4.6 เครื่องลายครามรัชศกหงจื้อยุคหมิง/明弘治青花瓷
รัชศกหงจื้อยุคหมิง (ศักราชของจักรพรรดิจูโย่วถัง/หมิงเสี้ยวจง ปี1488-1505) ต้นปลายรัชศกรวมกันเป็นเวลา 18 ปี จากเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ กิจกรรมทางการเผาผลิตของเตาหลวงมีค่อนข้างน้อย เคยหยุดเผาเครื่องลายครามหลายครั้งหลายครา จากรูปลักษณะของเครื่องลายครามรัชศกหงจื้อ ล้วนเป็นการสืบทอดรูปแบบของรัชศกเฉิงฮั่ว ดังนั้น ในวงการเครื่องเคลือบดินเผาโบราณก็มีคำกล่าวที่ว่า “เฉิงหงไม่แยก/成弘不分”
• ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
จักรพรรดิหงจื้อถือเป็นฮ่องเต้ที่ดีพระองค์หนึ่ง ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อพระชนม์มายุ 17 ปี มีแนวความคิดเชื่อมั่นในคำสอนลัทธิขงจื๊อและคุณค่าจริยธรรม ทรงเอาการเอางานและครองแผ่นดินโดยธรรม นำไปสู่ราชบัลลังก์มั่นคงและบ้านเมืองสงบสุข เป็นจักรพรรดิที่ทรงชื่นชอบต่อการเผาผลิตเครื่องเคลือบ เนื่องจากทรงมัธยัสถ์ เตาหลวงจึงทำการเผาผลิตไม่มาก เคยหยุดเผาเครื่องลายครามหลายครั้ง เป็นเหตุให้ภาชนะวัตถุที่ตกทอดสืบมามีจำนวนน้อยกลายเป็นของหายาก ในบรรดาเครื่องเคลือบที่เผาผลิตจากโรงเตาเผาราชสำนักรัชศกหงจื้อมีอยู่ประมาณ 16 ชนิด ชนิดที่ได้รับการกล่าวขานของคนทั่วโลกคือ “เครื่องลายครามพื้นเคลือบเหลืองราดเท/浇黄地青花瓷”
• สารสีคราม
สารสีครามโดยพื้นฐานเหมือนกับของรัชศกเฉิงฮั่ว คือยังใช้ “ผิงเติ่งชิง” ซึ่งเป็นสารสีโคบอลต์จากจีน ออกสีอ่อนจาง แต่สละสลวยไม่เท่ารัชศกเฉิงฮั่ว มีส่วนน้อยที่สำแดงสีน้ำเงินที่เข้มสด
• ลักษณะเฉพาะ
เครื่องลายครามรัชศกหงจื้อเผาผลิตจากโรงเตาเผาราชสำนักซึ่งมีรูปแบบศิลปกรรมทำนองเดียวกับของรัชศกเฉิงฮั่ว ก็ยังคงมีรูปลักษณ์สะสวย เนื้อหุ่นละเอียดลออ ผิวเคลือบนวลเนียน การตกแต่งประณีตอันเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะลวดลายตกแต่งที่อ่อนช้อยงดงาม บางโอกาสเมื่อเทียบกับเครื่องลายครามรัชศกเฉิงฮั่วจะมีความโดดเด่นกว่า
• ตราประทับ
ตราประทับทางการบนเครื่องลายครามรัชศกหงจื้อส่วนใหญ่เขียนอักษรข่ายซู “大明弘治年製/ผลิตปีหงจื้อต้าหมิง” แบบ “สองแถวสองวง” เว้นช่องไฟห่างพอควร
4.7 เครื่องลายครามรัชศกเจิ้งเต๋อยุคหมิง/明正德青花瓷
รัชศกเจิ้งเต๋อยุคหมิง (ศักราชของจักรพรรดิจูโห้วจ้าว/หมิงอู่จง ปี1506-1521) ต้นปลายรัชศกรวมกันเป็นเวลา 16 ปี เมื่อดูจากเครื่องลายครามตลอดยุคหมิง เครื่องลายครามรัชศกเจิ้งเต๋อจัดอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของระยะกลางกับระยะปลายของยุคหมิง เป็นยุคที่จากความรุ่งโรจน์สู่ความเสื่อมถอยของยุคหมิง แม้ว่าภาชนะวัตถุบางส่วนยังคงความเป็นรูปแบที่เรียบง่ายสง่างามของรัชศกเฉิงฮั่ว/หงจื้อ แต่ได้เริ่มก่อร่างเป็นศิลปกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของรัชศกเจิ้งเต่อ ซึ่งมีอิทธิพลในระดับหนึ่งต่อการพัฒนาเครื่องลายครามรัชศกเจียจิ้งที่สืบต่อกันมา
• ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
จักรพรรดิเจิ้งเต๋อจูโห้วจ้าวทรงเป็นองค์รัชทายาทเมื่อพระชนม์มายุสองขวบ ขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อพระชนม์มายุ 15 ปี ถือเป็นฮ่องเต้ที่ก่อความวุ่นวายมากที่สุดในประวัติศาสตร์เกือบ 300 ปีของราชวงศ์หมิง ประวัติศาสตร์จัดพระองค์เป็นฮ่องเต้ที่เลอะเทอะ/เสเพล/วิตถาร แต่พระองค์ก็มีความตลกขบขัน/ขี้เล่น ตั้งแต่ยังเยาว์วัยได้รับการศึกษาลัทธิขงจื๊อมาอย่างดี สามารถท่องจำ《คัมภีร์อัล-กุรอาน/古兰经》มีความสนใจทางศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธแบบธิเบต
จักรพรรดิเจิ้งเต๋อมีความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก เคยมีพระราชโองการให้ยึดถือปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอิสลาม อาทิเช่นห้ามทานเนื้อหมูและเลี้ยงหมูเป็นต้น ด้านหนึ่งเป็นเพราะจักรพรรดิเจิ้งเต๋อประสูติในปีซินไฮ่(辛亥年) ตรงกับปีสุกร อีกด้านหนึ่งคือตัวอักษร “猪(จู/หมู)” ซึ่งพ้องเสียงกับ “朱(จู)” ตระกูลของราชวงศ์หมิง จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่เหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าก็เพราะตัวพระองค์จักรพรรดิเจิ้งเต๋อทรงได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสนาอย่างลึกซึ้ง
• สารสีคราม
เครื่องลายครามรัชศกเจิ้งเต๋อจะใช้สารสีครามค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ช่วงต้น/ปลายรัชศกสำแดงโทนสีแตกต่างกัน ช่วงต้นใช้ “ผิงเติ่งชิง” เหมือนของรัชศกเฉิงฮั่ว โทนสีออกน้ำเงินอ่อนละมุน ไม่มีการแผ่ซ่านและเกิดผลึกสนิมเหล็ก ช่วงกลางใช้ “สือจื่อชิง” จากยุ่ยโจวโบราณปัจจุบันคือเมืองเกาอันมณฑลเจียงซี โทนสีน้ำเงินค่อนไปทางเทา สำแดงสีได้อย่างเสถียรและสม่ำเสมอ ช่วงปลายจะใช้ “หุยชิง” จากแถบซินเจียง โทนสีน้ำเงินอมม่วงสุกสกาว
• ลักษณะเฉพาะ
ประวัติศาสตร์การพัฒนาเครื่องลายครามรัชศกเจิ้งเต๋ออยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สืบทอดจากรัชศกเฉิงฮั่ว/หงจื้อ ตกทอดสู่รัชศกเจียจิ้ง/ว่านลี่ คือบนปรากฏการณ์ค่อยๆหลุดพ้นจากลักษณะเฉพาะของเครื่องลายครามรัชศกเฉิงฮั่ว/หงจื้อที่ขนาดเล็กเนื้อหุ่นบางเบา เขียนลวดลายตกแต่งอย่างบางตา เปลี่ยนมาเป็นภาชนะวัตถุที่ขนาดใหญ่เนื้อหุ่นหนาหนัก เขียนลวดลายตกแต่งอย่างหนาแน่น
เนื่องจากจักรพรรดิเจิ้งเต๋อทรงนับถือศรัทธาศาสนาอิสลาม ลวดลายตกแต่งบนเครื่องลายครามรัชศกเจิ้งเต๋อที่โดดเด่นมากที่สุดคือการนำอักษรและรูปสัญลักษณ์มงคลของอาหรับมาเป็นลวดลายตกแต่ง กระทั่งมีการเขียนตราประทับด้วย “อักษรทิเบต” และ “อักษร’Phags-pa/八思巴文”
• ตราประทับ
ตราประทับทางการบนเครื่องลายครามรัชศกเจิ้งเต๋อที่พบเห็นมากที่สุดคือเขียนอักษรข่ายซู “大明正德年製/ผลิตปีหงจื้อต้าหมิง” และ “正德年製/ผลิตปีหงจื้อ” แบบ “สองแถวสองวง”
การเปรียบเทียบเครื่องเคลือบระหว่างรัชศกหงจื้อกับรัชศกเจิ้งเต๋อ สามารถสรุปในคำกล่าวที่ว่า “เครื่องเคลือบรัชศกหงจื้อ เป็นเพราะดำรงในคุณธรรมทำให้ขาดแคลนหายาก เครื่องเคลือบรัชศกเจิ้งเต๋อ เป็นเพราะหมกมุ่นในราคะทำให้เสื่อมลงเรื่อยๆ”
เอกสารอ้างอิง :
1. 明弘治青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/v44691.htm
2. 明正德青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/v29904.htm
3. 吕成龙简论 : 明代弘治,正德两朝典型器物及后世仿品的特点 : http://www.zhongguociwang.com/show.aspx?id=15022&cid=106
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น