วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คุณค่าที่ 1 : คุณค่าทางภูมิศาสตร์ (1)

คุณค่าที่ 1 ใน 4 คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของชาผูเอ๋อร์ : 
คุณค่าทางภูมิศาสตร์ (1)
普洱茶的四大价值之一 : 地理价值 (一)

หมายเหตุ : 《คุณค่าทางภูมิศาสตร์ของชาผูเอ๋อร์》เป็นบทความที่ผู้เขียน : เฉินเจี๋ย จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์เชิงลึกและละเอียด ใช้ชุดความคิดที่เป็นระบบ ตั้งแต่สภาพแวดล้อม ชีวเคมี ชีววิทยา และด้านอื่นๆมาอธิบายคุณค่าทางภูมิศาสตร์ที่เป็นหัวใจสำคัญของชาผูเอ๋อร์พันธุ์ใบใหญ่ ถือเป็นคัมภีร์ผูเอ๋อร์วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

        เนื่องจากบทความนี้มีความยาวพอสมควร ทางผู้แปลได้พยายาม แปล-เรียบเรียง-ย่อ ให้ได้เนื้อหาใจความที่ยังคงครบถ้วนและถูกต้องตรงตามต้นฉบับมากที่สุด โดยได้จัดแบ่งออกเป็น  7 ตอน
        • ตอนที่ 1 : บทนำ
        • ตอนที่ 2 : ความหมายของคุณค่าทางภูมิศาสตร์ของชาผูเอ๋อร์
        • ตอนที่ 3-7 : เนื้อหาครอบคลุมของคุณค่าทางภูมิศาสตร์ของชาผูเอ๋อร์  



        
        การศึกษาชาผูเอ๋อร์มักจะพบกับคำถามว่า : ทำไมชาผูเอ๋อร์จึงผลิตได้เฉพาะในหยินหนาน(云南)? ชาผูเอ๋อร์ที่ผลิตจากพื้นที่อื่นถือเป็นชาผูเอ๋อร์หรือไม่? นี้เป็นคำถามที่ดูเหมือนง่ายแต่ตอบยากมากครับ!

        คำอธิบายข้อที่ 1 :  ชาผูเอ๋อร์จากหยินหนานใช้เหมาฉาตากแห้งพันธุ์ใบใหญ่(毛茶晒青大叶种)เป็นวัตถุดิบ เหมาฉาตากแห้งพันธุ์ใบใหญ่นี้ไม่แค่เพียงเป็นจุดเด่นหนึ่งของชาผูเอ๋อร์ ยังเป็นใบชาที่มาจากแหล่งเฉพาะในหยินหนาน เนื่องจากต้นชาในหยินหนานพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นต้นชาพันธุ์ใบใหญ่ ลักษณะเด่นของแหล่งวัตถุดิบเป็นตัวกำหนดว่าชาผูเอ๋อร์ต้องผลิตจากหยินหนานเท่านั้น การกล่าวเช่นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า : ชาพันธุ์ใบใหญ่ไม่ใช่มีแค่เฉพาะในหยินหนาน กว่างซี(广西) หูหนาน(湖南) ไห่หนาน(海南) ต่างก็เป็นพื้นที่ที่มีชาพันธุ์ใบใหญ่ ถ้าเช่นนั้น ชาพันธุ์ใบใหญ่เหล่านี้กับของหยินหนานมีข้อแตกต่างกันอย่างไร? โดยเฉพาะต้นชาพันธุ์ใบใหญ่ในไห่หนานย้ายปลูกมาจากหยินหนาน ถ้าชาพันธุ์ใบใหญ่จากพื้นที่เหล่านี้ทำเป็นเหมาฉาตากแห้งโดยทุกอย่างทำตามกรรมวิธีแบบดั้งเดิมของหยินหนาน แล้วผ่านกระบวนการหมักเป็นใบชาเส้นและอัดเป็นแผ่นแล้ว ยังถือเป็นชาผูเอ๋อร์หรือไม่?

        คำอธิบายข้อที่ 2 : กรรมวิธีการผลิตของชาผูเอ๋อร์เป็น ”กรรมวิธีลับ”(保密工艺) ที่บรรพบุรุษตกทอดให้มา มีลักษณะที่ลึกลับที่มีเพียงผู้คนจำนวนน้อยและบางองค์กรในหยินหนานเท่านั้นยึดครองอยู่ เป็นสิ่งเฉพาะเจาะจงสำหรับหยินหนาน ผู้คนที่อยู่นอกหยินหนานยากที่จะได้รับสิ่งนี้ได้ ถึงแม้ได้รับมาก็เป็นไปอย่างผิวเผิน ไม่ใช่เป็น ”แก่นแท้”(精髓) ของชาผูเอ๋อร์ ดังนั้น มีผู้คนไม่น้อยเสนอให้รัฐบาลจีนกำหนดกรรมวิธีการผลิตชาผูเอ๋อร์เป็น ”ความลับแห่งชาติ”(国家机密) ข้อเสนอเช่นนี้ไม่ใช่การหลงผิดและก็ไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ เพราะมันมีตัวอย่างให้เห็น คือ Yunnan Baiyao Group Co., Ltd.(YBG : 云南白药集团) ได้ผลิตยามากมายหลายชนิดถูกจัดให้เป็นสูตรยาลับเฉพาะระดับประเทศ จัดเป็นประเภท ”ความลับแห่งชาติ” แต่ ณ ที่นี้ก็เกิดคำถามอีกว่า : แต่ละเขตพื้นที่ที่ผลิตชาในหยินหนานหลาบปีมานี้ปรากฏว่ามีองค์กรธุรกิจกว่าพันแห่งได้รับใบอนุญาตการผลิต(QS : 生产许可证)ของชาผูเอ๋อร์แล้ว และทุกเจ้าก็ผลิตชาผูเอ๋อร์ ในเมื่อ ”ความลับแห่งชาติ” กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เหมือนดอกไม้บานสะพรั่งไปทั่วท้องทุ่ง ”ความลับแห่งชาติ” ลักษณะแบบนี้ยังคงดำรงอยู่ได้อีกหรือไม่? หรือพูดในทำนองที่ยังมีคุณค่าเหลืออยู่อีกหรือไม่? ทำนองเดียวกัน ถ้าสูตรยาลับของ YBG ไม่ใช่มีเพียง YBG ถือครองไว้ แต่มีถึงร้อยเจ้า หรือพันเจ้า...สูตรยาลับนี้ยังมีความหมายอีกหรือไม่? อาจมีบางคนเห็นแย้งกับจุดนี้ เพราะเห็นว่าแม้ได้รับ QS แล้วแต่ไม่ถือว่ามีแกนหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีชาผูเอ๋อร์ ถ้าเช่นนี้แกนหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีชาผูเอ๋อร์หมายถึงอะไรกันแน่? องค์กรธุรกิจกว่าพันแห่งในหยินหนานที่ผ่าน QS ผลิตชาผูเอ๋อร์ เราสามารถมั่นใจได้แค่ไหนว่าองค์กรธุรกิจไหนที่ได้ QS แต่ขาดแกนหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีชาผูเอ๋อร์แล้วไม่สามารถผลิตชาผูเอ๋อร์? หรือสามารถกำหนดได้ว่าสิ่งที่พวกเขาผลิตไม่ใช่ชาผูเอ๋อร์? ทั้งหลายทั้งปวง คำกล่าวเช่นนี้ไม่สามารถยึดถือเป็นจริงได้

        คำอธิบายข้อที่ 3 : ความคิดเห็นว่าชาผูเอ๋อร์สามารถผลิตได้เฉพาะในหยินหนาน เพราะว่าชาผูเอ๋อร์ไม่เพียงเป็นชาพื้นที่ที่ขึ้นชื่อของหยินหนาน ยังเนื่องจากคำว่า ”ผูเอ๋อร์” ในนามชาผูเอ๋อร์เป็นชื่อของพื้นที่หนึ่งในหยินหนาน เป็นลักษณะของความต้องการที่จะปกป้องพิทักษ์พื้นที่ การกล่าวเช่นนี้ดูเหมือนยังขาดตกบกพร่อง เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ใบชาในเมืองจีนที่ตั้งชื่อตามพื้นที่มีจำนวนมาก อย่างเช่น ซีหูหลงจิ่ง(西湖龙井) ต้งถิงหูปี้หลอชุน(洞庭湖碧螺春) เป็นต้น ชาพื้นที่ที่มีชื่อประเภทนี้เมื่อนำชื่อพื้นที่อยู่หน้าชื่อชา(เช่นหลงจิ่งมีชื่อซีหูมานำหน้า) เกิดผลทางด้านปกป้องพื้นที่ได้ แต่ชาผูเอ๋อร์ไม่สามารถใช้แนวคิดลักษณะเช่นนี้ได้ เป็นเพราะว่า : 

        1. วิธีการตั้งชื่อชาแล้วพ่วงชื่อพื้นที่โดยทั่วไปเพื่อการปกป้องพื้นที่บริเวณเล็กๆ เช่น ซีหูหลงจิ่ง แนวคิดของพื้นที่แคบเล็กมาก แต่ชาผูเอ๋อร์จะไม่เหมือนกัน วัตถุดิบและกรรมวีธีการผลิตที่เกี่ยวข้องกับชาผูเอ๋อร์มีขอบเขตที่ไกลเกินกว่าพื้นที่อันจำกัดของผูเอ๋อร์อย่างลิบลิ่ว เป็นแนวคิดของเขตพื้นที่ผืนใหญ่ในหยินหนาน ขอบเขตภูมิประเทศของ ”หกขุนเขาแห่งประวัติศาสตร์”(历史上的六大茶山) ก็ทะลุใหญ่เกินกว่าเมืองผูเอ๋อร์แล้ว ต่อมาเขตพื้นที่ชายิ่งขยายใหญ่ขึ้นจนครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของหยินหนาน ขอพูดในเชิงตลกว่า จนถึง ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาผูเอ๋อร์ส่วนใหญ่รู้จักแต่เพียงเหมิงไห่(勐海) เซี่ยกวน(下关) แต่ไม่รู้จักซือเหมา(思茅) ถ้าหากไม่เป็นเพราะชื่อเมืองซือเหมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองผูเอ๋อร์ ผู้คนจำนวนมากก็ยังเข้าใจว่าชาผูเอ๋อร์เป็นเพียงชื่อเรียกของใบชาชนิดหนึ่ง กับชื่อพื้นที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัน

        2. วิธีการตั้งชื่อชาแล้วพ่วงชื่อพื้นที่ยังมีข้อจำกัดอีกอย่าง ยกตัวอย่างชาหลงจิ่งและปี้หลอชุน ตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้วที่หยินหนานได้ทดลองใช้ใบชาจากชาไร่ในหยินหนานทำตามกรรมวิธีของซีหูหลงจิ่งผลิตเป็นชาหยินหนานหลงจิ่ง ใช้วิธีการแบบปี้หลอชุนผลิตเป็นชาหยินหนานปี้หลอชุน ซึ่งทุกวันนี้วิธีการเหล่านี้อยู่ในขั้นชำนาญการมากแล้ว พวกเราไม่สามารถกล่าวว่าชาหยินหนานหลงจิ่งไม่ใช่ชาหลงจิ่ง และก็ไม่มีใครพูดว่าชาหยินหนานปี้หลอชุนไม่ใช่ชาปี้หลอชุน ซึ่งล้วนจัดอยู่ในตระกูลชาเขียว จากมุมมองของผู้ผลิตชาเขียวในหยินหนาน วิธีการผลิตชาเขียวของพวกเขาแม้ว่า ”ความปราณีต”(精细) จะด้อยกว่าซีหูหลงจิ่งและต้งถิงหวูปี้หลอชุน แต่ฉาชี่(茶气)จะครบถ้วนมากกว่า ใบชาก็จะมีลักษณะชงทนมากกว่า คำกล่าวเช่นนี้อาจทำให้เกิดการเสียกำลังใจและเป็นไปในทางนามธรรมมาก ทำนองเดียวกัน ชาผูเอ๋อร์หยินหนานที่เกิดการบูมอย่างปั่นป่วนในไม่กี่ปีมานี้ พื้นที่ผลิตชาทั่วประเทศจำนวนมากอาศัยสถานการณ์แบบนี้หันมาผลิต ”ชาผูเอ๋อร์” ถ้าเช่นนี้ชาผูเอ๋อร์แบบนี้สามารถเรียกเป็น กว่างซีผูเอ๋อร์ ซื่อชวนผูเอ๋อร์ กุ๋ยโจวผูเอ๋อร์ ได้หรือไม่? ถ้าหากไม่ได้ นั่นเป็นเพราะเหตุใดชาหลงจิ่งและชาปี้หลอชุนที่ผลิตในหยินหนานสามารถเรียกเป็นชาหยินหนานหลงจิ่งและชาหยินหนานปี้หลัวชุน แต่เมื่อพื้นที่อื่นมาผลิตชาผูเอ๋อร์แต่ไม่ถือเป็นชาผูเอ๋อร์?

        ความจริง ที่เรานำเสนอคำถามลักษณะเช่นนี้ เพราะว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ในตลาดของชาผูเอ๋อร์เกิดปรากฏการณ์ที่แปลกอย่างหนึ่ง : ชาผูเอ๋อร์ถ้าไม่ใช่ผลิตจากเขตพื้นที่ในหยินหนานถึงแม้จะมีลักษณะภายนอก สีน้ำชาและรสชาติ ไม่แตกต่างกันมากกับชาผูเอ๋อร์จากหยินหนาน แม้กระทั่งมี ”ความคล้ายคลึงทางรูปลักษณ์”(形似) จนแยกไม่ออก แต่ถ้าชิมดื่มอย่างละเอียดแล้ว ยังขาดซึ่ง ”ความคล้ายคลึงทางจิตวิญญาณ”(神似) ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน จุดอ่อนมากที่สุดของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือ โดยทั่วไปจะไม่มีคุณค่าในการจัดเก็บ ชาผูเอ๋อร์ที่ผลิตเสร็จออกมาใหม่ๆ คุณภาพยังสามารถจากของปลอมอ้างเป็นของแท้ได้ แต่เมื่อจัดเก็บผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว คุณภาพจะถดถอยอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะตรงกันข้ามกับชาผูเอ๋อร์จากหยินหนานที่ “ยิ่งเก่ายิ่งหอม

        เช่นกันมีปรากฏการณ์ที่น่าขบขันเกิดขึ้นเมื่อกลางทศวรรษที่ 70 ขณะนั้น หยินหนานต้องอยู่ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจแบบวางแผน(计划经济) ผลิตชาเขียวออกมาจำนวนมาก การผลิตชาผูเอ๋อร์แทบหยุดนิ่งลง ชาผูเอ๋อร์ที่ต้องส่งออกไปฮ่องกงหน้าที่นี้ตกหนักที่บางโรงงานชาในกว่างโจว แต่ว่า พ่อค้าชาวฮ่องกงโดยผ่านช่องทางอื่นๆ เรียกร้องให้หยินหนานกลับมาผลิตชาผูเอ๋อร์ใหม่ เป็นความต้องการอย่างแรงกล้า สะเทือนไปถึงทำเนียบรัฐบาลในสมัยนั้น จึงมอบหมายให้รองรัฐมนตรีการค้าต่างประเทศมาศึกษาเพื่อฟื้นฟูการผลิตชาผูเอ๋อร์ในหยินหนานใหม่ ทำไมพ่อค้าชาวฮ่องกงถึงรักไคร่เสน่หาชาผูเอ๋อร์จากหยินหนานปานฉะนี้?

        ดังนั้น คำถามวกกลับมาที่จุดเริ่มต้น ทำไมชาผูเอ๋อร์ต้องเป็นผลิตภัณฑ์จากหยินหนานเท่านั้น? แล้วมันไม่สามารถผลิตเลียนแบบและผลิตจากแหล่งอื่น(คือพื้นที่ชาที่ไม่อยู่ในหยินหนาน)จริงหรือ? คุณลักษณะพิเศษและอัตลักษณ์ของมันคืออะไรกันแน่?

        ความรู้ทางชีวภาพสอนให้เรารู้ว่า : สารชนิดใดหรือสารกลุ่มใดและผลิตภัณฑ์ของสารอนุพันธ์ที่ไม่สามารถ ”ผลิตเลียนแบบ”(复制) จากพื้นที่อื่นๆได้นั้น มีเพียงคำตอบเดียว : คือ สารกลุ่มนี้จะมีคุณลักษณะทางธรรมชาติ คุณลักษณะทางพันธุกรรม คุณลักษณะของระบบ และคุณลักษณะที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ หัวใจสำคัญของมันคือคุณลักษณะที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ พูดให้ถูกประเด็นมากขึ้น คือ คุณค่าทางภูมิศาสตร์(地理价值)

        พวกเรามักคุ้นที่จัดชาผูเอ๋อร์เป็นผลิตภัณฑ์การค้าที่มีลักษณะพิเศษ ลักษณะพิเศษนี้ไม่เพียงแสดงถึงเป็นผลิตภัณฑ์จากการหมักของเชื้อจุลินทรีย์ ยังแสดงถึงระบบคุณค่าที่มีเฉพาะในชาผูเอ๋อร์ ประกอบด้วย คุณค่าทางภูมิศาสตร์ คุณค่าทางวิธีการผลิตที่พิเศษเฉพาะ คุณค่าทางขบวนพัฒนาการ คุณค่าขององค์ประกอบที่มีสรรพคุณและกลไกทางยา คุณค่าเหล่านี้จะต้องเป็นลำดับตามกันมา และจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้

        ในท่ามกลางระบบ 4 คุณค่านี้ คุณค่าทางภูมิศาสตร์ของชาผูเอ๋อร์อยู่ลำดับที่ 1 เป็นคุณค่าแรกสุด และเป็นคุณค่าที่เป็นหัวใจสำคัญของชาผูเอ๋อร์ เปรียบเสมือนตึกสูงใหญ่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ องค์ประกอบของมันเป็นสิ่งที่ผู้คนยากที่จะเห็น มันคือ ”รากฐาน”(地基) ที่ซ่อนอยู่ใต้ดิน เป็น ”พื้นฐาน”(基础) ที่กำหนดอนาคตของชาผูเอ๋อร์จะครบครันด้วยการมีชีวิตชีวาหรือไม่?

        พูดให้ตรงประเด็น ชาผูเอ๋อร์มี ”ปริศนา”(迷团) มากมาย คิดที่จะ ”ถอดรหัส”(破译) ของมัน จำต้องลงมือโดยเริ่มจาก “คุณค่าทางภูมิศาสตร์ของชาผูเอ๋อร์”...

........ยังมีต่อ........


(แปล-เรียบเรียง-ย่อ จากบทความ 4 คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของชาผูเอ๋อร์ --- คุณค่าที่ 1 : “คุณค่าทางภูมิศาสตร์”...เขียนโดย เฉินเจี๋ย)

โพสต์นี้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2558 ลงในเฟสเพจสมาคมผู้รักชาผูเอ่อร์แห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/groups/1465523990337272/

คุณค่าทางภูมิศาสตร์ (2)