วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ต้นทุนของชาแดงหนึ่งถ้วย | ตอนที่ 1/4

  

        คุณ...เพื่อที่จะดื่มชาหนึ่งจอก จ่ายได้ในต้นทุนเท่าไร? ราคาของชาถุงที่ชงแช่ได้หนึ่งถ้วย? หรือชาประกวดชนะเลิศที่ราคาเป็นแสนต่อกิโลกรัม? กล่าวสำหรับคนอังกฤษแล้ว...เพื่อที่จะดื่มชาแดงหนึ่งถ้วย ในช่วงศตวรรษที่19 เพื่อการขโมยและจารกรรมเทคโนโลยีของชาแดงจากเมืองจีนแล้ว แทบจะต้องทุ่มพลังทั้งประเทศ 

        ชาแดง...กำเนิดที่เมืองจีน “เจิ้นซานเสี่ยวจ่ง/正山小种” จากถงมู่หวู่หยีซานถือเป็นต้นกำเนิดของชาแดง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุโดยบังเอิญในปลายราชวงศ์หมิงช่วงปี 1567-1610 ศตวรรษที่17 เมืองจีนได้เปิดการค้าทางทะเลอย่างเสรี ในปี 1610 พ่อค้าวาณิชย์ชาวดัตช์เป็นคนแรกนำชาที่ผลิตจากทางตะวันออกขนส่งเข้าไปยังยุโรปตะวันตก ถือเป็นผู้บุกเบิกนำชาจีนเผยแพร่ทั่วโลก 

 ▲ชาแดง “เจิ้นซานเสี่ยวจ่ง/正山小种” และ “จินจุ้นเหมย/金骏眉” ต่างเกิดขึ้นที่ด่านถงมู่หวู่หยีซานมณฑลฝูเจี้ยน  

        ตามการบอกเล่าที่คนอังกฤษหลงใหลชื่นชอบชานั้น เริ่มต้นจากเจ้าหญิงแคทเธอรินแห่งโปรตุเกส (Catherine of Braganza,1638-1705) ได้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทั่ 2 แห่งอังกฤษในปี 1662 พร้อมได้นำนิสัยการดื่มชาเข้าไปในอังกฤษด้วย ซึ่งเดิมภายในพระราชวัง พระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษจะคุ้นเคยในการดื่มเบียร์ ไวน์ สุดท้ายทุกพระองค์เปลี่ยนมาดื่มชา อันที่จริง ช่วงยุคสมัยนั้นสิ่งของจากตะวันออกมาอยู่ในยุโรปจะมีความเป็นเอกลักษณ์ผิดแปลกที่ลึกลับน่าพิศวง “Tea” จึงเป็นคำที่ใช้เรียกแทน “ชา” 

 ▲เจ้าหญิงแคทเธอรินแห่งโปรตุเกส ; ภาพวาดโดย Peter Lely (1618-1680)

     กล่าวโดยทั่วๆไป พวกเขา(คนอังกฤษ)ไม่ยินดีกระทั่งลองชิมรสอาหารต่างชาติสักเพียงเล็กน้อย พวกเขาเห็นหอมหัวใหญ่และน้ำมันมะกอกในของลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งของที่น่ารังเกียจ แต่ถ้าหากขาดซึ่งชาแล้วไซร้ ชีวิตนี้ก็ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร...George Orwell《The Lion and the Unicorn》 

        ท่านผู้อ่านที่พอมีความรู้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่อยู่บ้าง หรืออาจรับรู้แล้ว ชาแดงอัสสัม ชาแดงซีลอน ชาแดงดาร์จีลิ่ง ที่พวกเราดื่มได้ในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลังคือ “บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ (British East India Company)” ที่ใช้ความมานะบากบั่นร่วมร้อยกว่าปี ดังนั้น การกล่าวถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชาแดงของจักรวรรดิอังกฤษ จะไม่กล่าวถึงการก่อตั้งของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษเลยมิได้ 

▲จักรวรรดิบริติชที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษในช่วงศตวรรษ18-19

         ▌บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษตั้งต้นจากโจรสลัด 

        ในศตวรรษที่16 การค้าขายทางทะเลกับตะวันออกตกอยู่ภายใต้อำนาจของโปรตุเกสและสเปน อังกฤษได้แต่มองตาปริบๆ อย่างดีก็เป็นได้แค่ “จอมโจรสลัดแห่งทะเลแคริบเบียน” ในพระราชินีอุปถัมภ์ เที่ยวดักปล้นสดมภ์ทางแถบช่องแคบอังกฤษ ค่อยๆสะสมทรัพย์สมบัติทีละเล็กทีละน้อยแต่พอตัว 

        เซอร์ฟรานซิส เดรก (Sir Francis Drake,1540-1596) นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอังกฤษที่เคยเป็นโจรสลัดปล้นเรือสเปนมาก่อนในปี 1567 เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เดินเรือรอบโลกได้สำเร็จ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จึงทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวิน ในปี 1588 เดรกดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองเรือรบที่มีบทบาทสำคัญในการเอาชนะกองเรือรบอาร์มาดาของสเปน (Spanish Armada) ที่ยิ่งใหญ่และไม่มีใครเคยรบเอาชนะมาก่อน ทำให้อังกฤษกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลในเวลาต่อมา 

 ▲โจรสลัดฟรานซิส เดรก กำลังตรวจเช็คทรัพย์สมบัติที่ปล้นจากเรือสเปน

        การเอาชนะสเปนได้ทำให้อังกฤษฮึกเหิมในการขยายล่าอาณานิคมในดินแดนตะวันออกไกล เข้าไปมีอำนาจในอนุทวีปอินเดีย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ กลุ่มเกาะมลายู เป็นต้น ในปี 1600 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ลงนามในตราตั้งพระราชทานอนุญาติให้ “บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ” ถือกำเนิดขึ้นโดยการร่วมทุนระหว่างพ่อค้าและชนชั้นสูงในอังกฤษ ผ่านการออกพระบรมราชานุญาติให้บริษัทค้าขายบนเส้นทางใดก็ได้ทางทิศตะวันออกของแหลมกู๊ดโฮป(ประเทศอาฟริการใต้ในปัจจุบัน) 

 ▲แหลมกู๊ดโฮป และเส้นทางการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ

         ▌บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษถูกเลี้ยงดูด้วยใบชา 

        มีคนกล่าวว่า บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษเริ่มต้นจากเครื่องเทศ แต่อาศัยใบชาเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ ตั้งแต่พระราชินีแคทเธอรินได้จุดประกายกระแสการดื่มชาขึ้นมา ความต้องการใบชาของคนอังกฤษเพิ่มขึ้นเป็นลำดับอย่างทวีคูณ ในปี 1664 บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้สั่งซื้อใบชาเป็นครั้งแรกจำนวน 100 ปอนด์ (ได้นำไปถวายพระราชวังอังกฤษ 2 ปอนด์ 2 ออนซ์) ในปลายศตวรรษที่17 เป็นจำนวนหลายหมื่นปอนด์ จนถึงในปี 1799 อังกฤษนำเข้าใบชาจากเมืองจีนเป็นจำนวนถึง 23 ล้านปอนด์ 

        ในศตวรรษที่17 ใบชาสำหรับคนอังกฤษแล้วมีราคาแพงเท่าไร? ราคาขายปลีกสูงถึงปอนด์ละ 3 ปอนด์สเตอลิง ซึ่งช่างยนต์ในอังกฤษสมัยนั้นได้รับค่าแรงเพียง 1 ปอนด์สเตอลิงต่อสัปดาห์ จึงมีเพียงคนรวยที่สามารถแบกรับกับการเสพสุขอย่างหรูหราเช่นนี้ได้ สาเหตุที่มีราคาแพง นอกจากเป็นการค้าผูกขาดแล้ว ยังถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงจากรัฐบาล เริ่มต้นเรียกเก็บภาษีในรูปน้ำชา ทำให้พ่อค้าต้องนำใบชามาชงเป็นน้ำชาให้เข้มมากๆเพื่อไปสำแดงการเสียภาษี แล้วจึงเจือจางทีหลังเพื่อนำไปขาย นโยบายอันโง่เขลาแบบนี้ได้ดำเนินการมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี จึงเปลี่ยนมาเป็นการเรียกเก็บภาษีในรูปของน้ำหนักใบชา

 ▲เศรษฐกิจการค้า 3 เหลี่ยมของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ---นำเข้าผ้าไหม ใบชาจากจีน ; ส่งออกเครื่องสิ่งทอผ้าฝ้าย ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไปอินเดีย ; ส่งออกฝิ่นจากอินเดียไปจีน

         ▌ความทะยานอยากของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ 

        จนถึงศตวรรษที่19 สินค้าเมืองจีนที่นำเข้าโดยบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ เป็นใบชามากกว่า 90% คิดเป็น 10% ของเงินได้ของท้องพระคลังอังกฤษ ต้องใช้เงินตราก้อนโลหะเงินในการซื้อใบชา ส่วนเมืองจีนดำเนินนโยบายการปกป้องและกีดกันทางการค้า และไม่ค่อยมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ ในใจคนอังกฤษจึงคิดว่า คงไม่ใช่ต้องใช้จ่ายเงินตราในการซื้อตลอดไปนะ? และถ้าหากวันใด คนจีนเกิดใจคดขึ้นมา ไม่ขายละ! แล้วจะต้องทำไงดี? คนอังกฤษที่คิดจะให้ดุลการค้ามีความสมดุล สุดท้ายได้คิดวิธีแก้ปัญหาดังนี้ : ยักย้ายต้นชาเมืองจีนไปปลูกที่ดินแดนอาณานิคมอินเดีย และอีกวิธีหนึ่ง ก็คือนำฝิ่นไปขายให้คนจีน 

     เหตุผลโดยแท้จริงที่บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษต้องส่งออกฝิ่นเป็นจำนวนมาก เป็นเพราะอังกฤษไม่สามารถหาสินค้าที่สามารถลดผลกระทบจากการนำเข้าใบชาจากเมืองจีนที่ทำให้อังกฤษมีดุลการค้าขาดดุลมหาศาล ปัญหาทางการค้าจึงต้องแก้ด้วยทางการเมือง สงครามฝิ่นอันที่จริงก็คือยุทธศาสตร์ของปัญหาทางเศรษฐกิจของจักรวรรดิทั้งสอง ชาและฝิ่นจึงประกอบกันเป็นคำอุปมาของการเป็นปรปักษ์ของจักรวรรดิทั้งสอง

 ▲ประวัติศาสตร์เคยมีช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อตอนอังกฤษและเมืองจีนต้องรบประจัญบานกันอันเนื่องจากต้นดอก 2 ชนิด---ดอกฝิ่นและใบชา อาณาจักรโลกถูกแบ่งแยกใหม่จากชื่อของพรรณพืช 2 ต้นนี้...Sarah Rose《For All The Tea In China》

        คนอังกฤษสามารถทำการปลูกถ่ายต้นชาได้นั้น เป็นเพราะเบื้องหลังมีคณะนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง ได้ทำการศึกษาวิจัยทาง “ธรรมชาติวิทยา (Natural History)” โดยการรวมพฤกษศาสตร์ สัตววิทยา แร่วิทยา เป็นต้น เป็นตัวช่วยในการแผ่ขยายและการจัดการปกครองดินแดนอาณานิคม อังกฤษได้ริเริ่มทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในดินแดนโพ้นทะเลตั้งแต่ศตวรรดิที่18 สวนพฤกษศาสตร์หลวง---สวนคิว (Kew Garden) ได้กลายเป็นศูนย์กลางการตัดสินนโยบายของจักรวรรดิอาณานิคม ซึ่งมี เซอร์โจเซฟ แบงส์ (Sir Joseph banks,1743-1820) เป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการข้อมูลข่าวสารที่ส่งมาจากพื้นที่ต่างๆที่ไปสำรวจ 

 ▲สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว-สวนคิว (Royal Botanic Gardens, Kew)

        จากการสำรวจในช่วงเวลานั้น พื้นที่ในบริติชอินเดียที่เหมาะกับการปลูกถ่ายต้นชามากที่สุด คือแถบบริเวณที่อยู่ระหว่างแคว้นเบงกอลจนถึงเชิงตีนเขาหิมาลัย สภาวะแวดล้อมอากาศของบริเวณพื้นที่นี้เหมือนพื้นที่ผลิตชาของเมืองจีน แบงส์ได้แนะนำให้บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษให้ทำการทดลองปลูกต้นชาในสวนพฤกษศาสตร์ที่เมืองกัลกัตตาก่อน แล้วจึงว่าจ้างคนจีนมาชี้แนะสอนคนอินเดียจะทำการเพาะปลูกต้นชาให้ดีได้อย่างไร 

     นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษบางคนยืนยันโดยการอ้างอิงจากใบชาที่นำเข้าจากเมืองจีนที่หาซื้อได้ในอังกฤษว่า ใบชาก็คือใบไม้จากต้นชาแดงและต้นชาเขียว หรือก็คือว่า “ชาแดงได้จากต้นชาแดง ชาเขียวได้จากต้นชาเขียว” 

         นี่คือ “ผลงานวิจัย” ขนานแท้ที่สุดในช่วงระยะ 200 ปีแรกที่ใบชาแพร่เข้าสู่อังกฤษ โดยยังไม่มีความเข้าใจถึงกรรมวิธีการผลิตชา ชาแดงคือชาที่ผ่านการหมักเต็มที่ ชาเขียวคือชาที่ไม่ผ่านการหมัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของเมืองจีนที่ได้สืบทอดกันมาเป็นพันปี

(มีต่อตอนที่ 2/4) 


เอกสารอ้างอิง :