองครักษ์พระราชวังอังกฤษจับได้ แล้วถูกประหารชีวิตอย่างรวดเร็ว กรณีนี้กลายเป็นความขัดแย้งทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญในช่วงเวลานั้น นี่ก็คือสงครามการจารกรรมเล็กๆที่เกิดจากใบชาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

        ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตชา จักรวรรดิจงเหยียน(ที่ราบภาคกลาง) ที่เคยครอบครองความได้เปรียบในตลาดชายแดนชาม้า เมื่อต้องมาผจญกับการค้าใบชาทางทะเลที่เกิดใหม่ คนจีนก็เริ่มปฏิบัติการออกตัว ทำให้การค้าใบชาของทางตะวันออกและตะวันตกโด่งดังขึ้นมา

        ปี 1683 ราชวงศ์ชิงได้ยกเลิกข้อห้ามการเดินเรือทะเล เรือสำเภาจีนที่เคยได้ออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำการค้าใบชาและเครื่องปั้นดินเผา หลังการปิดประเทศมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน คนจีนได้สูญเสียความสารถในการต่อเรืออย่างเรือสมบัติเจิ้งเหอ(郑和宝船)ไปนานแล้ว จากช่วงระยะปี 1690 ถึง 1718 ทุกปีโดยเฉลี่ยจะมีเรือสำเภาจีนออกสู่การค้าทางทะเล 14 ลำ เรือสำเภาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรือแบบเรียบง่ายที่มีท้องเรือแบนและมีเสากระโดงเรือต้นเดียว พวกมันจึงเพียงสามารถล่องไปถึงแค่เมืองบาตาวียา ซึ่งก็คือจาร์การ์ตาเมืองหลวงของอินโดนีเซียในปัจจุบัน

        การปิดประเทศเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยี และก็ไปจำกัดการค้าใบชา พ่อค้าชาเมืองจีนเพียงสามารถล่องเรือไปถึงแค่เมืองจาร์การ์ตา แต่ไม่สามารถแล่นเรือไกลไปถึงยุโรป ใบชาดีที่มีอยู่ในมือ นอกจากต้องขายให้บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลแลนด์แล้ว ไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งคนฮอลแลนด์ก็ได้มั่วซั้วกดราคารับซื้อใบชาที่จาร์การ์ตา พ่อค้าเมืองจีนได้รับความเสียหายอย่างหนัก



        หลังศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้ทำการท้ารบกับฮอลแลนด์เพื่อแย่งชิงสิทธิ์ขาดอำนาจทางทะเล สงคราม 5 ปี ฮอลแลนด์ถูกโจมตีอย่างหนัก ปี 1795 บริษัทอินเดียตะวันออกที่เป็นของฮอลแลนด์ต้องล่มละลายไป บริษัทอินเดียตะวันออกที่เป็นอังกฤษเริ่มควบคุมสิทธิ์ขาดทางการค้าใบชาของทั่วโลก

        การค้าใบชาไม่เพียงมีความสำคัญต่อความเป็นความตายของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ และยังมีความสำคัญต่อการคลังของอังกฤษ หลังการรบชนะฮอลแลนด์ 20 ปี บริษัทฯได้รับผลกำไรจากการค้าใบชาล้วนเกินกว่า 1 ล้านปอนด์ทุกปี คิดเป็นอัตราผลกำไร 90% ของธุรกิจการค้าทั้งหมด และเป็น 10% ของรายได้การคลังของอังกฤษ 

        เมืองจีนได้สมญานามว่า “จักรวรรดิธาตุเงิน” แต่ทว่า เมืองจีนไม่ใช่ประเทศที่ผลิตธาตุเงินได้มาก ธาตุเงินทั่วโลกเป็นเพราะการค้าใบชาจึงไหลเข้าสู่เมืองจีน ปี 1700 จนถึงก่อนสงครามฝิ่น ธาตุเงินจากยุโรป อเมริกาต่างขนเข้าไปเมืองจีนเป็นตัวเลขที่น่าตกใจถึง 170 ล้านเหลี่ยง() ซึ่งก็หมายความว่า ทรัพย์สินของทั่วโลกรวมตัวกันเข้าไปอยู่ในเมืองจีน 

        ตั้งแต่หลังยุคปี 60 ศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้ขยายทำการค้ากับจีนอย่างรวดเร็ว ใบชาเมืองจีนส่งออกได้ถึง 18 ล้านชั่ง()ทุกปี มูลค่าสินค้าคิดเป็นกว่า 90% ของมูลค่ารวมของการส่งออก ส่วน ผ้า นาฬิกา เป็นต้นสินค้าเล็กน้อยที่ยุโรปส่งเข้าไปเมืองจีน มีมูลค่าเพียง 10% ของสินค้าส่งออกของจีน การขาดดุลการค้าจำนวนมาก ทำให้ธาตุเงินของยุโรปเกิดการขาดแคลนอย่างมาก นำไปสู่วิกฤติทางการเงิน



        ริเริ่มสงครามฝิ่นระหว่างจีนและอังกฤษ

        เพื่อเป็นการลดการขาดดุลทางการค้า และเพื่อกู้วิกฤติธาตุเงิน ที่เหลือเก็บอยู่ไม่มาก อังกฤษได้ตัดสินใจจัดส่งสารสกัดจากดอกไม้ที่สวยงามชนิดหนึ่งเข้าไปในเมืองจีน---ฝิ่น

        บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้จัดตั้งหน่วยงานธุรกรรมฝิ่นโดยเฉพาะ ทำการผูกขาดการผลิตและส่งออกฝิ่นของอินเดีย ฝิ่นจากแหล่งผลิตบังคลาเทศขนส่งตามเส้นทางทะเลไปที่อ่าวกว่างโจว ขนถ่ายลงบนเกาะร้างเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าชนิดแข็งก็คือธาตุเงิน แล้วขนขึ้นเรือท้องแบนลักลอบขึ้นฝั่งโดยพ่อค้าคนจีน

        บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้นำรายได้จากการขายฝิ่นไปจ่ายค่าใบชาที่รับซื้อมา ผ่านไปเป็นระยะเวลาเกือบ 50 ปี ฝิ่นที่นำไปเมืองจีนทุกปีจาก 2000 หีบ เพิ่มเป็น 40000 หีบ ตราบจนถึงการห้ามค้าฝิ่นของหลินเจ้อสวี(林则徐) มูลค่าฝิ่นที่นำเข้าไปในเมืองจีนประมาณ 240 ล้านเหลี่ยงธาตุเงิน

        การไหลออกของธาตุเงินจำนวนมากทำให้เงินเหรียญทองแดงลดค่าลง ต้นศตวรรษที่ 19 ธาตุเงิน 1 เหลี่ยงเท่ากับเงินเหรียญทองแดง 1000 เหวิน() ช่วงก่อนสงครามฝิ่น ธาตุเงินทุกเหลี่ยงทำการแลกได้ 1600 เหวิน จักรวรรดิอังกฤษได้ผลประโยขน์ที่คาดคิดไม่ถึงจากการค้าโดยนำฝิ่นแลกกับใบชา

        กลิ่นหอมใสของใบชากลับแลกมาด้วยบรรยากาศอันน่าคลื่นใส้ของฝิ่น ฝิ่นได้ลักลอบเข้าไปในเมืองจีน ทำให้เกิดผลอันร้ายแรง ช่วงระยะ 30 ปีของต้นศตวรรษที่ 19 นิสัยอันชั่วร้ายของการดูดฝิ่นได้แผ่ขยายจากแถบริมฝั่งทะเลเข้าไปแถบในอย่างรวดเร็ว จากเมืองสู่ชนบท จากเกษตรกรคนงานพ่อค้าสู่ชนชั้นปกครอง ทุกหนทุกแห่ง ทันทีที่ได้เสพติดฝิ่นแล้ว ก็ยากที่จะถอนตัวออกมาได้ อันเป็นเหตุให้บ้านแตกสาแหรกขาด



        ปี 1839 จักรพรรดิต้าวกวางได้ส่งข้าหลวงหลินเจ้อสวี ไปกว่างโจวเพื่อห้ามค้าฝิ่น เดือนมิถุนายน ได้ทำการเผาฝิ่นที่หู่เหมิน(虎门)

        ฝิ่นที่นำมาทำการค้าใบชา ถือเป็นรายได้ 1 ใน 7 ของพระคลังอังกฤษในอินเดีย การปฏิบัติการห้ามค้าฝิ่นของพระราชวังชิง ถือเป็นการตัดเส้นทางการหาเงินอย่างชัดเจน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษจึงโกรธแค้นมาก ตัดสินใจโดยไม่ลังเลหันไปใช้กำลัง

        ปี 1840 รัชวงศ์ชิงพ่ายแพ้สงครามฝิ่น ต้องร่วมลงนามกับอังกฤษใน《#สนธิสัญญาหนานจิง》อังกฤษได้เกาะฮ่องกงไป ราชวงศ์ชิงต้องเปิดกว่างโจว ฝูโจว เซี่ยเหมิน หนิงปอ ซ่างไห่ เป็นต้น 5 เมืองท่าเพื่อการค้า(五口通商) ล้วนเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่จักรวรรดิชิงใช้ในการส่งออกใบชา

        ต่อจากนั้น ไม่เพียงแค่การส่งออกเฉพาะใบชา ต้นกล้าชาก็เริ่มทยอยออกสู่ไปข้างนอก

        ปี 1848 Robert Fortune นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษได้ถูกบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษส่งเข้าไปในเมืองจีนเพื่อทำการค้นหาพันธุ์ใบชาที่ดีที่สุด ผลของการเดินทางไปเมืองจีนครั้งนี้ ก็คือได้คัดเลือกต้นกล้าชาจากพื้นที่ที่ผลิตชาที่ดีที่สุด 2000 ต้น อาจารย์ผลิตชาที่สุดยอด 8 คน และ เครื่องไม้เครื่องมือการทำชาจำนวนมาก แล้วนำพาพวกเขาเหล่านี้ขนส่งไปที่สวนเพาะปลูกที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดเอียงแถบตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัยโดยสวัสดิภาพ นี่ก็คือการเตรียมการที่ต่อมาใบชาของอินเดียและศรีลังกาแทนที่ใบชาเมืองจีนในตลาดตะวันตก (สนใจบทความที่สรุปเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วง Robert Fortune เข้าไปในเมืองจีนปฏิบัติการขโมยเทคโนโลยีการผลิตใบชาของเมืองจีน โปรดคลิกอ่าน《ใครเป็นคนจารกรรมชาจีนไป》 ซึ่งเป็นบทความที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดตั้งแต่สร้าง PuerThaiBlog

        การพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น ทำให้เมืองจีนเข้าสู่ภาวะย่ำแย่ของกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น อังกฤษกลับใช้เมืองขึ้นทางเอเชียใต้ทำการพัฒนาเพาะปลูกชาอย่างขนานใหญ่ เมืองจีนไม่ใช่ประเทศหนึ่งเดียวที่ป้อนใบชาเข้าสู่ตลาดโลกอีกต่อไป ชาเมืองจีนที่เคยรุ่งโรจน์สุดขีดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะไม่สามารถกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาได้อีก

        “ชา” เดิมเป็นเครื่องดื่มที่ทำให้จิตใจสงบ แต่สิ่งที่อยู่แวดล้อมมัน กลับทำให้เกิดความวุ่นวายและสงครามนับครั้งไม่ถ้วน ทุกวันนี้ ใบชาได้กลับคืนสู่สันติภาพ มิตรภาพ และภราดรภาพอันเป็นสัญลักษณ์ที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่เป็นแค่พืชทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง มันเคยมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประวัติศาสตร์ของโลก

........จบบริบูรณ์........


สารคดีโทรทัศน์มินิซีรีส์ 4 ตอน : 茶叶战争