วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ความเข้าใจเกี่ยวกับปั้นเคมี



        เห็นมีการยกกรณีของปั้นจื่อซาที่ “เนื้อดิน” มีสีที่ผิดแปลกจากสีธรรมชาติของ “ดินจื่อซา” เช่นสีออกเขียว น้ำเงิน หรือดำ เป็นต้นล้วนถือเป็น “ดินเคมี” แล้วมีความเข้าใจว่า ถ้าหากนำมาใช้ชงชาดื่มแล้วจะมีโทษต่อร่างกาย 


▲ปั้นเคมี/化工壶


        ก่อนอื่น มานิยามกันก่อนว่า “ดินเคมี” คืออะไร? : คือดินที่นำดินเกาลินหรือดินเหนียว ผงควอทซ์ โซเดียมซิลิเกต(แก้วเหลว/Water Glass) และสารโลหะออกไซด์หรือสีย้อมเคมีที่เป็นสารให้สีมาผสมกันตามอัตราส่วน โดยทั่วไปจะผสมสารให้สีที่เกินค่ามาตรฐาน ดังนั้น “ปั้นเคมี” ที่ทำออกมาจะมีสีที่สดกว่า


        โดยทั่วไป “ปั้นเคมี” จะมีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้


        1. ผิวปั้นโดยทั่วไปจะมีสีที่ค่อนข้างเจิดจ้า สีที่เจิดจ้าส่วนใหญ่ได้จากการเติมโซเดียมซิลิเกตในปริมาณที่มากเกิน หรือจากการพ่นน้ำดินเคมีเคลือบผิว

        2. ความสามารถในการดูดซึมน้ำโดยทั่วไปจะค่อนข้างต่ำ ไม่มีคุณสมบัติที่อากาศสามารถซึมผ่านได้ เมื่อราดน้ำลงบนตัวปั้น น้ำบนตัวปั้นจะไม่ถูกซึมซับ

        3. สีปั้นโดยทั่วไปจะค่อนข้างแวววาว โดยทั่วไปทำจากการนำดินเหนียวผสมสีย้อมเคมี

        4. การเลี้ยงปั้นให้เกิดมันเงาได้ยาก ไม่ว่าจะเลี้ยงยังไง สิ่งที่หลงเหลืออยู่บนผิวปั้นก็เพียงแค่กากชา

        5. กลิ่นแปลกปลอม เมื่อรินเทน้ำร้อนลงในปั้นจะมีกลิ่นที่แสบจมูก


        กรณีของปั้นจื่อซาหยีซิงที่ถูกกล่าวว่าเป็น “ปั้นเคมี” ผู้บริโภคมีความกังวลว่า ปั้นจื่อซาจำนวนหนึ่งจะเป็นพิษต่อร่างกายจากการผสมวัตถุสารเคมีลงไป อันที่จริงดินจื่อซาธรรมชาติโดยตัวของมันเองก็ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดด้วยกัน นี่เป็นสาเหตุที่อุปกรณ์จื่อซาสำแดงสีตัวตนออกมา 


▲องค์ประกอบทางเคมีของอุปกรณ์จื่อซา


        ในช่วงยุคสาธารณรัฐ มีดินชนิดหนึ่งที่มีสีพิเศษเฉพาะที่เรียกขานว่า “หมิงกั๋วลวี่หนี/民国绿泥” (ดินเขียวสาธารณรัฐ) โดยการนำแร่โคบอลต์และผงสีเขียวโครเมียมออกไซด์ผสมกับดินจื่อซาชนิด “เปิ่นซานลวี่หนี/本山绿泥” เมื่อผ่านการเผาผนึกแล้ว สีเนื้อดินจะออกโทนสีเขียวเข้มอมน้ำเงิน ซึ่งในยุคสมัยนั้น แร่โคบอลต์ต้องนำเข้าจากเยอรมันจึงมีราคาแพง ประกอบกับวัตถุดิบดินมีปริมาณน้อย ดังนั้นจึงมีศิลปินทำปั้นน้อยคนนักที่สามารถใช้ “หมิงกั๋วลวี่หนี” มาทำเป็นปั้นจื่อซา 


▲ปั้นเสมอกัน/均匀壶 โดยกู้จิ่งโจว ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี

▲ปั้นสี่เหลี่ยมท้องกลอง/鼓腹四方壶 โดยหวังหยินชุน ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี

▲ปั้นกระถางธูป/小传炉壶 โดยหวูอวิ๋นกึน ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี

▲ชุดปั้นมังกรเมฆ/云龙壶套组 โดยจูเข่อซิน ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี

▲ปั้นกงชุน/供春壶 โดยวังหยินเซียน ทำจากหมิงกั๋วลวี่หนี


        ปัจจุบัน ผู้คนที่ชื่นชอบจื่อซาหยีซิงเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น เพื่อความพึ่งพอใจของลูกค้าที่มีระดับความต้องการต่างๆกัน เพื่อให้ได้สีของผลิตภัณฑ์จื่อซาเช่นปั้นจื่อซาให้มีสีที่สดและหลากหลายมากขึ้น จึงจำต้องผสมผงสีโลหะออกไซด์ในปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย


        อาทิเช่น เหล็กออกไซด์(Fe2O3) โดยทั่วไปผสมอยู่ในดินจูหนี ทำให้ได้สีแดงสดราวกับต้าหงผาว โคบอลต์ออกไซด์(CoO) เป็นสารให้สีออกโทนน้ำเงิน แมงกานีสออกไซด์(MnO) เมื่อเติมในดินจื่อหนีทำให้สีออกม่วงที่ดูสดสวยมากขึ้น โครเมียมออกไซด์(Cr2O3) เป็นผงสีเขียว


        ปั้นจื่อซาผสมโลหะออกไซด์กับปั้นเคมีเป็นคนละแนวความคิด วัตถุดิบของปั้นเคมีมิใช่ดินจื่อซาแท้จริงจากธรรมชาติ เป็นดินที่ทำปลอมแปลงดินจื่อซาโดยผสมสารเคมีปรุงแต่งสีขึ้นมา ส่วนใหญ่เพื่อสามารถทำการผลิตได้ในปริมาณมาก ต้นทุนต่ำ อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ 


        การที่ระบุว่า ปั้นจื่อซาที่มีการผสมสารโลหะออกไซด์เช่นโคบอลต์ออกไซด์จะถือเป็น “ปั้นเคมี” ที่มีพิษก็จะเป็นการกล่าวที่ขาดการไตร่ตรองไปสักหน่อย เนื่องจากสารโลหะเหล่านี้มีจุดหลอมเหลวที่สูงมาก และก็ทนต่อสภาพที่ปั้นจื่อซาถูกเผาผนึกที่อุณหภูมิ 1200ºC หลังผ่านการเผาผลิตเสร็จแล้วก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของเนื้อดิน แล้วจะละลายออกมาอยู่ในน้ำชาที่ไม่ถึงร้อยองศาได้อย่างไรเล่า? “สารโลหะ” เหล่านี้ในเมื่อไม่ละลายอยู่ในน้ำชาแล้วใยจะเข้าสู่ในร่างกายได้เล่า? เมื่อไม่เข้าสู่ในร่างกายแล้วจะมีผลเป็นพิษต่อคนได้ยังไง?


        อันที่จริง ในการผลิตเครื่องเคลือบลายครามก็จะใช้ผงสีโคบอลต์ออกไซด์ในการเขียนสีลายคราม ในชั้นเคลือบใสจะมีสารนิกเกิล ในน้ำเคลือบสีขาวก็จะมีสารตะกั่ว ถ้าหากสารโลหะเหล่านี้สามารถเข้าสู่ในร่างกายได้แล้วไซร้ ถ้าเช่นนั้นเครื่องเคลือบดินเผาที่มีชั้นผิวเคลือบก็เป็นอุปกรณ์ภาชนะที่มีพิษใช่หรือไม่? 


▲ผงสีน้ำเงินโคบอลต์ออกไซด์ใช้ในการเขียนสีลายคราม




 เอกสารอ้างอิง :

1. 你的壶是化工壶吗?http://www.360doc.cn/article/17976275_619536142.html

2. 民国绿是一款什么样的紫砂泥料?https://kuaibao.qq.com/s/20200526A0PYII00?refer=spider

3. 假的紫砂壶有毒吗?http://www.lyspdl.com/index.php/post/3397.html

1 ความคิดเห็น: