“เครื่องลายคราม/青花瓷” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาชนะกระเบื้องเนื้อขาวเขียนลายสีคราม/白地青花瓷” ภาษาอังกฤษเรียกขานกันว่า “Blue and White Porcelain” ถือเป็นเครื่องเคลือบชนิดหนึ่งที่เป็นกระแสหลักของจีน จัดเป็นเครื่องเคลือบเขียนสีใต้เคลือบ เครื่องลายครามจะใช้แร่โคบอลต์ที่มีองค์ประกอบโคบอลต์ออกไซด์เป็นรงควัตถุ โดยการเขียนระบายตกแต่งบนเนื้อดินของเครื่องเคลือบดินเผา แล้วทำการชุบน้ำเคลือบชนิดโปร่งใสทับ 1 ชั้น นำไปทำการเผาครั้งเดียวด้วยอุณหภูมิสูง 1300º C ในบรรยากาศพร่องออกซิเจน เครื่องลายครามหลังผ่านการเผาแล้วจะสำแดงลวดลายสีน้ำเงินที่เจิดจรัสตัดกับผิวเคลือบสีขาวที่สว่างสุกใส เพียบพร้อมด้วยเนื้อหาแฝงและความหมายโดยนัยทางวัฒนธรรมอย่างลึกซึ่ง
▲「白釉青花一火成,花从釉里透分明。可参造化先天妙,无极有来太极生。/ ลายครามเคลือบขาวเผาเสร็จไฟเดียว ลวดลายใต้เคลือบงามสง่าผ่าเผย อิงธรรมชาติสร้างสรรค์เลอเลิศ ยินหยางดำรงสรรพสิ่งอุบัติ」--- บทกวีสรรเสริญเครื่องลายครามใน《陶歌/บทเพลงดินเผา》โดย 龚轼/กงซื่อ ยุคชิง【ประวัติโดยสังเขป】
เครื่องลายครามเป็น 1 ใน 4 เครื่องเคลือบดั้งเดิมอันโด่งดังของจิ่งเต๋อเจิ้น เครื่องลายครามที่ดั้งเดิมที่สุดได้เริ่มปรากฏร่องรอยในยุคถังและซ่งแล้ว เครื่องลายครามที่มีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์กลับปรากฏในยุคหยวนที่เตาเผาหูเถียน(湖田窑)ในจิ่งเต๋อเจิ้น เครื่องลายครามได้กลายเป็นภาชนะเครื่องเคลือบกระแสหลักในยุคหมิง การพัฒนาสู่จุดสุดยอดในรัชสมัยคังซีราชวงศ์ชิง เครื่องลายครามจิ่งเต๋อเจิ้นไม่ว่าบริบทในด้านวัตถุดิบ/กรรมวิธีการผลิต/การออกแบบ เป็นต้นล้วนยอดเยี่ยมที่สุดในจีน เครื่องลายครามยุคหยวนก็ได้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ในประวัติศาสตร์จักรวรรดิราชวงศ์หยวนและคนมองโกลชนเผ่าเร่ร่อนจะนิยมชมชอบสีขาวและสีฟ้าคราม อันเนื่องจากเสื้อผ้าอาภรณ์ของคนมองโกลเป็นสีขาว กระโจมมองโกลเป็นสีขาว ท้องฟ้าเหนือทุ่งหญ้าเป็นสีฟ้าคราม ไม่เพียงเท่านี้ คนมองโกลได้ประทับรอยเท้าไปทั่วยูเรเซีย วัฒนธรรมของมุสลิมในยูเรเซียก็ชื่นชอบสีน้ำเงิน ในพื้นที่ตะวันออกกลางอันแห้งแล้ง น้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด ในวัฒนธรรมอิสลาม บนสวรรค์ก็คือโลกสีน้ำเงินที่อุดมไปด้วยน้ำ ในประวัติศาตร์จีนเครื่องลายครามที่แฝงด้วยลวดลายที่มีเอกลักษณ์ของมุสลิม ล้วนถือเป็นเครื่องเคลือบส่งออก
【สารสีคราม】
สารสีครามเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตเครื่องลายคราม จัดอยู่ในรงควัตถุอุณหภูมิสูงใต้เคลือบ คุณภาพและวิธีการควบคุมสีสำแดงของสารสีครามจะเป็นตัวกำหนดความรุ่งเรืองเสื่อมถอยและพัฒนาการของเครื่องลายคราม
ลวดลายใต้เคลือบของเครื่องลายครามได้จากการใช้แร่โคบอลต์ออกไซด์เป็นสารสีครามมาดำเนินการเขียนวาดตกแต่ง โดยองค์รวมจะแยกออกเป็นสารสีครามจากจีนที่ประกอบด้วยธาตุแมงกานีสสูงธาตุเหล็กต่ำ และสารสีครามนำเข้าที่ประกอบด้วยธาตุแมงกานีสต่ำธาตุเหล็กสูง
ตั้งแต่กลางปลายยุคหยวน(ปี1206)ตราบจนถึงปัจจุบันนับรวม 815 ปี จิ่งเต๋อเจิ้นนครแห่งเครื่องเคลือบพันปีที่ได้ทำการเผาผลิตเครื่องลายคราม สารสีครามที่ใช้สามารถจัดแยกตามลำดับยุคสมัยออกเป็น 7 ชนิด :
1. ซูหมาหลีชิง/苏麻离青
ภาษาอังกฤษถอดคำออกเป็น Smalt เป็นสารสีครามที่นำเข้ามาจากแหล่งเปอร์เซีย เริ่มใช้ในปลายยุคหยวนช่วงรัชสมัยจิ่งเต๋อ เจิ้งเหอที่ได้เดินสำรวจทางทะเลได้นำสารสีตัวนี้เข้าจีนในสมัยหย่งเล่อราชวงศ์หมิง ถูกใช้จนร่อยหรอหมดไปในรัชสมัยเฉิงฮั่ว เครื่องลายครามที่ใช้สารสีครามตัวนี้ในการเขียนสี จะสำแดงสีน้ำเงินสด ตรงส่วนที่เข้มจะออกดำ มีผลึกสนิมเหล็ก(เกิดจากประกอบด้วยธาตุเหล็กสูง) ปรากฏลักษณะ “แผ่ซ่าน/晕散”
2. ผิงเติ่งชิง/平等青
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เปยถังชิง/陂塘青” ขุดจากแหล่งเล่อผิงมณฑลเจียงซี ถูกใช้ประจำในเตาหลวงยุคหมิงรัชสมัยเฉิงฮั่ว/หงจื้อ/เจิ้งเต๋อ รวมระยะเวลาการใช้นานประมาณ 70 ปี สารสีครามตัวนี้ประกอบด้วยธาตุเหล็กต่ำ ทำให้โทนสีอ่อนละมุ่น แทบจะไม่เกิดลักษณะแผ่ซ่าน
3. สือจื่อชิง/石子青
ผลิตจากทางแถบเกาอันมณฑลเจียงซี เมื่อใช้เป็นสารสีเดียวโดดๆ สีลายครามจะออกไปทางเทาเข้มกระทั่งออกดำ สารสีครามตัวนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในเตาเผาเอกชนทั้งในยุคหมิงและชิง ส่วนเตาเผาหลวงจะนำมาปรับใช้ผสมกับสารสีครามหุยชิง ถือเป็นสารสีครามที่ถูกนำมาใช้เป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในกระบวนการเผาผลิตเครื่องเคลือบชาวบ้านในจีน
4. หุยชิง/回青
ถือเป็นสารสีครามนำเข้า แหล่งกำเนิดอยู่ทางแถบเขตซินเจียงในปัจจุบัน เริ่มใช้ในปลายยุคหมิงรัชสมัยเจียจิ้ง/หลงชิ่ง/ว่านลี่ สารสีหุยชิงจะต้องนำมาผสมกับสารสีสือจื่อชิงในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้สีครามตามที่คาดหวัง สารสีหุยชิงระดับเกรดดีจะเรียกขานเป็น “ฝอเถาชิง/佛头青”
5. สารสีเจ้อ/浙料
ขุดได้จากแถบเส้าซิง/จินหัวในมณฑลเจ้อเจียง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เจ้อชิง/浙青” จัดเป็นสารสีครามที่ดีที่สุดของจีน เมื่อสารสีหุยชิงได้ร่อยหรอหมดไปในปลายรัชสมัยเฉิงฮั่ว กลางรัชสมัยว่านลี่ได้เริ่มใช้สารสีเจ้อ เตาเผาหลวงในยุคชิงรัชสมัยคังซี/หย่งเจิ้ง/เฉียนหลง จะใช้สารสีครามตัวนี้
6. สารสีจูหมิง/珠明料
ผลิตจากเขตพื้นที่เซวียนไวมณฑลอวิ๋นหนาน กลางปลายรัชสมัยคังซีจะใช้สารสีครามตัวนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะใช้ในการเขียนภาพคนและทิวทัศน์โดยวิธีการ “Water Diversion Technique/分水皴技法” ภาพวาดออกมาจะมีระดับความเข้มจางที่ดูมีมิติอย่างเด่นชัด ราวกับภาพวาดหมึกจีน เรียกขานเป็น “น้ำเงินขนหยก/翠毛蓝”
7. สารสีครามเคมี/化学青料
เป็นสารโคบอลต์ออกไซด์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมี สีครามจะออกน้ำเงินอมม่วง สีอ่อนละมุ่น ดูเบาลอยอยู่บนผิวเครื่องเคลือบ ไม่เหมือนสารสีคราม 6 ชนิดข้างต้นที่เป็นรงควัตถุประเภทแร่ ซึ่งสีครามจะซึมลึกลงในเนื้อดิน และเมื่อเวลายาวนาน สีครามเคมีจะปรากฏเป็นสีเก่าออกไปทางเหลือง/เทา มันไม่เหมือนสารสีครามที่เป็นแร่ สีครามจะคงทนไม่เปลี่ยนแปลง ราคาของสารสีครามเคมีจะถูกมาก เป็นเหตุให้เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุคสาธารณรัฐตราบจนถึงปัจจุบัน
【ตราประทับ】
เครื่องลายครามโบราณจีนมีการเขียนสีตกแต่งอย่างประณีตสวยงาม ตราประทับที่เป็นตัวอักษรหรือรูปภาพใต้ก้นเครื่องเคลือบมีหลากหลายรูปแบบ ตราประทับของแต่ละยุคสมัยต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อดูรูปแบบตราประทับของเครื่องลายครามแล้ว สามารถจัดแบ่งเป็น 5 ชนิด :
(1) ตรายุคสมัย/纪年款
ตราประทับที่ใช้วิธีเขียน/แกะ/พิมพ์บนเครื่องลายครามเพื่อระบุยุคปีผลิตของเครื่องเคลือบเรียนว่า “ตรายุคสมัย” และก็แบ่งออกเป็น “ตรารัชศกจักรพรรดิ/帝王年号的年款” และ “ตราแผนภูมิสวรรค์/干支款” ตรายุคสมัยเริ่มปรากฏบนเครื่องลายครามในช่วงรัชศกหย่งเล่อราชวงศ์หมิง
(2) ตราคำอวยพร/吉言款
เป็นการเขียนถ้อยคำที่มีความหมายเป็นมงคล เพื่ออวยพรให้ชีวิตเจริญด้วยอายุ/วรรณะ/สุขะ/พละ จะพบเห็นทั่วไปบนเครื่องลายครามชาวบ้าน
(3) ตราชื่อห้าง/堂名款
เป็นสัญลักษณ์ของการสะสมส่วนตัวโดยการเขียนชื่อห้าง/ชื่อคนลงบนเครื่องลายคราม เครื่องเคลือบตราชื่อห้างนี้จัดเป็นงานละเอียดประณีต มีคุณค่าสูงในการเก็บสะสม
(4) ตราสรรเสริญ/赞颂款
เป็นการฝากฝังความรู้สึกที่ชื่นชอบเครื่องเคลือบต่อศิลปะของเครื่องเคลือบดินเผา
(5) ตราลายตกแต่ง/纹饰款
ก็เรียกขานว่า “ตราลวดลาย/花样款” โดยการเขียนภาพลายกะทัดรัดตกแต่งบนก้นภาชนะ เป็นตราประทับเฉพาะของเครื่องลายครามชาวบ้าน
เอกสารอ้างอิง :
1. 一篇文章网罗青花瓷鉴定,七种青料断代史? : https://www.360kuai.com/mob/transcoding?url=936cf84384d94c69d&cota=4&kuai_so=1&sign=360_7bc3b157
2. 青花瓷里的青料你了解多少?款式作何分? : https://m.sohu.com/a/386634587_100190655/?pvid=000115_3w_a
3. 青花瓷的五种款识 : https://m.sohu.com/a/16206797_125258/?pvid=000115_3w_a
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น