วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เครื่องลายคราม---สมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ (7)


        4.4 เครื่องลายครามยุคว่างเปล่า/空白期青花瓷


        “เครื่องเคลือบยุคว่างเปล่า” บ่งชี้ถึงเครื่องเคลือบยุคหมิงช่วงระยะ 28 ปีใน 3 รัชศก 2 จักรพรรดิ คือ “รัชศกเจิ้งถง” (ศักราชของจักรพรรดิจูฉีเจิ้น/หมิงอิงจง ปี1436-1449) “รัชศกจิ่งไท่” (ศักราชของจักรพรรดิจูฉีหยี่ว์/หมิงไต้จง ปี1449-1457) “รัชศกเทียนซุน” (ศักราชขึ้นครองราชย์ครั้งที่2ของจักรพรรดิจูฉีเจิ้น/หมิงอิงจง ปี1457-1464) เครื่องเคลือบในยุคนี้ ได้สะท้อนความเป็นจริงของสภาวะพื้นฐานด้านเศรษฐกิจสังคม/การเมือง/วัฒนธรรมในช่วงระยะเวลานั้น 

▲เครื่องลายคราม 3 รัชศกเจิ้งถง/จิ่งไท่/เทียนซุน


        • ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

        เนื่องจากช่วงระยะเกือบ 30 ปี (ปี1436-1464) หลังรัชศกซวนเต๋อยุคหมิง เกิดศึกแย่งชิงราชบัลลังก์ บ้านเมืองระส่ำระสาย ต่างประเทศรุกราน เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ เกิดผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเครื่องเคลือบจิ่งเต๋อเจิ้น เครื่องลายครามใน 3 รัชศกยุคหมิงตกอยู่ในภาวะถอดถอย เครื่องลายครามเตาหลวงของ 3 รัชศกจะไม่มีการเขียนตรายุคสมัย แล้วมีรูปร่างหน้าคลุมเครือไม่ชัดเจน ในประวัติศาสตร์เครื่องเคลือบดินเผาจึงเรียกเป็น “ยุคว่างเปล่า” หรือ “ยุคมืด” 


        แต่ถ้าอ้างอิงเอกสารโบราณที่บันทึกเรื่องเกี่ยวกับเตาเผายุค 3 รัชศก และการปะติดปะต่อเศษชิ้นส่วนของ “ยุคว่างเปล่า” ที่ขุดพบที่จิ้งเต๋อเจิ้น และเครื่องลายครามที่ตกทอดมา จากที่กล่าวกันว่าเป็น “ยุคว่างเปล่า” มิใช่ว่างเปล่าทั้งหมด เตาหลวงในยุคนั้นมีระบบในระดับหนึ่ง เผาผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีระดับคุณภาพที่สูงพอสมควร 

▲เครื่องลายครามโอ่งลายเมฆมังกร รัชศกเจิ้งถงยุคหมิง สูง 75.5 ซม. ท้องกว้าง 88 ซม.---เสมือนเป็นเครื่องเคลือบที่ขนาดใหญ่ที่สุดของยุคหมิง ขุดพบจากโบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักยุคหมิงที่จิ่งเต๋อเจิ้นเมื่อปี 1988 เขียนวาดลวดลายมังกรและกลีบดอกบัวคล้ายกับของเตาหลวงที่ตกทอดจากรัชศกซวนเต๋อ ดูมีนัยของซวนเต๋อ และก็มีลักษณะเฉพาะของเจิ้งถง ถือเป็นภาชนะเตาหลวงในต้นรัชศกเจิ้งถง 

▲เครื่องลายครามเกาอี้ฉลุลายต้นสนไผ่ดอกเหมย รัชศกเจิ้งถง/จิ่งไท่/เทียนซุนยุคหมิง สูง 48 ซม. ท้องกว้าง 51 ซม.---เป็นไปได้ที่เป็นเกาอี้ที่ใหญ่ที่สุดยุคจีนโบราณ ขุดพบจากโบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักยุคหมิงที่จิ่งเต๋อเจิ้นเมื่อปี 2014 

▲เครื่องลายครามหมอนทรงหยูอี้ลายดอกไม้ รัชศกเจิ้งถง/จิ่งไท่/เทียนซุนยุคหมิง สูง 13 ซม. ยาว 34 ซม. กว้าง 26 ซม.---ขุดพบจากโบราณสถานโรงเตาเผาราชสำนักยุคหมิงที่จิ่งเต๋อเจิ้นเมื่อปี 2014 

        • สารสีคราม

        ต้นรัชศกเจิ้งถงจะใช้ “สารสีครามนำเข้า” สำแดงสีน้ำเงินเข้มสด การแผ่ซ่านค่อนข้างน้อย รูปแบบใกล้เคียงกับรัชศกซวนเต๋อ ปลายรัชศกส่วนใหญ่ใช้ “สารสีครามจากจีน” เช่นเดียวกับรัชศกจิ่งไท่/เทียนซุน สีลายครามออกไปทางสีอ่อนละมุน ไม่มีการแผ่ซ่านและเกิดสนิมเหล็ก รูปแบบใกล้เคียวกับรัชศกเฉิงฮั่ว 

▲สีลายครามต้นรัชศกเจิ้งถงใช้ “ซูหมาหลีชิง” ที่หลงเหลือจากรัชศกซวนเต๋อ

▲สีลายครามปลายรัชศกเจิ้งถงใช้ “สารสีครามจากจีน” 


        • ลักษณะเฉพาะ

        เครื่องลายครามยุคว่างเปล่ายังมีรูปแบบที่สืบติดต่อมาของเครื่องลายครามยุคหมิง วิจิตรไม่ซับซ้อน แต่สีลายครามไม่พิถีพิถันมาก ลวดลายตกแต่งก็ไม่โดดเด่นนัก คงกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องลายครามที่ค่อนข้างทั่วไป ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับชิ้นงานเอกของเครื่องลายครามยุคหมิง 

▲เครื่องลายครามไหลายดอกบัวแปดสัญลักษณ์มงคล เตาหลวงรัชศกเจิ้งถงยุคหมิง เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานโตเกียวญี่ปุ่น

▲เครื่องลายครามจานลายกิเลนปีกมังกร รัชศกเจิ้งถงยุคหมิง สูง 10.7 ซม. ปากกว้าง 52.4 ซม.

▲เครื่องลายครามไหลายกิเลน รัชศกเจิ้งถงยุคหมิง สูง 42.5 ซม. ปากกว้าง 23 ซม.

▲เครื่องลายครามไหลายแปดเซียน รัชศกจิ่งไท่ยุคหมิง สูง 35.3 ซม. ปากกว้าง 21.5 ซม.

▲เครื่องลายครามถ้วยลายเหรียญกษาปณ์โบราณ รัชศกจิ่งไท่ยุคหมิง สูง 7 ซม. ปากกว้าง 15 ซม.

▲เครื่องลายครามไหเหมยผิงลายหอบพิณเยี่ยมเพื่อน รัชศกจิ่งไท่ยุคหมิง สูง 32.5 ซม. ปากกว้าง 5.4 ซม.

▲เครื่องลายครามจานลายดอกโบตั๋น รัชศกเทียนซุนยุคหมิง สูง 6.9 ซม. ปากกว้าง 33.8 ซม.

▲เครื่องลายครามกระถางธูปสามขาลายอักษรอาหรับ รัชศกเทียนซุนยุคหมิง สูง 11.5 ซม. ปากกว้าง 15.3 ซม.---เขียนสีลายครามอักษรอาหรับ 3 แถว เป็นบทกวีจาก《Orchard of Sa’di》โดยนักกวีชาวเปอร์เซีย Sa’di (ปี1208-1291)---ก้นด้านในเขียนตราอักษรซูข่าย “天顺年/ปีเทียนซุน” 3 ตัว 

        • ทำไมเครื่องลายครามเตาหลวงยุคว่างเปล่าถึงไม่เขียนตรายุคสมัย?

        เครื่องลายครามเตาหลวงจากจิ่งเต๋อเจิ้นยุคหมิง ตั้งแต่รัชศกหย่งเล่อ/ซวนเต๋อ/เฉิงฮั่วและแต่ละรัชศกที่ตามมาภายหลังจะมีการเขียนตรายุคสมัย อาทิเช่น “宣德年製/ผลิตปีซวนเต๋อ” “大明成化年製/ผลิตปีเฉิงฮั่วต้าหมิง” เป็นต้น แต่ 3 รัชศกเจิ้งถง/จิ่งไท่/เทียนซุนไม่มีการเขียนตรายุคสมัย เป็นเหตุให้ชนรุ่นหลังไม่มีวิธีที่จะแยกแยะเครื่องลายครามที่ตกทอดมาว่าเป็นของ 3 รัชศกนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญนำไปสู่การเกิดปรากฏการณ์เครื่องลายคราม “ยุคว่างเปล่า” 

▲เครื่องลายครามถ้วยลายเมฆมังกร รัชศกเทียนซุนยุคหมิง---ขุดพบจากสุสานในหวู่ฮั่นเมื่อปี2007 ใต้ก้นถ้วยมีการเขียนตรา “天顺年置/ซื้อปีเทียนซุน” อย่างเด่นชัด คนตายเป็นทายาทของเจ้าศักดินา ดังนั้นมีลายมังกรบนเครื่องเคลือบ แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ยังไม่สามารถสรุปได้ในปัจจุบัน


▲ถ้วยลายครามจากเตาเผาเอกชน รัชศกจิ่งไท่ สูง 7.7 ซม. ปากกว้าง 14.4 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานมณฑลเจียงซี---ก้นถ้วยด้านในวาดรูปต้นกล้วยไม้กลางวงแหวนสองวง 

        จากการค้นคว้าเอกสารโบราณต่างๆมากมาย ล้วนไม่พบเห็นการบันทึกที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลนี้ ตราบจนถึงทุกวันนี้ ทำไมเครื่องลายครามเตาหลวงยุคว่างเปล่าถึงไม่เขียนตรายุคสมัย? ยังเป็นปริศนาที่ไม่มีคำตอบ  



เอกสารอ้างอิง :

1. 什麼是空白期青花瓷器? : https://gudongtw.com/27239.html  

2. 明正统青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/v29926.htm

3. 明景泰青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/v30070.htm

4. 明天顺青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/fullLemma?lid=30050&g_ut=3