วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เครื่องเคลือบเอกรงค์เมืองจีน



        งานนิวยอร์กแฟชั่นวีค2017 โชว์แฟชั่นคอลเลคชั่นสปริง&ซัมเมอร์2018 เทรนด์เสื้อผ้าใช้สีสันสดใสเพื่อความรู้สึกขีดสุด เมื่อพิจารณาดีๆแล้วจะเห็นว่าราวกับคอลเลคชั่นสีของเครื่องเคลือบเอกรงค์ยุคโบราณของเมืองจีน

▲เทรนด์เสื้อผ้าในคอลเลคชั่นสปริง&ซัมเมอร์ 2018 งานนิวยอร์กแฟชั่นวีค 2017

单色釉瓷 เครื่องเคลือบเอกรงค์

        สุนทรียศิลป์ของเครื่องเคลือบยุคโบราณ เกิดจากการประดับตกแต่งบนเครื่องเคลือบ2รูปแบบคือ 1.โดยการเขียนสีลวดลาย ซึ่งเป็นรูปแบบที่แสดงออกเชิงรูปธรรม--เครื่องเคลือบเขียนสี 2.โดยการเคลือบสีพื้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่แสดงออกเชิงนามธรรม—เครื่องเคลือบสี

彩瓷 เครื่องเคลือบเขียนสี--โดยการเขียนสีลวดลาย

色釉瓷 เครื่องเคลือบสี--การขึ้นเคลือบโดยวิธีการไหลเท
     
        เครื่องเคลือบสี โดยการใช้น้ำเคลือบที่มีการผสมสารออกไซด์โลหะซึ่งเป็นรงควัตถุลงในน้ำเคลือบแก้ว น้ำเคลือบที่ผสมสารออกไซด์โลหะแตกต่างกัน ตามแต่อุณหภูมิและบรรยากาศในการเผา ก็จะปรากฏสีเคลือบออกมาแตกต่างกัน การจำแนกเครื่องเคลือบสี หลักใหญ่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท :

        ประเภทที่ 1 : จำแนกตามอุณหภูมิการเผา เครื่องเคลือบเอกรงค์จะทำการเผาที่1000-1300°Cขึ้นไป ใช้1250°Cเป็นเส้นแบ่ง สูงกว่าเรียกว่าสีเคลือบอุณหภูมิสูง ต่ำกว่าเรียกว่าสีเคลือบอุณหภูมิต่ำ
        ประเภทที่ 2 : จำแนกตามบรรยากาศของการเผา แบ่งออกเป็นการเผาแบบออกซิเดชั่น และการเผาแบบรีดักชั่น
        ประเภทที่ 3 : จำแนกตามลักษณะภายนอกหลังการเผา ก็แบ่งย่อยออกเป็น เคลือบเอกรงค์ เคลือบลาย เคลือบราน(แตกลายงา) เคลือบด้าน เคลือบผลึก เป็นต้น

▲(บน-ซ้าย) เครื่องเคลือบลาย (花釉) (บน-ขวา) เครื่องเคลือบราน (裂纹釉) (ล่าง-ซ้าย) เครื่องเคลือบด้าน (无光釉) (ล่าง-ขวา) เครื่องเคลือบผลึก (结晶釉)

        เครื่องเคลือบเมืองจีนริเริ่มจากเครื่องเคลือบเอกรงค์ แต่ทว่ายุคก่อนสมัยถัง ศิลปหัตถกรรมการเผาผลิตเครื่องเคลือบเอกรงค์เป็นไปอย่างธรรมดาไม่โดดเด่น ยุคสมัยซ่ง ได้เข้าสู่ยุคเพื่องฟูของเครื่องเคลือบเอกรงค์ โดยเฉพาะยุค3จักรพรรดิต้าชิง คังซี ยุงเจิ้ง เฉียนหลง ศิลปหัตถกรรมการเผาผลิตเครื่องเคลือบเอกรงค์ก้าวถึงจุดสุดยอด บรรลุถึงขอบเขต “สร้างตามธรรมชาติ สำเร็จตามมุ่งมั่น” (合于天造 , 厌于人意)

        เครื่องเคลือบเอกรงค์ คือเครื่องเคลือบสีโดดเดี่ยว ก็เรียกขานกันว่า “เครื่องเคลือบสีเดียว” หรือ “เครื่องเคลือบสีบริสุทธิ์” อาศัยความงามแบบสีเดียวไร้เดียงสาเอาชนะแบบสีสันแพรวพราว ไม่มีการตัดกันของสีน้ำเงินและขาวแบบเครื่องลายคราม ไม่วิจิตรตระการตาอย่างเครื่องเคลือบเขียนสี เพียงแค่มีสีเดียวบริสุทธิ์ แต่โดดเด่นมีรสนิยม จำแนกออกเป็นสี ขาว ดล เหลือง น้ำเงิน แดง เขียว ดำ เป็นต้น หลักใหญ่เป็นการอ้างอิงสารแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในเคลือบเป็นตัวกำหนด
     
      【เครื่องเคลือบขาวขาวดั่งดอกแพร์ 

        เครื่องเคลือบขาวปรากฏตัวขึ้นมาในยุคสมัยเหนือ (北朝) ประสบความสำเร็จในการเผามากยิ่งขึ้นในยุคจักรพรรดิหย่งเล่อราชวงศ์หมิง พัฒนาก้าวล้ำนำหน้าในยุคสมัยชิง เพื่อเป็นเตรียมเครื่องเคลือบขาวที่ดีสำหรับการเขียนสีเฝินไฉ่

        เคลือบสีขาวเป็นสีธรรมชาติของเนื้อเครื่องเคลือบ ปกติทั่วไปในเนื้อดินดิบและน้ำเคลือบจะมีแร่เหล็กเป็นองค์ประกอบอยู่ ซึ่งการทำเครื่องเคลือบขาวต้องนำวัตถุดิบไปทำให้บริสุทธิ์ โดยการลดปริมาณแร่เหล็กให้ต่ำกว่า0.75% เนื้อดินดิบหรือน้ำเคลือบเมื่อผ่านการเผาแล้วจึงจะปรากฏออกมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์ ถือเป็น “เครื่องเคลือบเอกรงค์ในเครื่องเคลือบเอกรงค์” สามารถแยกย่อยออกเป็น ขาวหวานแหวว (甜白) ขาวงาช้าง (象牙白) ขาวมันหมู (猪油白) ขาวไข่ (卵白) ขาวนวลจันทร์ (月白) ขาวเขียวอ่อน (青白) ขาวพุงปลา (鱼肚白) เป็นต้น

明永樂·甜白釉暗花榴開百子玉壺春瓶 แจกันเคลือบขาวหวานแหวว·สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อราชวงศ์หมิง ราคาประมูล HKD27,000,000 : หย่งเล่อเป็นผู้ริเริ่มคิดค้นเผาประดิษฐ์เคลือบสีขาวชนิดนี้ แต่ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ จวบจนศตวรรษที่16ในปลายยุคราชวงศ์หมิง น้ำตาลทรายขาวได้เข้าสู่เมืองจีน เมื่อได้ลิ้มลองทำให้คนจีนรู้สึกหวานแหววแล้วนึกถึงเครื่องเคลือบขาวของหย่งเล่อ จึงพากันตั้งชื่อว่า “ขาวหวานแหวว”
     
      【เครื่องเคลือบดลเขียวเหมือนหยก

        เครื่องเคลือบดลถือเป็นเครื่องเคลือบที่เก่าแก่และสำคัญที่สุด ยุคสมัยซาง (商朝) ก็ปรากฏเครื่องเคลือบดลที่ยกย่องให้เป็นต้นตระกูลของเครื่องเคลือบเมืองจีน เรียกขานกันว่า “เครื่องเคลือบดั้งเดิม” (原始瓷) จนถึงยุคสมัยซ่งถือเป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุด ยุคสมัยหมิงและชิงกลับไม่เป็นกระแสหลักอีกต่อไปแล้ว

        เคลือบสีดลเกิดจากปริมาณเล็กน้อย2-6%ของเฟอร์รัสออกไซด์ (FeO) ประกอบด้วย ดลฟ้า (天青) ดลอ่อน (粉青) ดลถั่วเขียว (豆青) ดลหยก (翠青) ดลเทา (灰青) เป็นต้น

清乾隆·粉青釉刻博古龍紋壺 คนโทเคลือบดลอ่อนลวดลายมังกร·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง ประมูลเมื่อปี2011 USD7,920,000 ทำลายสถิติราคาสูงที่สุดของเครื่องเคลือบเอกรงค์

      【เครื่องเคลือบเหลืองเหลืองสืบทอดฟ้า

        เครื่องเคลือบ “” (เหลือง) พ้องเสียงกับ “” (ฮ่องเต้) เพื่อราชสำนักเป็นการเฉพาะตลอดมา หรือเป็นภาชนะสำหรับใช้ในพระราชวัง หรือใช้ในการบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่(สีเหลืองจะใกล้เคียงสีดิน) เป็นเครื่องเคลือบสีที่ถูกควบคุมเข้มงวดมาก เป็นสัญลักษณ์ของการมีอำนาจและเกียรติยศ เป็นของห้ามสำหรับสามัญชนทั่วไป

        เครื่องเคลือบเหลืองปรากฏครั้งแรกในยุคสมัยถัง เผาออกมาปรากฏเป็นสีสดใสอย่างเช่นเหลืองไข่แดงในยุคสมัยหมิง ยุคสมัยชิงจะนิยมแบบเหลืองมะนาว

        เคลือบสีเหลืองเกิดจากการใช้ไอรอนออกไซด์สีเหลือง(Fe₂O₃·H₂O)เป็นรงควัตถุ โดยการเผาที่อุณหภูมิต่ำ แบ่งออกเป็น เหลืองไข่แดง (蛋黄) เหลืองสำออย (娇黄) เหลืองมันไก่ (鸡油黄) เหลืองห่าน (鹅黄) เหลืองมะนาว (柠檬黄) เป็นต้น

明弘治·黄釉碗 ถ้วยเคลือบสีเหลือง·สมัยจักรพรรดิหงจื้อราชวงศ์หมิง ประมูลเมื่อปี2011 RMB2,530,000

清乾隆·茶葉末釉綬帶耳葫蘆瓶 แจกันน้ำเต้าหูสายเคลือบผงใบชา·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง : ถือเป็นเคลือบสีเหลืองชนิดหนึ่งที่เป็น “เคลือบสีเพี้ยนในเตา” (窑变釉)

      【เครื่องเคลือบน้ำเงินครามลึกกว่าทะเล

        สีน้ำเงินไม่ใช่เป็นสีมงคลของคนจีน วัฒนธรรมสีน้ำเงินของเมืองจีนได้รับการถ่ายทอดจากดินแดนเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ คือเป็นวัฒนธรรมของอิสลาม เป็นสีมงคลของอิสลาม

        เคลือบสีน้ำเงินปรากฏครั้งแรกใน “ถังไตรรงค์” (唐三彩) ยุคสมัยถัง เตาเผาที่จิ่งเต๋อเจิ้นยุคสมัยหยวนสามารถคิดค้นเผาประดิษฐ์ “จี้หลาน” (祭蓝) โดยการเผาที่อุณหภูมิสูง เทคโนโลยีการเผาเคลือบสีน้ำเงินก้าวหน้ามากขึ้นในยุคสมัยชิง สามารถทำการเผาสีออกมามันเงาแวววาวสม่ำเสมอ

        เคลือบสีน้ำเงินปรากฏจากโคบอลท์ออกไซด์(CoO)เป็นรงควัตถุตัวหลัก แยกแยะออกเป็น น้ำเงินหมอก (雾蓝) ฟ้าคราม (天蓝) น้ำเงินไพลิน (宝石蓝) น้ำเงินหยก (翠蓝) จี้หลาน (霁蓝) เป็นต้น

 ▲清雍正·霁藍釉橄榄瓶 แจกันหนำเลี้ยบเคลือบจี้หลาน·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้งราชวงศ์ชิง ประมูลเมื่อปี2011 USD4,560,000

      【เครื่องเคลือบแดงแดงตะวันรุ่งอรุณ

        ตั้งแต่โบราณกาลการเผาเคลือบสีแดงภายใต้บรรยากาศรีดักชั่นจะยากมาก เนื่องจากอิออนคอปเปอร์ออกไซด์จะไวต่ออุณหภูมิมาก ผลิตภัณฑ์ที่มีสีแดงสดและสม่ำเสมอจะหายากมาก

        ที่ถือเป็นเคลือบสีแดงจริงๆเริ่มทำการเผาผลิตในยุคสมัยหยวน แล้วยุคสมัยหมิงสามารถเผาผลิตเคลือบสีแดงสดออกมาได้อย่างชำนาญ ยุคคังซีต้าชิงได้คิดค้นเผาประดิษฐ์เคลือบสีแดงใหม่ๆ อย่างเช่น จี้หง เป็นต้น ยุคยุงเจิ้งต้าชิงเริ่มพัฒนาการเผาเคลือบสีแดงเลือดนก

        เคลือบสีแดงใช้คอปเปอร์ออกไซด์(Cu₂O)เป็นรงควัตถุตัวหลัก แบ่งออกเป็น แดงจี้หง (霁红) แดงถั่วแดง (红豆红) แดงทับทิม (宝石红) แดงปะการัง (珊瑚红) แดงเลือดนก (胭脂红) แดงชมพู (粉红) แดงเตาหลาง (郎窑红) เป็นต้น

清雍正·胭脂红釉長頸瓶 แจกันคอยาวเคลือบแดงเลือดนก·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้งราชวงศ์ชิง

      【เครื่องเคลือบเขียวเขียวดั่งมรกต

        ยุคสมัยฮั่นเมื่อ2พันกว่าปีที่แล้ว ได้ใช้เคลือบสีเขียวบนเครื่องดินเผาแล้ว แต่เนื่องจากเป็นเคลือบสีอุณหภูมิต่ำ สีจึงหลุดลอกออกมาได้ง่าย ยุคสมัยซ่งการเผาเคลือบสีเขียวถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาแล้ว แต่เคลือบสีเขียวที่เผาออกมาจะด้านทึบไม่เงา ยุคสมัยหมิงสามารถทำการเผาเคลือบสี “เขียวนกยูง” ที่เงามันดั่งแก้วมรกตออกมาได้สำเร็จ

        เคลือบสีเขียวใช้เคลือบปูนขาวที่มีโคบอลท์ออกไซด์เป็นองค์ประกอบอยู่ เผาภายใต้บรรยากาศรีดักชั่นจะปรากฏออกเป็นสีแดง เผาภายใต้บรรยากาศออกซิเดชั่นจะปราฏกออกเป็นสีเขียว แบ่งออกเป็น เขียวนกยูง (孔雀绿) เขียวแอปเปิล (苹果绿) เขียวเปลือกแตง (瓜皮绿) เขียวต้นสน (松石绿) เป็นต้น

清康熙·孔雀绿釉观音瓶 แจกันกวนอิมเคลือบเขียวนกยูง·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง

      【เครื่องเคลือบดำดำเงาดั่งหมึก

        ในประวัติศาสตร์ เครื่องเคลือบดำก็ได้ปรากฏขึ้นในยุคสมัยฮั่นตะวันตก จวบจนยุคสมัยถังไม่มีอุปสรรคทางด้านเทคโนโลยีอีกแล้ว เข้าสู่จุดสูงสุดในยุคสมัยซ่ง ในยุคคังซีต้าชิง จิ่งเต๋อเจิ้นได้ทำการคิดค้นเผาประดิษฐ์เครื่องเคลือบดำออกมาจนเป็นที่โจษขานทั่วไป---“เครื่องเคลือบทองคำดำ” เนื่องด้วยวัตถุดิบของเคลือบใช้ดินทองคำดำ(มีแร่เหล็กประกอบอยู่ 13.4%)ที่มีอยู่รอบบริเวณของจิ่งเต๋อเจิ้น เคลือบสีทองคำดำเป็นเคลือบสีอุณหภูมิสูง ผิวเคลือบจึงเงามันวาวมาก

        เคลือบสีดำใช้เหล็กออกไซด์เป็นรงควัตถุตัวหลัก ผสมแมงกานิส โคบอลท์ ทองแดงในปริมาณเล็กน้อย เคลือบที่มีเหล็กออกไซด์เกินกว่า6% เผาออกมาจะปรากฏเป็นสีดำทั้งหมด

清乾隆·乌金釉白花大瓷瓶 แจกันดอกไม้ขาวเคลือบทองคำดำ·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง

        ขาวเป็นจุดตั้งต้นของสีทั้งมวล ดำเป็นจุดสิ้นสุดของสีทั้งหลาย กระบวนการตั้งแต่ขาวถึงดำ ก็คือสุนทรียศาสตร์รูปแบบหนึ่งที่คนจีนได้ทุ่มเททั้งภูมิปัญญาและวิริยะอุตสาหะที่มีต่อเครื่องเคลือบดินเผา

 
เอกสารอ้างอิง :
1. “单色釉” 你有收藏吗?https://www.sohu.com/a/206635418_763538
2. 单色釉的历史起源与釉色划分https://www.jianshu.com/p/c8dd1b87220d
3. 淺談單色釉瓷器的特點https://zi.media/@yidianzixun/post/VvvzKy