วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2564

เครื่องลายคราม---สมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ (3)



        3. เครื่องลายครามยุคหยวน/元青花


        “เครื่องลายครามยุคหยวน” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่พิเศษเฉพาะมากในประวัติศาสตร์ศิลปกรรมเครื่องเคลือบดินเผาจีน เพียบพร้อมด้วยสุนทรียภาพที่ทำให้ผู้คนตกตะลึง เครื่องลายครามยุคหยวนมีเนื้อหุ่นอันขาวนวล ผิวเคลือบอันอ่อนโยน สีลายครามที่สดเข้ม กระบวนแบบภาพลวดลายตกแต่งเขียนอย่างมีพละและอิสระ ภาพวาดหลากหลายชั้น กลายเป็นกระแสหลักที่มีอิทธิพลต่อสุนทรียศาสตร์และการผลิตเครื่องเคลือบจีน เป็นการบุกเบิกศักราชใหม่ของประวัติศาสตร์การผลิคเครื่องลายครามจีน มันเป็นการสืบทอดมาจากยุคถัง/ซ่ง ตกทอดไปยังยุคหมิง/ชิง  

▲เครื่องลายครามยุคหยวนประกอบด้วย ลายครามไฟ(ซ้าย) เคลือบน้ำเงินลายขาว(กลาง) เคลือบขาวลายน้ำเงิน(ขวา)  3 รูปแบบ

        • ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

        แม้ว่าก่อนหน้ายุคหยวน ในยุคถัง/ซ่งก็ปรากฏมีการผลิตเครื่องลายครามแล้ว แต่เครื่องลายครามเนื้อขาวลายน้ำเงินมาถึงยุคหยวน จึงเป็นยุคที่บรรลุขั้นความเชี่ยวชาญในการเผาผลิตอย่างแท้จริง ตามเอกสารจีนโบราณ เครื่องลายครามไม่ได้ถูกใช้ในราชสำนักราชวงศ์หยวน ไม่มีการเก็บรักษาเครื่องลายครามยุคหยวนในพระราชวังราชวงศ์หมิง/ชิง ในเอกสารบันทึกเครื่องเคลือบดั้งเดิมก็ไม่มีการกล่าวถึงเครื่องลายครามยุคหยวน ก่อนหน้ายุคปี1950s ในบริบทการศึกษาวิจัยศิลปกรรมเครื่องเคลือบดินเผาจีนยิ่งไม่มีสถานภาพของเครื่องลายครามยุคหยวน ทั่วไปถูกมองเป็นเครื่องลายครามยุคหมิงเป็นส่วนใหญ่ 


        สีลายครามยุคหยวนเป็นที่ประจักษมิใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน ชาวจีนชนเผ่าปักหลักทำเกษตรกรรมจะนับถือสีแดง/เหลือง สีแดงคือชีวิต สีเหลืองคือรากเหง้า สีน้ำเงินถูกเชื่อว่าเป็นสีอัปมงคล ชาวมองโกลชนเผ่าเร่ร่อนทำปศุสัตว์ไปทั่วดินแดนแห่งทุ่งหญ้า ใต้ท้องฟ้าครามอันเป็นนิรันดร์ ชาวมองโกลจะชื่นชอบสีขาว(เสื้อผ้าขาว/กระโจมขาว/ธงขาว) บูชาท้องฟ้าคราม นับถือสีฟ้าครามคือสีน้ำเงินอันเป็นมงคล หลังจากจักรวรรดิมองโกลที่พิชิตครองทั่วยูเรเซีย ได้สถาปนาราชวงศ์หยวน(ปี1271-1368)ปกครองจีนที่ชำนาญการผลิตเครื่องเคลือบ ภายใต้ภาวะประวัติศาสตร์เช่นนี้ สุนทรียภาพแห่งการประกอบเคลือบขาวกับลายน้ำเงินก็อุบัติขึ้น ก่อกำเนิดเป็นเครื่องลายคราม 

▲เครื่องลายครามกระโจมมองโกลลายน้ำทะเลดอกไม้ยุคหยวน


        เจ้าผู้ปกครองราชวงศ์หยวนไม่เพียงทำการผลิตเครื่องเคลือบเป็นจำนวนมากที่จิ่งเต๋อเจิ้น ยังจัดระบบเตาหลวงใหม่ และก่อตั้ง “สำนักเครื่องเคลือบฝูเหลียง/浮梁磁局” (ปี1278) ซึ่งถือเป็นองค์กรทางการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบองค์กรแรกในประวัติศาสตร์ ช่วงต้นยุคหยวนยังเป็นการผลิตเครื่องเคลือบสีขาว ไม่มีสีน้ำเงิน  พอย่างเข้ากลางยุคหยวน สืบเนื่องจากในช่วงนั้นการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับชนเผ่าอื่นๆอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอิสลาม กระตุ้นให้เครื่องลายครามก่อเกิดที่จิ่งเต๋อเจิ้น ส่วนใหญ่ทำการผลิตเพื่อการส่งออกขายไปยังแถบตะวันออกกลาง เอเชียอาคเนย์ เป็นต้นโดยผ่านเส้นทางสายไหม 

▲กระบวนแบบภาพที่ผสมผสานวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมอิสลาม เขียนลวดลายตกแต่งอย่างหนาแน่นซับซ้อนแทบไม่เหลือพื้นที่ว่างเปล่า เป็นการสะท้อนถึงความเชื่ออิสลามทาง “หวาดกลัวว่างเปล่า/恐惧空白” และ “ชั่วนิจนิรันดร์/生生不息” 
 

        • สารสีคราม

        สารสีครามที่ใช้บนเครื่องลายครามยุคหยวนแบ่งออกเป็น “สารสีครามจากจีน” และ “ซูหมาหลีชิง” ที่นำเข้าจากแถบเปอร์เซีย ซึ่งสารสีคราม 2 ชนิดนี้สำแดงสีที่มีความเข้มจางแตกต่างกัน สารสีครามจากจีนจะสำแดงสีน้ำเงินอมเทาค่อนไปทางอ่อน สารสีครามนำเข้าจะสำแดงสีน้ำเงินเข้มค่อนข้างสุกสว่าง 

▲(ซ้าย) “สารสีครามจากจีน” สีลายครามจะออกสีน้ำเงินอมเทาค่อนไปทางอ่อน  (ขวา) “ซูหมาหลีชิง” สีลายครามจะออกสีน้ำเงินเข้มค่อนข้างสุกสว่าง
 

        • ลักษณะเฉพาะ

        ความมีชีวิตชีวา สว่างสุกใส สง่าผ่าเผยของเครื่องลายครามยุคหยวนเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นหนึ่งเดียวในบรรดาเครื่องเคลือบยุคหยวน เป็นการผสมผสานหลากวัฒนธรรมหลอมรวมกัน พัฒนาออกมาเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกที่วิลิศมาหรา


        (1) การสืบทอดแนวความคิดสุนทรียภาพดั้งเดิมของจีน

        เครื่องลายครามยุคหยวนได้นำสุนทรียภาพดั้งเดิมของจีนเผยแผ่อย่างต่อเนื่อง ฝีมือการเขียนสีตกแต่งด้วยมือได้ถูกยกระดับให้สูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รูปลักษณ์และลวดลายตกแต่งบางรูปแบบสะท้อนถึงกระแสนิยมทางเทคนิคใหม่ 

▲เครื่องลายครามไหทรงเจดีย์ลายดอกโบตั๋นยุคหยวนรัชศกเหยียนโย่วปีที่6 (ปี1319)---เป็นเครื่องลายครามที่ใช้ “สารสีครามจากจีน” สีลายครามแตกต่างอย่างเด่นชัดกับเครื่องลายคราม “รูปแบบจื้อเจิ้น/至正型” ที่ใช้ “ซูหมาหลีชิง” นี้น่าจะเป็นเครื่องลายครามระยะเริ่มต้นที่เผาผลิตจากเตาเผาเอกชนในจิ่งเต๋อเจิ้น

▲เครื่องลายครามไหลายสน/ไผ่/เหมย(สามมิตรอายุเหมันต์/岁寒三友)ยุคหยวน ขุดพบที่เมืองบัวหยางมณฑลเจียงซีเมื่อปี 1976

▲เครื่องลายครามคณโทกรวดน้ำพร้อมฐานรองลายดอกเหมยยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่เมืองผิงเซียงมณฑลเจียงซีเมื่อปี 1985

▲เครื่องลายครามจอก/จานรองลายเถาวัลย์ดอกเก๊กฮวยโบตั๋นยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 1970 

▲เครื่องลายครามไหลายเมฆมังกรยุคหยวน ราคาประมูลได้ RMB79,846,800

▲เครื่องลายครามไฟยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่เมืองเป่าติ้งมณฑลเหอเป่ยเมื่อปี 1964


        (2) การสะท้อนวัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้ามองโกเลีย

        ราชวงศ์หยวนคือดินแดนจีนที่ถูกยึดครองโดยชาวมองโกล ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และแนวความคิดทางวัฒนธรรมของชนเผ่ามองโกลจะแตกต่างกับของจีน บางลักษณะเฉพาะบนเครื่องลายครามยุคหยวนจะสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเพณีทางสังคมของชนเผ่ามองโกล ด้านบทบาทการใช้งานจะสะท้อนถึงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อน ศาสนาพุทธที่แพร่หลายในยุคหยวนที่เผยแพร่จากธิเบต มีอิทธิพลต่อรูปลักษณ์และการตกแต่งของเครื่องลายครามบางส่วน 

▲เครื่องลายครามไหเหมยผิงแปดเหลี่ยมพร้อมฝาลายน้ำทะเลมังกรยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่เมืองเป่าติ้งมณฑลเหอเป่ยเมื่อปี 1964---รูปแบบเคลือบน้ำเงินลายขาว รูปลักษณ์อวบอิ่ม ลวดลายหนาแน่น องค์ประกอบภาพกระชับ ผิดแปลกไปจากเครื่องเคลือบดั้งเดิมยุคถัง/ซ่งที่การจัดวางแผงภาพให้มีพื้นที่ว่างเปล่าพอควร

▲เครื่องลายครามกาแปดเหลี่ยมลายดอกไม้สี่ฤดูยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่เมืองเป่าติ้งมณฑลเหอเป่ยเมื่อปี 1964

▲เครื่องลายครามจอกขาสูงลายมังกรดอกเก๊กฮวยยุคหยวน เก็บรักษาที่สถาบันวิจัยโบราณวัตถุเขตปกครองตนเองมองโกลใน

▲เครื่องลายครามถ้วยลายสระบัวเป็ดแมนดารินยุคหยวน สูง 13.9 ซม. ปากกว้าง 29.7 ซม. เก็บรักษาที่ The Museum of Oriental Ceramics, Osaka---ถ้วยขนาดใหญ่สัมพันธ์กับประเพณีทางสังคมของชนเผ่ามองโกล

▲เครื่องลายครามจานลายดอกไม้หินยุคหยวน กว้าง 40 ซม. เก็บรักษาที่ The Metropolitan Museum of Art, New York City


        (3) บุคลิคลักษณะต่างถิ่นของเครื่องลายครามยุคหหยวน

        อาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลของราชวงศ์หยวน จากการติดต่อแลกเปลี่ยนที่กว้างขวาง การหลอมรวมกันของวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องลายครามยุคหยวนก้าวขึ้นสู่ขั้นสุดยอด ภาชนะที่ขนาดใหญ่ทั่วไปจะเป็นเครื่องเคลือบส่งออก เป็นการสั่งผลิตเพื่อให้เหมาะสมกับประเพณีการดำรงชีวิตทางสังคมของแถบพื้นที่วัฒนธรรมอิสลาม 

▲เครื่องลายครามจานปากกระจับลายสระบัวนกน้ำยุคหยวน สูง 7.3 ซม. ปากกว้าง 39.8 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิหร่าน---จานขนาดใหญ่เกี่ยวข้องกับประเพณีการทานอาหารของคนมุสลิม

▲เครื่องลายครามกาสี่เหลี่ยมลายหงส์สัตว์มงคลดั้นเมฆยุคหยวน เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิหร่าน

▲เครื่องลายครามไหเหมยผิงแปดเหลี่ยมลายสระบัวเป็ดแมนดารินยุคหยวน สูง 40.5 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปิในอิสตันบูลประเทศตุรกี

▲เครื่องลายครามน้ำเต้าลายดอกโบตั๋นยุคหยวน สูง 70 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปิในอิสตันบูลประเทศตุรกี

▲เครื่องลายครามจานปากกว้างลายสระบัวนกน้ำยุคหยวน ปากกว้าง 45 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปิในอิสตันบูลประเทศตุรกี

▲เครื่องลายครามจานปากกว้างลายกิเลนหงส์บินยุคหยวน ปากกว้าง 41.5 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปิในอิสตันบูลประเทศตุรกี---จานขนาดใหญ่รูปแบบเคลือบน้ำเงินลายขาว มีเพียงหนึ่งไม่มีสองในโลกนี้


        ทุกวันนี้ ทั่วโลกล้วนรู้จักเครื่องลายครามที่เป็นแก่นสารวัฒนธรรมของจีน มีประวัติความเป็นมา 700 ปีแล้ว เครื่องลายครามยุคหยวนเป็นผลึกของวัฒนธรรมจีน/อิสลาม/มองโกล มันนำวัฒนธรรมเกษตรกรรมและวัฒนธรรมเร่ร่อนทำปศุสัตว์มาผสมผสานกันอย่างสัมฤทธิ์ผล อาศัยกรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบที่ดั้งเดิมและโดดเด่นของจีนนำเสนอวิธีการผลิตเครื่องโลหะของวัฒนธรรมอิสลาม ใช้สีน้ำเงินอันสดเข้มของวัฒนธรรมอิสลามมาเปลี่ยนรสนิยมทางสุนทรียภาพของคนจีน การผสมสานวัฒนธรรมเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการเปิดศักราชใหม่ของเครื่องเคลือบดินเผาจีน


เอกสารอ้างอิง :

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

เครื่องลายคราม---สมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ (2)



      【เครื่องลายครามแต่ละยุคสมัย


        1. เครื่องลายครามยุคถัง/唐代青花瓷 


        คนทั่วโลกรู้จักเครื่องลายครามยุคหยวนเป็นอย่างดี แต่แท้จริงแล้วเครื่องลายครามจีนได้เริ่มปรากฏขึ้นในยุคถัง เตาเผาก่งเสี้ยน(巩县窑)ได้ริเริ่มใช้น้ำเคลือบสีน้ำเงินที่ประกอบด้วยแร่โคบอลต์มาตกแต่งเครื่องเคลือบดินเผาแล้ว แต่การผลิตเครื่องลายครามในยุคถังยังไม่ชำนาญพอ ประกอบกับเมื่อเตาเผาก่งเสี้ยนตกต่ำลงแล้วก็เกิดภาวการณ์ขาดตอนไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เครื่องลายครามยุคถังถือเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องลายคราม 

▲ไหพ่นน้ำเคลือบสีครามยุคถัง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด


        หลังผ่านการศึกษาวิจัยเนื้อดิน/น้ำเคลือบ/สีของชิ้นเศษเครื่องเคลือบที่ขุดพบที่หยางโจวในยุค 70-80 ศตวรรษที่20 และทำการแยกแยะวิเคราะห์วัสดุและกรรมวิธีการของเตาเผาก่งเสี้ยนในยุคถังแล้ว จึงสรุปเบื้องต้นได้ว่าแหล่งกำเนิดเครื่องลายครามยุคถังคือทางแถบเมืองก่งเสี้ยนมณฑลเหอหนาน ในช่วงปี 2003 ได้ทำการขุดซากเตาเผาก่งเสี้ยนแล้วค้นพบเศษชิ้นส่วนเครื่องลายครามจำนวนหนึ่ง นี้จึงเป็นการสรุปยืนยันได้ว่าแหล่งกำเนิดเครื่องลายครามยุคถังคือเตาเผาก่งเสี้ยนมณฑลเหอหนาน  

▲ชิ้นส่วนเครื่องลายครามยุคถังขุดพบที่เมืองหยางโจว/扬州มณฑลเจียงซูในปี 1975

▲เหยือกลายครามยุคถังขุดพบที่ซากโบราณสถานถังเฉิงเมืองหยางโจว/扬州

▲เศษชิ้นส่วนลายครามยุคถังขุดพบที่ซากเตาเผาไป่ยเหอเมืองก่งยี่/巩义(ก่งเสี้ยน/巩县)มณฑลเหอหนานในปี 2003

▲เครื่องลายครามยุคถังขุดพบที่ซากเตาเผาหวังเหยเมืองก่งยี่/巩义(ก่งเสี้ยน/巩县)มณฑลเหอหนานในปี 2003


         เครื่องลายครามยุคถังส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหรับ เพราะรูปลักษณะและการเขียนสีลวดลายจะใกล้เคียงกับเครื่องดินเผาเขียนสีลวดลายของอาหรับ นี่ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าภาชนะเครื่องลายครามยุคถังหลักใหญ่เพื่อขายส่งออพผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเล 

▲รูปลักษณ์และสีลวดลายของจานลายครามยุคถัง

▲ถ้วยชามดินเผาลวดลายสีครามของอิรักในศตวรรษที่ 9

▲ภาชนะดินเผาลายปลาใบไม้สีครามของอิรักในศตวรรษที่ 9


        สารสีครามยุคถังจัดเป็นแร่ซัลไฟด์ทองแดงโคบอลต์ สำแดงสีน้ำเงิน เกิดจุดผลึก เป็นสารทองแดงโคบอลต์ที่ประกอบด้วยแมงกานีสและเหล็กต่ำ น่าจะเป็นการนำเข้ามาจากทางแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

▲ไหลายครามลายปลายุคถัง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานโคเปนเฮเกนประเทศเดนมาร์ค

▲คณโทลายครามทรงเจดีย์ยุคถังที่ขุดขึ้นจากสุสานยุคถังที่เมืองเจิ้นโจวเมื่อปี 2006

▲จานลายครามยุคถังที่งมขึ้นมาจากซากเรืออัปปาง「Batu Hitam/黑石号」---ที่บรรทุกสินค้าเมืองจีนยุคสมัยถังเต็มลำเรือ ได้อัปปางบริเวณพื้นที่ทะเลใกล้เกาะเบลีตุง (Belitung) ทางด้านตะวันออกของหมู่เกาะชวา จมอยู่ใต้ทะเลเป็นเวลากว่าพันปี ได้ทำการงมขึ้นมาในปี 1988 


        ทำไมถึงไม่สามารถเรียกเครื่องลายครามยุคถังว่าเป็นเครื่องลายครามที่แท้จริง ?

        ๑. เพราะไม่แน่ใจว่าเครื่องลายครามยุคถังเป็นการเขียนสีครามใต้เคลือบหรือไม่

        ๒. สารสีครามยุคถังแม้เป็นสารแร่โคบอลต์ แต่มีสารประกอบที่แตกตต่างจากสารแร่โคบอลต์ของยุคหยวน/หมิง

        ๓. อุณหภูมิการเผาผลิตเครื่องลายครามยุคถังยังไม่สูงพอ


        2. เครื่องลายครามยุคซ่ง/宋代青花瓷


        เนื่องจากชิ้นวัสดุภาชนะที่เป็นเครื่องลายครามยุคซ่งที่แท้จริงมีจำนวนน้อยมาก จึงเกิดข้อสงสัยมากมายต่อเครื่องลายครามยุคซ่งว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ ต่อมามีการขุดค้นพบทางโบราณคดีและโบราณวัตถุที่สืบทอดกันมา เป็นเครื่องที่ยืนยันได้ว่าเครื่องลายครามยุคซ่งมีดำรงอยู่จริง 

▲ชิ้นเศษเครื่องลายครามที่ขุดพบใต้ฐานเจดีย์ที่เมืองหลงเฉวียนมณฑลเจ้อเจียงเมื่อปี 1957 ยุคปีผลิตไม่ช้ากว่าปี 977 ยุคซ่งเหนือ

▲ถ้วยลายครามยุคซ่ง

▲เศษชิ้นส่วนเครื่องลายครามที่ขุดพบใต้ฐานเจดีย์ที่เมืองเส้าซิงมณฑลเจ้อเจียงเมื่อปี 1970 ซึ่งเจดีย์นี้ก่อสร้างในปี 1265 รัชศกเสียนฉุนยุคซ่งใต้


        สีลายครามยุคซ่งส่วนใหญ่ล้วนสำแดงสีน้ำเงินอมดำหรืออมเทา มีบ้างที่จะออกดำ สีไม่สดสว่าง เครื่องลายครามที่ขุดพบใต้ฐานเจดีย์ยุคซ่งในมณฑลเจ้อเจียง หลังผ่านการวิเคราะห์ธาตุเคมี สารสีครามที่ใช้เป็นสารแร่โคบอลต์ที่มีแมงกานีสออกไซด์สูงมากของเจ้อเจียง เครื่องลายครามยุคซ่งมีทั้งแบบสีใต้เคลือบและสีบนเคลือบ สีลายครามส่วนใหญ่จะปรากฏสีแผ่ซ่าน 

▲ถ้วยลายครามที่ขุดพบจากสุสานที่นครฉงชิ่งเมื่อปี 2003 สุสานนี้น่าจะฝังในปลายยุคซ่งเหนือ

▲คณโทลายครามยุคซ่งที่ขุดพบที่นครฉงชิ่ง เขียนตราประทับข้างแจกัน “宋元祐三年 崇德厰造/ซ่งเหยีวนโย่วปี3 โรงงานฉงเต๋อสร้าง”


        แม้ยุคสมัยของเครื่องลายครามยุคซ่งจะอยู่หลังเครื่องลายครามยุคถัง แต่พวกมันจะไม่มีจุดกำเนิดที่สัมพันธ์กันโดยตรงไม่ว่าทางด้านรงควัตถุที่ใช้ กรรมวิธีการผลิต ลักษณะลวดลายตกแต่ง รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์เป็นต้น มีเพียงจุดที่เหมือนกันคือ สีลายครามบนเครื่องเคลือบล้วนเป็นการใช้สารแร่โคบอลต์เผาผลิตออกมา


        ระหว่างเครื่องลายครามยุคซ่งกับยุคหยวนจะมีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัดทางด้านน้ำเคลือบ สารสีครามและลวดลายตกแต่งเป็นต้น พวกมันไม่มีจุดกำเนิดที่ความสัมพันธ์กันทางแก่นสาร แต่พวกมันมีความสัมพันธ์กันในการสืบทอดและการพัฒนาทางเทคนิค เครื่องลายครามยุคหยวนที่มีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์ ก็เป็นเพราะได้ดำเนินการปฏิวัติเทคโนโลยีและการคิดสร้างสรรบนพื้นฐานของเครื่องลายครามยุคซ่ง  

 


เอกสารอ้างอิง :


วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564

เครื่องลายคราม---สมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ (1)



        “เครื่องลายคราม/青花瓷” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาชนะกระเบื้องเนื้อขาวเขียนลายสีคราม/白地青花瓷” ภาษาอังกฤษเรียกขานกันว่า “Blue and White Porcelain” ถือเป็นเครื่องเคลือบชนิดหนึ่งที่เป็นกระแสหลักของจีน จัดเป็นเครื่องเคลือบเขียนสีใต้เคลือบ เครื่องลายครามจะใช้แร่โคบอลต์ที่มีองค์ประกอบโคบอลต์ออกไซด์เป็นรงควัตถุ โดยการเขียนระบายตกแต่งบนเนื้อดินของเครื่องเคลือบดินเผา แล้วทำการชุบน้ำเคลือบชนิดโปร่งใสทับ 1 ชั้น นำไปทำการเผาครั้งเดียวด้วยอุณหภูมิสูง 1300º C ในบรรยากาศพร่องออกซิเจน เครื่องลายครามหลังผ่านการเผาแล้วจะสำแดงลวดลายสีน้ำเงินที่เจิดจรัสตัดกับผิวเคลือบสีขาวที่สว่างสุกใส เพียบพร้อมด้วยเนื้อหาแฝงและความหมายโดยนัยทางวัฒนธรรมอย่างลึกซึ่ง

▲「白釉青花一火成,花从釉里透分明。可参造化先天妙,无极有来太极生。/ ลายครามเคลือบขาวเผาเสร็จไฟเดียว ลวดลายใต้เคลือบงามสง่าผ่าเผย อิงธรรมชาติสร้างสรรค์เลอเลิศ ยินหยางดำรงสรรพสิ่งอุบัติ」--- บทกวีสรรเสริญเครื่องลายครามใน《陶歌/บทเพลงดินเผา》โดย 龚轼/กงซื่อ ยุคชิง
    


      【ประวัติโดยสังเขป


        เครื่องลายครามเป็น 1 ใน 4 เครื่องเคลือบดั้งเดิมอันโด่งดังของจิ่งเต๋อเจิ้น เครื่องลายครามที่ดั้งเดิมที่สุดได้เริ่มปรากฏร่องรอยในยุคถังและซ่งแล้ว เครื่องลายครามที่มีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์กลับปรากฏในยุคหยวนที่เตาเผาหูเถียน(湖田窑)ในจิ่งเต๋อเจิ้น เครื่องลายครามได้กลายเป็นภาชนะเครื่องเคลือบกระแสหลักในยุคหมิง การพัฒนาสู่จุดสุดยอดในรัชสมัยคังซีราชวงศ์ชิง เครื่องลายครามจิ่งเต๋อเจิ้นไม่ว่าบริบทในด้านวัตถุดิบ/กรรมวิธีการผลิต/การออกแบบ เป็นต้นล้วนยอดเยี่ยมที่สุดในจีน เครื่องลายครามยุคหยวนก็ได้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน


        ในประวัติศาสตร์จักรวรรดิราชวงศ์หยวนและคนมองโกลชนเผ่าเร่ร่อนจะนิยมชมชอบสีขาวและสีฟ้าคราม อันเนื่องจากเสื้อผ้าอาภรณ์ของคนมองโกลเป็นสีขาว กระโจมมองโกลเป็นสีขาว ท้องฟ้าเหนือทุ่งหญ้าเป็นสีฟ้าคราม ไม่เพียงเท่านี้ คนมองโกลได้ประทับรอยเท้าไปทั่วยูเรเซีย วัฒนธรรมของมุสลิมในยูเรเซียก็ชื่นชอบสีน้ำเงิน ในพื้นที่ตะวันออกกลางอันแห้งแล้ง น้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด ในวัฒนธรรมอิสลาม บนสวรรค์ก็คือโลกสีน้ำเงินที่อุดมไปด้วยน้ำ ในประวัติศาตร์จีนเครื่องลายครามที่แฝงด้วยลวดลายที่มีเอกลักษณ์ของมุสลิม ล้วนถือเป็นเครื่องเคลือบส่งออก


      【สารสีคราม


        สารสีครามเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตเครื่องลายคราม จัดอยู่ในรงควัตถุอุณหภูมิสูงใต้เคลือบ คุณภาพและวิธีการควบคุมสีสำแดงของสารสีครามจะเป็นตัวกำหนดความรุ่งเรืองเสื่อมถอยและพัฒนาการของเครื่องลายคราม 

▲อดีตและปัจจุบันของลายคราม---การเปลี่ยนแปลงสีของสารสีโคบอลต์ออกไซด์ตอนเขียนระบายและหลังผ่านการเผาผลิตที่อุณหภูมิสูง

▲สีลายครามที่คลาสสิกดั้งเดิม


        ลวดลายใต้เคลือบของเครื่องลายครามได้จากการใช้แร่โคบอลต์ออกไซด์เป็นสารสีครามมาดำเนินการเขียนวาดตกแต่ง โดยองค์รวมจะแยกออกเป็นสารสีครามจากจีนที่ประกอบด้วยธาตุแมงกานีสสูงธาตุเหล็กต่ำ และสารสีครามนำเข้าที่ประกอบด้วยธาตุแมงกานีสต่ำธาตุเหล็กสูง 

▲วิวัฒนาการของสารสีคราม

        ตั้งแต่กลางปลายยุคหยวน(ปี1206)ตราบจนถึงปัจจุบันนับรวม 815 ปี จิ่งเต๋อเจิ้นนครแห่งเครื่องเคลือบพันปีที่ได้ทำการเผาผลิตเครื่องลายคราม สารสีครามที่ใช้สามารถจัดแยกตามลำดับยุคสมัยออกเป็น 7 ชนิด :  

▲การดำรงอยู่ของสารสีครามในแต่ละยุคสมัยและการเปรียบเทียบโทนสีที่เปลี่ยนแปลง


        1. ซูหมาหลีชิง/苏麻离青

        ภาษาอังกฤษถอดคำออกเป็น Smalt เป็นสารสีครามที่นำเข้ามาจากแหล่งเปอร์เซีย เริ่มใช้ในปลายยุคหยวนช่วงรัชสมัยจิ่งเต๋อ เจิ้งเหอที่ได้เดินสำรวจทางทะเลได้นำสารสีตัวนี้เข้าจีนในสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง ถูกใช้จนร่อยหรอหมดไปในรัชสมัยเฉิงฮั่ว เครื่องลายครามที่ใช้สารสีครามตัวนี้ในการเขียนสี จะสำแดงสีน้ำเงินสด ตรงส่วนที่เข้มจะออกดำ มีผลึกสนิมเหล็ก(เกิดจากประกอบด้วยธาตุเหล็กสูง) ปรากฏลักษณะ “แผ่ซ่าน/晕散” 

▲“ซูหมาหลีชิง” สำแดงสีพลอยน้ำเงิน มีสนิมเหล็กและแผ่ซ่าน
 

▲เครื่องลายครามยุคหยวนที่วิจิตรประณีตส่วนใหญ่จะใช้ “ซูหมาหลีชิง”


▲เครื่องลายครามเตาหลวงในยุคหมิงรัชสมัยหย่งเล่อ/ซวนเต๋อล้วนใช้ “ซูหมาหลีชิง”


        2. ผิงเติ่งชิง/平等青

        เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เปยถังชิง/陂塘青” ขุดจากแหล่งเล่อผิงมณฑลเจียงซี ถูกใช้ประจำในเตาหลวงยุคหมิงรัชสมัยเฉิงฮั่ว/หงจื้อ/เจิ้งเต๋อ รวมระยะเวลาการใช้นานประมาณ 70 ปี สารสีครามตัวนี้ประกอบด้วยธาตุเหล็กต่ำ ทำให้โทนสีอ่อนละมุ่น แทบจะไม่เกิดลักษณะแผ่ซ่าน 

▲“ผิงเติ่งชิง” เมื่อเผาภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม จะได้โทนสีอ่อนละมุ่นสว่างไม่แผ่ส่าน

▲ในรัชสมัยเฉิงฮั่ว เมื่อ “ซูหมาหลีชิง” ไม่หลงเหลือแล้ว จึงต้องหันมาใช้ “ผิงเติ่งชิง” อันทำให้เครื่องลายครามเฉิงฮั่วโด่งดังขึ้นมาได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง


        3. สือจื่อชิง/石子青

        ผลิตจากทางแถบเกาอันมณฑลเจียงซี เมื่อใช้เป็นสารสีเดียวโดดๆ สีลายครามจะออกไปทางเทาเข้มกระทั่งออกดำ สารสีครามตัวนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในเตาเผาเอกชนทั้งในยุคหมิงและชิง ส่วนเตาเผาหลวงจะนำมาปรับใช้ผสมกับสารสีครามหุยชิง ถือเป็นสารสีครามที่ถูกนำมาใช้เป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในกระบวนการเผาผลิตเครื่องเคลือบชาวบ้านในจีน 

▲สีลายครามที่ใช้ “สือจื่อชิง” ผสมกับ “หุยชิง”

▲เครื่องลายครามกระถางธูปลายดอกบัวรัชสมัยเจิ้งเต๋อยุคหมิงจากเตาหลวงที่ใช้ “สือจื่อชิง” ผสมกับ “หุยชิง”

        4. หุยชิง/回青

        ถือเป็นสารสีครามนำเข้า แหล่งกำเนิดอยู่ทางแถบเขตซินเจียงในปัจจุบัน เริ่มใช้ในปลายยุคหมิงรัชสมัยเจียจิ้ง/หลงชิ่ง/ว่านลี่ สารสีหุยชิงจะต้องนำมาผสมกับสารสีสือจื่อชิงในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้สีครามตามที่คาดหวัง สารสีหุยชิงระดับเกรดดีจะเรียกขานเป็น “ฝอเถาชิง/佛头青” 

▲สีลายครามของ “หุยชิง” ออกสีน้ำเงินอมม่วง


▲(ซ้าย) “หุยชิง” โดดๆออกสีน้ำเงินอมม่วง (กลาง) “หุยชิง” ผสมกับ “สือจื่อชิง” หากอัตราส่วน “หุยชิง” มากกว่า สีลายครามจะเข้ม ลวดลายดูพร่ามัว (ขวา) หากอัตราส่วน “สือจื่อชิง” มากกว่า สีออกน้ำเงินค่อนไปทางเทา


        5. สารสีเจ้อ/浙料

        ขุดได้จากแถบเส้าซิง/จินหัวในมณฑลเจ้อเจียง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เจ้อชิง/浙青” จัดเป็นสารสีครามที่ดีที่สุดของจีน เมื่อสารสีหุยชิงได้ร่อยหรอหมดไปในปลายรัชสมัยเฉิงฮั่ว กลางรัชสมัยว่านลี่ได้เริ่มใช้สารสีเจ้อ เตาเผาหลวงในยุคชิงรัชสมัยคังซี/หย่งเจิ้ง/เฉียนหลง จะใช้สารสีครามตัวนี้ 

▲สีลายครามของ “สารสีเจ้อ” ออกสีครามนิล

▲รัชสมัยหย่งเจิ้ง/เฉียนหลงจะใช้ “สารสีเจ้อ” ที่สำแดงสีน้ำเงินสดสุกสกาว ถือเป็นโทนสีน้ำเงินที่ดีที่สุด


        6. สารสีจูหมิง/珠明料

        ผลิตจากเขตพื้นที่เซวียนไวมณฑลอวิ๋นหนาน กลางปลายรัชสมัยคังซีจะใช้สารสีครามตัวนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะใช้ในการเขียนภาพคนและทิวทัศน์โดยวิธีการ “Water Diversion Technique/分水皴技法” ภาพวาดออกมาจะมีระดับความเข้มจางที่ดูมีมิติอย่างเด่นชัด ราวกับภาพวาดหมึกจีน เรียกขานเป็น “น้ำเงินขนหยก/翠毛蓝” 

▲สีลายครามของ “สารสีจูหมิง” ออกสีน้ำเงินหยก บ้างจะออกสีพลอยน้ำเงิน เนื่องจากสามารถเขียนสีให้เข้มจางได้หลายระดับให้ภาพดูมีมิติ เครื่องลายครามคังซีได้รับการกล่าวขานเป็น “ลายครามห้าสี/五彩青花

▲ลายครามของ “สารสีจูหมิง” (ซ้าย) รัชสมัยฉงเจินยุคหมิง (กลาง-ขวา) รัชสมัยคังซียุคชิง


        7. สารสีครามเคมี/化学青料

        เป็นสารโคบอลต์ออกไซด์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมี สีครามจะออกน้ำเงินอมม่วง สีอ่อนละมุ่น ดูเบาลอยอยู่บนผิวเครื่องเคลือบ ไม่เหมือนสารสีคราม 6 ชนิดข้างต้นที่เป็นรงควัตถุประเภทแร่ ซึ่งสีครามจะซึมลึกลงในเนื้อดิน และเมื่อเวลายาวนาน สีครามเคมีจะปรากฏเป็นสีเก่าออกไปทางเหลือง/เทา มันไม่เหมือนสารสีครามที่เป็นแร่ สีครามจะคงทนไม่เปลี่ยนแปลง ราคาของสารสีครามเคมีจะถูกมาก เป็นเหตุให้เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุคสาธารณรัฐตราบจนถึงปัจจุบัน 

▲ลายครามของ “สารสีครามเคมี” (ซ้ายบน) รัชสมัยกวังซวี่ยุคชิง (ซ้ายล่าง) รัชสมัยเซวียนถ่งยุคชิง (ขวา) ยุคปัจจุบัน
  


      【ตราประทับ


        เครื่องลายครามโบราณจีนมีการเขียนสีตกแต่งอย่างประณีตสวยงาม ตราประทับที่เป็นตัวอักษรหรือรูปภาพใต้ก้นเครื่องเคลือบมีหลากหลายรูปแบบ ตราประทับของแต่ละยุคสมัยต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อดูรูปแบบตราประทับของเครื่องลายครามแล้ว สามารถจัดแบ่งเป็น 5 ชนิด :


        (1) ตรายุคสมัย/纪年款

        ตราประทับที่ใช้วิธีเขียน/แกะ/พิมพ์บนเครื่องลายครามเพื่อระบุยุคปีผลิตของเครื่องเคลือบเรียนว่า “ตรายุคสมัย” และก็แบ่งออกเป็น “ตรารัชศกจักรพรรดิ/帝王年号的年款” และ “ตราแผนภูมิสวรรค์/干支款” ตรายุคสมัยเริ่มปรากฏบนเครื่องลายครามในช่วงรัชศกหย่งเล่อราชวงศ์หมิง 

▲ตราผลิตรัชศกเฉิงฮั่วยุคหมิง

▲ตราผลิตรัชศกคังซียุคชิง

▲ตราผลิตปี丙午ยุคชิง (อาจเป็นปี 1726 หรือ 1786 หรือ 1846 หรือ 1906 ปีใดปีหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้ระบุรัชศกจักรพรรดิ ; แผนภูมิสวรรค์ คือระบบเลขฐาน 60 แบบวนรอบที่เขียนด้วยอักษรจีน)


        (2) ตราคำอวยพร/吉言款

        เป็นการเขียนถ้อยคำที่มีความหมายเป็นมงคล เพื่ออวยพรให้ชีวิตเจริญด้วยอายุ/วรรณะ/สุขะ/พละ จะพบเห็นทั่วไปบนเครื่องลายครามชาวบ้าน 

▲ตราคำอวยพร “福夀康宁

▲ตราคำอวยพร “長命富贵


        (3) ตราชื่อห้าง/堂名款

        เป็นสัญลักษณ์ของการสะสมส่วนตัวโดยการเขียนชื่อห้าง/ชื่อคนลงบนเครื่องลายคราม เครื่องเคลือบตราชื่อห้างนี้จัดเป็นงานละเอียดประณีต มีคุณค่าสูงในการเก็บสะสม 

▲ตราชื่อห้าง “慎德堂製

▲ตราชื่อคน “若深珍藏


        (4) ตราสรรเสริญ/赞颂款

        เป็นการฝากฝังความรู้สึกที่ชื่นชอบเครื่องเคลือบต่อศิลปะของเครื่องเคลือบดินเผา 

ตราสรรเสริญ “奇石寳鼎之珍


        (5) ตราลายตกแต่ง/纹饰款

        ก็เรียกขานว่า “ตราลวดลาย/花样款” โดยการเขียนภาพลายกะทัดรัดตกแต่งบนก้นภาชนะ เป็นตราประทับเฉพาะของเครื่องลายครามชาวบ้าน 

▲ตราลายตกแต่ง


▲Blue and White Porcelain Angel


 

เอกสารอ้างอิง :

1. 一篇文章网罗青花瓷鉴定,七种青料断代史? : https://www.360kuai.com/mob/transcoding?url=936cf84384d94c69d&cota=4&kuai_so=1&sign=360_7bc3b157

2. 青花瓷里的青料你了解多少?款式作何分? : https://m.sohu.com/a/386634587_100190655/?pvid=000115_3w_a

3. 青花瓷的五种款识 : https://m.sohu.com/a/16206797_125258/?pvid=000115_3w_a