วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เครื่องเคลือบยุโรป

เครื่องเคลือบยุโรป—จากการเลียนแบบและจารกรรมถึงการขึ้นสู่บัลลังก์




        เมืองจีนโบราณ สิ่งที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักเมืองจีนและได้รับการเชิดชูบูชาอย่างมากนั้นไม่ใช่4สิ่งประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่ แต่เป็น2เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของโลก--ผ้าไหมและเครื่องเคลือบ

        เมืองจีนโบราณ เหมือนสาวที่มีจริตจะก้านอ่อนช้อยงดงาม สวมใส่ผ้าไหม มือถือเครื่องเคลือบ ได้แสดงเสน่ห์ทางศิลปะที่มีคุณภาพระดับสุดยอดและเงื่อนงำทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกเป็นนัยอย่างลึกซึ้งที่มีความเป็นมากว่าพันปีของเมืองจีนให้ชาวโลกได้รู้จัก กลิ่นซ่อนฟุ้งกระจาย น่าพิสมัยหลงใหล

        เครื่องเคลือบ ปรากฏเป็นตัวตนในยุคสมัยฮั่นตะวันออก(ปี25-225) แล้วรุ่งโรจน์เฟื่องฟูบน “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ในยุคสมัยถังและซ่ง เครื่องเคลือบอันงามวิจิตรประณีตจำนวนมากที่ส่งออกทางทะเลไปยังต่างประเทศ เครื่องเคลือบเหล่านี้ทำให้ตระกูลสูงศักดิ์ในยุโรปเกิดกระแสคลั่งไคล้ ยกย่องให้เป็น「ทองคำสีขาว」ห้วงเวลานั้นสำหรับคนยุโรป เครื่องเคลือบเมืองจีนก่อนอื่นเป็นเครื่องประดับประดาบ่งบอกฐานะมั่งคั่งและเป็นของหรูหราสื่อรสนิยมอันสูงล้ำ แล้วจึงเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาตระกูลสูงศักดิ์และผู้มีอำนาจในยุโรปไม่เพียงทุ่มเทเงินทองเพื่อแย่งซื้อเครื่องเคลือบเมืองจีน ยังทยอยกัน “เลียนแบบ” ผลิตภัณฑ์ของเมืองจีน ขณะเดียวกันได้ส่ง「สายลับเครื่องเคลือบ」เข้าไปในจิ่งเต๋อเจิ้นเมืองจีนเพื่อสืบความลับของวิธีการเผาผลิตเครื่องเคลือบ หลังผ่านการสืบเสาะซึมซับและศึกษาวิจัยเป็นเวลากว่า300ปี สุดท้ายเทคโนโลยีการผลิตเครื่องเคลือบก็อยู่ในมือของคนยุโรป เป็นสัมฤทธิ์ผลที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามมากมาย ทิ้งเมืองจีนที่เคยเป็นอาจารย์ตามอยู่ข้างหลัง

▲“เส้นทางสายไหมทางทะเล” ริเริ่มเมื่อกลางยุคสมัยถัง เป็นเส้นทางหลักทางทะเลในการติดต่อกับต่างประเทศกลางยุคกลาง(ศตวรรษที่5-15) เนื่องจากเครื่องเคลือบมีคุณลักษณะไม่เหมือนผ้าไหม หนักและแตกง่าย ไม่เหมาะที่ขนส่งทางบก จึงเลือกใช้ทางทะเล จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เส้นทางเครื่องเคลือบ” (The China Road)

▲ภาพสีน้ำมัน《The Feast of The Gods》ของจิตรกรชาวอิตาลี Giovanni Bellini (1427-1516) เป็นงานสร้างสรรค์ชิ้นสุดท้ายที่วาดเมื่อปี1514 : ชามลายครามบนมือของเทพเจ้าในภาพ แสดงให้เห็นถึงเครื่องเคลือบเมืองจีนเป็นที่นับถือบูชาในสังคมชั้นสูงของยุโรป

▲ห้องพอร์ซเลนอันอลังการของพระราชาลอตเตนเบิร์ก เยอรมัน

       「china」เป็นคำภาษาอังกฤษที่หมายถึงเครื่องเคลือบ ตาม 《The English-Chinese Word Ocean Dictionary》 อธิบายว่า「china」มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย「chini」ซึ่งภายหลังเกิดการออกเสียงเพี้ยนไปกลายเป็นคำที่เป็นชื่อเฉพาะของเครื่องเคลือบ เริ่มต้นคนยุโรปเรียกเครื่องเคลือบว่า「chinaware
        ทุกวันนี้ในภาษาอังกฤษมีศัพท์อยู่2คำที่หมายถึงเครื่องเคลือบ ซึ่งอีกคำคือ「Porcelain」นำมาบ่งชี้ถึงผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาระดับบนโดยเฉพาะ ส่วน「china」ซึ่งเคยเป็นของหายากจาการนำเข้า ถูกลดเกรดไปเป็นคำที่ใช้แทนภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันราคาถูก

        การประดิษฐ์เครื่องเคลือบเป็นงานหัตถกรรมหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองจีน 1600ปีก่อนคริสต์ศักราชในยุคสมัยซาง () ก็ปรากฏเครื่องเคลือบยุคขั้นต้นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นงานหยาบ ภายหลังเรียกขานกันว่า “เครื่องเคลือบดั้งเดิม” (原始瓷) จนถึงยุคสมัยซ่ง () เครื่องเคลือบเด่นเตาเผาดังได้แพร่หลายไปทั่วกังหนำ อุตสาหกรรมเครื่องเคลือบก้าวหน้ารุ่งเรืองอย่างมาก ศตวรรษที่15 เครื่องเคลือบถือเป็นเครื่องประดับที่หรูหราหายากและราคาแพงในยุโรป เมื่อถึงศตวรรษที่16 พ่อค้าโปรตุเกสได้นำเข้าเครื่องเคลือบลายครามที่สั่งผลิตจากเมืองจีนสำหรับเฉพาะพระราชวังโดยขนส่งทางเรือสำเภาคาร์แรท (Carrack) เมื่อถึงศตวรรษที่17 ฮอลแลนด์โดยบริษัทอินเดียตะวันออกได้นำเข้าเครื่องเคลือบภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่สั่งผลิตจากเมืองจีนเพื่อตลาดยุโรปเป็นจำนวนมหาศาล

▲“เครื่องเคลือบดั้งเดิม” (原始瓷) ในยุคสมัยซาง ()

▲เครื่องเคลือบ 5 เตาเผาอันโด่งดังยุคสมัยซ่ง () : (จากซ้ายไปขวา) กวน() หรู่() จิน() เกอ() ติ้ง()

▲เรือสำเภาคาร์แรท (Carrack) โปรตุเกสยุคศตวรรษที่16 แล่นไปมาระหว่างเมืองจีนกับโปรตุเกส

▲สัญลักษณ์ของบริษัทอินเดียตะวันออกฮอลแลนด์

▲ปี1603 เรือสำเภา Carrack ของโปรตุเกสที่บรรทุกเครื่องเคลือบที่สั่งผลิตจากเมืองจีนเป็นจำนวนแสนชิ้น ถูกเรือรบหลวงฮอลแลนด์สกัดกั้นที่ช่องแคบมะละกา เครื่องเคลือบเหล่านี้ถูกนำไปประมูลขายที่อัมสเตอร์ดัม เป็นที่โจษขานทั่วยุโรป ขณะนั้น คนฮอลแลนด์เรียกชื่อเรือสำเภาของโปรตุเกสว่า “Kraken” จึงตั้งชื่อเครื่องเคลือบเมืองจีนแบบนี้ว่า “Kraak Porceleint” (克拉克瓷)

        เครื่องเคลือบเมืองจีนปรากฏครั้งแรกในยุโรป คือ “เครื่องเคลือบแจกันสีขาว” ที่มาร์โค โปโล นำกลับไปอิตาลีในปี1295 และหนังสือ 《บันทึกการเดินทางของมาร์โคโปโล》 ที่ทำให้คนตะวันตกเกิดความสนใจคนตะวันออกเป็นอย่างมาก ได้เขียนบรรยายรายละเอียดของเครื่องเคลือบเมืองจีนเป็นครั้งแรก

▲“เครื่องเคลือบแจกันสีขาว” ที่ มาร์โค โปโล นำกลับไปอิตาลีในปี 1295

        อดีตกาล ทั่วๆไปเครื่องใช้สำหรับบนโต๊ะอาหารของคนยุโรป โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะเครื่องดินเผาที่มีคุณภาพด้านสุขลักษณะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แม้ว่าชนชั้นตระกูลสูงศักดิ์จะใช้ภาชนะสำหรับบนโต๊ะอาหารทำด้วยโลหะเงิน แต่มีข้อเสียเกิดสนิมเปลี่ยนเป็นสีดำได้ง่าย เมื่อภาชนะเครื่องเคลือบกระเบื้องสีขาวอันขาวสะอาดมันวาวที่ถูกสุขลักษณะอย่างยิ่งของเมืองจีนได้แพร่ขยายเข้าไปถึงยุโรป และเป็นที่นิยมชื่นชอบไปทั่วยุโรป ยกย่องให้เป็น「ทองคำสีขาว」เมื่อเป็นเช่นนี้ ยุโรปจึงต้องนำเข้าเครื่องเคลือบเพื่อการส่งออกของเมืองจีนเป็นจำนวนมาก

▲เครื่องดินเผาทางภาคเหนือของอิตาลีในยุคกลางศตวรรษที่ 15

        เป็นไปตามธรรมชาติในเมื่อเป็นตลาดที่สามารถแสวงหาผลกำไรได้ กระตุ้นให้บรรดาช่างฝีมือในยุโรปต่างก็พยายามทำเลียนแบบ แล้ว “การเลียนแบบ” เครื่องเคลือบเมืองจีนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงมาก แต่ในห้วงเวลาหลายร้อยปี ไม่มีคนยุโรปผู้ใดที่สามารถถอดรหัสสูตรการประดิษฐ์เครื่องเคลือบได้ กลางศตวรรษที่16 คนยุโรปได้บันทึกที่ตนคิดว่าเป็นสูตรการประดิษฐ์เครื่องเคลือบเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อหาอ่านดูในวันนี้ทำให้รู้สึกอดขำมิได้—อย่างเช่น 1.วัตถุดิบที่สำคัญที่สุดของเครื่องเคลือบ คือของเหลวลึกลับที่มีเฉพาะในเมืองจีนเกิดการแข็งตัวอยู่ใต้ดิน 2.นำเปลือกไข่และเกล็ดปลามาบดให้เป็นผง คนผสมด้วยน้ำ นำมาปั้นเป็นรูปลักษณ์เครื่องเคลือบ แล้วนำไปฝังใต้ดินเป็นเวลา100ปี ขุดออกมากลายเป็นเครื่องเคลือบ 3.วัตถุดิบที่สำคัญเป็นดินเหนียวที่เหมาะสมที่ต้องขุดจากใต้ดิน แล้วกองทิ้งไว้ให้ตากแดดตากฝนเป็นเวลาสามสี่สิบปี เพื่อให้ดินเหนียวเกิดการบ่มตัวตามธรรมชาติ แล้วจึงสามารถนำมาทำเป็นเครื่องเคลือบที่งามวิจิตรประณีตดั่งเช่นเมืองจีนได้ ; ตามคำกล่าวลักษณะแบบนี้ เครื่องเคลือบล้วนงอกออกจากดิน

        การพยายามเลียนแบบเครื่องเคลือบเมืองจีนของคนยุโรป ส่วนใหญ่ดำเนินการทดลองอยู่ใน2แนวทาง : หนึ่งคือตามลักษณะพิเศษของเครื่องเคลือบที่ผิวเงาโปร่งแสง ใช้วิธีการของการผลิตกระจกในการทดลองประดิษฐ์เครื่องเคลือบ อีกหนึ่งคือใช้วิธีการ “เล่นแร่แปรธาตุ

▲การเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) : ภาพวาดโดย Joseph Wright of Derby (1734-1797)

        ปลายศตวรรษที่16 จนมีผู้ที่คลั่งไคล้เก็บสะสมเครื่องเคลือบเมืองจีนคนหนึ่งทำของเลียนแบบที่พอมีเค้าออกมาได้ เขาผู้นั้นก็คือ ฟรานเชสโกที่1 แห่งตระกูลเมดีชี (Francesco I de’Medici) ในปี1575 ได้ทำการทดลองโดยนำดินเหนียวผสมกับผงแก้ว นำไปเผาที่อุณหภูมิต่ำได้เป็น Soft-paste Porcelain แม้ว่าจากรูปลักษณ์ สีเคลือบ ดูใกล้เคียงมากแต่ไม่ใช่เครื่องเคลือบแท้ เพราะไม่มีความโปร่งแสงดั่งเช่นเครื่องเคลือบ แต่ก็ถือเป็นการเป่าแตรสัญญาณให้ดังขึ้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบของยุโรป คนรุ่นหลังเพื่อเป็นการระลึกถึงเขา จึงเรียกขานเครื่องเคลือบชนิดนี้ว่า “เครื่องเคลือบเมดีชี

▲“เครื่องเคลือบเมดีชี” ยุคศตวรรษที่ 16 ผลิตโดยพระเจ้าฟรานซิสโกที่ 1 (ฟลอเรนซ์ อิตาลี ปี 1575-1587)

        นับตั้งแต่ตระกูลเมดีชีริเริ่มทำเลียนแบบเครื่องเคลือบเมืองจีน คนยุโรปได้ทำการทดลองเผาประดิษฐ์มาเป็นเวลา150ปีเต็มๆ สุดท้ายผู้ที่ทำความฝันประดิษฐ์เครื่องเคลือบได้อย่างสมบูรณ์ให้เป็นจริงได้ กลับกลายเป็นนักโทษของเยอรมันที่มีนามว่า โยฮานน์ ฟรีดริช บึตต์เกอร์ (Johann Friedrich Böttger)

▲โยฮานน์ ฟรีดริช บึตต์เกอร์ (Johann Friedrich Böttger ; 1682-1719)

        โยฮานน์เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุที่ยังหนุ่มแน่น ได้ไปแอบอ้างกับ พระเจ้าฟรีดริชที่1 แห่งปรัสเซีย (Fredrick I of Pussia) ว่าสามารถแปรเหล็กให้เป็นทองได้ เนื่องจากกลัวจะถูกคาดโทษฐาน “โกหกหลอกหลวงพระมหากษัตริย์” คืนหนึ่งในปี1701 ได้หนีเล็ดลอดออกมา หนีไปที่ราชอาณาจักรซัคเซิน (Sachsen) พระเจ้าออกัสตัสที่2 แห่งโปแลนด์ (Augustus II the Strong) ผู้ครองรัฐซัคเซินในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีความฝันคิดจะทดลองประดิษฐ์ภาชนะที่งามวิจิตรเหมือนดั่งเครื่องเคลือบเมืองจีนมาตลอด ได้จับกุมโยฮานน์กักขังไว้ในปราสาทแห่งหนึ่งในเมืองหลวงเดรสเดิน (Dresden)

        เอียเรนฟริด วาลเทอร์ (Ehrenfried Walther) นักวิทยาสาสตร์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาพระราชวังได้แนะนำพระเจ้าออกัสตัสให้โยฮานน์ทำความดีไถ่โทษ แทนที่จะไปทำการแปรเหล็กให้เป็นทอง สู้ให้ไปแปรดินให้เป็นทองคำสีขาวจะดีกว่า นับต่อจากนี้ไป โยฮานน์จากนักเล่นแร่แปรธาตุก็กลายมาเป็นอาจารย์การปั้นดินเผา

        โดยทำการศึกษาวิจัยกรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบเมืองจีนอย่างหามรุ่งหามค่ำ จากประสบการณ์ด้านการผลิตกระจกของเอียเรนเทอร์ และประสบการณ์ด้านการเล่นแร่แปรธาตุของโยฮานน์ ก่อนอื่นพวกเขาค้นพบว่า คิดที่จะประดิษฐ์เครื่องเคลือบดินเผาให้ได้อย่างสมบูรณ์นั้น อุณหภูมิการเผาเป็นนัยสำคัญมาก อุณหภูมิต่ำไปไม่เกิดการหลอมรวมกัน อุณหภูมิสูงไปเกิดการแตกได้ง่าย หลังผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายจากจุดเริ่มต้นที่เมื่อสามารถควบคุมอุณหภูมิการเผาได้แล้ว ในปี1708 ได้สร้างประดิษฐกรรมใหม่ในรูปแบบ #สโตนแวร์สีแดง เรียกขานกันว่า「Böttger Stoneware」ซึ่งถือเป็น Hard-paste Porcelain ชิ้นแรกของยุโรปที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลก

▲บันทึกผลการทดลองเมื่อวันที 15 ม.ค. 1708

▲「Böttger Stoneware」ซึ่งยังไม่หลอมตัวเกิดเป็นเฟสของเนื้อแก้วขึ้นมา (Vitrification)

        เอียเรนฟริดได้เสียชีวิตในปี1708 เมื่อความลับของอุณหภูมิการเผาถูกโยฮานน์เรียนรู้โดยช่ำชองแล้ว ถ้าต้องการทำเครื่องเคลือบที่มีลักษณะเหมืองของเมืองจีนใม่เป็นปัญหา เพียงแต่ทำอย่างไรให้วาววับและโปร่งแสงเช่นเครื่องเคลือบเมืองจีนนั่นเป็นปัญหาต่างหาก

        โยฮานน์ได้ค้บพบว่า วัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องเคลือบเมืองจีน ตัวหลักสำคัญก็คือ “ดินเกาลิน” นอกนั้นก็เพียงคำนวณอัตราส่วนให้ดีแค่นั้น #ความลับสุดยอดของเครื่องเคลือบเมืองจีน ได้ถูกโยฮานน์เล่นแร่แปรธาตุเป็นลำดับทีละขั้นจนถอดรหัสออกมา โดยได้เผาประดิษฐ์「เครื่องเคลือบน้ำเคลือบขาว」ออกมาได้สำเร็จในปี1709

▲「เครื่องเคลือบน้ำเคลือบขาว」ที่โยฮานน์ประดิษฐ์ออกมาได้สำเร็จในปี1709

        ปี1710 พระเจ้าออกัสตัสได้ก่อตั้งโรงงานเครื่องเคลือบดินเผาไมเซิน (MEISSEN) ที่ปราสาทอัลเบรชน์บูร์ก เมืองไมเซินเยอรมัน เป็นเจ้าแรกในวงการอุตสาหกรรมพอร์ซเลนของยุโรป

▲ เครื่องหมายการค้า「MEISSEN」ที่ก่อตั้งเมื่อปี1710 จนถึงปัจจุบันร่วม300ปี ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีชื่อเสียงอันดับโลก

        ความลับของเครื่องเคลือบเมืองจีนได้ถูกถอดรหัสจนหมดเปลือกแล้วหรือ ?

        ยังไม่ใช่ แม้ว่าเยอรมันได้ค้นพบวิธีการผลิตเครื่องเคลือบของเมืองจีน แต่ทว่าทางด้านคุณภาพยังมีข้อแตกต่างอยู่บ้างเล็กน้อย เครื่องเคลือบที่ผลิตจากเยอรมันล้วนเป็นเกรดธรรมดาทั่วไป ถ้าเป็นชิ้นงานระดับสุดยอดจริงๆ คงมีเพียงเมืองจีนที่สามารถผลิตออกมาได้

        และแล้ว ฟรันซิสโก คาเบียร์ ดังเตรโคลเลส (Francois Xavier d'Entrecolles ; 1664-1741) นักบุญชาวฝรั่งเศสที่ฝังตัวเป็นสายลับอยู่ในจิ่งเต๋อเจิ้นเมืองจีนร่วมยี่สิบปี ได้เขียนจดหมาย2ฉบับ เปิดเผยความลับของเครื่องเคลือบเมืองจีนอย่างล่อนจ้อน การค้าส่งออกของเครื่องเคลือบเมืองจีนค่อยๆถูกทำลายเกือบหมดสิ้น

        ปี1682 ฟรันซิสโกไปเป็นนักบุญในคณะเยซูอิต (Jesuit) ปี1698 ได้เดินทางมาเมืองจีนเป็นบาทหลวงเผยแพร่ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกในจิ่งเต๋อเจิ้น เนื่องจากมีความสามารถในการเรียนรู้และพูดภาษาจีนได้คล่อง จึงตั้งชื่อจีนให้ตนเองว่า—ยินหงสวี่ (殷弘绪)

        ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่นำวิทยาศาสตร์และศาสนาคริสต์ของตะวันตกไปเผยแพร่ในเมืองจีน ขณะเดียวกันก็จะเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมนำกลับไปเผยแพร่ที่ยุโรป ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เจริญก้าวหน้าพร้อมกัน แต่ไม่มีใครคิดได้ว่า ยินหงสวี่ผู้นี้ยังแบกรับภารกิจอีกหนึ่งคือเป็นสายลับทางธุรกิจซึ่งอาจถือเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

▲บาทหลวงเผยแพร่ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก คณะเยซูอิต (Jesuit)

        ห้วงเวลานั้น เทคโนโลยีการผลิตเครื่องเคลือบถือเป็นความลับขั้นสุดยอดแขนงหนึ่งของเมืองจีนยุคราชวงศ์ชิง เพราะทันทีที่รั่วไหลออกไปจะเกิดผลกระทบต่อรายได้เงินตราต่างประเทศ ดังนั้น เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นจึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติพักแรมค้างคืน

▲เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น (景德镇) ที่ซึ่งไม่ใช่สถานที่จัดเก็บความลับทางทหารของพระราชสำนัก และไม่ใช่เป็นป้อมปราการที่สำคัญ แต่ทำไมทำให้สายลับตะวันตกถึงหลงใหลยิ่งนัก?

        แต่ทว่า ดูเหมือนฟรันซิสโกจะเข้าใจหลักการของการอยู่รอดในเมืองจีน จึงสร้างสะสมความสัมพันธ์ทางสังคม ผลสุดท้ายในปี1709 โดยใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวผ่านผู้ตรวจการมณฑลเจียงซี ได้นำไวน์ฝรั่งเศสชั้นดีถวายบรรณาการจักรพรรดิคังซี สร้างความประทับใจเป็นยิ่งนัก

        ไวน์ขวดนี้ เป็นใบเบิกทางให้ฟรันซิสโกสามารถเข้าออกจิ่งเต๋อเจิ้นได้ตามใจชอบ ไม่มีใครกล้ามาขัดขวาง แต่อย่างไรก็ตาม คิดที่จะได้ศิลปกรรมการผลิตเครื่องเคลือบยังเป็นงานยากยิ่งนัก—ในจิ่งเต๋อเจิ้น ผู้ที่ควบคุมศิลปกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาจะสามารถถ่ายทอดส่งต่อให้ชนรุ่นหลังได้ก็ต่อเมื่อหลังเกษียณแล้ว และคนคนเดียวสามารถควบคุมเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพียงแขนงเดียวเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ฟรันซิสโกไม่ละความพยายาม เขาปักหลักอยู่ที่จิ่งเต๋อเจิ้น วางแผนอย่างรอบครอบที่รอคอย คอยถึงอาจารย์เครื่องปั้นดินเผาเกษียณ แล้วเขาร่อนเร่ไปถามคนแล้วคนเล่า จนได้จิ๊กซอร์ของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องเคลือบตัวแล้วตัวเล่า

        สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ความลับของงานศิลปกรรมการผลิตเครื่องเคลือบที่ธำรงไว้เป็นหลายพันปีของเมืองจีนได้ถูกฟรันซิสโกรวบรวมไว้อยู่ในกำมือแล้ว

        ปี1712 ฟรันซิสโกได้เขียนจดหมายฉบับแรกส่งไปถึงคณะเยซูอิตฝรั่งเศส ในจดหมายได้ไขความเครื่องเคลือบมีกรรมวิธีการผลิตอย่างไร วิธีการผสมวัตถุดิบตามอัตราส่วน วิธีการนวดและการม้วนดินเหนียว ขั้นตอนการขึ้นรูปด้วยแม่แบบและการเผาผลิต วิธีการทำเครื่องเคลือบใหม่ให้ดูเก่า การผลิตเครื่องเคลือบขนาดใหญ่ แม้กระทั่งงานหัตถกรรมบางอย่างที่ช่างฝีมือจำนวนมากเชื่อว่าได้หายสาบสูญไปแล้วได้ถูกเขียนสรุปรื้อฟื้นกลับมา

▲จดหมายฉบับแรกที่ ฟรันซิสโก คาเบียร์ ดังเตรโคลเลส นักบุญชาวฝรั่งเศสเขียนกลับไปให้คณะเยซูอิต ในปี 1712

        เมื่อคณะเยซูอิตฝรั่งเศสได้อ่านจดหมายฉบับนี้แล้ว แม้มีเนื้อหาครอบคลุมรายละเอียดต่างๆ แต่รู้สึกว่ายังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้เพื่อทลายตำแหน่งผู้นำด้านเครื่องเคลือบของเมืองจีนลงมาได้ เพื่อไม่ให้เป็นการแหวกหญ้าให้งูตื่น ทางคณะเยซูอิตเก็บจดหมายฉบับนี้ให้เป็นความลับชั่วคราว แล้วมอบภารกิจครั้งที่2ให้ฟรันซิสโกให้ไปขุดศิลปกรรมเครื่องเคลือบเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ฟรันซิสโกต้องอำพรางตัวอยู่ในเมืองจีนอีก10ปีเต็มๆ คราวนี้ ประสบการณ์ทางการผลิตเครื่องเคลือบที่บรรพบุรุษเมืองจีนใช้เลือดหยาดเหงื่อแลกมาถูกเขาคัดลอกมาอย่างหมดจด

        ปี1722 ฟรันซิสโกเขียนจดหมายฉบับที่2ถึงคณะเยซูอิตฝรั่งเศส อธิบายวิธีการฟื้นฟูผิวผลิตภัณฑ์ด้วยการประดับทอง วิธีการเคลือบดำให้ผิวเงาเหมือนกระจก วิธีการเสริมความแข็งแรงขอบของเครื่องเคลือบ เป็นต้น

▲จดหมายฉบับที่ 2 ที่ ฟรันซิสโก คาเบียร์ ดังเตรโคลเลส นักบุญชาวฝรั่งเศสเขียนกลับไปให้คณะเยซูอิต  ในปี 1722

        ฝรั่งเศสได้นำจดหมาย2ฉบับนี้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ จดหมาย2ฉบับ เวลา20กว่าปี ศิลปกรรมเครื่องเคลือบที่สืบทอดมาเป็นพันปีของเมืองจีนได้ถูกป่าวประกาศให้รับรู้ไปทั่วกัน

        ณ เวลานี้ สุดท้ายและท้ายสุด คนยุโรปพึ่งเข้าใจว่าทั้งหลายทั้งปวงไม่เกี่ยวข้องกับกระจกและทองคำสักนิด
      「แร่ฟันม้าคือเนื้อของเครื่องเคลือบ ดินเกาดินคือกระดูกของเครื่องเคลือบ

        นับแต่นี้ไป อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของประเทศต่างๆในยุโรปก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตราสินค้าดังมากมายในขณะนั้นได้ดำเนินธุรกิจสืบมาตราบจนถึงทุกวันนี้ และต่างออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีชื่อเสียงอันดับโลก

▲ถ้วยชาและจานรองที่ผลิตในปี 1724 โดย「MEISSEN」

        ประดิษฐกรรมใหม่จำนวนมากล้วนก่อเกิดขี้นมาในช่วงของการทำเลียนแบบ อย่างเช่น「โบนไชนา」 (Bone China)

        ศตวรรษที่18 อุตสาหกรรมพอร์ซเลนของอังกฤษกำลังรุดหน้าอย่างมาก ในปี1748 โทมัส ไฟรย์ (Tomas Frye) เผอิญนำเถ้ากระดูกวัวผสมลงในกระบวนการผลิต แล้วสามารถเผาผลิตเครื่องเคลือบที่มีความโปร่งแสงมากออกมาได้ ต่อมาในปี1796 โจเซียส สโปด (Josian Spode) ได้นำเทคโนโลยีเถ้ากระดูกนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาจนประดิษฐโบนไชนาเป็นผลสำเร็จ ผสมเถ้ากระดูกจะไปช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความโปร่งแสงของเครื่องเคลือบให้มากยิ่งขึ้น ทำให้โบนไชนาจะยิ่งบาง ยิ่งขาว ยิ่งโปร่งแสงกว่าเครื่องเคลือบแบบเดิม ประดิษฐกรรมเครื่องเคลือบใหม่ชนิดนี้ทำให้เกรดของพอร์ซเลนอังกฤษมีคุณภาพก้าวกระโดดขึ้นมานำหน้าในโลก

▲「Bone China」ผลิตโดย “Spode” ในปี 1802

          「china」อักษรตัวแรกที่เขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก จะหมายถึง「เครื่องเคลือบ」จากเมืองจีน ที่คนยุโรปเคยหลงใหลคลั่งไคล้มาหลายศตวรรษ และต้องใช้ระยะเวลา300ปีในการพัฒนาให้เป็นผลสำเร็จแล้วก้าวล้ำหน้าเครื่องเคลือบเมืองจีนที่เคยเป็นผู้นำมาหลายพันปี

        「China」อักษรตัวแรกที่เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ ในอีกนัยหนึ่งหมายถึง「เมืองจีน」ซึ่งนับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อปี1978 ถึงวันนี้ใช้ระยะเวลาร่วม40ปี เมืองจีนกลายเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่2ของโลกในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ถูกจัดว่ามีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจของโลกทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ

ปัจฉิมลิขิต :


        วันนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบาย「Make America Great Again」สหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจและผู้นำของโลกทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจมาร่วม150ปีแล้ว เกิดความรู้สึกว่าเมืองจีนทำให้สหรัฐตกอยู่ในอันตราย ซึ่งภัยอันตรายนี้หากไม่รีบสกัดกั้น เมื่อนโยบาย「Made in China 2025」ของเมืองจีนประสบความสำเร็จแล้ว ทางสหรัฐก็จะไม่มีกำลังความสามารถโดยสิ้นเชิง จะตกอยู่ในภาวะ「Death by China

        ดังนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ จึงต้องใช้โอกาสเริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึงปี2025  ซึ่งยังเหลือระยะเวลา7ปี ทำให้เมืองจีนที่กำลังพุ่งพรวดให้ล้มลงไปให้ได้ จึงใช้วิธีการเลียนแบบสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ เรแกน (ปี1981-18989) มาประจัญหน้ากับเมืองจีน

        ประธานาธิบดีเรแกน ชาญฉลาดที่ใช้การแข่งขันทางการทหารและราคาน้ำมันดิบ ทำให้สหภาพโซเวียตล่มแตกสลาย แล้วใช้ 《สนธิสัญญาพลาซ่า》 (Plaza Accord) ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟุบลงจนยังไม่ฟื้นตราบจนถึงทุกวันนี้

        ประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้2วิธีการดังกล่าวข้างต้นมารวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านเมืองจีน ด้านหนึ่งที่ใช้เศรษฐกิจมาโจมตีเมืองจีนไม่ให้ฟื้นขึ้นมา วิธีการโจมตีทางเศรษฐกิจที่ปรากฏให้เห็นได้ในวันนี้ก็คือ 「สงครามการค้า」 เนื่องจากสหรัฐขาดดุลทางการค้าต่อเมืองจีนเป็นมูลค่ามหาศาล จึงเป็นข้ออ้างเรียกร้องให้เมืองจีนลดการได้เปรียบทางดุลการค้า และข้ออ้างการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่วัตถุประสงค์จริงๆก็คือทำให้「Made in China 2025」ไม่ให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาได้

        สงครามโลกครั้งที่3ยังไม่เกิดขึ้น แต่「สงครามการค้า」ระหว่างจีนกับสหรัฐได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยทางสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนซึ่งครอบคลุม818รายการในอัตรา 25% เป็นมูลค่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. ศกนี้ และทางจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นมูลค่าในระดับเท่ากัน คงจะมีมาตรการการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ามาอีกเป็นละลอกๆ และเป็นเพียงการเริ่มต้นยังไม่สามารถเห็นผลกระทบต่อทั้งจีนกับสหรัฐและทั่วโลกจะมีความรุนแรงแค่ไหน? ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป........

-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

เอกสารอ้างอิง :
1. (揭秘) 从山寨,偷窃到加冕---逆风翻盘的欧洲瓷器  : https://www.sohu.com/a/239006066_556507
2. 欧洲间谍潜伏中国20年偷走全部技术  :  https://kknews.cc/culture/65byymv.html
3. 古老技艺被偷师 : 欧洲间谍是如何学会制作中国瑰宝“瓷器”?  :  https://kknews.cc/collect/zxz2jkl.html
4. 中国的外销瓷与欧洲的瓷业间谍  :  https://kknews.cc/news/lpel299.html