วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2564

เครื่องลายคราม---สมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ (3)



        3. เครื่องลายครามยุคหยวน/元青花


        “เครื่องลายครามยุคหยวน” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่พิเศษเฉพาะมากในประวัติศาสตร์ศิลปกรรมเครื่องเคลือบดินเผาจีน เพียบพร้อมด้วยสุนทรียภาพที่ทำให้ผู้คนตกตะลึง เครื่องลายครามยุคหยวนมีเนื้อหุ่นอันขาวนวล ผิวเคลือบอันอ่อนโยน สีลายครามที่สดเข้ม กระบวนแบบภาพลวดลายตกแต่งเขียนอย่างมีพละและอิสระ ภาพวาดหลากหลายชั้น กลายเป็นกระแสหลักที่มีอิทธิพลต่อสุนทรียศาสตร์และการผลิตเครื่องเคลือบจีน เป็นการบุกเบิกศักราชใหม่ของประวัติศาสตร์การผลิคเครื่องลายครามจีน มันเป็นการสืบทอดมาจากยุคถัง/ซ่ง ตกทอดไปยังยุคหมิง/ชิง  

▲เครื่องลายครามยุคหยวนประกอบด้วย ลายครามไฟ(ซ้าย) เคลือบน้ำเงินลายขาว(กลาง) เคลือบขาวลายน้ำเงิน(ขวา)  3 รูปแบบ

        • ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

        แม้ว่าก่อนหน้ายุคหยวน ในยุคถัง/ซ่งก็ปรากฏมีการผลิตเครื่องลายครามแล้ว แต่เครื่องลายครามเนื้อขาวลายน้ำเงินมาถึงยุคหยวน จึงเป็นยุคที่บรรลุขั้นความเชี่ยวชาญในการเผาผลิตอย่างแท้จริง ตามเอกสารจีนโบราณ เครื่องลายครามไม่ได้ถูกใช้ในราชสำนักราชวงศ์หยวน ไม่มีการเก็บรักษาเครื่องลายครามยุคหยวนในพระราชวังราชวงศ์หมิง/ชิง ในเอกสารบันทึกเครื่องเคลือบดั้งเดิมก็ไม่มีการกล่าวถึงเครื่องลายครามยุคหยวน ก่อนหน้ายุคปี1950s ในบริบทการศึกษาวิจัยศิลปกรรมเครื่องเคลือบดินเผาจีนยิ่งไม่มีสถานภาพของเครื่องลายครามยุคหยวน ทั่วไปถูกมองเป็นเครื่องลายครามยุคหมิงเป็นส่วนใหญ่ 


        สีลายครามยุคหยวนเป็นที่ประจักษมิใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน ชาวจีนชนเผ่าปักหลักทำเกษตรกรรมจะนับถือสีแดง/เหลือง สีแดงคือชีวิต สีเหลืองคือรากเหง้า สีน้ำเงินถูกเชื่อว่าเป็นสีอัปมงคล ชาวมองโกลชนเผ่าเร่ร่อนทำปศุสัตว์ไปทั่วดินแดนแห่งทุ่งหญ้า ใต้ท้องฟ้าครามอันเป็นนิรันดร์ ชาวมองโกลจะชื่นชอบสีขาว(เสื้อผ้าขาว/กระโจมขาว/ธงขาว) บูชาท้องฟ้าคราม นับถือสีฟ้าครามคือสีน้ำเงินอันเป็นมงคล หลังจากจักรวรรดิมองโกลที่พิชิตครองทั่วยูเรเซีย ได้สถาปนาราชวงศ์หยวน(ปี1271-1368)ปกครองจีนที่ชำนาญการผลิตเครื่องเคลือบ ภายใต้ภาวะประวัติศาสตร์เช่นนี้ สุนทรียภาพแห่งการประกอบเคลือบขาวกับลายน้ำเงินก็อุบัติขึ้น ก่อกำเนิดเป็นเครื่องลายคราม 

▲เครื่องลายครามกระโจมมองโกลลายน้ำทะเลดอกไม้ยุคหยวน


        เจ้าผู้ปกครองราชวงศ์หยวนไม่เพียงทำการผลิตเครื่องเคลือบเป็นจำนวนมากที่จิ่งเต๋อเจิ้น ยังจัดระบบเตาหลวงใหม่ และก่อตั้ง “สำนักเครื่องเคลือบฝูเหลียง/浮梁磁局” (ปี1278) ซึ่งถือเป็นองค์กรทางการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบองค์กรแรกในประวัติศาสตร์ ช่วงต้นยุคหยวนยังเป็นการผลิตเครื่องเคลือบสีขาว ไม่มีสีน้ำเงิน  พอย่างเข้ากลางยุคหยวน สืบเนื่องจากในช่วงนั้นการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับชนเผ่าอื่นๆอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอิสลาม กระตุ้นให้เครื่องลายครามก่อเกิดที่จิ่งเต๋อเจิ้น ส่วนใหญ่ทำการผลิตเพื่อการส่งออกขายไปยังแถบตะวันออกกลาง เอเชียอาคเนย์ เป็นต้นโดยผ่านเส้นทางสายไหม 

▲กระบวนแบบภาพที่ผสมผสานวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมอิสลาม เขียนลวดลายตกแต่งอย่างหนาแน่นซับซ้อนแทบไม่เหลือพื้นที่ว่างเปล่า เป็นการสะท้อนถึงความเชื่ออิสลามทาง “หวาดกลัวว่างเปล่า/恐惧空白” และ “ชั่วนิจนิรันดร์/生生不息” 
 

        • สารสีคราม

        สารสีครามที่ใช้บนเครื่องลายครามยุคหยวนแบ่งออกเป็น “สารสีครามจากจีน” และ “ซูหมาหลีชิง” ที่นำเข้าจากแถบเปอร์เซีย ซึ่งสารสีคราม 2 ชนิดนี้สำแดงสีที่มีความเข้มจางแตกต่างกัน สารสีครามจากจีนจะสำแดงสีน้ำเงินอมเทาค่อนไปทางอ่อน สารสีครามนำเข้าจะสำแดงสีน้ำเงินเข้มค่อนข้างสุกสว่าง 

▲(ซ้าย) “สารสีครามจากจีน” สีลายครามจะออกสีน้ำเงินอมเทาค่อนไปทางอ่อน  (ขวา) “ซูหมาหลีชิง” สีลายครามจะออกสีน้ำเงินเข้มค่อนข้างสุกสว่าง
 

        • ลักษณะเฉพาะ

        ความมีชีวิตชีวา สว่างสุกใส สง่าผ่าเผยของเครื่องลายครามยุคหยวนเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นหนึ่งเดียวในบรรดาเครื่องเคลือบยุคหยวน เป็นการผสมผสานหลากวัฒนธรรมหลอมรวมกัน พัฒนาออกมาเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกที่วิลิศมาหรา


        (1) การสืบทอดแนวความคิดสุนทรียภาพดั้งเดิมของจีน

        เครื่องลายครามยุคหยวนได้นำสุนทรียภาพดั้งเดิมของจีนเผยแผ่อย่างต่อเนื่อง ฝีมือการเขียนสีตกแต่งด้วยมือได้ถูกยกระดับให้สูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รูปลักษณ์และลวดลายตกแต่งบางรูปแบบสะท้อนถึงกระแสนิยมทางเทคนิคใหม่ 

▲เครื่องลายครามไหทรงเจดีย์ลายดอกโบตั๋นยุคหยวนรัชศกเหยียนโย่วปีที่6 (ปี1319)---เป็นเครื่องลายครามที่ใช้ “สารสีครามจากจีน” สีลายครามแตกต่างอย่างเด่นชัดกับเครื่องลายคราม “รูปแบบจื้อเจิ้น/至正型” ที่ใช้ “ซูหมาหลีชิง” นี้น่าจะเป็นเครื่องลายครามระยะเริ่มต้นที่เผาผลิตจากเตาเผาเอกชนในจิ่งเต๋อเจิ้น

▲เครื่องลายครามไหลายสน/ไผ่/เหมย(สามมิตรอายุเหมันต์/岁寒三友)ยุคหยวน ขุดพบที่เมืองบัวหยางมณฑลเจียงซีเมื่อปี 1976

▲เครื่องลายครามคณโทกรวดน้ำพร้อมฐานรองลายดอกเหมยยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่เมืองผิงเซียงมณฑลเจียงซีเมื่อปี 1985

▲เครื่องลายครามจอก/จานรองลายเถาวัลย์ดอกเก๊กฮวยโบตั๋นยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 1970 

▲เครื่องลายครามไหลายเมฆมังกรยุคหยวน ราคาประมูลได้ RMB79,846,800

▲เครื่องลายครามไฟยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่เมืองเป่าติ้งมณฑลเหอเป่ยเมื่อปี 1964


        (2) การสะท้อนวัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้ามองโกเลีย

        ราชวงศ์หยวนคือดินแดนจีนที่ถูกยึดครองโดยชาวมองโกล ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และแนวความคิดทางวัฒนธรรมของชนเผ่ามองโกลจะแตกต่างกับของจีน บางลักษณะเฉพาะบนเครื่องลายครามยุคหยวนจะสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเพณีทางสังคมของชนเผ่ามองโกล ด้านบทบาทการใช้งานจะสะท้อนถึงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อน ศาสนาพุทธที่แพร่หลายในยุคหยวนที่เผยแพร่จากธิเบต มีอิทธิพลต่อรูปลักษณ์และการตกแต่งของเครื่องลายครามบางส่วน 

▲เครื่องลายครามไหเหมยผิงแปดเหลี่ยมพร้อมฝาลายน้ำทะเลมังกรยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่เมืองเป่าติ้งมณฑลเหอเป่ยเมื่อปี 1964---รูปแบบเคลือบน้ำเงินลายขาว รูปลักษณ์อวบอิ่ม ลวดลายหนาแน่น องค์ประกอบภาพกระชับ ผิดแปลกไปจากเครื่องเคลือบดั้งเดิมยุคถัง/ซ่งที่การจัดวางแผงภาพให้มีพื้นที่ว่างเปล่าพอควร

▲เครื่องลายครามกาแปดเหลี่ยมลายดอกไม้สี่ฤดูยุคหยวน ขุดพบในห้องเก็บใต้ดินยุคหยวนที่เมืองเป่าติ้งมณฑลเหอเป่ยเมื่อปี 1964

▲เครื่องลายครามจอกขาสูงลายมังกรดอกเก๊กฮวยยุคหยวน เก็บรักษาที่สถาบันวิจัยโบราณวัตถุเขตปกครองตนเองมองโกลใน

▲เครื่องลายครามถ้วยลายสระบัวเป็ดแมนดารินยุคหยวน สูง 13.9 ซม. ปากกว้าง 29.7 ซม. เก็บรักษาที่ The Museum of Oriental Ceramics, Osaka---ถ้วยขนาดใหญ่สัมพันธ์กับประเพณีทางสังคมของชนเผ่ามองโกล

▲เครื่องลายครามจานลายดอกไม้หินยุคหยวน กว้าง 40 ซม. เก็บรักษาที่ The Metropolitan Museum of Art, New York City


        (3) บุคลิคลักษณะต่างถิ่นของเครื่องลายครามยุคหหยวน

        อาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลของราชวงศ์หยวน จากการติดต่อแลกเปลี่ยนที่กว้างขวาง การหลอมรวมกันของวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องลายครามยุคหยวนก้าวขึ้นสู่ขั้นสุดยอด ภาชนะที่ขนาดใหญ่ทั่วไปจะเป็นเครื่องเคลือบส่งออก เป็นการสั่งผลิตเพื่อให้เหมาะสมกับประเพณีการดำรงชีวิตทางสังคมของแถบพื้นที่วัฒนธรรมอิสลาม 

▲เครื่องลายครามจานปากกระจับลายสระบัวนกน้ำยุคหยวน สูง 7.3 ซม. ปากกว้าง 39.8 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิหร่าน---จานขนาดใหญ่เกี่ยวข้องกับประเพณีการทานอาหารของคนมุสลิม

▲เครื่องลายครามกาสี่เหลี่ยมลายหงส์สัตว์มงคลดั้นเมฆยุคหยวน เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิหร่าน

▲เครื่องลายครามไหเหมยผิงแปดเหลี่ยมลายสระบัวเป็ดแมนดารินยุคหยวน สูง 40.5 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปิในอิสตันบูลประเทศตุรกี

▲เครื่องลายครามน้ำเต้าลายดอกโบตั๋นยุคหยวน สูง 70 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปิในอิสตันบูลประเทศตุรกี

▲เครื่องลายครามจานปากกว้างลายสระบัวนกน้ำยุคหยวน ปากกว้าง 45 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปิในอิสตันบูลประเทศตุรกี

▲เครื่องลายครามจานปากกว้างลายกิเลนหงส์บินยุคหยวน ปากกว้าง 41.5 ซม. เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปิในอิสตันบูลประเทศตุรกี---จานขนาดใหญ่รูปแบบเคลือบน้ำเงินลายขาว มีเพียงหนึ่งไม่มีสองในโลกนี้


        ทุกวันนี้ ทั่วโลกล้วนรู้จักเครื่องลายครามที่เป็นแก่นสารวัฒนธรรมของจีน มีประวัติความเป็นมา 700 ปีแล้ว เครื่องลายครามยุคหยวนเป็นผลึกของวัฒนธรรมจีน/อิสลาม/มองโกล มันนำวัฒนธรรมเกษตรกรรมและวัฒนธรรมเร่ร่อนทำปศุสัตว์มาผสมผสานกันอย่างสัมฤทธิ์ผล อาศัยกรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบที่ดั้งเดิมและโดดเด่นของจีนนำเสนอวิธีการผลิตเครื่องโลหะของวัฒนธรรมอิสลาม ใช้สีน้ำเงินอันสดเข้มของวัฒนธรรมอิสลามมาเปลี่ยนรสนิยมทางสุนทรียภาพของคนจีน การผสมสานวัฒนธรรมเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการเปิดศักราชใหม่ของเครื่องเคลือบดินเผาจีน


เอกสารอ้างอิง :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น