วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การดมกลิ่นและการชิมกลิ่นแตกต่างกันตรงไหน ?



        ▌ กลิ่นชามีสองประเภท

        • ประเภทหนึ่งเป็น “ก๊าซ/气体” ประกอบด้วยกลิ่นหอมที่ระเหิดออกมาจากใบชาแห้ง และกลิ่นหอมที่ระเหยออกมาจากน้ำชาที่เพิ่งชง ถือเป็น “กลิ่นเปิดเผย/明香” การรับรู้กลิ่นชาประเภทนี้โดยเข้าทางช่องจมูกโดยตรง เรียกว่า “การดมกลิ่น/闻香
        • อีกประเภทหนึ่งเป็น “ไอ/水汽” ประกอบด้วยไอระเหยของกลิ่นที่แพร่เข้าไปในโพรงจมูกหลังการกลืนน้ำชา และกลิ่นหอมที่หลงเหลือค้างอยู่ในปากหลังการกลืนน้ำชา ถือเป็น “กลิ่นซ่อนเร้น/暗香” การรับรู้กลิ่นชาประเภทนี้โดยการจิบน้ำชาเข้าทางช่องปาก เกิดกลิ่นหอมตลบอบอวลแล้วย้อนขึ้นมากระทบปลายประสาทรับกลิ่นในโพรงจมูก เรียกว่า “การชิมกลิ่น/品香

▲กลิ่นชามี 2 ประเภท---ก๊าซ/气体 และ ไอ/水汽  

        ▌ การดมกลิ่น

        • “ก๊าซหอม/香气” เป็นกลิ่นหอมที่ระเหิดออกมาจากใบชาแห้ง เป็นสารหอมบางชนิดที่ระเหิดได้ง่าย ระเหิดไปหมดได้เร็ว ดังนั้น ก๊าซหอมของใบชาแห้งและกลิ่นชาตอนชงส่วนใหญ่จะไม่เหมือนกัน ชาที่มีสารหอมที่มีจุดเดือดต่ำและระเหยได้ง่าย เมื่อดมแล้วมีกลิ่นหอมมาก แต่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วไม่แน่จะมีกลิ่นหอมเสมอไป จัดอยู่ในระดับของกลิ่นชาที่เรียกว่า “กลิ่นล่องลอยบนผิวน้ำ/水飘香
        • “กลิ่นหอม/香味” เป็นกลิ่นหอมที่ปลดปล่อยออกมาจากน้ำชา ส่วนประกอบหลักของกลิ่นหอมนี้บางส่วนเป็นสารที่มีโครงสร้างโมเลกุลใหญ่ พวกมันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ก่อเกิดกลิ่นชา ถือเป็นก๊าซที่ระเหยได้ปานกลาง ทำให้ชาสามารถสำแดงกลิ่นชาออกทางระดับ “กลิ่นซึมเข้าไปในน้ำ/香入水

        ▌ การชิมกลิ่น

        • “รสหอม/气味” ที่ก่อตัวขึ้นจากน้ำชาในปากซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นสารหอมที่มีจุดเดือดสูงและระเหยได้ยาก รสหอมของชาดีอยู่ในปากจะปรากฏเป็นกลิ่นชาระดับ “กลิ่นซุกซ่อนอยู่ในน้ำ/水含香
        • “หอมย้อน/回香” จากชาคุณภาพชั้นเลิศที่สามรถทำให้รู้สึกถึง After Taste นี่เป็นผลจากอิทธิพลของสารประกอบโมเลกุลหนักจำนวนมาก นำไปสู่ขอบเขตของกลิ่นชาระดับ “กลิ่นซ่อนเร้นอยู่ในน้ำ/水生香” จนกระทั่งถึงระดับ “กลิ่นบรรลุผล/水即香

        การชิมกลิ่น คือกลิ่นหอมที่หลงเหลือค้างอยู่ในปากหลังการกลืนน้ำชา กลิ่นหอมที่หลงเหลือของชาดีจะค้างอยู่ได้เป็นเวลานาน เสมือนกับ “เสียงสะท้อน/echo” ปานนั้น กลิ่นหอมแบบนี้เป็นที่ซึ่งน่าหลงใหล

        หลักสำคัญในการลิ้มชิมรสชาคือการชิมกลิ่น การกระทบกลิ่นของจมูกและการผัสสะรสของลิ้นแล้วส่งกระแสประสาทไปยังสมอง แล้วแปลออกเป็นกลิ่นหอมรูปแบบต่างๆที่พวกเรารับรู้ แม้ว่าลิ้นสามารถรับรสได้น้อยมากเพียงไม่กี่ชนิด แต่มีความรู้สึกทางกลิ่นที่ทรงพลังมาเป็นตัวช่วย การผนึกกันขึ้นมาก็เกิดกลิ่นชารสชาที่เปลี่ยนแปลงไม่มีที่สิ้นสุด

        ในนี้ขอให้เข้าใจว่า กลิ่นหอมรูปแบบต่างๆที่ใช้บรรยายถึง กลิ่นหอมของชาแห้ง กลิ่นหอมของน้ำชา กลิ่นหอมของรสชาติ กลิ่นหอมของกากชา กลิ่นหอมค้างอยู่ในก้นจอก และกลิ่นหอมย้อนกลับ ก็เป็นกลิ่นหอมทั้งหลายที่พวกเราใช้ในการสื่อสารกันซึ่งเทียบเป็น “กลิ่นมโนคติ/意想香” รูปแบบกลิ่นหอมที่พวกเรามักกล่าวถึงบ่อยๆ เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นผลไม้ กลิ่นไฟ กลิ่นควันสน...เป็นต้น ล้วนเป็นกลิ่นชาที่พวกเราสัมผัสได้จากการลิ้มชิมรสชา ใช้สืบต่อกันมาเพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสาร และเป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไปที่นำมาพรรณนาเปรียบเทียบ

▲ความสัมพันธ์ของชาชนิดต่างๆกับกลิ่นหอมรูปแบบต่างๆ

▲ความสัมพันธ์ของรูปแบบกลิ่นหอมของชา 4 ประเภทใหญ่กับส่าวนประกอบสำคัญ---ประเภทชาเขียว ชาแดง ชาวูหลง ชาดำ

        เนื่องจากระดับความอ่อนไหวในการรับรู้กลิ่นของแต่ละคนไม่เท่ากัน สภาพแวดล้อมและประสบการณ์ทางการสัมผัสที่แตกต่างกัน ก็จะมีความรู้สึกที่แตกต่างกันเป็นประจำ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวลและติดยึดเกินไป ทำไมตัวเองถึงไม่มีความรู้สึกสัมผัสกลิ่นหอมชนิดนี้ตามที่คนอื่นกล่าวถึง เพียงลิ้มชิมกลิ่นหอมในขอบเขตที่ตนเองชื่นชอบและมีความสุข

        โดยการ “ดมหอม/闻香” และ “ชิมหอม/品香” นำไปสู่สุขกายสบายใจ จินตนาการ เรียกว่า “จิตหอม/心香” หรือ “สุนทรียภาพแห่งจิตวิญญาณ/心灵之香


หมายเหตุ : เพื่อการเข้าใจ “กลิ่นชา” ได้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำให้ “อ่านย้อน” บทความ《5 ระดับของกลิ่นชา》ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน ถ้าสนใจสามารถหาอ่านได้ใน PuerThaiBlog นี้ได้โดยคลิก https://puerthaiblog.blogspot.com/2019/03/5.html


เอกสารอ้างอิง :
1. 闻香与品香哪里不同?: https://kknews.cc/culture/9l44r98.html
2. 品香|看一个人会不会喝茶 , 就看他会不会辨识茶香 : https://kknews.cc/culture/r9opk8n.html