วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563

คนแต้ซัวดื่มชา ดิบเถื่อนเต็มพิกัด !



        การดื่ม “ชากงฟู/工夫茶” เป็นสิ่งอันดับแรกในการดำเนินชีวิตของคนแต้ซัว (ชื่อเรียกรวมกันของเมืองแต้จิ๋วกับเมืองซัวเถา)

        คนในยุคชิงเคยกล่าวไว้ว่า มีเขตพื้นที่ 4 แห่งที่นิยมชากงฟูมากที่สุด : “ทิงโจว จางโจว เฉวียนโจวในฝูเจี้ยน แต้จิ๋วในกว่างตง” นอกจากทิงโจวที่ตั้งอยู่ในหมิ่นซี(ฝูเจี้ยนตะวันตก)ซึ่งจัดอยู่ในวัฒนธรรมฮากกาแล้ว นอกนั้น 3 เมืองตั้งอยู่ในหมิ่นหนาน(ฝูเจี้ยนใต้)และแต้ซัวในปัจจุบัน

        มีผู้คนมากมายที่ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งต่อความเกี่ยวข้องของ “หมิ่นหนาน/闽南” กับ “แต้ซัว/潮汕”---สรุปโดยย่อก็คือ พื้นที่สองแถบนี้ แม้ว่าหนึ่งอยู่ในฝูเจี้ยน อีกหนึ่งอยู่ในกว่างตง แต่บนภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ที่เชื่อมติดเป็นผืนแผ่นเดียวกัน ภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมาก สามารถยืดถือได้ว่าแถบแต้ซัวกับใต้หวัน จางโจว เฉวียนโจวล้วนจัดอยู่ในบริบทของวัฒนธรรรมหมิ่นหนาน

        จากการค้นคว้าวิจัยทางเอกสาร เริ่มตั้งแต่ยุคซ่ง ชาวหมิ่นหนานจำนวนมากได้อพยพเข้าไปในแต้ซัว ได้ปรับเข้ากันในวัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิม ดังนั้น วัฒนธรรมแต้ซัวหลังยุคซ่งบนพื้นฐานเหมือนกับของหมิ่นหนาน

        ถ้าเช่นนั้น สิ่งที่พวกเราอยากถามในวันนี้ก็คือ ทำไมคนแต้ซัวและคนหมิ่นหนานถึงชื่นชอบชากงฟูกันนัก ?

        นิยามการดื่มชาขึ้นมาใหม่

        กล่าวสำหรับคนแต้ซัวและคนหมิ่นหนานแล้ว การดื่มชาเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยจินตนาการเรื่องหนึ่ง

        ก่อนอื่น เมื่อมีสภาวะการดื่มชา ก็ต้องทำการดื่มอย่างแน่นอน เมื่อไม่มีสภาวะ ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมาเพื่อดื่มให้ได้

▲ภาพที่พบเห็นบ่อยๆบนรถไฟความเร็วสูงสายเซี่ยเหมิน-เซินเจิ้น ที่วิ่งผ่านหมิ่นหนาน แต้ซัว | กลิ่นหอมชาอบอวลฟุ้งกระจายอย่างอิสระเสรี ในความเร็ว 300 กม./ชม.

▲ไม่ว่ารถจะติดบนทางด่วนในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือในวันเชงเม้ง ขออนุญาตใช้ผืนแผ่นดินมาทำเป็นที่รองชง(茶船)

▲น้ำท่วมเข้าบ้านสูง 1 เมตร ขอดื่มชาสักจอกเพื่อสงบสติอารมณ์

▲การวิ่งมาราธอน-กีฬายุคกรีกโบราณ เมื่อเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์แต้ซัวแล้ว ก็เข้าทำนองเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม | ไม่ว่าจะวิ่งเร็วแค่ไหน ชาก็จะวิ่งไล่ตามทันบริการเสมอ

        การกระเพื่อมจินตนาการของคนแต้ซัวยังปรากฏให้เห็นในเวลาการชงชา

        โปรดระลึกเสมอว่า การชงชาของคนที่เป็นคนแต้ซัวแท้จริงนั้นน้ำชาน้ำแรกไม่สามารถนำมาดื่มได้ จะต้องเททิ้งไป

        มีคำพังเพยของแต้จิ๋วที่เล่าว่า : “รอบแรกคราบตีน รอบสองใบชา รอบสามคนชั้นต่ำเอื้อมไม่ถึง” ความหมายก็คือ น้ำชาน้ำแรกที่ดื่มคือเหงื่อไคลบนเท้า น้ำสองจึงจะเป็นรสดั้งเดิมของใบชา น้ำสามก็คือรสที่มีบุคลิคมากที่สุด ซี่งคนต่ำต้อยไม่มีโอกาสดื่มได้

        “การนวด” หนึ่งในขั้นตอนการผลิตของชาอูหลงดั้งเดิมจะใช้ตีนเท้าเหยียบ ทุกวันนี้ได้ใช้เครื่องจักรที่ผ่อนแรงและประสิทธิภาพสูงมาทดแทนแล้ว แต่ในใจของคนแต้ซัวยังจินตนาการถึงขี้ไคลของเท้าที่ไม่ดำรงอยู่แล้ว จึงนำน้ำชาน้ำแรกเททิ้ง

        หลังจบการชงชาจะไม่ทิ้งกากใบชา ไม่ล้างปั้นชา ให้ใบชาในปั้นเพาะเลี้ยงแก่นสาร ยิ่งนานวันเข้า บนผิวเนื้อดินเผาที่มีรูระบายอากาศมากมายจะก่อเกิดเป็นชั้นของสารสีดำ คนแต้ซัวเรียกมันว่า “คราบชา/茶渣” ถ้าสามารถครอบครองปั้นที่สะสมชั้นคราบชาอย่างหนาใบหนึ่ง บ่งชี้ว่าท่านคือยอดฝีมือทางชา แต่ถ้าบอกว่านั่นก็คือ “คราบสกปก/污垢” งั้นก็ขอเชิญท่านออกไปไกลๆ

▲คนแต้ซัวที่ดื่มชาเป็นทุกคนล้วนหวังที่จะมีปั้นชาที่สะสมคราบชาชั้นหนาๆสักใบ

        ในยุคชิงมีเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาว่า : เศรษฐีแต้จิ๋วที่ชอบดื่มชาท่านหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งมีขอทานมาที่บ้าน ไม่ต้องการอาหาร ไม่ต้องการเงิน เพียงขอแค่ดื่มชา เศรษฐีแปลกใจมากจึงถามว่า “มึงเป็นขอทาน รู้จักดื่มชาด้วยเหรอ?” ขอทานตอบว่า “เดิมข้าก็เป็นคนมีกะตังค์เหมือนท่าน เนื่องจากลุ่มหลงกับการดื่มชาจึงจนลงกลายเป็นขอทาน” หลังได้ดื่มชาของเศรษฐีไปแล้ว ขอทานได้เอ่ยขึ้นมาว่า “ชาเป็นชาดี เสียดายปั้นเป็นปั้นใหม่” พูดพลาง ได้ดึงปั้นชาเก่าที่มีคราบชาหนาๆออกมาใบหนึ่ง เปิดฝาขึ้นมาก็มีกลิ่นหอมฟุ้ง เมื่อทำการชงชายิ่งสุดยอดเข้าไปอีก

        ดังนั้น คนแต้ซัวที่ดื่มจนล่มละลายแล้วยังอยากที่จะดื่มอีก เพื่ออะไรกันแน่ถึงบากบั่นกับการดื่มชาเช่นนี้ ?     

        การดื่มชาสามารถโอ้อวดความมั่งมี

        มีคนกล่าวว่า การชื่นชอบในการดื่มชาปรากฎให้เห็นถึงเรียบง่ายสมถะ สงบสุขในกาลเวลาของคนแต้ซัว ถือเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้อยู่บนความจริงอย่างสิ้นเชิง

        เริ่มต้นคนหมิ่นหนาน คนแต้ซัวดื่มชากงฟู ที่แท้เป็นการอวดร่ำอวดรวย

        เริ่มตั้งแต่ยุคถัง คนฝูโจว เฉวียนโจวมณฑลฝูเจี้ยนได้ริเริ่มข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำการค้ากันแล้ว ยุคซ่งได้ก่อตั้งสำนักงานชิปปิ้งที่เฉวียนโจว เฉวียนโจวกลายเป็นเมืองท่าใหญ่แห่งแรกแห่งตะวันออก ถึงแม้มีการจำกัดการค้าต่างประเทศในยุคหมิง แถบทางจางโจวฝูเจี้ยน แต้จิ๋วกว่างตงก็ยังฝ่าฝืนข้อบังคับทางกฎหมาย กระทั่งทำสงครามกับทหารราชวงศ์หมิง ซึ่งราชนาวีพระราชวังมิอาจรบชนะนักรบผู้กล้าที่พร้อมอาวุธของพ่อค้าจางโจวและแต้จิ๋วได้

▲บนโต๊ะชาในบ้านคนแต้ซัวและหมิ่นหนานแทบจะต้องมีภาชนะชิ้นใหญ่ที่เรียกว่า “ฉาฉวน/茶船” (เรือชา ; ภาชนะรองชง) อาจทำจากดินเผา อาจทำด้วยไม้ ฉาฉวนมีทั้งใหญ่และเล็ก ขนาดเล็กเป็นเพียงถาดที่มีฝา ปั้นชาจอกชาวางอยู่ข้างบนโดยตรง ถ้าเป็นขนาดใหญ่แล้วไซร์ โต๊ะชาทั้งโต๊ะทำเป็นฉาฉวน

        นักวิชาการทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า การห้ามเข้าออกทางทะเลกลับกลายเป็นการสร้าง “การค้าเอกชนทางทะเลของเมืองจีนถูกควบคุมอยู่ในมือของคนจางโจวและคนแต้จิ๋ว”

        จากยุคซ่งถึงยุคหมิงและชิง พ่อค้าของหมิ่นหนานและแต้ซัวรวยไม่รู้เรื่อง แต่เนื่องจากพื้นเพเดิมเป็น “แดนป่าเถื่อนทางใต้/南蛮之地” ก็ยังถูกจัดให้เป็นคนชั้นต่ำในห่วงโซ่ชั้นวรรณะทางสังคมของเมืองจีน

        เมื่อมีเงินแล้วแต่ยังถูกรังเกียจดูแคลน เศรษฐีใหม่ท้องถิ่นหมิ่นหนานและแต้ซัวได้กระทำการหลายๆสิ่งหลายๆอย่าง เพื่อยกระดับ “ลักษณะบุคลิคภาพอันศิวิไลซ์/人文气质” ของตนเอง อย่างเช่น บรรดาพ่อค้าหมิ่นหนานบริจาคเงินสร้างโรงเรียน หลังจากกลางยุคหมิง จำนวนบัณฑิตพระราชวังของจางโจวและเฉวียนโจวมากกว่าฝูโจว เป็นอันดับต้นๆของฝูเจี้ยน

        ด้านการดื่มชา เป็นกิจกรรมมาตรฐานของชนชั้นคนมีเงินและมีเวลาว่าง โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคถังที่ลู่หยี่ได้เขียน《คัมภีร์ชา/茶经》ชายิ่งกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการโอ้อวดสถานะภาพและวัฒนธรรมของชนชั้นสูง ก่อนยุคหมิงและชิง พื้นที่ศูนย์กลางการผลิตและการบริโภคใบชาล้วนอยู่ที่เจียงเจ้อ(ชื่อเรียกรวมกันของมณฑลเจียงซูกับมณฑลเจ้อเจียง)ที่มั่งคั่งร่ำรวย

        แต้ซัวดั้งเดิมไม่มีประเพณีนิยมการดื่มชา ใบชาก็มีน้อยมาก ข้าหลวงฝูเจี้ยนตันยุคชิงได้บันทึกไว้ว่า : ช่วงยุคหมิง ใบชาฝูเจี้ยนที่ถวายบรรณาการพระราชวัง เพียงแค่นำมาล้างถ้วยชามในราชสำนัก

        ถึงยุคชิง คนมีเงินของหมิ่นหนานและแต้ซัวมีความต้องการดื่มชา ในฐานะที่เป็นพื้นที่สำคัญทางการผลิตใบชาของฝูเจี้ยน การลุกขึ้นยืนขึ้นมาได้ของใบชาอู่หยีก็ขึ้นอยู่กับใบชามาตรฐานที่ใช้ในชากงฟู---การคิดประดิษฐ์ของชาอูหลง

▲《แผ่นที่ฝูเจี้ยน/福建全图》เขียนขึ้นในรัชศกถงจื้อปีที่ 3 (ปี 1863) ราชวงศ์ชิง | วงกลมสีแดงตรงมุมบนซ้ายคือตำแหน่งที่ตั้งของอู่หยีซาน(武夷山) อยู่บนเขตแดนระหว่างเจียงซีกับฝูเจี้ยน ใบชาอู่หยีซานขนส่งลำเลียงจากแม่น้ำทิงและแม่น้ำหานลงสู่แต้ซัว

        ใบชาที่เป็นกระแสนิยมในช่วงกลางยุคชิงก็ยังเป็นชาเขียวคั่วเส้น ไม่ผ่านการหมัก หลักใหญ่ดำรงไว้ซึ่งรสดั้งเดิมของใบชา ส่วนชาอูหลงกึ่งหมักที่กระบวนการผลิตต้องสิ้นเปลืองแรงงานมาก จำเป็นที่จะต้องคั่วปิ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงจะสามารถทำให้ใบชาอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมที่ร้อนแรงกว่าชาเขียว

        ดังนั้นเบื้องหลังของกลิ่นหอมชาอูหลง ก็คือการค้ำจุนของอำนาจเงิน เทคโนโลยีและแรงงาน

▲ความสำคัญของการสร้างสรรค์ชาอูหลง | เนื่องจากเทคโนโลยีของชากึ่งหมัก หลังจากใช้น้ำดือดในการชง มันสามารถปลดปล่อยกลิ่นหอมที่เร็วและร้อนแรงกว่าชาเขียว และยังสามารถชงทนหลายน้ำ ดังนั้น แบบฉบับของวิธีการชงชากงฟู---น้ำเดือด แช่แพล็บ ชงซ้ำหลายรอบ จึงสามารถแสดงจุดโดดเด่นที่สุดออกมาได้

        ฤดูการเด็ดเก็บใบชาในยุคชิง บนอู่หยีซานสามารถรวบรวมคนเด็ดใบชาได้เกินหมื่น อาจารย์ทำชาที่จ้างมาคือคนเฉวียนโจว นอกจากชาอู่หยีซานทั่วไปแล้ว คนหมิ่นหนานยังได้พัฒนาเถี่ยกวนยินจากอานซีฝูเจี้ยนใต้ เฟิ่งหวงตานฉงของเฟิ่งหวงซานแต้จิ๋ว เป็นต้นที่เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อลือนาม

        ลำดับรองลงมา คนแต้ซัวเรียนการดื่มชาแบบคนเจียงเจ้อ สิ่งที่ใช้คือปั้นจื่อซาที่ผลิตจากหยีซิงเจียงซู ซึ่งคนที่รวยจริง สามารถอาศัยอำนาจทางการบริโภคมาบังคับการปฏิรูปของผู้ผลิต

        ปั้นจื่อซาหยีซิงดั้งเดิมยังไม่มีการผูกมัดกับใบชาชนิดใดๆ ปลายหมิงต้นชิง การติดต่อการค้าระหว่างแต้จิ๋วกับซูโจวเจริญรุ่งเรือง บรรดาพ่อค้าแต้จิ๋วได้นำเข้าปั้นจื่อซาหยีซิงเป็นจำนวนมาก

        นักโบราณวัตถุได้ค้นพบว่า ศิลปะชากงฟูของหมิ่นหนานและแต้ซัวทำให้เกิดความต้องการปั้นจื่อซาหยีซิงเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรดาช่างฝีมือของหยีซิงปฏิรูปรูปแบบดั้งเดิมของปั้นชา สร้างสรรค์รูปลักษณะเฉพาะที่ป้อนให้หมิ่นหนานและแต้ซัว

▲ปั้นรูปลักษณะแบบนี้มีความจุน้อย ปากพวยลู่เข้า จึงเหมาะกับชาอูหลงมากกว่าปั้นรูปแบบเก่า มีความงามที่เรียบง่าย แต่ไม่มีความหมายแฝงที่ลึกซึ้งทางคตินิยมอย่างที่ปัญญาชนเจียงเจ้อชื่นชอบถวิลหา

        คนรวยของหมิ่นหนานและแต้ซัวทั้งหลายที่วังวนกับการชงชา เกิดลูกเล่นแพรวพราว

        เศรษฐีพ่อค้าหมิ่นหนานท่านหนึ่งในช่วงรัชสมัยเจียชิ่ง จะใช้โถแก้วเป็นการเฉพาะในการเก็บน้ำแร่เพื่อชงชา น้ำหนึ่งโถชงชาหนึ่งปั้น ขึ้นวันใหม่จะต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ ช่วงการชงชา จะต้องมีเด็กรับใช้มาปรนนิบัติ ที่รับผิดชอบดูแลเตาไฟก็ปาเข้าไปหลายคน ล้วนหน้าตาจิ้มลิ้ม

        การชงชาอย่างหรูหราฟู่ฟ่ารูปแบบนี้ ความเป็นจริงนี่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะในพื้นที่หมิ่นหนานและแต้ซัว มีนักวิชาการเคยกล่าวไว้ว่า : แต้จิ๋วในอดีตที่ผ่านมามีเพียงคน 2 ประเภทที่ดื่มชา---คนว่างงานที่ศาลเจ้าบรรพบุรุษ คนรวยที่ทำการค้า ; ตราบจนถึงปัจจุบัน อุปกรณ์ชาจะดีเลวในบ้านของคนหมิ่นหนานและแต้ซัว ยังสามารถปรากฏให้เห็นถึงอำนาจทางการเงินของครอบครัว

        ดื่มชาจอกนี้แล้วก็คือกากี่นั้ง

        ชากงฟูเริ่มต้นเพื่อโอ้อวดความมั่งมีและเป็นการชุบตัว ปัจจุบันได้หล่อหลอมเข้าไปในชีวิตของคนทั่วไปแล้ว

▲การดื่มชากงฟูของคนแต้ซัว เริ่มฝึกหัดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

        แม้ว่าอุปกรณ์ชา ใบชาขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละคน แต่กฎเกณฑ์ของการชงชากงฟูจะไม่ถูกละเลย จิตวิญญาณแห่งความหมายแฝงของชากงฟูได้ฝังรากลึกลงในกฎระเบียบของสังคมชาติเชื้อหมิ่นหนานและแต้ซัวแล้ว 

        ในวงชากงฟู ผู้ที่รับผิดชอบการชงชาทั่วไปจะเป็นเจ้าภาพผู้ชาย การสังสรรค์ร่วมรับประทานอาหารในกลุ่มเครือญาติ ทั่วไปจะเป็นลูกชายคนโตหลานชายคนโต สถานการณ์ที่ผู้หญิงมาดำเนินการชงชาแทบจะพบเห็นได้น้อยมาก จำนวนจอกของชาแต่ละรอบมีจำกัด ดังนั้นจึงเกิดการจัดลำดับก่อนหลัง---ทั่วไปแขกเป็นคนอันดับแรก ผู้อาวุโสชายเป็นคนแรก คนชงชาเป็นคนสุดท้าย

▲ความต้องการของชากงฟูแบบฉบับแท้จริง “หนึ่งถ้วยสามจอก/一盅三杯” ให้มีจอกชาเพียง 3ใบ ผลัดกันใช้ในหมู่คนที่ร่วมดื่มชา ทุกรอบของการดื่มจะล้างจอกหนึ่งครั้ง ทุกคนแบ่งปันน้ำชาอันน้อยนิดในปั้นปังโคย นี่ก็คือข้อกำหนด คนที่จะเข้าร่วมวงชาไม่ควรมากเกินไป

        ในหมิ่นหนานและแต้ซัว ชากงฟูไม่เพียงเชื่อมโยงกับลำดับตระกูลอย่างแนบแน่น การดื่มชาเป็นเครื่องมือที่สำคัญใช้เป็นพิธีการในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เปลี่ยนเป็นพลังความสามัคคีภายในต่อสู้กับภายนอก---ดื่มชาจอกนี้แล้ว คุณก็คือกากี่นั้ง(家己人)

        “ที่ที่มีคนแต้ซัว จะต้องมีชากงฟู” ชาวจีนโพ้นทะเลที่มาจากหมิ่นหนานและแต้ซัวมีเป็นจำนวนมาก ในยุคปี 40 มีภาพยนต์เรื่อง《ตามหาผัวโพ้นทะเล/海外寻夫》ได้บรรยายประวัติการต่อสู้ดิ้นรนของคนแต้ซัวโพ้นทะเล นางเอกตามท้องเรื่องเป็นแม่บ้านแต้จิ๋ว ผัวของนางต้องเดินทางมาเมืองไทยเป็นจับกังที่ท่าเรือแบกกระสอบข้าวสาร เนื่องจากเป็นโอกาสโดยบังเอิญ เถ้าแก่ชาวแต้จิ๋วได้ดื่มชากงฟูที่เขาชง รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก จึงให้เขามาทำงานที่ห้างขายข้าวสารเพื่อชงชากงฟูโดยเฉพาะ---นับต่อแต่นี้ไปเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ก้าวสู่จุดสุดยอดบนเส้นทางชีวิต

        ดังนั้น ถ้าหากเพื่อนๆรอบข้างของคุณมีที่มาจากหมิ่นหนานหรือแต้วซัว ในขณะที่พวกเขานำอุปกรณ์ชงชากงฟูออกมา คุณอาจต้องระมัดระวัง ไม่แน่เขาก็คือทายาทรุ่นที่สองของเจ้าสัวที่แฝงกายอยู่ คิดจะเป็นพี่น้องกับคุณ นำคุณสู่ความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว ถ้าหากคุณไม่กล้าพอที่จะดื่ม เชิญติดต่อผมได้นะครับ !



เอกสารอ้างอิง :
1. 潮汕人喝茶 , 野到不行 !: https://k.sina.cn/article_1653689003_62914aab01900gnuo.html

วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2563

ประวัติวิวัฒนาการของปั้นชาจีน | (ตอนที่ 2/2)



     【อดีตและปัจจุบันของปั้นจื่อซา

        ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ「ปั้นจื่อซา/紫砂壶」ดูเหมือนไม่มีเอกสารโบราณใดที่สามารถตีความออกมาได้ค่อนข้างชัดแจ้งสมบูรณ์ ความยากอันดับแรกก็คือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ “ต้นกำเนิดของปั้นจื่อซา” จากความคิดเห็นต่างๆตลอดมา สามารถสรุปรวบยอดออกเป็น 2 แนวความคิด :

        1. ปั้นจื่อซาริเริ่มเผาขึ้นในยุคซ่ง

        ในเอกสารโบราณยุคซ่งและเหยียนมีการบันทึกถึงอุปกรณ์ชาจื่อซาแล้วอย่างเลือนราง ในปี 1976 ได้ค้นพบซากเตาเผาโบราณ ณ เขาหยางเจี่ยวอำเภอติงสวู่เมืองหยีซิง ขุดพบซากเศษชิ้นส่วนจื่อซาในอดีตมากมายก่ายกอง หลังจากได้พินิจพิเคราะห์แล้ว นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่า “บนสุดไม่เกินกลางยุคซ่งเหนือ นิยมแพร่หลายในยุคซ่งใต้ ล่างสุดต่อเนื่องถึงต้นยุคหมิง” แล้วถือเป็นหลักฐานชี้ว่าปั้นจื่อซาได้ริเริ่มเผาผลิตขึ้นในยุคซ่งแล้ว

▲ตัวอย่างเศษชิ้นส่วนจื่อซาที่ขุดพบในปี 1976 ณ เขาหยางเจี่ยวอำเภอติงสวู่เมืองหยีซิง/宜兴丁蜀镇蠡墅村羊角山 | สันนิษฐานว่าเป็นเศษชิ้นส่วนจื่อซาในช่วงกลางยุคซ่งและเหยียน

        2. ปั้นจื่อซาริเริ่มเผาขึ้นในยุคหมิง

        การสำรวจทางโบราณคดี ณ เขาสวู่อำเภอติงสวู่เมืองหยีซิงในปี 2005 ได้ขุดค้นพบภาชนะจื่อซาและเศษชิ้นส่วนในปลายยุคหมิงและต้นสาธารณรัฐออกมาเป็นจำนวนมาก เมื่อทำการเปรียบเทียบเศษชิ้นส่วนจื่อซาของเขาหยางสวู่กับเขาสวู่แล้ว นักขุดค้นโบราณคดีบ่งชี้ว่าเศษชิ้นส่วนจื่อซาเขาหยางสวู่ “แรกสุดในปลายยุคหมิง ปลายสุดในยุคสาธารณรัฐ” นี่จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นไปได้ของแนวคิดนี้

▲ตัวอย่างภาชนะจื่อซาและเศษชิ้นส่วนที่ขุดพบในปี 2005 ณ โบราณสถานสองแห่งแถบตะวันตกเฉียงใต้เขาสวู่อำเภอติงสวู่เมืองหยีซิง/宜兴丁蜀镇蜀山西南片的两个遗址 | สันนิษฐานว่าเป็นเศษชิ้นส่วนจื่อซาในช่วงปลายยุคหมิงถึงต้นสาธารณรัฐ

      「ปั้นจื่อซา」ยุคแรกมีลักษณะเป็นงานหยาบ เนื้อดินหยาบ วิธีการขึ้นรูปตัวปั้นเฉกเช่นเดียวกับวิธีการผลิตโอ่งดินเผา เผาผลิตพร้อมกับโอ่งดินเผาในเตาเผาที่ความร้อนต่ำ ไม่ใช้กล่องผนึก อนุมานเป็นภาชนะที่ใช้ในการต้มน้ำหรือต้มชา อย่างเช่น「ปั้นสายหิ้วหวูจิง/吴经提梁壶」ที่ขุดค้นพบในปี 1966 และ「ปั้นจื่อซาสี่หูร้อย/四系紫砂壶」ที่ขุดค้นพบในปี1991 ต่างมีรอยไฟไหม้ นี่เป็นตัวบ่งบอกสถานะเช่นนี้ ต่อมาจึงค่อยๆหนีออกห่างจากเปลวเพลิงในเตาถ่าน ปรับตัวไปทางภาชนะชงชา จากปั้นขนาดใหญ่เปลี่ยนมาเป็นปั้นเล็กที่เป็นของเล่นของปัญญาชน และก็มุ่งสู่เป็นงานศิลปกรรมที่ละเอียดประณีต

▲ปั้นสายหิ้วหวูจิง/吴经提梁壶 | ปั้นจื่อซาใบแรกที่ขุดพบทางโบราณคดีในปี 1966 ถูกฝังพร้อมขันที หวูจิง(吴经) เมื่อรัชศกเจียจิ้งปีที่ 12 (ปี 1533) วิธีการผลิตตัวปั้นโดยการนำส่วนบนและส่วนล่างมาประกบเชื่อมต่อกัน ส่วนประกอบอื่นๆเช่นหู พวยจะยึดติดกับตัวปั้นด้วยหมุด ยังไม่มีตราประทับใดๆ เผาผลิตโดยไม่มีกล่องผนึก ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับปั้นจื่อซาที่ใช้ในการชงชาที่นิยมหลังกลางยุคหมิง

▲ปั้นจื่อซาสี่หูร้อย/四系紫砂壶 | ภาชนะจื่อซาในยุคหมิงช่วงรัชสมัยเจิ้งเต๋อถึงเจียจิ้ง ขุดพบในปี 1991 เนื้อดินออกสีน้ำตาลม่วง เนื้อดินประกอบด้วยทรายหยาบเป็นจำนวนมากเหมือนเนื้อโอ่งดินที่หนาและหนัก วิธีการทำตัวปั้นเหมือนปั้นสายหิ้วหวูจิง ภายในปั้นสามารถเห็นรอยต่อได้ชัดเจน  อนุมานว่าใช้ในการต้มน้ำหรือต้มชา

▲อุปกรณ์ชาจื่อซาว่านลี่ปี10(ปี1582)ยุคหมิง/明万历十年紫砂茶具 | ขุดพบในปี 2002 จากสุสานขันที จ้าวซีจาง(赵西漳) เมื่อเทียบเคียงกับ “ปั้นหวูจิง” แล้วจะช้ากว่า 49 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้น ศิลปินแห่งยุคสือต้าปิงยังไม่ปรากฏ วิธีการทำปั้นจะแตกต่างจาก “ปั้นหวูจิง” โดยตัวปั้นใช้เส้นดินแผ่นเดียวล้อมเป็นทรงกระบอกแล้วตัดเชื่อมติดกัน มิใช่แบบนำส่วนบนและส่วนล่างมาเชื่อมต่อกัน พวยและหูจับเชื่อมติดกับตัวปั้นด้วยวิธีแบบเปิด(明接法) มิใช่การเชื่อมติดกันด้วยหมุด(铆接法) ใช้กล่องปิดผนึกในการเผาที่อุณหภูมิต่ำ เนื้อดินยังไม่ถูกเผาผนึกจนเกิดความเป็นแก้ว

▲ชุดจอกจื่อซาว่านลี่ปี10(ปี1582)ยุคหมิง/明万历十年紫砂套杯 | ประกอบด้วยจอกทรงแปดเหลี่ยม 4 ใบขนาดจากเล็กเรียงลำดับไปหาใหญ่ เมื่อนำมาวางทับซ้อนกันปากจอกจะอยู่ในระดับเดียวกัน ใต้ก้นจอกนอกมีการประทับตัวอักษร “” “” “” “” ซึ่งตราบจนถึงทุกวันนี้ นี่เป็นตราประทับยุคแรกในบรรดาภาชนะจื่อซาที่ขุดค้นพบทางโบราณคดี มีความหมายที่กว้างขวางมาก

        ตามเอกสารโบราณยุคหมิงและชิงที่มีบันทึกไว้ว่า ในช่วงรัชสมัยเจิ้งเต๋อถึงเจียจิ้ง (ปี1506-1566) “กงชุน/供春” ซึ่งเป็นเด็กรับใช้ที่ได้เรียนรู้การปั้นภาชนะจากดินจื่อซากับหลวงพี่คนหนึ่งในวัดจวินซา เป็นคนที่ทำ “ปั้นปุ่มต้นแปะก๊วย/树瘿壶” ขึ้นมาที่ภายหลังเรียกเป็น「ปั้นกงชุน/供春壶」ถือเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นที่ผลิตภัณฑ์จื่อซากลายเป็นงานหัตถกรรมที่แท้จริงแขนงหนึ่ง

▲กงชุน/供春 | ไม่ว่าบุคคลที่ชื่อ “กงชุน” จะมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือ “ปั้นกงชุน” จะทำขึ้นโดย “กงชุน” ตามคำร่ำลือหรือไม่ สิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับมันได้กลายเป็นสีสันแห่งตำนานตอนหนึ่งที่ได้ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ไปแล้ว กล่าวจากความหมายบางแง่ ข้อเท็จจริงของ “กงชุน” ดูเหมือนว่าไม่มีความสำคัญแล้ว เนื่องจากมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์จุดตั้งต้นทางวัฒนธรรมจื่อซาของเมืองจีนไปแล้ว

        ในช่วงรัชสมัยเจียจิ้งถึงหลงชิ่ง (ปี1522-1572) ได้เกิดศิลปินจื่อซาที่ขึ้นชื่อคือ “ต่งฮั่น/董翰” “จ้าวเหลียง/赵梁” “สือเผิง/时朋” (พ่อของสือต้าปิง) และ “เหยียนฉ่าง/元畅” รวมเรียกเป็น “สี่นักปั้นผู้ยิ่งใหญ่/名壶四大家” ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีความถนัดในศิลปกรรมที่เป็นแบบฉบับของตนเอง

▲ปั้นจื่อซาของต่งฮั่น/董翰紫砂壶

▲ปั้นจื่อซาของเหยียนฉ่าง/元畅紫砂壶 

        หลังยุครัชสมัยเจียจิ้ง มีศิลปินนักปั้นปรากฏขึ้นมามากมาย ได้สร้างสรรค์ปั้นจื่อซารูปแบบมากมายที่ยังสืบทอดถึงทุกวันนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสุนทรียะของปัญญาชนที่ชื่นชอบการดื่มชาโดยชงเองดื่มเอง ปัญญาชนจำนวนมากได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบผลิต หัตถกรรมปั้นจื่อซาจึงถูกยกระดับเป็นศิลปกรรมขั้นสูง นี่เป็นแรงผลักดันให้รูปลักษณะของปั้นจื่อซาไปในทิศทางที่มีขนาดเล็กลง

▲ปั้นทรงดอกเก๊กฮวยแปดกลีบของหลี่ม่าวหลินยุคหมิง(ประมาณปี 1522-1619)/明-李茂林款菊花八瓣壶 | ช่างฝีมือทำปั้นจื่อซาที่มีชื่อหลังจาก “สี่นักปั้นผู้ยิ่งใหญ่”

        ในช่วงรัชสมัยว่านลี่ (ปี1573-1620) ศิลปินจื่อซาที่สืบต่อกันมามี “สือต้าปิง/时大彬” “หลี่จ้งฝาง/李仲芳” และ “สวี่หยิ่วเฉียน/徐友泉” ทั้งสามที่มีความสัมพันธ์เป็นอาจารย์และศิษย์ รวมถูกยกย่องให้เป็น “สามผู้เชี่ยวชาญ/三大妙手” โดยมีสือต้าปิงเป็นตัวแทน สือต้าปิงเป็นผู้ที่ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาวิธีการการผลิตปั้นจื่อซาเป็นขนานใหญ่ สิ่งที่ได้ปรับปรุงพัฒนามากที่สุดก็คือการนำเส้นดินมาต่อติดกันแล้วตบตีขึ้นรูปเป็นทรงกลวง ถัดมาจึงกลายเป็นระบบเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาของหยีซิงที่พัฒนาขึ้นโดยตนเองอย่างแท้จริง

▲ปั้นสามขาลายกลีบใบหุ้มลูกพลับของสือต้าปิง/大彬款柿蒂纹三足壶 | ขุดพบในปี 1984 จากสุสานที่ฝังในรัชศกฉงเจินปีที่ 2 (ปี 1629) ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นผลงานแท้จริงของสือต้าปิง แต่มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นฝีมือของหลี่จ้งฝางและสวี่หยิ่วเฉียนซึ่งเป็นลูกศิษย์ของสือต้าปิง

        ในช่วงรัชสมัยเทียนฉีถึงฉงเจิน (ปี1621-1644) หนึ่งในบรรดานักทำปั้นจื่อซาที่มีชื่อเสียงก็คือ “ฮุ่ยเมิงเฉิน/惠孟臣” ที่มีศิลปะการทำปั้นที่เยี่ยมยอดที่สุด ผลงานปั้นของเขาดูเรียบง่ายแต่มีพลัง การสลักจารึกอักษรพู่กันจีนราวกับ เฉินซุ่ยเหลียง(褚遂良) นักอักษรวิจิตรยุคถัง ยุคหลังๆมีการทำลอกเลียนแบบ「ปั้นเมิงเฉิน/孟臣壶」ออกมาเป็นจำนวนมาก

▲ปั้นกลมจื่อซาพรมทรายโดยฮุ่ยเมิงเฉินยุคหมิง/明-惠孟臣制铺砂圆壶 | “พรมทราย/铺砂” เป็นการปรับแต่งเนื้อดินจื่อซาวิธีหนึ่ง โดยการปู โปรย หยอดเม็ดทรายต่างสีลงบนผิวแผ่นเนื้อดินแล้วทุบให้ฝังเข้าไปในเนื้อดิน 

        ยุคปลายหมิงต้นชิง ช่างใหญ่จื่อซาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ “เฉินหมิงเหยี่ยน/陈鸣远” ที่ถูกกล่าวขานเป็นผู้ชำนาญการปั้นจื่อซาที่ยิ่งใหญ่หลังจากสือต้าปิง เชี่ยวชาญในการแกะสลัก พลิกแพลงรูปแบบใหม่ ผลงานที่วิจิตรประณีตมีเสน่ห์ดึงดูด ถือเป็นจุดสุดยอดแห่งประวัติวิธีการทำปั้นจื่อซารูปแบบลวดลาย(花器)

▲《ท่อนสน》ผลิตโดยเฉินหมิงเหยี่ยน/《松段》陈鸣远制

        ช่วงรัชสมัยคังซี-หย่งเจิ้ง-เฉียนหลงราชวงศ์ชิง ปั้นจื่อซาเริ่มได้รับความสนใจจากพระราชวัง กลายเป็นเครื่องใช้ราชสำนักและของเล่นประจำวันของจักรพรรดิ โดยเริ่มต้นหุ่นปั้นจื่อซาผลิตจากหยีซิง แล้วส่งเข้าสำนักงานการผลิตในพระราชวังทำการเขียนสีฝ้าหลางไฉ่ เฝินไฉ่

▲ปั้นงอบจื่อหนีเฝินไฉ่เส้นขอบทองลายดอกไม้นกหย่งเจิ้งยุคชิง/清雍正紫泥粉彩描金花鳥紋笠帽壺

        ในช่วงรัชสมัยเจียชิ่งถึงเต้ากวง (ปี1796-1850) “เฉินม่านเซิน/陈曼生” กับ “หยางเผิงเหนียน/杨彭年” ได้ร่วมมือกันทำ「ปั้นม่านเซิน/曼生壶」ออกมาหลากหลายรูปแบบ ต่อมาปรากฏปรมาจารย์แห่งยุคหลังจากเฉินหมิงเหยี่ยนก็คือ “ซ้าวต้าเสี่ยง/邵大亨” ที่ทำปั้นจื่อซาอันเป็นอัตลักษณ์

▲《สือเผียว》ผลิตโดยหยางเผิงเหนียน แกะสลักโดยเฉินม่านเซิน/《石瓢》杨彭年制 陈曼生铭 | กู้จิ่งโจวมีความคิดเห็นว่า ฝีมือการทำปั้นของหยางเผิงเหนียนจัดอยู่ในระดับทั่วๆไป เพียงแต่ “ปั้นม่านซิน” เข้าทำนอง “ปั้นแพงเพราะชื่อ ชื่อสืบทอดตามปั้น/壶随字贵 字依壶传” 

▲《ตัวฉิว》ผลิตโดยซ้าวต้าเสี่ยง/《掇球》邵大亨制

        ยุคปลายชิงต้นสาธารณรัฐ บุคคลที่โดดเด่นหลังจากซ้าวต้าเสี่ยงก็คือ “หวางยี่หลิน/黄玉麟” ซึ่งเชี่ยวชาญในการทำปั้นทรงกลม ไม่ว่าโครงสร้าง ลวดลาย การแกะสลักล้วนคมชัด มีเอกลักษณ์ตามแบบซ้าวต้าเสี่ยงแต่ไม่มีจริตจะก้านเหมือนแบบซ้าวต้าเสี่ยง

▲《ปลาแปลงร่างเป็นมังกร》ผลิตโดยหวางยี่หลิน/《鱼化龙》黄玉麟制  

        ตั้งแต่ประเทศจีนใหม่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 อุตสาหกรรมปั้นจื่อซาก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ในปี 1955 ศิลปินอาวุโสกลุ่มหนึ่งประกอบด้วย เหริ้นก้านถิง(任淦庭) หูหยิ๋นเกิง(吴云根) ไผสือหมิน(裴石民) หวังหยินชุน(王寅春) จูเข่อซิน(朱可心) กู้จิ่งโจว(顾景州) เจียงหยง(蒋蓉) เป็นต้นได้ร่วมกันก่อตั้ง “โรงงานหัตถกรรมจื่อซาหยีซิงมณฑลเจียงซู/江苏省宜兴紫砂工艺厂” (มีชื่อย่อว่า “โรงเก่า 1/老一厂”) เป็นการเริ่มต้นในการฝึกอบรมศิลปินปั้นจื่อซารุ่นใหม่และเป็นการสืบทอดศิลปะหัตถกรรมเครื่องดินเผาจื่อซาให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไป

▲ศิลปินอาวุโสเจ็ดผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการจื่อซา/紫砂七大老艺人 | (จากซ้ายไปขวา) หูหยิ๋นเกิง(吴云根) ; กู่จิ่งโจว(顾景州) ; เหริ้นก้านถิง(任淦庭) ; ไผสือหมิน(裴石民) ; หวังหยินชุน(王寅春) ; จูเข่อซิน(朱可心) ; เจียงหยง(蒋蓉)

        วัฒนธรรมจิตวิญญาณและวัฒนธรรมวัตถุของสังคมมนุษย์ไม่หยุดที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตลอดเวลา สิ่งเก่าๆย่อมถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ๆ รสนิยมความงามของรูปแบบศิลปกรรมก็ทำนองเดียวกัน ผู้คนในแต่ละยุคสมัยก็มีความต้องการต่อภาชนะเครื่องใช้แตกต่างกัน สอดคล้องกับมุมมองทางสุนทรียภาพที่สะท้อนออกมาแตกต่างกัน 


    
             
           
เอกสารอ้างอิง :
1. 明代紫砂演变史 : https://www.taohuren.com/article-3115.html
2. 紫砂壶的发展历程 : http://www.chavv.com/mobile/article.php?id=6234
3. 紫砂壶的历史发展过程 : https://m.51pot.com/?module=m_knowledge_detail&id=534

วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563

ประวัติวิวัฒนาการของปั้นชาจีน | (ตอนที่ 1/2)



     【จาก「หู/」สู่「ปั้นชา/茶壶

      「หู/」(กาหรือปั้น) เป็นภาชนะที่ผู้คนมักคุ้นเคยมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีกาน้ำ กาเหล้า ปั้นชา เป็นต้น ถ้าหากมีคนถามขึ้นมาว่า「หู」มีรูปลักษณะอย่างไร? คำตอบในใจของคนส่วนใหญ่คงไม่แตกต่างจากการอธิบายคำศัพท์ในพจนานุกรมว่า : “หู คือภาชนะที่ทำจากเครื่องเคลือบดินเผาหรือโลหะ ประกอบด้วยพวย หูจับหรือสายหิ้ว ใช้ในการบรรจุของเหลว รินออกมาจากพวย

▲วิวัฒนาการของตัวอักษรจีน “หู/

▲อักษรจีนโบราณ “หู/” สองตัวแรก(ซ้าย)คือ “เจี๊ยกู่เหวิน/甲骨文” สองตัวหลัง(ขวา)คือ “จวินเหวิน/金文| จะเห็นได้ว่า「หู/」เป็นภาชนะที่มีลักษณะคอยาวท้องกลมป่อง มีฝาปิดและหูร้อย ไม่มีพวยและหูจับ 

        ความเป็นจริง สิ่งที่ใกล้เคียงกับคำอธิบายในพจนานุกรมนั่น ก็คือแนวความคิดหลังยุคหมิงเป็นต้นมา「หู」ปรากฏตัวครั้งแรกในยุคหินใหม่  ซึ่งยังไม่มีพวยและหูจับ อาจมีเพียงแค่หูร้อย(เพื่อใช้ในการร้อยเชือก) มีหลากหลายรูปแบบ ที่เป็นรูปแบบคอใหญ่ใช้ในการบรรจุอาหาร ที่เป็นรูปแบบคอเล็กจะใช้ในการบรรจุของเหลว

▲หูดินเผาเขียนลวดลายรูปทรงเรขาคณิตยุคหินใหม่/新石器时代的几何纹彩陶壶


▲ผาวหู/匏壶 | เป็นหูรูปแบบหนึ่งที่นิยมในยุคจ้านกว๋อถึงยุคฮั่น ชื่อเรียกตามลักษณะที่คล้ายน้ำเต้า(匏瓜) มีรูปลักษณะปากเล็ก คอเป็นรูปแตรคว่ำ ท้องใหญ่ เป็นภาชนะใส่เหล้าหรือน้ำ หูดินเผาและหูสำริดโบราณก็มาจากวิวัฒนาการเลียนแบบทรงน้ำเต้า

▲รูปแบบของหูเครื่องเคลือบดั้งเดิมยุคจ้านกว๋อ ยุคฉิน ยุคฮั่น ที่ขุดขึ้นมาจากหลุมฝังศพ/战国秦汉墓葬出土原始瓷壶

▲หูดินเผาเคลือบเขียวยุคฮั่น/汉代绿釉陶壶 | ถือเป็นหูดินเผาที่มีรูปแบบเป็นมาตรฐาน ปรากฏปากชามอย่างเด่นชัด อาจจะเพื่อสะดวกในการกรอกน้ำ หูใบนี้ก็ถูกจักรพรรดิเฉียนหลงแกะสลักบทกวีที่ไม่สามารถเข้าใจได้อีกเช่นเคย

        ในยุคสามก๊กสองจิ้น ปรากฏการผลิตเครื่องเคลือบศิลาดลถึงระดับขีดสุด รูปแบบของ「หู」ก็มีแนวโน้มพัฒนาไปในรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน ที่พบเห็นมากที่สุดก็คือ「หูปากชาม/盘口壶」ซึ่งยังไม่มี “พวย/” และไม่มี “หูจับ/” แต่บนไหล่จะมี “หูร้อย/” ต่อมามีการตกแต่งเลียนแบบรูปสัตว์ ในนี้ที่ขึ้นชื่อมากที่สุดก็คือ「หูหัวไก่/鸡首壶

▲หูปากชามสี่หูร้อยเคลือบดำเตาเต๋อชิงยุคจิ้นตะวันออก/东晋德清窑黑釉四系盘口壶 | ส่วนที่เป็นปากปานออก ลักษณะเหมือนชามใบหนึ่ง ส่วนล่างเชื่อมต่อกับส่วนคอเรียวยาวและช่องท้องทรงลูกบอล[ถ้าหากตัดส่วนปากออกไป ก็จะเหมือนผิง(/คนโท)มากยิ่งขึ้น] 

     「หูหัวไก่」แรกเริ่มเป็นเพียงการปั้นหัวไก่ปากแหลมไม่มีคอทรงตันติดอยู่บนไหล่ข้างหนึ่งของ「หูปากชาม」ไหล่อีกข้างจะทำเป็นหางไก่เล็กสั้น หัวไก่และหางไก่เพื่อเป็นการตกแต่งล้วนๆ เมื่อประมาณยุคจิ้นตะวันออก ปากไก่ที่แหลมแก้เป็นปากกลม หัวไก่ตรงกลางกลวงเป็นท่อทำเป็น “พวย” ใช้เป็นส่วนที่สามารถรินน้ำออกมาได้จริง ตรงข้ามจากไหล่ถึงปากชามติดตั้งหางไก่เรียวยาว สามาถใช้เป็น “หูจับ

▲หูหัวไก่หูร้อยคู่เคลือบศิลาดลสลักลายยุคจิ้นตะวันตก/西晋青釉刻花双系鸡首壶 | หัวไก่ปากปิดดูเหมือนพวยแต่รินน้ำไม่ได้  “หูหัวไก่” มิใช่ชื่อที่เรียกขานกันในยุคโบราณ(โบราณเรียกเป็น “หยิง/”) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในยุคปัจจุบันตามรูปลักษณะภาชนะ

▲หูหัวไก่เคลือบศิลาดลยุคจิ้นตะวันออก/东晋青釉鸡头壶 | หัวไก่ปากเปิดเป็นพวยที่สามารถรินน้ำได้จริง หางไก่แปรรูปเป็นหูจับ ซึ่งเพียบพร้อมด้วยรูปลักษณะพื้นฐานของปั้นชายุคปัจจุบัน

        หลังจากยุคถัง สิ่งที่มาทดแทน「หูหัวไก่」คือ「จู่จื่อ/注子」(เครื่องริน) จาก “ปากชาม/盘口” เปลี่ยนมาเป็น “ปากแตร/撇口” คอจะใหญ่สั้น ตัวภาชนะยืดสูงขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก หัวไก่ถูกทำให้ง่ายเป็นพวยรูปท่อน้ำขนาดเล็ก พวยและหูจับยังอยู่บนไหล่คนละข้างเหมือนเดิม มีบ้างที่ยังคงหูร้อยไว้ ก้นเรียบ(ต่อมาพัฒนาเป็นขาวงแหวน) รูปลักษณะภาชนะโดยองค์รวมดูผึ่งผายมั่นคง「หู」ในยุคถังจึงแยกตัวออกมาจาก「หู」ทางความหมายกว้าง ก็เรียกเป็น「ผิง/」และเนื่องจากใช้ในการใส่น้ำร้อน จึงเรียกว่า「ทังผิง/汤瓶」(คนโทน้ำ) นับต่อแต่นี้ไป「ทังผิง」ก็จัดอยู่ในสารบบของอุปกรณ์ชา

▲(ซ้าย) ทังผิงเคลือบขาวเตาสิงยุคถัง/唐邢窑白釉汤瓶 (ขวา) ทังผิงเคลือบดำเตาหลู่ซานยุคถัง/鲁山窑黑釉汤瓶

▲กาสายหิ้วกรอกกลับเคลือบศิลาดลเตาย้าวโจวยุคห้าวงศ์/五代耀州窑青釉提梁倒灌壶 | เป็นชิ้นงานที่ล้ำค่าและหายากจากเตาย้าวโจว เวลากรอกน้ำต้องคว่ำกาลง เมื่อกรอกจนเต็มแล้วหงายกาตั้งตรง น้ำจะไม่รั่วสักหยด 

      「ทังผิง」มีจุดเด่นคือมีพวยเล็กสั้นบนไหล่ พวยทั่วไปจะอยู่ต่ำกว่าปาก ทำให้ไม่สามารถกรอกน้ำเต็มภาชนะได้ และการรินน้ำก็ไม่ค่อยสะดวก ดังนั้นจากยุคถังถึงยุคซ่ง พวยและหูจับท้ายสุดก็พัฒนาไปทางเรียวเล็กและยาวขึ้น ปากพวยยุคซ่งโดยพื้นฐานอยู่ในระดับเดียวกับปากผิงแล้ว แล้วก็ตำแหน่งที่ตั้งค่อยๆเลื่อนลงสู่ล่าง
▲การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของทังผิงช่วงยุคถังถึงยุคซ่ง

▲การเปรียบเทียบรูปลักษณะของทังผิงที่แตกต่างกันระหว่าง (ซ้าย)ยุคถัง กับ ยุคซ่ง(ขวา)

▲ทังผิงทรงฟักเคลือบขาวเขียวเตาหูเถียนยุคซ่งเหนือ/北宋湖田窑影青釉瓜棱汤瓶 | เจี้ยนจ่าน แปรงไม้ไผ่ ทังผิง เป็นอุปกรณ์ที่กำหนดแพ้ชนะของการดวลชา น้ำที่รินจากทังผิงลงสู่จ่านชา จะต้องไหลออกคล่อง ปริมาณน้ำพอเหมาะที่ควบคุมได้ ตำแหน่งที่รินต้องแม่นยำ 

        เมื่อถึงยุคเหยียน พวยและหูจับได้เลื่อนจากไหล่ลงมาที่ช่วงท้อง พวยเปลี่ยนเป็นท่อเรียวยาวปากยื่นในลักษณะรูปตัว “S” รูปร่างจะสูงเรียวยาวมีลักษณะออกไปทางผิง(คนโท) นับจากนี้ไป「ทังผิง」ก็เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น「จื๋อหู/执壶」ณ บัดนี้「ปั้น/」ในความหมายทั่วไปก็ถูกกำหนดกรูปแบบขึ้นมา การปรากฎของ「ปั้นชา/茶壶」ที่แท้จริงยังเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคหมิง

▲จื๋อหูเคลือบศิลาดลเตาหลงเฉียนยุคเหยียน/元代龙泉窑青釉执壶

▲องค์ประกอบของจื๋อหู | ตัวปั้น(壶身) ท้อง() คอ() ปาก() ฝา() ดุม() หูร้อย() หูจับ() พวย() ตัวยึด(连片) ขา()

        รัชศกหงอู่ปีที่ 24 (ปี 1391) จักรพรรดิหมิงไท่จู่ราชวงศ์หมิงมีพระราชโองการยกเลิกชาก้อน เปลี่ยนเป็นบรรณาการชาเส้น จากนี้ไปการชงชาก็กลายเป็นตัวหลักของวิธีการดื่มชา การใช้ใบชาทดแทนผงชาเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ชาหลายๆด้าน การดื่มชาโดยใช้「ปั้นเครื่องเคลือบ/瓷壶」หรือ「ปั้นจื่อซา/紫砂壶」ในการชงใบชาโดยตรงก็กลายเป็นกระแสนิยม

▲ปั้นหมวกพระเครื่องลายครามเซวี่ยนเต๋อยุคหมิง/明宣德青花僧帽壶

ปั้นกงชุน/供春壶 | ปั้นจื่อซาที่ถูกทำให้เชื่อว่าทำขึ้นในยุครัชสมัยเจิ้งเต๋อราชวงศ์หมิงโดย “กงชุน” ที่มีสถานะเป็นเด็กรับใช้ในขณะนั้น แต่มีข้อสงสัยมากมายว่า ปั้นจื่อซาใบนี้เป็นใบที่กงชุนทำขึ้นมาตามคำร่ำลือจริงหรือไม่? สนใจโปรดคลิกอ่าน《ปริศนาปั้นกงชุน》 : https://puerthaiblog.blogspot.com/2018/02/blog-post_9.html     

     

 
เอกสารอ้างอิง :
1. 紫砂壶的发展史https://m.xincha.com/x/968093/
2. 明代紫砂演变史https://www.taohuren.com/article-3115.html
3. 中国茶壶的演变史---“壶”至“茶壶”https://wemp.app/posts/06070bc0-438d-4127-9f40-d025db45374e?utm_source=latest-posts