▌นักล่าพรรณพืช
ในช่วงศตวรรษที่18-19 ธรรมชาติวิทยา (Natural History) เป็นวิทยาศาสตร์มวลชนแขนงหนึ่งและเป็นกิจกรรมสมัยนิยมในยุโรป มันบ่งชี้ถึงความรู้ด้านภูมิศาสตร์ สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ แร่วิทยา เป็นต้น เป็นไปตามการบุกเบิกเส้นทางโครงข่ายทางการค้าทั่วโลก คณะนักผจญภัยที่ถูกส่งไปต่างแดนอันประกอบด้วย นักภูมิศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา นักวาดรูป เป็นต้น เพื่อไปสำรวจโลกที่ยังไม่รู้จัก นักธรรมชาติวิทยาจะได้รับทุนสนับสนันจากรัฐบาลจักรวรรดิหรือสมาคมวิทยาศาสตร์ จะด้วยตนเองหรือไหว้วานนักผจญภัยมืออาชีพมุ่งไปยังสถานที่ต่างๆบนโลกเพื่อทำการสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่าง
นักล่าพรรณพืช (Plant Hunter) ก็คืออาชีพพิเศษที่เกิดขึ้นมาภายใต้หลังฉากของยุคสมัยนั้น นอกจากขวนขวายหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้ว เบื้องหลังแอบแฝงด้วยผลประโยชน์มหาศาล ในปี 1822 สมาคมการปลูกพืชสวนอังกฤษได้ก่อสร้างสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ขึ้นที่กรุงลอนดอน ได้จัดส่งนักล่าพรรณพืชออกไปทั่วสารทิศ ไปยังดินแดนที่อยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของจักรวรรดิอังกฤษเพื่อไปสำรวจพืชพรรณที่มีมูลค่าทางการค้า
『ความเป็นจริง ในช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม ความหมายของการศึกษาวิจัยทางพฤกษศาสตร์ก็เปรียบเสมือนกับห้องทดลองวิจัยทางอุตสาหกรรมในปัจจุบัน นโยบายด้านพรรณพืชที่ดำเนินการตามรูปแบบของจักรวรรดินิยม มันก็คือเครื่องมือในการรีดนาทาเร้นคุณค่าทางเศรษฐกิจของอาณานิคม ซึ่งนักล่าพรรณพืชก็จึงกลายเป็นนักสำรวจและตัวขับเคลื่อนชะตากรรมของจักรวรรดิ』
โรเบิร์ต ฟอร์จูน (Robert Fortune,1812-1880) ก็เป็นหนึ่งในบรรดานักล่าพรรณพืชที่ถูกส่งไปยังเมืองจีน
▌จอมโจรใบชา...โรเบิร์ต ฟอร์จูน
โรเบิร์ต ฟอร์จูน เป็นนักปลูกพืชสวน(Horticulturist)ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เคยถูกว่าจ้างโดยสมาคมการปลูกพืชสวนลอนดอนในปี 1843-1845 ไปสืบเสาะหาพันธุ์พืชหายากในเมืองจีน เขาทำให้ไม่ผิดหวัง สามารถเสาะหาพรรณพืชกว่า 100 ชนิด นอกจากนั้น เขายังได้นำประสบการณ์ที่ได้เห็นได้ยินในช่วง 3 ปีที่อยู่ในเมืองจีนเขียนเป็นหนังสือ《Three Years’ Wandering in the Northern Provinces of China》ทันทีที่หนังสือวางแผงในปี 1847 กลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ ทำให้เขาได้รับทั้งชื่อเสียงและเงินทอง
▲หนวดเคราใบหู 2 ข้างของโรเบิร์ต ฟอร์จูน อันเป็นสัญลักษณ์ของคนสกอตแลนด์
ในปี 1846 หลังจากบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษประสบปัญหาต่างๆทั้งจากการเมืองและการค้ามารุมเร้า ภายใต้ภาวะกดดันที่อยู่บนทางสามแพร่ง จะต้องตัดสินใจทำการเลือกครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท โดยยังยอมที่จะเสียเวลามากใช้ในการเพาะปลูกพัฒนาต้นชาพันธุ์พื้นเมืองอัสสัมให้ดีขึ้นต่อไป หรือเข้าไปในเมืองจีนเสาะหาต้นชาพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุดโดยตรงนำมาปลูกถ่ายที่อินเดีย เวลาไม่คอยท่า ทางเลือกที่สองจึงเป็นทางเลือกเดียวของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ โดยงัดกุลยุทธิ์เด็ดทิ้งไพ่ใบสุดท้าย---สืบความลับของใบชาเมืองจีน
บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษจึงตกลงว่าจ้างฟอร์จูนไปยังเมืองจีนอีกครั้ง ในสถานะ “นักล่าใบชา” ด้วยค่าจ้างปีละ 500 ปอนด์(เทียบเท่ามูลค่าปัจจุบัน 55000 เหรียญสหรัฐ) ค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทางทั้งหมดเบิกจ่ายได้ ภารกิจก็คือ : “ไปจารกรรมต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาที่ดีที่สุดในพื้นที่ผลิตชาของเมืองจีน แล้วนำต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาขนส่งไปที่เมืองกัลกัตตา แล้วขนย้ายไปปลูกถ่ายที่เชิงเขาหิมาลัย และทำการว่าจ้างคนชำนาญการชาชาวจีนมาเพาะปลูกต้นชาและผลิตใบชาที่อินเดีย”
การเดินทางไปเมืองจีนของฟอร์จูนครั้งนี้ พูดให้ถูกต้องก็คือ “เส้นทางสายลับ007” แล้วยังมีผู้ช่วยที่ซ่อนเร้น นั่นก็คือห้างฝรั่งที่ขึ้นชื่อ Dent & Company มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้
ช่วงระยะที่ปฏิบัติภารกิจในเมืองจีน ฟอร์จูนต้องผ่านความยากลำบาก ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ได้ขโมยต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ชาของชาหลงจิ่ง ต้าหงเผา และชาที่มีชื่ออื่นๆหลายหมื่นต้นจากเมืองจีน แล้วนำไปผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์ชาพื้นเมืองอัสสัม กลายเป็นพันธุ์ชาพันธุ์ใหม่หลากหลายพันธุ์ที่โดดเด่นมาก ผลสุดท้ายทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษมีสถานะภาพที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมา
▲อาณาบริเวณที่โรเบิร์ต ฟอร์จูน ปฏิบัติภารกิจในเมืองจีน---บริเวณสีเขียวเป็นพื้นที่ผลิตชาเขียว บริเวณสีแดงเป็นพื้นที่ผลิตชาวูหลง
▌เส้นทางตามล่าชาเขียว
ในเดือน ก.ย. 1848 ฟอร์จูนเริ่มบทบาท “สายลับธุรกิจ” โดยออกเดินทางจากจุดตั้งต้น---ห้างฝรั่งเซี่ยงไฮ้ ได้ว่าจ้างชาวจีน 2 คน คนหนึ่งชื่อเสี่ยวหวัง พื้นเพเป็นคนอันฮุ่ย ให้มาเป็นล่ามและผู้นำทาง อีกคนไม่มีชื่อแซ่มีหน้าที่หลักเป็นจับกัง จุดหมายปลายทางคือมณฑลอันฮุ่ย โดยเฉพาะทางแถบตอนใต้ของอันฮุ่ยเป็นถิ่นที่ผลิตชาได้เป็นจำนวนมาก
เนื่องจากทางการจีนมีกฎข้อห้ามชาวต่างประเทศเดินทางลึกเข้าไปด้านในแผ่นดินของเมืองจีน ฟอร์จูนจึงต้องแปลงกายปลอมตัวเป็นชาวจีน โดยสวมใส่ชุดเสื้อผ้าจีน โกนผมและติดผมเปียปลอม ไว้หนวดเคราแบบผู้อาวุโสจีน ใส่แว่นตาดำปกปิดสีตาที่ค่อนข้างอ่อน(ฝรั่งตาขาว คนจีนตาดำ) แล้วตั้งชื่อจีนเรียกว่า Sing Wa (鲜花/ดอกไม้สด ที่ออกเสียงเป็นภาษากว่างตง)
ออกเดินทางจากเซี่ยงไฮ้เข้าเมืองหางโจวมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายใบชาเขียวและชาวูหลง ออกจากหางโจวขึ้นไปแถบทางเหนือของเจ้อเจียง มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตชาเขียว ทำให้ฟอร์จูนเข้าใจถึงกรรมวิธีการผลิตชาเขียว ซึ่งคนอังกฤษหลงใหลดื่มชามา 200 ปี ศึกษาวิธีการทำชามา 200 ปี แต่แทบจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น ยังมีความเชื่อแบบเก่าที่ว่า :「ชาดำทำมาจากต้นชา Thea Bohea ชาเขียวทำมาจากต้นชา Thea Virdis」และเขายังได้พบเห็นมีการย้อมสีใบชาด้วยสารเคมีปรัสเซียนบลู(Prussian ; สารให้สีน้ำเงินใช้ในงานเขียนภาพ)เพื่อให้ใบชามีสีเขียวเข้มขึ้น แล้วยังค้นพบว่าในขั้นตอนการอบแห้งใบชาจะมีการใช้ผงยิปซัม เพื่อเพิ่มความหนืดของน้ำชา
『ฟอร์จูนเป็นผู้ที่ไขรหัสความลับนี้ ซึ่งความแตกต่างของชาดำกับชาเขียว ก็เพียงแค่ชาดำเพิ่มการหมักอีกกระบวนการหนึ่ง ความจริงต้นชามี Thea Bohea และ Thea Virdis สองสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์จากการเพาะปลูก แต่ชาดำและชาเขียวที่ส่งไปยังยุโรปส่งออกจากเซี่ยงไฮ้ล้วนผลิตจากต้นชา Thea Virdis ส่วนชาวูหลงซึ่งเป็นชากึ่งหมักที่อังกฤษสั่งเข้าจากหวู่หยีซานเป็นจำนวนมาก เป็นชาวูหลงจากต้นชา Thea Bohea เนื่องจากสีใบชาดำคล้ำกว่าชาเขียว คนอังกฤษจึงเรียกเป็น “ชาดำ/乌茶” ต่อมาเหมารวมชาแดงก็เรียกเป็น “Black Tea”』
ถัดมา ฟอร์จูนได้เดินทางมาถึงซงหลอซาน(อำเภอซิวหนิงเมืองหวางซาน ; “ชาซงหลอ/松萝茶” ที่ส่งออกปี 1745 ได้จมอยู่ใต้ท้องทะเล 239 ปีในซากเรืออัปปางสวีเดน ) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเสี่ยวหวัง เขาได้ตระเวนสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างใบชาที่เป็นพันธุ์หัวกะทิได้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ชาเขียว
ในเดือน ม.ค. 1849 ฟอร์จูนได้กลับมาที่จุดตั้งต้น---ห้างฝรั่งเซี่ยงไฮ้ ในที่นี้ เขาได้นำต้นกล้าชากว่า 13000 ต้น และเมล็ดพันธุ์ชากว่า 10000 เม็ด เพื่อกระจายความเสี่ยงจึงแบ่งออกเป็น 4 ส่วน แล้วจัดส่งผ่าน 4 สายเดินเรือ จุดหมายปลายทางที่สวนพฤกษศาสตร์กัลกัตตาและอัสสัมของบริษัทอินเดียตะวันออก แม้ความพยายามที่นำเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาบรรจุเพาะอยู่ใน “ตู้เรือนกระจกเคลื่อนที่ (Wardish case)” แต่ได้ลืมเรื่องสำคัญไปสิ่งหนึ่ง :「ช่วงเวลาของการขนส่งเป็นช่วงฤดูหนาว」
▲ตู้เรือนกระจกเคลื่อนที่ (Wardish Case) คิดประดิษฐ์โดยนักพฤกษศาสตร์ นาธาเนียล แบ็กชอว์ วอร์ด (Nathaniel Bagshaw Ward,1791-1868)---พืชพรรณที่ขนถ่ายโดยทางเรือในยุคการสำรวจทางทะเล ต้องสัมผัสกับสภาวะอากาศท้องทะเลที่มีความเค็มสูง มีโอกาสสูงที่ทำให้พืชพรรณตายได้ พืชพรรณที่ปลูกอยู่ในตู้เรือนกระจกเคลื่อนที่ ไอน้ำจะเกิดการหมุนเวียนโดยธรรมชาติในตู้ ทำให้สภาพดินดำรงความชื้นคงที่ตลอดเวลา
『เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในกระบวนการขนส่งทั้งโดยทางเรือและบนบกที่ใช้เวลา 4 เดือน และความสะเพร่าของผู้รับผิดชอบควบคุมการขนส่งครั้งนี้ เมล็ดพันธุ์ชาเกิดเน่าเสียหมด และต้นกล้าชาแทบจะตายหมดสิ้น เมื่อฟอร์จูนทราบข่าวแทบจะล้มทั้งยืน รู้สึกเหมือนในระยะ 1 ปีนี้ตนเองยังไม่ได้มาเมืองจีนปานนั้น』
▌เส้นทางตามล่าชาแดง
ในเดือน พ.ค. 1849 ฟอร์จูนเตรียมที่จะออกเดินทางอีกครั้ง ไปหวู่หยีซานที่อยู่ในบริเวณเขตแดนระหว่างฝูเจี้ยนและเจียงซี เพื่อไปค้นหาชาแดงและชาวูหลง เที่ยวนี้เขาเปลี่ยนล่ามคนใหม่เป็นหูซิ่ง ที่พื้นเพเป็นคนหวู่หยีซานฝูเจี้ยน และให้ทำหน้าที่เป็นหลงจู๊ พร้อมได้ว่าจ้างกุลี 8 คน
เดือน ก.ค. ฟอร์จูนได้เดินทางโดยผ่านหนิงโปลงมาถึงหวู่หยีซาน ในที่ที่เห็นไร่ชาเต็มไปหมด ภาพต้นชาไม้พุ่มอันเขียวขจีตามไหล่เขาเทียบกับภาพสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้งที่เคยพบเห็นได้ทั่วไปทำให้ตรึงตาตรึงใจยิ่งนัก ในที่นี้ฟอร์จูนได้เห็นการเด็ดและกระบวนการผลิตใบชาของชาแดงคุณภาพสูง สำรวจสภาพดินฟ้าอากาศ และได้เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว
▲ภาพทิวทัศน์ของไร่ชาหวู่หยีซาน เป็นภาพแทรกอยู่ในหนังสือ《A Journey To The Tea Countries of China》โดยโรเบิร์ต ฟอร์จูน เผยแพร่ปี 1852
ฟอร์จูนได้เข้าพักที่ห้องพักที่อยู่ในบริเวณของวัดจีนขนาดใหญ่ บริเวณรอบวัดทั้งภายในและภายนอกมีต้นชาเต็มไปหมด การปรากฏของฟอร์จูน ทำให้เหล่าหลวงจีนในวัดรู้สึกดีใจ ฟอร์จูนได้เรียนรู้วิธีการชงชาจีนจากที่นี้
ต้นชาต้าหงเผา 3 ต้นที่มีอายุ 200 ปีอันเป็นต้นแม่พันธุ์ อยู่ไม่ไกลจากวัดจีนเพียงเดินทางไม่ถึงวัน ฟอร์จูนได้ไปเห็นกับตา จึงครุ่นคิดที่นำตัวอย่างไปเพาะปลูกที่อินเดีย เขาติดสินบนเหล่าหลวงจีนด้วยเงินเล็กน้อย สิ่งที่ได้กลับมาเป็นยอดอ่อนสดและเมล็ดของต้าหงเผาและต้นชาอีกหลายพันธุ์ชนิด อาจไม่สามารถกล่าวว่าพฤติกรรมเยี่ยงนี้เป็นการขโมย แต่ที่แท้เป็นการใช้เหล่าหลวงจีนมาบรรลุผลของความลับทางธุรกิจที่เขาไม่สามารถเปิดเผยได้
▲ต้นชาแม่พันธุ์ต้าหงเผาตั้งอยู่ในจิ่วหลงเคอร์หวู่หยีซาน ปัจจุบันมีอยู่ 6 ต้น แต่ไม่ใช่มีแค่สายพันธุ์เดียว ต้นที่ 1,2,3 เป็นต้นชาแม่พันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุกว่า 300 ปี ต้นที่ 4 ไม่ทราบใครเป็นคนเพาะปลูกไว้ ต้นที่ 5 เป็นการตอนกิ่งต้นที่ 1 มาปลูกถ่าย ต้นที่ 6 เป็นการตอนกิ่งต้นที่ 2 มาปลูกถ่าย
เมื่อฟอร์จูนเตรียมที่ลาจากวัดจีน เจ้าอาวาสเป็นเพราะแสดงความเคารพหรือเป็นเพราะความไร้เดียงสา ได้มอบเมล็ดพันธุ์ชาที่มีค่ายิ่งจำนวนหนึ่งให้แก่ฟอร์จูน ทำให้ฟอร์จูนตื้นตันใจจนพูดอะไรไม่ออก
พวกฟอร์จูนช่วยกันหีบห่อเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชา ส่วนใหญ่ฝากส่งทางเรือไปที่ห้างฝรั่งเซี่ยงไฮ้ ต่อจากนั้น ฟอร์จูนก็เข้าสู่เส้นทางที่ทอดยาวจากหวู่หยีซายไปหนิงโปแล้วกลับเซี่ยงไฮ้
ฟอร์จูนได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าที่เซี่ยงไฮ้ของห้างฝรั่ง ก่อสร้างเรือนปลูกพืชสวนเล็กๆ เพื่อเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนของพืชพรรณที่เขาเสาะหาได้ในระหว่างทาง และที่จัดส่งมาทางเรือก่อนหน้านี้
จากประสบการณ์ที่เมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาที่จัดส่งไปอินเดียครั้งก่อนเกิดตายเกือบหมด ฟอร์จูนจึงได้คิดหาวิธีแก้ไข คราวนี้เขาใช้ตู้เรือนกระจกขนาด 4x6 ฟุต เพาะแบบผสมต้นกล้ากับเมล็ดพันธุ์ในตู้เดียวกัน โดยปลูกต้นกล้าลงในดิน พื้นที่ช่องว่างโรยเมล็ดพันธุ์เป็นชั้นๆโดยใช้ดินกลบแยกแต่ละชั้น เกิดผลดีเกินคาด
▌สรรหาช่างชำนาญการชาชาวจีน
เมื่อเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาพร้อม(天時) พื้นที่เตรียมปลูกถ่ายพร้อม(地利) ก็เพียงขาดคนปลูกและทำชา(人和) ซึ่งก็คือฟอร์จูนต้องสรรหาคนปลูกชาหรืออาจารย์ผลิตชาที่เป็นมืออาชีพ เพื่อเพาะเลี้ยงใบชาที่ปลูกถ่ายที่อินเดียให้เจริญเติบโตด้วยดี
ฟอร์จูนได้ไหว้วานให้ห้างฝรั่งช่วยสรรหาอาจารย์ชาที่โดดเด่น 8 คนจากหมู่บ้านใบชา นำพวกเขาไปอินเดียทำการเพาะปลูกต้นชาพร้อมกัน สุดท้ายได้ทำสัญญาว่าจ้าง 3 ปี ค่าตอบแทนเดือนละ 33 รูปี(15 เหรียญสหรัฐ)
ในเดือน ก.พ. 1851 ฟอร์จูนและอาจารย์ชา 8 คน ได้ขึ้นเรือรบ “ควีน” ออกจากเซี่ยงไฮ้มุ่งสู่ฮ่องกง ที่เดินทางพร้อมกับพวกเขา ยังมีตู้เรือนกระจกเคลื่อนที่ที่บรรจุต้นกล้าชา 23892 ต้นพร้อมเมล็ดพันธุ์ชา 17000 เม็ด และเครื่องใช้สำหรับผลิตชาอีกมากมาย
「เสียงหวูดเรือดังขึ้น หวูด...หวูด...ชายฝั่งแผ่นดินบ้านเกิดที่เหล่าอาจารย์ชาเพ่งตามอง ในสายตาตนเองยิ่งมองยิ่งไกลลิบตา...」
▌ปาฏิหาริย์ปรากฏที่เชิงเขาหิมาลัย
ในวันที่ 15 มี.ค. 1851 หลังจากเดินทางโดยทางเรือประมาณ 1 เดือน ฟอร์จูนและเหล่าอาจารย์ชาก็มาถึงกัลกัตตา มาถึงพร้อมกับเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชา หลังการตรวจเช็คแล้วไม่ได้รับความเสียหาย
หลังจากจัดการและมอบหมายทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฟอร์จูนก็เตรียมที่จะกลับอังกฤษ เขามีความรู้สึกเหมือนต้องลาจากรอยเท้าของตนเองที่ประทับบนเมืองจีนที่กลายเป็นอดีต นำความทรงจำแห่งการต่อสู้ที่ผ่านมา 3 ปีของตนเองฝากไว้ที่อินเดีย
คนอังกฤษได้ทำการบุกเบิกถางพงเป็นไร่เพาะปลูกต้นชาหลายแปลงที่บริเวณดาร์จีลิ่ง สองปีต่อมา ได้นำต้นชาจีนมาดำเนินการผสมข้ามพันธุ์กับต้นชาอินเดีย กลายเป็นต้นชาพันธุ์ใหม่ “ชาแดงอัสสัม”
ปัจจุบัน ชาแดงที่ผลิตจากดาร์จีลิ่งถูกยกย่องให้เป็น “แชมเปญแห่งชาแดง” ชาแดงชนิดนี้ก็ถูกกล่าวขานเป็น “สุดยอดแห่งชา”
▲ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) เป็นเมืองหนึ่งในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยน้อยบนความสูง 2,042 เมตร มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมผลิตชา
「เพียงใช้เวลา 1 ชั่วอายุคน ชาแดงอัสสัมของอินเดียจากพันธุ์ที่ไม่มีคุณค่าพัฒนาเป็นพันธุ์โดดเด่นที่คุณภาพ ปริมาณการผลิตเหนือกว่าใบชาเมืองจีน โดยเฉพาะการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของอังกฤษแบบทุนนิยม ทำให้มีความได้เปรียบทางด้านราคาอย่างเบ็ดเสร็จ นับต่อแต่นี้ไป ชาแดงอัสสัมก็ก้าวเข้าสู่เวทีโลก กลายเป็นชาแดงที่ผู้คนชื่นชอบตราบจนถึงทุกวันนี้」
▲ภาพคนงานชาใช้เท้านวดใบชา(feet made)ในเมืองจีนที่แทรกอยู่ในหนังสือของโรเบิร์ต ฟอร์จูน ภายหลังต่อมาพ่อค้าอังกฤษนำมาใช้ในการเรียกร้องให้บริโภคชาอินเดีย อย่าซื้อชาเมืองจีนที่สกปรก
『โรเบิร์ต ฟอร์จูน ได้ทำการขโมยพันธุ์ชาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจากเมืองจีนได้เป็นผลสำเร็จ ก่อเกิดเป็นเรื่องราวการลักลอบความลับธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์ได้รู้จักจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ตราบจนถึงทุกวันนี้ วิธีการของฟอร์จูนยังถูกนิยามเป็นกิจกรรมสายลับทางธุรกิจ จากความเห็นของผู้คน ลักษณะปฏิบัติการของเขาก็เหมือนกับการขโมยสูตรของโคคาโคล่าปานนั้น』...Sarah Rose《For All The Tea In China》
เอกสารอ้างอิง :
2. 一杯紅茶的代價 (4)
3. 一杯紅茶的代價 (5)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น