วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ความเข้าใจเกี่ยวกับปั้นเคมี



        เห็นมีการยกกรณีของปั้นจื่อซาที่ “เนื้อดิน” มีสีที่ผิดแปลกจากสีธรรมชาติของ “ดินจื่อซา” เช่นสีออกเขียว น้ำเงิน หรือดำ เป็นต้นล้วนถือเป็น “ดินเคมี” แล้วมีความเข้าใจว่า ถ้าหากนำมาใช้ชงชาดื่มแล้วจะมีโทษต่อร่างกาย 


▲ปั้นเคมี/化工壶


        ก่อนอื่น มานิยามกันก่อนว่า “ดินเคมี” คืออะไร? : คือดินที่นำดินเกาลินหรือดินเหนียว ผงควอทซ์ โซเดียมซิลิเกต(แก้วเหลว/Water Glass) และสารโลหะออกไซด์หรือสีย้อมเคมีที่เป็นสารให้สีมาผสมกันตามอัตราส่วน โดยทั่วไปจะผสมสารให้สีที่เกินค่ามาตรฐาน ดังนั้น “ปั้นเคมี” ที่ทำออกมาจะมีสีที่สดกว่า


        โดยทั่วไป “ปั้นเคมี” จะมีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้


        1. ผิวปั้นโดยทั่วไปจะมีสีที่ค่อนข้างเจิดจ้า สีที่เจิดจ้าส่วนใหญ่ได้จากการเติมโซเดียมซิลิเกตในปริมาณที่มากเกิน หรือจากการพ่นน้ำดินเคมีเคลือบผิว

        2. ความสามารถในการดูดซึมน้ำโดยทั่วไปจะค่อนข้างต่ำ ไม่มีคุณสมบัติที่อากาศสามารถซึมผ่านได้ เมื่อราดน้ำลงบนตัวปั้น น้ำบนตัวปั้นจะไม่ถูกซึมซับ

        3. สีปั้นโดยทั่วไปจะค่อนข้างแวววาว โดยทั่วไปทำจากการนำดินเหนียวผสมสีย้อมเคมี

        4. การเลี้ยงปั้นให้เกิดมันเงาได้ยาก ไม่ว่าจะเลี้ยงยังไง สิ่งที่หลงเหลืออยู่บนผิวปั้นก็เพียงแค่กากชา

        5. กลิ่นแปลกปลอม เมื่อรินเทน้ำร้อนลงในปั้นจะมีกลิ่นที่แสบจมูก


        กรณีของปั้นจื่อซาหยีซิงที่ถูกกล่าวว่าเป็น “ปั้นเคมี” ผู้บริโภคมีความกังวลว่า ปั้นจื่อซาจำนวนหนึ่งจะเป็นพิษต่อร่างกายจากการผสมวัตถุสารเคมีลงไป อันที่จริงดินจื่อซาธรรมชาติโดยตัวของมันเองก็ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดด้วยกัน นี่เป็นสาเหตุที่อุปกรณ์จื่อซาสำแดงสีตัวตนออกมา 


▲องค์ประกอบทางเคมีของอุปกรณ์จื่อซา


        ในช่วงยุคสาธารณรัฐ มีดินชนิดหนึ่งที่มีสีพิเศษเฉพาะที่เรียกขานว่า “หมิงกั๋วลวี่หนี/民国绿泥” (ดินเขียวสาธารณรัฐ) โดยการนำแร่โคบอลต์และผงสีเขียวโครเมียมออกไซด์ผสมกับดินจื่อซาชนิด “เปิ่นซานลวี่หนี/本山绿泥” เมื่อผ่านการเผาผนึกแล้ว สีเนื้อดินจะออกโทนสีเขียวเข้มอมน้ำเงิน ซึ่งในยุคสมัยนั้น แร่โคบอลต์ต้องนำเข้าจากเยอรมันจึงมีราคาแพง ประกอบกับวัตถุดิบดินมีปริมาณน้อย ดังนั้นจึงมีศิลปินทำปั้นน้อยคนนักที่สามารถใช้ “หมิงกั๋วลวี่หนี” มาทำเป็นปั้นจื่อซา 


▲ปั้นเสมอกัน/均匀壶 โดยกู้จิ่งโจว ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี

▲ปั้นสี่เหลี่ยมท้องกลอง/鼓腹四方壶 โดยหวังหยินชุน ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี

▲ปั้นกระถางธูป/小传炉壶 โดยหวูอวิ๋นกึน ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี

▲ชุดปั้นมังกรเมฆ/云龙壶套组 โดยจูเข่อซิน ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี

▲ปั้นกงชุน/供春壶 โดยวังหยินเซียน ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี


        ปัจจุบัน ผู้คนที่ชื่นชอบจื่อซาหยีซิงเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น เพื่อความพึ่งพอใจของลูกค้าที่มีระดับความต้องการต่างๆกัน เพื่อให้ได้สีของผลิตภัณฑ์จื่อซาเช่นปั้นจื่อซาให้มีสีที่สดและหลากหลายมากขึ้น จึงจำต้องผสมผงสีโลหะออกไซด์ในปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย


        อาทิเช่น เหล็กออกไซด์(Fe2O3) โดยทั่วไปผสมอยู่ในดินจูหนี ทำให้ได้สีแดงสดราวกับต้าหงผาว โคบอลต์ออกไซด์(CoO) เป็นสารให้สีออกโทนน้ำเงิน แมงกานีสออกไซด์(MnO) เมื่อเติมในดินจื่อหนีทำให้สีออกม่วงที่ดูสดสวยมากขึ้น โครเมียมออกไซด์(Cr2O3) เป็นผงสีเขียว


        ปั้นจื่อซาผสมโลหะออกไซด์กับปั้นเคมีเป็นคนละแนวความคิด วัตถุดิบของปั้นเคมีมิใช่ดินจื่อซาแท้จริงจากธรรมชาติ เป็นดินที่ทำปลอมแปลงดินจื่อซาโดยผสมสารเคมีปรุงแต่งสีขึ้นมา ส่วนใหญ่เพื่อสามารถทำการผลิตได้ในปริมาณมาก ต้นทุนต่ำ อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ 


        การที่ระบุว่า ปั้นจื่อซาที่มีการผสมสารโลหะออกไซด์เช่นโคบอลต์ออกไซด์จะถือเป็น “ปั้นเคมี” ที่มีพิษก็จะเป็นการกล่าวที่ขาดการไตร่ตรองไปสักหน่อย เนื่องจากสารโลหะเหล่านี้มีจุดหลอมเหลวที่สูงมาก และก็ทนต่อสภาพที่ปั้นจื่อซาถูกเผาผนึกที่อุณหภูมิ 1200ºC หลังผ่านการเผาผลิตเสร็จแล้วก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของเนื้อดิน แล้วจะละลายออกมาอยู่ในน้ำชาที่ไม่ถึงร้อยองศาได้อย่างไรเล่า? “สารโลหะ” เหล่านี้ในเมื่อไม่ละลายอยู่ในน้ำชาแล้วใยจะเข้าสู่ในร่างกายได้เล่า? เมื่อไม่เข้าสู่ในร่างกายแล้วจะมีผลเป็นพิษต่อคนได้ยังไง?


        อันที่จริง ในการผลิตเครื่องเคลือบลายครามก็จะใช้ผงสีโคบอลต์ออกไซด์ในการเขียนสีลายคราม ในชั้นเคลือบใสจะมีสารนิกเกิล ในน้ำเคลือบสีขาวก็จะมีสารตะกั่ว ถ้าหากสารโลหะเหล่านี้สามารถเข้าสู่ในร่างกายได้แล้วไซร้ ถ้าเช่นนั้นเครื่องเคลือบดินเผาที่มีชั้นผิวเคลือบก็เป็นอุปกรณ์ภาชนะที่มีพิษใช่หรือไม่? 


▲ผงสีน้ำเงินโคบอลต์ออกไซด์ใช้ในการเขียนสีลายคราม




 เอกสารอ้างอิง :

1. 你的壶是化工壶吗?http://www.360doc.cn/article/17976275_619536142.html

2. 民国绿是一款什么样的紫砂泥料?https://kuaibao.qq.com/s/20200526A0PYII00?refer=spider

3. 假的紫砂壶有毒吗?http://www.lyspdl.com/index.php/post/3397.html

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เครื่องเคลือบราชสำนักฝาแฝดราชวงศ์หมิง



        เพื่อเป็นการต่อต้านการรุกรานของชนเผ่าทางเหนือ จักรพรรดิหย่งเล่อราชวงศ์หมิงได้ย้ายเมืองหลวงจากหนานจิงมายังเป่ยจิง ในวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 11 เมื่อ 600 ปีก่อน(ปี 1420) จักรพรรดิหย่งเล่อได้ป่าวประกาศต่อชาวโลกว่า “จื่อจิ้งเฉิง/紫禁城” (พระราชวังต้องห้าม) ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


        ตามกฎของสรรพสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง จื่อจิ้งเฉิงแทบจะไม่ใช่รูปแบบที่ได้พบเห็นในตอนแรกเริ่ม แต่มีวัตถุภาชนะชิ้นหนึ่งที่ได้ติดตามจักรพรรดิหย่งเล่อเข้าไปในจื่อจิ้งเฉิง แล้วได้เป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นประวัติศาสตร์อย่างครบถ้วนตลอดระยะ 600 ปี มันก็คือ《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》 


▲《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》


        ในเอกสารบันทึกยุคหมิงได้บันทึกไว้ว่า : ในช่วงเวลาที่เสด็จออกว่าราชการที่ฟ่งเทียนเหมิน(奉天门) หลังจักรพรรดิหย่งเล่อได้ประทับบนพระเก้าอี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าราชสำนักก็จะยกกระถางธูปรูปภูเขาแม่น้ำมาวางไว้หน้าพระพักตร์ แล้วกราบบังคมทูลว่า “อันติ้ง(ติ่ง)เลอ/安定(鼎)了” (มั่นคงแล้ว) ซึ่งวัตถุภาชนะชิ้นนี้ทำให้เห็นอุดมคติของจักรพรรดิหย่งเล่อในการสร้างจื่อจิ้งเฉิงขึ้นมา 


▲พิธีการยกกระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาไปวางไว้หน้าพระพักตร์จักรพรรดิหย่งเล่อช่วงเสด็จออกว่าราชการที่ฟ่งเทียนเหมิน


      《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》เผาสร้างขึ้นในยุคที่สถาปนาจื่อจิ้งเฉิง เป็นกระถางธูปที่มีรูปลักษณะเหมือนติ่ง() เนื่องจากทำการเผาผลิตยากมาก กระถางธูปรูปแบบนี้ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมีเพียง 3 ชิ้น บนผิวกระถางธูปเขียน “ลายคลื่นทะเลหน้าผา/海水江崖纹” นำรูปการม้วนตัวของคลื่นทะเลและภูเขามาประกอบกันในความหมาย “พสุธา/江山” ซึ่งมีความหมายโดยนัย “โชคลาภอายุขวัญยืน แผ่นดินมั่นคงนิรันดร์/福山寿海,江山永固” 


▲《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》สูง 57.8 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 37.8 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางขา 37.5 ซม.


▲“ลายคลื่นทะเลหน้าผา” บ่งบอกถึงอุดมคติ “แผ่นดินมั่นคงนิรันดร์”


        ในยุคปี 80 ศตวรรษที่แล้ว ได้ค้นพบซากโบราณสถานโรงงานเตาเผาหลวงราชวงศ์หมิงที่เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นโดยบังเอิญ เศษชิ้นส่วนเครื่องเคลือบจำนวนมากที่ขุดขึ้นมาหลังผ่านการจัดการแล้วล้วนสามารถทำให้คืนสู่สภาพเดิมได้ ซึ่งมีร่องรอยของการถูกทุบอย่างเด่นชัด นี่เป็นความจงใจที่ทำให้แตกเป็นชิ้นๆแล้วฝังลงดิน 


▲เศษชิ้นส่วนเครื่องเคลือบที่ขุดขึ้นมาจากซากโบราณสถานเตาเผาหลวงราชวงศ์หมิงที่เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น

▲การซ่อมคืนสู่สภาพเดิมจากเศษชิ้นส่วนเครื่องเคลือบในชั้นกองซากใต้ดิน
 

        ในชั้นที่ 5 ที่เป็นชั้นกองซากเศษแผ่นกระเบื้องของเตาเผาหลวงรัชสมัยหย่งเล่อ จะมีเศษชิ้นส่วนของ《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》หลังใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการซ่อมคืนสู่สภาพเดิมจึงเสร็จสมบูรณ์ มองจากรูปลักษณะภายนอก มันและ《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเลอราชวงศ์หมิง》ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานกู้กงและหนานจิง ล้วนกำเนิดขึ้นในยุคเดียวกัน 


▲ใต้ดินชั้นที่ 5 เป็นชั้นรัชสมัยหย่งเล่อที่เศษชิ้นส่วนของ《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》กองซากอยู่


▲《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》หลังการซ่อมคืนสู่สภาพเดิมจากเศษชิ้นส่วนเครื่องเคลือบที่ขุดขึ้นมาจากจิ่งเต๋อเจิ้น เหตุที่เป็นของเสียเนื่องจากเกิดการยุบตัวในช่วงเวลาเผา


▲《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》รูปลักษณะเหมือนกัน 3 ใบ เก็บรักษาไว้ที่ (ซ้าย) กู้กง (กลาง) จิ่งเต๋อเจิ้น (ขวา) หนานจิง

         ก็เป็นเพราะจากการขุดพบชิ้นงานชำรุดนี้ จึงได้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องจากเดิมที่สันนิษฐานว่าเผาผลิตขึ้นในยุครัชสมัยเซวียนเต๋อ ที่แท้เผาผลิตขึ้นในยุครัชสมัยหย่งเล่อ


        มีเครื่องเคลือบราชสำนัก “ฝาแฝด” จำนวนมาก เมื่อ 600 ปีก่อนพวกมันเกิดที่จิ่งเต๋อเจิ้นถิ่นกำเนิดเดียวกัน สาเหตุอันเนื่องจากโหงวเฮ้ง ทำให้ชะตาชีวิตแตกต่างกัน หนึ่งถูกส่งไปที่กู้กง หนึ่งถูกทุบแตกเป็นชิ้นๆแล้วฝังกลบที่ถิ่นกำเนิด แต่แล้ว “ฝาแฝด” มีโอกาสได้มาพบกันอีกครั้ง ก็หลังจากผ่านพ้นไป 600 ปี !


        ทำไมเครื่องเคลือบราชสำนักฝาแฝดจำนวนมากต้องพลักพรากจากกันถึง600ปี ? 


        นี่ต้องเริ่มต้นที่จิ่งเต๋อเจิ้น เริ่มจากรัชศกที่ 2 รัชสมัยหงหวู่ราชวงศ์หมิง(ปี 1369) ราชสำนักได้สร้าง “โรงงานเครื่องเคลือบดินเผาหลวง” (ราชวงศ์ชิงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “โรงงานเตาเผาหลวง”) ขึ้นที่จิ่งเต๋อเจิ้น เพื่อเผาผลิตเครื่องใช้ราชสำนักโดยเฉพาะ โดยจัดส่งขุนนางไปเป็นผู้กำกับดูแลการผลิต มีระบบการจัดการอย่างเข้มงวด จะเคร่งครัดมากต่อการจัดการผลิตภัณฑ์ที่เหลือเกินจำนวนจากการส่งมอบถวายเข้าวังและของเสียที่มีตำหนิ ซึ่งจะถูกรวบรวมไปทำการทุบแตกเป็นชิ้นๆแล้วนำไปฝังกลบบริเวณโรงงานเตาเผาหลวง เป็นการธำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของจักรพรรดิ และก็เป็นการรักษามาตรฐานของเครื่องเคลือบเตาเผาหลวง ระบบนี้ได้สืบสานต่อมาแทบทุกรัชสมัย ตราบจนถึงรัชสมัยเซวียนถ่งราชวงศ์ชิง(ปี 1911) ราชวงศ์ชิงได้ล่มสลาย ก็เป็นอันสิ้นสุดภารกิจประวัติศาสตร์ของโรงงานเตาเผาหลวง 


        นับต่อแต่นี้ไปอีกหลายร้อยปี เหล่าช่างผู้ชำนาญการเครื่องเคลือบที่โดดเด่นที่สุดจากทั่วประเทศมารวมอยู่ในโรงงานนี้ เป็นไปตามความต้องการและการออกแบบของราชสำนัก ได้ใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุด ดำเนินการเผาผลิตเครื่องเคลือบเลอเลิศที่สวยงามอย่างไม่มีที่ติออกมาเป็นจำนวนมาก เบื้องหลังของชิ้นงานล้ำเลิศคือการสะสมและการทดลองที่นับครั้งไม่ถ้วน ความสลับซับซ้อนของเตาเผาสุดที่จะคาดเดาได้ การเปลี่ยนรูป รอยแตกร้าว สีเพี้ยน สีซีด...ชิ้นงานชั้นเลิศที่ค่อนข้างทำยากโดยทั่วไปจะมีโอกาสความสำเร็จเพียงหนึ่งในสิบ กระทั้งถึงหนึ่งในร้อย


        ชิ้นงานที่ถูกคัดเลือกจากผลิตภัณฑ์ที่เผาผลิตเสร็จก็ต้องฝ่าเขาลุยน้ำถูกส่งไปยังเมืองหลวง แล้วถูกเก็บสะสมไว้ในพระราชวัง ส่วนของเสียที่ถูกคัดทิ้งก็จะถูกทุบให้แตก ณ จุดนั้นทันที รวบรวมเป็นกองซากฝังกลบชันใต้ดินที่โรงงานเตาเผาหลวง 


▲โบราณสถานโรงงานเตาเผาหลวงราชวงศ์หมิงที่เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น


        พิพิธภัณฑสถานกู้กงได้ทำการเก็บรักษาเครื่องเคลือบจากโรงงานเตาเผาหลวงยุคราชวงศ์หมิงและชิงไว้เป็นจำนวนไม่น้อย จิ่งเต๋อเจิ้นก็ได้ขุดพบส่วนที่หลงเหลืออยู่ใต้ดินในกองซากโบราณสถานโรงงานเตาเผาหลวงเป็นจำนวนมาก ได้ขุดเครื่องเคลือบของเตาเผาหลวงราชวงศ์หมิงในช่วงของรัชสมัยหงหวู่ หย่งเล่อ เซวียนเต๋อ เจิ้งถ่ง เฉิงฮว่า หงจื้อ เจิ้งเต๋อ ได้ออกมาเป็นจำนวนมาก สามารถรวบรวมเศษชิ้นส่วนของเครื่องเคลือบใช้ในราชสำนักที่ถูกทุบแตกได้จำนวนเป็นตัน นำมาทำการประกอบเชื่อมติดซ่อมคืนสู่สภาพเดิมได้ถึง 1400 กว่าชิ้น เป็นการกู่ร้องถึงเครื่องเคลือบราชสำนักราชวงศ์หมิงที่เก็บอยู่ในพระราชวังอันไกลพ้นว่าเราสามารถเทียบคู่กัน

หมายเหตุ : “ภาพเทียบคู่” (ซ้าย) ภาพเครื่องเคลือบราชสำนักที่สมบูรณ์เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานกู้กง (ขวา) ภาพเครื่องเคลือบที่ซ่อมคืนสู่สภาพเดิมที่ขุดขึ้นมาจากโบราณสถานโรงงานเตาเผาหลวงที่จิ่งเต๋อเจิ้น


▲《จานใหญ่ลายดอกโบตั๋นหินทะเลสาบเครื่องลายครามรัชสมัยหงหวู่ราชวงศ์หมิง》

▲จานใบทางขวาถูกคัดทิ้งเนื่องจากเกิดการเปลี่ยนรูป

▲《ปั้นหมวกพระเคลือบเถียนไป่รัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》

▲บางส่วนของปั้นเกิดรอยแตกร้าว

▲《แจกันแบนน้ำเต้าหูสายริบบิ้นลายดอกกงจักรเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》สีเคลือบแตกต่างกัน

▲《จอกถนัดมือลายดอกเถาวัลย์เครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》สภาพทุกอย่างสมบูรณ์ อาจเป็นถ้วยที่เหลือเกิน เนื่องจากเป็นถ้วยใช้เฉพาะจักรพรรดิ บุคคลอื่นห้ามใช้(ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

▲《จอกขาสูงลายปลาสามตัวเครื่องลายไฟรัชสมัยเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิง》เนื่องจากการเผาผลิตเครื่องลายไฟจะยากมาก โอกาสเผาได้เป็นผลิตภัณฑ์จะต่ำมาก ลายปลาเขียนสีแดงจึงเกิดสีซีด

▲《กาแบนหูคู่ลายช่อดอกไม้เครื่องลายครามรัชสมัยเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิง》สีลายครามแผ่ซ่านมากเกินไป

▲《เหมยผิงลายดอกเถาวัลย์เครื่องลายครามรัชสมัยเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิง》

▲ผิวเคลือบแตกลายงา

▲《จานลายมังกรหงส์เครื่องลายครามรัชสมัยเฉิงฮว่าราชวงศ์หมิง》ในพิพิธภัณฑสถานกู้กงไม่มีจานรูปแบบนี้

▲สภาพทุกอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ทว่าลายมังกรเขียนเกินมา 1 เล็บ รวมเป็น 6 เล็บ ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ถึงขั้นประหารชีวิต จึงจำเป็นต้องรีบทำลายหลักฐานทิ้ง

▲《ถ้วยลายดอกบัวมงคลแปดแบบเครื่องเคลือบโต่ไฉ่รัชสมัยเฉิงฮว่าราชวงศ์หมิง》ถ้วยรูปแบบนี้ในพิพิธภัณฑสถานกู้กงก็ไม่มี

▲ตราประทับตัวอักษร “” ขาดไปหนึ่งจุด

▲《จานลายช่อดอกผลไม้เครื่องลายครามพื้นเคลือบเหลืองรัชสมัยหงจื้อราชวงศ์หมิง》ลายครามสีซีดอมเทา

▲《ถ้วยเคลือบสีเขียวนกยูงรัชสมัยเจิ้งเต๋อราชวงศ์หมิง》สีเคลือบไม่สม่ำเสมอ

▲《กระโถนลายมังกรดั้นดอกไม้เครื่องลายครามรัชสมัยเจิ้งเต๋อราชวงศ์หมิง》ลายครามสีซีด

▲《จานลายมังกรคลื่นทะเลเครื่องลายครามผสมฝานหงไฉ่รัชสมัยเจิ้งถ่งราชวงศ์หมิง》เนื่องจากไม่มีตราประทับ ที่ผ่านมาวงการเครื่องเคลือบระบุเป็นของยุครัชสมัยเซวียนเต๋อ เมื่อจานใบขวามือที่ขุดได้จากใต้ดินชั้นรัชสมัยเจิ้งถ่ง มีรูปลักษณะเหมือนกัน จึงทำให้ทราบแน่ชัดว่าใบทางซ้ายควรจะเป็นของยุครัชสมัยเจิ้งถ่ง

▲《ถ้วยลายการละเล่นเด็กเครื่องลายครามรัชสมัยเจิ้งถ่งราชวงศ์หมิง》ใบทางซ้ายโดยทั่วไปจะมองเป็นของเตาเผาหลวงเฉิงฮว่า และก็มีคนคิดเห็นว่าเป็นของยุครัชสมัยเจิ้งเต๋อ เนื่องจากถ้วยมีรูปลักษณะคล้ายถ้วยยุครัชสมัยเจิ้งเต๋อ เมื่อถ้วยใบขวามือที่ขุดได้จากใต้ดินชั้นรัชสมัยเจิ้งถ่ง ดังนั้นเมื่อเทียบคู่กันแล้ว จึงถือเป็นของยุครัชสมัยเจิ้งถ่ง


        จากการนำเสนอ “ภาพเทียบคู่” ข้างต้น ทำให้พวกเราได้เข้าใจถึงเบื้องหลังของเครื่องเคลือบราชสำนักที่เก็บรักษาอยู่ที่กู้กงนั้น อันที่จริงยังมีของที่ล่มเหลว ของเสียที่มีตำหนิ และของทดลองอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เนื่องจากมีของเหล่านี้ จึงทำให้พวกเราสามารถเห็นของล้ำค่าชั้นเลิศที่เจิดจรัสแสดงอยู่ที่กู้กง


        เครื่องเคลือบโดยการนำเศษชิ้นส่วนที่ขุดขึ้นมาซ่อมคืนสู่สภาพเดิม สามารถนำไปเทียบคู่กับเครื่องเคลือบเมืองจีนที่เก็บอยู่ตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆทั่วโลก การจะรู้เป็นของยุคสมัยไหน โดยผ่านเศษชิ้นส่วนของเครื่องเคลือบเหล่านี้ ทำให้รู้ตัวตนที่แท้จริงว่าเป็นใคร รากเหง้าอยู่ที่ไหน การซ่อมเศษแผ่นเครื่องเคลือบให้คืนสู่สภาพเดิมก็คือการซ่อมประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง


     《สมบัติแห่งชาติ/国家宝藏


      《กระถางธูปสามขาลายคลื่นทะเลหน้าผาเครื่องลายครามรัชสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง》ได้กลายเป็นโบราณวัตถุของอารยธรรมจีนอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นดาวจรัสแสงระยิบระยับ  600 ปีที่ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ยืนอยู่บนบริบทของประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติและอารยธรรมโลก การเขียนสีตกแต่งด้วย “ลายคลื่นทะเลหน้าผา” ไม่เพียงแค่บนความหมายโดยนัยว่า “แผ่นดินมั่นคงนิรันดร์” ยังบ่งบอกถึงการพึ่งพากันของภูเขาและแม่น้ำอันมีความหมายแฝงของ “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ในยุคสมัยใหม่


        600 ปีก่อน จักรพรรดิหย่งเล่อได้ย้ายเมืองหลวงมายังเป่ยจิงและสร้างจื่อจิ้งเฉิง  600 ปีหลัง พวกเราได้เข้าใจประวัติศาสตร์สัมผัสวัฒนธรรมจีนโดยผ่านสมบัติแห่งชาติทุกๆชิ้น


▲สารคดีโทรทัศน์《สมบัติแห่งชาติ/国家宝藏》ซีซั่น 3 มีทั้งหมด 9 ตอน โดยนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาและเป็นไปของสมบัติชาติจีนที่ย้อน 600 ปีก่อนไปจนถึง 3200 ปีก่อน เริ่มออนแอร์ตอนที่ 1 ในต้นเดือน ธ.ค.ศกนี้แล้ว






เอกสารอ้างอิง :

1.「国家宝藏 第三季」https://youtu.be/e0Dd2reAB2Q

2.《国家宝藏》埋了三年的彩蛋终于揭晓!https://m.sohu.com/a/436954899_99992249/?pvid=000115_3w_a

3. “御瓷新见”https://www.dpm.org.cn/show/253755.html

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ยุทธจักรชาผูเอ่อร์ในสภาวะการณ์ที่สับสนปนเป | ตอนที่ 6/6


        ไม่ว่าสภาวะการณ์ที่ไม่แน่นอนของยุทธจักรจะผันแปรอย่างไร ท้ายสุดที่พวกเราจะต้องกล่าวถึงก็คือชีวิตที่เปลี่ยนไปของครอบครัวคนทำชาท้องถิ่น แน่นอนการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดมากที่สุดคือสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขายกระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากชาผูเอ่อร์มีราคาแล้ว ดังนั้นคนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาได้กลายเป็นผู้ที่มีฐานะร่ำรวยแล้ว 

▲ลักษณะบ้านของครอบครัวคนเดียวกันในยี่หวู่ที่ถ่ายภาพเมื่อปี 2007 เทียบกับปี 2019 จากบ้านชั้นเดียว รื้อก่อสร้างใหม่เป็นบ้าน 7 ชั้น เป็นทั้งที่อยู่อาศัย โรงงานทำชา และสถานที่ต้อนรับแขก

        เนื่องจากใบชาได้เปลี่ยนเป็นทอง ทำให้ทุกคนมุ่งทำสวนชาอย่างบากบั่นหมั่นเพียร บางครั้งอาจจะเป็นการเอาการเอางานมากเกินไป ทำให้เป็นที่น่าหนักใจต่อธรรมชาติและระบบนิเวศของขุนเขาชา 

        นอกจากนั้น เพื่อให้ชาผูเอ่อร์มีมาตรฐานทางคุณภาพความปลอดภัย(QS) มาตรฐานนี้ได้เริ่มประกาศใช้ประมาณตั้งแต่ปี 2006  ครอบครัวทำชาจำนวนมากจำต้องเสาะหาบริเวณพื้นที่ใหม่ภายนอกบ้านพักอาศัย ก่อสร้างโรงงานที่ทันสมัย ถ้าหากคุณได้ไปยี่หวู่ ยืนอยู่บนที่สูงแล้วจะมองเห็นว่า เดิมบ้านที่มุงหลังคาด้วยแผ่นกระเบื้องขี้เถ้ายิ่งอยู่ไปยิ่งถูกแผ่นเหล็กก่อสร้างสมัยใหม่มาปิดบังและแทะกลืนกินไปเรียบร้อยแล้ว 

▲สภาพบ้านหลังเก่าที่ถูกทดแทนด้วยอาคารโรงงานทันสมัย

        ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงเลยมิได้ ก็คือ “การเปลี่ยนใหม่ทางรสชาติ” คนยี่หวู่แท้จริงก็เหมือนคนอวิ๋นหนานทั่วไป ในระยะเวลาอันยาวนานโดยดื่มชาดิบเป็นส่วนใหญ่ รสชาติของมันใกล้เคียงกับชาเขียว

        ชาเก่าแน่นอนเป็นของล้ำค่าหายาก ถึงแม้ในช่วงปี 2007 คนพื้นที่ยี่หวู่ได้รู้จักชาผูเอ่อร์ที่ยิ่งเก่ายิ่งหอมกันแล้ว แต่ว่าในช่วงนั้นอันที่จริงพวกเขาแทบจะไม่ยอมรับ กระทั่งมีการต่อต้านเล็กน้อย แต่ว่าในปีล่าสุดที่ผ่านมาได้พบเห็นคนท้องถิ่นได้หันมาดื่มชาเก่าที่มีอายุ 5-10 ปีที่พวกเขาเป็นคนเก็บด้วยตัวเอง

▲การเปลี่ยนใหม่ทางรสชาติ

        แนวความคิด “ยิ่งเก่ายิ่งหอม” กำลังเปลี่ยนแปลงแหล่งผลิตชาของอวิ๋นหนาน ไม่เพียงแต่บนรสชาติ ยังอยู่บนแนวความคิด บนการเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจ เป็นต้น ทางมนุษยวิทยาจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “รสชาติที่ตระหนักรู้ได้ในภายหลัง” (Learned Taste) คือการบ่งชี้ถึงรสชาติหนึ่ง คุณค่าหนึ่ง อันที่จริงมันเป็นผลจากการค่อยๆประติประต่อขึ้นมาโดยการเปลี่ยนใหม่ทางสังคมและวัฒนธรรม 

        อะไรคือ “การตระหนักรู้ได้ในภายหลัง” สิ่งที่บ่งชี้ถึงก็คือไม่ว่ามาตรฐานดั้งเดิมใดๆนั้นมิใช่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันล้วนเป็นการกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ 

        นี่ถือเป็นการวิเคราะห์ถึงกระบวนการของมาตรฐานดั้งเดิมระบบหนึ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้นมาได้อย่างไร แล้วมาแบ่งปันกับพวกท่าน

        สวัสดี ขอขอบคุณพวกท่านทุกคน  



เอกสารอ้างอิง : https://youtu.be/uTSKS6skVYU

วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ยุทธจักรชาผูเอ่อร์ในสภาวะการณ์ที่สับสนปนเป | ตอนที่ 5/6




        ภายใต้สภาวะที่ชาเก่ามีค่าหายากมีคุณค่าต่อการเก็บไว้ ราคาโดยองค์รวมของวัตถุดิบใบชาปรับสูงขึ้น ราคาระหว่างชาต้นใหญ่และชาไร่แตกตต่างกันกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดแบ่ง “แหล่งกำเนิดที่เดียว” ก็ยิ่งแบ่งยิ่งละเอียด การแข่งขันแหล่งที่มายิ่งมายิ่งรุนแรงขึ้น นำไปสู่สภาวะการสอดใส้และทำปลอมก็จะยิ่งมายิ่งมาก

        จากการประเมินของผู้มากประสบการณ์ โดยยกยี่หวู่เป็นกรณีตัวอย่าง ผลผลิตต่อปีของชาต้นใหญ่ไม่เกิน 100 ตัน ชาไร่อาจได้ถึง 300 ตัน แต่ในท้องตลาดข้างนอก แผ่นชาที่ตีตรา “ยี่หวู่ของแท้” มีไม่น้อยกว่า 3000 ตัน ซึ่งในนั้นมีเป็นจำนวนมากที่ระบุว่า “ชาต้นโบราณยี่หวู่” 

        ทางรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้ทั่วทั้งตลาดเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน แต่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่า “ธรรมะสูงหนึ่งคืบ มารร้ายสูงหนึ่งศอก” จึงไม่สามารถจับได้ไล่ทันเลห์เหลี่ยมกลโกงตลอดมา ดังนั้นผู้คนจำนวนมากจึงปรารภชาผูเอ่อร์ดั่งยุทธจักร 

▲ยุทธจักรผูเอ่อร์ “อันตรายและแข่งขัน” 

        ที่กล่าวว่าชาผูเอ่อร์คือยุทธจักรนั้น ที่เด่นชัดมากที่สุดคือ ในแวดวงถิ่นฐานไม่มีกฏเกณฑ์ที่เห็นพ้องต้องกันเป็นหนึ่งเดียว ยกตัวอย่างเช่น วิถีการนวดชา มีพ่อค้าบางคนมุ่งหมายให้คนทำชาท้องที่ในขั้นตอนการนวดชาให้นวดในทิศทางตามเข็มนาฬิกา มีบางคนให้นวดในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา และมีบางคนคิดว่าต้องนวดไปหน้าแล้วถอยหลังหรือถอยหลังแล้วไปหน้า วิถีการนวดที่แตกต่างกันท้ายสุดนำไปสู่รสชาติของใบชาจะไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตนเอง ดั่งคำสุภาษิต “แปดเซียนข้ามทะเล ต่างพากันแสดงอภินิหารกันทุกคน” ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน

        แนวความคิดของยุทธจักรในวัฒนธรรมจีนจะมีความหมายโดยนัยที่ลึกซึ้งมาก การที่นำมันมาเป็นคำอธิบายประกอบปรากฏการณ์ของชาผูเอ่อร์มีความหมายอย่างยิ่ง ด้านหนึ่งของยุทธจักรเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงและอันตราย

        ถ้าหากคนชาพ่อค้าชาต่างพื้นที่กันเมื่อร่วมวงบนโต๊ะชาเดียวกัน จะมีความรู้สึกราวกับมีการโต้เถียงกันเกิดขึ้นกลางวง เนื่องจากคนส่วนใหญ่เป็นการพบกันครั้งแรก  ต่างไม่รู้ประวัติความเป็นมาของกันและกัน แต่แล้วต่างก็จะคาดเดาคุณนั้นคือใคร คุณรู้เรื่องชาอย่างแท้จริงรึเปล่า แล้วก็เกิดการท้าทายซึ่งกันและกัน เพื่อมาวัดกันว่าแต่ละคนมีความรู้เรื่องชาระดับไหนกันแน่ 

▲“ลิ้มรสจำแนกจริงเท็จ” ---《ภาพดวลชา/斗茶图》 วาดโดย หลิวซุงเหนียน(刘松年) ยุคซ่งใต้ 

        พวกเราสามารถใช้จอมยุทธอุปมากับคนชาพ่อค้าชา เหล่าจอมยุทธเชื่อว่าในแวดวงยุทธจักร ในช่วงเวลาที่มีปัญหาต่างๆที่ยังไม่มีวิธีการแก้ไข สิ่งที่พึ่งพาได้ดีที่สุดก็คือวิทยายุทธและทักษะของตนเอง คนชาพ่อค้าชาจำนวนมาก พวกเขามีความรู้สึกว่าชาผูเอ่อร์ยังมีความสับสนมาก นโยบายมาตรฐานยังไม่ชัดเจน ข้าจึงต้องอาศัยปากของข้ามาจำแนกพิสูจน์ชาตัวหนึ่งว่าเป็นชาดีหรือไม่ 

        มีบางคนคุยในเชิงโอ้อวดมากไปหน่อยว่า “อย่าไปเชื่อในสิ่งที่พวกเขาพูด ว่าชานี้มาจากเขาชาแห่งนั้น มันเป็นชาต้นโบราณ มาจากแหล่งกำเนิดที่โน้น ข้าไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น ข้าเพียงเชื่อปากของข้า ขอเพียงข้าได้จิบหนึ่งคำ ข้าก็จะสามารถรู้แหล่งที่มาของชาตัวนี้ แม้กระทั่งสามารถชิมออกว่าชานี้มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีหรือไม่ ข้ายังสามารถคาดคะเนกระบวนการผลิตของมันออกมาได้ด้วย”

        ยังมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่มีความหมายมาก ปัจจุบันไม่เพียงมีคนจำนวนมากในเมืองจีนทุกปีจะไปหาซื้อชาตามเขาชาในอวิ๋นหนาน ซึ่งยังสามารถพบเห็นพ่อค้าชาชาวต่างชาติจากออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆเขาชา

        เมื่อพวกเขาเดินทางมายังแหล่งผลิตชาในอวิ๋นหนาน ทั้งที่ไม่ทราบภาษาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น แต่พวกเขาอาศัยทักษะของตนเอง มั่นใจว่าขอเพียงได้ฝึกฝนให้มีปากที่เก่งกาจ ขอเพียงดื่มชาตัวนี้เป็น ก็สามารถหาซื้อชาดีกลับบ้านเกิดได้

        ในยุทธจักรชาผูเอ่อร์เป็นไปในลักษณะ “คนที่มีรสนิยมเหมือนกันมักจะรวมตัวอยู่ด้วยกัน” (Birds of a feather flock together) เนื่องจากชาผูเอ่อร์ถูกจัดแบ่งแยกแยะละเอียดถึงระดับจุดของหมู่บ้าน ถ้าเช่นนั้นทุกคนคงรู้อยู่แก่ใจ ในเมื่อคนใช้ชาที่ไม่เหมือนกันมาเป็นตราประทับของตนเอง ยิ่งจะมีความพิถีพิถันมากขึ้น 

▲คนที่มีรสนิยมเหมือนกันมักจะรวมตัวอยู่ด้วยกัน/物以类聚,人以群分 

        ในแวดวงยุทธจักรชาผูเอ่อร์ พวกเราจะเห็นภาพราวกับว่าแต่ละสำนักในบู๊ลิ้มต่างมีจุดยืนของตนเอง แต่ละสำนักจะแตกต่างกัน มีคนดื่มเฉพาะชาดิบ มีคนดื่มเฉพาะชาสุก มีคนดื่มเฉพาะชาจากสิบสองปันนา มีคนดื่มเฉพาะชาจากผูเอ่อร์ ยังมีคนนำรูปแบบของการจัดเก็บในโกดังมาแจกแจงแยกย่อยอีกขั้น ดื่มเฉพาะโกดังแห้ง หรือดื่มเฉพาะโกดังเปียก หรือดื่มเฉพาะโกดังอวิ๋นหนาน แล้วก็มีโกดังใต้หวัน โกดังฮ่องกงเป็นต้น พวกเขาแข่งขันซึ่งกันและกันต่างไม่สามารถรวมตัวอยู่ด้วยกัน แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่พวกเขานึกถึงหลักปรัชญาของชาที่ว่า “ความกลมกลืนสร้างคุณค่า” มิใช่หรือ นั่นทุกคนควรที่จะเข้าใจซึ่งกันและกัน ปรับตัวเข้าหากัน 

        การทำความเข้าใจธาตุแท้ของวัฒนธรรมยุทธจักรของเมืองจีน จะสามารถช่วยแปลความสภาวการณ์ปัจจุบันของชาผูเอ่อร์ที่สับสนปนเป จะเข้าใจกลยุทธ์และวิถีการดำรงอยู่ของผู้เคลื่อนไหวที่อยู่ในแวดล้อมที่สลับซับซ้อนเยี่ยงนี้

        พ่อค้าชาและผู้ผลิตชาจำนวนมาก พวกเขายังคงไว้ในกรอบความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่ ด้านหนึ่งพวกเขาหวังอย่างยิ่งว่าจะมีกฏเกณฑ์หนึ่งที่ชัดเจนมาช่วยพวกเขาในการทำตลาดให้มีมาตรฐาน แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาไม่มากก็น้อยที่รู้สึกว่าดีแล้วที่ยังมีความคลุมเครือแบบนี้ เพราะว่าสามารถหาช่องว่างดิ้นในความคลุมเครือนี้ได้ พวกเขาก็สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้


(ติดตามต่อ...ตอนที่ 6/6)


เอกสารอ้างอิง : https://youtu.be/uTSKS6skVYU

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ยุทธจักรชาผูเอ่อร์ในสภาวะการณ์ที่สับสนปนเป | ตอนที่ 4/6


        ในช่วงเวลาเดียวกัน เรื่องราวแบบนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ยี่หวู่ ยังเกิดขึ้นบนเขตพื้นที่ชาอื่นๆอีกมากมายในอวิ๋นหนาน ภายในช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงสิบกว่าปี นำไปสู่ให้อวิ๋นหนานแหล่งผลิตชาแห่งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ 

        สิ่งที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดก็คือราคาชาถีบตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จากภาพรูปกราฟพวกเราจะเห็นได้ว่า บนวัตถุดิบเหมาฉาแห้งของยี่หวู่ 1 กก. ในยุคปี 90 เพียงไม่กี่หยวน มาถึงปี 2002,2003 ก็แค่สิบกว่าหยวนจนมาถึงปี 2006,2007 ปรับเปลี่ยนเป็นหนึ่งถึงสองร้อยหยวน สามถึงสี่ร้อยหยวน 

▲ราคาเหมาฉาแห้งของยี่หวู่ในหลายๆปีที่ผ่านมา (หน่วย : หยวน/กก.)

        ล่าสุดไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกคนคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า ราคาของชาผูเอ่อร์เป็นไปในทิศทางที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มีบางชนิดที่หายากได้ทะลุขึ้นไปถึงหลายพันหยวนแล้ว กระทั่งถึง 1 หมื่นหยวน

        โดยเฉพาะในช่วงปี 2007 ราคาของชาผูเอ่อร์เคยเกิดปรากฏการณ์พังทลายเหมือนตลาดหุ้น ราคาพุ่งขึ้นอย่างพรวดพราด แล้วราคาตกดิ่งอย่างทันท่วงที หลังจากได้กำจัดเงินทุนออกไปบางส่วนแล้ว ราคาของมันก็ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นเพราะเหตุอันใด?

        นี่ก็คือสิ่งที่จะต้องกล่าวถึงต่อไป ปัจจุบันจะเป็นที่นิยมชมชอบต่อชาต้นโบราณหรือเรียกเป็นต้นชาโบราณ “ต้นชาโบราณ” ที่ปลูกโดยบรรพบุรุษของคนท้องถิ่นมานมนานแล้ว มีประวัติเกินร้อยปี กระทั่งเกินพันปี พวกมันอยู่ภายใต้การปกป้องจากป่าไม้ สภาพแวดล้อมธรรมชาติที่มีระบบนิเวศที่ดี แต่พวกมันขึ้นอย่างกระกระจายไม่เป็นที่เป็นทาง เนื่องจากเติบโตเป็นต้นที่ค่อนข้างสูงใหญ่ การเด็ดเก็บใบชาจะยากลำบากมาก เคยเกิดเหตุการณ์คนที่ขึ้นเด็ดเก็บใบชาเกิดพลาดท่าตกจากต้นสูงจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

▲ต้นชาโบราณที่ปลูกกระจัดกระจายปล่อยให้ขึ้นอยู่ในป่าไม้

        สิ่งที่เทียบเคียงกันคือชาไร่ การปรากฏตัวของชาไร่จะช้ากว่ากันมาก พึ่งเริ่มทำการเพาะปลูกในยุคปี 80 ศตวรรษที่แล้ว ระยะห่างระหว่างต้นจะชิดกันมาก ปลูกขึ้นอย่างหนาแน่นมากและเป็นขั้นบันได ดังนั้นจึงเรียกเป็น “ชาไร่” 

▲ชาไร่ที่ทำการปลูกขึ้นอย่างหนาแน่น 

        เนื่องจากชาไร่ปลูกขึ้นอย่างหนาแน่น ดังนั้นจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ช่วงที่ชาไร่ได้รับการส่งเสริม เชื่อว่ามันเป็นรูปแบบของการเกษตรสมัยใหม่ และลักษณะทั่วไปของมันดูดีกว่าต้นชาใหญ่ ดังนั้นทุกคนจะเห็นดีเห็นงามต่อชาไร่ในช่วงเวลานั้น

        จากภาพรูปกราฟจะเห็นได้ว่า เป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ราคาของชาต้นโบราณและชาไร่แทบจะไม่แตกต่างกัน อันที่จริงคนท้องที่จะค่อนข้างนิยมชมชอบชาไร่ แต่ว่าประมาณเริ่มจากปี 2004 ราคาของชาสองตัวนี้ปรากฏแตกต่างกันมาก ราคาชาต้นใหญ่เปลี่ยนยิ่งมายิ่งสูง ชาไร่ไล่ตามไม่ทันชาต้นใหญ่ตั้งแต่บัดนั้น ยิ่งทิ้งระยะห่างมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะแบบนี้? 

▲ราคาของชาต้นใหญ่(大树茶)และชาไร่(台地茶)ของยี่หวู่ในหลายๆปีที่ผ่านมา (หน่วย : หยวน/กก.)

        การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้เกิดขึ้นโดยคนใต้หวันเป็นคนนำ เนื่องจากพวกเขาค้นพบว่า รสชาติของชาต้นใหญ่ดื่มแล้วจะแตกต่างกันมากกับชาไร่ พูดให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นก็คือชาต้นใหญ่ดื่มแล้วรู้สึกค่อนข้างนุ่มละมุนกว่า หุยกานยิ่งเด่นชัดมาก ยิ่งทำให้รู้สึกรับรู้ได้ถึงฉาชี่  

        ยังมีอีกเหตุผลหนึ่ง คอชาชาวใต้หวันได้ตระหนักรับรู้ว่า ในช่วงเวลาที่ชาเก่าอย่างถงชิ่งห้าว ถงซิ่งห้าวถือกำเนิดขึ้นมานั้น ในยี่หวู่และหกขุนเขาชายังไม่มีชาไร่ นี่ก็เป็นสิ่งบอกเหตุที่คนคิดที่จะหาซื้อชาต้นใหญ่ในทุกวันนี้ อันที่จริงมีเหตุกำเนิดในความทะยานอยากที่จะคืนสู่และฟื้นฟูชาผูเอ่อร์เกรดวัตถุโบราณ

        อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลง คือการชื่นชอบใบชาจาก “แหล่งกำเนิดที่เดียว” แหล่งกำเนิดที่เดียวบ่งชี้ถึง การจัดแบ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบใบชาแยกแยะออกมาเป็นจุดเล็กๆของขุนเขาและหมู่บ้าน ค่อนข้างเหมือนอุตสาหกรรมไวน์ที่ใช้ไร่ไวน์ต่างๆมาจัดแบ่งคุณภาพ หรือแบ่งเกรดและราคาของไวน์

        ในอดีตที่ยังไม่มีแนวความคิดของแหล่งกำเนิดที่เดียว ทั่วทั้งอวิ๋นหนาน ชาที่ผลิตจากทุกเขตพื้นที่ชาทุกคนล้วนรู้สึกแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่หลังจากมีการจัดแบ่งตามแนวความคิดนี้แล้ว ผู้คนจำนวนมากจึงต้องแยกแยะในรายละเอียดว่า ชาตัวนี้ของคุณที่แท้เป็นของสิบสองปันนา เป็นของผูเอ่อร์ หรือเป็นของหลินชาง รสชาติของพวกมันแตกต่างกันอย่างไร ต่อจากนั้นของสิบสองปันนา ก็แบ่งเป็นของยี่หวู่และของเหมิ่งไห่ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ของยี่หวู่ยังต้องแยกแยะละเอียดเป็นของหมู่บ้านไหน ระหว่างพวกมันมีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง

        ผลผลิตใบชาของทุกแหล่งในหมู่บ้านเล็กๆเหล่านี้ล้วนมีปริมาณน้อยมาก ใบชาเหล่านี้จึงกลายเป็นทรัพยากรหายาก ทั่วๆไปมีเงินก็หาซื้อไม่ได้ อย่างกรณีในยี่หวู่ มีบางหมู่บ้านซึ่งในอดีตไม่มีชื่อเสียงมาก่อน แต่หลายปีที่ผ่านมาราคาของเหมาฉาแห้ง 1 กก. ได้ทะลุไปถึง 1 หมื่นหยวนกระทั่งถึง 2 หมื่นหยวนแล้ว ดังนั้นราคาโดยองค์รวมของชาผูเอ่อร์ปรับสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การแยกแยะความแตกต่างโดยละเอียดก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น


(ติดตามต่อ...ตอนที่ 5/6)


เอกสารอ้างอิง : https://youtu.be/uTSKS6skVYU