วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ต้นทุนของชาแดงหนึ่งถ้วย | ตอนที่ 4/4



     ▌นักล่าพรรณพืช

        ในช่วงศตวรรษที่18-19 ธรรมชาติวิทยา (Natural History) เป็นวิทยาศาสตร์มวลชนแขนงหนึ่งและเป็นกิจกรรมสมัยนิยมในยุโรป มันบ่งชี้ถึงความรู้ด้านภูมิศาสตร์ สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ แร่วิทยา เป็นต้น เป็นไปตามการบุกเบิกเส้นทางโครงข่ายทางการค้าทั่วโลก คณะนักผจญภัยที่ถูกส่งไปต่างแดนอันประกอบด้วย นักภูมิศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา นักวาดรูป เป็นต้น เพื่อไปสำรวจโลกที่ยังไม่รู้จัก นักธรรมชาติวิทยาจะได้รับทุนสนับสนันจากรัฐบาลจักรวรรดิหรือสมาคมวิทยาศาสตร์ จะด้วยตนเองหรือไหว้วานนักผจญภัยมืออาชีพมุ่งไปยังสถานที่ต่างๆบนโลกเพื่อทำการสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่าง

        นักล่าพรรณพืช (Plant Hunter) ก็คืออาชีพพิเศษที่เกิดขึ้นมาภายใต้หลังฉากของยุคสมัยนั้น นอกจากขวนขวายหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้ว เบื้องหลังแอบแฝงด้วยผลประโยชน์มหาศาล ในปี 1822 สมาคมการปลูกพืชสวนอังกฤษได้ก่อสร้างสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ขึ้นที่กรุงลอนดอน ได้จัดส่งนักล่าพรรณพืชออกไปทั่วสารทิศ ไปยังดินแดนที่อยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของจักรวรรดิอังกฤษเพื่อไปสำรวจพืชพรรณที่มีมูลค่าทางการค้า 
 
ความเป็นจริง ในช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม ความหมายของการศึกษาวิจัยทางพฤกษศาสตร์ก็เปรียบเสมือนกับห้องทดลองวิจัยทางอุตสาหกรรมในปัจจุบัน นโยบายด้านพรรณพืชที่ดำเนินการตามรูปแบบของจักรวรรดินิยม มันก็คือเครื่องมือในการรีดนาทาเร้นคุณค่าทางเศรษฐกิจของอาณานิคม ซึ่งนักล่าพรรณพืชก็จึงกลายเป็นนักสำรวจและตัวขับเคลื่อนชะตากรรมของจักรวรรดิ

        โรเบิร์ต ฟอร์จูน (Robert Fortune,1812-1880) ก็เป็นหนึ่งในบรรดานักล่าพรรณพืชที่ถูกส่งไปยังเมืองจีน

     ▌จอมโจรใบชา...โรเบิร์ต ฟอร์จูน

        โรเบิร์ต ฟอร์จูน เป็นนักปลูกพืชสวน(Horticulturist)ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เคยถูกว่าจ้างโดยสมาคมการปลูกพืชสวนลอนดอนในปี 1843-1845 ไปสืบเสาะหาพันธุ์พืชหายากในเมืองจีน เขาทำให้ไม่ผิดหวัง สามารถเสาะหาพรรณพืชกว่า 100 ชนิด นอกจากนั้น เขายังได้นำประสบการณ์ที่ได้เห็นได้ยินในช่วง 3 ปีที่อยู่ในเมืองจีนเขียนเป็นหนังสือ《Three Years’ Wandering in the Northern Provinces of China》ทันทีที่หนังสือวางแผงในปี 1847 กลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ ทำให้เขาได้รับทั้งชื่อเสียงและเงินทอง 

▲หนวดเคราใบหู 2 ข้างของโรเบิร์ต ฟอร์จูน อันเป็นสัญลักษณ์ของคนสกอตแลนด์

        ในปี 1846 หลังจากบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษประสบปัญหาต่างๆทั้งจากการเมืองและการค้ามารุมเร้า ภายใต้ภาวะกดดันที่อยู่บนทางสามแพร่ง จะต้องตัดสินใจทำการเลือกครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท โดยยังยอมที่จะเสียเวลามากใช้ในการเพาะปลูกพัฒนาต้นชาพันธุ์พื้นเมืองอัสสัมให้ดีขึ้นต่อไป หรือเข้าไปในเมืองจีนเสาะหาต้นชาพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุดโดยตรงนำมาปลูกถ่ายที่อินเดีย เวลาไม่คอยท่า ทางเลือกที่สองจึงเป็นทางเลือกเดียวของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ โดยงัดกุลยุทธิ์เด็ดทิ้งไพ่ใบสุดท้าย---สืบความลับของใบชาเมืองจีน

        บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษจึงตกลงว่าจ้างฟอร์จูนไปยังเมืองจีนอีกครั้ง ในสถานะ “นักล่าใบชา” ด้วยค่าจ้างปีละ 500 ปอนด์(เทียบเท่ามูลค่าปัจจุบัน 55000 เหรียญสหรัฐ) ค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทางทั้งหมดเบิกจ่ายได้ ภารกิจก็คือ : “ไปจารกรรมต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาที่ดีที่สุดในพื้นที่ผลิตชาของเมืองจีน แล้วนำต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาขนส่งไปที่เมืองกัลกัตตา แล้วขนย้ายไปปลูกถ่ายที่เชิงเขาหิมาลัย และทำการว่าจ้างคนชำนาญการชาชาวจีนมาเพาะปลูกต้นชาและผลิตใบชาที่อินเดีย

        การเดินทางไปเมืองจีนของฟอร์จูนครั้งนี้ พูดให้ถูกต้องก็คือ “เส้นทางสายลับ007” แล้วยังมีผู้ช่วยที่ซ่อนเร้น นั่นก็คือห้างฝรั่งที่ขึ้นชื่อ Dent & Company มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้

        ช่วงระยะที่ปฏิบัติภารกิจในเมืองจีน ฟอร์จูนต้องผ่านความยากลำบาก ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ได้ขโมยต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาของชาหลงจิ่ง ต้าหงเผา และชาที่มีชื่ออื่นๆหลายหมื่นต้นจากเมืองจีน แล้วนำไปผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์ชาพื้นเมืองอัสสัม กลายเป็นพันธุ์ชาพันธุ์ใหม่หลากหลายพันธุ์ที่โดดเด่นมาก ผลสุดท้ายทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษมีสถานะภาพที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมา 

▲อาณาบริเวณที่โรเบิร์ต ฟอร์จูน ปฏิบัติภารกิจในเมืองจีน---บริเวณสีเขียวเป็นพื้นที่ผลิตชาเขียว บริเวณสีแดงเป็นพื้นที่ผลิตชาวูหลง

     ▌เส้นทางตามล่าชาเขียว

        ในเดือน ก.ย. 1848 ฟอร์จูนเริ่มบทบาท “สายลับธุรกิจ” โดยออกเดินทางจากจุดตั้งต้น---ห้างฝรั่งเซี่ยงไฮ้ ได้ว่าจ้างชาวจีน 2 คน คนหนึ่งชื่อเสี่ยวหวัง พื้นเพเป็นคนอันฮุ่ย ให้มาเป็นล่ามและผู้นำทาง อีกคนไม่มีชื่อแซ่มีหน้าที่หลักเป็นจับกัง จุดหมายปลายทางคือมณฑลอันฮุ่ย โดยเฉพาะทางแถบตอนใต้ของอันฮุ่ยเป็นถิ่นที่ผลิตชาได้เป็นจำนวนมาก

        เนื่องจากทางการจีนมีกฎข้อห้ามชาวต่างประเทศเดินทางลึกเข้าไปด้านในแผ่นดินของเมืองจีน ฟอร์จูนจึงต้องแปลงกายปลอมตัวเป็นชาวจีน โดยสวมใส่ชุดเสื้อผ้าจีน โกนผมและติดผมเปียปลอม ไว้หนวดเคราแบบผู้อาวุโสจีน ใส่แว่นตาดำปกปิดสีตาที่ค่อนข้างอ่อน(ฝรั่งตาขาว คนจีนตาดำ) แล้วตั้งชื่อจีนเรียกว่า Sing Wa (鲜花/ดอกไม้สด ที่ออกเสียงเป็นภาษากว่างตง) 

 ▲โรเบิร์ต ฟอร์จูน โดยสารเรือลักษณะแบบนี้ในการเดินทางไปยังพื้นที่ผลิตชา

        ออกเดินทางจากเซี่ยงไฮ้เข้าเมืองหางโจวมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายใบชาเขียวและชาวูหลง ออกจากหางโจวขึ้นไปแถบทางเหนือของเจ้อเจียง มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตชาเขียว ทำให้ฟอร์จูนเข้าใจถึงกรรมวิธีการผลิตชาเขียว ซึ่งคนอังกฤษหลงใหลดื่มชามา 200 ปี ศึกษาวิธีการทำชามา 200 ปี แต่แทบจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น ยังมีความเชื่อแบบเก่าที่ว่า :「ชาดำทำมาจากต้นชา Thea Bohea ชาเขียวทำมาจากต้นชา Thea Virdis」และเขายังได้พบเห็นมีการย้อมสีใบชาด้วยสารเคมีปรัสเซียนบลู(Prussian ; สารให้สีน้ำเงินใช้ในงานเขียนภาพ)เพื่อให้ใบชามีสีเขียวเข้มขึ้น แล้วยังค้นพบว่าในขั้นตอนการอบแห้งใบชาจะมีการใช้ผงยิปซัม เพื่อเพิ่มความหนืดของน้ำชา 

ฟอร์จูนเป็นผู้ที่ไขรหัสความลับนี้ ซึ่งความแตกต่างของชาดำกับชาเขียว ก็เพียงแค่ชาดำเพิ่มการหมักอีกกระบวนการหนึ่ง ความจริงต้นชามี Thea Bohea และ Thea Virdis สองสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์จากการเพาะปลูก แต่ชาดำและชาเขียวที่ส่งไปยังยุโรปส่งออกจากเซี่ยงไฮ้ล้วนผลิตจากต้นชา Thea Virdis ส่วนชาวูหลงซึ่งเป็นชากึ่งหมักที่อังกฤษสั่งเข้าจากหวู่หยีซานเป็นจำนวนมาก เป็นชาวูหลงจากต้นชา Thea Bohea เนื่องจากสีใบชาดำคล้ำกว่าชาเขียว คนอังกฤษจึงเรียกเป็น “ชาดำ/乌茶” ต่อมาเหมารวมชาแดงก็เรียกเป็น “Black Tea”

        ถัดมา ฟอร์จูนได้เดินทางมาถึงซงหลอซาน(อำเภอซิวหนิงเมืองหวางซาน ; “ชาซงหลอ/松萝茶”  ที่ส่งออกปี 1745 ได้จมอยู่ใต้ท้องทะเล 239 ปีในซากเรืออัปปางสวีเดน ) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเสี่ยวหวัง เขาได้ตระเวนสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างใบชาที่เป็นพันธุ์หัวกะทิได้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ชาเขียว

        ในเดือน ม.ค. 1849 ฟอร์จูนได้กลับมาที่จุดตั้งต้น---ห้างฝรั่งเซี่ยงไฮ้ ในที่นี้ เขาได้นำต้นกล้าชากว่า 13000 ต้น และเมล็ดพันธุ์ชากว่า 10000 เม็ด เพื่อกระจายความเสี่ยงจึงแบ่งออกเป็น 4 ส่วน แล้วจัดส่งผ่าน 4 สายเดินเรือ จุดหมายปลายทางที่สวนพฤกษศาสตร์กัลกัตตาและอัสสัมของบริษัทอินเดียตะวันออก แม้ความพยายามที่นำเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาบรรจุเพาะอยู่ใน “ตู้เรือนกระจกเคลื่อนที่ (Wardish case)” แต่ได้ลืมเรื่องสำคัญไปสิ่งหนึ่ง :「ช่วงเวลาของการขนส่งเป็นช่วงฤดูหนาว

 ▲ตู้เรือนกระจกเคลื่อนที่ (Wardish Case) คิดประดิษฐ์โดยนักพฤกษศาสตร์ นาธาเนียล แบ็กชอว์ วอร์ด (Nathaniel Bagshaw Ward,1791-1868)---พืชพรรณที่ขนถ่ายโดยทางเรือในยุคการสำรวจทางทะเล ต้องสัมผัสกับสภาวะอากาศท้องทะเลที่มีความเค็มสูง มีโอกาสสูงที่ทำให้พืชพรรณตายได้ พืชพรรณที่ปลูกอยู่ในตู้เรือนกระจกเคลื่อนที่ ไอน้ำจะเกิดการหมุนเวียนโดยธรรมชาติในตู้ ทำให้สภาพดินดำรงความชื้นคงที่ตลอดเวลา     

 เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในกระบวนการขนส่งทั้งโดยทางเรือและบนบกที่ใช้เวลา 4 เดือน และความสะเพร่าของผู้รับผิดชอบควบคุมการขนส่งครั้งนี้ เมล็ดพันธุ์ชาเกิดเน่าเสียหมด และต้นกล้าชาแทบจะตายหมดสิ้น เมื่อฟอร์จูนทราบข่าวแทบจะล้มทั้งยืน รู้สึกเหมือนในระยะ 1 ปีนี้ตนเองยังไม่ได้มาเมืองจีนปานนั้น

     ▌เส้นทางตามล่าชาแดง

        ในเดือน พ.ค. 1849 ฟอร์จูนเตรียมที่จะออกเดินทางอีกครั้ง ไปหวู่หยีซานที่อยู่ในบริเวณเขตแดนระหว่างฝูเจี้ยนและเจียงซี เพื่อไปค้นหาชาแดงและชาวูหลง เที่ยวนี้เขาเปลี่ยนล่ามคนใหม่เป็นหูซิ่ง ที่พื้นเพเป็นคนหวู่หยีซานฝูเจี้ยน และให้ทำหน้าที่เป็นหลงจู๊ พร้อมได้ว่าจ้างกุลี 8 คน

        เดือน ก.ค. ฟอร์จูนได้เดินทางโดยผ่านหนิงโปลงมาถึงหวู่หยีซาน ในที่ที่เห็นไร่ชาเต็มไปหมด ภาพต้นชาไม้พุ่มอันเขียวขจีตามไหล่เขาเทียบกับภาพสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้งที่เคยพบเห็นได้ทั่วไปทำให้ตรึงตาตรึงใจยิ่งนัก ในที่นี้ฟอร์จูนได้เห็นการเด็ดและกระบวนการผลิตใบชาของชาแดงคุณภาพสูง สำรวจสภาพดินฟ้าอากาศ และได้เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว 

▲ภาพทิวทัศน์ของไร่ชาหวู่หยีซาน เป็นภาพแทรกอยู่ในหนังสือ《A Journey To The Tea Countries of China》โดยโรเบิร์ต ฟอร์จูน เผยแพร่ปี 1852 

        ฟอร์จูนได้เข้าพักที่ห้องพักที่อยู่ในบริเวณของวัดจีนขนาดใหญ่ บริเวณรอบวัดทั้งภายในและภายนอกมีต้นชาเต็มไปหมด การปรากฏของฟอร์จูน ทำให้เหล่าหลวงจีนในวัดรู้สึกดีใจ ฟอร์จูนได้เรียนรู้วิธีการชงชาจีนจากที่นี้

        ต้นชาต้าหงเผา 3 ต้นที่มีอายุ 200 ปีอันเป็นต้นแม่พันธุ์ อยู่ไม่ไกลจากวัดจีนเพียงเดินทางไม่ถึงวัน ฟอร์จูนได้ไปเห็นกับตา จึงครุ่นคิดที่นำตัวอย่างไปเพาะปลูกที่อินเดีย เขาติดสินบนเหล่าหลวงจีนด้วยเงินเล็กน้อย สิ่งที่ได้กลับมาเป็นยอดอ่อนสดและเมล็ดของต้าหงเผาและต้นชาอีกหลายพันธุ์ชนิด อาจไม่สามารถกล่าวว่าพฤติกรรมเยี่ยงนี้เป็นการขโมย แต่ที่แท้เป็นการใช้เหล่าหลวงจีนมาบรรลุผลของความลับทางธุรกิจที่เขาไม่สามารถเปิดเผยได้ 

▲ต้นชาแม่พันธุ์ต้าหงเผาตั้งอยู่ในจิ่วหลงเคอร์หวู่หยีซาน ปัจจุบันมีอยู่ 6 ต้น แต่ไม่ใช่มีแค่สายพันธุ์เดียว ต้นที่ 1,2,3 เป็นต้นชาแม่พันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุกว่า 300 ปี ต้นที่ 4 ไม่ทราบใครเป็นคนเพาะปลูกไว้ ต้นที่ 5 เป็นการตอนกิ่งต้นที่ 1 มาปลูกถ่าย ต้นที่ 6 เป็นการตอนกิ่งต้นที่ 2 มาปลูกถ่าย

        เมื่อฟอร์จูนเตรียมที่ลาจากวัดจีน เจ้าอาวาสเป็นเพราะแสดงความเคารพหรือเป็นเพราะความไร้เดียงสา ได้มอบเมล็ดพันธุ์ชาที่มีค่ายิ่งจำนวนหนึ่งให้แก่ฟอร์จูน ทำให้ฟอร์จูนตื้นตันใจจนพูดอะไรไม่ออก 

        พวกฟอร์จูนช่วยกันหีบห่อเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชา ส่วนใหญ่ฝากส่งทางเรือไปที่ห้างฝรั่งเซี่ยงไฮ้ ต่อจากนั้น ฟอร์จูนก็เข้าสู่เส้นทางที่ทอดยาวจากหวู่หยีซายไปหนิงโปแล้วกลับเซี่ยงไฮ้

        ฟอร์จูนได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าที่เซี่ยงไฮ้ของห้างฝรั่ง ก่อสร้างเรือนปลูกพืชสวนเล็กๆ เพื่อเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนของพืชพรรณที่เขาเสาะหาได้ในระหว่างทาง และที่จัดส่งมาทางเรือก่อนหน้านี้

        จากประสบการณ์ที่เมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาที่จัดส่งไปอินเดียครั้งก่อนเกิดตายเกือบหมด ฟอร์จูนจึงได้คิดหาวิธีแก้ไข คราวนี้เขาใช้ตู้เรือนกระจกขนาด 4x6 ฟุต เพาะแบบผสมต้นกล้ากับเมล็ดพันธุ์ในตู้เดียวกัน โดยปลูกต้นกล้าลงในดิน พื้นที่ช่องว่างโรยเมล็ดพันธุ์เป็นชั้นๆโดยใช้ดินกลบแยกแต่ละชั้น เกิดผลดีเกินคาด

     ▌สรรหาช่างชำนาญการชาชาวจีน

        เมื่อเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาพร้อม(天時) พื้นที่เตรียมปลูกถ่ายพร้อม(地利) ก็เพียงขาดคนปลูกและทำชา(人和) ซึ่งก็คือฟอร์จูนต้องสรรหาคนปลูกชาหรืออาจารย์ผลิตชาที่เป็นมืออาชีพ เพื่อเพาะเลี้ยงใบชาที่ปลูกถ่ายที่อินเดียให้เจริญเติบโตด้วยดี

        ฟอร์จูนได้ไหว้วานให้ห้างฝรั่งช่วยสรรหาอาจารย์ชาที่โดดเด่น 8 คนจากหมู่บ้านใบชา นำพวกเขาไปอินเดียทำการเพาะปลูกต้นชาพร้อมกัน สุดท้ายได้ทำสัญญาว่าจ้าง 3 ปี ค่าตอบแทนเดือนละ 33 รูปี(15 เหรียญสหรัฐ)

        ในเดือน ก.พ. 1851 ฟอร์จูนและอาจารย์ชา 8 คน ได้ขึ้นเรือรบ “ควีน” ออกจากเซี่ยงไฮ้มุ่งสู่ฮ่องกง ที่เดินทางพร้อมกับพวกเขา ยังมีตู้เรือนกระจกเคลื่อนที่ที่บรรจุต้นกล้าชา 23892 ต้นพร้อมเมล็ดพันธุ์ชา 17000 เม็ด และเครื่องใช้สำหรับผลิตชาอีกมากมาย

        「เสียงหวูดเรือดังขึ้น หวูด...หวูด...ชายฝั่งแผ่นดินบ้านเกิดที่เหล่าอาจารย์ชาเพ่งตามอง ในสายตาตนเองยิ่งมองยิ่งไกลลิบตา...」  

     ▌ปาฏิหาริย์ปรากฏที่เชิงเขาหิมาลัย

        ในวันที่ 15 มี.ค. 1851 หลังจากเดินทางโดยทางเรือประมาณ 1 เดือน ฟอร์จูนและเหล่าอาจารย์ชาก็มาถึงกัลกัตตา มาถึงพร้อมกับเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชา หลังการตรวจเช็คแล้วไม่ได้รับความเสียหาย 

        หลังจากจัดการและมอบหมายทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฟอร์จูนก็เตรียมที่จะกลับอังกฤษ เขามีความรู้สึกเหมือนต้องลาจากรอยเท้าของตนเองที่ประทับบนเมืองจีนที่กลายเป็นอดีต นำความทรงจำแห่งการต่อสู้ที่ผ่านมา 3 ปีของตนเองฝากไว้ที่อินเดีย

        คนอังกฤษได้ทำการบุกเบิกถางพงเป็นไร่เพาะปลูกต้นชาหลายแปลงที่บริเวณดาร์จีลิ่ง สองปีต่อมา ได้นำต้นชาจีนมาดำเนินการผสมข้ามพันธุ์กับต้นชาอินเดีย กลายเป็นต้นชาพันธุ์ใหม่ “ชาแดงอัสสัม” 

        ปัจจุบัน ชาแดงที่ผลิตจากดาร์จีลิ่งถูกยกย่องให้เป็น “แชมเปญแห่งชาแดง” ชาแดงชนิดนี้ก็ถูกกล่าวขานเป็น “สุดยอดแห่งชา” 

 ▲ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) เป็นเมืองหนึ่งในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยน้อยบนความสูง 2,042 เมตร มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมผลิตชา
 
        「เพียงใช้เวลา 1 ชั่วอายุคน ชาแดงอัสสัมของอินเดียจากพันธุ์ที่ไม่มีคุณค่าพัฒนาเป็นพันธุ์โดดเด่นที่คุณภาพ ปริมาณการผลิตเหนือกว่าใบชาเมืองจีน โดยเฉพาะการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของอังกฤษแบบทุนนิยม ทำให้มีความได้เปรียบทางด้านราคาอย่างเบ็ดเสร็จ นับต่อแต่นี้ไป ชาแดงอัสสัมก็ก้าวเข้าสู่เวทีโลก กลายเป็นชาแดงที่ผู้คนชื่นชอบตราบจนถึงทุกวันนี้

▲ภาพคนงานชาใช้เท้านวดใบชา(feet made)ในเมืองจีนที่แทรกอยู่ในหนังสือของโรเบิร์ต ฟอร์จูน ภายหลังต่อมาพ่อค้าอังกฤษนำมาใช้ในการเรียกร้องให้บริโภคชาอินเดีย อย่าซื้อชาเมืองจีนที่สกปรก

โรเบิร์ต ฟอร์จูน ได้ทำการขโมยพันธุ์ชาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจากเมืองจีนได้เป็นผลสำเร็จ ก่อเกิดเป็นเรื่องราวการลักลอบความลับธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์ได้รู้จักจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ตราบจนถึงทุกวันนี้ วิธีการของฟอร์จูนยังถูกนิยามเป็นกิจกรรมสายลับทางธุรกิจ จากความเห็นของผู้คน ลักษณะปฏิบัติการของเขาก็เหมือนกับการขโมยสูตรของโคคาโคล่าปานนั้น...Sarah Rose《For All The Tea In China》




เอกสารอ้างอิง :

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ต้นทุนของชาแดงหนึ่งถ้วย | ตอนที่ 3/4



     ▌การสำรวจต้นชาของคณะกรรมการชาอินเดีย

        เริ่มจากปี 1815 มีข่าวลือที่บอกว่าได้ค้นพบต้นชาที่นั้นที่นี้ ส่วนใหญ่ถูกพิสูจน์แล้วเป็นข่าวปลอม แต่ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ข่าวลือการค้นพบต้นชาในอินเดียได้สั่นสะเทือนวงการไปจนถึงกรุงลอนดอน จึงมีผู้คนจำนวนมากกล่าวขึ้นมาว่า ทำไมพวกเราถึงไม่ผลิตชาด้วยตัวเราเอง?

        บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้สิทธิผูกขาดการค้าใบชา จึงไม่หวังให้เจ้าอื่นทำไร่ชาที่อินเดีย แล้วเป็นคู่แข่งทางการค้ากับตน แต่แล้วในปี 1813 รัฐสภาอังกฤษได้ตราบัญญัติ ให้รัฐบาลอังกฤษสามารถแทรกแซงกิจกรรมทางธุรกิจและการจัดการปกครองอาณานิคม และยกเลิกอำนาจสิทธิขาดในอินเดียของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ รวมทั้งให้สิทธิผูกขาดการค้ากับเมืองจีนต่อเนื่องจนถึงแค่ปี 1833 เท่านั้น เรื่องเหล่านี้ทำให้บริษัทฯรู้สึกวิตก กังวลตนเองจะไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ทางใบชาได้สืบต่อไป 

▲การค้าชาแดงที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ

        ในปี 1833 ลอร์ด วิลเลี่ยม เบนติงก์ (Lord William Bentinck,1791-1839) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียได้ก่อตั้ง “คณะกรรมการชาอินเดีย (Indian Tea Committee, ITC)” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อินเดีย โดยรับผิดชอบทำการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าพันธุ์ชาทั้งต้นกล้าและเมล็ดจากเมืองจีน ค้นหาและคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมปลูกต้นชาในบริติชอินเดีย แล้วริเริ่มทำการเพาะปลูกเชิงการทดลอง

        ในปี 1834 ภารกิจเร่งด่วนของ ITC คือมอบหมายให้ จอร์จ เจมส์ กอร์ดอน (George James Gordon) ซึ่งเป็นเรขานุการของ ITC เดินทางพร้อมคณะไปเมืองจีน เพื่อทำการศึกษาวิธีการเพาะปลูกต้นชาและการผลิตใบชา พร้อมให้ทำการรับซื้อเมล็ดพันธุ์ชา และว่าจ้างคนงานทำชาชาวจีนมายังอินเดีย งบประมาณขั้นต้นสำหรับการสำรวจครั้งนี้ตั้งไว้ที่ 2-2.5 หมื่นปอนด์สเตอลิง

        ในเดือน มิ.ย. 1834 คณะกอร์ดอนเริ่มเดินทางออกจากกัลกัตตา เดือน ก.ค. มาถึงมาเก๊าเพื่อสมทบกับมิชชันนารีที่คล่องภาษาจีนและฮกเกี้ยน ในนี้ได้รับเมล็ดพันธุ์ชาหวู่หยีซานจำนวนหนึ่ง ในเดือน พ.ย. 1834 คณะกอร์ดอนตัดสินใจขึ้นฝั่งที่ตำบลสุ่ยเถาเมืองเฉวียนโจวมณฑลฝูเจี้ยน เพราะอยู่ใกล้อำเภออันซีซึ่งเป็นแหล่งผลิตชาขนาดใหญ่ 

▲อันซี/安溪 เป็นอำเภอหนึ่งของเมืองเฉวียนโจวในมณฑลฝูเจี้ยน ถือเป็นถิ่นกำเนิดของชาวูหลงเถี่ยกวนยิน ค้นพบเมื่อปี 1723-1735 ที่ตำบลซีผิง/西坪

        ในภารกิจครั้งนี้ กอร์ดอนโชคดีที่เจอพ่อค้าขายเมล็ดพันธุ์ชาหวู่หยีซาน แต่ทว่าการได้เข้าไปเยี่ยมชมเขตพื้นที่ผลิตชาหวู่หยีซานกลับเป็นสิ่งที่เขามุ่งหวัง เหตุผลที่เลือกสำรวจเขตพื้นที่อันซีนั้น ทางกอร์ดอนเห็นว่าถึงแม้ทุกคนจะรู้สึกคุณภาพชาอันซีไม่ดี น่าจะเป็นเพราะวิธีการเพาะปลูกและการผลิตชาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับสายพันธุ์ชา เขาได้ไหว้วานคนอื่นช่วยซื้อเมล็ดพันธุ์ชาด้วยเงินหนึ่งพันเหรียญเงินสเปน

        เมื่อกอร์ดอนได้เสร็จสิ้นภารกิจครั้งนี้แล้ว แต่อีกฟากหนึ่ง ในปลายปี 1834 ITC ได้รับแจ้งยืนยันการค้นพบต้นชาพันธุ์ป่าที่รัฐอัสสัมแล้ว จึงคิดที่จะเรียกคณะกอร์ดอนกลับอินเดีย ทาง ITC คิดว่าถึงแม้จะได้ต้นชาจากเขตพื้นที่ชาที่ดีที่สุดของเมืองจีน เป็นไปได้คุณภาพจะแปรเปลี่ยนเนื่องจากการปลูกถ่ายในพื้นดินใหม่ แล้วทำไมต้องมาเสียเงินโดยใช่เหตุ?

        แต่ว่ากอร์ดอนยังไม่กลับอินเดีย ยังได้รับคำสั่งให้ดำเนินการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ชาต่อไป กอร์ดอนได้ใช้จ่ายเงิน 4 หมื่น 5 พันปอนด์(งบบานปลาย)เพื่อไหว้วานมิชชันนารีสองคนเข้าเขตพื้นที่ชาหวู่หยีซานไปสำรวจวิธีการเพาะปลูกต้นชาและกระบวนการผลิตใบชา 

        กอร์ดอนได้ถือโอกาสว่าจ้างอาจารย์ชาจากซื่อฉวนกลับอินเดียพร้อมกัน เพื่อไปฝึกอบรมการปลูกชาการทำชาให้แก่คนท้องถิ่น ดังนั้น เริ่มแรกวิธีการผลิตชาที่เผยแพร่ไปยังอินเดียมิใช่วิธีการของหวู่หยีซาน แต่เป็นวิธีการคั่วเขียวของชาเขียว

        เมล็ดพันธุ์ชาที่กอร์ดอนนำกลับมายังอินเดีย ได้เพาะเลี้ยงออกมาเป็นต้นกล้าชา 42000 ต้น ได้จัดแบ่งส่งไปยังเมืองมัทราส(Madras) อัสสัมและแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเขาหิมาลัย เป็นที่น่าเสียดาย พืชพรรณรุ่นนี้ได้ตายไปในกระบวนการขนส่งเป็นจำนวนมาก หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น อย่างเช่น เดิมจัดส่งไปที่อัสสัม 20000 ต้น สุดท้ายเหลือเพียง 8000 ต้น นี่ยังนับว่าดี ต้นชาที่มัทราสแทบจะตายหมดเกลี้ยง แต่ต้นกล้าชาเจริญเติบโตได้ดีที่เชิงตีนเขาหิมาลัย ดังนั้น บนพื้นฐานการทดลองครั้งนี้ ดาร์จีลิ่งซึ่งตั้งอยู่เชิงตีนเขาหิมาลัยถูกล๊อคให้เป็นพื้นที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นชาเมืองจีน 

 ▲คนงานใบชาของดาร์จีลิ่งต้นศตวรรษที่ 20

     ▌การหนีเตลิดเปิดเปิงของโจรอังกฤษ

        ในเดือน พ.ค. 1835 กอร์ดอนได้มุ่งหน้าไปสำรวจเมืองจีนอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้าย และเป็นครั้งที่น่าตื่นเต้นหวาดเสียวที่สุด ครั้งนี้เขาตั้งใจมุ่งตรงไปที่เขตพื้นที่ชาหวู่หยีซานฝูเจี้ยน  ได้เดินเรือเข้าทางปากแม่น้ำหมิ่นเจียงมุ่งสู่เมืองฝูโจว เนื่องจากแต่งกายตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษผิดแปลกจากชุดเสื้อผ้าคนจีน ทำให้เกิดจีนมุงตลอดทาง

        คณะกอร์ดอนถูกจับตาเป็นพิเศษจากทหารชิง ตอนที่หยุดพักการเดินทางแล้วขึ้นฝั่ง มีเจ้าพนักงานมามอบเอกสารสีแดง สอบถามพวกเขาเป็นคนชาติไหน ต้องการเดินทางไปที่ใด มีจุดประสงค์อะไร พวกเขาตอบอย่างซื่อว่าเป็นชาวอังกฤษ มาที่นี่เพื่อท่องเที่ยว อยากจะชมทิวทัศน์สองฝั่งของแม่น้ำหมิ่นเจียง และชื่นชมต้นชาอันเลื่องลือ ไม่มีจุดประสงค์อะไรเป็นพิเศษ มาท่องเที่ยวไม่กี่วันก็จะกลับ

        รุ่งขึ้นวันใหม่ คณะกอร์ดอนตัดสินใจมุ่งหน้าสู่สถานที่ถัดไป ทันใดนั้นมีเด็กเล็กคนหนึ่งวิ่งมายื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้พวกเขา เมื่อแปลข้อความแล้วมีความหมายว่า : “ข้างหน้ามีทหาร 9 พันนายรอพวกท่านอยู่ ถ้าหากผ่านไปได้ ก็ยังมีทหารอีกหมื่นกว่านาย” แต่คณะกอร์ดอนไม่ใส่ใจ ขึ้นเรือมุ่งมั่นมุ่งหน้าต่อไป 

        หลังผ่านไปประมาณ 15 นาที ทหารตรงฝั่งแม่น้ำข้างหน้าได้ยิงปืนขึ้นมา เห็นแต่เหล่าทหารชิงถือปืนคาบชุดยิงรัวๆ อีกด้านยังมีปืนใหญ่หลายกระบอก ยิงสนั่นหวั่นไหว จุดประสงค์ของทหารชิงเพื่อยับยั้งไม่ให้พวกเขามุ่งหน้าอีกต่อไป แต่ก็ยังยิงถูกเรือหลายนัด เมื่อพวกกอร์ดอนหันหัวเรือกลับ ทหารชิงก็หยุดยิง เป็นความโชคดีในความซวย คนบนเรือไม่มีใครเสียชีวิต มีเพียงสองคนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน พวกเขารู้สึกได้ทันทีว่า ถ้าหากยังเดินหน้าต่อไปอาจมีอันตรายถึงชีวิต จึงตัดสินใจย้อนกลับ เป็นอันจบการเดินทางที่จะไปหวู่หยีซานเพียงแค่นี้ 

▲ทิวทัศน์มุมหนึ่งของหวู่หยีซาน/武夷山 สภาพแวดล้อมอันสวยงามเช่นนี้ที่กอร์ดอนถูกทหารชิงยิงถล่มจนต้องหนีกระเจิดกระเจิง

        ภารกิจการสำรวจของ ITC ก็ต้องจบลงเพียงเท่านี้ ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามสักเพียงใด ก็ยากที่จะทะลุทะลวงฝ่าวงล้อมปิดกั้นของเมืองจีนได้ ฝ่าลึกเข้าไปในดินแดนผลิตชาเพื่อการสำรวจ อีกด้านหนึ่ง การค้นพบต้นชาพันธุ์ดั้งเดิมของอัสสัมก็ทำให้คนอังกฤษเกิดลังเลใจ ไม่สามารถตัดสินได้ว่าจะใช้ต้นชาพันธุ์ดั้งเดิมของอัสสัมดี หรือคิดหาวิธีซื้อเมล็ดพันธุ์ชาเมืองจีนต่อไป

        จากความทุ่มเททั้งกายใจของกอร์ดอน เมล็ดพันธุ์ชาที่นำกลับมาจากเมืองจีนส่วนใหญ่จะตายหมด นักพฤกษศาสตร์ช่วงเวลานั้นคิดว่า สภาพอากาศของฝูเจี้ยนและเขาหิมาลัยจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย สายพันธุ์ตันชาของฝูเจี้ยนคือ Thea Bohea คุณภาพไม่ดี หรืออาจเป็นเพราะจาการปลูกถ่ายล้มเหลว

        มีนักพฤกษศาสตร์ค่ายหนึ่งคิดว่าพรรณพืชที่นำมาผลิตเป็นชาดำคือ Thea Bohea ส่วนชาเขียวผลิตจากต้นชาเขียวสายพันธุ์ Thea Virdis --- Bohea คำนี้มาจากชื่อหวู่หยีซาน บ่งชี้ถึงต้นชาที่เจริญเติบโตในหวู่หยีซาน ; Virdis ซึ่งมีความหมายว่าสีเขียว ส่วนอีกค่ายหนึ่งเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นชาดำหรือชาเขียวล้วนมาจากพรรณพืชสายพันธุ์เดียวกัน ความแตกต่างทางสีและรสชาติก็เป็นเพราะกรรมวิธีการผลิตไม่เหมือนกัน

        เอาละ อันที่จริงก็ไม่ได้ตายเสียไปทั้งหมด สภาพการณ์ของต้นชาที่ปลูกถ่ายในพื้นที่บางแห่งยังถือว่าใช้ได้ ตราบจนสิ้นสุดที่ปลายเดือน ก.ค. 1845 แถบเขาหิมาลัยได้ทำการบุกเบิกถางพงเป็นพื้นที่ 76 เอเคอร์ เพาะปลูกต้นชา 94100 ต้น 

▲ภาพของไร่ชาแปลงทดลองเพาะปลูกต้นชาในอินเดียสมัยก่อน

    • ปี 1836 อาจารย์ชาชาวจีนจากซื่อฉวนได้ทดลองนำยอดอ่อนของต้นชาพันธุ์พื้นเมืองอัสสัมมาทำเป็นใบชาได้สำเร็จ แม้เป็นเพียงทดลองผลิตได้จำนวนน้อยไม่กี่ลัง แต่ก็เหมือนดาวจรัสแสงดวงหนึ่งในท้องฟ้าอันมืดมิดที่จุดประกายความหวังแก่คนอังกฤษ (เห็นบอกว่าเป็นใบชาที่มีรสกลิ่นควันและขมฝาดมาก แต่เนื่องจากคนอังกฤษดื่มชาชอบเติมนมและน้ำตาล ก็นับว่าพอกล้อมแกล้มไปได้)
        • ปี 1839 บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้รับใบชาผลิตในอินเดียจำนวน 480 ปอนด์หรือ 8 ลัง แล้วประมูลขายที่กรุงลอนดอน ทำให้วงการสั่นสะเทือน ผลสำเร็จของชิ้นงานนี้ทำให้คนอังกฤษเกิดความมั่นใจและคลั่งไคล้ นำไปสู่การนำเข้าพันธุ์ชาจากเมืองจีนมาดำเนินการทดลองอย่างต่อเนื่อง ชาอินเดียบนพื้นฐานของแรงขับเคลื่อนการปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ สามารถทำการปรับปรุงพันธุ์ต้นชาให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

 ▲“บริษัทใบชาอัสสัม/阿萨姆茶叶公司” เป็นไร่ชาที่ก่อตั้งครั้งแรกในอินเดียในปี 1839 หลังจาก 5 สัปดาห์ที่ใบชาผลิตในอินเดีย 8 ลังส่งไปถึงกรุงลอนดอน

        การปรับปรุงพันธุ์ต้นชาสำเร็จลุล่วงในอินเดียอย่างขนานใหญ่ที่แท้จริง จำเป็นต้องกล่าวถึง “จอมโจรใบชา/茶葉大盜(The Tea Thief)” ในตำนาน...โรเบิร์ต ฟอร์จูน (Robert Fortune,1812-1880)  

(มีต่อตอนที่ 4/4)

เอกสารอ้างอิง :

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ต้นทุนของชาแดงหนึ่งถ้วย | ตอนที่ 2/4



     ▌การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของคณะทูตแม็คคาร์นีย์

        ในปลายศตวรรษที่18 ปริมาณการบริโภคใบชาของคนอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แม้แต่คนจนยังต้องบริโภคใบชา 75-100 กรัมต่อสัปดาห์ ช่วงต้นศตวรรษที่18 บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษขายใบชาได้ไม่เกิน 5 หมื่นปอนด์ต่อปี ระยะห่างกันไม่ถึง 100 ปี ขายได้ถึง 20 ล้านปอนด์ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 400 เท่า เงินตราก้อนโลหะเงินไหลเข้าเมืองจีนอย่างเทน้ำเทท่า ทำให้เมืองจีนกลายเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดในโลก มี GDP คิดเป็น 1/3 ของโลก

        การนำเข้าใบชาทำให้เงินตราก้อนโลหะเงินของอังกฤษไหลออกไม่ขาดสาย นำไปสู่ภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจสั่นคลอน โดยข้ออ้างเพื่อไปถวายพระพรจักรพรรดิเฉียนหลง อังกฤษได้ส่ง จอร์จ แม็คคาร์นีย์ (George Macartney,1737-1806) เป็นตัวแทนทูตคนแรกที่เดินทางมายังเมืองจีน เพื่อการที่ให้คนจีนมีทัศนคติที่ดีต่อคนอังกฤษ และมีจุดมุ่งหมายทำการเจรจาเพื่อลดปัญหาดุลการค้าขาดดุล โดยขอให้เมืองจีนเปิดเมืองท่าเพิ่มขึ้น นอกจากที่มีกว่างโจวเพียงเมืองท่าเดียว เพื่อขยายและความสะดวกต่อการค้าทางทะเล และสั่งซื้อสินค้าจากอังกฤษมากขึ้น เหตุผลโดยแท้จริงที่สุดก็เพื่อชา แน่นอน จะเป็นการดีที่สุดถ้าหากสามารถนำต้นกล้าหรือเมล็ดพันธุ์ชาอะไรก็แล้วแต่กลับไป กระทั่งสามารถไขปริศนาความลับการผลิตชาของคนจีน 

▲จอร์จ แม็คคาร์นีย์ (George Macartney,1737-1806) 

        คณะผู้แทนการทูตอังกฤษได้เริ่มเดินทางออกจากเมืองท่าพอร์ตสมัทอังกฤษเมื่อเดือน ก.ย. 1792 ได้เดินเรืออ้อมครึ่งโลกจนถึงเมืองท่าเทียนจินเมืองจีนในเดือน มิ.ย. 1793 แล้วรอคอยเพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลง 

▲หอรับรองที่ทางการจีนสร้างชั่วคราวที่เทียนจินเพื่อคณะทูตแม็คคาร์นีย์---ภาพวาดโดย William Alexander (1761-1816) ซึ่งเป็นนักวาดภาพที่ติดตามผู้แทนการทูตคณะนี้

        ได้เกิดความจงเกลียดจงชังขึ้นระหว่างฝ่ายจีนกับอังกฤษ เนื่องจากทางราชสำนักชิงต้องการให้ทูตอังกฤษในขณะที่เข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลง ต้องทำตามพิธี “3 คุก 9 ก้ม/三跪九叩” ก็คือต้องทำการคุกเข่า 3 ครั้ง แต่ละครั้งต้องก้มหน้าผากแตะพื้น 3 ครั้ง แต่ท่านทูตแม็คคาร์นีย์ถือว่าทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน ถ้าหากต้องการให้ทูตอังกฤษคุกแล้วก้มเล่า ทางราชสำนักชิงก็ต้องให้ข้าราชสำนักที่มีตำแหน่งเทียบเท่าทูตพิเศษแสดงทำความเคารพต่อพระฉายาลักษณ์ของกษัตริย์อังกฤษ มิฉะนั้น เขาจะยินดีที่คุกเข่าข้างเดียว ข้อเสนอนี้ถูกฝ่ายจีนปฏิเสธ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ถกเถียงเรื่องขัดแย้งนี้ถึง 2 เดือน สุดท้ายก็ยังไม่มีการคุกก้มเกิดขึ้น 

▲ทูตแม็คคาร์นีย์เข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลง แสดงการเคารพโดยคุกเข่าข้างเดียว

        แม้ว่าเป้าหมายทางการค้าของคณะทูตแม็คคาร์นีย์จะล้มเหลวที่ถูกจักรพรรดิเฉียนหลงปฏิเสธ แต่เนื่องจากคณะทูตพื้นฐานก็คือคณะสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาวิจัยสาขาต่างๆมากมาย จึงถือได้ว่าได้ประสบความสำเร็จใน “ภารกิจลับ” คือ “การสำรวจทางวิทยาศาสตร์

        การที่อังกฤษสามารถก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลในศตวรรษที่18 ก็โดยอาศัยกิจกรรมการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะมุ่งเน้นด้านธรรมชาติวิทยาเป็นหลัก สรุปฉบับย่อก็คือ “ความรู้คือพลัง

        หลังจากคณะผู้แทนการทูตเดินทางมาถึงเมืองจีน โดยคาดหวังที่จะได้สำรวจขนบประเพณีจีน สภาพดินฟ้าอากาศ เครื่องมืออุปกรณ์การผลิต พร้อมทั้งพืชพรรณและสัตว์ทุกชนิด และคิดที่จะประเมินกำลังที่แท้จริงของจักรวรรดิเมืองจีน 

▲การดำเนินชีวิตของคนจีนที่คณะผู้แทนการทูตได้พบเห็นในปลายศตวรรษที่ 18

        ระหว่างการเดินทางในเมืองจีน พวกเขาได้เก็บตัวอย่างพรรณพืชมากมาย แน่นอนการเก็บรวบรวมตัวอย่างเป็นเพื่อการศึกษาทางวิชาการ แต่มีปัจจัยที่สำคัญกว่าคือเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะใบชา ที่จัดเป็นรายการสำรวจอันดับแรกของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ

         จากการบันทึกของแม็คคาร์นีย์ ช่วงที่พวกเขาผ่านเขตแดนระหว่างเจ้อเจียงกับเจียงซี ได้ให้คนไปซื้อต้นกล้าชา โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถจัดตั้งอุตสาหกรรมชาในอินเดีย และเมื่อเดินทางมาถึงกว่างโจว ได้รับต้นกล้าชาจำนวนหนึ่ง พร้อมกลีบดอกไม้ที่ช่วยเพิ่มกลิ่นหอม แล้วจัดส่งต้นกล้าชาที่รวบรวมมาได้อย่างเร่งด่วนไปยังสวนพฤกษชาติกัลกัตตา(ก่อสร้างขึ้นในปี 1787 เพื่อทำการทดลองปลูกพืชพรรณจากต่างประเทศ) ตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถเพาะปลูกต้นกล้าชาเหล่านี้ในสวนพฤกษชาตินี้

         ณ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการดำรงอยู่ของต้นกล้าชาจากคณะทูตมีสภาพเป็นเช่นใด จาการบอกเล่าว่ามีบางส่วนได้สูญหายไปในกระบวนการขนส่ง แน่นอนก่อนหน้านี้ในปี 1780 ก็มีเมล็ดพันธุ์ชาเมืองจีนจำนวนเล็กน้อยส่งจากกว่างโจวไปยังกัลกัตตาโดยบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ ส่วนหนึ่งถูกส่งต่อไปยังภูฏานที่อยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย ส่วนที่เหลือนำไปเพาะปลูกที่สวนพฤกษชาติของเอกชนในกัลกัตตา อย่างไรก็ตาม ต้นชาเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อการทดลอง ไม่ได้พัฒนาก้าวไปอีกขั้น ประกอบกับบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษยังไม่มีแผนการที่จะบุกเบิกถางพงทำไร่ชาในอินเดีย เรื่องนี้จึงถูกวางไว้บนหิ้ง จนถึงหลังปี 1815 คนอังกฤษได้ทยอยค้นพบต้นชาดั้งเดิมของอินเดียในรัฐอัสสัม จึงจุดประกายความทะยานอยากที่จะจัดตั้งไร่ชาในอินเดียขึ้นมาอีก

     ▌การค้นพบต้นชาที่รัฐอัสสัม

        ระยะเริ่มต้น รัฐบาลบริติชอินเดียและบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษไม่รู้ว่ามีต้นชาพันธุ์ป่าดำรงอยู่ในอินเดีย ดังนั้น เป้าหมายเริ่มต้นของพวกเขาจึงกำหนดไว้ที่การให้ได้มาต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาของเมืองจีน และคนงานที่ชำนาญการด้านการผลิตใบชา แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้นใบชาเมืองจีนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้รับการปกป้องจากราชวงศ์ชิง คนต่างชาติไม่สามารถเข้าออกได้อย่างอำเภอใจในพื้นที่ผลิตชาที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเมืองจีน ยิ่งไม่สามารถนำต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาออกนอกราชอาณาจักรเมืองจีน

        ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ บริติชอินเดียและอังกฤษจึงมีความคืบหน้าแทบจะน้อยมากในการได้มาต้นชาเมืองจีนและสูตรลับของใบชา ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษและบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้แต่บ่นร้องทุกข์ ไม่พอใจต่อภาวะปกปิดของเมืองจีน ในสายตาของพวกเขา อังกฤษบริโภคถึง 1/5 ของใบชาเมืองจีน แต่ความพยายามที่ผ่านมาเกือบหนึ่งศตวรรดิ ทางเมืองจีนไม่เคยเปิดเผยความลับใดๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตใบชา

        การค้นพบต้นชาพันธุ์ดั้งเดิมอัสสัม กล่าวสำหรับรัฐบาลอังกฤษและบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษแล้ว ถือเป็นข่าวดีในรอบศตวรรดิที่จะหาดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว สมาคมใบชาอินเดียเพื่อป่าวประกาศให้ทราบกันทั่ว ถึงกับได้ตั้งชื่อเฉพาะการณ์นี้ว่า “การค้นพบต้นชาที่รัฐอัสสัม (Discovery of the Tea Plant in Assam)” 

▲(ขวา) ต้นชาพันธุ์ป่าอินเดียที่พบในรัฐอัสสัม สูง 13.10 เมตร (ซ้าย) ต้นชาพันธุ์ป่าเมืองจีนที่พบในปาต๋ามณฑลหยินหนาน อายุ 1700 ปี สูง 32.12 เมตร

    กรณีใครกันแน่ที่เป็นคนค้นพบต้นชาพันธุ์ป่าอัสสัมของอินเดีย เกิดข้อโต้แย้งมากมาย ผลสุดท้ายยกเกียรติคุณนี้ให้แก่ โรเบิร์ต บรูซ (Robert Bruce) โดยการค้นพบน่าจะในปี 1823

        ในปี 1823 โรเบิร์ต บรูซ ได้ขนวัสดุมากมายเข้าไปในอัสสัม เขาถือเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษคนแรกที่รุกเข้าไปในป่าทึบอัสสัม เนื่องจากช่วงเวลานั้นอัสสัมยังเป็นดินแดนของพม่า ในปี 1828 จักรวรรดิอังกฤษใช้อำนาจรุกรานบังคับพม่าเซ็นสนธิสัญญา ยกอัสสัมให้แก่อังกฤษ ต่อจากนั้นอัสสัมกลายเป็นรัฐหนึ่งของบริติชอินเดีย

        บรูซผ่านพรมแดนรุกเข้าไปในอัสสัมดินแดนของพม่า ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก แต่ก็ได้ลึกเข้าไปถึงอาณาบริเวณของชาวพื้นเมืองชนเผ่า Singpho (เป็นชนเผ่าที่นำใบชาป่ามาบริโภคตามรูปแบบของพม่า คือนำมายำกินเป็นอาหาร และก็นำมาทำเป็นเครื่องดื่ม พื้นฐานไม่ใช่แนวคิดการดื่มชาของคนทั่วไป) ในไม่ช้าบรูซได้ค้นพบต้นชาพันธุ์ป่าที่เจริญเติบโตออยู่บนเนินเขาเล็กๆของพื้นเมือง ดังนั้น เขาจึงได้ทำข้อตกลงทางหนังสือกับหัวหน้าเผ่า ใช้สิ่งของแลกต้นชาจำนวนหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้ โรเบิร์ต บรูซ จึงได้ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ชา

▲รัฐอัสสัม (Assam ; พื้นที่สีแดง) เคยอยู่ใต้การปกครองของชาวไทอาหมในช่วงปี 1228-1779 แล้วตกเป็นดินแดนของพม่าจนถึงปี 1828 ปัจจุบันเป็นดินแดนรัฐหนึ่งของอินเดีย มีพื้นที่ 78,438 ตร.กม. (ความยาวประมาณ 640 เมตร ความกว้าง ประมาณ 80 เมตร) สภาพภูมิอากาศในลักษณะเดียวกันกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(มีต่อตอนที่ 3/4)


เอกสารอ้างอิง :

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ต้นทุนของชาแดงหนึ่งถ้วย | ตอนที่ 1/4

  

        คุณ...เพื่อที่จะดื่มชาหนึ่งจอก จ่ายได้ในต้นทุนเท่าไร? ราคาของชาถุงที่ชงแช่ได้หนึ่งถ้วย? หรือชาประกวดชนะเลิศที่ราคาเป็นแสนต่อกิโลกรัม? กล่าวสำหรับคนอังกฤษแล้ว...เพื่อที่จะดื่มชาแดงหนึ่งถ้วย ในช่วงศตวรรษที่19 เพื่อการขโมยและจารกรรมเทคโนโลยีของชาแดงจากเมืองจีนแล้ว แทบจะต้องทุ่มพลังทั้งประเทศ 

        ชาแดง...กำเนิดที่เมืองจีน “เจิ้นซานเสี่ยวจ่ง/正山小种” จากถงมู่หวู่หยีซานถือเป็นต้นกำเนิดของชาแดง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุโดยบังเอิญในปลายราชวงศ์หมิงช่วงปี 1567-1610 ศตวรรษที่17 เมืองจีนได้เปิดการค้าทางทะเลอย่างเสรี ในปี 1610 พ่อค้าวาณิชย์ชาวดัตช์เป็นคนแรกนำชาที่ผลิตจากทางตะวันออกขนส่งเข้าไปยังยุโรปตะวันตก ถือเป็นผู้บุกเบิกนำชาจีนเผยแพร่ทั่วโลก 

 ▲ชาแดง “เจิ้นซานเสี่ยวจ่ง/正山小种” และ “จินจุ้นเหมย/金骏眉” ต่างเกิดขึ้นที่ด่านถงมู่หวู่หยีซานมณฑลฝูเจี้ยน  

        ตามการบอกเล่าที่คนอังกฤษหลงใหลชื่นชอบชานั้น เริ่มต้นจากเจ้าหญิงแคทเธอรินแห่งโปรตุเกส (Catherine of Braganza,1638-1705) ได้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทั่ 2 แห่งอังกฤษในปี 1662 พร้อมได้นำนิสัยการดื่มชาเข้าไปในอังกฤษด้วย ซึ่งเดิมภายในพระราชวัง พระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษจะคุ้นเคยในการดื่มเบียร์ ไวน์ สุดท้ายทุกพระองค์เปลี่ยนมาดื่มชา อันที่จริง ช่วงยุคสมัยนั้นสิ่งของจากตะวันออกมาอยู่ในยุโรปจะมีความเป็นเอกลักษณ์ผิดแปลกที่ลึกลับน่าพิศวง “Tea” จึงเป็นคำที่ใช้เรียกแทน “ชา” 

 ▲เจ้าหญิงแคทเธอรินแห่งโปรตุเกส ; ภาพวาดโดย Peter Lely (1618-1680)

     กล่าวโดยทั่วๆไป พวกเขา(คนอังกฤษ)ไม่ยินดีกระทั่งลองชิมรสอาหารต่างชาติสักเพียงเล็กน้อย พวกเขาเห็นหอมหัวใหญ่และน้ำมันมะกอกในของลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งของที่น่ารังเกียจ แต่ถ้าหากขาดซึ่งชาแล้วไซร้ ชีวิตนี้ก็ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร...George Orwell《The Lion and the Unicorn》 

        ท่านผู้อ่านที่พอมีความรู้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่อยู่บ้าง หรืออาจรับรู้แล้ว ชาแดงอัสสัม ชาแดงซีลอน ชาแดงดาร์จีลิ่ง ที่พวกเราดื่มได้ในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลังคือ “บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ (British East India Company)” ที่ใช้ความมานะบากบั่นร่วมร้อยกว่าปี ดังนั้น การกล่าวถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชาแดงของจักรวรรดิอังกฤษ จะไม่กล่าวถึงการก่อตั้งของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษเลยมิได้ 

▲จักรวรรดิบริติชที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษในช่วงศตวรรษ18-19

         ▌บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษตั้งต้นจากโจรสลัด 

        ในศตวรรษที่16 การค้าขายทางทะเลกับตะวันออกตกอยู่ภายใต้อำนาจของโปรตุเกสและสเปน อังกฤษได้แต่มองตาปริบๆ อย่างดีก็เป็นได้แค่ “จอมโจรสลัดแห่งทะเลแคริบเบียน” ในพระราชินีอุปถัมภ์ เที่ยวดักปล้นสดมภ์ทางแถบช่องแคบอังกฤษ ค่อยๆสะสมทรัพย์สมบัติทีละเล็กทีละน้อยแต่พอตัว 

        เซอร์ฟรานซิส เดรก (Sir Francis Drake,1540-1596) นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอังกฤษที่เคยเป็นโจรสลัดปล้นเรือสเปนมาก่อนในปี 1567 เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เดินเรือรอบโลกได้สำเร็จ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จึงทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวิน ในปี 1588 เดรกดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองเรือรบที่มีบทบาทสำคัญในการเอาชนะกองเรือรบอาร์มาดาของสเปน (Spanish Armada) ที่ยิ่งใหญ่และไม่มีใครเคยรบเอาชนะมาก่อน ทำให้อังกฤษกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลในเวลาต่อมา 

 ▲โจรสลัดฟรานซิส เดรก กำลังตรวจเช็คทรัพย์สมบัติที่ปล้นจากเรือสเปน

        การเอาชนะสเปนได้ทำให้อังกฤษฮึกเหิมในการขยายล่าอาณานิคมในดินแดนตะวันออกไกล เข้าไปมีอำนาจในอนุทวีปอินเดีย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ กลุ่มเกาะมลายู เป็นต้น ในปี 1600 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ลงนามในตราตั้งพระราชทานอนุญาติให้ “บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ” ถือกำเนิดขึ้นโดยการร่วมทุนระหว่างพ่อค้าและชนชั้นสูงในอังกฤษ ผ่านการออกพระบรมราชานุญาติให้บริษัทค้าขายบนเส้นทางใดก็ได้ทางทิศตะวันออกของแหลมกู๊ดโฮป(ประเทศอาฟริการใต้ในปัจจุบัน) 

 ▲แหลมกู๊ดโฮป และเส้นทางการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ

         ▌บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษถูกเลี้ยงดูด้วยใบชา 

        มีคนกล่าวว่า บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษเริ่มต้นจากเครื่องเทศ แต่อาศัยใบชาเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ ตั้งแต่พระราชินีแคทเธอรินได้จุดประกายกระแสการดื่มชาขึ้นมา ความต้องการใบชาของคนอังกฤษเพิ่มขึ้นเป็นลำดับอย่างทวีคูณ ในปี 1664 บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษได้สั่งซื้อใบชาเป็นครั้งแรกจำนวน 100 ปอนด์ (ได้นำไปถวายพระราชวังอังกฤษ 2 ปอนด์ 2 ออนซ์) ในปลายศตวรรษที่17 เป็นจำนวนหลายหมื่นปอนด์ จนถึงในปี 1799 อังกฤษนำเข้าใบชาจากเมืองจีนเป็นจำนวนถึง 23 ล้านปอนด์ 

        ในศตวรรษที่17 ใบชาสำหรับคนอังกฤษแล้วมีราคาแพงเท่าไร? ราคาขายปลีกสูงถึงปอนด์ละ 3 ปอนด์สเตอลิง ซึ่งช่างยนต์ในอังกฤษสมัยนั้นได้รับค่าแรงเพียง 1 ปอนด์สเตอลิงต่อสัปดาห์ จึงมีเพียงคนรวยที่สามารถแบกรับกับการเสพสุขอย่างหรูหราเช่นนี้ได้ สาเหตุที่มีราคาแพง นอกจากเป็นการค้าผูกขาดแล้ว ยังถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงจากรัฐบาล เริ่มต้นเรียกเก็บภาษีในรูปน้ำชา ทำให้พ่อค้าต้องนำใบชามาชงเป็นน้ำชาให้เข้มมากๆเพื่อไปสำแดงการเสียภาษี แล้วจึงเจือจางทีหลังเพื่อนำไปขาย นโยบายอันโง่เขลาแบบนี้ได้ดำเนินการมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี จึงเปลี่ยนมาเป็นการเรียกเก็บภาษีในรูปของน้ำหนักใบชา

 ▲เศรษฐกิจการค้า 3 เหลี่ยมของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ---นำเข้าผ้าไหม ใบชาจากจีน ; ส่งออกเครื่องสิ่งทอผ้าฝ้าย ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไปอินเดีย ; ส่งออกฝิ่นจากอินเดียไปจีน

         ▌ความทะยานอยากของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ 

        จนถึงศตวรรษที่19 สินค้าเมืองจีนที่นำเข้าโดยบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ เป็นใบชามากกว่า 90% คิดเป็น 10% ของเงินได้ของท้องพระคลังอังกฤษ ต้องใช้เงินตราก้อนโลหะเงินในการซื้อใบชา ส่วนเมืองจีนดำเนินนโยบายการปกป้องและกีดกันทางการค้า และไม่ค่อยมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ ในใจคนอังกฤษจึงคิดว่า คงไม่ใช่ต้องใช้จ่ายเงินตราในการซื้อตลอดไปนะ? และถ้าหากวันใด คนจีนเกิดใจคดขึ้นมา ไม่ขายละ! แล้วจะต้องทำไงดี? คนอังกฤษที่คิดจะให้ดุลการค้ามีความสมดุล สุดท้ายได้คิดวิธีแก้ปัญหาดังนี้ : ยักย้ายต้นชาเมืองจีนไปปลูกที่ดินแดนอาณานิคมอินเดีย และอีกวิธีหนึ่ง ก็คือนำฝิ่นไปขายให้คนจีน 

     เหตุผลโดยแท้จริงที่บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษต้องส่งออกฝิ่นเป็นจำนวนมาก เป็นเพราะอังกฤษไม่สามารถหาสินค้าที่สามารถลดผลกระทบจากการนำเข้าใบชาจากเมืองจีนที่ทำให้อังกฤษมีดุลการค้าขาดดุลมหาศาล ปัญหาทางการค้าจึงต้องแก้ด้วยทางการเมือง สงครามฝิ่นอันที่จริงก็คือยุทธศาสตร์ของปัญหาทางเศรษฐกิจของจักรวรรดิทั้งสอง ชาและฝิ่นจึงประกอบกันเป็นคำอุปมาของการเป็นปรปักษ์ของจักรวรรดิทั้งสอง

 ▲ประวัติศาสตร์เคยมีช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อตอนอังกฤษและเมืองจีนต้องรบประจัญบานกันอันเนื่องจากต้นดอก 2 ชนิด---ดอกฝิ่นและใบชา อาณาจักรโลกถูกแบ่งแยกใหม่จากชื่อของพรรณพืช 2 ต้นนี้...Sarah Rose《For All The Tea In China》

        คนอังกฤษสามารถทำการปลูกถ่ายต้นชาได้นั้น เป็นเพราะเบื้องหลังมีคณะนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง ได้ทำการศึกษาวิจัยทาง “ธรรมชาติวิทยา (Natural History)” โดยการรวมพฤกษศาสตร์ สัตววิทยา แร่วิทยา เป็นต้น เป็นตัวช่วยในการแผ่ขยายและการจัดการปกครองดินแดนอาณานิคม อังกฤษได้ริเริ่มทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในดินแดนโพ้นทะเลตั้งแต่ศตวรรดิที่18 สวนพฤกษศาสตร์หลวง---สวนคิว (Kew Garden) ได้กลายเป็นศูนย์กลางการตัดสินนโยบายของจักรวรรดิอาณานิคม ซึ่งมี เซอร์โจเซฟ แบงส์ (Sir Joseph banks,1743-1820) เป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการข้อมูลข่าวสารที่ส่งมาจากพื้นที่ต่างๆที่ไปสำรวจ 

 ▲สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว-สวนคิว (Royal Botanic Gardens, Kew)

        จากการสำรวจในช่วงเวลานั้น พื้นที่ในบริติชอินเดียที่เหมาะกับการปลูกถ่ายต้นชามากที่สุด คือแถบบริเวณที่อยู่ระหว่างแคว้นเบงกอลจนถึงเชิงตีนเขาหิมาลัย สภาวะแวดล้อมอากาศของบริเวณพื้นที่นี้เหมือนพื้นที่ผลิตชาของเมืองจีน แบงส์ได้แนะนำให้บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษให้ทำการทดลองปลูกต้นชาในสวนพฤกษศาสตร์ที่เมืองกัลกัตตาก่อน แล้วจึงว่าจ้างคนจีนมาชี้แนะสอนคนอินเดียจะทำการเพาะปลูกต้นชาให้ดีได้อย่างไร 

     นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษบางคนยืนยันโดยการอ้างอิงจากใบชาที่นำเข้าจากเมืองจีนที่หาซื้อได้ในอังกฤษว่า ใบชาก็คือใบไม้จากต้นชาแดงและต้นชาเขียว หรือก็คือว่า “ชาแดงได้จากต้นชาแดง ชาเขียวได้จากต้นชาเขียว” 

         นี่คือ “ผลงานวิจัย” ขนานแท้ที่สุดในช่วงระยะ 200 ปีแรกที่ใบชาแพร่เข้าสู่อังกฤษ โดยยังไม่มีความเข้าใจถึงกรรมวิธีการผลิตชา ชาแดงคือชาที่ผ่านการหมักเต็มที่ ชาเขียวคือชาที่ไม่ผ่านการหมัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของเมืองจีนที่ได้สืบทอดกันมาเป็นพันปี

(มีต่อตอนที่ 2/4) 


เอกสารอ้างอิง :

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ความเหมือนในความต่างของการดื่มชาและการดื่มเหล้า



        บนโลกที่เจริญพัฒนาและสับสนวุ่นวาย ในเบื้องหน้าที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมากมาย ในยุคสมัยของวัตถุนิยม เราจะดำรงตนอย่างไรให้เป็นตัวของตนเอง? หลังจากผ่านประสบการณ์ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคและความทุกข์ยาก อันที่จริงสามารถอธิบายประกอบด้วยคำกล่าวที่ว่า : “สรรพสิ่งรุมเร้าแค่เหล้าสามจอก/万丈红尘三杯酒 ธุรกิจรุ่งเรืองเพียงชาหนึ่งกา/千秋大业一壶茶

        ▌ทำไมคนถึงดื่มชา?

        ชีวิตคนเราเปรียบเสมือน “การดื่มชา” มีหวานกาน มีขมฝาด ทุกสิ่งล้วนต้องให้รสชาติค่อยๆย้อนกลับ จึงจะสามารถลิ้มแก่นสารที่แท้จริงของมันออกมาได้

        อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมเฉกเช่นอารมณ์ที่เหมาะเจาะ ชาที่ชงออกมาจึงจะได้ดี กลิ่นชาหอมใสบางเบาจะระเหยออกมา (การดมกลิ่น) ดื่มแล้วจะรู้สึกมีรสหลงเหลือค้างอยู่ที่โพรงปาก (การชิมกลิ่น) ก็เหมือนการกระทำการใดๆด้วยอารมณ์ดีแล้ว ก็จะประสบแต่ความสำเร็จ

        ถ้าหากชีวิตครึ่งแรกของคนเราจะลำบากยากเข็ญ ก็เหมือนชาบางชนิดที่เริ่มต้นแฝงด้วยรสขมฝาดเล็กน้อย ถึงวัยกลางคนก็จะขมสิ้นหวานตาม จนถึงวัยชราทุกสิ่งล้วนเรียบง่าย ล่มเหลวก็ได้ สำเร็จก็ดี ใครก็หนีไม่พ้นไปสู่สุคติ

        ชาที่ดีที่สุดไม่เคยปรากฏบนโลกนี้ มีเพียงชาที่เหมาะสมที่สุด ขอเพียงได้พานพบคนที่ถูกชะตา จึงสามารถปลดปล่อยรสชาติแห่งชีวิต ไม่ว่าเป็นผู้สูงศักดิ์หรือเป็นคนต่ำต้อย ปล่อยวางให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือดันทุรัง เนื่องจากชาไม่เป็นเพราะความชื่นชอบของคนชาแล้วเปลี่ยนแปลงเอกลักษณ์เฉพาะตน ชีวิตมีขึ้นๆลงๆ มีเปรี้ยวหวานขมเผ็ด มีประสบความสำเร็จ และก็มีเผชิญความล่มเหลว มีรอยยิ้ม และก็มีน้ำตา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ใช้สติปัญญาดีผจัญหน้า และจงเป็นตัวของตัวเอง

       ในทุกขั้นตอนของชีวิต จะมีความเข้าใจเข้าถึงชาแตกต่างกัน เป็นสภาวะจิตใจในภาวะหนึ่งๆ ช่วงวัยรุ่นจะป่าวร้องอย่างไร้เหตุผล พอถึงวัยกลางคนจิตใจจะถูกหล่อหลอมขัดเกลาทำให้บริสุทธิ์ จนถึงวัยชรา จิตใจมุ่งมั่นมีสมาธิ ตกตะกอนทางความคิดอย่างลึกซึ้ง

        ▌ทำไมคนถึงดื่มเหล้า?

        มีคอเหล้าบางคนชอบเสแสร้งว่า ไม่ใช่เป็นคนที่ชื่นชอบการดื่มเหล้า แต่ชื่นชอบความรู้สึก ณ โมเมนต์การดื่มเหล้า การดื่มเหล้าเป็นการระบายปลดปล่อยอารมณ์ การดื่มเหล้าเมาก็เพื่อให้ทั้งกายและใจที่อ่อนล้าได้ผ่อนคลายและรู้สึกสบาย

        อาจเป็นเพราะการติดต่อสื่อสารระหว่างกันต้องรู้จักกาลเทศะ ต้องมีคำพูดมากมายที่ไม่สามารถพูดต่อหน้าได้ ต้องมีบางคำพูดที่ไม่สามารถพูดในยามที่มีสติสัมปชัญญะ ก็มีเพียงในช่วงเวลาที่ต่างคนต่างมีความรู้สึกตัวที่เลอะเลือน จึงสามารถพูดออกจากปากได้ ก็มีเพียงในยามที่ตนเองดื่มเหล้าเมาแล้วจึงพูดถึงข้อบกพล่องของฝ่ายตรงข้าม ก็มีเพียงที่ต่างคนต่างดื่มเมาแล้วจึงไม่ถือสาคำพูดของฝ่ายตรงข้าม

        มีคนกล่าวว่าคนที่ดื่มเหล้าไม่เป็นจะเข้าไม่ถึงอารมณ์อันสุนทรีย์ นั่นเป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้จากการนำแต่ละหยดของความในใจหยดลงในจอกเหล้า เมื่อเมาแล้วความทุกข์ร้อนใจใดๆล้วนอัตรธานไป

        วงเหล้าก็เหมือนเวทีละครที่เพิ่มคุณค่าชีวิต บางคนดื่มเมาแล้วแต่บอกว่าตนเองยังไม่มาว นั่นเพื่อจะพิสูจน์ว่าตนเองยังสามารถดื่มได้อีก บางคนทั้งๆที่ยังไม่เมา แต่บอกว่าตนเองดื่มเมาแล้ว เนื่องจากพวกเขาไม่คิดที่จะดื่มต่อไป

         การขึ้นๆลงๆของชีวิต เปรียบเสมือนกับ “การดื่มเหล้า” ดื่มเหล้าจอกแรกอย่างโอหังทะนงตัวคือวัยรุ่น จอกที่สองเริ่มรู้สึกเมา ดูเหมือนเมาแต่ไม่เมานั่นคือวัยกลางคน ดื่มถึงจอกที่สามจึงเมา ข้ามวันตื่นมายังเมาค้างแล้วรู้สึกเสียใจคือวัยชรา

        เรื่องสับสนวุ่นวายต่างๆนานาในสังคมโลก ผ่านพ้นไปได้จากการพูดคุยบนเหล้าสามจอก กิจการใดๆบนโลกนี้ที่คิดการใหญ่โต เพียงใช้เวลาไปกับชาหนึ่งกาในยามบ่าย
        ชากานี้ควรดื่มกับใคร เหล้าจอกนี้ควรให้ใครดื่ม นั่นเป็นสิ่งที่คุณรู้อยู่แก่ใจ 


เอกสารอ้างอิง :
1. 人为什么要喝茶 , 为什么要喝酒https://kknews.cc/food/gz8o6ny.html