วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ใครเป็นคนจารกรรมชาจีนไป

ใครเป็นคนจารกรรมชาจีนไป ?
谁偷走了中国茶 ?



        เมืองจีนเป็นถิ่นกำเนิดของชา...มีประวัติศาสตร์ การดื่มชา การปลูกชา อันยาวนานนับจากโบราณกาล

        ชาแดงเจิ้นซานเสี่ยวจ่ง...มีต้นกำเนิดที่ด่านถงมู่หวู่หยีซานฝูเจี๋ยนของเมืองจีน เมื่อ 400 กว่าปีก่อน เล่ากันว่าเกิดขึ้นมาจากเหตุโดยบังเอิญ น้ำชามีสีแดงเงาสดใส พร้อม รสชาติที่มีกลิ่นต้นสนและรสลำใย เป็นชาชนิดแรกๆที่ส่งออกไปยุโรป

        ต้นศตวรรษที่17...ปี 1610 พ่อค้าฮอลแลนด์เป็นคนนำชาแดงเข้าไปในยุโรป เนื่องจากวัฒนธรรมเบียร์และไวน์ฝังรากลึกของยุโรป ทำให้ชาไม่สามารถแพร่ขยายที่เยอรมันและฝรั่งเศสได้อย่างราบรื่น ปี 1662 พระราชินีแคทเธอรินนำเข้าไปในพระราชวังอังกฤษ หลังจากได้สาธิตโดยพระองค์เอง “ชาแดง” เครื่องดื่มลี้ลับจากแดนสนธยาเมืองจีนโบราณ กลายเป็น “ของหรูหราชั้นสูง” ได้รับความนิยมจากสังคมผู้ดีอังกฤษอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากใบชาที่ผ่านการหมักมาแล้วมีลักษณะสีดำ จึงเรียกว่า “Black Tea

        ก่อนสงครามฝิ่น...เมืองจีนควบคุมการผลิตใบชาที่ป้อนให้ตลาดโลกถึง 90% ถือได้ว่าอยู่ในฐานะผูกขาดทางการค้าใบชาของโลก จากความต้องการอันมหึมาของประเทศทางยุโรปยากที่นำสินค้าเพื่อให้เกิดสมดุลทางการค้าได้ อังกฤษจึงนำฝิ่นไปค้าขาย แต่ถูกทางการจีนคว่ำบาตร นำไปสู่การเกิด “สงครามฝิ่น” (ปี 1839-1842)

        หลังสงครามฝิ่น... ภายใต้ “สนธิสัญญาหนานจิง” อังกฤษมีสิทธิพิเศษมากมายทางการค้าต่อจีน อาศัยการค้าฝิ่นเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า แต่ยังต้องพึ่งพาอาศัยใบชาของเมืองจีน เนื่องจากเมืองจีนเคร่งครัดในการเก็บความลับการเพาะปลูกชาและกรรมวิธีการผลิตใบชา และก็ยังผูกขาดการค้าใบชา



         กลางศตวรรษที่19... บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษซึ่งได้รับสิทธิการผูกขาดการค้าใบชาส่งออกไปยุโรป ได้ตัดสินใจที่จะนำเข้าต้นชาจากเมืองจีนมาเพาะปลูกที่อินเดีย เพื่อจะทำการผลิตใบชาเอง ได้วางแผน “การจารกรรม” ที่ถือเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ เพื่อไปขโมยความลับการเพาะปลูกและการผลิตใบชาที่มีประวัติความเป็นมาเป็นร้อยเป็นพันปีของเมืองจีน ปี 1848 จึงได้ส่งสายลับ “ทอมครูซ” (นามสมมุติ) ไปปฏิบัติการ “Mission Impossible” ครั้งนี้จนประสบความสำเร็จในปี 1851

         ปลายศตวรรษที่19...ใบชาอินเดียเริ่มเข้ามาอยู่บนเวทีการค้าใบชาแทนที่เมืองจีน ปี 1890 ใบชาอินเดียครองส่วนแบ่งตลาดภายในอังกฤษได้ถึง 90% เมืองจีนในสงครามการค้าและสงครามการจารกรรมธุรกิจครั้งนี้พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ในที่สุดต้องกลายมาเป็นผู้ชมข้างเวที กว่าจะรู้ว่านี่เป็นผลของ “การจารกรรมความลับธุรกิจ” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ช้าไปแล้วครับต๋อย คนจีนยังไม่เข้าใจตลอดมาว่า “ความลับใบชา” ของตนเองรั่วไหลออกไปได้อย่างไง การค้าใบชาส่งออกที่สำคัญที่สุดของเมืองจีนต้องเสื่อมถอยหดตัวลงอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองจีนอย่างรุนแรง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติยิ่งตกต่ำอ่อนแอลงไปอีก จนถูกชาติมหาอำนาจยุคจักรวรรดินิยมมาข่มเหงรังแกและดูถูกเหยียดหยามตราหน้าให้เป็น “คนป่วยแห่งเอเชียบูรพา”(东亚病夫 : “บรูซลี” ในหนังเรื่อง “ไอ้หนุ่มซินตึ๊งภาค 2” ได้ถีบป้ายที่เขียนข้อความนี้ขาดเป็น 2 ท่อน)

        การดื่มชายามบ่าย...ใบชาได้เป็นที่นิยมแพร่หลาย เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนอังกฤษ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกือบทุกบ้านของอังกฤษทำกันเป็นกิจวัตรประจำวัน ชาแดงดีๆที่ชงในกาเงิน รินน้ำชาลงในถ้วยชาที่ผลิตอย่างวิจิตรสวยงาม จิบดื่มน้ำชาเคล้าคู่กับอาหารว่าง ขนมหวาน เป็นการดื่มชาในยามบ่ายของวันอันแสนอบอุ่น และเพื่อผ่อนคลายร่างกาย

        จอมโจรหรือนักล่า...”สายลับ” เพียงหนึ่งคนที่เหนือกว่าทั้งกองทัพ ทำให้เมืองจีนเกิดผลกระทบด้านลบอย่างใหญ่หลวงยิ่งกว่าผลจากสงคราม ได้รับสมญานามว่า “จอมโจรขโมยชา”(The Tea Thief) เป็นเพราะความกล้าหาญในการผจญภัยและมีสัญชาตญาณของนักล่าที่ทำการจารกรรมขโมย “เมล็ดพันธุ์ต้นชา” และ “เทคโนโลยีการผลิตชา” ของเมืองจีน ทำให้ประวัติศาสตร์การพัฒนาใบชาต้องมาเขียนหน้าใหม่ ใบชาเป็นเครื่องดื่มของโลกาภิวัฒน์จวบจนปัจจุบัน ก็ได้รับฉายาว่า “นักล่าพรรณพืช”(The Plant Hunter) ไม่ว่าจะเป็นจอมโจรหรือนักล่าล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องจารึกและจดจำ ผู้ซึ่งเป็นความลับที่วารสาร《ประวัติศาสตร์》ของฝรั่งเศสฉบับเดือนมีนาคม 2002 เพิ่งเปิดเผยออกมาจนสั่นไหวทั่วโลก...เค้าคือใคร ?



        เมืองจีนจักรวรรดิใบชา

        การค้าข้ามมหาสมุทรเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของโลก พรรณพืชบางชนิดที่เดิมเพียงเจริญเติบโตได้ในบางเขตพื้นที่นับจากนี้ได้ข้ามไปอยู่ทั่วทุกแห่งหน แพร่ขยายไปต่างถิ่นที่แสนไกล การแพร่ขยายของพรรณพืชเสมือนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่แฝงด้วยความหมายที่กว้างลึก พวกมันไม่เพียงเปลี่ยนแปลงชีวิตของประชากรกว่าพันล้านคน ยังมีผลต่อการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของประวัติศาสตร์โลก

        “ใบชา” พืชพรรณที่ทำให้คนเสพติด แต่ไม่มีอันตราย เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า เมืองจีนเป็นประเทศแรกที่รู้จักการผลิตชาและเทคโนโลยีการผลิต แต่เนื่องจากดำเนินการค้าเชิงขีดจำกัด การดื่มชาเป็นช่วงระยะเวลาอันยาวนาน เพียงจำกัดอยู่ในเมืองจีนและบางประเทศที่อยู่รอบข้าง ประมาณช่วงปี 850 ชาวอาหรับได้ชาเมืองจีนโดยผ่าน “เส้นทางสายใหม” ปี 1559 พวกเขาได้นำใบชาผ่านเมืองเวนิชเข้าไปในยุโรป

        “เจิ้นซานเสี่ยวจ่ง ขายต่างประเทศ” เป็นเรื่องที่แปลกของหวู่หยีซาน ผู้บุกเบิกเส้นทางการค้าทางทะเลของ “ชาแดงหวู่หยีซาน” คือคนฮอลแลนด์ ในปี 1610 คนฮอลแลนด์นำชาแดงหวู่หยีซานเข้าไปในยุโรป ปี 1640 เข้าไปที่อังกฤษเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากใบชาที่ผ่านการหมักมาแล้วมีลักษณะสีดำ ทางยุโรปจึงเรียกว่า “Black Tea

        ปี 1662 ในงานเฉลิมฉลองราชาภิเษกสมรสของเจ้าหญิงแคทเธอรินแห่งโปรตุเกส และ กษัตริย์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ พระราชินีแคทเธอรินได้ทรงยกแก้วขาสูงที่ไม่ใช่ใส่ไวน์ แต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เป็นเครื่องดื่มลี้ลับจากแดนสนธยาเมืองจีนโบราณ---ชาแดง



        ทำไมจึงต้องจารกรรมชาจีน ?

        สืบเนื่องจากพระราชินีแคทเธอรินได้ทำการสาธิตโดยพระองค์เอง การดื่มชาแดงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพระบรมวงศานุวงค์อังกฤษ พระราชวังเป็นผู้นำร่อง สังคมชั้นสูงผู้ดีก็ตามกันมา ประกอบกับ “บริษัทอินเดียตะวันออก” ของอังกฤษได้ขยับเลื่อนขึ้นมาเป็น “เจ้าแห่งการค้าโลก” เป็นผู้ผูกขาดการนำใบชาจากเมืองจีนโดยตรงแล้วป้อนตลาดภายในประเทศ ประชาชนทั่วไปก็เริ่มมาดื่มชาเป็นจำนวนมาก---นับจากนี้ไป การดื่มชาค่อยๆวิวัฒนาการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอังกฤษที่จะไม่มีหรือขาดไปไม่ได้

        “วัฒนธรรมดื่มชาแดง” เป็นที่นิยมแพร่หลายในอังกฤษ บนเกาะที่ไม่สามารถผลิตชาต้องการดื่มชา โดยเฉพาะชอบชาแดงหวู่หยีซาน บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษทุกปีจะต้องนำเข้าใบชา 4000 ตันจากเมืองจีน แต่ต้องใช้ “เงินขาว” มาจัดซื้อแลกเปลี่ยน ในช่วงเวลานั้น ใบชาหนึ่งตันราคารับซื้อ 100 ปอนด์ ราคาขายส่งสูงถึง 4000 ปอนด์ ทำให้บรษัทอินเดียตะวันออกได้ผลกำไรมหาศาล แต่ทว่า เงินขาวภายในประเทศที่ต้องใช้จัดซื้อใบชาเมืองจีนวันๆมีแต่ร่อยหรอลง เพราะขาดดุลทางการค้าเป็นจำนวนมาก และสินค้าอื่นที่จะส่งขายกลับไปให้เมืองจีนก็มีไม่มากชนิด จึงได้นำ “ฝิ่น” เข้าไปค้าขายในเมืองจีน เพื่อชดเชยการขาดดุลการค้า อันเป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิด “สงครามฝิ่น

        เพื่อพลิกผันการขาดดุลทางการค้า อังกฤษได้พยายามหาวิธีการต่างๆ รวมทั้งการบุกเบิกสวนชาไร่ที่อินเดียและบังคลาเทศซึ่งเป็นเมืองขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลานั้นมีพันธุ์ชาเพียง 2 ชนิด ชนิดหนึ่งคือ “ชาแดงอัสสัม” อีกชนิดหนึ่งคือ “พันธุ์ชาเขียว” ที่ขโมยจากกว่างตง ชาแดงอัสสัมซึ่งเป็นชาดังของโลกในปัจจุบัน แต่ในช่วงเวลานั้นมันเป็นชาป่าชนิดหนึ่ง แม้ชงออกมาจะมีกลิ่นหอมของข้าวบาร์เลย์ แต่จะมีรสเผ็ด ไม่สามารถดื่มทานได้ ส่วนพันธุ์ชาเขียวที่ขโมยจากกว่างตง เนื่องจากกว่างตงไม่ใช่เขตโดดเด่นของการผลิตชาเขียวเมืองจีน ชาชนิดนี้เมื่อหลังจากไปถึงยุโรป จะดื่มยากมาก ดังนั้น บริษัทอินเดียตะวันออกจึงคิดที่จะนำพันธุ์ต้นชาที่ดีที่สุดของจีนมาทำการเพาะปลูกที่อินเดียได้หรือไม่ ?

        เนื่องจากช่วงเวลานั้น “ราชวงศ์ชิง” ดำเนินการนโยบายปิดประเทศอย่างเข้มงวด เพียงอนุญาตให้ทำการค้าต่างประเทศที่กว่างโจวเท่านั้น อังกฤษจึงคิดอุบายโดยวิธีการขโมย “ความลับใบชา” จึงได้ส่ง Robert Fortune ซึ่งมีความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และประสบการณ์ทางเมืองจีนมาเป็น “ผู้ถอดรหัส” นี้


        ทำไมถึงต้องเลือก Robert Fortune ไปจารกรรมเทคโนโลยีใบชาของเมืองจีน ?

        Robert Fortune เป็นนักพฤกษศาสตร์ นักล่าพรรณพืชชาวสก๊อตแลนด์ การศึกษาไม่สูง เป็นนักพฤกษศาสตร์จากการฝึกอบรมจากสวนดอกไม้ มีประสบการณ์จากภาคสนามจริงอย่างช่ำชอง ปี 1843 ได้เข้าไปที่เมืองจีนเป็นครั้งแรก โดย “สวนหลวงอังกฤษ” ได้ว่าจ้างเพื่อให้ไปค้นหาชนิดพรรณพืชตะวันออก อาศัยการลุยเดี่ยว ประกอบกับมีความสามารถเรียนรู้ภาษาได้เร็ว มีความอดทน ขยัน รักการผจญภัย และก็ชอบจดบันทึก ผลสุดท้ายได้ขโมย “ต้นฉบับพรรณพืช” ร้อยกว่าชนิดกลับไปที่ตะวันตก เป็นเพราะ “ตำนานประสบการณ์” ที่ผ่านมาของเขา บริษัทอินเดียตะวันออกจึงตัดสินใจเลือก Robert Fortune สำหรับภารกิจนี้ ครั้งที่สวนหลวงอังกฤษว่าจ้างเขาเพียงปีละ 100 ปอนด์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆต้องรับผิดชอบเอง ส่วนบริษัทอินเดียตะวันออกทำสัญญาจ้าง 3 ปีด้วยค่าจ้างปีละ 550 ปอนด์ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างทำการเบิกได้หมด นี่ทำให้ Fortune ต้องเข้ามาเมืองจีนเป็นครั้งที่ 2 ในบทบาทของ “สายลับธุรกิจ” ภายหลังได้รับสมญานามว่า “จอมโจรขโมยชา

        ปี 1862 Robert Fortune ได้เดินทางกลับอังกฤษ จากการที่เขาเคยเดินทางเข้าไปใน เมืองจีนทั้งหมด 4 ครั้ง จากประสบการณ์เมืองจีนที่เขาได้จดบันทึกไว้ ได้เขียนหนังสือโดยตัดรายละเอียดส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการจารกรรมออกไป เขียนออกมา 4 เล่ม :
        【Three Years’Wandering in the Northern Provinces of China】เผยแพร่ปี 1847
        【A journey To The Tea Countries of China】เผยแพร่ปี 1852 
        【Two Visits To The Tea Countries of China】เผยแพร่ปี 1853 
        【Yedo and Peking】เผยแพร่ปี 1863

        บั้นปลายชีวิตของ Fortune ไม่มีข่าวคราวอันใด พระราชวังอังกฤษก็ไม่ได้ประกาศเกียรติคุณมอบเหรียญตราใด้แก่เขา และก็ไม่ได้กล่าวถึงเขาเลยในการที่เขาเป็นผู้นำผลประโยชน์ทางการค้าใบชาให้แก่อังกฤษ ปัจจุบันในเมืองจีน มีเพียงที่สถาบันศูนย์กลางการศึกษาวิจัยใบชาเมืองหังโจวจึงจะสามารถหาอ่านหนังสือของ Fortune ได้ ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าเขาเคยเป็น “สายลับอังกฤษ” ปฏิบัติการที่เมืองจีน แล้ว “ขโมยชาจีน” ไป

    

        ความลับการเพาะปลูกชาและการผลิตชาของเมืองจีนถูกถอดรหัสแล้ว

        1. เป้าหมาย : ใบชา

        วันที่ 3 กรกฎาคม 1848 : ข้าหลวงใหญ่ Dalhousie ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียมีคำสั่งต่อ Fortune ว่า : “คุณจะต้องไปทำการคัดเลือกต้นชาและเมล็ดพันธุ์ชาที่ดีที่สุดในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการผลิตชาของเมืองจีน จากนั้นคุณก็เป็นผู้รับผิดชอบนำต้นชาและเมล็ดพันธุ์ชาจากจีนขนส่งไปที่เมืองกัลกัตตา แล้วขนย้ายไปที่เทือกเขาหิมาลัย คุณยังต้องพยายามให้ถึงที่สุดเพื่อทำการว่าจ้างคนเพาะปลูกชาและคนผลิตชาที่มีประสบการณ์มาจำนวนหนึ่ง ถ้าปราศจากพวกเขา พวกเราจะไม่สามารถพัฒนาการผลิตชาในเทือกเขาหิมาลัยได้”

        2. อำพรางตัวเพื่อทำการจารกรรม

        กันยายน 1848 : Fortune ได้ไปขึ้นท่าที่เซี่ยงไฮ้ ช่วงเวลานั้น ภายใต้ “สนธิสัญญาหนานจิง” ฝิ่นได้ไหลเข้าไปในเมืองจีน คนจีนประมาณ 2 ล้านคนหมกมุ่นอยู่กับมัน ฝิ่นสำหรับเมืองจีนแล้วถือเป็นภัยพิบัติภัยหนึ่ง แต่พ่อค้าอังกฤษถือเป็นวิธีการที่หาเงินได้ดีวิธีหนึ่ง คนจีนจึงโกรธแค้นชาวยุโรปมาก ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ Fortune ต้องอำพรางตัวเป็นคนจีน โดยโกนหัวแล้วใส่ผมเปียปลอม ใส่เสื้อผ้าชุดจีน แม้ว่าตัวจะสูง 1.8 ม. ผิวสีคนอังกฤษ แต่ชาวเกษตรกรดูไม่ออกเขาเป็นคนยุโรป (เกษตรกรชาวจีนก็ไม่เคยเห็นชาวยุโรปมาก่อน) แล้วว่าจ้างคนจีน 2 คนที่มาจากพื้นที่ผลิตชาซึ่งรับเงินค่าจ้างของ Fortune จึงช่วยกันปกปิดตัวตนที่แท้จริงของเขา เริ่มเดินทางมุ่งสู่ “หวงซาน” ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตชาเขียวอันมีชื่อ แล้วได้เดินทางลึกเข้าไปในหลายพื้นที่ที่ทางการจีนห้ามชาวต่างชาติเข้าไป

        Fortune ถือเป็นคนต่างชาติคนแรกที่ได้ลึกเข้าไปภายในดินแดนของเมืองจีนหลังจากชาวโปรตุเกส เป็นภารกิจที่เต็มไปด้วยภยันตราย ถ้าหากถูกองครักษ์ราชวงศ์ชิงพบเห็น เขาจะต้องตายอย่างไม่ต้องสงสัย และอันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บและโจรผู้ร้าย แต่เขาไม่เคยหวั่น กลับทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นกระตือรือร้น เขาเป็น “นักพฤกษศาสตร์” ที่ดีเด่นคนหนึ่ง ขณะเดียวกัน เขาก็เป็น “นักผจญภัย” ที่กล้าหาญคนหนึ่ง



        3. ลักลอบเคลื่อนย้ายและสรรหาผู้ชำนาญการ

        กุมพาพันธ์ 1849 : Fortune ได้ลักลอบเข้าไปในหวู่หยีซาน ที่ซึ่งผลิตชาแดงอันมีชื่อเสียงเพื่อทำการสำรวจ โดยอาศัยพักนอนตามวัดจีนต่างๆ ได้ทำการสอบถามและทำความเข้าใจถึงกระบวนการผลิตชาแดงและหลักสำคัญของเทคโนโลยีการผลิต ได้เรียนรู้กระบวนการที่ทำให้ชาเขียวเปลี่ยนเป็นชาแดง วิธีการดำเนินการหมักของใบชา ทำให้สีของใบชาเป็นสีมืดเข้ม การผลิตชาเขียวที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนนี้ ก่อนหน้านี้ชาวตะวันตกคิดว่าชาเขียวและชาแดงเป็นพรรณพืช 2 ชนิด

        Fortune เตรียมตัวที่จะกลับอินเดีย แต่ทว่า ความรู้เรื่องชาที่เขาได้ขโมยเรียนรู้มายังไม่เพียงพอ ก็มีเพียงคนปลูกชาชาวจีนจึงจะสามารถนำความรู้การเพาะปลูกชาและการผลิตชาถ่ายทอดให้คนเพาะปลูกชาชาวอินเดียให้เข้าใจได้ ก่อนกลับอินเดีย จากการแนะนำของที่ปรึกษาชาวจีนของพ่อค้าตะวันตก จึงได้ว่าจ้างคนงานจีน 8 คน (รวมนักเพาะปลูกชาและนักผลิตชา) โดยทำสัญญาจ้าง 3 ปี

        16 มีนาคม 1851 : Fortune และพวกคนงาน 8 คน ที่ทำสัญญาจ้างได้อยู่บนเรือลำที่บรรทุกเต็มไปด้วยต้นกล้าชา 2000 ตัน และ เมล็ดพันธุ์ชา 17000 เมล็ด มุ่งตรงไปจอดเทียบท่าเมืองกัลกัตตา แล้วขนถ่ายไปที่รัฐอัสสัม และ ดาร์จิลิ่ง ในเทือกเขาหิมาลัย หลังจากนั้นก็ไหลเข้าไปสู่ศรีลังกา

        ใบชาเป็นพืชพรรณที่ยากต่อการอยู่รอด เริ่มแรกนำต้นชาใส่ในตู้กระจก ระยะทางจากเมืองจีนถึงเทือกเขาหิมาลัยต้องใช้ระยะเวลา 2 เดือน โยกโคลงเคลงตลอดทาง เกิดการตายจำนวนมาก Fortune ได้คิดค้นวิธีการหนึ่ง โดยปูดินชั้นนึงก่อนในตู้กระจก นำเมล็ดพันธุ์ชาวางลงไป แล้วกลบด้วยดินอีกชั้นอยู่ข้างบน ลักษณะแบบนี้ทำให้เมล็ดพันธุ์ชาแตกเป็นยอดอ่อนระหว่างเส้นทาง ถือเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดมาก แม้ว่าระยะเส้นทาง 2 เดือน แต่เมื่อไปถึงเทือกเขาหิมาลัยต้นกล้าชาก็เจริญงอกออกมาพอดี ชารุ่นนี้ขโมยจากหวู่หยีซาน แล้วเจริญเติบโตดำรงอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย แล้วนำมาผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์ท้องถิ่นชาแดงอัสสัม “ชาแดงอัสสัม” ที่พวกเราดื่มในทุกวันนี้ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น “ราชันชาแห่งโลก” อันที่จริงมีส่วนหนึ่งของชาจีนที่เป็นส่วนสำคัญอยู่ในนี้ด้วย


        4. ผลกระทบต่อประเทศจีนจากผลการจารกรรมของ Robert Fortune

        ระยะเวลา 3 ปี ผลสุดท้าย Fortune ก็ได้ครอบครองความรู้และเทคโนโลยีของการเพาะปลูกชาและการผลิตชาทั้งหมดไปแล้ว นับจากจากนี้ไป อินเดียก็โผล่ออกมาจากฟากฟ้า เป็นประเทศอันดับ 1 ของชาแดงแทนที่เมืองจีน ชาแดงของอินเดีย ศรีลังกา ที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษต่างค่อยๆกลายเป็นกระแสหลักของชาแดงของโลก ตลาดชาแดงยุโรปก็ค่อยๆหลุดพ้นจากการที่ต้องพึ่งพาอาศัยเมืองจีน ทำให้ใบชาเมืองจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ภาพอันน่าประทับใจเมื่อวันวานของ “ชาแดงหวู่หยีซาน” ที่ยึดครองทั่วปฐพี จะไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว               

        ที่ผ่านมามีผู้คนน้อยมากกที่จะมาสนใจ Robert Fortune ต่อมาภายหหลังจึงค้นพบว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น ราชวงศ์ชิงได้ลงทุนเป็นจำนวนมากด้านผลผลิตของใบชา เชื่อว่าควรที่จะต้องมีฐานของการผลิตมาค้ำยัน หวังไว้ว่าเพื่อมาชดเชยความเสียหายหลายสิบล้านของสงคราม ในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยีของเมืองจีนที่ก้าวล้ำนำหน้าโลกก็คือ “ใบชา” แต่ Fortune ได้มาทำการขโมยพันธุ์ต้นชาไปมากมาย ทำให้การลงทุนของราชวงศ์ชิงคว้าน้ำเหลว เมื่อเทคโนโลยีของเมืองจีนถูกขโมยไป ชะตาชีวิตของราชวงศ์ชิงก็เตรียมชะตาขาดในอีกไม่ช้าไม่นาน

        เมืองจีนพุ่งพรวด (中国崛起

        ปี 1912 ราชวงศ์ชิงก็ล่มสลายถูกโค่นล้มโดย “บิดาแห่งชาติ” ซุนจงซานผู้บุกเบิกการปฏิวัติซินไฮ่ แล้วก่อตั้ง “สาธารณรัฐจีน” ต่อมาเมื่ออยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทางทหารของพรรคกั่วหมิงต่างโดย จอมพลเจี่ยงเจี่ยสือ แล้วถูกสงครามปลดแอกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของท่านประธานเหมาเจ้อตง ขับไล่หนีไปเกาะใต้หวัน จึงถือเป็นการปฏิวัติที่สำเร็จสมบูรณ์ของเมืองจีนในปี 1949 ก่อตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” นายกรัฐมนตรีรัฐบุรุษโจวเอินหลายได้จัดการบริหารประเทศเกิดใหม่อย่างจีนที่อ่อนแอทำให้เข้มแข็งไปรอดได้ในขณะนั้น เมื่อมารับช่วงต่อ เติ้งเสี่ยวผิงผู้วางรากฐานเศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นผู้ริเริ่มแนวเศรษฐกิจและการปกครองแบบ “แมวไม่ว่าจะสีขาวหรือสีดำ ให้จับหนูได้เป็นพอ” ที่ยังคุณูปการแก่ประเทศจีนจวบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันประเทศจีนกำลังอยู่ในแนวเศรษฐกิจ “一带一路”(One Belt One Road)

        กระบวนการเจริญก้าวหน้าของชาติตะวันตก สามารถกล่าวได้ว่า การทำให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาภายใต้เลือดและไฟราคะ เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดของการรุกรานแย่งชิง สงครามและการสังหารหมู่ซึ่งได้เป็นชาติอุตสาหกรรมก่อนของชนชาติอเมริกายุโรป เป้าหมายสุดท้ายล้วนเพื่อการปล้นแผ่นดินและทรัพยากรต่างๆ เพื่อเปิดตลาดใหม่และขยายอำนาจทุน

        การพัฒนาก้าวกระโดดเป็นประเทศทันสมัยภายในระยะเวลาแค่ประมาณ 30 ปีของเมืองจีน โดยไม่มีการปล้นสดมภ์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ไม่มีการแผ่ขยายโดยใช้กำลังอำนาจบาตรใหญ่ ไม่มีการล่าอาณานิคม ไม่มีเมืองขึ้น ล้วนอาศัยการพึ่งตนเอง ต่อสู้อดทน ริเริ่มสร้างสรรค์ ยืนหยัดเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ยึดมั่นการพัฒนาอย่างสันติ ภายใต้เงื่อนไขที่มีอุปสรรคต่างๆนานา ได้เปิดศักราชแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติสังคมอย่างขนานใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แก้ปัญหาบรรดามีด้วยตนเอง ไม่แม้เพียงไม่ได้เพิ่มความยุ่งยากใดๆให้แก่มวลมนุษยชาติ กลับนำผลประโยขน์ที่จริงแท้แน่นอนให้แก่ประเทศชาติส่วนใหญ่และประชากรโลก กล่าวจากมุมมองทางการพัฒนาอย่างสันติแล้ว ความหมายของ “เมืองจีนพุ่งพรวด” ไม่ธรรมดา ในชนชาติที่มีอยู่บนโลก ในช่วงเวลาผ่านของความทันสมัย “บุกเบิกเส้นทางด้วยตนเอง ยืนบนลำแข้งของตนเอง”          

        ป้ายที่เขียนข้อความ “东亚病夫”(คนป่วยแห่งเอเชียบูรพา) เชิงการดูหมิ่นเหยียดหยาม ได้ถูก “ประเทศจีนยุคใหม่” ถีบขาดเป็น 2 ท่อนไปแล้วในโลกแห่งความจริง และในการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกวันนี้ คุณอาจมีประสบการณ์ในด้านดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ คุณก็ยากที่จะหนีพ้น “中国制造”(Made in China)

........จบบริบูรณ์........


เอกสารอ้างอิง :

1. 《茶人小传 (二) 苏格兰园丁福琼缘何成为盗茶贼

2.《改变世界茶叶历史人---罗伯特 福琼

3. 武夷山红茶种植加工如何被窃取并流传海外

4.植物间谍福琼 : 茶叶大盗的中国之