วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เครื่องลายคราม---สมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ (4)

 


        4. เครื่องลายครามยุคหมิง/明代青花瓷


        ราชวงศ์หมิง(ปี1368-1644)เป็นราชวงศ์สุดท้ายในประวัติศาสตร์จีนที่ปกครองจักรวรรดิจีนที่สถาปนาขึ้นโดยชาวจีนฮั่น สืบตระกูลกันมา 12 ชั่วคน สืบราชสันติวงศ์รวม 16 องค์จักรพรรดิ ดำรงอยู่เป็นเวลานาน 276 ปี สถาปนาโดยปฐมจักรพรรดิจูหยวนจาง(หมิงไท่จู่) หรือจักรพรรดิหงหวู่ หลังจากประกาศปลดแอกชาวจีนฮั่นจากภายใต้การปกครองของราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล


        เครื่องลายครามยุคหมิงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้ง/ยาวนานต่อเครื่องลายครามจีน เครื่องลายครามแต่ละรัชศกยุคหมิงต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ได้ละทิ้งรูปลักษณ์อันใหญ่หนักเทอะทะของเครื่องลายครามยุคหยวน รูปร่างแบบบางมากขึ้น ลวดลายตกแต่งหลากหลายมากขึ้น ประโยชน์ใช้สอยก็มากขึ้น


        การจัดแบ่งกลุ่มเครื่องลายครามยุคหมิงโดยใช้ปีรัชศกของจักรพรรดิแบ่งออกเป็น 3 ระยะเวลา แล้วอ้างอิงตามสไตล์ของภาชนะเครื่องเคลือบแบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ :

        • ระยะต้นยุคหมิง : 1. รัชศกหงหวู่  2. รัชศกหย่งเล่อ/ซวนเต๋อ 

        • ระยะกลางยุคหมิง : 3. รัชศกเจิ้งถง/จิ่งไท่/เทียนซุน  4. รัชศกเฉิงฮั่ว/หงจื้อ/เจิ้งเต๋อ

        • ระยะปลายยุคหมิง : 5. รัชศกเจียจิ้ง/หลงชิ่ง/ว่านลี่  6. รัชศกเทียนฉี/ฉงเจิน


        4.1 เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ยุคหมิง/明洪武青花瓷


        เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ยุคหมิง (ปี1368-1398) เป็นศิลปกรรมล้ำค่าของเครื่องเคลือบดินเผาจีน ปฐมจักรพรรดิจูหยวนจางในรัชศกหงหวู่ปีที่2 (ปี1369) ได้ก่อตั้ง “โรงเตาเผาราชสำนัก” ที่ตำบลจูซานเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น กลายเป็นเตาหลวงแรกเริ่มของยุคหมิง 

▲โบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักที่จิ่งเต๋อเจิ้น/景德镇御窑厂遗址 


        ทำนองเดียวกับเครื่องลายครามยุคหยวน ระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา สืบเนื่องจากขาดเอกสารโบราณที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และโบราณคดี ซ้ำเติมที่เครื่องลายครามเตาหลวงยุครัชศกหงหหวู่จะไม่มีการประทับตรายุคปีสมัย ภาชนะเครื่องเคลือบที่เผาผลิตจากเตาหลวงยุครัชศกหงหวู่เป็นที่ไม่ชัดเจนมาโดยตลอด ทั่วไปแล้วจะนำภาชนะเครื่องเคลือบที่งานหยาบไม่จัดเป็นเครื่องเคลือบยุคหยวนและยุครัชศกหย่งเล่อยุคหมิง ล้วนถูกจัดให้อยู่ในเครื่องเคลือบรัชศกหงหวู่ หรือเรียนขานเป็น “เครื่องเคลือบปลายหยวนต้นหมิง” ซึ่งถือเป็นการจัดที่ขาดหลักการทางวิทยาศาสตร์ 

▲เครื่องลายครามไหเหมยผิงลายเมฆมังกร “春夀/ชุนโซ่ว” ต้นรัชศกหงหวู่ยุคหมิง สูง 37 ซม.---ก่อนยุคปี80การศึกษาวิจัยยังไม่ลึกพอ ถือเป็นของยุคหยวน เมื่อทุกอย่างเป็นที่ชัดเจนขึ้น ปัจจุบันได้แก้ไขเป็นของรัชศกหงหวู่ยุคหมิง

▲เครื่องลายครามไหเหมยผิงลายนกยูงยุคหยวน-รัชศกหงหวู่ยุคหมิง สูง 53 ซม.---เป็นผลิตภัณฑ์ช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคหยวนไปยุคหมิง เรียนขานเป็น “เครื่องเคลือบปลายหยวนต้นหมิง” ราคาประมูล RMB9,200,000 เมื่อปี2016


        ในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง ได้มีสิ่งที่สามารถยืนยันการดำรงตัวตนของเครื่องเคลือบรัชศกหงหวู่ คือการขุดค้นพบทางโบราณคดี 3 แหล่ง จากเศษชิ้นส่วนเครื่องเคลือบที่ขุดพบเป็นจำนวนมาก นำมาศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบมากขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มเข้าใจวัตถุเครื่องลายครามรัชศกหงหวู่มากขึ้น 

▲เศษชิ้นส่วนเครื่องลายครามเตาหลวงรัชศกหงหวู่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักจิ่งเต๋อเจิ้นช่วงปี 1990-1994


        สรุปภาพรวมของเครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ สีลายครามค่อนไปทางดำ ด้านลวดลายตกแต่งได้ปรับรูปแบบยุคหยวนจากที่มีมากชั้นและลวดลายเต็มพื้นที่ เปลี่ยนไปในทิศทางมีพื้นที่ว่างเปล่ามากขึ้น 

▲(ซ้าย) เครื่องลายครามยุคหยวน (ขวา) เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ยุคหมิง


        • สารสีคราม

        เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ใช้สารสีครามนำเข้า “ซูหมาหลีชิง” ที่หลงเหลืออยู่จากยุคหยวน และ “สารสีครามจากจีน” ที่มีระดับความบริสุทธิ์ไม่สม่ำเสมอ แล้วมีการใช้สารสีครามผสมของสารสีครามนำเข้ากับสารสีครามจากจีน

▲เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ยุคหมิง (ซ้าย) สีลายครามออกดำด้าน (ขวา) สีลายครามออกน้ำเงินสด
 


        • ลักษณะเฉพาะ

        สีลายครามของเครื่องลายครามรัชศกหงหวู่จะไม่สดสว่างเท่าเครื่องลายครามยุคหยวนและยุคหย่งเล่อ/ซวนเต๋อที่ตามมาทีหลัง สีจะออกเทาค่อนไปทางดำด้าน ทำให้เกิดความรู้สึกที่เซื่องซึม ส่วนเครื่องลายครามยุคหยวน สีออกน้ำเงินมันเงา ให้ความรู้สึกที่สว่างไสว  


        ทำไมเครื่องลายครามเตาหลวงรัชศกหงหวู่ส่วนใหญ่สำแดงสีเทาดำ?


        ต่อกรณีเช่นนี้ มีนักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่า “เกิดขึ้นอันเนื่องจากภาวะสงครามในช่วงเวลานั้น ทำให้สารสีครามนำเข้าถูกตัดขาดแล้วหันมาใช้สารสีครามจากจีน” ภายหลัง จากการวิเคราะห์ธาตุโดยสถาบันเซรามิกแห่งเซี่ยงไฮ้ ผลคือองค์ประกอบของสารสีครามที่ใช้ในเตาหลวงรัชศกหงหวู่ไม่แตกต่างจากสารสีครามที่ใช้บนเครื่องลายครามยุคหยวน ดังนั้น ถ้าหากสารสีครามที่ใช้ในยุคหยวนเป็นสารสีครามนำเข้า งั้นสารสีครามที่ใช้ในเตาหลวงรัชศกหงหวู่ก็เป็นสารสีครามนำเข้าเช่นกัน


        โทนสีของเครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ที่ “ค่อนไปทางดำ” ที่แท้เป็นสิ่งที่ผู้คนแสวงหาอย่างจงใจ เป็นการสะท้อนถึง “คตินิยม” ทางการเมืองและครรลองสุนทรียภาพในสมัยนั้น โดยการเป็นเจ้าผู้ปกครองตัวแทนของชาวฮั่นที่สู้รบขับไล่ชาวมองโกลออกจากผืนปฐพีจงหยวน ด้วยมีความเป็นชนชาตินิยมจึงกำหนดยุทธศาสตร์ “ขจัดมองโกล ฟื้นฟูชาวจีน” จักรพรรดิจูหยวนจางได้ก่อตั้ง “โรงเตาเผาราชสำนัก” มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ว่า “ทำลายเครื่องลายครามยุคหยวน จัดตั้งเครื่องลายครามยุคหมิง” โดยได้ทำการเปลี่ยนแปลงกระบวนแบบภาพวาดตกแต่งให้แตกต่างจากยุคหยวน และเปลี่ยนสีฟ้าครามของเครื่องลายครามยุคหยวนให้เป็นสีเทาดำ 

▲กระบวนแบบภาพวาดตกแต่งและสีลายครามที่แตกต่างกันระหว่าง เครื่องลายครามยุคหยวน(ซ้าย) กับ เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ยุคหมิง(ขวา)
        

ไม่มีใครเคยคาดคิด ประวัติศาสตร์เกิดล้อเล่นขึ้นมาจริงๆ กาลเวลานับต่อจากนี้ไป เครื่องลายครามยุคหยวนก็ไปตามที่จักรพรรดิจูหยวนจางได้ออกแบบไว้ เกิดหายสาบสูญไปจากแผ่นดินจีน! และก็เป็นการหายสาบสูญ 570 ปีเต็มๆ ตลอดในระยะ 5 ศตวรรษที่ผ่านมา ผู้คนที่ดำรงอยู่ในยุคหมิง/ชิงบนแผ่นดินจีน เพียงรู้ว่าในโลกนี้มีเครื่องลายครามยุคหมิง แต่ไม่รู้ว่ามีเครื่องลายครามยุคหยวน แต่ทว่า ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์จะไม่ถูกปกปิดตลอดไป ในปี 1950s หนังสือ 2 เล่มที่เขียนโดยนักวิชาการชาวสหรัฐ John Alexander Pope ทำให้ลูกหลานเหยียนหวงได้เครื่องลายครามยุคหยวนกลับคืนมา


        สารสีครามออกสีดำ สามารถทำให้ภาพวาดยิ่งเสมือนภาพวาดหมึกจีนดั้งเดิมยิ่งขึ้น ทำให้เครื่องลายครามยิ่งเปี่ยมด้วยเสน่ห์ปลายพู่กันของภาพวาดจีน ภาชนะเคลือบเตาหลวงที่รับราชโองการให้เผาผลิตที่โรงเตาเผาราชสำนักรัชศกหงหวู่ คุณภาพมาตรฐานของเครื่องลายครามคือ “ค่อนไปทางดำ” เครื่องลายครามที่ออกสีเทาหรือสีดำ (ซึ่งเป็นโทนสีที่ดูแย่ ทุกวันนี้จะถือเป็นเครื่องลายครามสีล้มเหลว) จะเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิจูหยวนจาง จึงถูกเก็บรักษาไว้ที่กู้กง ได้ตกทอดสู่จักรพรรดิองค์ต่อๆกันมาตราบจนถึงปัจจุบัน  

▲เครื่องลายครามกาลายดอกไม้ รัชศกหงหวู่ยุคหมิง สูง 27.8 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานกู้กง

▲เครื่องลายครามถ้วยลายเถาวัลย์ดอกไม้ รัชศกหงหวู่ยุคหมิง สูง 16.5 ซม. ปากกว้าง 40.5 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานกู้กง

▲เครื่องลายครามจานลายไผ่หินเห็ดหลินจือ รัชศกหงหวู่ยุคหมิง สูง 8.1 ซม. ปากกว้าง 46 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานกู้กง 

▲เครื่องลายครามไหพร้อมฝาลายดอกไม้บนกิ่ง รัชศกหงหวู่ยุคหมิง สูง 66.6 ซม. ปากกว้าง 25.3 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานเมืองหลวงปักกิ่ง---ขุดพบที่กรุงปักกิ่งในยุคปี60

▲เครื่องลายครามจอกขาสูงลายมังกร รัชศกหงหวู่ยุคหมิง สูง 12.6 ซม. ปากกว้าง 11.5 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานกู้กงไทเป


        ความเป็นจริง เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ยังใช้สารสีครามนำเข้าที่มีค่าแมงกานีสต่ำเหล็กสูงเหมือนเดิม ส่วนการที่จะทำให้สารสีครามที่ควรเป็นสีน้ำเงินแต่เปลี่ยนเป็นสีดำ ก็เพียงเผาผนึกที่บรรยากาศภายในเตาอยู่ในสภาวะรีดักชั่นไม่สมบูรณ์และอุณหภูมิค่อนไปทางต่ำ หรือเรียกเป็นปรากฏการณ์ “ค่อนไปทางออกซิเดชั่น” เกิดขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมฟืนไฟได้ ถือเป็นจุดตำหนิของการเผาผลิต การที่ตั้งใจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผิดปกติเช่นนี้มิใช่ทำได้ง่ายๆ ยากยิ่งกว่าการเผาผลิตแบบปกติให้สารสีครามแร่โคบอลต์ออกสีน้ำเงิน นี่เป็นเหตุผลที่เครื่องลายครามเตาหลวงตามมาตรฐานรัชศกหงหวู่ที่ตกทอดมามีจำนวนไม่เท่ากับเครื่องลายครามยุคหยวน เป็นสาเหตุที่ทำไมเมื่อมาถึงรัชศกหย่งเล่อ สีลายครามใต้เคลือบเปลี่ยนมาเป็นสีน้ำเงินในพริบตา


        เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ที่ขุดพบทางโบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักยุคหมิงที่จิ่งเต๋อเจิ้นเมื่อปี1944 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายครามที่ออกสีน้ำเงินหยกเข้ม ซึ่งไม่เคยพบเห็นในกลุ่มเครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ที่สืบทอดกันมา เป็นเครื่องลายครามที่แม้ไม่มีตำหนิแต่ถูกคัดออกหรือทุบทิ้งเนื่องจากสีลายครามไม่ได้ “ค่อนไปทางดำ” ตามมาตรฐานเครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ 

▲เครื่องลายครามถ้วยลายเถาวัลย์ดอกไม้ รัชศกหงหวู่ยุคหมิง---ขุดพบที่แหล่งโบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักจิ่งเต๋อเจิ้นช่วงปี 1994

▲เครื่องลายครามจานปากกระจับลายดอกทับทิม รัชศกหงหวู่ยุคหมิง---ขุดพบที่แหล่งโบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักจิ่งเต๋อเจิ้นช่วงปี 1994

▲เครื่องลายครามไหพร้อมฝาลายดอกไม้บนกิ่ง รัชศกหงหวู่ยุคหมิง---ขุดพบที่แหล่งโบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักจิ่งเต๋อเจิ้นช่วงปี 1994


        กล่าวโดยสรุป เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่รวมทั้งเตาหลวงและเตาเอกชนซึ่ง “โทนสีลายครามค่อนไปทางดำ” มิใช่เพราะ “ภาวะสงครามในช่วงเวลานั้น ทำให้สารสีครามนำเข้าถูกตัดขาดแล้วหันมาใช้สารสีครามจากจีน” ข้อเท็จจริงมากมายได้บ่งชี้ว่า เครื่องลายครามรัชศกหงหวู่ที่มีสีค่อนข้างดำ ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสีครามที่ใช้ แต่เกี่ยวเนื่องกับระบบการเผาผลิต โดยเพาะอย่างยิ่ง รัชศกหงหวู่นิยมใช้บรรยากาศภาวะรีดักชั่นอ่อนๆ ก็คือใช้ “ค่อนไปทางออกซิเดชั่น”มาเผาผลิตเครื่องลายคราม เป็นเพราะว่า ผู้คนถูกบงการให้ชื่นชมสุนทรียภาพ ค่อนข้างชื่นชอบเครื่องลายครามที่มี “โทนสีค่อนไปทางดำ” 

▲เครื่องลายครามถ้วยลายเมฆมังกร เตาเอกชน รัชศกหงหวู่ยุคหมิง
  


เอกสารอ้างอิง :

1. 明洪武青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/v44713.htm?jsessionid=4E427C012FBDBFD031F4B63427EAD35B

2. 明代洪武青花瓷的特点及辨别 : http://www.360doc.cn/article/13708883_918926873.html

3. 浅谈明代时期洪武青花瓷器的用料及装饰方法 : http://k.sina.com.cn/article_6216753888_1728c22e00010054jd.html