วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ขมสิ้นหวานตาม

ความรู้เรื่องชาผูเอ๋อร์ ตอน...
ขมสิ้นหวานตาม



     "ขม(苦)" ขมและหวานเป็นรสที่ตรงกันข้าม ผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กๆจะนิยมชมชอบหวานแต่จะปฏิเสธขม เพราะขมทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วน ขมมีหลายแบบ ขมแบบดีทำให้รู้สึกสบายใจ ขมแบบไม่ดีทำให้รู้สึกลำบากใจ เช่นมะระ เด็กๆจะไม่กล้าทานเพราะกลัวเหมือนทานยาขม แต่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะชอบทาน เพราะทานแล้วแม้มีความรู้สึกขมแต่สบายใจ ทำนองเดียวกับความขมในใบชา เราสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นแบบขมดีหรือขมไม่ดี ซึ่งก็คือสามารถจำแนกได้ว่าเป็นชาดีหรือชาไม่ดี

     "หวาน(甜)" คำภาษาจีนมาจากการประสมของ ลิ้น(舌) + กาน(甘) หมายถึงรสหวานที่ตุ่มรับรสของลิ้นสัมผัสได้ รสหวานที่ดีจะต้องไม่เกิดความรู้สึกเลี่ยนหรือเปรี้ยวสะท้อนกลับ(反酸) จะต้องเกิดความรู้สึกหวานย้อนกลับ คือ มีความรู้สึกหวานนุ่มลื่นคอทำให้หวนรำลึกถึง

     "กาน(甘)" เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ความรู้สึกที่รับรู้ของเซลล์ประสาทภายในโพรงปาก เป็นความรู้สึกที่ชื่นใจ เบิกบาน เสมือนมีรสหวานที่ไม่เลี่ยน "หุยกาน"เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชาดี ยิ่งถ้าเป็นชาที่ดีเลิศ หุยกานจะทำให้รู้สึกหวานเต็มปากและลึกลงไปในลำคอ

     "ขมสิ้นหวานตาม(苦尽甘来)" หมายถึง รสขมมลายสิ้นไปแล้วเกิดความรู้สึกมีรสหวานย้อนตามมา โดยทั่วไป น้ำชาที่มีรสขมฝาดเมื่อละลายหายสิ้นไปจะเกิดรสหวานตามมา คือ เกิดปรากฏการณ์ "หุยกาน(回甘)"

     "หุยกาน" เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง?
  • สมมุติฐานที่ 1 : เป็นผลลัพธ์จากการแปรเปลี่ยนของความรู้สึกฝาด หวังเย่เฟย(王岳飞) อาจารย์มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงแผนกวิชาชาศาสตร์ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า "ทีโพลิฟีนอลส์ที่ประกอบอยู่ในใบชาสามารถรวมตัวกับโปรตีนแล้วเกิดเป็นชั้นฟิล์มบางๆที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ภายในโพรงปาก แล้วกล้ามเนื้อโพรงปากจะเกิดการหดตัวทำให้เกิดความรู้สึกฝาดขึ้น เป็นเหตุให้น้ำชาที่ดื่มเข้าปากใหม่ๆจะมีความรู้สึกขมฝาด แรกเริ่มภายในโพรงปากจะรู้สึกฝาด ชั่วครู่เมื่อชั้นฟิล์มแยกสลายแล้ว กล้ามเนื้อโพรงปากคลายตัวคืนสู่สภาพปกติ การแปรเปลี่ยนทางคุณลักษณะฝาดสมาน(收敛性)นี้ ก่อให้เกิดความรู้สึกหุยกานและน้ำลายสอขึ้น" สรุป อาจารย์หวังเชื่อว่า"หุยกาน"ก็คือผลลัพธ์ของการที่ทีโพลิฟีนอลส์จับรวมตัวกับโปรตีน
  • สมมุติฐานที่ 2 : "หุยกาน"เป็นความรู้สึกการเข้าใจผิดของโพรงปาก เป็น"ผลจากปฏิกริยาตอบสนองตรงข้าม"---McBurney D.H. และ Bartoshuk L.M. ได้เสนอบทความ Interactions between stimuli with different taste qualities ในปี 1973 จากผลของการศึกษาว่า "รสหวานและรสขมเป็นแนวความคิดที่อยู่ตรงข้ามกัน เมื่อได้ลิ้มรสสารที่มีรสหวานแล้วจะทำให้รู้สึกน้ำมีรสขม แต่เมื่อได้ลิ้มรสขมแล้วจะทำให้รู้สึกน้ำมีรสหวาน" ปรากฏการณ์แบบนี้ก็คือผลของการปฏิกริยาตอบสนองตรงข้าม เป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าความรู้สึกการเข้าใจผิดเช่นนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิด"หุยกาน"
     อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าน้ำชายิ่งมีรสขมมากระดับของหุยกานจะยิ่งมาก ชาบางอย่างเมื่อรสขมละลายสิ้นแล้วแต่หุยกานไม่เกิดตามมา ชาบางอย่างมีรสขมฝาดน้อยมากแต่รู้สึกหุยกานเด่นชัดมากและนาน เกี่ยวกับกลไกของ"หุยกาน" ณ ปัจจุบันทางวิชาการยังกำลังศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบและเชิงลึก แต่ยังไม่มีผลการศึกษาที่เป็นข้อสรุปได้แน่ชัดออกมา แต่มีผลการศึกษาวิจัยและข้อคิดเห็นของนักวิชาการบางท่านที่ใช้ประกอบการพิจารณาและอ้างอิงได้ เช่น

     1. Tea Polyphenol(TP) และ Total Sugar(TS) : สี่ย่งเฉียน(许勇泉) ได้ใช้ลิ้นอิเลคโทรนิค(ลิ้นอัจฉริยะระบบไฟฟ้าที่สร้างเพื่อเลียนแบบกลไกของความรู้สึกทางรสของมนุษย์) ทำการวิเคราะห์รสชาติของน้ำชา จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงรสขมของน้ำชาและรสชาติหุยกานมีนัยยะที่สัมพันธ์กันอย่างเด่นชัด ต่างช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ปริมาณของ TP และ TS มีความสัมพันธ์กับรสชาติหุยกานของน้ำชาอย่างเด่นชัด ความเข้มข้นในขอบเขตที่แน่นอนระดับหนึ่ง TP และ TS มีส่วนช่วยยกระดับรสชาติหุยกานของน้ำชาให้สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ชาดิบผูเอ๋อร์ทั่วไปจะมีปริมาณ TP ค่อนข้างมาก หุยกานจึงเด่นชัดมาก นี้เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งของการศึกษานี้

     2. Flavone(黄酮) : แม้ยังไม่มีผลการศึกษาว่า Flavone ในใบชาก่อให้เกิด"หุยกาน" แต่มีผลการศึกษาว่า Flavone ในหนำเลี้ยบ(橄榄)เป็นสารที่ก่อให้เกิดหุยกานได้ รสขมของหนำเลี้ยบมาจากสารพวก Glycoside(苷) Flavone และ Polyphenol ซึ่ง Flavone จะมีปริมาณองค์ประกอบมากกว่าสารอื่นๆ ส่วนรสขมของมะระมาจาก Saponin(่皂苷) และ Glycoside ซึ่งสารกลุ่ม Glycoside มีเพียงรสขม ดังนั้น เมื่อทานมะระมีเพียงความรู้สึกขมแต่ไม่มีความรู้สึกหุยกาน ส่วนความรู้สึกทางรสของ Flavone จะพิเศษมาก เมื่อเริ่มทานเข้าไปจะมีรสขมฝาด แต่สักชั่วครู่จะรู้สึกถึงรสหวานแบบธรรมชาติ  Flavone ในหนำเลี้ยบเป็นสาเหตุหลักของหุยกาน ปริมาณ Flavone ยิ่งมาก หุยการจะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น ส่วน Flavone ในใบชาที่มีปริมาณประมาณ 3-4% ของใบชาแห้ง แต่กลไกหุยกานของ Flavone ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้

     3. Organic Acid(有机酸) : กรดอินทรีย์ในใบชาจะไปกระตุ้นต่อมน้ำลายหลั่งน้ำลายออกมาก่อให้เกิดความรู้สึก"น้ำลายสอหุยกาน" ในใบชาจะประกอบด้วยกรดอินทรีย์ประมาณ 3% ของใบชาแห้ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานะอนุมูลอิสระ กระบวนการผลิตชาในขั้นตอนการผึ่งและฆ่าเขียวจะทำให้ปริมาณของกรดอินทรีย์เพิ่มขึ้น

     4. กลุ่มน้ำตาล(糖类) : ในน้ำชาจะประกอบด้วย Polysaccharide ที่ไม่มีรสหวาน แต่มีระดับของความหนืด ทำให้ติดค้างอยู่ภายในโพรงปาก แล้ว Salivary Amylase(唾液淀粉酶) เป็นเอนไซม์ในน้ำลายจะทำการย่อยสลายแป้งให้เป็นน้ำตาล Maltose(麦芽糖) ที่มีรสหวาน การย่อยสลาย Polysaccharide ของเอนไซม์จะต้องใช้ช่วงเวลาหนึ่ง ระยะเวลาของปฏิกริยานี้ทำให้เกิดความรู้สึก"หุยกาน"

     นักดื่มชาไม่น้อยมีความรู้สึกที่ดีกับ"รสหวาน(甘甜)"ของชา เช่น "หวานละมุน(甘醇)" "กาน(甘)" "หุยกาน(回甘)" คำเหล่านี้มักถูกใช้แสดงถึงใบชาที่มีคุณภาพดีเลิศ จากมุมของการชิมดื่มเพื่อความปลื้มปิติ หนานุ่ม สดชื่น ไม่ขมไม่ฝาด เป็นรสชาติของชาที่ทำให้ผู้คนรู้สึกรื่นรมย์ยินดี แต่จากมุมของผู้อาวุโสที่ชอบดื่มชาจำนวนไม่น้อย ชาที่ "ขมสิ้นหวานตาม" จึงจะถือเป็นชาดีเที่ยงแท้ แม้นว่าปัจจุบันกลไกของ"หุยกาน"ยังไม่ทราบชัดเจน แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการชิมดื่มชาเพื่อถวิลหา"ขมสิ้นหวานตาม" เนื่องเพราะ...ชาดั่งเช่นชีวิตคน...

     ขมสิ้นหวานตาม
     苦尽甘来
     Bitterness ends Sweetness begins

(อ่าน-แปล จากหลายบทความ เรียบเรียง-ย่อ-เขียน ลงบนบทความนี้)

โพสต์นี้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2558 ลงในเฟสเพจสมาคมผู้รักชาผูเอ่อร์แห่งประเทศไทย  https://www.facebook.com/groups/1465523990337272/
                

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หนาและเข้ม บางและจาง

ความรู้เรื่องชาผูเอ๋อร์ ตอน...
หนาและเข้ม บางและจาง



     ในรสชาติของชาผูเอ๋อร์มีอยู่สองแนวความคิด คือ "หนา"และ"เข้ม" ซึ่งทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย อาจเข้าใจ"หนา"และ"เข้ม"เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกัน หรือเข้าใจเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ความจริงแล้วมีความแตกต่างกันมาก โดยจะขอใช้ดนตรีมาเทียบเคียง เช่น วงดนตรีคลาสสิคขนาดใหญ่(Symphony Orchestra) บรรเลงเพลงคลาสสิคที่ต้องใช้เครื่องดนตรีกว่าร้อยชิ้นและครบทุกชนิด เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดสามารถแยกแยะรับฟังออกมาได้ชัดเจน มีมิติของความสุขจากความรู้สึกของการฟัง ยิ่งถ้าหากได้ไปนั่งฟังการบรรเลงสดแล้ว ยิ่งมีความรู้สึกดื่มด่ำจากเสียงดนตรีที่ใสแจ๋วคมชัดขึ้น เพราะว่าเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมีช่องเสียงและความถี่เสียงไม่เหมือนกันมาทับซ้อนกัน จะทำให้เกิดความรู้สึกที่หนาแน่นของการฟัง แต่ถ้าเป็นเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันบรรเลงในความถี่เสียงเดียวกัน ถึงแม้จะเพิ่มจำนวนเครื่องดนตรีมากชิ้นขึ้นอีก ก็ได้แต่เพียงเสียงที่ดังขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ก่อให้เกิดผลที่หนาแน่นจากการฟัง ความถี่เสียงเดียวกันเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะความดังขึ้นหรือเบาลงของเสียง ความถี่เสียงที่ต่างกันจะทำให้เกิดความรู้สึกหนาหรือไม่หนาที่แตกต่างกัน

     หนาและเข้ม

     "หนา()" หมายถึงรสชาติที่เต็มเปี่ยม คือ รสชาติที่หลากหลายรสผสมกลมกลืนกัน ก่อให้เกิดความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหนาแน่นอิ่มเอิบ "เข้ม()" หมายถึงระดับความข้นของรสใดรสหนึ่ง อย่างเช่นน้ำชามีความเข้มไม่พอ สามารถเพิ่มความเข้มโดยการเพิ่มปริมาณใบชา เพิ่มความร้อนของน้ำ เพิ่มระยะเวลาการชงแช่ให้นานขึ้น แต่ก็ได้เพียงรสเดิมที่เข้มข้นขึ้นเท่านั้น และไม่สามารถเพิ่มรสชาติอื่นๆเพิ่มเติมออกมา ความหนาของชาเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้มา ซึ่งก็คือ ในใบชามีสารประกอบทางเคมีต่างๆอยู่อย่างบริบูรณ์ ทำให้น้ำชามีรสชาติที่หนาแน่นเต็มเปี่ยม บางครั้งที่กล่าวว่าชานี้รสอ่อน ที่แท้หมายความว่าน้ำชานี้รสชาติไม่ถึงหรือมีความหนาแน่นไม่พอ แต่อาจมีผู้คนเข้าใจผิดโดยทำการชงชาที่ไม่หนาให้เข้มขึ้น นั่นแสดงว่ายังไม่เข้าใจความแตกต่างของ"หนา"และ"เข้ม"

     บางและอ่อน

     ทำนองเดียวกับหนาและเข้ม "บาง()" หมายถึงเดี่ยว ไม่หลากหลาย "จาง()" หมายถึงเจือจาง ไม่เข้มข้น ในความเป็นจริง"บาง"และ"จาง"จะแยกแยะออกได้ยากมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้เรื่องชายังไม่ลึกซึ้งพอ ทำให้สับสนได้ง่าย โดยทั่วไปผู้คนส่วนใหญ่มักจะนิยมดื่มชาจางมากกว่าเข้ม โดยเฉพาะชาที่จางแต่มีรสชาติที่หนาแน่นเต็มเปี่ยม จะทำให้รู้สึกน้ำชามีความกลมกล่อมอร่อย กลับกัน ถ้าเป็นชาที่จางและมีรสชาติที่บางจืดชืดแล้ว ผู้คนก็จะไม่นิยมดื่มกัน บางและจางเป็นคนละเรื่องกัน บางได้จากธรรมชาติสร้างมา เป็นตัวที่ถูกกำหนดจากคุณภาพของใบชา จางถูกกำหนดจากน้ำมือมนุษย์โดยวิธีการชงชา ชาที่บางสามารถชงให้เข้มหรือจาง ชาที่จางมีเพียงหนาหรือบาง

(อ่าน-แปล จากหลายบทความ เรียบเรียง-ย่อ-เขียน ลงบนบทความนี้)

โพสต์นี้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 08 ม.ค. 2558 ลงในเฟสเพจสมาคมผู้รักชาผูเอ่อร์แห่งประเทศไทย  https://www.facebook.com/groups/1465523990337272/

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รสชาติของชาผูเอ๋อร์

ความรู้เรื่องชาผูเอ๋อร์ ตอน...
รสชาติของชาผูเอ๋อร์



     "รส()" โดยทั่วไปหมายถึง รสใดรสหนึ่งจาก 5 รสคือ หวาน ขม เปรี้ยว เค็ม เผ็ด

     "ความรู้สึกของรส(味觉)" คือ ตุ่มรับรสของลิ้นกระทบรสต่างๆ เช่น รสหวาน รสขม

     "รสชาติ(滋味)" หมายถึง หลายๆรสผสมกลมกลืนกัน ถ้าเป็นรสเข้มข้นประสมกันลงตัวเป็นกลางสมดุลย์เหมาะเจาะ ก็จะทำให้มีความรู้สึกอร่อย

     "ความรู้สึกของรสชาติ(味感)" หมายถึง ความรู้สึกของโพรงปาก นอกจากรส 5 รสแล้ว ยังรวมความรู้สึก กาน ฝาด ลื่น ชุ่ม สด ชื่น คล่อง หนืด หนา นุ่ม และ ชา แสบ ทิ่ม บีบ แห้ง ฝืด คาว เป็นต้น ความรู้สึกชุดแรกถือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ดี ความรู้สึกชุดที่สองถือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่ดี

     รสชาติของชาผูเอ๋อร์

     ในขณะที่ดื่มชา ลิ้นที่มีความอ่อนไหวสูงสามารถสื่อรสชาติภายในน้ำชาผ่านประสาทไปยังสมองอย่างรวดเร็ว แล้วก่อให้เกิดการตระหนักรับรู้หรือคือการเสพความรู้สึก รสชาติที่ลิ้นกระทบมาจากสสารอะไรบ้าง?

     ความจริง รสชาติของใบชา คือ ปฏิกิริยาเหนี่ยวนำของประสาทสัมผัสทางความรู้สึกของรสชาติต่อสสารภายในใบชาที่ทำให้เกิดรส ชนิดและปริมาณของสสาร อัตราส่วนที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลง ล้วนมีผลต่อรสชาติของน้ำชา รสหลักๆของน้ำชาประกอบด้วย 4 รส คือ :

     1. รสฝาด (涩味)

     รสฝาดของน้ำชา เกิดจากสารทีโพลิฟีนอลส์คือจากสารคาเทชินเป็นหลัก โดยเฉพาะอิสเตอร์คาเทชิน(Ester-Catechin) รสฝาดบางส่วนของน้ำชาเกิดจากอิสเตอร์คาเทชินทำปฏิกิริยากับแผ่นฟิล์มโปรตีนเคลือบภายในโพรงปากได้เป็นสารที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ ทำให้เกิดฝาดสมาน(Astringency : 收敛性)

     2. รสขม (苦味)

     คาแฟอีนเป็นสารตัวหลักที่ทำให้เกิดรสขมในน้ำชา เนื่องจากเกิดการระเหยได้ง่ายภายใต้ความร้อน ดังนั้นใบชาที่ผ่านกระบวนการชงมาหลายครั้งแล้วปริมาณคาแฟอีนจะลดลงอย่างชัดเจนมาก กลุ่มสารสีม่วง(Anthocyanine : 花青素) เป็นสารอีกตัวที่ทำให้น้ำชามีรสขม ถ้าหากน้ำชา 150 ml. มีกลุ่มสารสีม่วง 15 mg. ก็จะมีรสขมอย่างเด่นชัดมาก เนื่องจากชาในฤดูร้อนถูกแสงแดดมาก จะประกอบด้วยกลุ่มสารสีม่วงปริมาณสูง นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ชาฤดูร้อนมีรสขมฝาดมาก คุณภาพจึงด้อยลง

     3. รสสด (鲜味)

     กรดอะมิโนเป็นสารตัวหลักที่ประกอบขึ้นเป็นรสสดชื่นของใบชา กรดอะมิโนในใบชามีมากชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการแสดงรสออกมาไม่เหมือนกัน อย่างเช่น Theanine(茶氨酸) ซึ่งมีปริมาณ 50% ของกรดอะมิโนในใบชา มันมีรสสดชื่นสูงมากเป็นพิเศษ สามารถบรรเทารสขมฝาดของชาให้เบาบางได้ เพิ่มรสหวานให้แรงขึ้น ใบชาอ่อน ชาฤดูใบไม้ผลิ ชาบนภูเขาระดับน้ำทะเลสูง จะมีกรดอะมิโนปริมาณสูง จึงมีรสชาติสดชื่นคล่องคอ ใบชาแก่หยาบ ชาฤดูร้อน จะมีปริมาณกรดอะมิโนต่ำ รสสดชื่นจะด้อย
     นอกจากนั้น คาแฟอีนตัวมันเองไม่มีรสสด แต่คาแฟอีนในน้ำชาสามารถรวมตัวกับสารที่ได้จากการออกซิเดชั่นของทีโพลิฟีนอลส์เช่น Theaflavin และ Thearubigin เปลี่ยนเป็นสารเชิงซ้อนที่มีรสสดชื่น

     4. รสหวาน (甜味)

     น้ำตาลตัวหลักที่ทำให้น้ำชามีรสหวานคือมอโนแซ็กคาไรด์และไดแซ็กคาไรด์ที่ละลายน้ำได้ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในใบชา ซึ่งพวกมันสามารถปกปิดและกลมกลืนกับรสขมฝาดของน้ำชา ถ้ามีปริมาณยิ่งมาก รสชาติของชาจะยิ่งหวานนุ่มและไม่มีรสขมฝาด
     กรดอะมิโนบางชนิด เช่น Theanine ; Glutamic Acid ; Aspartic Acid ; D-Phenylalanine นอกจากจะแสดงออกทางรสสดแล้ว ยังแสดงออกทางรสหวานด้วย

     ฝาด ขม สด หวาน คือรสที่สำคัญต่อรสชาติของชาผูเอ๋อร์ ชาทุกจอกประกอบด้วยรส 4 แบบนี้ ระดับความเข้มข้นของ 4 รสนี้ที่แตกต่างกันผสมผสานกัน ก่อให้เกิดรสชาติที่หลากหลายที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ

     ในกระบวนการชงชาผูเอ๋อร์ ถ้าสามารถใช้วิธีการชงโดยรักษาให้แต่ละน้ำมีความเข้มจาง(浓淡)เท่ากัน หรืออัตราการละลายน้ำของสารประกอบต่างๆในใบชาออกมาใกล้เคียงกัน ถ้าเป็นชาที่มีคุณภาพดีคือมีสารประกอบต่างๆอยู่ในใบชาอย่างบริบูรณ์(บอดี้เต็ม) ก็จะมีคุณสมบัติชงทนและน้ำชามีความหนาแน่น แล้วจะได้ลิ้มรสชาติชาผูเอ๋อร์ของแต่ละน้ำแตกต่างกัน ทำให้เราได้เสพสุขในหลากหลายระดับขั้นด้วยกัน สาเหตุเนื่องจากอัตราส่วนของสารประกอบแต่ละตัวที่ละลายออกมาไม่เหมือนกันในแต่ละน้ำ ในภาวะทั่วไป โดยประมาณน้ำที่ 6 รสชาติของน้ำชาจะสุดยอดที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ใบชาคลี่แผ่ออกเต็มใบ สารประกอบต่างๆสามารถละลายออกมาได้ดีที่สุด ทำให้รสชาติของน้ำชามีความหนานุ่มชุ่มปากชื่นคอ

     ความรู้สึกของรสชาติ(味感) จากการชิมลิ้มรสชาผู่เอ่อร์ จักต้องอาศัยจิตใจที่สงบและความละเอียดอ่อนพอสมควร แม้ว่าต้องอาศัยญาณเป็นหลักสำคัญ เนื่องจากแต่ละคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อรส 5 รส และความรู้สึกทางโพรงปากไม่เหมือนกัน ระดับความอ่อนไหวไม่เท่ากัน และต่างมีความลำเอียงและมโนคติ แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่สามารถกล่าวว่าชาดีเป็นชาไม่ดี หรือชาไม่ดีเป็นชาดี ปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะมีข้อโต้แย้งกัน ชานี้คุณว่าดื่มดีแต่ฉันว่าดื่มไม่อร่อย ชานั้นคุณว่าดื่มไม่อร่อยแต่ฉันว่าดื่มดี ความจริงไม่น่ามาโต้เถียงกัน เพราะชาดีก็คือชาดี ชาไม่ดีก็คือชาไม่ดี ชาดีต้องมีมาตรฐาน ความรู้สึกของรสชาติก็ต้องมีมาตรฐาน

     "ชาดี" ของแต่ละคนมีแต่ระดับแตกต่างกัน แต่คุณภาพจะไม่แตกต่างกัน

     หมายเหตุ : ได้ทำการปรับปรุงบทความเก่าโดย เพิ่มเติม-ตัดออก เพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์มากขึ้น ก่อนที่จะนำมาโพสต์เก็บไว้ในบล็อคนี้

(อ่าน-แปล จากหลายบทความ เรียบเรียง-ย่อ-เขียน ลงบนบทความนี้)

โพสต์นี้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2557 ลงในเฟสเพจสมาคมผู้รักชาผูเอ่อร์แห่งประเทศไทย  https://www.facebook.com/groups/1465523990337272/