วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เคลือบเจี้ยนจ่านคือเคลือบเกิดผลึก-แยกเฟส


Such certainty is beautiful,
but uncertainty is more beautiful still.
ความงามคือสัจธรรมอันเที่ยงแท้
แต่ความไม่เที่ยงแท้ยิ่งงดงามกว่า

……..Wislawa Szymborska (วิสวาวา ซิมบอร์สกา กวีหญิงชาวโปแลนด์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี ค.ศ. 1996)

        สีเคลือบของเจี้ยนจ่านจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าหัศจรรย์ นำเจี้ยนจ่านไปสู่สถานะที่มีแบบลักษณ์จำเพาะตัวในบรรดาเครื่องเคลือบดำ

建盏 เจี้ยนจ่านที่มาจากเตาเผาเดียวกันและศิลปกรรมการผลิตเหมือนกัน : ขนกระต่าย (兔毫) หยดน้ำมัน (油滴) ย้าวเบี้ยน (曜变) ต่างมีแบบลักษณ์ของตนเอง

        สุนทรียศิลป์ของเคลือบเจี้ยนจ่านหลักใหญ่เกิดจากความไม่มีแบบแผนของการเกิดผลึก-แยกเฟสอย่างธรรมชาติ ซึ่งเป็นริ้วลายที่มนุษย์ไม่สามารถวาดภาพออกมาได้ ความงามอย่างไม่เที่ยงแท้เช่นนี้ที่แท้เป็นแบบไม่บันยะบันยัง---อำนาจการตัดสินใจที่จะให้ชิ้นผลงานออกมาดีหรือเลวเกือบทั้งหมดที่ช่างผีมือต้องมอบให้เป็นประกาศิตของสวรรค์

▲เจี้ยนจ่านแบ่งตามการเพี้ยนในเตา(窑变)และสีเคลือบออกเป็น 13 ชนิด : 1. ย้าวเบี้ยน (曜变) 2. หยดขาว (白斑) 3. หยดทอง (金斑) 4. หยดเงิน (银斑) 5. หยดขนนก (羽斑) 5. ริ้วขน (斑毫) 7. ขนทอง (金毫)

▲เจี้ยนจ่านแบ่งตามการเพี้ยนในเตา(窑变)และสีเคลือบออกเป็น 13 ชนิด : 8. ขนเงิน (银毫) 9. เส้นขน (丝毫) 10. สีทอง (金彩) 11. สีทองคำดำ (乌金) 12. สีเขียว (绿彩) 13. สีลูกพลับ (柿彩)

        เจี้ยนจ่าน (建盏) เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า เคลือบสีดำของเตาเจี้ยน (建窑) เป็นเคลือบตกผลึกของเหล็ก เป็นน้ำเคลือบปูนขาวที่มีแร่เหล็กประกอบอยู่ในปริมาณที่สูง ดังนั้น “เคลือบตกผลึกของเหล็ก” มีความหมายอย่างไร ?

        เคลือบตกผลึกของเหล็ก (铁系结晶釉) เป็นการใช้ในการพรรณนาทั่วๆไปต่อเจี้ยนจ่านที่มีกรรมวิธีที่พิเศษเฉพาะตัว แต่ทางวิชาการศิลปกรรมเครื่องเคลือบดินเผาจะเรียกเคลือบของเจี้ยนจ่านว่า “เคลือบเกิดผลึกแยก-เฟส” (分相-析晶釉)

        การเกิดผลึก (析晶) หมายถึงอะไร

        การเกิดผลึกก็คือสัณฐานผลึกเกิดขึ้นมา จะกล่าวว่าเป็นการตกผลึกก็ไม่ผิด ซึ่งสัณฐานผลึกคือการบ่งชี้ถึงอนุภาคไอออน อะตอม หรือโมเลกุลที่เป็นไปตามโคจรในการก่อตัวเป็นของแข็งที่เรียงตัวอย่างมีระเบียบแบบแผนในโครงสร้างแบบเรขาคณิตเฉพาะตัว ถ้าอนุภาคชนิดเดียวแต่จัดเรียงตัวในโครงสร้างที่แตกต่างกัน นั่นก็คือมีสัญฐานผลึกแตกต่างกัน

▲โครงสร้างผลึกของเกลือ (NaCl)

五水硫酸铜晶体 ผลึกจุนสี (คอปเปอร์ซัลเฟต มีน้ำอยู่ในโมเลกุลจะมีสีน้ำเงิน)

        หน่วยพื้นฐานที่มีรูปแบบทางเรขาคณิตที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างผลึกเรียกว่า “หน่วยเซลล์” (Unit Cell) สสารที่มีส่วนประกอบทางเคมีที่เหมือนกัน แต่มีโครงสร้างผลึกแตกต่างกัน ก็จะมีคุณลักษณะทางกายภาพและทางเคมีแตกต่างกัน

▲โครงสร้างผลึกที่ประกอบด้วยหน่วยเซลล์ (Unit cell) หลายๆหน่วยเซลล์รวมตัวกัน

▲กราไฟต์กับเพชร ต่างมีธาตุคาร์บอนเป็นสารประกอบเหมือนกัน แต่การเรียงตัวของอนุภาคคาร์บอนในโครงสร้างผลึกแตกต่างกัน ฉะนั้นมูลค่าก็แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

        ในกระบวนการเผาผลิตเจี้ยนจ่าน อาจก่อเกิดผลึกที่มีสารประกอบและโครงสร้างที่แตกต่างกัน นำมาซึ่งกลุ่มผลึกเหลือคณานับ แล้วเป็นเหตุให้สีเคลือบของเจี้ยนจ่านปรากฏออกมาอย่างหลากหลาย ถ้าหากรูปแบบที่ก่อเกิดสีเคลือบของเจี้ยนจ่านมีเพียงการเกิดผลึกแล้วไซร์ ใยต้องมากล่าวถึงเคลือบเกิดผลึก-แยกเฟสอีกเล่า

        การเผาผลิตเจี้ยนจ่าน จะก่อเกิดธาตุเหล็กและสารเหล็กออกไซด์ในรูปของผลึก และก็ก่อเกิดธาตุเหล็กและสารเหล็กออกไซด์ในรูปของอสัณฐานที่ไม่ใช่ผลึก

        เมื่อไอออน/อะตอม/โมเลกุลเกิดการเรียงตัวอย่างไม่เป็นระเบียบแบบโครงสร้างอสัณฐาน ไม่มีรูปทรงเรขาคณิตที่แน่นอน จะไม่ถือเป็นสัณฐานผลึก เช่น แก้ว

        เคลือบสีดำที่เป็นพื้นเคลือบของเจี้ยนจ่านก็คือแก้ว แต่ริ้วลายต่างๆเช่นขนกระต่าย หยดน้ำมันเป็นต้น มีบ้างที่อาจเป็นแก้ว ตรงจุดนี้จะถูกมองข้ามไปบ่อยๆ ในเมื่อการก่อเกิดริ้วลายขึ้นมาไม่เพียงเป็นแค่รูปผลึก งั้นก็ต้องนำแนวความคิดของการแยกเฟสมาอธิบายเพิ่มเติมเข้าไป เป็นที่น่าสนใจว่า ปรากฏการณ์การแยกเฟสและการเกิดผลึกเกิดขึ้นบนจ่านใบเดียวกัน นำมาซึ่งกลุ่มสีเคลือบที่มีมากยิ่งขึ้น ทำให้เจี้ยนจ่านเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น

分相与析晶出同时出现在兔毫盏上 ปรากฏการณ์การแยกเฟสและการเกิดผลึกเกิดขึ้นพร้อมกันบนจ่านขนกระต่าย

▲ภาพขยายริ้วลายขนกระต่ายโดยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง

        การแยกเฟส (分相) หมายถึงอะไร

        นัยสำคัญของเจี้ยนจ่านที่ปรากฏสีเคลือบเหลือคณานับ ก็เป็นเพราะธาตุเหล็กและสารเหล็กออกไซด์แยกตัวออกมาจากเคลือบพื้นฐาน แร่เหล็กที่เป็นวัตถุดิบอยู่ในน้ำเคลือบของเจี้ยนจ่าน อาจอยู่ในรูปของเฟอร์ริค (Ferric : Fe+3) เฟอร์รัส (Ferrous : Fe+2) กระทั่งเป็นธาตุเหล็กบริสุทธิ์ (Fe) ที่แยกตัวออกมาจากเคลือบแก้ว แต่ทว่ารูปแบบของการแยกตัวไม่จำเป็นต้องเกิดผลึก อาจเป็นการแยกเฟส ก็คือการแยกตัวออกมาในรูปอสัญฐาน

     เฟสPhase) คือการบ่งชี้ถึงสถานะของสสาร เช่น สถานะที่เป็นของแข็ง(Solid) สถานะที่เป็นของเหลว(Liquid) สถานะที่เป็นของก๊าซ(Gas) ล้วนเป็นเฟสรูปแบบหนึ่ง

        น้ำที่ความดันปกติ ในช่วงอุณหภูมิต่ำกว่า 0°C จะกลายเป็นของแข็ง ในช่วงอุณหภูมิ 1-100°C จะมีสถานะเป็นของเหลว และถ้าอุณหภูมิสุงกว่า 100°C น้ำจะกลายเป็นไอน้ำซึ่งมีสถานะเป็นก๊าซ นี่ก็คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลง3เฟสที่สุดคลาสสิค

        เฟสที่แตกต่างกันเมื่อผสมรวมกัน ถ้าหากสามารถเติมเต็มและกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ก็จะกลายเป็นเฟสที่เป็นเนื้อเดียวกัน (Homogeneous Phase) อย่างเช่นเกลือหรือน้ำตาลละลายในน้ำ สุดท้ายกลายเป็นของเหลวที่เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ถ้าไม่สามารถหลอมเข้าด้วยกัน มีเส้นแบ่งเขตเห็นอย่างชัดเจน อย่างเช่นหยดน้ำมันในน้ำ ไม่ว่าจะทำการคนอย่างไงก็แยกออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน นี่ก็คือการแยกเฟส

        กลไกจอกแหนลอยอยู่บนผิวน้ำ

        แร่เหล็กภายใต้อุณหภูมิสูงจะล้นออกมาจากเคลือบหลัก จับตัวเกาะกันเป็นกลุ่ม เมื่อทำการเผาถึงอุณหภูมิประมาณ1300°C ภายใต้สภาวะทางเคมีเชิงฟิสิกส์ที่จำเพาะ เคลือบเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างสถานะที่เป็นของเหลว เฟสเคลือบหลักจะแยกออกเป็นอีกเฟสหนึ่งที่อุดมด้วยแร่เหล็ก

        ภายใต้ผลของแรงโน้มถ่วงและแรงตรึงผิว เฟสที่อุดมด้วยแร่เหล็กจะลอยอยู่บนชั้นผิวของเคลือบได้ง่าย เป็นไปตามที่กระบวนการล่วงเลยไป เฟสที่อุดมด้วยแร่เหล็กจะยิ่งมายิ่งมาก จนเฟสที่อุดมด้วยแร่เหล็กก่อตัวเป็นเฟสของเหลวหยดเล็กๆลอยอยู่บนผิวของเฟสเคลือบเหลวเหมือนกับใบจอกแหนที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ พวกมันจะจับตัวเกาะกันเป็นกลุ่มๆตามสภาวะการ รวมตัวเกิดเป็นเกรน (Grain) ที่มีขนาดใหญ่เล็กไม่เหมือนกัน

        เกรนยิ่งใหญ่ หยดเล็กของเฟสของเหลวก็ยิ่งมาก แต่หยดเล็กของเฟสของเหลวเหล่านี้จะเกาะติดกัน ไม่หลอมเป็นเนื้อเดียวกัน ก็เหมือนใบจอกแหนแต่ละใบลอยชิดติดกัน เมื่อดำเนินการเผาถึงระดับหนึ่งแล้วให้เย็นตัวลง เมื่อเกิดรูปผลึกหรืออสัณฐานของธาตุเหล็กและสารเหล็กออกไซด์ภายในเกรนตามแต่สภาวะแวดล้อม(ประกาศิตของสวรรค์) ก็จะปรากฏเป็นริ้วลายและสีสันต่างๆออกมา

浮萍机理 กลไกจอกแหนลอยอยู่บนผิวน้ำ

建盏中的油滴似浮萍 หยดน้ำมันบนเจี้ยนจ่านเสมือนจอกแหนลอยอยู่บนผิวน้ำ

▲ภาพขยายริ้วลายหยดน้ำมัน---เกรน(หยดน้ำมัน)ขนาดต่างๆใหญ่เล็กไม่เท่ากัน

▲ภาพขยายริ้วลายหยดน้ำมันโดยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง---ผลึก(หยดเล็กของเฟสที่อุดมด้วยแร่เหล็ก)จับตัวเกาะกัน(มีเส้นแบ่งเขตเห็นอย่างชัดเจน)เป็นเกรน

         ผลึกของธาตุเหล็กและสารเหล็กออกไซด์เป็นตัวหลักที่ก่อเกิดริ้วลายขนกระต่าย หยดน้ำมันเป็นต้น แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก ในเมื่อสารเหล็กออกไซด์ในริ้วลาย(อย่าง Fe₂O₃) มิใช่จะต้องเกิดในรูปผลึกเสมอไป อาจอยู่ในรูปอสัณฐานที่แยกเฟสออกจากเคลือบแก้วดำที่เป็นเคลือบพื้น นี่จึงจะถือว่าสมบูรณ์ครบถ้วน ดั่งที่นักวิชาการทางวัสดุศาสตร์ที่กล่าวว่าเป็นเคลือบเกิดผลึก-แยกเฟส

        เคลือบของเครื่องเคลือบโดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นแก้ว เจี้ยนจ่านจะพิเศษเฉพาะกว่า ไม่เพียงมีแก้ว ยังมีผลึกของเหล็ก การประดับตกแต่งรูปแบนี้ ทำให้เจี้ยนจ่านสามารถผงาดอย่างโดดเด่น อยู่บนระดับสูงสุดของศิลปกรรมเครื่องเคลือบดินเผาที่มีการพัฒนาอย่างเฟื่องฟูในยุคสมัยซ่ง

宋代·曜变天目 โยเฮนเทนโมกุ·ยุคสมัยซ่ง หลงเหลืออยู่บนโลกนี้ในสภาพสมบูรณ์เพียงแค่3ใบกับอีกซากพิการครึ่งใบ---(บนซ้าย) เก็บรักษาอยู่ที่ Seikado Bunko Art Museum,Tokyo (บนขวา) เก็บรักษาอยู่ที่ Fujita Art Museum,Osaka (ล่างซ้าย) เก็บรักษาอยู่ที่ Daitokuji Temple,Kyoto (ล่างขวา) ประกอบด้วยชิ้นส่วนเล็กๆที่ถูกขุดค้นพบที่เมืองหางโจวปี 2009

曜变天目·东京静嘉堂美术馆藏 โยเฮนเทนโมกุ·เก็บรักษาอยู่ที่ Seikado Bunko Art Museum,Tokyo

曜变天目·大阪藤田美术馆藏 โยเฮนเทนโมกุ·เก็บรักษาอยู่ที่ Fujita Art Museum,Osaka

曜变天目·京都大德寺龙光院藏 โยเฮนเทนโมกุ·เก็บรักษาอยู่ที่ Daitokuji Temple,Kyoto

曜变天目·杭州建兰中学出土(残) โยเฮนเทนโมกุ(ซาก)·ขุดค้นพบที่เมืองหางโจว

陆金喜·第八代曜变新作品 ย้าวเบี้ยนผลงานชิ้นล่าสุดยุค8.0ของลู่จินสี่---เป็นบุคคลแรกของโลกที่สามารถฟื้นฟูเจี้ยนจ่านย้าวเบี้ยน(โยเฮนเทนมุกุ ที่ขาดการสืบสานประมาณ800ปีตั้งแต่ปลายยุคสมัยซ่ง) โดยการขึ้นเคลือบครั้งเดียว เผาผลิตครั้งเดียว ผลงานออกมาได้ใกล้เคียงยุคสมัยซ่งมากที่สุดในยุคปัจจุบันนี้ จากประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี่ที่สะสมมากว่า20ปีจนตกผลึก ผลงานย้าวเบี้ยนตั้งแต่ปี2010ยุค1.0จนถึงปี2017ยุค8.0 ชิ้นงานจะยิ่งขยับเข้าใกล้ยุคสมัยซ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นว่า ก็เพียงแค่รอวันเวลาที่จะมาถึงเท่านั้น ลู่จินสี่สามารถสร้างสรรค์ผลงานย้าวเบี้ยนที่ก้าวล้ำนำหน้าโยเฮนเทนมุกุที่เก็บรักษาอยู่ที่ญี่ปุ่น

陆金喜 ลู่จินสี่---ฟื้นฟูและสืบสานเจี้ยนจ่าน “ย้าวเบี้ยน” ศิลปกรรมเครื่องเคลือบแห่งยุคพันปี



เอกสารอ้างอิง :
1. 建盏的釉究竟特别在哪里?https://kknews.cc/collect/zga6pgg.html
2. 行業泰斗-李達談建盞燒制https://kknews.cc/collect/3amb3o.html

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เครื่องเคลือบเอกรงค์เมืองจีน



        งานนิวยอร์กแฟชั่นวีค2017 โชว์แฟชั่นคอลเลคชั่นสปริง&ซัมเมอร์2018 เทรนด์เสื้อผ้าใช้สีสันสดใสเพื่อความรู้สึกขีดสุด เมื่อพิจารณาดีๆแล้วจะเห็นว่าราวกับคอลเลคชั่นสีของเครื่องเคลือบเอกรงค์ยุคโบราณของเมืองจีน

▲เทรนด์เสื้อผ้าในคอลเลคชั่นสปริง&ซัมเมอร์ 2018 งานนิวยอร์กแฟชั่นวีค 2017

单色釉瓷 เครื่องเคลือบเอกรงค์

        สุนทรียศิลป์ของเครื่องเคลือบยุคโบราณ เกิดจากการประดับตกแต่งบนเครื่องเคลือบ2รูปแบบคือ 1.โดยการเขียนสีลวดลาย ซึ่งเป็นรูปแบบที่แสดงออกเชิงรูปธรรม--เครื่องเคลือบเขียนสี 2.โดยการเคลือบสีพื้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่แสดงออกเชิงนามธรรม—เครื่องเคลือบสี

彩瓷 เครื่องเคลือบเขียนสี--โดยการเขียนสีลวดลาย

色釉瓷 เครื่องเคลือบสี--การขึ้นเคลือบโดยวิธีการไหลเท
     
        เครื่องเคลือบสี โดยการใช้น้ำเคลือบที่มีการผสมสารออกไซด์โลหะซึ่งเป็นรงควัตถุลงในน้ำเคลือบแก้ว น้ำเคลือบที่ผสมสารออกไซด์โลหะแตกต่างกัน ตามแต่อุณหภูมิและบรรยากาศในการเผา ก็จะปรากฏสีเคลือบออกมาแตกต่างกัน การจำแนกเครื่องเคลือบสี หลักใหญ่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท :

        ประเภทที่ 1 : จำแนกตามอุณหภูมิการเผา เครื่องเคลือบเอกรงค์จะทำการเผาที่1000-1300°Cขึ้นไป ใช้1250°Cเป็นเส้นแบ่ง สูงกว่าเรียกว่าสีเคลือบอุณหภูมิสูง ต่ำกว่าเรียกว่าสีเคลือบอุณหภูมิต่ำ
        ประเภทที่ 2 : จำแนกตามบรรยากาศของการเผา แบ่งออกเป็นการเผาแบบออกซิเดชั่น และการเผาแบบรีดักชั่น
        ประเภทที่ 3 : จำแนกตามลักษณะภายนอกหลังการเผา ก็แบ่งย่อยออกเป็น เคลือบเอกรงค์ เคลือบลาย เคลือบราน(แตกลายงา) เคลือบด้าน เคลือบผลึก เป็นต้น

▲(บน-ซ้าย) เครื่องเคลือบลาย (花釉) (บน-ขวา) เครื่องเคลือบราน (裂纹釉) (ล่าง-ซ้าย) เครื่องเคลือบด้าน (无光釉) (ล่าง-ขวา) เครื่องเคลือบผลึก (结晶釉)

        เครื่องเคลือบเมืองจีนริเริ่มจากเครื่องเคลือบเอกรงค์ แต่ทว่ายุคก่อนสมัยถัง ศิลปหัตถกรรมการเผาผลิตเครื่องเคลือบเอกรงค์เป็นไปอย่างธรรมดาไม่โดดเด่น ยุคสมัยซ่ง ได้เข้าสู่ยุคเพื่องฟูของเครื่องเคลือบเอกรงค์ โดยเฉพาะยุค3จักรพรรดิต้าชิง คังซี ยุงเจิ้ง เฉียนหลง ศิลปหัตถกรรมการเผาผลิตเครื่องเคลือบเอกรงค์ก้าวถึงจุดสุดยอด บรรลุถึงขอบเขต “สร้างตามธรรมชาติ สำเร็จตามมุ่งมั่น” (合于天造 , 厌于人意)

        เครื่องเคลือบเอกรงค์ คือเครื่องเคลือบสีโดดเดี่ยว ก็เรียกขานกันว่า “เครื่องเคลือบสีเดียว” หรือ “เครื่องเคลือบสีบริสุทธิ์” อาศัยความงามแบบสีเดียวไร้เดียงสาเอาชนะแบบสีสันแพรวพราว ไม่มีการตัดกันของสีน้ำเงินและขาวแบบเครื่องลายคราม ไม่วิจิตรตระการตาอย่างเครื่องเคลือบเขียนสี เพียงแค่มีสีเดียวบริสุทธิ์ แต่โดดเด่นมีรสนิยม จำแนกออกเป็นสี ขาว ดล เหลือง น้ำเงิน แดง เขียว ดำ เป็นต้น หลักใหญ่เป็นการอ้างอิงสารแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในเคลือบเป็นตัวกำหนด
     
      【เครื่องเคลือบขาวขาวดั่งดอกแพร์ 

        เครื่องเคลือบขาวปรากฏตัวขึ้นมาในยุคสมัยเหนือ (北朝) ประสบความสำเร็จในการเผามากยิ่งขึ้นในยุคจักรพรรดิหย่งเล่อราชวงศ์หมิง พัฒนาก้าวล้ำนำหน้าในยุคสมัยชิง เพื่อเป็นเตรียมเครื่องเคลือบขาวที่ดีสำหรับการเขียนสีเฝินไฉ่

        เคลือบสีขาวเป็นสีธรรมชาติของเนื้อเครื่องเคลือบ ปกติทั่วไปในเนื้อดินดิบและน้ำเคลือบจะมีแร่เหล็กเป็นองค์ประกอบอยู่ ซึ่งการทำเครื่องเคลือบขาวต้องนำวัตถุดิบไปทำให้บริสุทธิ์ โดยการลดปริมาณแร่เหล็กให้ต่ำกว่า0.75% เนื้อดินดิบหรือน้ำเคลือบเมื่อผ่านการเผาแล้วจึงจะปรากฏออกมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์ ถือเป็น “เครื่องเคลือบเอกรงค์ในเครื่องเคลือบเอกรงค์” สามารถแยกย่อยออกเป็น ขาวหวานแหวว (甜白) ขาวงาช้าง (象牙白) ขาวมันหมู (猪油白) ขาวไข่ (卵白) ขาวนวลจันทร์ (月白) ขาวเขียวอ่อน (青白) ขาวพุงปลา (鱼肚白) เป็นต้น

明永樂·甜白釉暗花榴開百子玉壺春瓶 แจกันเคลือบขาวหวานแหวว·สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อราชวงศ์หมิง ราคาประมูล HKD27,000,000 : หย่งเล่อเป็นผู้ริเริ่มคิดค้นเผาประดิษฐ์เคลือบสีขาวชนิดนี้ แต่ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ จวบจนศตวรรษที่16ในปลายยุคราชวงศ์หมิง น้ำตาลทรายขาวได้เข้าสู่เมืองจีน เมื่อได้ลิ้มลองทำให้คนจีนรู้สึกหวานแหววแล้วนึกถึงเครื่องเคลือบขาวของหย่งเล่อ จึงพากันตั้งชื่อว่า “ขาวหวานแหวว”
     
      【เครื่องเคลือบดลเขียวเหมือนหยก

        เครื่องเคลือบดลถือเป็นเครื่องเคลือบที่เก่าแก่และสำคัญที่สุด ยุคสมัยซาง (商朝) ก็ปรากฏเครื่องเคลือบดลที่ยกย่องให้เป็นต้นตระกูลของเครื่องเคลือบเมืองจีน เรียกขานกันว่า “เครื่องเคลือบดั้งเดิม” (原始瓷) จนถึงยุคสมัยซ่งถือเป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุด ยุคสมัยหมิงและชิงกลับไม่เป็นกระแสหลักอีกต่อไปแล้ว

        เคลือบสีดลเกิดจากปริมาณเล็กน้อย2-6%ของเฟอร์รัสออกไซด์ (FeO) ประกอบด้วย ดลฟ้า (天青) ดลอ่อน (粉青) ดลถั่วเขียว (豆青) ดลหยก (翠青) ดลเทา (灰青) เป็นต้น

清乾隆·粉青釉刻博古龍紋壺 คนโทเคลือบดลอ่อนลวดลายมังกร·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง ประมูลเมื่อปี2011 USD7,920,000 ทำลายสถิติราคาสูงที่สุดของเครื่องเคลือบเอกรงค์

      【เครื่องเคลือบเหลืองเหลืองสืบทอดฟ้า

        เครื่องเคลือบ “” (เหลือง) พ้องเสียงกับ “” (ฮ่องเต้) เพื่อราชสำนักเป็นการเฉพาะตลอดมา หรือเป็นภาชนะสำหรับใช้ในพระราชวัง หรือใช้ในการบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่(สีเหลืองจะใกล้เคียงสีดิน) เป็นเครื่องเคลือบสีที่ถูกควบคุมเข้มงวดมาก เป็นสัญลักษณ์ของการมีอำนาจและเกียรติยศ เป็นของห้ามสำหรับสามัญชนทั่วไป

        เครื่องเคลือบเหลืองปรากฏครั้งแรกในยุคสมัยถัง เผาออกมาปรากฏเป็นสีสดใสอย่างเช่นเหลืองไข่แดงในยุคสมัยหมิง ยุคสมัยชิงจะนิยมแบบเหลืองมะนาว

        เคลือบสีเหลืองเกิดจากการใช้ไอรอนออกไซด์สีเหลือง(Fe₂O₃·H₂O)เป็นรงควัตถุ โดยการเผาที่อุณหภูมิต่ำ แบ่งออกเป็น เหลืองไข่แดง (蛋黄) เหลืองสำออย (娇黄) เหลืองมันไก่ (鸡油黄) เหลืองห่าน (鹅黄) เหลืองมะนาว (柠檬黄) เป็นต้น

明弘治·黄釉碗 ถ้วยเคลือบสีเหลือง·สมัยจักรพรรดิหงจื้อราชวงศ์หมิง ประมูลเมื่อปี2011 RMB2,530,000

清乾隆·茶葉末釉綬帶耳葫蘆瓶 แจกันน้ำเต้าหูสายเคลือบผงใบชา·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง : ถือเป็นเคลือบสีเหลืองชนิดหนึ่งที่เป็น “เคลือบสีเพี้ยนในเตา” (窑变釉)

      【เครื่องเคลือบน้ำเงินครามลึกกว่าทะเล

        สีน้ำเงินไม่ใช่เป็นสีมงคลของคนจีน วัฒนธรรมสีน้ำเงินของเมืองจีนได้รับการถ่ายทอดจากดินแดนเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ คือเป็นวัฒนธรรมของอิสลาม เป็นสีมงคลของอิสลาม

        เคลือบสีน้ำเงินปรากฏครั้งแรกใน “ถังไตรรงค์” (唐三彩) ยุคสมัยถัง เตาเผาที่จิ่งเต๋อเจิ้นยุคสมัยหยวนสามารถคิดค้นเผาประดิษฐ์ “จี้หลาน” (祭蓝) โดยการเผาที่อุณหภูมิสูง เทคโนโลยีการเผาเคลือบสีน้ำเงินก้าวหน้ามากขึ้นในยุคสมัยชิง สามารถทำการเผาสีออกมามันเงาแวววาวสม่ำเสมอ

        เคลือบสีน้ำเงินปรากฏจากโคบอลท์ออกไซด์(CoO)เป็นรงควัตถุตัวหลัก แยกแยะออกเป็น น้ำเงินหมอก (雾蓝) ฟ้าคราม (天蓝) น้ำเงินไพลิน (宝石蓝) น้ำเงินหยก (翠蓝) จี้หลาน (霁蓝) เป็นต้น

 ▲清雍正·霁藍釉橄榄瓶 แจกันหนำเลี้ยบเคลือบจี้หลาน·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้งราชวงศ์ชิง ประมูลเมื่อปี2011 USD4,560,000

      【เครื่องเคลือบแดงแดงตะวันรุ่งอรุณ

        ตั้งแต่โบราณกาลการเผาเคลือบสีแดงภายใต้บรรยากาศรีดักชั่นจะยากมาก เนื่องจากอิออนคอปเปอร์ออกไซด์จะไวต่ออุณหภูมิมาก ผลิตภัณฑ์ที่มีสีแดงสดและสม่ำเสมอจะหายากมาก

        ที่ถือเป็นเคลือบสีแดงจริงๆเริ่มทำการเผาผลิตในยุคสมัยหยวน แล้วยุคสมัยหมิงสามารถเผาผลิตเคลือบสีแดงสดออกมาได้อย่างชำนาญ ยุคคังซีต้าชิงได้คิดค้นเผาประดิษฐ์เคลือบสีแดงใหม่ๆ อย่างเช่น จี้หง เป็นต้น ยุคยุงเจิ้งต้าชิงเริ่มพัฒนาการเผาเคลือบสีแดงเลือดนก

        เคลือบสีแดงใช้คอปเปอร์ออกไซด์(Cu₂O)เป็นรงควัตถุตัวหลัก แบ่งออกเป็น แดงจี้หง (霁红) แดงถั่วแดง (红豆红) แดงทับทิม (宝石红) แดงปะการัง (珊瑚红) แดงเลือดนก (胭脂红) แดงชมพู (粉红) แดงเตาหลาง (郎窑红) เป็นต้น

清雍正·胭脂红釉長頸瓶 แจกันคอยาวเคลือบแดงเลือดนก·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้งราชวงศ์ชิง

      【เครื่องเคลือบเขียวเขียวดั่งมรกต

        ยุคสมัยฮั่นเมื่อ2พันกว่าปีที่แล้ว ได้ใช้เคลือบสีเขียวบนเครื่องดินเผาแล้ว แต่เนื่องจากเป็นเคลือบสีอุณหภูมิต่ำ สีจึงหลุดลอกออกมาได้ง่าย ยุคสมัยซ่งการเผาเคลือบสีเขียวถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาแล้ว แต่เคลือบสีเขียวที่เผาออกมาจะด้านทึบไม่เงา ยุคสมัยหมิงสามารถทำการเผาเคลือบสี “เขียวนกยูง” ที่เงามันดั่งแก้วมรกตออกมาได้สำเร็จ

        เคลือบสีเขียวใช้เคลือบปูนขาวที่มีโคบอลท์ออกไซด์เป็นองค์ประกอบอยู่ เผาภายใต้บรรยากาศรีดักชั่นจะปรากฏออกเป็นสีแดง เผาภายใต้บรรยากาศออกซิเดชั่นจะปราฏกออกเป็นสีเขียว แบ่งออกเป็น เขียวนกยูง (孔雀绿) เขียวแอปเปิล (苹果绿) เขียวเปลือกแตง (瓜皮绿) เขียวต้นสน (松石绿) เป็นต้น

清康熙·孔雀绿釉观音瓶 แจกันกวนอิมเคลือบเขียวนกยูง·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง

      【เครื่องเคลือบดำดำเงาดั่งหมึก

        ในประวัติศาสตร์ เครื่องเคลือบดำก็ได้ปรากฏขึ้นในยุคสมัยฮั่นตะวันตก จวบจนยุคสมัยถังไม่มีอุปสรรคทางด้านเทคโนโลยีอีกแล้ว เข้าสู่จุดสูงสุดในยุคสมัยซ่ง ในยุคคังซีต้าชิง จิ่งเต๋อเจิ้นได้ทำการคิดค้นเผาประดิษฐ์เครื่องเคลือบดำออกมาจนเป็นที่โจษขานทั่วไป---“เครื่องเคลือบทองคำดำ” เนื่องด้วยวัตถุดิบของเคลือบใช้ดินทองคำดำ(มีแร่เหล็กประกอบอยู่ 13.4%)ที่มีอยู่รอบบริเวณของจิ่งเต๋อเจิ้น เคลือบสีทองคำดำเป็นเคลือบสีอุณหภูมิสูง ผิวเคลือบจึงเงามันวาวมาก

        เคลือบสีดำใช้เหล็กออกไซด์เป็นรงควัตถุตัวหลัก ผสมแมงกานิส โคบอลท์ ทองแดงในปริมาณเล็กน้อย เคลือบที่มีเหล็กออกไซด์เกินกว่า6% เผาออกมาจะปรากฏเป็นสีดำทั้งหมด

清乾隆·乌金釉白花大瓷瓶 แจกันดอกไม้ขาวเคลือบทองคำดำ·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง

        ขาวเป็นจุดตั้งต้นของสีทั้งมวล ดำเป็นจุดสิ้นสุดของสีทั้งหลาย กระบวนการตั้งแต่ขาวถึงดำ ก็คือสุนทรียศาสตร์รูปแบบหนึ่งที่คนจีนได้ทุ่มเททั้งภูมิปัญญาและวิริยะอุตสาหะที่มีต่อเครื่องเคลือบดินเผา

 
เอกสารอ้างอิง :
1. “单色釉” 你有收藏吗?https://www.sohu.com/a/206635418_763538
2. 单色釉的历史起源与釉色划分https://www.jianshu.com/p/c8dd1b87220d
3. 淺談單色釉瓷器的特點https://zi.media/@yidianzixun/post/VvvzKy

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เครื่องเคลือบเขียนสีเมืองจีน (ตอนที่3)



        ในวงการนักสะสมมีคำฮิตติดปากว่า “ถ้าเป็นเครื่องเคลือบต้องเล่นของยุค3จักรพรรดิต้าชิง” ยุค3จักรพรรดิต้าชิงคือการบ่งชี้ถึง คังซี ยุงเจิ้ง เฉียนหลง ซึ่งก็คือ「ยุครุ่งเรืองคัง-ยุง-เฉียน」(康乾盛世) ที่พวกเรานิยมใช้พูดกัน

        ยุคต้าชิงถือเป็นยุคทองในประวัติศาสตร์การผลิตเครื่องเคลือบของเมืองจีน โดยเฉพาะในช่วงรัชศกคัง-ยุง-เฉียน อันเนื่องจากพัฒนาการของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเคลือบของโรงงานเตาหลวงที่จิ่งเต๋อเจิ้นเป็นไปอย่างมั่นคง นักผลิตเครื่องเคลือบได้รวบรวมฟริต(สีเคลือบ)ชนิดต่างๆทั้งจากภายในและต่างประเทศบรรดามี บนพื้นฐานที่มีมาแต่ก่อนได้ทำการวิจัยพัฒนาสีเคลือบหลากหลายที่ไม่เคยมีมาก่อน การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องเคลือบของจิ่งต๋อเจิ้นในยุค3จักรพรรดิต้าชิงเป็นไปอย่างเฟื่องฟู ได้สร้างประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ในการลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง

清代御窑厂图 ภาพโรงงานเตาหลวงที่จิ่งเต๋อเจิ้น·ยุคสมัยต้าชิง

        1. นิยามของเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้า

        “เครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้า” (混合彩瓷) คือการบ่งชี้ถึงเครื่องเคลือบเขียนสีที่นำ “สีใต้เคลือบ” “สีกลางเคลือบ” “สีบนเคลือบ” เป็นต้นมาเผาประดิษฐ์ร่วมกัน ในบรรดาเครื่องเคลือบของเตาหลวงยุคสมัยก่อน สีใต้เคลือบส่วนใหญ่จะใช้สารโคบอลท์(ลายคราม) หรือสารคอปเปอร์(ลายไฟ)เป็นรงควัตถุสี เนื่องจากสีใต้เคลือบเป็นการเขียนสีก่อนการขึ้นเคลือบแก้วปกคลุมผิวหน้า ดังนั้น อุณหภูมิของการเผาประดิษฐ์ของสีใต้เคลือบและเคลือบแก้วจะเหมือนกัน ส่วนใหญ่ใช้สีเคลือบชนิดอุณหภูมิสูง ; สีกลางเคลือบคือบ่งชี้ถึงสีแบบการนำรงควัตถุสีผสมลงในน้ำเคลือบ ในการขึ้นน้ำเคลือบบนผิวแล้วขณะเดียวกันทำการเขียนสีพร้อมกัน สีกลางเคลือบแบบนี้ที่พบเห็นบ่อยๆก็มีจี้ชิง (霁青) จี้หง (霁红) ผงใบชา (茶叶末) แดงคาร์มีน (胭脂红) เคลือบจิน (钧釉) เป็นต้น ; สีบนเคลือบจะใช้บนเครื่องเคลือบอู๋ไฉ่ ฝ้าหลางไฉ่ เฝินไฉ่เป็นหลัก จะมีสีหลากหลาย อาทิเช่น สีแดง(เกลือซัลเฟตของเหล็ก) สีทองเป็นต้น เนื่องจากสีบนเคลือบเป็นการเขียนสีบนผิวเคลือบที่เผาเสร็จแล้วทำการเผาอบอีกครั้ง ดังนั้น โดยทั่วไปจะใช้สีเคลือบชนิดอุณหภูมิต่ำ

混合彩瓷 เครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้า

        ช่วงเวลาที่เป็นจุดกำเนิดของเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้ายังยากที่จะพิสูจน์ยืนยัน ในรัชศกเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิงได้เริ่มทำการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าเช่น ลายครามพื้นเหลือง ลายครามแดง และอู๋ไฉ่ลายคราม(ต้นแบบของโต้วไฉ๋) เป็นต้นล้วนถูกโรงงานราชสำนักผลิตออกอย่างมากมาย โต้วไฉ่ที่ต่อมาได้พัฒนาอย่างรวดเร็วก็เป็นตัวแทนของเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้ายุคสมัยหมิง

        2. กรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้า

        มองจากด้านขั้นตอนของศิลปหัตถกรรมการผลิตแล้ว เครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้ามีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆและสลับซับซ้อนมากกว่าเครื่องเคลือบเขียนสีทั่วไป ดังนั้นความยากในการผลิตก็สูงกว่าเครื่องเคลือบเขียนสีมาก ในการที่จะผลิตเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าที่ผสมผสานสีใต้เคลือบกับสีบนเคลือบนั้น ก่อนอื่นต้องเขียนวาดสีใต้เคลือบบนเนื้อดินดิบ หลังจากนั้นชุบเคลือบแก้วปกคลุมผิวหน้าชั้นหนึ่ง นำเข้าเตาเผาด้วยอุณหภูมิสูงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ทำการคัดเลือกใบที่มีคุณภาพผ่านเกณฑ์เพื่อทำการเขียนสีบนเคลือบ สุดท้ายนำไปเผาผลิตอีกครั้งที่อุณหภูมิต่ำ จากรงควัตถุสีแต่ละชนิดต่างมีอุณหภูมิการเผาผลิตแตกต่างกัน ในส่วนที่เป็นสีบนเคลือบอาจต้องดำเนินการผลิตหลายๆครั้งจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

        3. เครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้ายุค3จักรพรรดิต้าชิง

        เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบในต้นสมัยต้าชิงมีพัฒนาการจนเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง นักการเครื่องเคลือบของโรงงานเตาหลวงที่จิ่งเต๋อเจิ้นได้หยิบยืมเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าที่มีมาแต่ก่อน(อย่างเช่นลายครามพื้นเหลือง โต้วไฉ่ อู๋ไฉ่ลายครามเป็นต้น) มาทำการพัฒนาเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าออกมามากมายที่มีลักษณะสีสดเป็นพิเศษซึ่งเป็นสีที่สามารถหาได้ในขณะนั้น

        กลุ่มที่1 :การผสมผสานลายไฟกับอู๋ไฉ่

        ในยุคสมัยหมิงและต้าชิง เนื่องจากรงควัตถุสีคอปเปอร์(ลายไฟ)จะปรากฏสีออกมาอย่างไม่เสถียร การเผาผลิตจะยุ่งยากมาก เป็นเหตุให้ทางโรงงานเตาหลวงต้องมาใช้ลายสีแดง(รงควัตถุสีเกลือซัลเฟตของเหล็ก)ซึ่งเป็นสีบนเคลือบที่สามารถควบคุมการเผาผลิตภายใต้สภาวะต่างๆมาทดแทนลายไฟ(เห็นเด่นชัดในเครื่องเคลือบอู๋ไฉ่หลังยุคสมัยหมิง) ในยุคคังซีสมัยต้าชิง เนื่องจากช่างสามารถทำการเผาผลิตภาชนะลายไฟได้อย่างแม่นยำและลายไฟก็ปรากฏสีออกมาโดดเด่นกว่าลายสีแดง เครื่องเคลือบลายไฟจึงถูกโรงงานเตาหลวงผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันบนพื้นฐานของการผลิตเครื่องเคลือบลายครามไฟที่มีอยู่เดิม ได้สร้างสรรค์นำลายไฟแทนที่ลายสีแดงมาผสมผสานกับสีบนเคลือบอื่นๆชนิดอุณหภูมิต่ำ

清康熙·釉里紅龍紋大缸 กระถางลายมังกรไฟ·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง (ปี1661-1722)

清康熙·釉里红五彩折枝月季花纹苹果尊 กระถางแอปเปิ้ลลายไฟกับอู๋ไฉ่·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง (ปี1661-1722)

清康熙·釉里红五彩折枝月季花纹苹果尊 กระถางแอปเปิ้ลลายไฟกับอู๋ไฉ่·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง : ดอกกุหลาบหนูเขียนสีลายไฟ(สีใต้เคลือบ) ใบไม้เขียนสีอู๋ไฉ่(สีบนเคลือบ)

        กลุ่มที่2 :การผสมผสานโต้วไฉ่กับเฝินไฉ่

        เป็นไปตามที่เทคโนโลยีของเครื่องเคลือบเขียนสีในยุคคังซีพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โรงงานราชสำนักที่จิ่งเต๋อเจิ้นช่วงปลายยุคคังซีได้ทำการผลิตเครื่องเคลือบเฝินไฉ่แบบดั้งเดิมออกมาได้แล้ว ช่วงเวลาเดียวกัน ได้เขียนสีเฝินไฉ่ลงบนเครื่องเคลือบโต้วไฉ่ ทำให้ผลิตภัณฑ์โต้วไฉ่ในยุคสมัยนั้นมีกลิ่นอายคลุมเครือของเฝินไฉ่ ตั้งแต่ปลายยุคคังซีเป็นต้นมา ลักษณะพิเศษของเฝินไฉ่ในเครื่องเคลือบโต้วไฉ่แสดงออกที่การละเลงสีบนกลีบดอกไม้

清雍正·斗彩花卉纹双耳扁瓶 แจกัน2หูโต้วไฉ่ลายต้นดอกไม้·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้นราชวงศ์ชิง (ปี1723-1735)

清雍正·斗彩花卉纹双耳扁瓶 แจกัน2หูโต้วไฉ่ลายต้นดอกไม้·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้นราชวงศ์ชิง : กลีบดอกเขียนสีเฝินไฉ่(สีบนเคลือบ) ต้นดอกไม้เขียนสีโต้วไฉ่(ผสมกลมกลืนสีใต้เคลือบกับสีบนเคลือบ)

         กลุ่มที่3 :การผสมผสานลายไฟกับโต้วไฉ่

        การพัฒนาเครื่องเคลือบเขียนสีในยุคเฉียนหลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในบรรดาผลิตภัณฑ์ของยุคสมัยนี้ เครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าที่เป็นการผสมผสานลายไฟกับโต้วไฉ่ได้ปรากฏตัวออกมาเป็นครั้งแรก เนื่องจากมีตัวอย่างของการผสมผสานลายไฟกับอู๋ไฉ่ในยุคคังซี ดังนั้นการเขียนสีคละเคล้าแบบการผสมผสานลายไฟกับโต้วไฉ๋ก็เป็นที่ยอมรับโดยง่าย ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลก

清乾隆·斗彩釉里红梵文莲纹 จานลายไฟกับโต้วไฉ่ลายดอกบัวสันสกฤต·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง (ปี1735-1796)

清乾隆·斗彩釉里红梵文莲纹 จานลายไฟกับโต้วไฉ่ลายดอกบัวสันสกฤต·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง : ด้านหลัง

清乾隆·斗彩釉里红梵文莲纹 จานลายไฟกับโต้วไฉ่ลายดอกบัวสันสกฤต·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง : ดอกบัวเขียนสีลายไฟ(สีใต้เคลือบ)

        กลุ่มที่4 :การผสมผสานลายครามกับเฝินไฉ่

        อู๋ไฉ่กำเนิดขึ้นในต้นรัชศกเซวียนเต๋อยุคสมัยหมิง ในยุคคังซีต้นสมัยต้าชิงได้ดำเนินการสานต่อ เป็นไปตามที่การพัฒนาจนเชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบเฝินไฉ่ของจิ่งเต๋อเจิ้น ลายครามเฝินไฉ่ที่ได้จากการผสมผสานลายครามกับเฝินไฉ่ก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แล้วก็ทำการผลิตออกมาเป็นจำนวนมากหลังยุคเฉียนหลง

清乾隆·青花粉彩凤凰牡丹瓶 แจกันลายครามกับเฝินไฉ่ลายหงส์ดอกโบตั๋น·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง (ปี1735-1796)

清乾隆·青花粉彩凤凰牡丹瓶 แจกันลายครามกับเฝินไฉ่ลายหงส์ดอกโบตั๋น·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง : ใบไม้เขียนสีลายคราม(สีใต้เคลือบ) หงส์ดอกโบตั๋นเขียนสีเฝินไฉ่(สีบนเคลือบ)

清乾隆·青花粉彩九龙橄榄瓶 แจกันลายครามกับเฝินไฉ่ลาย9มังกรเมฆ·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง (ปี1735-1796)

清乾隆·青花粉彩九龙橄榄瓶 แจกันลายครามกับเฝินไฉ่ลาย9มังกรเมฆ·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง : เมฆเขียนสีลายคราม(สีใต้เคลือบ) มังกรเขียนสีเฝินไฉ่(สีบนเคลือบ)—ด้วยสีแดง(เกลือซัลเฟตของเหล็ก)และสีทอง

        กลุ่มที่5 :การผสมผสานโต้วไฉ่กับฝ้าหลางไฉ่

        โต้วไฉ่ที่ผลิตในยุคคัง-ยุง-เฉียนมีความงามวิจิตรมาก นอกจากจะแฝงด้วยลักษณะพิเศษของเฝินไฉ่แล้ว ยังมีโต้วไฉ่ที่มีเอกลักษณ์ของฝ้าหลางไฉ่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด เครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าแบบนี้และเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าแบบการผสมผสานลายไฟกับโต้วไฉ่จะพบเห็นได้น้อยมาก สิ่งที่อยากจะกล่าวเพิ่มเติมก็คือ เฝินไฉ่และฝ้าหลางไฉ่เมื่อทำการเผาออกมาแล้วจะมีมิตินูนที่เป็นเอกลักษณ์ปรากฏออกมา

清乾隆·斗彩珐琅彩瓜蝶纹三多婴儿一团和气杯 จอกโต้วไฉ่กับฝ้าหลางไฉ่ลายเด็กถือลูกท้อ·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง (ปี1735-1796)

清乾隆·斗彩珐琅彩瓜蝶纹三多婴儿一团和气杯 จอกโต้วไฉ่กับฝ้าหลางไฉ่ลายเด็กถือลูกท้อ·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง : สังเกตเห็นมิตินูนและสภาพส่วนที่สึกหรอของฝ้าหลางไฉ่(สีบนเคลือบ)

        กลุ่มที่6 :การผสมผสานลายคราม โต้วไฉ่ สีเคลือบจิน และเฝินไฉ่

        ในบรรดาเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าที่สลับซับซ้อนมากที่สุดคงหนีไม่พ้น #แจกันยักษ์หลากผิวเคลือบเฉียนหลง เครื่องเคลือบนี้รวบสีใต้เคลือบ(ลายคราม) สีกลางเคลือบ(สีเคลือบจิน สีเคลือบถั่วเขียว) และสีบนเคลือบ(เฝินไฉ่ สีทอง) เป็นต้นรวมอยู่บนร่างเดียวกัน ถือเป็นเครื่องเคลือบเขียนสีคละเคล้าเชิงตัวแทนมากที่สุด

 
清乾隆·各种釉彩大瓶 แจกันยักษ์หลากผิวเคลือบ·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง : ได้เคยเผยแพร่บทความที่กล่าวถึงแจกันยักษ์นี้โดยเฉพาะ สนใจโปรดคลิกลิงค์   https://puerthaiblog.blogspot.com/2018/02/blog-post.html

        4. สรุป

        เนื่องจากนักการเครื่องเคลือบของโรงงานเตาหลวงที่จิ่งเต๋อเจิ้นในยุคคังซีค่อยๆทำความเข้าใจเข้าถึงฝ้าหลางไฉ่ที่นำเข้ามา พวกช่างเครื่องเคลือบประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนาให้เหมาะกับวิถีแห่งตน เฝินไฉ่ของโรงงานเตาหลวงที่มีสีประกายแวววาว การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้ผลักดันให้เครื่องเคลือบเขียนสีของโรงงานเตาหลวงพัฒนาอย่างรวดเร็ว แล้วก็ขับเคลื่อนการสร้างสรรค์เครื่องเคลือบเขียนสีใหม่ๆเป็นลูกโซ่ เมื่อช่างเตาเผาโรงงานขะมักเขม้นในการผลิตเครื่องเคลือบเขียนสีที่มีกลิ่นอายเข้มข้นของต้าชิง เป็นการนำการผลิตเครื่องเคลือบเขียนสีเข้าสู่จุดสุดยอดของประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งอย่างไม่รู้ตัว

........ จบบริบูรณ์........

เอกสารอ้างอิง :
1. 清康雍乾三代混合彩瓷的六种组合  :  https://www.jianshu.com/p/36ada1ff7779
2. 清康熙,雍正,乾隆时期混合彩瓷  :  https://blog.artron.net/space-1220784-do-blog-id-1315289.html