วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ต้นทุนของชาแดงหนึ่งถ้วย | ตอนที่ 2/4



     ▌การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของคณะทูตแม็คคาร์นีย์

        ในปลายศตวรรษที่18 ปริมาณการบริโภคใบชาของคนอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แม้แต่คนจนยังต้องบริโภคใบชา 75-100 กรัมต่อสัปดาห์ ช่วงต้นศตวรรษที่18 บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษขายใบชาได้ไม่เกิน 5 หมื่นปอนด์ต่อปี ระยะห่างกันไม่ถึง 100 ปี ขายได้ถึง 20 ล้านปอนด์ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 400 เท่า เงินตราก้อนโลหะเงินไหลเข้าเมืองจีนอย่างเทน้ำเทท่า ทำให้เมืองจีนกลายเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดในโลก มี GDP คิดเป็น 1/3 ของโลก

        การนำเข้าใบชาทำให้เงินตราก้อนโลหะเงินของอังกฤษไหลออกไม่ขาดสาย นำไปสู่ภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจสั่นคลอน โดยข้ออ้างเพื่อไปถวายพระพรจักรพรรดิเฉียนหลง อังกฤษได้ส่ง จอร์จ แม็คคาร์นีย์ (George Macartney,1737-1806) เป็นตัวแทนทูตคนแรกที่เดินทางมายังเมืองจีน เพื่อการที่ให้คนจีนมีทัศนคติที่ดีต่อคนอังกฤษ และมีจุดมุ่งหมายทำการเจรจาเพื่อลดปัญหาดุลการค้าขาดดุล โดยขอให้เมืองจีนเปิดเมืองท่าเพิ่มขึ้น นอกจากที่มีกว่างโจวเพียงเมืองท่าเดียว เพื่อขยายและความสะดวกต่อการค้าทางทะเล และสั่งซื้อสินค้าจากอังกฤษมากขึ้น เหตุผลโดยแท้จริงที่สุดก็เพื่อชา แน่นอน จะเป็นการดีที่สุดถ้าหากสามารถนำต้นกล้าหรือเมล็ดพันธุ์ชาอะไรก็แล้วแต่กลับไป กระทั่งสามารถไขปริศนาความลับการผลิตชาของคนจีน 

▲จอร์จ แม็คคาร์นีย์ (George Macartney,1737-1806) 

        คณะผู้แทนการทูตอังกฤษได้เริ่มเดินทางออกจากเมืองท่าพอร์ตสมัทอังกฤษเมื่อเดือน ก.ย. 1792 ได้เดินเรืออ้อมครึ่งโลกจนถึงเมืองท่าเทียนจินเมืองจีนในเดือน มิ.ย. 1793 แล้วรอคอยเพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลง 

▲หอรับรองที่ทางการจีนสร้างชั่วคราวที่เทียนจินเพื่อคณะทูตแม็คคาร์นีย์---ภาพวาดโดย William Alexander (1761-1816) ซึ่งเป็นนักวาดภาพที่ติดตามผู้แทนการทูตคณะนี้

        ได้เกิดความจงเกลียดจงชังขึ้นระหว่างฝ่ายจีนกับอังกฤษ เนื่องจากทางราชสำนักชิงต้องการให้ทูตอังกฤษในขณะที่เข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลง ต้องทำตามพิธี “3 คุก 9 ก้ม/三跪九叩” ก็คือต้องทำการคุกเข่า 3 ครั้ง แต่ละครั้งต้องก้มหน้าผากแตะพื้น 3 ครั้ง แต่ท่านทูตแม็คคาร์นีย์ถือว่าทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน ถ้าหากต้องการให้ทูตอังกฤษคุกแล้วก้มเล่า ทางราชสำนักชิงก็ต้องให้ข้าราชสำนักที่มีตำแหน่งเทียบเท่าทูตพิเศษแสดงทำความเคารพต่อพระฉายาลักษณ์ของกษัตริย์อังกฤษ มิฉะนั้น เขาจะยินดีที่คุกเข่าข้างเดียว ข้อเสนอนี้ถูกฝ่ายจีนปฏิเสธ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ถกเถียงเรื่องขัดแย้งนี้ถึง 2 เดือน สุดท้ายก็ยังไม่มีการคุกก้มเกิดขึ้น 

▲ทูตแม็คคาร์นีย์เข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลง แสดงการเคารพโดยคุกเข่าข้างเดียว

        แม้ว่าเป้าหมายทางการค้าของคณะทูตแม็คคาร์นีย์จะล้มเหลวที่ถูกจักรพรรดิเฉียนหลงปฏิเสธ แต่เนื่องจากคณะทูตพื้นฐานก็คือคณะสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาวิจัยสาขาต่างๆมากมาย จึงถือได้ว่าได้ประสบความสำเร็จใน “ภารกิจลับ” คือ “การสำรวจทางวิทยาศาสตร์

        การที่อังกฤษสามารถก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลในศตวรรษที่18 ก็โดยอาศัยกิจกรรมการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะมุ่งเน้นด้านธรรมชาติวิทยาเป็นหลัก สรุปฉบับย่อก็คือ “ความรู้คือพลัง

        หลังจากคณะผู้แทนการทูตเดินทางมาถึงเมืองจีน โดยคาดหวังที่จะได้สำรวจขนบประเพณีจีน สภาพดินฟ้าอากาศ เครื่องมืออุปกรณ์การผลิต พร้อมทั้งพืชพรรณและสัตว์ทุกชนิด และคิดที่จะประเมินกำลังที่แท้จริงของจักรวรรดิเมืองจีน 

▲การดำเนินชีวิตของคนจีนที่คณะผู้แทนการทูตได้พบเห็นในปลายศตวรรษที่ 18

        ระหว่างการเดินทางในเมืองจีน พวกเขาได้เก็บตัวอย่างพรรณพืชมากมาย แน่นอนการเก็บรวบรวมตัวอย่างเป็นเพื่อการศึกษาทางวิชาการ แต่มีปัจจัยที่สำคัญกว่าคือเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะใบชา ที่จัดเป็นรายการสำรวจอันดับแรกของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ

         จากการบันทึกของแม็คคาร์นีย์ ช่วงที่พวกเขาผ่านเขตแดนระหว่างเจ้อเจียงกับเจียงซี ได้ให้คนไปซื้อต้นกล้าชา โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถจัดตั้งอุตสาหกรรมชาในอินเดีย และเมื่อเดินทางมาถึงกว่างโจว ได้รับต้นกล้าชาจำนวนหนึ่ง พร้อมกลีบดอกไม้ที่ช่วยเพิ่มกลิ่นหอม แล้วจัดส่งต้นกล้าชาที่รวบรวมมาได้อย่างเร่งด่วนไปยังสวนพฤกษชาติกัลกัตตา(ก่อสร้างขึ้นในปี 1787 เพื่อทำการทดลองปลูกพืชพรรณจากต่างประเทศ) ตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถเพาะปลูกต้นกล้าชาเหล่านี้ในสวนพฤกษชาตินี้

         ณ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการดำรงอยู่ของต้นกล้าชาจากคณะทูตมีสภาพเป็นเช่นใด จาการบอกเล่าว่ามีบางส่วนได้สูญหายไปในกระบวนการขนส่ง แน่นอนก่อนหน้านี้ในปี 1780 ก็มีเมล็ดพันธุ์ชาเมืองจีนจำนวนเล็กน้อยส่งจากกว่างโจวไปยังกัลกัตตาโดยบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ ส่วนหนึ่งถูกส่งต่อไปยังภูฏานที่อยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย ส่วนที่เหลือนำไปเพาะปลูกที่สวนพฤกษชาติของเอกชนในกัลกัตตา อย่างไรก็ตาม ต้นชาเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อการทดลอง ไม่ได้พัฒนาก้าวไปอีกขั้น ประกอบกับบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษยังไม่มีแผนการที่จะบุกเบิกถางพงทำไร่ชาในอินเดีย เรื่องนี้จึงถูกวางไว้บนหิ้ง จนถึงหลังปี 1815 คนอังกฤษได้ทยอยค้นพบต้นชาดั้งเดิมของอินเดียในรัฐอัสสัม จึงจุดประกายความทะยานอยากที่จะจัดตั้งไร่ชาในอินเดียขึ้นมาอีก

     ▌การค้นพบต้นชาที่รัฐอัสสัม

        ระยะเริ่มต้น รัฐบาลบริติชอินเดียและบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษไม่รู้ว่ามีต้นชาพันธุ์ป่าดำรงอยู่ในอินเดีย ดังนั้น เป้าหมายเริ่มต้นของพวกเขาจึงกำหนดไว้ที่การให้ได้มาต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาของเมืองจีน และคนงานที่ชำนาญการด้านการผลิตใบชา แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้นใบชาเมืองจีนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้รับการปกป้องจากราชวงศ์ชิง คนต่างชาติไม่สามารถเข้าออกได้อย่างอำเภอใจในพื้นที่ผลิตชาที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเมืองจีน ยิ่งไม่สามารถนำต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาออกนอกราชอาณาจักรเมืองจีน

        ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ บริติชอินเดียและอังกฤษจึงมีความคืบหน้าแทบจะน้อยมากในการได้มาต้นชาเมืองจีนและสูตรลับของใบชา ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษและบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้แต่บ่นร้องทุกข์ ไม่พอใจต่อภาวะปกปิดของเมืองจีน ในสายตาของพวกเขา อังกฤษบริโภคถึง 1/5 ของใบชาเมืองจีน แต่ความพยายามที่ผ่านมาเกือบหนึ่งศตวรรดิ ทางเมืองจีนไม่เคยเปิดเผยความลับใดๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตใบชา

        การค้นพบต้นชาพันธุ์ดั้งเดิมอัสสัม กล่าวสำหรับรัฐบาลอังกฤษและบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษแล้ว ถือเป็นข่าวดีในรอบศตวรรดิที่จะหาดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว สมาคมใบชาอินเดียเพื่อป่าวประกาศให้ทราบกันทั่ว ถึงกับได้ตั้งชื่อเฉพาะการณ์นี้ว่า “การค้นพบต้นชาที่รัฐอัสสัม (Discovery of the Tea Plant in Assam)” 

▲(ขวา) ต้นชาพันธุ์ป่าอินเดียที่พบในรัฐอัสสัม สูง 13.10 เมตร (ซ้าย) ต้นชาพันธุ์ป่าเมืองจีนที่พบในปาต๋ามณฑลหยินหนาน อายุ 1700 ปี สูง 32.12 เมตร

    กรณีใครกันแน่ที่เป็นคนค้นพบต้นชาพันธุ์ป่าอัสสัมของอินเดีย เกิดข้อโต้แย้งมากมาย ผลสุดท้ายยกเกียรติคุณนี้ให้แก่ โรเบิร์ต บรูซ (Robert Bruce) โดยการค้นพบน่าจะในปี 1823

        ในปี 1823 โรเบิร์ต บรูซ ได้ขนวัสดุมากมายเข้าไปในอัสสัม เขาถือเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษคนแรกที่รุกเข้าไปในป่าทึบอัสสัม เนื่องจากช่วงเวลานั้นอัสสัมยังเป็นดินแดนของพม่า ในปี 1828 จักรวรรดิอังกฤษใช้อำนาจรุกรานบังคับพม่าเซ็นสนธิสัญญา ยกอัสสัมให้แก่อังกฤษ ต่อจากนั้นอัสสัมกลายเป็นรัฐหนึ่งของบริติชอินเดีย

        บรูซผ่านพรมแดนรุกเข้าไปในอัสสัมดินแดนของพม่า ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก แต่ก็ได้ลึกเข้าไปถึงอาณาบริเวณของชาวพื้นเมืองชนเผ่า Singpho (เป็นชนเผ่าที่นำใบชาป่ามาบริโภคตามรูปแบบของพม่า คือนำมายำกินเป็นอาหาร และก็นำมาทำเป็นเครื่องดื่ม พื้นฐานไม่ใช่แนวคิดการดื่มชาของคนทั่วไป) ในไม่ช้าบรูซได้ค้นพบต้นชาพันธุ์ป่าที่เจริญเติบโตออยู่บนเนินเขาเล็กๆของพื้นเมือง ดังนั้น เขาจึงได้ทำข้อตกลงทางหนังสือกับหัวหน้าเผ่า ใช้สิ่งของแลกต้นชาจำนวนหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้ โรเบิร์ต บรูซ จึงได้ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ชา

▲รัฐอัสสัม (Assam ; พื้นที่สีแดง) เคยอยู่ใต้การปกครองของชาวไทอาหมในช่วงปี 1228-1779 แล้วตกเป็นดินแดนของพม่าจนถึงปี 1828 ปัจจุบันเป็นดินแดนรัฐหนึ่งของอินเดีย มีพื้นที่ 78,438 ตร.กม. (ความยาวประมาณ 640 เมตร ความกว้าง ประมาณ 80 เมตร) สภาพภูมิอากาศในลักษณะเดียวกันกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(มีต่อตอนที่ 3/4)


เอกสารอ้างอิง :