วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เครื่องเคลือบเขียนสีเมืองจีน (ตอนที่2)



        รงควัตถุสีที่ใช้ในเครื่องเคลือบเขียนสี ถ้าใช้วัตถุดิบจำพวกพืชแบบหมึกที่ใช้ในการเขียนภาพวาดพู่กันจีน เมื่อผ่านการเผาแล้วสีจะจางหายไปทันที ช่างทำเครื่องเคลือบยุคโบราณจึงทอดสายตามาที่แร่ธาตุ พวกเขาค้นพบว่าผงแร่ธาตุจำนวนมากสามารถเผาออกมาให้สีแตกต่างกัน สารที่ทำให้ปรากฏเป็นสีคือออกไซด์ของโลหะที่เป็นสารประกอบอยู่ในแร่ธาตุ ธาตุโลหะเหล่านี้เมื่ออยู่ภายใต้ความเข้มข้น อุณหภูมิ บรรยากาศที่แตกต่างกัน ก็จะปรากฏสีออกมาไม่เหมือนกัน และเมื่อผสมธาตุโลหะหลายชนิดก็จะปรากฏออกมาเป็นสีใหม่ๆ

        หลังจากสะสมประสบการณ์เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยหยวน ช่างทำเครื่องเคลือบสามารถผสมวัตถุดิบจากแร่ธาตุที่ให้สีออกมาตามสเปกตรัมสีได้อย่างครบถ้วน โดยพื้นฐานไม่ว่าสีอะไรก็สามารถทำการเผาออกมาได้ ประกอบกับศิลปะจิตรกรรมบนเครื่องเคลือบที่สืบสานต่อๆกันมา ก่อเกิดเป็นรากฐานที่สำคัญต่อเทคโนโลยีอู๋ไฉ่ในยุคสมัยหมิงและชิง

      【เครื่องเคลือบอู๋ไฉ่】 (五彩)

        “อู๋” () ในอู๋ไฉ่เป็นตัวเลขสมมุติ ไม่ใช่มีเพียงแค่5สี ในยุคสมัยหมิงมีสี แดง เขียว แสด เหลือง ม่วง เป็นต้น มาถึงยุคสมัยชิงได้เพิ่มสี ดำ น้ำตาล น้ำเงิน ฯลฯ อู๋ไฉ่สามารถแบ่งออกเป็น2ชนิดคือ “อู๋ไฉ่ลายคราม” และ “อู๋ไฉ่บนเคลือบบริสุทธิ์

明宣德·青花五彩莲池鸳鸯碗  ถ้วยอู๋ไฉ่ลายครามเป็ดหงส์·สมัยจักรพรรดิเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิง (ปี1426-1435) : อู๋ไฉ่ลายคราม (青花五彩) เป็นการเขียนสีบนเคลือบขาวของเครื่องเคลือบลายคราม

清雍正·五彩龙凤纹碗  ถ้วยอู๋ไฉ่ลายมังกร·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้นราชวงศ์ชิง (ปี1723-1735) : อู๋ไฉ่บนเคลือบบริสุทธิ์ (纯釉上五彩) เป็นการเขียนสีบนเครื่องเคลือบขาวเรียบ

        อู๋ไฉ่คิดค้นเผาประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการที่จิ่งเต๋อเจิ้นในยุคสมัยหมิงช่วงรัชศกเซวียนเต๋อ พัฒนาการอย่างพุ่งพรวดในรัชศกเจียจิ้งและว่านลี่ หลังจากนั้นมาก็ไม่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญ อาจเนื่องจากยุ่งยากซับซ้อนและต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าลายคราม ตราบจนถึงรัชศกคังซีราชวงศ์ชิง อู๋ไฉ่ได้รับการฟื้นฟูพัฒนาขึ้นมา แล้วมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่โดยใช้สีน้ำเงินซึ่งเป็นสีบนเคลือบทดแทนลายคราม ลดความยุ่งยากโดยไม่ต้องเผาทำลายครามออกมาก่อน เน้นรายละเอียดของอู๋ไฉ๋มากยิ่งขึ้น ให้สีเข้มฉูดฉาดร้อนแรง ไม่เล่นระดับสีให้มีน้ำหนักเข้มอ่อน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเฝินไฉ่ที่คิดค้นเผาประดิษฐ์ได้ในปลายรัชศกคังซีแล้ว อู๋ไฉ่จะถูกขนานนามว่า “สีกระด้าง” (硬彩) เฝินไฉ๋ก็เรียกขานกันว่า “สีละมุน” (软彩)

明嘉靖·五彩鱼藻纹盖罐 โถฝาปิดอู๋ไฉ่ลายปลาพืชใต้น้ำ·สมัยจักรพรรดิเจียจิ้งราชวงศ์หมิง (ปี1522-1566)

清康熙·五彩人物故事盘 จานอู๋ไฉ่ภาพเรื่องราวบุคคลสำคัญ·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง (ปี1661-1722)

      【เครื่องเคลือบโต้วไฉ่】 (斗彩)

        โต้วไฉ่เป็นการผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างลายครามกับอู๋ไฉ๋ ความแตกต่างของอู๋ไฉ่และโต้วไฉ่คือ : ด้านความรู้สึก—โต้วไฉ่ดูอ่อนโยนกว่า ด้านเทคนิค—อู๋ไฉ่เป็นการเขียนสีโดยตรงลงบนเคลือบเรียบ โต้วไฉ่คือเขียนลายครามสีใต้เคลือบเป็นภาพร่างก่อน แล้วค่อยๆเขียนอู๋ไฉ๋สีบนเคลือบลงในภาพร่าง ; ทำไมไม่เขียนสีภาพทั้งหมดอยู่บนเคลือบเล่า? อาจเป็นเพราะว่า เครื่องเคลือบอู๋ไฉ่จากเตาหลวงต้องการผลลัพธ์ออกมาเหมือนภาพวาดพู่กันจีนแบบเหมือนจริงที่ต้องใช้หมึกดำวาดภาพร่างออกมาก่อน แล้วจึงทำการระบายสี ปัญหาที่ต้องเผชิญของช่างทำเครื่องเคลือบยุคสมัยหมิงคือ ไม่มีรงควัตถุสีบนเคลือบที่เลียนแบบสีหมึกได้ จึงคิดวิธีใช้การเขียนลายครามเป็นภาพร่าง

明成化·鸡缸杯 ถ้วยตราไก่·สมัยจักรพรรดิเฉิงฮั่วราชวงศ์หมิง (ปี1465-1487) : สภาพลายครามภาพร่างที่เผาเสร็จครั้งแรก

明成化·鸡缸杯 ถ้วยตราไก่·สมัยจักรพรรดิเฉิงฮั่วราชวงศ์หมิง (ปี1465-1487) : สภาพโต้วไฉ่ที่เผาเสร็จสมบูรณ์หลังเขียนสีอู๋ไฉ่ให้กลมกลืนกับภาพร่าง

        โต้วไฉ๋คิดค้นเผาประดิษฐ์ขึ้นในรัชศกเฉิงฮั่วราชวงศ์หมิง ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ “ถ้วยตราไก่” สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกที่ประมูลขายได้1.1พันล้านบาท จักรพรรดิเฉิงฮั่วนิยมชมชอบโต้วไฉ่มาก นี่คงเกี่ยวข้องกับอุปนิสัยของพระองค์ที่มีจิตใจบอบบางอ่อนแอ จะใม่สนใจต่อสีที่มีโทนเข้มร้อนแรง

明成化·斗彩鸡缸杯半成品 ถ้วยตราไก่กึ่งสำเร็จรูป·สมัยจักรพรรดิเฉิงฮั่วราชวงศ์หมิง ขุดค้นพบที่ซากเตาหลวงจูซานจิ่งเต๋อเจิ้นในปี 1990

明成化·斗彩鸡缸杯 ถ้วยตราไก่·สมัยจักรพรรดิเฉิงฮั่วราชวงศ์หมิง ประมูลเมื่อปี2014 HKD281,000,000 : “” (ji ; ไก่) พ้องเสียงกับ “” (ji ; ดี) เป็นสัญลักษณ์มงคลหมายถึง “เป็นสุข” (美好) ; พ่อไก่แม่ไก่2ตัวและลูกไก่3ตัว หมายถึงตัวไก่มี “ห้าคุณธรรม” (五德) คือ นักปราชญ์(文也 หงอนไก่—ผู้สวมมงกุฎ) นักรบ(武也 เดือยไก่—มีอาวุธติดกาย) กล้าหาญ(勇也 ชนประจัญบานกับศัตรู) ความดี(仁也 ออกหากินโดยพร้อมเพียง) ไว้ใจ(信也 ขันตรงต่อเวลาไม่พลาด) ; เป็นภาพวาดที่แสดงถึงบรรยากาศของครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียว การดำรงชีวิตอย่างสันติสุข

      【เครื่องเคลือบฝ้าหลางไฉ่】 (珐琅彩)

        “ฝ้าหลาง” หรือ “การลงยา” (Enamel) กำเนิดขึ้นทางโลกตะวันตก โดยใช้ฟริต (Frit : ผงแก้วผสมออกไซด์โลหะต่างๆ) ผสมกับน้ำเป็นยาสีนำมาเขียนลงบนภาชนะโลหะ ถ่ายทอดเข้าสู่เมืองจีนในปลายยุคสมัยหยวน เมื่อถึงยุคสมัยหมิงเทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาจนปรับให้เข้ากับท้องถิ่น โดยเรียกชื่อเป็นทางการว่า “การลงยาฝ้าหลางบนทองแดง” (铜胎掐丝珐琅) ซึ่งก็คือ “จิ่งไท่หลาน” (景泰蓝 : Cloisonne) อันโด่งดังที่เป็นชื่อเรียกทั่วไปในยุคหลัง

明景泰·掐絲琺瑯番蓮紋盒 台北故宮博物院藏 กล่องลงยาฝ้าหลางลายดอกเสาวรส·สมัยจักรพรรดิจิ่งไท่ราชวงศ์หมิง (ปี1450-1456) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานกู้กงกรุงไทเป

        ฝ้าหลางไฉ่ที่พูดถึงในปัจจุบันเป็นการบ่งชี้เฉพาะเครื่องเคลือบ มีชื่อเฉพาะทางเทคนิคว่า “การเขียนสีฝ้าหลางบนเครื่องเคลือบ” (瓷胎画珐琅) จักรพรรดิคังซีดลบันดาลให้ริเริ่มทำการทดลองการเขียนสีฝ้าหลางบนเครื่องเคลือบขึ้นในพระราชวังกรุงปักกิ่ง ตั้งแต่รัชศกคังซีปี27ถึง59 รวมเสียเวลาทั้งหมด32ปีจนประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลานั้นรงควัตถุสีฝ้าหลาง(ฟริต)ล้วนต้องนำเข้าจากยุโรป

        เครื่องเคลือบฝ้าหลางไฉ่ในยุคจักรพรรดิคังซีเป็นการเขียนสีเต็มพื้นที่(ลักษณะแนวเดียวกันแบบจิ่งไท่หลาน) ยังมีการเขียนสีฝ้าหลางบนปั้นจื่อซา ตัวเครื่องเคลือบในสมัยนั้นถูกลดระดับเป็นเพียงพาหะของฝ้าหลาง ต่อมาจักรพรรดิยุงเจิ้นริเริ่มทำเครื่องเคลือบขาวเขียนสีฝ้าหลาง แล้วก็เริ่มใช้รงควัตถุสีฝ้าหลางที่ผลิตได้ในประเทศ ถือเป็นยุคสมัยที่เครื่องเคลือบฝ้าหลางไฉ่มีมาตรฐานสูงที่สุด ศิลปหัตถกรรมงามวิจิตรที่สุด เมื่อถึงยุคจักรพรรดิเฉียนหลงค่อยๆปรับเปลี่ยนไปทางเฝินไฉ่ ฝ้าหลางไฉ่ได้ถึงกาลอวสานหลังรัชศกเฉียนหลง

清康熙·胭脂红地珐琅彩开光花卉纹碗 ถ้วยฝ้าหลางไฉ่พื้นแดงม่วงเข้มลายดอกไม้บูชา·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง (ปี1661-1722)

清康熙·紫砂珐琅五彩四季花卉海棠式壶 ปั้นจื่อซาฝ้าหลางไฉ่ลายดอกไม้บานสะพรั่ง·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง (ปี1661-1722)

        เครื่องเคลือบฝ้าหลางไฉ่มีความพิเศษเฉพาะอย่างหนึ่ง ก็คือมันไม่เคยเสด็จออกจากพระราชวังเลย เป็นได้แค่ศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเครื่องใช้เฉพาะสำหรับพระราชวัง มันเริ่มจากจิ่งเต๋อเจิ้นทำการเผาเครื่องเคลือบสีขาวบริสุทธิ์ คัดเลือกใบที่สมบูรณ์ไม่มีตำหนิแล้วนำส่งไปปักกิ่ง ต่อจากนั้นอาจารย์จิตรกรเป็นผู้ทำการเขียนสีฝ้าหลางแล้วนำไปเผาผลิตใหม่เป็นครั้งที่2ในโรงงานราชสำนัก เครื่องเคลือบฝ้าหลางไฉ่จึงเป็นเครื่องเคลือบที่เผาผลิตเพื่อพระราชวังโดยเฉพาะ จำนวนการผลิตจึงน้อยมาก ผลงานทุกชิ้นล้วนเป็นงานล้ำเลิศ ในระยะเวลา200ปีตั้งแต่กำเนิดมา ไม่มีผู้ไดเคยได้ใช้นอกจากจักรพรรดิ

清雍正·珐琅彩花鸟纹玉壶春瓶 แจกันฝ้าหลางไฉ่ลายนกดอกไม้·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้นราชวงศ์ชิง (ปี1723-1735)

清乾隆·珐琅彩勾莲纹象耳瓶 แจกันหูช้างฝ้าหลางไฉ่ลายเกาเหลียน·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง (ปี1735-1796)

清乾隆·珐琅彩杏林春燕图碗 ถ้วยฝ้าหลางไฉ่ลายนกโบยบินในสวนต้นแอปริคอท·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง (ปี1735-1796) ประมูลเมื่อปี2006 HKD151,300,000

      【เครื่องเคลือบเฝินไฉ่】 (粉彩)

        เฝินไฉ่คิดค้นเผาประดิษฐ์ขึ้นในช่วงปลายรัชศกคังซี เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งของจิ่งเต๋อเจิ้นที่มีอู๋ไฉ่เป็นพื้นฐานแล้วทำการเลียนแบบฝ้าหลางไฉ่ ช่างฝีมือของจิ่งเต๋อเจิ้นอาศัยลักษณะพิเศษของเฝินไฉ่มาแสวงหาเอกลักษณ์แบบฝ้าหลางไฉ่ เพื่อให้มันสามารถแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป

清康熙·粉彩瓷 จานเฝินไฉ่·สมัยจักรพรรดิคังซีราชวงศ์ชิง (ปี1661-1722)

        ฝ้าหลางไฉ่เป็นฟริตนำเข้าที่ประกอบด้วยธาตุโบรอนและอาร์เซนิก(สารหนู)เป็นจำนวนมาก ซึ่งในเครื่องเคลือบเมืองจีนยุคก่อนไม่มีแร่ธาตุสองชนิดนี้ดำรงอยู่ แร่ธาตุสองชนิดนี้เป็นตัวทำอิมัลชั่น (Emulsion) ทำให้สามารถเขียนสีที่มีลักษณะสีหนาและระดับเข้มอ่อนออกมาได้ อู๋ไฉ่ไม่มีใช้ตัวทำอิมัลชั่น สีที่ระบายลงบนเครื่องเคลือบจะบาง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางระดับเข้มอ่อน ช่างทำเครื่องเคลือบเพื่อให้อู๋ไฉ่เขียนสีออกมามีเอกลักษณ์แบบฝ้าหลางไฉ่ จึงได้คิดค้นประดิษฐ์ฟริตตะกั่ว (玻璃白) สรุปแบบย่อๆก็คืออู๋ไฉ่ที่ใช้ฟริตตะกั่วก็คือเฝินไฉ่

仿清乾隆粉彩摇铃尊的细节 รายละเอียดที่เขียนสีลอกลายแจกันหยาวหลิงจูนเฉียนหลง : กลีบดอกไม้ใช้ฟริตตะกั่วขาวลงพื้น สีหนา ใบที่อยู่รอบข้างไม่มีฟริตตะกั่วปูพื้น สีบาง ไม่มีระดับเข้มอ่อน เป็นวิธีการเขียนสีแบบอู๋ไฉ่

        ขั้นตอนการเขียนสีเฝินไฉ่ เริ่มจากการเขียนวาดภาพร่างบนเครื่องเคลือบขาวที่เผาเสร็จแล้ว หลังจากนั้นระบายฟริตตะกั่วขาวลงในขอบเขตที่ออกแบบไว้ แล้วเขียนสีบนฟริตตะกั่วขาว บนฟริตตะกั่วขาวสามารถทำการละเลงสี ตัวอย่างเช่นกลีบดอกไม้ สามารถเปลี่ยนระดับเข้มอ่อนจากในสู่นอกได้ ให้ความรู้สึกที่มีมิตินูนเว้า สีมีความอ่อนละมุนและทึบแสง ดังนั้น เฝินไฉ่ก็มีอีกชื่อหนึ่งว่า “สีละมุน” อู๋ไฉ่เมื่อโดยการเทียบเคียงแล้วก็เรียกขานว่า “สีกระด้าง

▲ขั้นตอนการเขียนสีเฝินไฉ่-1 : สีขาวที่อยู่ในบริเวณกลีบดอกไม้ก็คือฟริตตะกั่วขาวที่เติมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
▲ขั้นตอนการเขียนสีเฝินไฉ่-2 : เขียนสีลงบนฟริตตะกั่วขาว

▲ขั้นตอนการเขียนสีเฝินไฉ่-3 : ผลลัพธ์ที่เผาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

        เฝินไฉ่ถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักตัวหนึ่งที่เป็นน้องสุดท้องของเครื่องเคลือบดินเผาเมืองจีน กำเนิดขึ้นมาก็กลายเป็นอัยยะแห่งเครื่องเคลือบ—คู่ต่อกรสำคัญของลายคราม การผันแปรของมันล้วนอยู่ภายใต้ระดับสีที่มีน้ำหนักเข้มอ่อนเลียนแบบสีธรรมชาติ แสวงหาศิลปะจิตรกรรมเหมือนจริง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นพลังทางการแสดงถึงการก้าวกระโดดของเครื่องเคลือบเขียนสีเมืองจีน และแสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลศิลปกรรมของตะวันตก

 ▲清乾隆·藍地粉彩花鳥紋天球瓶 แจกันเฝินไฉ่พื้นน้ำเงินลายนกดอกไม้·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง (ปี1735-1796)

        การจำแนกฝ้าหลางไฉ่และเฝินไฉ่เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก ผู้เชี่ยวชาญยังมีโอกาสพลาดพลั้งได้ ไม่ว่ามีการอ้างอิงลักษณะพิเศษเฉพาะบางอย่างมาใช้ในการแยกแยะ แต่ก็ไม่ถูกต้องตายตัวเสมอไป แม้ว่า “ฝ้าหลางไฉ่” ที่ทำจากโรงงานราชสำนักในพระราชวัง และ “เฝินไฉ่” ที่ทำจากเตาหลวงในจิ่งเต๋อเจิ้น ถือเป็นสองสิ่งที่มีฐานันดรต่างกัน ของในวังกับของนอกวัง มีแนวความคิดในการผลิตเครื่องเคลือบแตกต่างกัน แต่จากมุมมองด้านประวัติศาสตร์ตั้งแต่จุดกำเนิด พัฒนาการและเส้นทางการถ่ายทอดของพวกมันล้วนเหมือนกันอย่างแพะกับแกะ ต่างมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Famile Rose” เป็นการบ่งบอกว่าสองสิ่งนี้ในวัฒนธรรมตะวันตกไม่มีการนิยามและจำแนก ทำนองว่าต่างก็มาจากรากเหง้าเดียวกัน
清乾隆御制·珐琅彩 ‘古月轩’题诗花石锦鸡图双耳瓶--清雍正·官窑粉彩蝠桃寿纹橄榄瓶  (ซ้าย) แจกัน2หูฝ้าหลางไฉ่ลายไก่ฟ้าดอกไม้·สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิง ประมูลเมื่อปี2005 HKD151,480,000 (ขวา) แจกันเฝินไฉ่ลายลูกท้อค้างคาว·สมัยจักรพรรดิยุงเจิ้นราชวงศ์ชิง ประมูลเมื่อปี2004 HKD4,150,000


เอกสารอ้างอิง :
1. 瓷器有七种彩,可别再只认得青花瓷了http://daily.zhihu.com/story/8963560
2. 什么是五彩,斗彩,珐琅彩和粉彩?  : http://k.sina.com.cn/article_1652484947_627eeb53020007jop.html
3. 怎么去区分珐琅彩和粉彩  : https://kknews.cc/culture/j8495kl.html 

-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

[หมายเหตุ] : 
        ในกลางยุคจักรพรรดิคังซี ยังมีเครื่องเคลือบเขียนสีอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กว่างไฉ่” (广彩) เพื่อการส่งออกไปยังตลาดยุโรปโดยเฉพาะ โดยเครื่องเคลือบขาวทำจากจิ่งเต๋อเจิ้น แล้วส่งไปที่กว่างโจวเพื่อทำการเขียนสีบนเคลือบเฉกเช่นเฝินไฉ่ ลักษณะภาพวาดและสีสันตามแบบลักษณ์ของยุโรป
        ในปลายยุคชิงต้นสาธารณรัฐ ได้คิดค้นการเขียนสีแบบ “เฉี่ยนเจี้ยงไฉ่” (浅降彩) ซึ่งกลายพันธุ์มาจากเฝินไฉ่ เป็นการเขียนภาพวิว คน นกและดอกไม้ และอีกแบบ “หลี่หลิงอู๋ไฉ่” (醴陵五彩) เป็นสีใต้เคลือบ เหมาะสำหรับทำเครื่องใช้ครัวเรือน จนถึงยุคปัจจุบัน ที่พัฒนาการเขียนสีแบบ “ซินไฉ่” (新彩) หรือการเขียนสียุคสมัยใหม่ที่ประยุกต์จากการเขียนสีแบบตะวันตก อันที่จริงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีการผลิตเครื่องเคลือบของเมืองจีนได้ล้าหลังยุโรปไปแล้ว


        การเขียนสีแบบต่างๆข้างต้นและยังมีอีกหลายๆแบบ จะขอไม่นำเสนอในรายละเอียด แต่ถ้าสนใจการนำ ลายคราม ลายไฟ อู๋ไฉ่ โต้วไฉ่ ฝ้าหลางไฉ่ และเฝินไฉ่มาผสมผสานกันที่เรียกว่า “การเขียนสีคละเคล้า” โปรดติดตาม 《เครื่องเคลือบเขียนสีเมืองจีน (ตอนที่3)》 ซึ่งจะนำเสนอตามลำดับต่อไปในเฟซเพจนี้ !!