วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2563

ประวัติวิวัฒนาการของปั้นชาจีน | (ตอนที่ 2/2)



     【อดีตและปัจจุบันของปั้นจื่อซา

        ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ「ปั้นจื่อซา/紫砂壶」ดูเหมือนไม่มีเอกสารโบราณใดที่สามารถตีความออกมาได้ค่อนข้างชัดแจ้งสมบูรณ์ ความยากอันดับแรกก็คือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ “ต้นกำเนิดของปั้นจื่อซา” จากความคิดเห็นต่างๆตลอดมา สามารถสรุปรวบยอดออกเป็น 2 แนวความคิด :

        1. ปั้นจื่อซาริเริ่มเผาขึ้นในยุคซ่ง

        ในเอกสารโบราณยุคซ่งและเหยียนมีการบันทึกถึงอุปกรณ์ชาจื่อซาแล้วอย่างเลือนราง ในปี 1976 ได้ค้นพบซากเตาเผาโบราณ ณ เขาหยางเจี่ยวอำเภอติงสวู่เมืองหยีซิง ขุดพบซากเศษชิ้นส่วนจื่อซาในอดีตมากมายก่ายกอง หลังจากได้พินิจพิเคราะห์แล้ว นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่า “บนสุดไม่เกินกลางยุคซ่งเหนือ นิยมแพร่หลายในยุคซ่งใต้ ล่างสุดต่อเนื่องถึงต้นยุคหมิง” แล้วถือเป็นหลักฐานชี้ว่าปั้นจื่อซาได้ริเริ่มเผาผลิตขึ้นในยุคซ่งแล้ว

▲ตัวอย่างเศษชิ้นส่วนจื่อซาที่ขุดพบในปี 1976 ณ เขาหยางเจี่ยวอำเภอติงสวู่เมืองหยีซิง/宜兴丁蜀镇蠡墅村羊角山 | สันนิษฐานว่าเป็นเศษชิ้นส่วนจื่อซาในช่วงกลางยุคซ่งและเหยียน

        2. ปั้นจื่อซาริเริ่มเผาขึ้นในยุคหมิง

        การสำรวจทางโบราณคดี ณ เขาสวู่อำเภอติงสวู่เมืองหยีซิงในปี 2005 ได้ขุดค้นพบภาชนะจื่อซาและเศษชิ้นส่วนในปลายยุคหมิงและต้นสาธารณรัฐออกมาเป็นจำนวนมาก เมื่อทำการเปรียบเทียบเศษชิ้นส่วนจื่อซาของเขาหยางสวู่กับเขาสวู่แล้ว นักขุดค้นโบราณคดีบ่งชี้ว่าเศษชิ้นส่วนจื่อซาเขาหยางสวู่ “แรกสุดในปลายยุคหมิง ปลายสุดในยุคสาธารณรัฐ” นี่จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นไปได้ของแนวคิดนี้

▲ตัวอย่างภาชนะจื่อซาและเศษชิ้นส่วนที่ขุดพบในปี 2005 ณ โบราณสถานสองแห่งแถบตะวันตกเฉียงใต้เขาสวู่อำเภอติงสวู่เมืองหยีซิง/宜兴丁蜀镇蜀山西南片的两个遗址 | สันนิษฐานว่าเป็นเศษชิ้นส่วนจื่อซาในช่วงปลายยุคหมิงถึงต้นสาธารณรัฐ

      「ปั้นจื่อซา」ยุคแรกมีลักษณะเป็นงานหยาบ เนื้อดินหยาบ วิธีการขึ้นรูปตัวปั้นเฉกเช่นเดียวกับวิธีการผลิตโอ่งดินเผา เผาผลิตพร้อมกับโอ่งดินเผาในเตาเผาที่ความร้อนต่ำ ไม่ใช้กล่องผนึก อนุมานเป็นภาชนะที่ใช้ในการต้มน้ำหรือต้มชา อย่างเช่น「ปั้นสายหิ้วหวูจิง/吴经提梁壶」ที่ขุดค้นพบในปี 1966 และ「ปั้นจื่อซาสี่หูร้อย/四系紫砂壶」ที่ขุดค้นพบในปี1991 ต่างมีรอยไฟไหม้ นี่เป็นตัวบ่งบอกสถานะเช่นนี้ ต่อมาจึงค่อยๆหนีออกห่างจากเปลวเพลิงในเตาถ่าน ปรับตัวไปทางภาชนะชงชา จากปั้นขนาดใหญ่เปลี่ยนมาเป็นปั้นเล็กที่เป็นของเล่นของปัญญาชน และก็มุ่งสู่เป็นงานศิลปกรรมที่ละเอียดประณีต

▲ปั้นสายหิ้วหวูจิง/吴经提梁壶 | ปั้นจื่อซาใบแรกที่ขุดพบทางโบราณคดีในปี 1966 ถูกฝังพร้อมขันที หวูจิง(吴经) เมื่อรัชศกเจียจิ้งปีที่ 12 (ปี 1533) วิธีการผลิตตัวปั้นโดยการนำส่วนบนและส่วนล่างมาประกบเชื่อมต่อกัน ส่วนประกอบอื่นๆเช่นหู พวยจะยึดติดกับตัวปั้นด้วยหมุด ยังไม่มีตราประทับใดๆ เผาผลิตโดยไม่มีกล่องผนึก ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับปั้นจื่อซาที่ใช้ในการชงชาที่นิยมหลังกลางยุคหมิง

▲ปั้นจื่อซาสี่หูร้อย/四系紫砂壶 | ภาชนะจื่อซาในยุคหมิงช่วงรัชสมัยเจิ้งเต๋อถึงเจียจิ้ง ขุดพบในปี 1991 เนื้อดินออกสีน้ำตาลม่วง เนื้อดินประกอบด้วยทรายหยาบเป็นจำนวนมากเหมือนเนื้อโอ่งดินที่หนาและหนัก วิธีการทำตัวปั้นเหมือนปั้นสายหิ้วหวูจิง ภายในปั้นสามารถเห็นรอยต่อได้ชัดเจน  อนุมานว่าใช้ในการต้มน้ำหรือต้มชา

▲อุปกรณ์ชาจื่อซาว่านลี่ปี10(ปี1582)ยุคหมิง/明万历十年紫砂茶具 | ขุดพบในปี 2002 จากสุสานขันที จ้าวซีจาง(赵西漳) เมื่อเทียบเคียงกับ “ปั้นหวูจิง” แล้วจะช้ากว่า 49 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้น ศิลปินแห่งยุคสือต้าปิงยังไม่ปรากฏ วิธีการทำปั้นจะแตกต่างจาก “ปั้นหวูจิง” โดยตัวปั้นใช้เส้นดินแผ่นเดียวล้อมเป็นทรงกระบอกแล้วตัดเชื่อมติดกัน มิใช่แบบนำส่วนบนและส่วนล่างมาเชื่อมต่อกัน พวยและหูจับเชื่อมติดกับตัวปั้นด้วยวิธีแบบเปิด(明接法) มิใช่การเชื่อมติดกันด้วยหมุด(铆接法) ใช้กล่องปิดผนึกในการเผาที่อุณหภูมิต่ำ เนื้อดินยังไม่ถูกเผาผนึกจนเกิดความเป็นแก้ว

▲ชุดจอกจื่อซาว่านลี่ปี10(ปี1582)ยุคหมิง/明万历十年紫砂套杯 | ประกอบด้วยจอกทรงแปดเหลี่ยม 4 ใบขนาดจากเล็กเรียงลำดับไปหาใหญ่ เมื่อนำมาวางทับซ้อนกันปากจอกจะอยู่ในระดับเดียวกัน ใต้ก้นจอกนอกมีการประทับตัวอักษร “” “” “” “” ซึ่งตราบจนถึงทุกวันนี้ นี่เป็นตราประทับยุคแรกในบรรดาภาชนะจื่อซาที่ขุดค้นพบทางโบราณคดี มีความหมายที่กว้างขวางมาก

        ตามเอกสารโบราณยุคหมิงและชิงที่มีบันทึกไว้ว่า ในช่วงรัชสมัยเจิ้งเต๋อถึงเจียจิ้ง (ปี1506-1566) “กงชุน/供春” ซึ่งเป็นเด็กรับใช้ที่ได้เรียนรู้การปั้นภาชนะจากดินจื่อซากับหลวงพี่คนหนึ่งในวัดจวินซา เป็นคนที่ทำ “ปั้นปุ่มต้นแปะก๊วย/树瘿壶” ขึ้นมาที่ภายหลังเรียกเป็น「ปั้นกงชุน/供春壶」ถือเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นที่ผลิตภัณฑ์จื่อซากลายเป็นงานหัตถกรรมที่แท้จริงแขนงหนึ่ง

▲กงชุน/供春 | ไม่ว่าบุคคลที่ชื่อ “กงชุน” จะมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือ “ปั้นกงชุน” จะทำขึ้นโดย “กงชุน” ตามคำร่ำลือหรือไม่ สิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับมันได้กลายเป็นสีสันแห่งตำนานตอนหนึ่งที่ได้ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ไปแล้ว กล่าวจากความหมายบางแง่ ข้อเท็จจริงของ “กงชุน” ดูเหมือนว่าไม่มีความสำคัญแล้ว เนื่องจากมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์จุดตั้งต้นทางวัฒนธรรมจื่อซาของเมืองจีนไปแล้ว

        ในช่วงรัชสมัยเจียจิ้งถึงหลงชิ่ง (ปี1522-1572) ได้เกิดศิลปินจื่อซาที่ขึ้นชื่อคือ “ต่งฮั่น/董翰” “จ้าวเหลียง/赵梁” “สือเผิง/时朋” (พ่อของสือต้าปิง) และ “เหยียนฉ่าง/元畅” รวมเรียกเป็น “สี่นักปั้นผู้ยิ่งใหญ่/名壶四大家” ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีความถนัดในศิลปกรรมที่เป็นแบบฉบับของตนเอง

▲ปั้นจื่อซาของต่งฮั่น/董翰紫砂壶

▲ปั้นจื่อซาของเหยียนฉ่าง/元畅紫砂壶 

        หลังยุครัชสมัยเจียจิ้ง มีศิลปินนักปั้นปรากฏขึ้นมามากมาย ได้สร้างสรรค์ปั้นจื่อซารูปแบบมากมายที่ยังสืบทอดถึงทุกวันนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสุนทรียะของปัญญาชนที่ชื่นชอบการดื่มชาโดยชงเองดื่มเอง ปัญญาชนจำนวนมากได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบผลิต หัตถกรรมปั้นจื่อซาจึงถูกยกระดับเป็นศิลปกรรมขั้นสูง นี่เป็นแรงผลักดันให้รูปลักษณะของปั้นจื่อซาไปในทิศทางที่มีขนาดเล็กลง

▲ปั้นทรงดอกเก๊กฮวยแปดกลีบของหลี่ม่าวหลินยุคหมิง(ประมาณปี 1522-1619)/明-李茂林款菊花八瓣壶 | ช่างฝีมือทำปั้นจื่อซาที่มีชื่อหลังจาก “สี่นักปั้นผู้ยิ่งใหญ่”

        ในช่วงรัชสมัยว่านลี่ (ปี1573-1620) ศิลปินจื่อซาที่สืบต่อกันมามี “สือต้าปิง/时大彬” “หลี่จ้งฝาง/李仲芳” และ “สวี่หยิ่วเฉียน/徐友泉” ทั้งสามที่มีความสัมพันธ์เป็นอาจารย์และศิษย์ รวมถูกยกย่องให้เป็น “สามผู้เชี่ยวชาญ/三大妙手” โดยมีสือต้าปิงเป็นตัวแทน สือต้าปิงเป็นผู้ที่ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาวิธีการการผลิตปั้นจื่อซาเป็นขนานใหญ่ สิ่งที่ได้ปรับปรุงพัฒนามากที่สุดก็คือการนำเส้นดินมาต่อติดกันแล้วตบตีขึ้นรูปเป็นทรงกลวง ถัดมาจึงกลายเป็นระบบเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาของหยีซิงที่พัฒนาขึ้นโดยตนเองอย่างแท้จริง

▲ปั้นสามขาลายกลีบใบหุ้มลูกพลับของสือต้าปิง/大彬款柿蒂纹三足壶 | ขุดพบในปี 1984 จากสุสานที่ฝังในรัชศกฉงเจินปีที่ 2 (ปี 1629) ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นผลงานแท้จริงของสือต้าปิง แต่มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นฝีมือของหลี่จ้งฝางและสวี่หยิ่วเฉียนซึ่งเป็นลูกศิษย์ของสือต้าปิง

        ในช่วงรัชสมัยเทียนฉีถึงฉงเจิน (ปี1621-1644) หนึ่งในบรรดานักทำปั้นจื่อซาที่มีชื่อเสียงก็คือ “ฮุ่ยเมิงเฉิน/惠孟臣” ที่มีศิลปะการทำปั้นที่เยี่ยมยอดที่สุด ผลงานปั้นของเขาดูเรียบง่ายแต่มีพลัง การสลักจารึกอักษรพู่กันจีนราวกับ เฉินซุ่ยเหลียง(褚遂良) นักอักษรวิจิตรยุคถัง ยุคหลังๆมีการทำลอกเลียนแบบ「ปั้นเมิงเฉิน/孟臣壶」ออกมาเป็นจำนวนมาก

▲ปั้นกลมจื่อซาพรมทรายโดยฮุ่ยเมิงเฉินยุคหมิง/明-惠孟臣制铺砂圆壶 | “พรมทราย/铺砂” เป็นการปรับแต่งเนื้อดินจื่อซาวิธีหนึ่ง โดยการปู โปรย หยอดเม็ดทรายต่างสีลงบนผิวแผ่นเนื้อดินแล้วทุบให้ฝังเข้าไปในเนื้อดิน 

        ยุคปลายหมิงต้นชิง ช่างใหญ่จื่อซาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ “เฉินหมิงเหยี่ยน/陈鸣远” ที่ถูกกล่าวขานเป็นผู้ชำนาญการปั้นจื่อซาที่ยิ่งใหญ่หลังจากสือต้าปิง เชี่ยวชาญในการแกะสลัก พลิกแพลงรูปแบบใหม่ ผลงานที่วิจิตรประณีตมีเสน่ห์ดึงดูด ถือเป็นจุดสุดยอดแห่งประวัติวิธีการทำปั้นจื่อซารูปแบบลวดลาย(花器)

▲《ท่อนสน》ผลิตโดยเฉินหมิงเหยี่ยน/《松段》陈鸣远制

        ช่วงรัชสมัยคังซี-หย่งเจิ้ง-เฉียนหลงราชวงศ์ชิง ปั้นจื่อซาเริ่มได้รับความสนใจจากพระราชวัง กลายเป็นเครื่องใช้ราชสำนักและของเล่นประจำวันของจักรพรรดิ โดยเริ่มต้นหุ่นปั้นจื่อซาผลิตจากหยีซิง แล้วส่งเข้าสำนักงานการผลิตในพระราชวังทำการเขียนสีฝ้าหลางไฉ่ เฝินไฉ่

▲ปั้นงอบจื่อหนีเฝินไฉ่เส้นขอบทองลายดอกไม้นกหย่งเจิ้งยุคชิง/清雍正紫泥粉彩描金花鳥紋笠帽壺

        ในช่วงรัชสมัยเจียชิ่งถึงเต้ากวง (ปี1796-1850) “เฉินม่านเซิน/陈曼生” กับ “หยางเผิงเหนียน/杨彭年” ได้ร่วมมือกันทำ「ปั้นม่านเซิน/曼生壶」ออกมาหลากหลายรูปแบบ ต่อมาปรากฏปรมาจารย์แห่งยุคหลังจากเฉินหมิงเหยี่ยนก็คือ “ซ้าวต้าเสี่ยง/邵大亨” ที่ทำปั้นจื่อซาอันเป็นอัตลักษณ์

▲《สือเผียว》ผลิตโดยหยางเผิงเหนียน แกะสลักโดยเฉินม่านเซิน/《石瓢》杨彭年制 陈曼生铭 | กู้จิ่งโจวมีความคิดเห็นว่า ฝีมือการทำปั้นของหยางเผิงเหนียนจัดอยู่ในระดับทั่วๆไป เพียงแต่ “ปั้นม่านซิน” เข้าทำนอง “ปั้นแพงเพราะชื่อ ชื่อสืบทอดตามปั้น/壶随字贵 字依壶传” 

▲《ตัวฉิว》ผลิตโดยซ้าวต้าเสี่ยง/《掇球》邵大亨制

        ยุคปลายชิงต้นสาธารณรัฐ บุคคลที่โดดเด่นหลังจากซ้าวต้าเสี่ยงก็คือ “หวางยี่หลิน/黄玉麟” ซึ่งเชี่ยวชาญในการทำปั้นทรงกลม ไม่ว่าโครงสร้าง ลวดลาย การแกะสลักล้วนคมชัด มีเอกลักษณ์ตามแบบซ้าวต้าเสี่ยงแต่ไม่มีจริตจะก้านเหมือนแบบซ้าวต้าเสี่ยง

▲《ปลาแปลงร่างเป็นมังกร》ผลิตโดยหวางยี่หลิน/《鱼化龙》黄玉麟制  

        ตั้งแต่ประเทศจีนใหม่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 อุตสาหกรรมปั้นจื่อซาก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ในปี 1955 ศิลปินอาวุโสกลุ่มหนึ่งประกอบด้วย เหริ้นก้านถิง(任淦庭) หูหยิ๋นเกิง(吴云根) ไผสือหมิน(裴石民) หวังหยินชุน(王寅春) จูเข่อซิน(朱可心) กู้จิ่งโจว(顾景州) เจียงหยง(蒋蓉) เป็นต้นได้ร่วมกันก่อตั้ง “โรงงานหัตถกรรมจื่อซาหยีซิงมณฑลเจียงซู/江苏省宜兴紫砂工艺厂” (มีชื่อย่อว่า “โรงเก่า 1/老一厂”) เป็นการเริ่มต้นในการฝึกอบรมศิลปินปั้นจื่อซารุ่นใหม่และเป็นการสืบทอดศิลปะหัตถกรรมเครื่องดินเผาจื่อซาให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไป

▲ศิลปินอาวุโสเจ็ดผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการจื่อซา/紫砂七大老艺人 | (จากซ้ายไปขวา) หูหยิ๋นเกิง(吴云根) ; กู่จิ่งโจว(顾景州) ; เหริ้นก้านถิง(任淦庭) ; ไผสือหมิน(裴石民) ; หวังหยินชุน(王寅春) ; จูเข่อซิน(朱可心) ; เจียงหยง(蒋蓉)

        วัฒนธรรมจิตวิญญาณและวัฒนธรรมวัตถุของสังคมมนุษย์ไม่หยุดที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตลอดเวลา สิ่งเก่าๆย่อมถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ๆ รสนิยมความงามของรูปแบบศิลปกรรมก็ทำนองเดียวกัน ผู้คนในแต่ละยุคสมัยก็มีความต้องการต่อภาชนะเครื่องใช้แตกต่างกัน สอดคล้องกับมุมมองทางสุนทรียภาพที่สะท้อนออกมาแตกต่างกัน 


    
             
           
เอกสารอ้างอิง :
1. 明代紫砂演变史 : https://www.taohuren.com/article-3115.html
2. 紫砂壶的发展历程 : http://www.chavv.com/mobile/article.php?id=6234
3. 紫砂壶的历史发展过程 : https://m.51pot.com/?module=m_knowledge_detail&id=534