วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การถอดรหัสสุนทรียภาพของปั้นจื่อเหยียสือเผียว



      「สือเผียว」 เป็นหนึ่งในสิบปั้นจื่อซารูปทรงคลาสสิกที่สุด คิดสร้างสรรค์ขึ้นโดย เฉินม่านเซิน/陈曼生 ในรัชสมัยเต้ากวง(ปี1782-1850) แรกเริ่มเป็นปั้นชื่อว่า「เผียว/」 ในช่วงปลายสมัยชิงเรียกว่า「สือเตี้ยว/石铫」 ต่อมาจนถึงยุคกู้จิ่งโจว (ปรมาจารย์จื่อซาแห่งยุคร่วมสมัย ; ปี1915-1996) จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น「สือเผียว/石瓢」 ตราบจนถึงปัจจุบัน 


▲「ม่านเซินสือเผียว」ตัวปั้นทำโดยหยางเผิงเหนียน อักษรและแกะสลักโดยเฉินม่านเซิน ยุคสมัยชิง มีการสลักอักษรว่าเป็น “ปั้นเผียว/瓢壶


      「จื่อเหยียสือเผียว/子冶石瓢」 เป็นผลงานชิ้นเอกของ ฉีจื่อเหยีย/瞿子冶 (ปี1778-1849) ได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่นำแนวคิดสามเหลี่ยมมาผสมผสานในปั้นจื่อซาที่บรรลุผลมากที่สุด ฉีจื่อเหยี่ยและเฉินม่านเซินต่างก็เป็นปัญญาชนร่วมสมัยเดียวกัน ต่างก็คิดออกแบบปั้นจื่อซา และชอบนำลายพู่กันจีนทั้งอักษรและภาพวาดมาตกแต่งปั้นให้สวยงาม และพวกเขาต่างก็ร่วมมือกับศิลปินทำปั้นจื่อซาคนเดียวกัน คนๆนั้นก็คือหยางเผิงเหนียน 


▲「จื่อเหยียสือเผียว」ตัวปั้นทำโดยหยางเผิงเหนียน ภาพวาดและแกะสลักโดยฉีจื่อเหยีย ยุคสมัยชิง ปั้นรูปแบบนี้เรียกขานกันว่า “ปั้นทรงผอม/瘦壶


      「จื่อเหยียสือเผียว」 มีรูปพรรณสัณฐาน : ตัวร่างสามเหลี่ยม หูจับสามเหลี่ยม พวยสามเหลี่ยม หัวเม็ดสามเหลี่ยม สามเหลี่ยมของหูจับจากตัวร่างไปยังพวย รูปลักษณะตรงมุมร่องเสื่อมของพวยกับตัวร่างก็เป็นสามเหลี่ยม หัวเม็ดที่เป็นสามเหลี่ยมอยู่บนยอด ทำให้ตัวร่างประกอบกันเป็นสามเหลี่ยมรูปใหญ่ สามเหลี่ยมใหญ่ของตัวร่างเป็นตัวค้ำยันสามเหลี่ยมเล็กซ้ายขวาสองด้าน ก่อเกิดเป็นลักษณะสามเหลี่ยมที่ต่างสอดแทรกซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกที่หนักแน่นมั่นคง อันที่จริงแนวความคิดการออกแบบก็เหมือนกับ「ต้าฮึงตัวฉิว」ที่นำหลายๆวงกลมมาผสมกลมกลืนอยู่ในวงกลมเดียว 


▲「จื่อเหยียสือเผียว」ที่ใช้สามเหลี่ยมเรขาคณิตวิเคราะห์ยุคปัจจุบัน


      「จื่อเหยียสือเผียว」 สามารถแยกแยะสามเหลี่ยมออกมาทั้งหมด 7 รูปด้วยกัน ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


▲สามเหลี่ยมรูปที่ 1 ก็คือสามเหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมตัวร่างปั้นทั้งหมดของ「จื่อเหยียสือเผียว」รวมทั้งหัวเม็ดปั้น ประกอบรวมกันเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า

▲สามเหลี่ยมรูปที่ 2 หัวเม็ดและฝาปั้นประกอบกันเป็นสามเหลี่ยมเล็ก นี้เป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว

▲สามเหลี่ยมรูปที่ 3 หูจับปั้นตัวมันเองก่อร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม นี้เป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า

▲สามเหลี่ยมรูปที่ 4 โดยการกางออกของพวยปั้น เพื่อเป็นการสอดรับกับหูจับปั้น นี้เป็นสามเหลี่ยมเสมือน

▲สามเหลี่ยมรูปที่ 5 และ 6 ก่อเกิดขึ้นตรงมุมร่องเชื่อมของพวยปั้นที่บนล่างทั้งสองด้านกับตัวร่างปั้น

▲สามเหลี่ยมรูปที่ 7 ตรงขาหมุด 3 ปุ่มบนก้นปั้น ระยะห่างของกันและกันก็ก่อเกิดเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่ารูปหนึ่ง


      「จื่อเหยียสือเผียว」 นอกจากประกอบด้วยสามเหลี่ยม 7 รูป ยังประกอบด้วยเส้นคู่ขนาน 2 คู่ ดังมีรายละเอียดดังนี้


▲เส้นคู่ขนานระหว่างพวยปั้นกับแนวเส้นของตัวร่างปั้นที่อยู่ด้านตรงข้าม

▲เส้นคู่ขนานระหว่างหูจับปั้นกับแนวเส้นของตัวร่างปั้นที่อยู่ด้านตรงข้าม


      「จื่อเหยียสือเผียว」 นอกจากมีสุนทรียภาพทางรูปลักษณะตามเรขาคณิตแล้ว ยังสะท้อนความคิดแนวปรัชญาบางด้านออกมาให้เห็น


        • เฉพาะตัวร่างปั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู[หรือเป็นรูปตัวเลข “/แปด” ของอักษรจีน] ถ้าเพิ่มหัวเม็ดปั้นเข้าไปก็กลายเป็นสามเหลี่ยม หรือสามารถเรียกขานเป็น “โครงสร้างพีระมิด” ไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู หรือเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า ล้วนทำให้รู้สึกได้ถึงความมั่นคง 


 ▲“โครงสร้างพีระมิด” ให้ความรู้สึกที่หนักแน่นมั่นคง


        • เมื่อเพิ่มพวยปั้นและหูจับปั้นเข้าไปแล้ว พวยปั้นและหูจับปั้นก็คือการพุ่งออก ทำให้มีความรู้สึกของการสยายปีกออกไป 2 ข้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเคลื่อนไหว ซึ่งก็คือการผสมผสานของความสงบนิ่งและการเคลื่อนที่ ทำให้ปั้นโดยรวมดูมีชีวิตชีวา 


▲พวยปั้นและหูจับปั้นที่พุ่งออกเหมือนการสยายปีกออกไป 2 ข้าง เกิดความรู้สึกในความสงบนิ่งมีการเคลื่อนไหว


        • หัวเม็ดปั้นมีรูปลักษณะเหมือนสะพานโค้ง หัวเม็ดปั้นลักษณะแบบนี้เรียกว่า “หัวเม็ดรูปสะพาน” สะพานโบราณของเมืองจีนโดยตัวมันเองก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง การนำวัฒนธรรมสะพานหลอมเข้าไปในปั้น เป็นการเพิ่มอีกหนึ่งความหมายแอบแฝงของวัฒนธรรม 


▲รูปลักษณะหัวเม็ดปั้นที่เหมือนสะพานโค้งโบราณของเมืองจีน


        • ความสัมพัทธ์ของพวยปั้นกับหูจับปั้นต้องมีสไตล์ที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าพวยปั้นหรือหูจับปั้นล้วนมีการเปลี่ยนแปลงทางขนาด หูจับปั้นที่ดูธรรมชาติงอกออกจากตัวร่างปั้น มีลักษณะใหญ่ค่อยๆเรียวเล็กลงไปจบที่ใต้ปั้น แล้วผ่านตัวร่างปั้นทะลุออกไปอีกด้าน กล่าวตามภาษาเฉพาะวงการปั้นแล้ว เรียกว่า “หูจับปั้นเดินตามรูปแบบปั้น พวยปั้นต้องออกจากหูจับปั้น” พวยปั้นก็มีขนาดจากใหญ่ไปหาเล็ก ทำให้รับรู้ได้ว่ามีลมหายใจเกิดการพริ้วไหวขึ้นมา 


▲พวยปั้นหรือหูจับปั้นต่างมีการเปลี่ยนแปลงขนาดจากใหญ่ไปเล็ก

▲“หูจับปั้นเดินตามรูปแบบปั้น พวยปั้นต้องออกจากหูจับปั้น”


        การเขียนพู่กันจีนโดยการผ่อนหนักเบาที่ปลายพู่กัน เพื่อให้เกิดความหยาบละเอียดของลายเส้น ลายเส้นที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดหยาบละเอียด ก็คือการสร้างผลงานศิลปะที่มีพลังและการเปรียบต่าง ศิลปะล้วนเชื่อมโยงกัน เนื่องจากพวยปั้นและหูจับปั้นมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เล็ก ลมหายใจจึงไม่หยุดนิ่ง เกิดการไหลวนเวียน


        การอ่านปั้นใบหนึ่ง การทำความเข้าใจปั้นใบหนึ่ง ปั้นทุกๆใบ โดยเฉพาะปั้นรูปแบบดั้งเดิมเหล่านี้ ล้วนสามารถที่จะถอดรหัส คุ้มค่าในการลิ้มชิมรสอย่างละเอียดละออ




เอกสารอ้างอิง :

1. 漫说石瓢壶  

2. 子冶石瓢几何解析

3. 子冶石瓢原作欣赏解读

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การวิเคราะห์องค์รวมของปั้นตัวฉิว



        เสน่ห์ของปั้นจื่อซาอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ รูปแบบหลากหลาย ในปั้นรูปแบบเดียวกันภายใต้ศิลปินต่างคนต่างก็ทำชิ้นงานออกมาไม่เหมือนกันสักทีเดียว ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง


        รูปสัณฐานภายนอกของปั้นจื่อซารูปแบบหนึ่งจะสามารถดึงดูดผู้คนได้หรือไม่ นอกจากรูปทรงและลักษณะงานของตัวปั้นเองแล้ว มีอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือสัดส่วน ในบรรดาหลากหลายรูปแบบของปั้นจื่อซาที่สามารถถอดรหัสสัดส่วนออกมาแล้วได้ความงามที่สมบูรณ์แบบก็คือ「ปั้นตัวฉิว/掇球壶」 


      「ปั้นตัวฉิว」 คือปั้นจื่อซาทรงคลาสสิกรูปแบบหนึ่งที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะมากที่สุดในปั้นทั้งหลาย ตัวร่างปั้นเป็นทรงลูกบอลขนาดใหญ่ ฝาปั้นเป็นทรงลูกบอลครึ่งลูก หัวเม็ดปั้นบนฝาก็เป็นลูกบอลลูกเล็ก เหมือนดั่งลูกบอล 3 ลูก เล็ก กลาง ใหญ่ วางทับซ้อนกัน พวยปั้นและหูจับปั้นเป็นส่วนโค้งเสี้ยวหนึ่งของลูกบอล จากองค์รวมของรูปทรงดูคลับคล้ายไม่เหมือนลูกบอล แต่เมื่อแยกแยะออกทีละส่วนแล้ว ทั้งหมดดูเป็นลูกบอล 


▲รูปสัณฐานของ「ปั้นตัวฉิว」ดูคลับคล้ายไม่เหมือนลูกบอล แต่เมื่อแยกแยะออกทีละส่วนแล้ว ทั้งหมดดูเป็นลูกบอล


      「ตัว/」หมายถึง การยกขึ้น การคัดสรร การรวบรวมให้เป็นระเบียบ แล้วผ่าน「จุ้ย/」ซึ่งมีความหมายการเสื่อมปะติดปะต่อ ดังนั้น「ตัวฉิว/掇球」อันที่จริงก็คือการนำลูกบอลในรูปลักษณ์หลายแบบที่คัดสรรแล้วมาเชื่อมปะติดปะต่อให้เป็นระเบียบตามหลักสุนทรียศาสตร์ แม้ว่าบรรพบุรุษของชนชาติจีนจะมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ไม่เทียบเท่าชนชาติกรีกและโรมัน แต่ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะถือว่าชนชาติจีนจะมีความสามารถสูง「ปั้นตัวฉิว」ก็คือหนึ่งในนั้น 


        ศิลปิน 3 ท่านที่ขึ้นชื่อมากที่สุดในประวัติศาสตร์การทำ「ปั้นตัวฉิว」ซึ่งเริ่มแรกดัดแปลงจาก “ปั้นเหลียนจื่อ/莲子大壶” ที่ปรากฏอยู่ในช่วงรัชสมัยยงเจิ้ง ผ่านการคิดสร้างสรรค์ 3 ระดับโดย ซ้าวต้าฮึง/邵大亨 ซ้าวหยิ่วถิง/邵友廷 เฉินโซ่วเจิน/程寿珍 ตามลำดับ「ปั้นตัวฉิว」ของ 3 ท่านนี้ต่างมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ถือเป็นตัวแทนของ 3 เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกันในช่วงเวลาที่ต่างกัน 


 ▲「ปั้นตัวฉิว」ผ่านการคิดสร้างสรรค์ 3 ระดับจาก

「ต้าฮึงตัวฉิว」→「หยิ่วถิงตัวฉิว」→「โซ่วเจินตัวฉิว」


     ▌ต้าฮึงตัวฉิว/大亨掇球


      「ปั้นตัวฉิว」เริ่มต้นโดยซ้าวต้าฮึงในช่วงรัชสมัยเจียชิ่ง-เต้ากวง รูปแบบปั้นจากการดัดแปลง “ปั้นเหลียนจื่อ” โดยการเอาหูจับปลายงอพับออกไป 


      「ต้าฮึงตัวฉิว」มีตัวร่างปั้นใหญ่กลมบ็อก เรียบๆโออ่า พวยปั้นสั้นเล็กพุ่งไปข้างหน้า โค้งมนงดงาม หูจับปั้นยืดออกอย่างอิสระเสรี ผิดแปลกจากเดิมอย่างสง่างาม ปากปั้นเล็ก ฝาปั้นเป็นทรงรูปโค้ง หัวเม็ดปั้นเป็นเม็ดกลมแบนเล็กน้อย 


  ▲ (บน) “ปั้นเหลียนจื่อ/莲子壶” ของ ซ้าวเหยียนชุน/邵元春 ยุคสมัยชิง 

(ล่าง) 「ต้าฮึงตัวฉิว/大亨掇球」ของ ซ้าวต้าฮึง/邵大亨 ยุคสมัยชิง

▲ถ้าหากตัวร่างปั้นเป็นลูกบอลกลมกลิ้งลูกหนึ่ง นั่นคือตามมุมมองทางทัศนมิติแล้ว จุดศูนย์ถ่วงควรอยู่ที่จุดศูนย์กลาง ระยะขึ้นบนลงล่างซ้ายขวาควรที่จะเท่ากัน แต่แล้ว「ต้าฮึงตัวฉิว」ทำท้องปั้นเคลื่อนขึ้นบนเล็กน้อย จุดศูนย์ถ่วงจากมุมมองก็เคลื่อนขึ้นบนตาม นี่ทำให้ตัวร่างปั้นแสดงออกถึงความสง่าผึ่งผาย

▲ฝาปั้นแม้เป็นทรงลูกบอลครึ่งลูก แต่ไม่ตายตัว มันสามารถตัดส่วนตรงตามที่เหมาะสมต้องการ

▲หัวเม็ดปั้นเพื่อการสอดคล้องกับความกลมโดยรวม จึงจำเป็นละทิ้งความกลมโดยสมบูรณ์แล้วกดให้กลมแบน

▲กระบอกร่างปั้นเป็นลูกบอลค่อนลูกขนาดใหญ่ ผิวฝาเหมือนลูกบอลขนาดกลางที่เด้งออกมาจากกระบอกร่าง ซึ่งปูดขึ้นมาครึ่งส่วนพอดี ประจอบเหมาะเป็นส่วนที่สำคัญ ถ้าใหญ่เกินไปจะสูญเสียพลัง ถ้าเล็กเกินไปพลังก็จะไม่พอ ส่วนหัวเม็ดปั้นที่เป็นลูกบอลขนาดเล็กมาทำลายเดดล็อกนี้พอดี ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความสมดุล

▲ส่วนโค้งเสี้ยวลูกบอลของพวยปั้นที่ปากเล็กฐานใหญ่ และหูจับปั้นที่เริ่มจากไหล่ปั้นแล้วค่อยๆเรียวเล็กลงไปจบที่ใต้ท้องปั้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ปั้นทั้งใบดุจดั่งเมฆเหินน้ำไหล ลื่นไหลยิ่งนัก โดยองค์รวมเสมือนมีอำนาจ 2 ชนิดเผชิญหน้ากัน เสมือนว่าสงบนิ่งแต่ที่แท้เกิดความแปรปรวน

▲จากพวยปั้นถึงไหล่ปั้นแล้วมาถึงหูจับปั้นช่วงบน ปรากฏเป็นรูปตัว S คู่ หน้าหลังสอดคล้องกันที่แสดงถึงมุมที่สมมาตรกัน


     ▌หยิ่วถิงตัวฉิว/友廷掇球


      「หยิ่วถิงตัวฉิว」ทำขึ้นโดยซ้าวหยิ่วถิงในช่วงรัชสมัยถงจื้อ-กวงเซวีย โดยดำเนินการต่อจากจุดเด่นที่หนักแน่นทรงพลังของตัวร่างปั้นของ「ต้าฮึงตัวฉิว」แต่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่อย่างกล้าหาญ โดยยกส่วนที่ตัวร่างปั้นเชื่อมต่อกับฝาปั้นให้สูงขึ้นเป็นคอปั้น พวยปั้นปรับให้ตรงโค้งเล็กน้อย แสดงถึงพลังการพุ่งออกยิ่งเด่นชัดขึ้น ปากปั้นออกแบบให้ใหญ่ขึ้น ฝาปั้นยกให้สูงขึ้นเป็น 1/3 ของครึ่งลูกบอล หัวเม็ดปั้นลูกบอลกลมมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ「ต้าฮึงตัวฉิว」แล้ว รูปทรงปั้นโดยองค์รวมยิ่งใกล้เคียงชื่อ「ตัวฉิว」มากยิ่งขึ้น 


▲「หยิ่วถิงตัวฉิว」 
ปั้นตัวฉิวมีผิวเรียบทั้งตัว มันเงาสะท้อน ควรที่จะให้รูปสัณฐานที่กะทัดรัดแสดงเนื้อหาความงามที่อยู่ภายในออกมาให้หมดโดยตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาตกแต่งเพิ่มเติม ถ้าหากทำการแกะสลักตัวหนังสือหรือภาพลงบนตัวร่างปั้นหรือฝาปั้นแล้ว ก็เปรียบเสมือน “วาดงูเติมขา/画蛇添足” 


        จากมุมมองการชื่นชมทางสุนทรียภาพ ควรที่จะกล่าวว่า「หยิ่วถิงตัวฉิว」เป็นการสร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นมาใหม่จาก「ต้าฮึงตัวฉิว」เป็นตัวเชื่อมระหว่าง「ต้าฮึงตัวฉิว」กับ「โซ่วเจินตัวฉิว」


▲ลักษณะและการจัดวางลูกบอลที่แยกแยะออกมาของ「หยิ่วถิงตัวฉิว」


     ▌โซ่วเจินตัวฉิว/寿珍掇球


      「โซ่วเจินตัวฉิว」ทำขึ้นโดยเฉินโซ่วเจินในช่วงสมัยปลายชิง-ต้นหมิง บนพื้นฐานของ「ต้าฮึงตัวฉิว」และ「หยิ่วถิงตัวฉิว」เขาได้ทำการปรับปรุงใหม่เป็นครั้งที่ 3 อย่างองอาจ 


▲เฉินโซ่วเจิน/程寿珍 (ปี1858-1939) 

เป็นศิลปินปั้นจื่อซาที่สำคัญคนหนึ่งในสมัยปลายชิงต้นหมิง เป็นคนหยีซิงมณฑลเจียงซู เป็นผู้ที่ขึ้นชื่อมีความขยันในการทำปั้นจื่อซาออกมามากมาย เป็นทั้งลูกศิษย์และลูกเลี้ยงของซ้าวหยิ่วถิง มีความชำนาญในการทำปั้นในรูปแบบที่มีรูปสัณฐานกระทักรัด ชิ้นงานในความหยาบแต่มีเอกลักษณ์ มีฝีมือจัดอยู่ในขั้นชำนาณการ


        ตัวร่างปั้นยิ่งกลมบ็อกยิ่งสูงเด่นมากยิ่งขึ้น ปากปั้นขยายให้กว้างขึ้น คอปั้นยกให้สูงขึ้นอีกดูมีพลังเต็มเปี่ยมมากยิ่งขึ้น ฝาปั้นสูงตระหง่าน ปรากฏเป็นลูกบอลครึ่งลูกที่กลมขึ้น หัวเม็ดปั้นที่เป็นเม็ดกลมทำให้แบนลงเล็กน้อยอย่างเหมาะสม ทำให้เห็นถึงแรงกระจายของฝาปั้นสยายออกอย่างเต็มที่ พวยปั้นเพิ่มมุมโค้งของเส้นโค้ง หูจับปั้นอ่อนช้อยยืดออกอย่างพอตัว ก่อเกิดช่องว่างเป็นรูปใบหูอันงดงาม ทุกส่วนมีสัดส่วนกลมกลืนลงตัวอย่างพอเหมาะพอเจาะ เกินไปนิดจะฟุ่มเฟือย ขาดไปนิดจะหดหู่ 


▲「โซ่วเจินตัวฉิว」ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการเข้าประกวดในงานนิทรรศการนานาชาติปานามาที่สหรัฐอเมริกา ในปี 1915 ถือเป็นผลงานจื่อซาที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดเป็นครั้งแรกในงานใหญ่นานาชาติ


        รูปทรงโดยองค์รวมดูเรียบง่ายภูมิฐาน สง่าผ่าเผย จะเห็นหัวเม็ดปั้น ฝาปั้น ตัวร่างปั้นก่อเกิดเป็นพลังของ “ลูกบอล” 3 ลูกวางทับซ้อนกันอย่างแท้จริง แสดงออกถึงความหมายที่ลึกซึ้งของ「ตัวฉิว」อย่างเต็มที่ กล่าวบนความหมายในบางแง่แล้ว「ปั้นตัวฉิว」บนมือของเฉินโซ่วเจินจึงจะบรรลุถึงสุนทรียภาพแบบ “ชื่อเสียงสอดคล้องกับความเป็นจริง” ที่งามอย่างไม่มีที่ติ 


▲「โซ่วเจินตัวฉิว」ที่มี หัวเม็ดปั้น ฝาปั้น ตัวร่างปั้น เป็น “ลูกบอล” 3 ลูกวางทับซ้อนกันตามลำดับ ถือเป็น「ปั้นตัวฉิว」อย่างแท้จริง


      「ปั้นตัวฉิว」ที่ผ่านวิวัฒนาการมา 3 ครั้ง เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าชนชาติจีนมีพรสวรรค์ในพลังทางความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก สามารถนำเสนอศิลปะบางด้านไปสู่จุดสุดยอด การเปลี่ยนแปลงของ「ปั้นตัวฉิว」แต่ละครั้งล้วนทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกสัมผัสได้ที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่า「ปั้นตัวฉิว」จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่แก่นแท้ก็ยังอยู่ ยังเป็น “ลูกบอลทับซ้อนกัน 3 ลูก” แบบดั้งเดิม


        ในบรรดาปั้นจื่อซารูปแบบดั้งเดิม「ปั้นตัวฉิว」ดูแล้วจะทำขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย แต่เกี่ยวพันถึงหลักการมากมายของ “สุนทรียศาสตร์” เป็นปั้นที่ทำขึ้นมายากมาก


        “สุนทรียศาสตร์” ก็คือการศึกษาวิธีการรวบรวมและหาจุดร่วมทางสุนทรียภาพ การนำสัดส่วน สมดุล เอกลักษณ์ รูปแบบ เชื่อมโยง กลมกลืน สอดคล้อง ต่างๆเหล่านี้ที่เป็นองค์ประกอบมาดำเนินการ ผลงานชิ้นหนึ่งที่สามารถเข้าใจเข้าถึง แล้วนำองค์ประกอบทางศิลปะเหล่านี้มาทำให้เกิดผลดีเลิศ อันที่จริงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายดายนัก 


▲สุนทรียภาพแห่งความสมดุลบนตัวร่างหลักของรูปสัณฐาน

การผัสสะรูปสัณฐานที่มีสัดส่วนสมมาตรแล้วทำให้เกิดความรู้สึกภิรมย์ สัดส่วนทางเรขาคณิตศาสตร์ลักษณะนี้ ผู้อาวุโสทำปั้นของพวกเราคงจะไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนได้ แต่พวกเขารู้ว่าจะต้องออกมาเป็นแบบนี้ มิฉะนั้นแล้ว ปั้นที่ทำออกมาก็จะน่าเกลียดมาก

▲สุนทรียภาพแห่งสัดส่วนความเป็นจริงเสมือน

ปั้นนี้ได้ใช้หลักการ “สัดส่วนทองคำ (Golden Section)” มาดำเนินการจัดแบ่งทั้งแนวตั้งและแนวนอนอย่างเหมาะเจาะ ทำให้สัมผัสได้ในความเปิ่นเห็นทักษะ ความพอเหมาะพอดีของคอปั้นกับฝาปั้นที่สัมพันธ์กันตามกฎทองคำตั้งวางอยู่บนรูปสัณฐานที่ตรงตามมาตรฐานของกฎทองคำ ก่อให้เกิดความรู้สึกปีติยินดีที่ได้ผัสสะอย่างแน่นอน

▲สุนทรียภาพแห่งสัดส่วนทองคำของตัวร่างปั้น

ความสัมพันธ์ของตัวร่างปั้นกับปากปั้นมีอิทธิพลไม่เฉพาะต่อความงดงามจากการผัสสะในภาพรวม ยังมีอิทธิพลต่อการใช้สอยความงาม ในภาพ E1 เป็นเส้นผ่าศูนย์กลางที่กว้างที่สุดของปากปั้น E2 เป็นเส้นผ่าศูนย์กลางที่ยาวที่สุดของตัวร่างปั้น อัตราส่วนของทั้งสอง(E1/E2)มีค่าใกล้เคียง 0.618 ของ “อัตราส่วนทอง (Golden Ratio)”  


        โดยทั่วไปพวกเราเชื่อกันว่า การชื่นชมและความเข้าใจต่อผลงานปั้นจื่อซาชิ้นหนึ่ง มันขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล มันเกี่ยวข้องกับความคุ้นเคยทางสุนทรียภาพส่วนบุคคล บางคนชอบสไตล์บึกบึนแข็งแรง บางคนชอบแนวอ่อนโยนนุ่มนวล ต่างก็มีรสนิยมของตนเอง ถ้าหากผลงานชิ้นหนึ่งสามารถได้รับการกล่าวขานและยอมรับจากผู้คนส่วนใหญ่แล้ว นั่นเป็นที่แน่นอนว่าในทุกๆด้านล้วนก่อเกิดการเห็นพร้องต้องกันทางสุนทรียภาพของสาธารณชน



เอกสารอ้างอิง :

1. 掇球壶

2. 经典器型“掇球” , 怎样的做工才算做的好?

3. 掇球壶难做吗