วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ใบชาสามารถจมอยู่ในน้ำเป็นเวลา 239 ปี โดยไม่เสียหาย ?



        ถ้าพูดถึงสิ่งแปลกพิสดารเรื่องนี้ ก็ต้องพูดถึงเรื่องราวที่เริ่มจากปี 1745 (รัชศกเฉียนหลงปีที่ 10)........

        วันที่ 11 ม.ค. 1745 เรือสำเภาพาณิชย์ “โกเทนเบิร์ก/Götheborg” ของบริษัทอินเดียตะวันออกสวีเดน ได้ออกจากเมืองท่ากว่างโจวเพื่อเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา บนเรือบรรทุกสินค้าเมืองจีนเต็มลำเรือถึงประมาณ 700 ตัน ประกอบด้วยใบชา เครื่องเคลือบ ผ้าไหมและเครื่องเขิน ฯลฯ

▲「โกเทนเบิร์ก I /Götheborg I」เป็นเรือสำเภาพาณิชย์ของบริษัทอินเดียตะวันออกสวีเดนที่ต่อเสร็จในปี 1738 ระวางเรือ 830 ตัน ลำเรือยาว 58 ม. กว้าง 11 ม. ถือเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่มากลำหนึ่งในสมัยนั้น ใช้ระยะเวลาในการสร้างเพียงปีครึ่งเท่านั้น 

▲ต้นฉบับ「ใบอนุญาตผ่านด่านสำหรับเรือตะวันตกโดยศุลกากรกว่างตง/粤海關洋船牌」ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ “หอสมุดแห่งพระราชา” กรุงสตอกโฮล์มสวีเดน : ใบอนุญาตมีขนาดยาว 77 มม. กว้าง 58 มม. มีการระบุว่า “.....เรือพาณิชย์ตะวันตกบรรทุกสินค้าไปยังประเทศสวีเดน” ประทับตราเมื่อ “รัชศกเฉียนหลงปีที่ 6 เดือน 12”  

        หลังจากต้องล่องเรืออย่างโคลงเคลงโยกเยกตลอดเส้นทางเป็นเวลา 8 เดือน ทำให้ลูกเรือต่างอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ซึ่งอีกไม่นานพวกเขาก็จะเข้าเทียบท่าเรือโกเทนเบิร์กของสวีเดนแล้ว ที่นั่น บรรดาญาติๆที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาคอยการกลับมาของพวกเขา ยิ่งกว่านี้ สินค้าที่บรรทุกมาเต็มลำเรือโดยไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทองแก่พวกเขาอย่างมากมาย ในวันที่ 12 ส.ค. 1745 เมื่อยืนอยู่บนดาดฟ้าเรือก็จะสามารถมองเห็นฝั่งท่าเรือโกเทนเบิร์กได้อย่างชัดเจน และแล้ว บริเวณทะเลที่ห่างจากฝั่ง 900 เมตร เรือโกเทนเบิร์กก็เกิดอุบัตฺเหตุโดยพุ่งชนหินโสโครกจนเรือต้องอัปปางลงที่หน้าบ้านของตนเอง

▲เส้นทางเดินเรือจากกว่างโจวของเรือโกเทนเบิร์ก ปี 1745

        มีการกู้ทรัพย์สินจากซากเรืออัปปางอย่างต่อเนื่อง แต่ละครั้งก็สามารถงมใบชา เครื่องเคลือบและสินค้าเมืองจีนอื่นๆในจำนวนพอสมควร

▲เครื่องเคลือบของเรือโกเทนเบิร์กที่จมอยู่ใต้ท้องทะเล

        ปี 1984-1992 รัฐบาลสวีเดนจึงให้ทำการขุดค้นโบราณคดีใต้ท้องทะเลบริเวณซากเรืออัปปางโกเทนเบิร์กอีกครั้งโดยขยายพื้นที่ให้กว้างขวางใหญ่ขึ้น ครั้งนี้ก็เช่นกันสามารถขุดพบเครื่องเคลือบที่ยังสมบูรณ์อยู่ ใบชา ผ้าไหม และเศษชิ้นเครื่องเคลือบที่แตกเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ทำให้ผู้คนตกตะลึงมากที่สุดก็คือ ใบชา 370 ตันที่ดินทับถมอยู่ใต้ท้องทะเลเป็นเวลา 239 ปี(นับจากปี 1745-1984) ใบชาเหล่านี้ที่ได้ผ่านการอัดแล้วบรรจุอยู่ในลังไม้ที่ปิดมิดชิด 2000 กว่าลังโดยไม่ถูกออกซิไดซ์ตลอดมา ส่วนใหญ่เกิดการเน่าเปื่อยแล้ว แต่มีใบชาบางส่วน 1000 กก. ที่บรรจุอยู่ใน『ถ้ำใบชาดีบุก/锡茶叶罐』ฝาปิดมิดชิดที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านเข้าไปทำให้คุณภาพชาเปลี่ยน ซึ่งเมื่อเปิดฝาถ้ำออกกลิ่นหอมใบชาโชยขึ้นมาแตะจมูก นำใบชาเล็กน้อยมาชงดื่ม รสชาติยังหอมหวานรัญจวน

▲ภาพเด็กหญิงยุโรปยืนโพสท่าถ่ายรูปกับลังชาที่ส่งออกจากเมืองจีน ปี 1880 : อ้างอิงจากเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการป้องกันกลิ่นรสของใบชาสูญหายไปในระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษา ลังชาในสมัยนั้น เป็นลังไม้ที่ภายในใส่ถ้ำดีบุกที่บรรจุใบชา ภายนอกจะทาด้วยสีน้ำมัน แล้ววาดภาพดอกไม้นกและเครื่องหมายการค้า เป็นความพิถีพิถันยิ่งนัก

        มีนักวิชาการได้ตัดสินว่า ใบชาที่งมกู้ขึ้นมาคือ『ชาซงหลอ/松萝茶』จากอันฮุยและ『ชาอู่หยีเหยียน/武夷岩茶』จากฝูเจี้ยนที่ส่งออกในช่วงรัชสมัยเฉียนหลง สิ่งที่น่าสนใจก็คือใบชาเหล่านี้ได้จมอยู่ใต้ท้องทะเลเป็นเวลา 239 ปี ไม่เพียงไม่เกิดการออกซิเดชั่น หลังจากกู้ขึ้นมา มีบางส่วนยังสามารถชงดื่มได้ด้วย

▲「ชาซงหลอ/松萝茶」ของเรือโกเทนเบิร์ก

        วันที่ 13 เม.ย. 1997 หวูปางกว๋อ (吴邦国) รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนพร้อมคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานการต่อเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกสวีเดน ได้ชิมลิ้มรสชาโบราณล้ำค่ารุ่นรัชสมัยเฉียนหลงพร้อมกับเจ้าภาพ และทางเจ้าภาพได้มอบใบชาที่กู้ขึ้นมาจากซากเรืออัปปางโกเทนเบิร์กหนึ่งห่อให้เมืองจีนเพื่อเป็นของที่ระลึก ตัวอย่างใบชานี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานใบชาแห่งชาติจีนเป็นเวลาสิบกว่าปี

▲ใบชาเมืองจีนยุครัชสมัยเฉียนหลงที่กู้ขึ้นมาจากซากเรืออัปปางโกเทนเบิร์ก หลังผ่านไป 239 ปียังสามารถมองออกเป็นชาเขียว มิหนำซ้ำยังหอมกรุ่นเหมือนเดิม

        ซงหลอร้อยปีกลับบ้านเกิด

        วันที่ 16 เม.ย. 2012 ได้จัดพิธีการส่งมอบ『ชาซงหลอ/松萝茶』ชาโบราณปี 1745 ในซากเรืออัปปางโกเทนเบิร์กของสวีเดน กลับสู่ถิ่นกำเนิดอำเภอซิวหนิง(休宁县)เมืองหวางซาน(黄山市) โดยให้เก็บรักษาและแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานวัฒนธรรมชาซงหลอที่จะทำการเปิดใหม่ในอำเภอซิวหนิง เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมชาซงหลอที่มีประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมอย่างลึกซึ้ง จำเป็นที่ต้องสืบสาน พัฒนาและส่งเสริมต่อไป

▲พิธีการส่งมอบชาโบราณปี 1745 (ชาซงหลอ) ในซากเรืออัปปางโกเทนเบิร์กสวีเดน กลับสู่ถิ่นกำเนิดอำเภอซิวหนิง(休宁县)เมืองหวางซาน(黄山市)มณฑลอันฮุย(安徽省) เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2012

▲ชาตัวอย่าง「ชาซงหลอ/松萝茶」ในขวดโหลแก้วที่ให้เก็บรักษาและแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานวัฒนธรรมชาซงหลออำเภอซิวหนิง

        ชาซงหลอจัดเป็นประเภทชาเขียว เป็นชาที่ขึ้นชื่อในประวัติศาสตร์ ก่อเกิดขึ้นในยุคราชวงศ์หมิง ผลิตที่แถบพื้นที่เทือกเขาซิวหนิงติดกับอำเภอซิวหนิงเมืองหวางซานมณฑลอันฮุย กรรมวิธีการผลิตชาซงหลออยู่ในระดับขั้นวิจิตรชำนาญตั้งแต่สี่ห้าร้อยปีที่แล้ว มีลักษณะเด่นคือสีเขียว กลิ่นหอมมาก รสเข้ม โดยการอาศัยคำกล่าวที่ว่า “สีดั่งเขียวมรกต หอมเหมือนเกสรกล้วยไม้” จึงขายส่งออกผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเลไปสู่ดินแดนอันไกลโพ้น

▲「ชาซงหลอ/松萝茶」ผลิตที่อำเภอซิวหนิงอันฮุย ละแวกเทือกเขาซิวหนิงที่สภาพแวดล้อมเป็นระบบนิเวศที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นชา ได้รับการกล่าวขานเป็น “เม็ดทองสีเขียว/绿色金子

        ยังมีอีกเรื่องราวหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับ “ใบชาสามารถจมอยู่ในน้ำเป็นเวลา 239 ปี โดยไม่เสียหาย” โปรดติดตาม《ถ้ำชาดีบุก/锡茶罐》ที่จะนำเสนอเป็นบทความตอนต่อไป...

▲「ถ้ำชาดีบุก/锡茶罐」ยุคชิง 



เอกสารอ้างอิง :
1. 茶叶能在水里放200多年不坏 ?http://www.gongshe99.com/culture/1029432.html
2. “哥德堡 ”号古茶再现及其意义https://www.fjtea.cn/Culture/detail/id/35406.html
3. 揭秘“哥德堡号沉船茶”  : http://m.puercn.com/show-213-43842.html