วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ต้นทุนของชาแดงหนึ่งถ้วย | ตอนที่ 3/4



     ▌การสำรวจต้นชาของคณะกรรมการชาอินเดีย

        เริ่มจากปี 1815 มีข่าวลือที่บอกว่าได้ค้นพบต้นชาที่นั้นที่นี้ ส่วนใหญ่ถูกพิสูจน์แล้วเป็นข่าวปลอม แต่ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ข่าวลือการค้นพบต้นชาในอินเดียได้สั่นสะเทือนวงการไปจนถึงกรุงลอนดอน จึงมีผู้คนจำนวนมากกล่าวขึ้นมาว่า ทำไมพวกเราถึงไม่ผลิตชาด้วยตัวเราเอง?

        บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้สิทธิผูกขาดการค้าใบชา จึงไม่หวังให้เจ้าอื่นทำไร่ชาที่อินเดีย แล้วเป็นคู่แข่งทางการค้ากับตน แต่แล้วในปี 1813 รัฐสภาอังกฤษได้ตราบัญญัติ ให้รัฐบาลอังกฤษสามารถแทรกแซงกิจกรรมทางธุรกิจและการจัดการปกครองอาณานิคม และยกเลิกอำนาจสิทธิขาดในอินเดียของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ รวมทั้งให้สิทธิผูกขาดการค้ากับเมืองจีนต่อเนื่องจนถึงแค่ปี 1833 เท่านั้น เรื่องเหล่านี้ทำให้บริษัทฯรู้สึกวิตก กังวลตนเองจะไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ทางใบชาได้สืบต่อไป 

▲การค้าชาแดงที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ

        ในปี 1833 ลอร์ด วิลเลี่ยม เบนติงก์ (Lord William Bentinck,1791-1839) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียได้ก่อตั้ง “คณะกรรมการชาอินเดีย (Indian Tea Committee, ITC)” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อินเดีย โดยรับผิดชอบทำการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าพันธุ์ชาทั้งต้นกล้าและเมล็ดจากเมืองจีน ค้นหาและคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมปลูกต้นชาในบริติชอินเดีย แล้วริเริ่มทำการเพาะปลูกเชิงการทดลอง

        ในปี 1834 ภารกิจเร่งด่วนของ ITC คือมอบหมายให้ จอร์จ เจมส์ กอร์ดอน (George James Gordon) ซึ่งเป็นเรขานุการของ ITC เดินทางพร้อมคณะไปเมืองจีน เพื่อทำการศึกษาวิธีการเพาะปลูกต้นชาและการผลิตใบชา พร้อมให้ทำการรับซื้อเมล็ดพันธุ์ชา และว่าจ้างคนงานทำชาชาวจีนมายังอินเดีย งบประมาณขั้นต้นสำหรับการสำรวจครั้งนี้ตั้งไว้ที่ 2-2.5 หมื่นปอนด์สเตอลิง

        ในเดือน มิ.ย. 1834 คณะกอร์ดอนเริ่มเดินทางออกจากกัลกัตตา เดือน ก.ค. มาถึงมาเก๊าเพื่อสมทบกับมิชชันนารีที่คล่องภาษาจีนและฮกเกี้ยน ในนี้ได้รับเมล็ดพันธุ์ชาหวู่หยีซานจำนวนหนึ่ง ในเดือน พ.ย. 1834 คณะกอร์ดอนตัดสินใจขึ้นฝั่งที่ตำบลสุ่ยเถาเมืองเฉวียนโจวมณฑลฝูเจี้ยน เพราะอยู่ใกล้อำเภออันซีซึ่งเป็นแหล่งผลิตชาขนาดใหญ่ 

▲อันซี/安溪 เป็นอำเภอหนึ่งของเมืองเฉวียนโจวในมณฑลฝูเจี้ยน ถือเป็นถิ่นกำเนิดของชาวูหลงเถี่ยกวนยิน ค้นพบเมื่อปี 1723-1735 ที่ตำบลซีผิง/西坪

        ในภารกิจครั้งนี้ กอร์ดอนโชคดีที่เจอพ่อค้าขายเมล็ดพันธุ์ชาหวู่หยีซาน แต่ทว่าการได้เข้าไปเยี่ยมชมเขตพื้นที่ผลิตชาหวู่หยีซานกลับเป็นสิ่งที่เขามุ่งหวัง เหตุผลที่เลือกสำรวจเขตพื้นที่อันซีนั้น ทางกอร์ดอนเห็นว่าถึงแม้ทุกคนจะรู้สึกคุณภาพชาอันซีไม่ดี น่าจะเป็นเพราะวิธีการเพาะปลูกและการผลิตชาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับสายพันธุ์ชา เขาได้ไหว้วานคนอื่นช่วยซื้อเมล็ดพันธุ์ชาด้วยเงินหนึ่งพันเหรียญเงินสเปน

        เมื่อกอร์ดอนได้เสร็จสิ้นภารกิจครั้งนี้แล้ว แต่อีกฟากหนึ่ง ในปลายปี 1834 ITC ได้รับแจ้งยืนยันการค้นพบต้นชาพันธุ์ป่าที่รัฐอัสสัมแล้ว จึงคิดที่จะเรียกคณะกอร์ดอนกลับอินเดีย ทาง ITC คิดว่าถึงแม้จะได้ต้นชาจากเขตพื้นที่ชาที่ดีที่สุดของเมืองจีน เป็นไปได้คุณภาพจะแปรเปลี่ยนเนื่องจากการปลูกถ่ายในพื้นดินใหม่ แล้วทำไมต้องมาเสียเงินโดยใช่เหตุ?

        แต่ว่ากอร์ดอนยังไม่กลับอินเดีย ยังได้รับคำสั่งให้ดำเนินการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ชาต่อไป กอร์ดอนได้ใช้จ่ายเงิน 4 หมื่น 5 พันปอนด์(งบบานปลาย)เพื่อไหว้วานมิชชันนารีสองคนเข้าเขตพื้นที่ชาหวู่หยีซานไปสำรวจวิธีการเพาะปลูกต้นชาและกระบวนการผลิตใบชา 

        กอร์ดอนได้ถือโอกาสว่าจ้างอาจารย์ชาจากซื่อฉวนกลับอินเดียพร้อมกัน เพื่อไปฝึกอบรมการปลูกชาการทำชาให้แก่คนท้องถิ่น ดังนั้น เริ่มแรกวิธีการผลิตชาที่เผยแพร่ไปยังอินเดียมิใช่วิธีการของหวู่หยีซาน แต่เป็นวิธีการคั่วเขียวของชาเขียว

        เมล็ดพันธุ์ชาที่กอร์ดอนนำกลับมายังอินเดีย ได้เพาะเลี้ยงออกมาเป็นต้นกล้าชา 42000 ต้น ได้จัดแบ่งส่งไปยังเมืองมัทราส(Madras) อัสสัมและแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเขาหิมาลัย เป็นที่น่าเสียดาย พืชพรรณรุ่นนี้ได้ตายไปในกระบวนการขนส่งเป็นจำนวนมาก หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น อย่างเช่น เดิมจัดส่งไปที่อัสสัม 20000 ต้น สุดท้ายเหลือเพียง 8000 ต้น นี่ยังนับว่าดี ต้นชาที่มัทราสแทบจะตายหมดเกลี้ยง แต่ต้นกล้าชาเจริญเติบโตได้ดีที่เชิงตีนเขาหิมาลัย ดังนั้น บนพื้นฐานการทดลองครั้งนี้ ดาร์จีลิ่งซึ่งตั้งอยู่เชิงตีนเขาหิมาลัยถูกล๊อคให้เป็นพื้นที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นชาเมืองจีน 

 ▲คนงานใบชาของดาร์จีลิ่งต้นศตวรรษที่ 20

     ▌การหนีเตลิดเปิดเปิงของโจรอังกฤษ

        ในเดือน พ.ค. 1835 กอร์ดอนได้มุ่งหน้าไปสำรวจเมืองจีนอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้าย และเป็นครั้งที่น่าตื่นเต้นหวาดเสียวที่สุด ครั้งนี้เขาตั้งใจมุ่งตรงไปที่เขตพื้นที่ชาหวู่หยีซานฝูเจี้ยน  ได้เดินเรือเข้าทางปากแม่น้ำหมิ่นเจียงมุ่งสู่เมืองฝูโจว เนื่องจากแต่งกายตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษผิดแปลกจากชุดเสื้อผ้าคนจีน ทำให้เกิดจีนมุงตลอดทาง

        คณะกอร์ดอนถูกจับตาเป็นพิเศษจากทหารชิง ตอนที่หยุดพักการเดินทางแล้วขึ้นฝั่ง มีเจ้าพนักงานมามอบเอกสารสีแดง สอบถามพวกเขาเป็นคนชาติไหน ต้องการเดินทางไปที่ใด มีจุดประสงค์อะไร พวกเขาตอบอย่างซื่อว่าเป็นชาวอังกฤษ มาที่นี่เพื่อท่องเที่ยว อยากจะชมทิวทัศน์สองฝั่งของแม่น้ำหมิ่นเจียง และชื่นชมต้นชาอันเลื่องลือ ไม่มีจุดประสงค์อะไรเป็นพิเศษ มาท่องเที่ยวไม่กี่วันก็จะกลับ

        รุ่งขึ้นวันใหม่ คณะกอร์ดอนตัดสินใจมุ่งหน้าสู่สถานที่ถัดไป ทันใดนั้นมีเด็กเล็กคนหนึ่งวิ่งมายื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้พวกเขา เมื่อแปลข้อความแล้วมีความหมายว่า : “ข้างหน้ามีทหาร 9 พันนายรอพวกท่านอยู่ ถ้าหากผ่านไปได้ ก็ยังมีทหารอีกหมื่นกว่านาย” แต่คณะกอร์ดอนไม่ใส่ใจ ขึ้นเรือมุ่งมั่นมุ่งหน้าต่อไป 

        หลังผ่านไปประมาณ 15 นาที ทหารตรงฝั่งแม่น้ำข้างหน้าได้ยิงปืนขึ้นมา เห็นแต่เหล่าทหารชิงถือปืนคาบชุดยิงรัวๆ อีกด้านยังมีปืนใหญ่หลายกระบอก ยิงสนั่นหวั่นไหว จุดประสงค์ของทหารชิงเพื่อยับยั้งไม่ให้พวกเขามุ่งหน้าอีกต่อไป แต่ก็ยังยิงถูกเรือหลายนัด เมื่อพวกกอร์ดอนหันหัวเรือกลับ ทหารชิงก็หยุดยิง เป็นความโชคดีในความซวย คนบนเรือไม่มีใครเสียชีวิต มีเพียงสองคนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน พวกเขารู้สึกได้ทันทีว่า ถ้าหากยังเดินหน้าต่อไปอาจมีอันตรายถึงชีวิต จึงตัดสินใจย้อนกลับ เป็นอันจบการเดินทางที่จะไปหวู่หยีซานเพียงแค่นี้ 

▲ทิวทัศน์มุมหนึ่งของหวู่หยีซาน/武夷山 สภาพแวดล้อมอันสวยงามเช่นนี้ที่กอร์ดอนถูกทหารชิงยิงถล่มจนต้องหนีกระเจิดกระเจิง

        ภารกิจการสำรวจของ ITC ก็ต้องจบลงเพียงเท่านี้ ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามสักเพียงใด ก็ยากที่จะทะลุทะลวงฝ่าวงล้อมปิดกั้นของเมืองจีนได้ ฝ่าลึกเข้าไปในดินแดนผลิตชาเพื่อการสำรวจ อีกด้านหนึ่ง การค้นพบต้นชาพันธุ์ดั้งเดิมของอัสสัมก็ทำให้คนอังกฤษเกิดลังเลใจ ไม่สามารถตัดสินได้ว่าจะใช้ต้นชาพันธุ์ดั้งเดิมของอัสสัมดี หรือคิดหาวิธีซื้อเมล็ดพันธุ์ชาเมืองจีนต่อไป

        จากความทุ่มเททั้งกายใจของกอร์ดอน เมล็ดพันธุ์ชาที่นำกลับมาจากเมืองจีนส่วนใหญ่จะตายหมด นักพฤกษศาสตร์ช่วงเวลานั้นคิดว่า สภาพอากาศของฝูเจี้ยนและเขาหิมาลัยจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย สายพันธุ์ตันชาของฝูเจี้ยนคือ Thea Bohea คุณภาพไม่ดี หรืออาจเป็นเพราะจาการปลูกถ่ายล้มเหลว

        มีนักพฤกษศาสตร์ค่ายหนึ่งคิดว่าพรรณพืชที่นำมาผลิตเป็นชาดำคือ Thea Bohea ส่วนชาเขียวผลิตจากต้นชาเขียวสายพันธุ์ Thea Virdis --- Bohea คำนี้มาจากชื่อหวู่หยีซาน บ่งชี้ถึงต้นชาที่เจริญเติบโตในหวู่หยีซาน ; Virdis ซึ่งมีความหมายว่าสีเขียว ส่วนอีกค่ายหนึ่งเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นชาดำหรือชาเขียวล้วนมาจากพรรณพืชสายพันธุ์เดียวกัน ความแตกต่างทางสีและรสชาติก็เป็นเพราะกรรมวิธีการผลิตไม่เหมือนกัน

        เอาละ อันที่จริงก็ไม่ได้ตายเสียไปทั้งหมด สภาพการณ์ของต้นชาที่ปลูกถ่ายในพื้นที่บางแห่งยังถือว่าใช้ได้ ตราบจนสิ้นสุดที่ปลายเดือน ก.ค. 1845 แถบเขาหิมาลัยได้ทำการบุกเบิกถางพงเป็นพื้นที่ 76 เอเคอร์ เพาะปลูกต้นชา 94100 ต้น 

▲ภาพของไร่ชาแปลงทดลองเพาะปลูกต้นชาในอินเดียสมัยก่อน

    • ปี 1836 อาจารย์ชาชาวจีนจากซื่อฉวนได้ทดลองนำยอดอ่อนของต้นชาพันธุ์พื้นเมืองอัสสัมมาทำเป็นใบชาได้สำเร็จ แม้เป็นเพียงทดลองผลิตได้จำนวนน้อยไม่กี่ลัง แต่ก็เหมือนดาวจรัสแสงดวงหนึ่งในท้องฟ้าอันมืดมิดที่จุดประกายความหวังแก่คนอังกฤษ (เห็นบอกว่าเป็นใบชาที่มีรสกลิ่นควันและขมฝาดมาก แต่เนื่องจากคนอังกฤษดื่มชาชอบเติมนมและน้ำตาล ก็นับว่าพอกล้อมแกล้มไปได้)
        • ปี 1839 บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้รับใบชาผลิตในอินเดียจำนวน 480 ปอนด์หรือ 8 ลัง แล้วประมูลขายที่กรุงลอนดอน ทำให้วงการสั่นสะเทือน ผลสำเร็จของชิ้นงานนี้ทำให้คนอังกฤษเกิดความมั่นใจและคลั่งไคล้ นำไปสู่การนำเข้าพันธุ์ชาจากเมืองจีนมาดำเนินการทดลองอย่างต่อเนื่อง ชาอินเดียบนพื้นฐานของแรงขับเคลื่อนการปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ สามารถทำการปรับปรุงพันธุ์ต้นชาให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

 ▲“บริษัทใบชาอัสสัม/阿萨姆茶叶公司” เป็นไร่ชาที่ก่อตั้งครั้งแรกในอินเดียในปี 1839 หลังจาก 5 สัปดาห์ที่ใบชาผลิตในอินเดีย 8 ลังส่งไปถึงกรุงลอนดอน

        การปรับปรุงพันธุ์ต้นชาสำเร็จลุล่วงในอินเดียอย่างขนานใหญ่ที่แท้จริง จำเป็นต้องกล่าวถึง “จอมโจรใบชา/茶葉大盜(The Tea Thief)” ในตำนาน...โรเบิร์ต ฟอร์จูน (Robert Fortune,1812-1880)  

(มีต่อตอนที่ 4/4)

เอกสารอ้างอิง :