วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

เส้นทางใบชา (3) : เสียงกระดิ่งอูฐนอกกำแพงเมืองจีน

《เส้นทางใบชา》ตอนที่ (3) : เสียงกระดิ่งอูฐนอกกำแพงเมืองจีน
《茶叶之路》第三集 : 塞外驼铃



        ปลายหมิงต้นชิง สืบเนื่องจากสงครามที่ทอดยาวมาเป็นปีๆและภัยทางธรรมชาติที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกษตรกรจำนวนมากของซานซีและส่านซี ต้องจากบ้านเกิดข้ามกำแพงเมืองจีนผ่านทางด่านซาหู่เข่า(杀虎口) เพื่อไปยังชีพที่ด่านนอก นี่ก็คือเหตุการณ์การอพยพครั้งยิ่งใหญ่ “มุ่งด่านตะวันตก”(走西口) ที่ลือลั่นในประวัติศาสตร์ของเมืองจีน ผู้คนใส่บ่าแบกหามเดินไปบนเส้นทางมุ่งด่านตะวันตกที่แสนไกล ท่ามกลางผู้คนที่หลั่งไหลมุ่งด่านตะวันตก มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาจากเมืองไท้กู่(太谷县) ซานซีนามว่า หวังเซียงชิง(王相卿) พ่อแม่ได้ตายจากไปตั้งแต่ยังเด็ก อาศัยอยู่กับพี่สาวตลอดมา เมื่อโตเป็นหนุ่มไม่อยากที่จะเป็นภาระของใคร สุดท้ายเลือกเส้นทางมุ่งด่านตะวันตก เมื่อได้เดินทางมาถึงซาหู่เข่า ทรัพย์สมบัติทั้งตัวมีเพียงไม้คานบนบ่า

        ซาหู่เข่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหาร หวังเซียงชิงตัดสินใจปักหลักที่นี้เพื่อแสวงหาโอกาส ไม่นานได้รู้จักเพื่อนจากซานซีด้วยกัน 2 คนคือ จางเจี๋ย(张杰) และ สื่อต้าเสวีย(史大学) เมื่อต่างมีสถานะและพื้นเพเหมือนกันทำให้พวกเขาสาบานตนเป็นพี่น้องต่างแซ่กันทันที อีกไม่นาน เกิดศึกสงครามเขตแดนขนาดใหญ่ นำมาซึ่งเป็นโอกาสที่พลิกผันชีวิตของพวกเขา

        ปลายศตวรรษที่ 17 Galdan(噶尔丹) หัวหน้าชนเผ่ามองโกล ได้นำทหารบุกโจมตีกองทัพชิงเพื่อข่มขู่พระราชวังชิง จักรพรรดิคังซีตัดสินพระหฤทัยทรงนำทัพด้วยพระองค์เอง เนื่องจากไปปราบการก่อความไม่สงบของ Galdan ต้องเดินทัพเป็นระยะทางไกล จึงต้องให้เขตพื้นที่ที่อยู่รอบนอกมองโกเลียภายในรัศมีพันลี้ทำการลำเลียงป้อนส่งเสบียงอาหารยุทธปัจจัย คังซีได้ดำเนินการเกณฑ์พ่อค้าและแรงงานชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่ด่านในตามกองทัพออกนอกกำแพงเมืองจีน พวกหวังเซียงชิง 3 คนถูกเรียกเข้าไปอยู่ในกองทัพที่ตั้งค่ายอยู่ในซาหู่เข่า เพื่อช่วยกองทัพหาซื้อวัวแพะเป็นอาหาร เนื่องจากพวกเขาต้องติดต่อกับคนเลี้ยงปศุสัตว์ชนเผ่ามองโกล ดังนั้น จึงค่อยๆได้เรียนรู้ภาษามองโกลอย่างง่ายๆ ความซื่อตรง ความขยัน และความเป็นมิตรของพวกเขา ทำให้แม่ทัพของกองทัพชิงเกิดความประทับใจเป็นอย่างมาก หลังการปราบปราม Galdan ให้ราบคาบแล้ว แม่ทัพได้มอบปศุสัตว์วัวแพะที่ต้อนกลับเข้าด่านในไม่ทันให้แก่พวกเขา ด้วยทรัพย์สมบัติที่ได้มาอย่างปัจจุบันทันด่วนเหล่านี้ พวกเขาจึงหวงแหนเป็นอย่างยิ่ง คิดหาวิธีนำวัวแพะฝูงนี้กลับไปขายที่ซาหู่เข่า นี่จึงกลายเป็นถุงทองแรกในชีวิตของพวกหวังเซียงชิง

        หลังการปราบปราม Galdan จนราบคาบแล้ว กองทัพใหญ่ชิงเคลื่อนทัพไปที่เทือกเขาต้าชิง(大青山) เพื่อวางกองกำลังเป็นแนวป้องกัน ซาหู่เข่าจึงกลายเป็นท่าเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญของฝ่ายสนับสนุนแนวหลัง พวกหวังเซียงชิงได้เห็นโอกาสทางการค้าครั้งนี้ จึงร่วมมือกับเพื่อนจากบ้านเดียวกันที่อยู่ในซาหู่เข่าเปิดห้างค้าขาย “จี๋เซิ้นถัง”(吉盛堂) เพื่อทำการจัดป้อนยาสูบ เหล้า ใบชาและของใช้เบ็ดเตล็ดให้กองทัพชิงโดยเฉพาะ          



        จากการร่วมลงนามในสนธิสัญญา《Treaty of Nerchinsk》และ《Treaty of Kyakhta》การค้าใบชาระหว่างจีนรัสเซียค่อยๆก่อร่างเป็นระบบขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่นี้ จักรพรรดิคังซีได้ทรงลงพระนามาภิไธยก่อตั้งสมาคมที่ดำเนินการค้าแนวใหม่ชื่อว่า “พ่อค้าเดินทางมองโกเลีย”(旅蒙商) ก็คือทางพระราชวังชิงห้ามพ่อค้าพำนักอย่างถาวรที่มองโกเลีย เพียงอนุญาตให้พวกพ่อค้าไปมาค้าขายเท่านั้น โดยทางรัฐบาลชิงจะออกตั๋วนำ(票引 : ก็คือใบอนุญาตการค้า การมีตั๋วนำ 1 ใบสามารถขนใบชา 100 ชั่งจากพื้นที่ ก. ขนไปที่พื้นที่ ข.)  ให้สมาคมพ่อค้าเดินทางมองโกเลีย อนุญาตพวกพ่อค้าเข้าออกเขตพื้นที่มองโกเลียเพื่อกิจกรรมการค้า ตามกฏระเบียบ พ่อค้าที่ได้รับตั๋วนำจะต้องทำการค้าตามเส้นทางที่กำหนดเท่านั้น และต้องยอมรับการตรวจตราจากเจ้าพนักงานราชวงศ์ชิงที่ประจำอยู่มองโกเลีย

        ช่วงเวลานั้น คิดที่จะได้ตั๋วนำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หวังเซียงชิงอาศัยความสัมพันธ์โดยส่วนตัวกับกองทัพชิงในหลายปีที่ผ่านมา ได้ตั๋วนำที่ให้ดำเนินการค้าในแหล่งที่เลี้ยงปศุสัตว์เร่ร่อนบนที่ราบสูงมองโกเลีย กาลครั้งนี้ พวกหวังเซียงชิงได้เปลี่ยนชื่อห้างการค้าจากจี๋เซิ้นถัง มาเป็น “ต้าเซิ้นขวุย”(大盛魁)

        บนที่ราบสูงมองโกเลียมีคำพังเพยที่นิยมอย่างแพร่หลายกล่าวไว้ว่า : พ่อค้า “ลิ้น 1 แฉก” หาเงินได้จำกัด พ่อค้า “ลิ้น 2 แฉก” หาเงินได้พอดี พ่อค้า “ลิ้น 3 แฉก” หาเงินได้ไม่จำกัด ; เพียงพูดจีนได้ภาษาเดียว คุณก็เพียงสามารถหาเงินได้แค่เท่ากับที่ใช้ไปในการดำรงชีพ ถ้าพูดภาษามองโกลได้อีก คุณก็จะหาเงินได้มากขึ้น ยิ่งถ้าหากพูดจีน มองโกล รัสเซีย 3 ภาษานี้แล้ว คุณก็จะสามารถหาเงินได้มากขึ้นและมากขึ้น นั่นก็คือหาเงินได้ไม่จำกัด

        เนื่องจากพวกหวังเซียงชิงได้เคยติดต่อกับคนมองโกล จึงไม่มีอุปสรรคด้านภาษาการติดต่อ และพวกเขาคุ้นเคยกับประเพณีความเป็นอยู่ของชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน จึงหยิบโฉยโอกาสในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างสินค้าที่ผลิตได้และสินค้าที่ขาดแคลนของชนเผ่าเร่ร่อน นั่นก็คือการเดินสะพัดและแลกเปลี่ยน นำสินค้าใบชา ผ้าพับ ยาที่ซื้อจากในเมือง ขนส่งไปถึงถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าเลี้ยงสัตว์ ขณะเดียวกันก็รับซื้อปศุสัตว์นำไปขายในเมืองหรือค่ายทหาร เนื่องจากสินค้าที่ “ต้าเซิ้นขวุย” ทำการค้ามีคุณภาพดีที่สุด และที่ “ต้าเซิ้นขวุย” สามารถทำการค้าเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ยังมีอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือ พวกเขาได้จับสิ่งที่เป็นพื้นฐานและเป็นสิ่งสำคัญที่ชนเผ่ามองโกลต้องการอย่างยิ่งยวดแบบกัดไม่ปล่อยก็คือ “ชา

        ประเพณีการดื่มชาของคนมองโกลได้ก่อตัวขึ้นในยุคสมัยเหยียน เป็นไปตามที่ศาสนาพุทธในธิเบต(喇嘛教) เผยแพร่เข้าในมองโกเลีย การดื่มชากลายเป็นกิจวัตรประจำวันของคนมองโกลที่ขาดไม่ได้ ซึ่งกิจวัตรนี้ได้อนุรักษ์ตลอดมาจวบจนถึงทุกวันนี้



        เป็นไปตามการเติบโตอย่างคึกคักของเส้นทางใบชา ธุรกิจการค้าของ “ต้าเซิ้นขวุย” ก็ยิ่งดังระเบิดขึ้นมา ในรัชสมัยต้าวกวง “ต้าเซิ้นขวุย” ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่เมืองกุยหว้า(归化城) ซึ่งก็คือเมืองฮูฮอต(呼和浩特) และได้จัดตั้งสาขาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำการจัดซื้อครบวงจรตามจุดต่างๆทั่วประเทศ ชื่อของสาขาล้วนลงท้ายด้วย “ชวน”() ซึ่งมีความหมายนัยว่าเงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสาย ในบรรดาธุรกิจการค้าที่ “ต้าเซิ้นขวุย” จะให้น้ำหนักมากที่สุดก็คือการค้าใบชา การค้าใบชาจีนรัสเซียในภาวะที่ร้อนแรง “ต้าเซิ้นขวุย” ได้ทำการเปิดห้างชา 2 สาขาที่สำคัญคือ ซานยี่ชวน(山玉川) และ จี้เซิ้นชวน(巨盛川) ซึ่งห้างชา 2 สาขานี้มีผลต่อการขยายทางการค้าของ “ต้าเซิ้นขวุย” เป็นอย่างมาก เพื่อให้เป็นไปตามอุปนิสัยการดื่มชาของคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนชนเผ่ามองโกล “ต้าเซิ้นขวุย” ได้ทำการเด็ดเก็บและผลิตชาแผ่นเหลี่ยม(茶砖)ชนิดต่างๆด้วยตัวเองจากแหล่งอานหว้า(安化)หูหนานและหยางเหลาต้ง(羊楼洞)หูเบ่ย

        ในยุครุ่งเรืองของ “ต้าเซิ้นขวุย” ห้างการค้าอันยิ่งใหญ่เจ้านี้ได้รับการยกย่องให้เป็น “ครึ่งของเมืองกุยหว้า”(半个归化城) พวกเขาได้พึ่งพาอาศัยเส้นทางใบชา ดำเนินกิจกรรมการค้าแทรกซึมเข้าไปทั่วที่ราบสูงมองโกเลีย ตะวันตกไปถึงซินเจียง เหนือขึ้นไปถึงมอสโก ใต้ลงไปในเขตที่ห่างไกลแห่งจงเหยียน(ที่ราบภาคกลาง) พวกเขาเป็นคนจุดชนวนเชื่อมจุดต่างๆ แทบจะเป็นการผูกขาดการค้าใบชาในที่ราบทุ่งหญ้าทางแถบเหนือ เป็นระยะเวลาอันยาวนานที่ได้ควบคุมเส้นเลือดทางเศรษฐกิจของเขตมองโกเลีย ธุรกิจการค้าที่เจริญเติบโตเป็นทวีคูณตามเส้นทางใบชา “ต้าเซิ้นขวุย” มีกองคาราวานอูฐที่ใหญ่มหึมาเป็นของตัวเอง เมืองกุยหว้าก็เป็นเพราะมีอูฐถึง 1.6 แสนตัวจึงกลายเป็น “เมืองแห่งอูฐ”(骆驼城) ที่สำคัญที่สุดในที่ราบทุ่งหญ้าทางแถบเหนือ



        เดือนสิงหาคม 1841 ริมชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองจีนกำลังถูกผนึกท่ามกลางควันของพลังระเบิด กองทัพเรือของจักรวรรดิอังกฤษ กำลังระดมยิงปืนใหญ่ถล่มเซี่ยเหมิน(厦门) อย่างหนัก ผลักดันสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ให้ถึงสุดขีด ในเวลาเดียวกันเมืองกุยหว้า ที่อยู่ไกลถึงที่ราบสูงมองโกเลีย ซึ่งก็คือเมืองฮูออต ในปัจจุบัน แต่เป็นภาพเหตุการณ์อีกฉากหนึ่ง 

        เสียงอึกทึกคึกโครมหน้าห้าง “ต้าเซิ้นขวุย” กองคาราวานการค้าที่ประกอบด้วยอูฐเกินร้อยตัวที่หลังโหนกบรรทุกเต็มไปด้วยสินค้าเช่นใบชาและฝูงสนัขคุ้มกันเริ่มจะออกเดินทาง พวกเขาจะทะลุข้ามเทือกเขาต้าชิง มุ่งไปทางเหนือนำใบชาลำเลียงไปที่คู่หลุน  ซึ่งก็คืออูลานบาตอร์(乌兰巴托 : เมืองหลวงของมองโกเลีย) ในปัจจุบัน และ Kyakhta อันเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของการค้าชายแดนจีนรัสเซีย เส้นทางใบชาที่ลากยาวต่อเนื่องเป็นหมื่นลี้เริ่มจากเมืองกุยหว้า เครื่องมือการคมนาคมเปลี่ยนจากเรือขนส่งหรือเกวียนล่อม้ามาเป็นกองคาราวานอูฐ เป็นเพราะว่า มีเพียงกองคาราวานอูฐจึงจะสามารถก้าวข้ามทะเลทรายโกบีอันเวิ้งว้างบนที่ราบสูงมองโกเลียได้

        กองคาราวานอูฐจะเรียงกันเป็นแถวยาวบนที่ราบทุ่งหญ้าสีเขียว อูฐข้างหน้าได้เดินลับสายตาพ้นจากสันเขาในระยะที่ไม่ไกลนักไปแล้ว อูฐข้างหลังยังทยอยเคลื่อนที่มุ่งไปข้างหน้า เสียงพูดคุยของเหล่าคนดูแลอูฐและนายห้าง เสียงกระดิ่งของอูฐและเสียงเห่าของสนัข ผสมปนเปกันขึ้นมา เป็นไปตามลักษณะโดดเด่นของอูฐคือสู้ความหนาวเน็บ ทนความแห้งแล้ง โดยทั่วไปกองคาราวานการค้าจะไปกลับในช่วงฤดูหนาวจากเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของปีถัดไป เหตุที่เลือกเดินทางในช่วงฤดูหนาว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ณ ช่วงเวลานี้ที่ราบสูงมองโกเลียถูกปกคลุมด้วนหิมะน้ำแข็ง บริเวณที่น้ำท่วมจากน้ำลำธารในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนหลังการเย็นแข็งตัวทำให้การเดินทางผ่านง่ายยิ่งขึ้น ปกติกองคาราวารการค้าอูฐจะเดินทางวันละ 10 ถึง 16 ชม. ทุกชั่วโมงสามารถเดินทางได้ประมาณ 3-5 กม. ในกองคาราวานการค้าอูฐที่มาตรฐานทั่วไปจะประกอบด้วย “แคมป์ไฟ”(营火) “กลุ่ม”(把子) และ “เต็นท์”(房子)



        กองคาราวานอูฐจะมีผู้นำต็นท์ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลและนำทาง เพราะอาศัยหน้าที่ขนส่งลำเลียงของกองคาราวานอูฐและผู้นำเต็นท์อันเป็นภาระที่หนักอึ้งบนเส้นทางใบชาผ่านเมืองคู่หลุน และ Kyakhta เป็นต้น เหล่าผู้นำเต็นท์ที่มีประสบการณ์ ก็คือต้องรับประกันนำกองคาราวานอูฐเดินทางท่ามกลางทะเลทรายโกบีที่สุดสายตาสามารถถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย  กองคาราวานอูฐและผู้นำเต็นท์คือพระเอกตัวจริงของเส้นทางการค้านี้ พวกเขาต้องผจญกับพายุหิมะ ภยันตรายต่างๆ ภายใต้อุญหภูมิติดลบ -30ºC ถึง -40ºC  กองคาราวานอูฐก็ยังต้องเดินทางบนที่ราบทุ่งหญ้าที่เป็นน้ำแข็งตามปกติ เรื่องที่น่ากลัวมากก็คือ เมื่อคนดูแลอูฐก่อนจะตาย เขาจะไหว้วานคู่หูหรือนายห้างช่วยนำศพของเขากลับบ้านเกิด ซึ่งจะต้องใชวิธีการที่พิเศษเฉพาะมากที่เรียกว่า “ทับถมศพ”(叠尸) ก็คือก่อนที่คนๆนั้นกำลังจะสิ้นใจแต่ยังไม่สิ้นลมหายใจ พวกกองคาราวานจะนำร่างของเขาพับขึ้นมาเป็น 3 ทบ หลังจากนั้นนำไปบรรจุในตระกร้าสินค้าเพื่อนำกลับไป

        นี่คือเส้นทางการค้าที่โปรยด้วยเลือดและน้ำตา กองเต็มไปด้วยโครงกระดูก เต็มไปด้วยขวากหนาม ซึ่งนี่ก็คือความกล้าหาญเกินมนุษย์และจิตวิญญาณของการเสียสละของเหล่าผู้นำทางและกองคาราวานอูฐ ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนรัสเซียสนิทชิดเชื้อมากยิ่งขึ้น เพื่อใบชาที่มาจากทางแถบตอนใต้ของเมืองจีน ถูกลำเลียงขนส่งไปยังท้องถิ่นห่างไกลของรัสเซียอย่างไม่หยุดหย่อน

        นักเดินทางที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศร้อนอ้าวและหนาวเน็บ พายุทราย และต้องเดินทางเช้ายันเย็น ตรากตรำยากเข็ญ สิ่งที่พวกเขาได้ทานคือบะหมี่ข้าวโอ๊ตและขนมปังข้าวโพด และพัดบะหมี่ผักดอง สิ่งที่ได้ดื่มคือน้ำหิมะที่ต้มด้วยมูลสัตว์ ระหว่างทางยังต้องต่อสู้กับโจรปล้นสดมภ์ ในทะเลทรายโกบีอันกว้างใหญ่ การเดินทางอย่างช้าๆด้วยความลำบากบนเส้นทางทรายที่สุดลูกหูลูกตา ภายใต้อุณหภูมิที่แตกต่างกันมากของกลางวันและกลางคืนราวกับการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมของฤดูร้อนและฤดูหนาวในขณะเดียวกัน เป็นบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ต่อจิตตานุภาพของมนุษย์



        หลังยุคปีที่ 80 ศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์ชิงก็เข้าสู่ความตกต่ำทุกด้าน ในขณะที่รัสเซียได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการเชิงอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเดินเรือมหาสมุทร อุตสาหกรรมการต่อเรือ การพัฒนาทุกด้านทำให้พ่อค้ารัสเซียได้รับโอกาสอันหาได้ยากยิ่ง เป็นไปตามการกำหนดเส้นทางทะเลระหว่างจีนรัสเซีย เส้นทางการค้าชาบนบกทางแถบตอนเหนือก็ค่อยๆเลือนหายไป 

        ปี 1891 เริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟไซบีเรีย การวางสายเคเบิลจากกรุงมอสโกถึงเซี่ยงไฮ้ได้สำเร็จลุล่วงแล้ว ในช่วงเวลานั้น บนที่ราบสูงมองโกเลียอันกว้างใหญ่ไพศาล กองคาราวานอูฐของ “ต้าเซิ้นขวุย” ต้องเล่นเกมหมากรุกกระดานสุดท้ายที่ฝีมือคนละชั้นกับพลังเชิงเครื่องจักรของคนรัสเซีย  ใบชาทางแถบตอนใต้ของเมืองจีนไม่ต้องลำเลียงขนส่งผ่านกองคาราวานอูฐอีกแล้ว แต่เป็นการขนส่งไปรัสเซียโดยรถไฟ ภาพเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่เมื่อวันวานของ “เส้นทางใบชา” และ “ต้าเซิ้นขวุย” เริ่มเลือนหายไปจากสายตาของผู้คน 

        เมื่อแสงรุ่งอรุณของศตวรรษที่ 20 เริ่มสาดส่อง ส่องไปที่ราบสูงมองโกเลีย กองคาราวานอูฐที่ใหญ่มหึมาเหล่านี้ สุดท้ายต้องมอดไหม้ภายใต้กระแสเวลาที่เชี่ยวกราก เสียงกระดิ่งอูฐบนทะเลทรายโกบีค่อยๆกลายเป็นเสียงสะท้อนอันไกลโพ้นของประวัติศาสตร์

        เส้นทางใบชาจากจุดเริ่มต้นหวู่หยีซานของฝูเจี๋ยน ทะลุผ่านพื้นที่ห่างไกลของเมืองจีนมุ่งสู่ที่ราบทุ่งหญ้ามองโกเลียและรัสเซียที่อยู่อันไกลโพ้น เป็นเส้นทางการค้าทางบกที่ยาวที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลานั้นถึงสองหมื่นกว่ากิโลเมตรตลอดเส้นทาง ได้บ่มเพาะรูปแบบการดื่มชาที่ไม่เหมือนกันออกมามากมาย และการตระหนักรู้ของชีวิตที่เชื่อมโยงกับชาอย่างใกล้ชิด ทำให้ชาในเขตพื้นที่ต่างกันตกตะกอนเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน และทำให้ชาเป็นพาหะของความทรงจำและอารมณ์ร่วมกัน

        ต้นศตวรรษที่ 20 ท่างกลางเสียงหวูดของรถไฟและเรือยนต์ เส้นทางมหากาพย์เส้นนี้ถูกวิธีการขนส่งและระบบกาค้ายุคใหม่เข้ามาแทนที่โดยสิ้นเชิง ยถากรรมต่างๆล้วนไปตามช่วงประวัติศาสตร์ที่อลังการแล้วหายเข้าไปในพายุทรายและพงหญ้า และแล้ว ใบชาก็ได้แทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนอย่างสมบูรณ์ เป็นไปได้ว่าในอนาคตอันไกล้นี้ เส้นทางอันยิ่งใหญ่ที่เคยรุ่งโรจน์ช่วงระยะเวลาหนึ่งเส้นนี้กลับมาโชติช่วงชัชวาลอีกครั้ง บนเส้นทางใบชาโบราณ ชาและใต้ฟ้า ผสมผสานรสชาติเป็นร้อยเป็นพัน นำเสนอชีวิตที่สุกใส........

........จบ《เส้นทางใบชา (3) : เสียงกระดิ่งอูฐนอกกำแพงเมืองจีน》........


สารคดีโทรทัศน์มินิซีรีส์ 6 ตอน《茶叶之路》ตอนที่ 3 :《塞外驼铃

《เส้นทางใบชา》ตอนที่ (2) : เซี่ยเหมยกระเพื่อม