วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เครื่องเคลือบเขียนสีเมืองจีน (ตอนที่1)



        วิวัฒนาการเคลือบและการเขียนสีของเครื่องเคลือบดินเผายุคโบราณของเมืองจีน คือจากไม่มีการเคลือบถึงมีการเคลือบ แล้วจากการเคลือบโมโนโครมถึงการเคลือบมัลติคัลเลอร์ ต่อจากนั้นก็จาก “สีใต้เคลือบ” ถึง “สีบนเคลือบ

东汉·越窑青瓷罐 ไหศิลาดลเคลือบสีเดียวของเตาเผาเย่วยุคสมัยฮั่นตะวันออก (ปี25-220)

        เครื่องเคลือบเขียนสี (彩瓷) มีประวัติความเป็นมายาวนาน ในยุคสมัยจิ้นตะวันออก (东晋) ได้ปรากฏเครื่องศิลาดลจำนวนมากที่ตกแต่งโดยการแต้มสีน้ำตาล มาถึงเครื่องเคลือบขาวเขียนสีเขียว ที่ขุดพบในสุสานฟ่านชุ่ย (范粹墓) ที่ฝังเมื่อปี575ในราชวงศ์ฉี () ยุคสมัยเหนือใต้ (南北朝) แต่เครื่องเคลือบที่ตกต่างโดยการเขียนสีอย่างชำนาญการที่แท้จริงนั้น คือเริ่มจากเตาเผาฉางซา (长沙窑) ยุคสมัยถังได้ประดิษฐ์เครื่องเคลือบเขียนสีน้ำตาลเขียวออกมา

东晋·越窑系青釉褐斑四系壶 คนโทศิลาดล4หูแต้มสีน้ำตาลของเตาเผาเย่วยุคสมัยจิ้นตะวันออก (ปี317-420)

北朝的 “白瓷” เครื่องเคลือบขาวเขียนสีเขียว ที่ขุดพบในสุสานฟ่านชุ่ยที่ฝังเมื่อปี575ในราชวงศ์ฉียุคสมัยเหนือใต้ (ปี420-589)

      【เครื่องเคลือบเขียนสีน้ำตาลเขียว】 (褐绿彩)

        เป็นไปตามชื่อที่บอกเป็นนัย เป็นภาพวาดที่ระบายด้วยสีน้ำตาลและเขียว เตาเผาฉางซายุคสมัยถังสามารถทำการเผาประดิษฐ์เครื่องเคลือบเขียนสองสีออกมา ถือเป็นประดิษฐกรรมใหม่ แม้ว่าล่าสุดได้ขุดค้นพบเครื่องศิลาดลเขียนสีน้ำตาลยุคสามก๊ก แต่วงการนักวิชาการก็ยังยอมรับว่าเครื่องเคลือบเขียนสีน้ำตาลเขียวของเตาเผาฉางซาเป็นต้นตระกูลของเครื่องเคลือบเขียนสี

三国东吴·青釉褐彩羽化升仙图盖罐 คนโทฝาปิดศิลาดลเขียนสีน้ำตาลยุคง่อก๊กตะวันออกในสามก๊ก (ปี222-280)

唐代·长沙窑青釉点褐绿彩双系执壶 คนโทหูคู่ศิลาดลเขียนสีน้ำตาลเขียวของเตาเผาฉางซายุคสมัยถัง (ปี618-907) [ดั้งเดิมโดยการสังเกตด้วยสายตาและประสบการณ์เชื่อว่าเป็นการเขียนสีแบบ “สีใต้เคลือบ” แต่หลังจากวิทยาการก้าวหน้าโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า การเขียนสีลักษณะแบบนี้น่าจะเป็น “สีบนเคลือบ” เผาที่อุณหภูมิสูง]

        ทำไมเครื่องเคลือบเขียนสีน้ำตาลเขียวของเตาเผาฉางซาถึงไม่มีการบันทึกลงในหนังสือโบราณเล่า ตราบจนได้ขุดค้นพบซากเตาเผาถงกวน (铜官窑) ที่เมืองฉางซา-หูหนานในปี1956 เครื่องเคลือบเขียนสีชนิดแรกที่มีการบันทึกลงในหนังสือโบราณ คือเครื่องเคลือบขาวเขียนสีดำของเตาเผาฉือโจว (磁州窑) ยุคสมัยซ่ง

长沙铜官窑博物馆 พิพิธภัณฑสถานเตาเผาถงกวนฉางซา พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 9:08 น.วันที่ 15 พ.ค.2018 เป็นที่จัดแสดงประวัติศาสตร์การพัฒนาทางศิลปวัฒนธรรมเครื่องเคลือบดินเผาของเตาเผาถงกวนฉางซาเป็นการเฉพาะ เก็บรักษาโบราณวัตถุอายุกว่า1200ปีของยุคสมัยถังมากกว่าแสนชิ้น ที่ขุดค้นพบทางโบราณคดีซากเตาเผาฉางซาในปี1956 รวมทั้งโบราณวัตถุที่งมขึ้นมาจากซากเรืออัปปาง「Batu Hitam」จำนวน162ชิ้นที่ซื้อมาเมื่อเดือน ธ.ค.2017

▲「黑石号」ปี825 เรือสำเภาพาณิชย์ของอาหรับชื่อ「Batu Hitam」ที่บรรทุกสินค้าเมืองจีนยุคสมัยถังเต็มลำเรือ ได้อัปปางบริเวณพื้นที่ทะเลใกล้เกาะเบลีตุง (Belitung) ทางด้านตะวันออกของหมู่เกาะชวา จมอยู่ใต้ทะเลเป็นเวลากว่า1000ปี จนถึงปี1998 บริษัทโบราณคดีใต้ทะเลเยอรมันได้ทำการขุดค้นซากเรือ พบสินค้าเมืองจีนกว่า 67,000 ชิ้น ในนี้เป็นเครื่องเคลือบของเตาเผาฉางซา 57,500 ชิ้น แสดงให้เห็น “Made in China” เมื่อกว่า1000ปีที่แล้วบนเส้นทางสายไหมทางทะเล และยืนยันสถานะของเตาเผาฉางซาเป็น “เตาเผาเพื่อการส่งออก” และ “โรงงานของโลก” และก็เป็นการพิสูจน์ประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของเตาเผาฉางซา

      【เครื่องเคลือบขาวเขียนสีดำ】 (白釉黑彩)

        เครื่องเคลือบยุคสมัยซ่งซึ่งเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก นอกจาก5เตาเผาอันโด่งดัง หรู่() กวน() เกอ() ติ้ง() จิน() แล้วยังมี หลงเฉวียน(龙泉) ย้าวโจว(耀州) เจี้ยนหยาง(建阳) เป็นต้น ต่างเป็นเตาเผาที่ได้เปล่งรัศมีในช่วงเวลาหนึ่ง ล้วนทำสีเคลือบออกเป็นโมโนโครม การสร้างประเด็นทางสีบนผิวเคลือบ ก็มีเพียงเตาเผาฉือโจวที่ดำเนินการเขียนสีดำบนเครื่องเคลือบขาว เขียนสีตั้งแต่ยุคซ่งเหนือตราบจนถึงทุกวันนี้ ราวกับมีพลังขับเคลื่อนอย่าง “แม้นต้องผจัญกับเตาเผาเป็นพันเป็นหมื่น ข้าก็ขอลุยเดี่ยวอย่างองอาจทรนง

磁州窯白地黑花菊紋帶蓋梅瓶 แจกันฝาปิดเคลือบขาวเขียนดอกเก๊กฮวยดำของเตาเผาฉือโจว  RMB10,235,000

        เตาเผาฉือโจวตั้งอยู่ในเมืองหานตาน-เหอเป่ย (河北邯郸) มีชื่อเสียงขึ้นมาพร้อมๆกันกับจิ่งเต๋อเจิ้น เครื่องเคลือบขาวเขียนสีดำเป็นการใช้พู่กันจีนจุ่มในสีดำแล้วเขียนสีบนผิวดินที่ผ่านการเผาดิบแล้วชุบด้วยดินขาวอีกชั้นหนึ่ง ต่อจากนั้นชุบน้ำเคลือบกระจกโปร่งใสทับชั้นหนึ่งจึงนำเข้าเตาเผาผลิตออกมา

北宋·磁州窯白地黑花龍鳳紋罐 โถเคลือบขาวเขียนลายหงส์มังกรดำของเตาเผาฉือโจวยุคซ่งเหนือ (ปี960-1127)

        เครื่องเคลือบขาวเขียนสีดำเป็นการแสวงหาผลลัพธ์ของภาพวาดพู่กันจีน ระดับสีดำของภาพวาดพู่กันจีนจะมีน้ำหนักเข้ม-อ่อน ทำนองว่าสีหมึกแบ่งออกเป็น5เฉดสี แต่ทว่าสีดำของเตาเผาฉือโจวไม่สามารถทำถึงระดับนี้ได้ แม้จะมีระดับคอนคราสต์สูง แต่ดูไม่เป็นธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาน้ำหนักเข้ม-อ่อนของสีก็คือเครื่องเคลือบลายครามที่มาทีหลัง

      【เครื่องเคลือบลายคราม】 (青花)

        มีคำบอกเล่าหนึ่งกล่าวว่า เครื่องเคลือบลายครามมีจุดกำเนิดจากเปอร์เซีย อดีตผู้คนเชื่อว่าเครื่องเคลือบลายครามปรากฏตัวในยุคสมัยหมิง แล้วสร้างปรากฏการณ์คลุ้มคลั่งเครื่องเคลือบลายครามเมืองจีนไปครึ่งค่อนโลก ความเป็นจริง เครื่องเคลือบลายครามยุคแรกสุดที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบันคือเป็นของยุคสมัยถัง แล้วในยุคสมัยหยวน ช่างฝีมือเขียนสีขาวดำใต้เคลือบกลุ่มใหญ่จากเตาเผาฉือโจว ยังมีช่าง10หมู่จากเตาเผาจี๋โจว (吉州) ต่างทยอยกันไปสวามิภักดิ์ต่อจิ่งเต๋อเจิ้น ช่วงเวลานั้นในเมื่อเตาเผาพื้นเมืองมีเทคโนโลยีพร้อม วัตถุดิบพร้อม จึงไม่แปลกที่ทำเครื่องเคลือบลายครามออกมาได้ เพียงแต่ว่าในระยะเริ่มต้นเครื่องเคลือบลายครามเป็นเพียงชนิดหนึ่งในเครื่องเคลือบเขียนสีที่มีอยู่อย่างหลากหลาย จึงไม่เป็นที่ดึงดูดความสนใจของมวลชน

▲「黑石号沉船上打捞起的唐青花瓷器 เครื่องเคลือบลายครามยุคสมัยถังที่งมขึ้นมาจากซากเรืออัปปาง「Batu Hitam」

        เครื่องเคลือบลายครามพัฒนาการขึ้นในพื้นบ้าน ดังระเบิลในต่างประเทศ ราชสำนักก็เพียงจัดเก็บภาษีเท่านั้น แต่ไม่ใช้ของที่ “สามัญ” เหล่านี้ และก็ไม่ทำการบันทึกใดๆเฉกเช่นเดียวกับเตาเผาฉางซา

元代·青花萧何月下追韩信梅瓶 แจกันลายครามเซียวเหอไล่จับหานซิ่นใต้แสงจันทร์ยุคสมัยหยวน (ปี1279-1368) ประมูลเมื่อปี2011 HKD840,000,000 เป็นราคาสูงที่สุดในบรรดาเครื่องเคลือบที่มีการประมูลกันมา

        เครื่องเคลือบลายครามได้เข้าสู่พระราชวังคือเริ่มจากยุคราชวงศ์หมิง อธิบายอย่างง่ายๆก็คือ จูหยวนจาง (朱元璋 : ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิงปี1368-1398) พื้นเพเดิมเป็นสามัญชน ได้นำเครื่องเคลือบลายครามของชนชั้นล่างเข้าไปในสังคมชั้นสูง และมีการตั้งเตาหลวงขึ้นในจิ่งเต๋อเจิ้น หลังระยะการเปลี่ยนผ่านจากต้นรัชศกหงหวู่ เมื่อถึงรัชศกหย่งเล่อ เซวียนเต๋อ เฉินฮั่ว นับเป็นช่วงเวลาที่เครื่องเคลือบเขียนสียุคสมัยหมิงเจริญรุ่งเรื่องมากที่สุด

明宣德·猴子摘桃青花盘 จานลายครามลิงเด็ดลูกท้อสมัยจักรพรรดิเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิง (ปี1426-1435) ใช้ “Mohammedan Blue” (苏麻离青) เป็นรงควัตถุสีน้ำเงิน ให้สีเข้มสดใสสว่าง และเกิดลักษณะ “แผ่ซ่าน” (晕散) และ “ผลึกสนิมเหล็ก” (铁锈斑)

晕散和铁锈斑 ภาพขยายลักษณะ “แผ่ซ่าน” และ “ผลึกสนิมเหล็ก” ของลายคราม

        สามปัจจัยหลักของเครื่องเคลือบลายคราม คือ สีคราม สีใต้เคลือบ อุณหภูมิสูง

        สีครามที่มีโคบอลท์ออกไซด์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เมื่อผ่านอุณหภูมิสูงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เมื่อยังไม่ผ่านการเผาจะออกสีเทาดำ เริ่มต้นเป็นการวาดลายเส้น แล้วทำการระบายสีที่มีน้ำหนักเข้ม-อ่อนแตกต่างกันไป เมื่อขั้นตอนการเขียนสีเสร็จ ต่อจากนั้นก็ขึ้นน้ำเคลือบ โดยน้ำเคลือบปกคลุมอยู่บนภาพวาด นี่ก็คือปัจจัยหลักที่2ของเครื่องเคลือบลายคราม—สีใต้เคลือบ เครื่องเคลือบลายครามจะต้องเผาที่อุณหภูมิ1300°Cขึ้นไป จึงจะได้สีน้ำเงินปรากฏออกมาตามที่ต้องการ นี่ก็คือปัจจัยหลักที่3ของเครื่องเคลือบลายคราม—อุณหภูมิสูง

▲ปัจจัยหลักที่1--สีคราม ดูคล้ายน้ำหมึกออกเทาดำ พู่กันเรียวเล็กวาดลายเส้น พู่กันใหญ่ทำการระบายสีให้มีน้ำหนักเข้ม-อ่อน

▲ปัจจัยหลักที่2—สีใต้เคลือบ (ซ้าย) วาดลายเส้น (ขวา) ระบายสีน้ำหนักเข้ม-อ่อนแตกต่างกันไป

▲ปัจจัยหลักที่3—อุณหภูมิสูง 1300°Cขึ้นไป ปรากฏสีน้ำเงินลายคราม (ซ้าย) วิธีการเขียนลายครามโดยการวาดรูปภาพเป็นตัวหลัก (ขวา) วิธีการเขียนลายครามโดยการระบายฉากหลังเว้นพื้นที่ขาวเป็นรูปภาพ

      【เครื่องเคลือบเขียนสีแดงเขียว】 (红绿彩)

        เครื่องเคลือบเขียนสีแดงเขียวเป็นนวัตกรรมทางศิลปกรรมการตกแต่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในกลางยุคสมัยจิน (金朝) กำเนิดขึ้นจากเตาเผาชาวบ้านทางภาคเหนือที่อยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์จิน แล้วถ่ายทอดสู่จิ่งเต๋อเจิ้นในยุคสมัยหยวน ก่อนที่จะมีการศึกษาวิจัยเพื่อจำแนกเครื่องคลือบยุคซ่งเหนือกับยุคจิน นักวิชาการยุคก่อนจะเรียกขานเครื่องเคลือบชนิดนี้ว่า “ซ่งเจียไฉ่” (宋加彩 : การเติมสีแบบซ่ง)

金代·红绿彩瓶 เครื่องเคลือบเขียนสีแดงเขียวยุคสมัยจิน (ปี1122-1234)   สีหลักๆคือ แดง เขียว เหลือง เขียนสีลงบนเคลือบขาว แต่ละสีต่างก็มีน้ำหนักเข้ม-อ่อนแตกต่างกันไป ใช้เหล็กออกไซด์เป็นรงควัตถุสีแดง

        “เจียไฉ่” เป็นสองคำเชิงมโนภาพ คือสีที่เพิ่มเติมเข้าไปในภายหลัง ก็คือทำการเผาเครื่องเคลือบขาวก่อน หลังจากนั้นทำการเขียนสีลงบนผิวเคลือบ แล้วนำไปเผาอบที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อให้สีซึมเข้าไปในเคลือบ เครื่องเคลือบเขียนสีแดงเขียวยุคจินถือเป็นเครื่องเคลือบเขียนสีบนเคลือบชนิดแรกในประวัติศาสตร์ ส่วนเครื่องเคลือบเขียนสีหลายชนิดที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเขียนสีบนเนื้อดิน ต่อจากนั้นจึงขึ้นน้ำเคลือบใสแล้วนำไปเผา เรียกขานกันว่า สีใต้เคลือบ

        ยุคราชวงศ์หยวนได้ก่อตั้งสำนักเครื่องเคลือบฝูเหลียง (浮梁瓷局) เพื่อกำกับดูแลเตาหลวงที่จิ่งเต๋อเจิ้น เครื่องเคลือบเขียนสีแดงเขียวของจิ่งเต๋อเจิ้นบนพื้นฐานที่พัฒนาต่อเนื่องจากเครื่องเคลือบเขียนสีแดงเขียวของยุคก่อน เมื่อเพียบพร้อมด้วยความคิดสร้างสรรค์ และเป็นตัวเชื่อมเทคโนโลยียุคก่อนกับยุคที่จะตามมา มีผลสืบเนื่องก่อเกิดเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อวิวัฒนาการเข้าสู่เครื่องเคลือบอู๋ไฉ่ (五彩 : เขียนสี5สี) ของจิ่งเต๋อเจิ้นในยุคสมัยหมิงและชิง

元代·红绿彩凤凰葡萄纹梅瓶 แจกันเขียนสีแดงเขียวลายนกฟินิกซ์องุ่นของจิ่งเต๋อเจิ้นยุคสมัยหยวน ถือเป็นผลิตภัณฑ์อนุพันธ์ของ “อู๋ไฉ่” ก็เรียกขานกันว่า “อู๋ไฉ่ต้นยุคจิ่งเต๋อเจิ้น”

      【เครื่องเคลือบลายไฟ】 (釉里红)

        เครื่องเคลือบลายไฟถือเป็นประดิษฐกรรมของจิ่งเต๋อเจิ้นในยุคสมัยหยวน ลักษณะพิเศษของลายไฟคือ “แผ่ซ่าน” เริ่มต้นการเผาประดิษฐ์ในช่วงเดียวกันกับเครื่องเคลือบลายคราม เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตได้ดีพอ สีลายไฟที่เผาออกมาจะปรากฏไปทางเทาแดงหรือดำแดง ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏสีแดงสดออกมาให้เห็น สุกงอมในยุคสมัยหมิง เจิดจ้าในยุคสมัยชิง

元代·釉里红云龙纹大口梅瓶 แจกันลายไฟมังกรเมฆยุคสมัยหยวน ประมูลเมื่อปี2013 HKD149,500,000

        ลายไฟชนิดนี้คือสีแดงใต้เคลือบที่ใช้คอปเปอร์เป็นรงควัตถุสี เผาภายใต้บรรยากาศแบบรีดักชั่น จะต้องควบคุมอุณหภูมิในเตาเผาที่1300°Cอย่างคงที่บวกลบ10°C เพราะถ้าความร้อนสูงเกินไป สีจะซีดจางหายไป ความร้อนต่ำเกินไป สีจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ยุคสมัยก่อนเผาด้วยเตาฟืน ไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิ อาศัยสายตาของช่างเผาโดยการสังเกตเปลวไฟ เป็นงานที่ยากลำบากมาก อัตราการสูญเสียจึงสูงมาก นี่ก็คือเหตุผลที่ทำไมเครื่องเคลือบลายไฟยุคโบราณมีจำนวนน้อยมากหลงเหลืออยู่ให้เห็นได้ในปัจจุบัน

瓷中瑰宝—釉里红 อัญมณีแห่งครื่องเคลือบ—ลายไฟ

      【เครื่องเคลือบลายครามไฟ】 (青花釉里红)

        การเผาประดิษฐ์เครื่องเคลือบลายไฟว่ายากมากแล้ว ยังมีที่ยากกว่า นั่นก็คือเครื่องเคลือบลายครามไฟ ลายครามคือน้ำเงินโคบอลท์ ลายไฟคือแดงคอปเปอร์ สองสิ่งนี้ต่างต้องการอุณหภูมิและบรรยากาศในเตาเผาไม่เหมือนกัน เมื่อนำสีใต้เคลือบสองชนิดนี้มาเผาบนภาชนะเดียวกัน ต้องควบคุมไฟกองเดียวกันที่สร้างความพึงพอใจต่อความต้องการของสองสีนี้ เป็นการอาศัยโชคสถานเดียว เครื่องเคลือบลายครามไฟยุคโบราณที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน ความเป็นจริงเบื้องหลังของงานทุกชิ้นล้วนอยู่บนซากของเสียที่กองเป็นภูเขาเลากา ดังนั้น ในวงการโบราณวัตถุมีคำพังเพยว่า : ลายครามอุ้มไฟ ประเมินค่ามิได้

清乾隆·青花釉里红海水云龙纹抱月瓶 ขวดกลมลายครามไฟมังกรเมฆน้ำทะเลยุคจักรพรรดิเฉียนหลง

      【เครื่องเคลือบเขียนสีแดง】 (矾红彩)

        เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเครื่องเครื่องเคลือบขาวเขียนสีแดง (白釉红彩) มีทั้งแบบสีใต้เคลือบและสีบนเคลือบ ใช้เหล็กออกไซด์เป็นรงควัตถุสีแดง เนื่องจากใช้เฟอร์รัสซัลเฟตเป็นวัตถุดิบ จึงเรียกว่าแดงเกลือซัลเฟตของเหล็ก (矾红) สีแดงจากเหล็กเมื่อเปรียบเทียบกับสีแดงจากทองแดงแล้ว การเผาประดิษฐ์จะง่ายกว่ามาก สีแดงจากเหล็กไม่มีลักษณะ “แผ่ซ่าน” เนื้อสีบางเบาคล้ายสีอิฐ แบบลักษณ์ไม่เหมือนสีแดงจากทองแดง มีความรู้สึกไม่หนักแน่นฉูดฉาดดั่งลายไฟ

清雍正·矾红彩云龙纹盘 จานเขียนสีแดงมังกรเมฆยุคจักรพรรดิยุงเจิ้น

        พัฒนาการของการเขียนสีแดงจะตามหลังการเขียนลายไฟอย่างกระชั้นชิดมาตลอด ลักษณะภาพวาดใกล้เคียงกัน และก็นำมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับลายคราม แล้วแอบอ้างว่าเป็นลายไฟมาตลอด พ่อค้าในยุคสมัยหมิงและชิงนำเครื่องเคลือบเขียนสีแดงมาขายเป็นเครื่องเคลือบลายไฟ แล้วก็การหลอกหลวงเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

清乾隆·青花矾红彩云龙戏珠纹长颈瓶 แจกันคอยาวลายครามแดงมังกรเมฆยุคจักรพรรดิเฉียนหลง

        เครื่องเคลือบลายครามและอู๋ไฉ่ของราชวงศ์หมิง ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์เครื่องเคลือบ เครื่องเคลือบเขียนสีต่างๆนานาของที่ผ่านมา เพียงแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ราชสำนักและสังคมชั้นสูงยังใช้เครื่องเคลือบโมโนโครม ในสายตาของพวกเขา เครื่องเคลือบสีเขียวอ่อนที่ละเอียดประณีตจึงถือเป็นของดีของเด่น เครื่องเคลือบเขียนสีเป็นของนอกสายตาไม่ได้อยู่ในสารบบ เมื่อสามัญชนได้ป่าวร้องให้ก้องโลก บุกทะลุทะลวงได้เข้าไปในพระราชวัง รัชศกหงหวู่เตาหลวงในจิ่งเต๋อเจิ้นได้ทำการเผาผลิตเครื่องเคลือบลายครามให้วัดหลวง (太庙) นี่เป็นครั้งแรกที่เครื่องเคลือบเขียนสีได้เข้าไปในระบบพระราชพิธี

        ต่อมา จอกลายครามจับถนัดมือของจักรพรรดิหย่งเล่อ ถ้วยลายครามอู๋ไฉ่ลายเป็ดหงส์ของจักรพรรดิเซวียนเต๋อ เป็นสัญญาณที่บ่งชี้เครื่องเคลือบเขียนสีได้เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของสังคมชั้นสูง ตราบจนถึงสมัยชิง การเขียนสีได้เข้ามาแทนที่การเคลือบสีเดียว กลายเป็นกระแสหลักของเครื่องเคลือบ

明永乐·青花压手杯 จอกลายครามจับถนัดมือของจักรพรรดิหย่งเล่อราชวงศ์หมิง (ปี1403-1424)

明宣德·青花五彩莲池鸳鸯碗 ถ้วยลายครามอู๋ไฉ่เป็ดหงส์สมัยจักรพรรดิเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิง (ปี1426-1435)


เอกสารอ้างอิง :
1. 瓷器有七种彩,可别再只认得青花瓷了http://daily.zhihu.com/story/8963560
2. 窑望千年 盛世归来 | 长沙铜官窑博物馆开馆!https://www.sohu.com/a/231558679_390714  
3. 青花瓷的三个要素https://zhuanlan.zhihu.com/p/21640192

-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

[หมายเหตุ] : การตกแต่งเครื่องเคลือบโดยการเขียนสี จาก “สีใต้เคลือบ” พัฒนาการไปถึง “สีบนเคลือบ” ต้นยุคราชวงศ์ชิงเป็นยุคที่เครื่องเคลือบเขียนสีพัฒนาถึงจุดสุดยอด ไม่ว่าเทคโนโลยีการทำเลียนแบบเครื่องเคลือบเขียนสีใต้เคลือบที่ล้ำยุคกว่าของยุคสมัยหยวนและหมิง แล้วยังสร้างประดิษฐกรรมการเขียนสีบนเคลือบแบบ อู๋ไฉ่ (五彩) โต๋วไฉ่ (斗彩) ฝ้าหลางไฉ่ (珐琅彩) เฝินไฉ่ (粉彩) เป็นต้น สร้างสรรค์ผลงานที่มีแบบลักษณ์ สุนทรียศิลป์ เป็นที่โจษขานจนถึงทุกวันนี้ !
        สนใจการเขียนสีบนเคลือบแบบ อู๋ไฉ่ โต๋วไฉ่ ฝ้าหลางไฉ่ เฝินไฉ่ โปรดติดตาม 《เครื่องเคลือบเขียนสีเมืองจีน (ตอนที่2)》 ซึ่งจะนำเสนอตามลำดับต่อไปในเฟซเพจนี้ !!