ดินเทศ (Red Ochre/赭石)---เป็นดินสีแดงที่มีออกไซด์ของเหล็กเป็นองค์ประกอบ เป็นรงควัตถุธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักในโลก แล้วเก่าแก่แค่ไหน? นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบดินเทศในโบราณสถานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์-นีแอนเดอร์ทาล(Homo Neanderthalensis) ตราบจนยุคหินกลาง ใช้แพร่หลายในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย ภาพวาดฝาผนังและศิลปะถ้ำ เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องในแง่ของความเชื่อ โชคลาง ความอุดมสมบูรณ์ หรืออาจใช้แทนเลือด แทนชีวิต และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
▲赭石 สินแร่ดินเทศ/Mineral Hematite
สีแดง (Red Color/红色)---เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและความสุขในวัฒนธรรมจีน เป็นสีที่เกี่ยวเนื่องกับธาตุไฟ หมายถึงแสงสว่าง ความอบอุ่น พละกำลัง และความรุ่งโรจน์ ในชิ้นงานเครื่องเคลือบดินเผาโบราณของเมืองจีน ภาชนะเคลือบสีแดงเป็นประเภทที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากมีหลากหลายชนิดและความสลับซับซ้อนแล้ว ยังมีการตกแต่งอย่างโอ่อ่าจนมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วเมืองจีนและต่างประเทศ
เคลือบสีแดง (Red Glaze/红釉)---โดยพื้นฐานคือเคลือบที่ผสมสารให้สีแร่โลหะที่แตกต่างกัน ที่พบเห็นบ่อยๆก็คือทองแดง เหล็กหรือทอง เมื่อผ่านเงื่อนไขของการเผาผลิตที่อุณหภูมิและการตอบสนองที่แตกต่างกัน ทำให้ได้เครื่องเคลือบดินเผาที่ผิวเคลือบปรากฏสีแดงพิเศษที่ไม่เหมือนกัน ชนิดของเคลือบสีแดงมีหลากหลายมาก ที่พบเห็นบ่อยๆก็มีเคลือบลายไฟ จวินหง เซียนหง จี้หง หลางหยาวหง เจียงเต้าหง ฝานหง แดงปะการัง เยียนจือหง เป็นต้น
จากด้านอุณหภูมิการเผาผลิต เคลือบสีแดงสามารถแบ่งออกเป็น「ไฟสูง」และ「ไฟต่ำ」2 รูปแบบ เคลือบสีแดงไฟสูงจะทำการเผาผลิตที่อุณหภูมิ 1250ºC ขึ้นไป ส่วนใหญ่เมื่อขึ้นเคลือบแล้วเข้าเตาจนเสร็จสิ้นในการเผาผลิตเพียงครั้งเดียว เช่น เคลือบจี้หง หลางหง เจียงเต้าหง เป็นต้น ส่วนเคลือบสีแดงไฟต่ำจะทำการเผาผลิตที่อุณหภูมิ ระหว่าง 700-1250ºC ส่วนใหญ่จะทำการเผาผลิตเคลือบสีขาวหรือเคลือบสีอื่นๆก่อนแล้วขึ้นเคลือบสีแดงจึงนำเข้าเตาทำการเผาผลิตครั้งที่สองจนเสร็จสิ้น เช่น ฝานหง เยียนจือหง เป็นต้น
กล่าวจากด้านสารให้สี เคลือบสีแดงสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ「เคลือบสีแดงจากทองแดง」「เคลือบสีแดงจากเหล็ก」และ「เคลือบสีแดงจากทอง」: เคลือบสีแดงจากทองแดงคือเคลือบสีแดงที่ใช้คอปเปอร์ออกไซด์เป็นสารให้สี โดยทำการเผาผลิตที่อุณหภูมิสูงภายใต้บรรยากาศการเผาไหม้แบบรีดักชั่น เช่น เคลือบจี้หง หลางหง เจียงเต้าหง เป็นต้น ; เคลือบสีแดงจากเหล็กคือเคลือบสีแดงที่ใช้ไอรอนออกไซด์เป็นสารให้สี โดยทำการเผาผลิตที่อุณหภูมิต่ำภายใต้บรรยากาศการเผาไหม้แบบออกซิเดชั่น เช่น ฝานหง แดงปะการัง เป็นต้น ; เคลือบสีแดงจากทองก็คือเคลือบสีแดงที่ใช้ทองคำเป็นสารให้สี โดยทำการเผาผลิตที่อุณหภูมิต่ำ เช่น เยียนจือหง เยียนจือสุ่ย เป็นต้น
๑.「เคลือบสีแดงจากทองแดง」(Copper Red Glaze/铜红釉)
เคลือบสีแดงจากทองแดงไฟสูงจัดอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญในกรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของเมืองจีน โดยใช้เคลือบสีแดงจากทองแดงเป็นน้ำเคลือบเผาผลิตออกมาเป็นผิวเคลือบจวินหง จี้หง หลางหง เจียงเต้าหง เป็นต้นอันเป็นเครื่องเคลือบที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และใช้เคลือบสีแดงจากทองแดงเป็นสีเคลือบตกแต่ง เผาผลิตออกมาเป็นเคลือบลายไฟ ลายครามไฟ เป็นต้นอันเป็นชิ้นงานศิลปกรรมของการเขียนสี ฉะนั้น แล้วเคลือบสีแดงจากทองแดงไฟสูงมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?
ที่ผ่านมาโดยมีความเชื่อตั้งแต่ต้นว่า เคลือบสีแดงจากทองแดงเริ่มต้นใช้ในการผลิตเครื่องเคลือบจวิน(钧瓷)ในสมัยซ่งเหนือ และแล้ว มีการขุดค้นพบเครื่องเคลือบลายไฟที่ใช้เคลือบสีแดงจากทองแดงในการเขียนสีตกแต่ง ซึ่งขุดค้นพบได้ทั้งจากเตาเผาฉางซาในหูหนานซึ่งริเริ่มในสมัยถัง และเตาเผาฉงในซื่อฉวนซึ่งริเริ่มก่อนสมัยถัง เครื่องเคลือบลายไฟที่ขุดค้นพบจากทั้ง 2 เตาเผาข้างต้นเข้าใจกันว่าเป็นการเผาผลิตได้มาโดยบังเอิญ จึงเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้นว่า เตาเผาไหนเป็นต้นกำเนิดของเคลือบสีแดงจากทองแดงไฟสูง? ปัจจุบัน ปัญหา “ต้นกำเนิดของเคลือบสีแดงจากทองแดงไฟสูง” ยังไม่มีข้อสรุป ยังต้องทำการสืบเสาะหาความจริงกันต่อไป
▲长沙窑白釉红绿彩执壶 เหยือกมีหูจับเคลือบขาวเขียนสีเขียวแดงของเตาเผาฉางซา : เคลือบเขียนสีแดงจากทองแดงของเตาเผาฉางซาจะพบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากสีแดงจากทองแดงมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อปัจจัยทางบรรยากาศการเผาไหม้ อุณหภูมิ ปริมาณองค์ประกอบของทองแดง เป็นต้น ทองแดงที่เป็นสารให้สีในเคลือบสี ภายใต้บรรยากาศการเผาไหม้แบบออกซิเดชั่นจะให้สีออกเป็นสีเขียว ภายใต้บรรยากาศการเผาไหม้แบบรีดักชั่นจะให้สีออกเป็นสีแดง
▲邛窑红彩瓜棱形水盂 ไหน้ำทรงฟักทองเขียนสีแดงของเตาเผาฉง : สีแดงที่เขียนตกแต่งเป็นเคลือบสีแดงจากทองแดงไฟสูง
1.【เคลือบจวินหง】(Jun Red Glaze/钧红釉)
เตาจวิน(钧窑) หนึ่งในห้าเตาเผาอันโด่งดังในสมัยซ่งได้ริเริ่มใช้เคลือบสีแดงจากทองแดงที่มีคอปเปอร์ออกไซด์เป็นสารให้สี โดยทำการเผาผลิตที่อุณหภูมิสูงภายใต้บรรยากาศการเผาไหม้แบบรีดักชั่นได้ผิวเคลือบสีแดงแบบ「จวินหง」สามารถกล่าวได้ว่าจวินหงคือน้ำเคลือบสีแดงที่เก่าแก่ที่สุด การผสมวัตถุดิบน้ำเคลือบในสมัยนั้นยังไม่ละเอียดและแม่นยำพอ นอกจากทองแดงแล้ว ยังมีออกไซด์ของแร่ธาตุอื่นๆปะปนเข้ามาด้วย ทำให้เคลือบจวินหงจะมีโทนสีแดงอมม่วงเข้าใกล้สีแดงม่วงของดอกกุหลาบ ดังนั้นก็เรียกขานกันว่า「กุหลาบม่วง」ในบรรดาผลิตภัณฑ์จวินหง ทั่วไปจะปรากฏสีแดง น้ำเงิน ม่วง 3สีนี้ทับซ้อนกัน ราวกับภาพที่เปล่งแสงสุกสกาวอันเร่าร้อนออกมา
▲北宋 钧窑尊式玫瑰紫釉尊式花盆 กระถางดอกไม้เคลือบกุหลาบม่วงของเตาจวินสมัยซ่ง
การสร้างสรรค์เคลือบจวินหง ถือเป็นการบุกเบิกอีกหนึ่งขอบเขตใหม่ของกรรมวิธีการตกแต่งเครื่องเคลือบดินเผา การปรากฏขึ้นของแดงทับทิม จี้หง หลางหง และเคลือบเพี้ยนเตา(窑变釉)บางชนิดของสมัยชิง ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับจวินหง
2.【เคลือบสีแดงจากทองแดงสมัยหยวน】(Yuan Copper Red Glaze/元代铜红釉)
ที่ถือเป็นเคลือบสีแดงที่เที่ยงแท้เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์การเผาขึ้นในสมัยหยวน อุตสาหกรรมเครื่องเคลือบของจิ่งเต๋อเจิ้นในสมัยหยวนได้พัฒนาไปอย่างมาก โดยได้เริ่มใช้เคลือบสีแดงจากทองแดงในการเขียนสีตกแต่ง ซึ่งก็คือ「เคลือบลายไฟ」และใช้เป็นน้ำเคลือบเผาผลิตเคลือบสีแดงทั่วทั้งผิวเคลือบได้เป็นผลสำเร็จที่จิ้งเต๋อเจิ้น เนื่องจากเคลือบสีแดงจากทองแดงเมื่ออยู่ในสถานะหลอมเหลวจะมีความหนืดสูง ขอบเขตอุณหภูมิของการเผาสำเร็จจะแคบมาก ภายใต้กระบวนการเผาผลิตที่อุณหภูมิสูงจะเกิดการระเหิดหรือการไหลได้ง่าย การเผาให้สำเร็จจะยากมาก โดยเฉพาะเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นสร้างสรรค์เคลือบสีนี้ สีแดงจึงยังไม่สดใสแวววาว ทั่วๆไปจะปรากฏออกมาเป็นสีแดงชาดหมองคล้ำ และสีสันก็ไม่สม่ำเสมอ
▲元 釉里红秋水纹匜 ถาดล้างพู่กันทรงทัพพีเคลือบลายไฟลวดลายชิวสุ่ยสมัยหยวน
▲元代 红釉暗刻大雁牡丹双狮耳罐 คนโทสองหูหัวสิงโตเคลือบสีแดงสลักนกกระเรียนและดอกโบตั๋นสมัยหยวน
การเผาผลิตเครื่องเคลือบสีแดงแท้จริงสำเร็จได้ในสมัยหยวน มีอิทธิพลอย่างมากต่อยุคหลังๆ ในช่วงสมัยหมิงและชิงที่สามารถทำการเผาผลิตเครื่องเคลือบสีแดงแบบต่างๆที่สวยสง่างามและต้องตาต้องใจล้วนเป็นการสืบสานเครื่องเคลือบสีแดงดั้งเดิมของสมัยหยวน การเผาผลิตเคลือบสีแดงในสมัยหมิงเริ่มต้นในรัชสมัยหงหวู่(จูหยวนจาง ปฐมจักรพรรดิต้าหมิง) ภาชนะเครื่องเคลือบสีแดงของช่วงรัชสมัยนี้ยังสามารถพบเห็นแบบเค้าเดิมของเคลือบสีแดงสมัยหยวน เพียงแต่การผลิตภาชนะจะมีแบบแผนและละเอียดประณีตมากขึ้น
▲明洪武 紅釉印花雲龍紋盤 จานเคลือบสีแดงลวดลายมังกรเมฆหงหวู่ราชวงศ์หมิง
3.【เคลือบเซียนหง】(Scarlet Red Glaze/鲜红釉)
การเผาผลิตเคลือบสีแดงในรัชสมัยหย่งเล่อเมื่อเทียบกับรัชสมัยหงหวู่แล้วมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก คุณภาพของเนื้อดินเผาจะเนียนละเอียดกว่า การขึ้นน้ำเคลือบก็สม่ำเสมอกว่า และอันเนื่องจากกรรมวิธีการเผาผลิตมีความชำนาญมากขึ้น สามารถควบคุมบรรยากาศการเผาไหม้ตรงตามต้องการได้ดีกว่า เคลือบสีแดงจึงปรากฏสีแดงที่ค่อนข้างสดใส ดังนั้นทั่วไปจะเรียกขานเคลือบสีแดงแบบนี้ว่า「เซียนหง」ซึ่งลักษณะสีแดงสุกสกาวแบบนี้เหมือนดั่งพลอยทับทิม ดังนั้นก็เรียกขานกันว่า「แดงทับทิม」ขณะเดียวกัน ภาชนะเครื่องเคลือบสีแดงสมัยหมิงมักจะถูกใช้ในพิธีกรรมการเซ่นไหว้ ทำให้มีการเรียกอีกชื่อเป็น「จี้หง/祭红」
▲明永樂 鮮紅釉高足碗 จอกขาสูงเคลือบเซียนหงหย่งเล่อราชวงศ์หมิง
เคลือบสีแดงของรัชสมัยซวนเต๋อจะขึ้นชื่อและโดดเด่นกว่าของรัชสมัยหย่งเล่อ ซึ่งสีเคลือบเงาเรียบสม่ำเสมอ สีแดงจะหนาเข้มกว่าของหย่งเล่อ สีแดงจะออกทางม่วงเล็กน้อยค่อนไปทางดำ ยิ่งดูเหมือนดั่งพลอยทับทิมที่เปล่งปลั่งสดใส ชื่อเรียก「แดงทับทิม」จึงสมคำร่ำลือจริงๆ
▲“宝石红” 之称---大明宣德红釉盘 จานเคลือบสีแดงซวนเต๋อราชวงศ์ต้าหมิง ได้รับการกล่าวขานให้เป็น “แดงทับทิม”
เคลือบสีแดงจากทองแดงไฟสูงหลังจากรัชสมัยซวนเต๋อแล้ว มีการเผาผลิตน้อยมาก อาจเป็นเพราะผู้มีอำนาจสูงสุดไม่สนใจต่อการเผาผลิตเครื่องเคลือบ หรืออาจเป็นเพราะความยากของกรรมวิธีการเผาผลิตเคลือบสีแดงจึงนำมาซึ่งค่อยๆเสื่อมถอยจนขาดการสืบสานต่อเนื่อง ตราบจนถึงรัชสมัยคังซีราชวงศ์ชิงได้รื้อฟื้นการเผาผลิตเคลือบสีแดงจากทองแดงขึ้นมาใหม่ โดยทำการเผาผลิตเลียนแบบ「เซียนหง」ของรัชสมัยหย่งเล่อและซวนเต๋อราชวงศ์หมิง สุดท้ายได้เผาผลิต「หลางหยาวหง」ที่ลุ่มลึกแวววาว และ「เจียงเต้าหง」ที่นุ่มเนียนภูมิฐาน
เอกสารอ้างอิง :
1. 高温铜红釉的历史 : http://www.ruci.net/show.aspx?id=157&cid=24
2. 浅析各类瓷器红釉 : https://kknews.cc/culture/kmaq8er.html
3. 陶瓷釉色之单色釉 (1)--红釉 : https://kknews.cc/culture/e3gp4rq.html