วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562

ว่าด้วยเรื่องเคลือบสีแดง...(ตอนที่3)



        ๒.「เคลือบสีแดงจากเหล็ก(Iron Red Glaze/铁红釉)

        1.【เคลือบฝานหง】(Rouge-de-fer Glaze/矾红釉)

        เคลือบฝานหงเป็นเคลือบสีแดงไฟต่ำที่มีออกไซด์ของเหล็กเป็นสารให้สี  สืบเนื่องจากในสมัยโบราณได้ใช้แร่ซัลเฟตชิงฝาน(青矾/Malantetite)เป็นวัตถุดิบพื้นฐานโดยผ่านการเผาหลอมและการชะล้างแล้วผสมกับผงตะกั่วขาวและวัตถุดิบอื่นออกมาเป็นเคลือบ ดังนั้น จึงขนานนามว่า「ฝานหง

        เมืองจีนริเริ่มการใช้ฝานหงในช่วงคาบเกี่ยวของสมัยซ่งกับจิน เครื่องเคลือบเขียนสีแดงเขียวของเตาเผาฉือโจวในสมัยจินก็ได้ปรากฏให้ยลโฉมกันแล้ว เครื่องเคลือบเขียนสีของจิ่งเต๋อเจิ้นในสมัยหยวนก็ปรากฏสีแดงฝานหง แต่ตราบจนถึงกลางสมัยหมิงก่อนหน้านี้ ฝานหงบนเครื่องเคลือบก็เป็นเพียงสีประกอบสีหนึ่งในบรรดาหลากสีทั้งหลาย ยังไม่สามารถถือเป็นน้ำเคลือบสีไฟต่ำได้

金代 磁州窑红绿彩花卉纹碗 ถ้วยเขียนสีแดงเขียวลายพืชพรรณดอกไม้ของเตาเผาฉือโจวสมัยจิน

元代 红绿彩人物故事图双兽耳大罐  ไหหูสัตว์คู่เขียนสีแดงเขียวภาพเขียนเล่าเรื่องราวบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยหยวน

明宣德 青花矾红彩海水兽纹高足杯 จอกขาสูงเคลือบลายครามฝานหงลวดลายสัตว์มงคลดั้นน้ำทะเลซวนเต๋อสมัยหมิง : ก่อนหน้ากลางสมัยหมิง เริ่มต้นใช้ฝานหงในการเขียนสีอู่ไฉ่ เต้าไฉ่ ลายครามแดง เป็นต้น ดังนั้นเป็นวิธีการขึ้นเคลือบโดยการเขียนวาดด้วยพู่กัน ทั่วไปลายเส้นฝานหงจะคม-ชัด-ลึก

        และแล้วฝานหงมีการริเริ่มใช้เป็นน้ำเคลือบสีตั้งแต่เมื่อไร? อันที่จริงมีการเริ่มต้นในกลางสมัยหมิง จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือในช่วงรัชสมัยเจียจิ้ง อันเนื่องจากมาตรฐานของกรรมวิธีการเผาผลิตเคลือบสีแดงไฟสูงมีข้อจำกัดมาก จิ่งเต๋อเจิ้นจะเผาผลิตเคลือบเซียนหงออกมาได้จะยากลำบากมาก ภารกิจการเผาผลิตเครื่องเคลือบเซียนหงที่พระราชวังมอบหมายให้เตาหลวงจึงไม่สามารถบรรลุเป็นผลสำเร็จ เหล่าขุนนางจึงได้ถวายฎีกาให้เปลี่ยนมาเผาฝานหง เปลี่ยนเป็นเคลือบสีแดงไฟต่ำทดแทนเคลือบสีแดงไฟสูง

        เคลือบฝานหงที่มีออกไซด์ของเหล็กเป็นสารให้สี เผาผลิตที่อุณหภูมิประมาณ 900ºC โรงผลิตเครื่องเคลือบราชสำนักที่จิ่งเต๋อเจิ้นเปลี่ยนมาใช้เคลือบฝานหงแทนเคลือบสีแดงจากทองแดง แม้สีของเคลือบฝานหงจะไม่สวยสดสุกสกาวเท่าสีของเคลือบสีแดงจากทองแดง แต่สีจะปรากฏคงที่แน่นอนและเผาผลิตง่าย สีของมันโดยทั่วไปจะปรากฏเป็นสีแดงที่ออกไปทางสีส้ม เคลือบฝานหงถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของรัชสมัยเจียจิ้ง มันใช้ทดแทนเคลือบสีแดงจากทองแดง ภาชนะที่เผาผลิตส่วนใหญ่ใช้ในพิธีกรรมการเซ่นไหว้

明嘉靖 矾红釉梨式小執壺 กาลูกแพร์เคลือบฝานหงเจียจิ้งสมัยหมิง : บนผิวกาทาบกันด้วยเคลือบสีสองชั้น ชั้นล่างเป็นเคลือบสีเหลืองผ่านการเผาผลิตที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง ขึ้นเคลือบทับเคลือบสีเหลืองอีกชั้นด้วยเคลือบฝานหงโดยการใช้แปรงทา แล้วเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ สีเคลือบเป็นสีแดงออกเหลืองเล็กน้อย สีเคลือบไม่ค่อยสม่ำเสมอ เนื่องจากเคลือบฝานหงเป็นเคลือบสีไฟต่ำจึงสึกกร่อนได้ง่าย มีรอยถลอกบนกาเห็นพื้นเป็นสีเหลืองอ่อนๆโผล่ออกมา

        วิธีการขึ้นเคลือบของเคลือบฝานหงสมัยหมิงคือวิธีการทาเคลือบ ทั่วไปเรียกขานว่า「เคลือบฉาบแดง/抹红釉」โดยขั้นตอนแรกจะทำการเผาเคลือบสีอื่นๆก่อนแล้วทาเคลือบฝานหงทับอีกชั้นแล้วทำการเผาผลิตอีกครั้ง อย่างกรรมวิธีการผลิต「โอ่งมังกรแดงบนเหลือง」ทั่วไปจะเผาโอ่งดินดิบที่ไฟสูงก่อน แล้วขึ้นเคลือบสีเหลืองโดยการเทราดเคลือบ ผ่านการเผาผลิตที่อุณหภูมิ 900ºC ออกมาเป็นเครื่องเคลือบสีเหลือง ต่อจากนั้นก็ใช้แปรงทาเคลือบฝานหงบนพื้นที่นอกบริเวณของลวดลาย แล้วจะปรากฏออกมาเป็นลวดลายสีเหลือง แล้วทำการเผาอบที่ไฟต่ำอีกครั้งจนเสร็จสมบูรณ์ ชั้นสีเคลือบฝานหงที่ทาระบายไม่สม่ำเสมอ จะปรากฏร่องรอยสีเคลือบจากแปรงในระดับที่แตกต่างกัน

 ▲明嘉靖 黃地矾红彩云龙紋罐 โอ่งมังกรพื้นเคลือบสีเหลืองทาสีฝานหงลวดลายมังกรดั้นเมฆเจียจิ้งสมัยหมิง : ในรัชสมัยเจียจิ้งเรียกว่า「黄上红」(หวางซ่างหง/แดงบนเหลือง) ซึ่งเมื่อฟังก็รู้ว่าเป็นไปในความหมายที่พ้องเสียงกับ「皇上洪福齐天」(หวางซ่างหงฝูฉีเทียน/ฮ่องเต้มากด้วยบุญญาธิการ) เคลือบฝานหงจึงมีความหมายในทางมงคลอย่างยิ่ง จักรพรรดิเจียจิ้งนับถือลัทธิเต๋า และก็เชื่ออย่างงมงาย จึงอาจพึงพอใจกับ「แดงบนเหลือง」นี้เป็นอย่างมาก ดังนั้น ชิ้นงานที่มีรูปแบบลักษณะเดียวกันจึงมีจำนวนมากในรัชสมัยนี้    

        2.【เคลือบแดงปะการัง】(Coral Red Glaze/珊瑚红釉)

        เคลือบแดงปะการังจัดอยู่ 1 ใน 2 ชนิดของเคลือบฝานหง เคลือบฉาบแดงเริ่มต้นในสมัยหมิงโดยวิธีการทาเคลือบ ส่วนเคลือบแดงปะการังริเริ่มในสมัยชิงโดยวิธีการพ่นเคลือบ

        เคลือบแดงปะการังริเริ่มสร้างสรรค์การเผาขึ้นมาในรัชสมัยคังซี แพร่หลายในรัชสมัยยงเจิ้งและเฉียนหลง เคลือบแดงปะการังที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่พวกเราพบเห็นในปัจจุบันล้วนเป็นผลงานของ 3 รัชสมัยราชวงศ์ชิง เคลือบแดงปะการังเป็นการนำเคลือบแดงจากเหล็กไฟต่ำมาพ่นเคลือบลงบนเคลือบสีขาว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาสม่ำเสมอ จึงต้องทำการพ่นเคลือบซ้ำๆหลายครั้ง เพื่อให้ชั้นเคลือบได้ความหนาตามที่ต้องการ แล้วนำเข้าเตาที่อุณหภูมิต่ำเผาอบจนเสร็จ สีเคลือบที่เผาอบออกมาสม่ำเสมอ ผิวเคลือบมันวาว ในสีแดงจะสะท้อนประกายสีเหลืองออกมาเล็กน้อย กระทั่งสามารถเป็นคู่ปรับความงามกับสีของหินปะการังใต้ท้องทะเลลึก ดังนั้น จึงตั้งชื่อว่า「แดงปะการัง

清康熙 珊瑚红描金彩花篮纹棒槌瓶 แจกันกระบองเคลือบแดงปะการังเขียนลายตะกร้าสีทองคังซีสมัยชิง : รูปทรงภาชนะลักษณะนี้เป็นรูปแบบมาตรฐานในรัชสมับคังซี กรรมวิธีการผลิตของมันไม่น่าจะเป็นการพ่นเคลือบ เนื่องจากเป็นภาชนะที่รูปหุ่นค่อนข้างใหญ่ จึงใช้วิธีการขึ้นเคลือบโดยการทาเคลือบ แล้วเขียนวาดภาพด้วยสีทองบนผิวเคลือบแดงปะการัง

        รัชสมัยยงเจิ้งถือเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดสุดยอดที่สุดของประวัติศาสตร์แห่งการเผาผลิตเครื่องเคลือบเอกรงค์สีต่างๆ เคลือบปะการังที่เผาผลิตในรัชสมัยนี้ก็น่าจะเป็นสมัยที่มีมาตรฐานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ วิธีการขึ้นเคลือบส่วนใหญ่โดยวิธีการพ่นเคลือบ

清雍正 珊瑚紅釉橄榄瓶 แจกันหนำเลี๊ยบเคลือบแดงปะการังยงเจิ้งสมัยชิง : แจกันที่มีรูปทรงที่สละสวยแบบนี้เป็นรูปแบบมาตรฐานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในรัชสมัยยงเจิ้ง เคลือบแดงปะการังชิ้นนี้มันเงาสุกสกาว ราบเรียบสวยงาม สง่าภูมิฐาน

        เคลือบแดงปะการังนอกจากเผาผลิตเป็นเครื่องเคลือบเอกรงค์สีเดียวบริสุทธิ์แล้ว เนื่องจากกรรมวิธีการผผลิตในช่วงรัชสมัยยงเจิ้งมีความชำชาญการมากขึ้น เคลือบแดงปะการังจึงถูกนำมาใช้เป็นเคลือบสีพื้นสำหรับเครื่องเคลือบเขียนสีตกแต่งที่สูงส่งเลอค่า

清雍正 珊瑚红地粉彩牡丹紋贯耳橄榄瓶 แจกันหนำเลี๊ยบหูสายรัดเคลือบแดงปะการังเขียนเฝินไฉ่ลายดอกโบตั๋นยงเจิ้งสมัยชิง : ใช้เคลือบแดงปะการังเป็นพื้นเคลือบตกแต่งด้วยการเขียนเฝินไฉ่

清雍正 珊瑚红地珐琅彩花鸟蒜头瓶 แจกันหัวกระเทียมเคลือบแดงปะการังเขียนฝ้าหลางไฉ่ลายนกดอกไม้ยงเจิ้งสมัยชิง : ใช้เคลือบแดงปะการังเป็นพื้นเคลือบตกแต่งด้วยการเขียนฝ้าหลางไฉ่

清乾隆 珊瑚红地描金仿雕漆竹编风格云龙紋盖盒 ตะกร้ารูปลักษณ์สานไม้ไผ่ฝาปิดเคลือบแดงปะการรังลงสีทองเลียนแบบเครื่องเขินแกะสลักมังกรดั้นเมฆเฉียนหลงสมัยชิง : เป็นการใช้เคลือบแดงปะการังที่ทำเลียนแบบให้รู้สึกเหมือนเครื่องเขิน(Lacquerware/漆器)แกะสลัก กรรมวิธีการเลียนแบบลักษณะนี้ถึงจุดสุดยอดในรัชสมัยเฉียนหลง   

        ๓.「เคลือบสีแดงจากทอง(Rouge Red Glaze/金红釉)

        เคลือบสีแดงจากทองเฉกเช่นเดียวกับฝ้าหลางไฉ่ เป็นเคลือบที่เกิดจากอิทธิพลของกรรมวิธีการผลิตฝ้าหลางจากฝรั่งตะวันตก เพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงปลายรัชสมัยคังซี มันมีทองเป็นสารให้สี เป็นเคลือบสีแดงไฟต่ำที่ขึ้นเคลือบบนเคลือบสีขาว ทำการเผาอบในเตาที่อุณหภูมิประมาณ 800ºC เนื่องจากมันเป็นเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดจากทางตะวันตก ดังนั้น ก็เรียกเป็น「หยางหง/洋红」ซึ่งทางตะวันตกจะเรียกว่า「Famille Rose/กุหลาบแดง/玫瑰红」เนื่องจากนักสะสมยุคที่ผ่านมาไม่นานเห็นสีแดงลักษณะแบบนี้คล้ายสีของของเยียนจือ(Rouge/ชาดทาแก้มหรือฝีปากให้แดง)ที่ออกทางสีชมพู จึงคุ้นเคยที่เรียกเป็น「เยียนจือหง

        เคลือบสีแดงจากทองเป็นการนำเข้าจากฝรั่งตะวันตกเข้าไปที่จิ่งเต๋อเจิ้นเมื่อปี 1682 หรือตรงกับรัชศกคังซีปีที่ 21 แรกเริ่มใช้เยียนจือหงนี้เป็นเคลือบเขียนสีในการริเริ่มเผาประดิษฐ์เครื่องเคลือบฝ้าหลางไฉ่ในช่วงปลายรัชสมัยคังซี หลังจากเมื่อเกิดทักษะและมีความชำนาญมากขึ้น จึงริเริ่มมาทำการเผาผลิตเครื่องเคลือบเอกรงค์สีเดียวบริสุทธิ์
清康熙 胭脂红地珐琅彩莲花图碗 ถ้วยเคลือบเยียนจือหงฝ้าหลางไฉ่ลายดอกบัวคังซีสมัยชิง : ประมูลเมื่อ 2013-04-08 โดยบริษัทจัดประมูลคริสตีส์(Christie’s)ในฮ่องกง RMB59,380,080

清康熙 胭脂紅釉內粉彩盘 ชามเคลือบเยียนจือหงในเฝินไฉ่คังซีสมัยชิง : ด้านนอกภาชนะขึ้นเคลือบเยียนจือหงบนเคลือบขาว ตรงก้นภาชนะด้านในเคลือบขาวเขียนสีเฝินไฉ่

        เคลือบสีแดงจากทองจะแบ่งย่อยออกตามลักษณะความเข้มอ่อนของสี สีที่ออกชมพูเข้ม เรียกว่า【เยียนจือหง/胭脂红】สีที่ออกทางชมพู เรียกว่า【เยียนจือสุ่ย/胭脂水】ส่วนสีที่ออกทางชมพูอ่อน จะเรียกว่า【ต้านเฟิ่นหง/淡粉红

清雍正 胭脂红釉碗 ถ้วยเคลือบเยียนจือหงยงเจิ้งสมัยชิง : เคลือบเยียนจือหงที่สีออกชมพูเข้ม

清雍正 胭脂水釉碗 ถ้วยเคลือบเยียนจือสุ่ยยงเจิ้งสมัยชิง : เคลือบเยียนจือหงที่สีออกชมพู

清雍正 淡粉红釉瓶  ถ้วยเคลือบต้านเฟิ่นหงยงเจิ้งสมัยชิง : เคลือบเยียนจือหงที่สีออกชมพูอ่อน


《ว่าด้วยเรื่องเคลือบสีแดง》........จบบริบูรณ์

เอกสารอ้างอิง :
1. 刘越 : 最美不过胭脂色--明清低温红釉瓷赏析(上)https://kknews.cc/collect/rp68mnv.html
2. 刘越 : 最美不过胭脂色--明清低温红釉瓷赏析(下)https://kknews.cc/collect/p63kmy2.html
3. 浅谈红釉瓷器之低温红釉https://kknews.cc/culture/qegg8b.html