วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ยุทธจักรชาผูเอ่อร์ในสภาวะการณ์ที่สับสนปนเป | ตอนที่ 1/6


        ชาผูเอ่อร์ผลิตจากอวิ๋นหนานมานมนานเกือบพันปี แต่แล้วจู่ๆชาชนิดนี้ก็เปลี่ยนเป็น “ของประหลาด” ที่คนอวิ๋นหนานแทบไม่เคยรู้จัก มันกลายเป็นตำนานไปแล้ว

        ก่อนปี 2000 แทบจะไม่มีคนอวิ๋นหนานผู้ใดที่ได้สังเกตเห็นชาผูเอ่อร์มีลักษณะพิเศษอะไรบ้าง เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ชาที่คนอวิ๋นหนานส่วนใหญ่ดื่มก็คือชาเขียวของท้องถิ่นที่ลักษณะเป็นชาเส้น แน่นอนก็ได้รับทราบการดำรงอยู่ของชาผูเอ่อร์ รู้ว่ามันถูดอัดขึ้นรูปในรูปลักษณะแบบอิฐสี่เหลี่ยม หรือแผ่นกลม หรือรูปเห็ด 

▲ชาผูเอ่อร์ในรูปลักษณะแบบอิฐสี่เหลี่ยม ก้อน แผ่นกลม หรือรูปเห็ด

        สีของน้ำชาผูเอ่อร์ที่ชงออกมาจะใกล้เคียงกันมากกับชาเขียวของอวิ๋นหนาน เป็นสีเหลืองอ่อน นำขึ้นมาดมจะเป็นกลิ่นของหญ้าแห้งที่ผ่านการตากแดดมาแล้ว ถ้าหากชงโดยไม่ตั้งใจ จะได้รสที่ขมฝาดมาก ยากที่กลืนลงคอ แต่จะให้ความรู้สึกถึงค่อนข้างจะหุยกาน 

▲สีเหลืองอ่อนของน้ำชาผูเอ่อร์ดิบ

        ช่วงประมาณปี 2002 เผอิญได้ไปเจอะเจอ ชาที่เรียกว่าชาผูเอ่อร์สุกปรากฏอยู่ในท้องตลาด เรียกชื่อย่อว่า “ชาสุก/熟普” ในช่วงนั้นชาผูเอ่อร์ดั้งเดิมที่ติดตราตรึงใจถูกเรียกขานเป็น “ชาดิบ/生普” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าชาสุกสามรถมาจากการแปรเปลี่ยนของชาดิบ โดยต้องผ่านการหมักอีกหนึ่งกระบวนการ

        ชาสุกได้ท้าทายความรู้เรื่องชาของคนอวิ๋นหนานโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมันดื่มขึ้นมาแล้วไม่เหมือนชาอย่างสิ้นเชิง สีน้ำชาที่ชงออกมาทั้งแดงและดำ ดมแล้วมีความรู้สึกเป็นกลิ่นอับชื้นขึ้นราที่คนอวิ๋นหนานไม่คุ้นเคยมาก่อน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมชาผูเอ่อร์ต้องมีการแบ่งออกเป็นดิบและสุก ทำไมต้องผ่านอีกหนึ่งกระบวนการหมัก? 

▲ชาผูเอ่อร์สุก “ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย” สีน้ำชาที่ชงออกมาทั้งแดงและดำ

        ยังมีชาอีกชนิดหนึ่งที่ถูกเรียกขานเป็น “ชาเก่า/老茶” ชาเก่ายิ่งจะเพิ่มระดับความสลับซับซ้อนของชาผูเอ่อร์ ซึ่งก็เป็นเพราะชาเก่านี่แหละ ที่เป็นแตรเป่าให้ชาผูเอ่อร์ดังขึ้นมาในท้ายสุด

        ชาผูเอ่อร์ไม่ว่าจะดิบหรือสุก เมื่อผ่านการจัดเก็บช่วงระยะเวลาหนึ่ง พวกมันจะกลายเป็นของล้ำค่าที่มีมูลค่ามหาศาล จึงเกิดคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งเก่ายิ่งหอม/越陈越香” การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าของมัน หรือเป็นรสชาติของมัน ล้วนเป็นการเปลี่ยนที่ยิ่งมายิ่งมีคุณค่า เมื่อถึงเวลานั้น ชาผูเอ่อร์ก็จะถูกเรียกขานเป็น “โบราณวัตถุที่คุณดื่มได้/可以喝的古董” 

▲ชาเก่า “ยิ่งเก่ายิ่งหอม” วัตถุโบราณที่คุณดื่มได้ 

        ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและชวนให้ฉงนก็บังเกิดขึ้น ไม่ว่าชาดิบหรือชาเขียวของอวิ๋นหนานมีความใกล้เคียงกันมาก แต่ถ้าหากชาใดถูกระบุเป็นชาเขียว มันอาจถูกเก็บไว้สองปีก็ต้องถูกนำไปขจัดทิ้ง แต่ถ้าหากมันถูกระบุเป็นชาดิบแล้วไซร้ นั่นก็หมายความว่า มันถูกจัดเก็บไว้ยิ่งนานยิ่งมีมูลค่า ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร “ยิ่งเก่ายิ่งหอม” กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของชาผูเอ่อร์ 

        การโฆษณาทางด้านสุขภาพ เชื่อว่าชาผูเอ่อร์สามารถลดความอ้วน ลดไขมันและเสริมความงาม สามารถช่วยในระบบการย่อยอาหาร นักวิชาการใบชาได้ทำการวิจัยและทดลองเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการยืนยันคุณประโยชน์ของชาผูเอ่อร์ แต่ในปีอันใกล้ที่ผ่านมา ก็ยังมีข้อโต้แย้งสงสัยอย่างไม่ขาดสายต่อคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของชาผูเอ่อร์ว่าเป็นจริงหรือไม่ 

▲ชาผูเอ่อร์ลดความอ้วน

        การที่ผู้บริโภคนิยมชมชอบชาผูเอ่อร์ เหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือเสน่ห์แห่งรสชาติของชาผูเอ่อร์ เมื่อกล่าวถึงชาดิบ บ่งชี้ถึง “หวานย้อนกระตุ้นน้ำลาย/生津回甘” ที่เข้มข้น เมื่อกล่าวถึงชาสุก บ่งชี้ถึงดื่มแล้วรู้สึกอบอุ่นและ “นุ่มลื่น/滑润

        มีผู้บริโภคทางกว่างตงได้เปรียบเปรยไว้ว่า ชาสุกที่ดี เมื่อดื่มลงไปจะคล่องคอเหมือนน้ำแกงที่ต้มตุ้นตามแบบฉบับกว่างตง ยิ่งเป็นคอชาผู้มากประสบการณ์ยิ่งคิดที่จะดื่มให้มันทะลุทะลวงความรู้สึกทางปาก ไปผัสสะ “ฉาชี่/茶气” (พลังลมปราณชา) ของชาเก่า ซึ่ง “ฉาชี่” นี้อาจทำให้คุณเหงื่อออกตามฝ่ามือและสันหลัง 

        ผู้บริโภคทั่วไปมีความรู้สึกว่า “ฉาชี่” คำๆนี้ฟังแล้วจะลึกลับมาก ทำยังไงก็สัมผัสไม่ถึง คอชาผู้มากประสบการณ์ก็จะเอ่ยขึ้นมาว่า นั่นอาจเป็นเพราะคุณยังไม่ได้เรียนรู้การดื่มชาผูเอ่อร์ หรือเป็นเพราะคุณยังไม่ได้พานพบชาผูเอ่อร์ที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง

        แน่นอนว่าชาผูเอ่อร์ที่สุดยอดต้องมีโชคถึงจะมีโอกาสได้พบเห็นโดยบังเอิญ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ถูกยกย่องให้เป็น “คัมภีร์ชาผูเอ่อร์” ซึ่งผู้เขียนเป็นชาวใต้หวัน ได้เขียนบรรยายถึงชาเก่าหลากหลายชนิด พร้อมทั้งประวัติความเป็นมา รสชาติ รูปลักษณ์ ราคา เมื่อชาเก่าเหล่านี้ถูกเปลี่ยนมือในท้องตลาด ราคาจะปรับสูงขึ้นมาทันที 

▲ชาเก่าหลากหลายชนิด ชาที่มีค่าหายาก ถึงมีเงินก็อาจหาซื้อไม่ได้

        ชาผูเอ่อร์หนึ่งแผ่นหนัก 357 กรัม ช่วงยุคปี 80 ศตวรรษที่แล้ว ราคาประมาณเพียง RMB1000 มาถึงยุคปี 90 ราคากระโดดไปถึง RMB10000 เมื่อปี 2002 ราคาที่ประมูลได้ RMB1000000 ยิ่งต่อมาภายหลัง ชาเก่าเหล่านี้ก็เป็นของที่ไม่สามารถประเมินค่าด้วยตัวเลขหลักง่ายๆได้อีกแล้ว มันกลายเป็นของล้ำค่าที่ประเมินค่าไม่ได้

        ชาเก่าลักษณะนี้กลายเป็นธงสัญลักษณ์ มันผลักดันให้ผู้คนจำนวนมากไปเสาะแสวงหาของล้ำค่าเสมือน ส่วนคนที่ไม่สามารถหาชาเก่าได้ จึงฝากความหวังไว้กับชาดิบ ไปหาซื้อชาใหม่ แล้วจัดเก็บผ่านกาลเวลา หวังว่าสักวันหนึ่งพวกมันจะสามารถกลายเป็นของที่มีมูลค่ามหาศาล 

        “ยิ่งเก่ายิ่งหอม” นำมาซึ่งเซอร์ไพรซ์อย่างน่ายินดี ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งกระอักกระอ่วนแก่อวิ๋นหนาน เซอร์ไพรซ์อย่างน่ายินดีเป็นที่เข้าใจได้ เนื่องจากจู่ๆชาผูเอ่อร์กลายเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนใครปานฉะนี้ มันกลายเป็นนามบัตรเบิกทางของอวิ๋นหนาน แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่า แนวความคิดและความคุ้นเคยต่อยิ่งเก่ายิ่งหอมนั้น  คนอวิ๋นหนานพื้นเพเดิมไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็หมายความว่าเมื่อตอนที่ชาผูเอ่อร์ถูกกล่าวขานให้เป็นของที่ยิ่งเก่ายิ่งหอมแล้ว คนอวิ๋นหนานไม่มีชาเก่าอยู่บนมือเลย 

▲ชาผูเอ่อร์ดิบใหม่แบบดั้งเดิมของชนกลุ่มน้อยเผ่าฮานี

              เมื่อบนมือไม่มีชาเก่า ก็บอกเป็นนัยว่า พวกเขาได้สูญเสียอำนาจทางวาทกรรมต่อชาผูเอ่อร์ ดังนั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ยาวนานพอสมควร วัฒนธรรมหรือทุนเศรษฐกิจของชาผูเอ่อร์ ตกอยู่ในมือภายใต้การควบคุมของคนฮ่องกง ใต้หวัน และคนกว่างตงที่ไล่ตามมาทีหลัง

        คุณเริ่มดื่มชาผูเอ่อร์เมื่อไร? คำตอบที่ได้รับจะแตกต่างกันตามแถบพื้นที่ ในอวิ๋นหนานคนส่วนใหญ่เริ่มเมื่อประมาณปี 2000 ต้นๆ มีบ้างที่เริ่มเมื่อปลายยุคปี 90 แต่ทางแถบพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง(กว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า)จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนแก่ชาวฮ่องกงวัย 80 กล่าวว่า รุ่นคุณปู่ของเขาก็ได้เริ่มดื่มชาผูเอ่อร์แล้วตามร้านน้ำชา เมื่อคำนวณย้อนกลับไปหาอดีต น่าจะเป็นยุคปี 20-30 ช่วงต้นสมัยสาธารณรัฐ ชาผูเอ่อร์ได้เป็นตัวเอกในร้านน้ำชาทางแถบพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียงกันแล้ว 

▲คนฮ่องกงเริ่มดื่มชาผูเอ่อร์ตามร้านน้ำชากว่าร้อยปีมาแล้ว

        ในอดีตคนอวิ๋นหนานมิใช่ไม่ดื่มชาผูเอ่อร์สักนิดเลย แต่อย่างน้อยจุดที่สามารถยืนยันได้ก็คือ คนอวิ๋นหนานส่วนใหญ่เริ่มสนใจรับรู้และบริโภคชาผูเอ่อร์ แท้จริงไม่เร็วกว่ายุคปี 90 ศตวรรษที่แล้ว

        ทำไมถึงมีความเหลื่อมล้ำทางข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ระหว่างอวิ๋นหนานและแถบพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง? ชาผูเอ่อร์และแหล่งกำเนิดของมัน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาบ้างในในช่วงระยะเวลาสั้นๆไม่กี่สิบปี?


(ติดตามต่อ...ตอนที่ 2/6)


เอกสารอ้างอิง : https://youtu.be/uTSKS6skVYU