สามรัชศกเจียจิ้ง/หลงชิ่ง/ว่านลี่ (จากปี1522-1620) ของราชวงศ์หมิง จัดอยู่ในช่วงระยะปลายของสังคมยุคหมิง รวมกันเป็นระยะเวลา 99 ปี ในการเบิกตาดูโลก สามรัชศกนี้ปรากฏอยู่ในยุคแห่งการสำรวจของชาวยุโรปและการพัฒนาลัทธิล่าอาณานิคม ในขณะเดียวกันก็เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเริ่มปรากฏขึ้นมา ในเมืองจีน ช่วงยุคนี้ได้เปิดการรับรู้แจ้งเห็นจริง วัฒนธรรมการตลาดพัฒนา เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเผาผลิตเครื่องเคลือบของเตาหลวงจิ่งเต๋อเจิ้น หลังผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในรัชศกเจิ้งเต่อแล้ว ผลผลิตภาชนะเครื่องเคลือบของสามรัชศกนี้เพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวง รูปแบบผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น ลวดลายตกแต่งหนาแน่นยิ่งขึ้น สีสันฉูดฉาดมากยิ่งขึ้น ภาชนะวัตถุขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น เนื้อหุ่นไปในแนวหนาหนัก เนื้องานค่อนไปทางหยาบไม่ประณีต
เมื่อมาถึงรัชศกว่านลี่ปีที่ 36 (ปี1608) สืบเนื่องจากการจัดการที่แย่ โรงภาชนะราชสำนักจิ่งเต๋อเจิ้นก็ถึงกาลอวสาน แต่เป็นเพราะการพัฒนาการของสินค้าโภคภัณฑ์เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และการค้าทางทะเลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความต้องการภาชนะเครื่องเคลือบทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นี่จึงนำไปสู่ให้อุตสาหกรรมเครื่องเคลือบของเตาเอกชนปรับปรุงพัฒนาเทคนิคการผลิตอย่างไม่หยุดยั้ง ผลผลิตและคุณภาพเทียบกับแต่ก่อนเพิ่มสูงขึ้นมาก โรงเตาเผาเอกชนนอกจากทำการเผาผลิตเครื่องเคลือบจำนวนมากเพื่อป้อนให้ชนชั้นต่างๆทั้งภายในและต่างประเทศใช้แล้ว ยังรับหน้าที่รับจ้างเผาภาชนะเครื่องเคลือบใช้ในราชสำนักอีกด้วย เสริมด้วยการบริหารจัดการภายในโรงภาชนะราชสำนักที่สับสนวุ่นวาย ทำให้เทคนิคการเผาผลิตเกิดการรั่วไหล กระทั่งสารสีครามที่ใช้ในการเขียนวาดเครื่องลายครามก็โดนขโมย นี่เป็นอีกก้าวที่กระตุ้นให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเตาเอกชนยกระดับสูงขึ้นจนแทบไม่แตกต่างกับเตาหลวง
4.8 เครื่องลายครามรัชศกเจียจิ้งยุคหมิง/明嘉靖青花瓷
รัชศกเจียจิ้งยุคหมิง (ศักราชของจักรพรรดิจูโห้วชง/หมิงซื่อจง ปี1522-1566) รวมระยะเวลา 45 ปี เครื่องลายครามยุคหมิงเมื่อตกทอดถึงรัชศกเจียจิ้งที่เริ่มมีร่องรอยเข้าสู่ภาวะตกต่ำแล้ว ไม่ว่าทางด้านเทคนิคการผลิตเครื่องลายครามและการใช้วัตถุดิบล้วนแย่ลง เตาหลวงจิ่งเต๋อเจิ้นเริ่มมีการใช้ระบบ “หลวงจ้างเอกชนเผา/官搭民烧” เพื่อรองรับความต้องการภาชนะเครื่องลายครามที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นแรงกระตุ้นให้เตาเอกชนพัฒนาเทคนิคการผลิตเครื่องลายครามเจริญก้าวหน้าเทียบเทียมเท่าเตาหลวง
• ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
รัชศกเจิ้งเต๋อปีที่ 16 จักรพรรดิเจิ้งเต๋อเสด็จสวรรคต สืบเนื่องจากไม่มีองค์รัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ ราชสำนักพระราชวังจึงสถาปนาจูโห้วชงซึ่งเป็นพระภาดา(ลูกพี่ลูกน้องของจักรพรรดิเจิ้งเต๋อ)เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่สืบราชสมบัติต่อไป โดยมีพระนามว่า “จักรพรรดิเจียจิ้ง”
จักรพรรดิเจียจิ้งทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนม์มายุ 15 ปีแบบไม่เคยคาดคิดมาก่อน จากขุนนางเจ้าศักดินาแปลงร่างมาเป็นโอรสสวรรค์เพียงชั่วข้ามคืน เดิมชีวิตเกิดมาไม่ได้เป็นพระราชโอรส อาศัยอยู่ในหูเป่ยที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดของลัทธิเต๋า---สำนักบู๊ตึ้ง/武当山 พระองค์จึงนับถือศรัทธาลัทธิเต๋า จึงได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋าอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้ที่เชื่อในปรัชญาเต๋าที่ว่า “คล้อยตามธรรมชาติ/顺其自然” ดังนั้นตั้งแต่รัชศกเจียจิ้งปีที่ 21 พระองค์ก็ไม่เสด็จท้องพระโรงทรงว่าราชกิจอีกต่อไป ยึดถือตามหลักการปกครองของเหล่าจื่อ(老子)ที่ว่า “ปกครองแบบนิรกรรม/无为而治”
ช่วงระยะกลาง/ปลายรัชศกเจียจิ้ง จากการบูชาลัทธิเต๋าอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าของจักรพรรดิเจียจิ้ง พระองค์แสวงหาชีวิตที่เป็นอมตะ จึงหมกมุ่นในการหลอมเม็ดยาแห่งความเป็นอมตะ(炼丹) การทานยาอายุวัฒนะที่เต็มไปด้วยพิษของธาตุโลหะหนักจากการเล่นแร่แปรธาตุ ทำให้ร่างกายในวัยชราเกิดภาวะเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนเสด็จสวรรคตในพระชนม์มายุ 60 ปี
• สารสีคราม
เครื่องลายครามรัชศกเจียจิ้งใช้สารสีคราม “ผิงเติ่งชิง” และ “สือจื่อชิง” จากจีนผสมกับ “หุยชิง” ที่นำเข้ามาเขียนวาดลวดลายตกแต่ง สารสีครามผสมจะให้โทนสีที่เข้มสดกว่าสารสีครามตัวเดียวโดดๆ การใช้อัตราส่วนผสมและอุณหภูมิการเผาที่แตกต่างกัน จะก่อให้เกิดโทนสีที่ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังใช้ “หุยชิง” เป็นตัวหลัก ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่สำแดงโทนสีน้ำเงินเข้มสด เปล่งรัศมีสีม่วงออกมาเล็กน้อย สีสันที่เข้มสดเสมือนกับพลอยสีน้ำเงินที่สุกสกาว
• ลักษณะเฉพาะ
ตลอดช่วงรัชศกเจียจิ้งในระยะเวลา 45 ปี เตาหลวงไม่เคยหยุดการผลิต จากตัวเลขสถิติที่รวบรวมมาได้ไม่ทั้งหมด ยอดการผลิตเครื่องเคลือบได้ถึง 6 แสนกว่าชิ้น จากการดำเนินการผลิตมาค่อนครึ่งศตวรรษ ก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องลายครามรัชศกเจียจิ้ง แต่จะไม่วิจิตรประณีตเทียมเท่าของรัชศกหย่งเล่อ/ซวนเต๋อ อุตสาหกรรมเครื่องเคลือบรัชศกเจียจิ้งแม้จะมีความเจริญรุ่งเรือง แต่ระดับมาตรฐานกลับเสื่อมถอยลง รัชศกเจียจิ้งถือเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญของยุคหมิงที่จากความรุ่งโรจน์สู่ความตกต่ำ
สืบเนื่องจากจักรพรรดิเจียจิ้งทรงนับถือศรัทธาลักทธิเต๋า ดังนั้น เครื่องลายครามจำนวนมากเขียนลวดลายตกแต่งที่มีบริบททางลัทธิเต๋า อาทิเช่น ปา(โป๊ย)เซียน ปากว้า(แปดทิศ) เมฆนกกระเรียน หลินจือเป็นต้น และจักรพรรดิเจียจิ้งเป็นผู้แสวงหารความเป็นอมตะ เป็นฮ่องเต้ที่กลัวตาย จึงมีลวดลายตกแต่งบนเครื่องลายครามที่เขียนตัวอักษร “福/ฝู” ; “壽/โซ่ว” ; “康/คัง” ; “宁/หนิง” เป็นต้น อนึ่ง จักรพรรดิเจียจิ้งจะจริงจังกับ “言必有意 , 意必吉祥/การพูดต้องมีความหมาย ความหมายต้องเป็นมงคล” บนเครื่องลายครามก็มีการเขียนสโลแกน “風調雨顺/น้ำท่าบริบูรณ์” ; “國泰民安/ประเทศชาติสงบ” เป็นต้น
• ตราประทับ
ตราประทับทางการบนเครื่องลายครามรัชศกเจียจิ้งเขียนอักษรข่ายซู “大明嘉靖年製/ผลิตปีเจียจิ้งต้าหมิง” เป็นหลักในหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่รัชศกเจียจิ้ง นอกจากมีตรายุคสมัยแล้วยังมี “ตรามอบหมาย/寄托款” และ “สำนวนโวหาร/吉语佳句” เป็นต้น
ถ้าหากจะกล่าวว่า เครื่องลายครามรัชศกหย่งเล่อ/ซวนเต๋อสำแดงสีเข้มขรึมพร้อมผลึกสนิมเหล็ก เป็นเลิศอย่างสูงศักดิ์มาดทรนง เครื่องลายครามรัชศกเฉิงฮั่วสำแดงสีอ่อนละมุน เป็นเลิศอย่างคลาสสิกมาดสุขุม ถ้าเช่นนั้น เครื่องลายครามรัชศกเจียจิ้งสำแดงสีม่วงหยกโอ่อ่า เป็นเลิศอย่างอิสระมาดร้อนแรง
เอกสารอ้างอิง :
1. 明嘉靖青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/v25477.htm?jsessionid=F568D7DB150B1F939338A04B0DC89D2D
2. 嘉靖青花瓷器的特点和鉴别方法 : https://www.zmkm8.com/article-12797-1.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น