วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ยุทธจักรชาผูเอ่อร์ในสภาวะการณ์ที่สับสนปนเป | ตอนที่ 5/6




        ภายใต้สภาวะที่ชาเก่ามีค่าหายากมีคุณค่าต่อการเก็บไว้ ราคาโดยองค์รวมของวัตถุดิบใบชาปรับสูงขึ้น ราคาระหว่างชาต้นใหญ่และชาไร่แตกตต่างกันกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดแบ่ง “แหล่งกำเนิดที่เดียว” ก็ยิ่งแบ่งยิ่งละเอียด การแข่งขันแหล่งที่มายิ่งมายิ่งรุนแรงขึ้น นำไปสู่สภาวะการสอดใส้และทำปลอมก็จะยิ่งมายิ่งมาก

        จากการประเมินของผู้มากประสบการณ์ โดยยกยี่หวู่เป็นกรณีตัวอย่าง ผลผลิตต่อปีของชาต้นใหญ่ไม่เกิน 100 ตัน ชาไร่อาจได้ถึง 300 ตัน แต่ในท้องตลาดข้างนอก แผ่นชาที่ตีตรา “ยี่หวู่ของแท้” มีไม่น้อยกว่า 3000 ตัน ซึ่งในนั้นมีเป็นจำนวนมากที่ระบุว่า “ชาต้นโบราณยี่หวู่” 

        ทางรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้ทั่วทั้งตลาดเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน แต่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่า “ธรรมะสูงหนึ่งคืบ มารร้ายสูงหนึ่งศอก” จึงไม่สามารถจับได้ไล่ทันเลห์เหลี่ยมกลโกงตลอดมา ดังนั้นผู้คนจำนวนมากจึงปรารภชาผูเอ่อร์ดั่งยุทธจักร 

▲ยุทธจักรผูเอ่อร์ “อันตรายและแข่งขัน” 

        ที่กล่าวว่าชาผูเอ่อร์คือยุทธจักรนั้น ที่เด่นชัดมากที่สุดคือ ในแวดวงถิ่นฐานไม่มีกฏเกณฑ์ที่เห็นพ้องต้องกันเป็นหนึ่งเดียว ยกตัวอย่างเช่น วิถีการนวดชา มีพ่อค้าบางคนมุ่งหมายให้คนทำชาท้องที่ในขั้นตอนการนวดชาให้นวดในทิศทางตามเข็มนาฬิกา มีบางคนให้นวดในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา และมีบางคนคิดว่าต้องนวดไปหน้าแล้วถอยหลังหรือถอยหลังแล้วไปหน้า วิถีการนวดที่แตกต่างกันท้ายสุดนำไปสู่รสชาติของใบชาจะไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตนเอง ดั่งคำสุภาษิต “แปดเซียนข้ามทะเล ต่างพากันแสดงอภินิหารกันทุกคน” ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน

        แนวความคิดของยุทธจักรในวัฒนธรรมจีนจะมีความหมายโดยนัยที่ลึกซึ้งมาก การที่นำมันมาเป็นคำอธิบายประกอบปรากฏการณ์ของชาผูเอ่อร์มีความหมายอย่างยิ่ง ด้านหนึ่งของยุทธจักรเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงและอันตราย

        ถ้าหากคนชาพ่อค้าชาต่างพื้นที่กันเมื่อร่วมวงบนโต๊ะชาเดียวกัน จะมีความรู้สึกราวกับมีการโต้เถียงกันเกิดขึ้นกลางวง เนื่องจากคนส่วนใหญ่เป็นการพบกันครั้งแรก  ต่างไม่รู้ประวัติความเป็นมาของกันและกัน แต่แล้วต่างก็จะคาดเดาคุณนั้นคือใคร คุณรู้เรื่องชาอย่างแท้จริงรึเปล่า แล้วก็เกิดการท้าทายซึ่งกันและกัน เพื่อมาวัดกันว่าแต่ละคนมีความรู้เรื่องชาระดับไหนกันแน่ 

▲“ลิ้มรสจำแนกจริงเท็จ” ---《ภาพดวลชา/斗茶图》 วาดโดย หลิวซุงเหนียน(刘松年) ยุคซ่งใต้ 

        พวกเราสามารถใช้จอมยุทธอุปมากับคนชาพ่อค้าชา เหล่าจอมยุทธเชื่อว่าในแวดวงยุทธจักร ในช่วงเวลาที่มีปัญหาต่างๆที่ยังไม่มีวิธีการแก้ไข สิ่งที่พึ่งพาได้ดีที่สุดก็คือวิทยายุทธและทักษะของตนเอง คนชาพ่อค้าชาจำนวนมาก พวกเขามีความรู้สึกว่าชาผูเอ่อร์ยังมีความสับสนมาก นโยบายมาตรฐานยังไม่ชัดเจน ข้าจึงต้องอาศัยปากของข้ามาจำแนกพิสูจน์ชาตัวหนึ่งว่าเป็นชาดีหรือไม่ 

        มีบางคนคุยในเชิงโอ้อวดมากไปหน่อยว่า “อย่าไปเชื่อในสิ่งที่พวกเขาพูด ว่าชานี้มาจากเขาชาแห่งนั้น มันเป็นชาต้นโบราณ มาจากแหล่งกำเนิดที่โน้น ข้าไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น ข้าเพียงเชื่อปากของข้า ขอเพียงข้าได้จิบหนึ่งคำ ข้าก็จะสามารถรู้แหล่งที่มาของชาตัวนี้ แม้กระทั่งสามารถชิมออกว่าชานี้มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีหรือไม่ ข้ายังสามารถคาดคะเนกระบวนการผลิตของมันออกมาได้ด้วย”

        ยังมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่มีความหมายมาก ปัจจุบันไม่เพียงมีคนจำนวนมากในเมืองจีนทุกปีจะไปหาซื้อชาตามเขาชาในอวิ๋นหนาน ซึ่งยังสามารถพบเห็นพ่อค้าชาชาวต่างชาติจากออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆเขาชา

        เมื่อพวกเขาเดินทางมายังแหล่งผลิตชาในอวิ๋นหนาน ทั้งที่ไม่ทราบภาษาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น แต่พวกเขาอาศัยทักษะของตนเอง มั่นใจว่าขอเพียงได้ฝึกฝนให้มีปากที่เก่งกาจ ขอเพียงดื่มชาตัวนี้เป็น ก็สามารถหาซื้อชาดีกลับบ้านเกิดได้

        ในยุทธจักรชาผูเอ่อร์เป็นไปในลักษณะ “คนที่มีรสนิยมเหมือนกันมักจะรวมตัวอยู่ด้วยกัน” (Birds of a feather flock together) เนื่องจากชาผูเอ่อร์ถูกจัดแบ่งแยกแยะละเอียดถึงระดับจุดของหมู่บ้าน ถ้าเช่นนั้นทุกคนคงรู้อยู่แก่ใจ ในเมื่อคนใช้ชาที่ไม่เหมือนกันมาเป็นตราประทับของตนเอง ยิ่งจะมีความพิถีพิถันมากขึ้น 

▲คนที่มีรสนิยมเหมือนกันมักจะรวมตัวอยู่ด้วยกัน/物以类聚,人以群分 

        ในแวดวงยุทธจักรชาผูเอ่อร์ พวกเราจะเห็นภาพราวกับว่าแต่ละสำนักในบู๊ลิ้มต่างมีจุดยืนของตนเอง แต่ละสำนักจะแตกต่างกัน มีคนดื่มเฉพาะชาดิบ มีคนดื่มเฉพาะชาสุก มีคนดื่มเฉพาะชาจากสิบสองปันนา มีคนดื่มเฉพาะชาจากผูเอ่อร์ ยังมีคนนำรูปแบบของการจัดเก็บในโกดังมาแจกแจงแยกย่อยอีกขั้น ดื่มเฉพาะโกดังแห้ง หรือดื่มเฉพาะโกดังเปียก หรือดื่มเฉพาะโกดังอวิ๋นหนาน แล้วก็มีโกดังใต้หวัน โกดังฮ่องกงเป็นต้น พวกเขาแข่งขันซึ่งกันและกันต่างไม่สามารถรวมตัวอยู่ด้วยกัน แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่พวกเขานึกถึงหลักปรัชญาของชาที่ว่า “ความกลมกลืนสร้างคุณค่า” มิใช่หรือ นั่นทุกคนควรที่จะเข้าใจซึ่งกันและกัน ปรับตัวเข้าหากัน 

        การทำความเข้าใจธาตุแท้ของวัฒนธรรมยุทธจักรของเมืองจีน จะสามารถช่วยแปลความสภาวการณ์ปัจจุบันของชาผูเอ่อร์ที่สับสนปนเป จะเข้าใจกลยุทธ์และวิถีการดำรงอยู่ของผู้เคลื่อนไหวที่อยู่ในแวดล้อมที่สลับซับซ้อนเยี่ยงนี้

        พ่อค้าชาและผู้ผลิตชาจำนวนมาก พวกเขายังคงไว้ในกรอบความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่ ด้านหนึ่งพวกเขาหวังอย่างยิ่งว่าจะมีกฏเกณฑ์หนึ่งที่ชัดเจนมาช่วยพวกเขาในการทำตลาดให้มีมาตรฐาน แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาไม่มากก็น้อยที่รู้สึกว่าดีแล้วที่ยังมีความคลุมเครือแบบนี้ เพราะว่าสามารถหาช่องว่างดิ้นในความคลุมเครือนี้ได้ พวกเขาก็สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้


(ติดตามต่อ...ตอนที่ 6/6)


เอกสารอ้างอิง : https://youtu.be/uTSKS6skVYU