วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ปั้นจื่อซา PK ปั้นปังโคย




       「ปั้นจื่อซา」--กำเนิดขึ้นในยุคสมัยซ่ง รุ่งเรืองในยุคสมัยหมิง ถือเป็นพาหะทางอารยธรรมและวัฒนธรรมชาของเมืองจีน ตั้งแต่โบราณกาล ผู้ที่มีรสนิยมทางศิลปวัฒนธรรมระดับสูง ส่วนใหญ่ล้วนมี “จื่อซาผูกพัน” เมืองหยีซิงเป็นเพราะปั้นจื่อซาที่งามประณีตจึงเป็นที่โจษขานทั่วไป

       「ปั้นปังโคย」--กำเนิดขึ้นในยุคกลางสมัยชิง ปั้นจูหนีที่ซุ่มอยู่ในพื้นที่ปังโคย (枫溪) เมืองแต้จิ๋ว รูปลักษณ์กระชับ เต็มไปด้วยความดื่มด่ำที่เล็กกะทัดรัดอย่างวิจิตร ค่อยๆเป็นที่เห็นชอบและยอมรับในวงการชาจีนทั่วไป

        ปั้นจื่อซาหยีซิงและปั้นปังโคยแต้จิ๋วมีจุดเหมือนอย่างหนึ่ง ก็คือใช้ในการชงชา เรียกขานว่า「ปั้นชา」แต่ถ้าหากทำความเข้าใจเชิงลึกก็จะค้นพบว่า สองสิ่งนี้บนความเป็นจริงมีข้อแตกต่างมากมาย

        งั้นปั้นสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันตรงไหนบ้าง ? 

        1. แร่ดินดิบ

        “ดินจื่อซา” ของ「ปั้นจื่อซา」ขุดได้จากเหมืองแร่ดินในหยีซิง โดยพื้นฐานแบ่งออกเป็น3ประเภทใหญ่คือ จื่อหนี ต้วนหนี และจูหนี ซึ่งแต่ละประเภทยังสามารถแยกแยะออกเป็นอีกหลายชนิด เผาออกมาได้หลากหลายสี มีประวัตความเป็นมากว่า4ร้อยล้านปี มีแร่ควอทซ์เป็นองค์ประกอบในอัตราส่วนที่สูง เมื่อเผาผนึกแล้วเกิด “โครงสร้างรูพรุนคู่” ที่มีความสามารถในการซึมผ่านอากาศได้ดี น้ำชาที่ชงจากปั้นจื่อซาหยีซิงจึงหอมกรุ่นเป็นพิเศษ

▲“แร่ดินจื่อซา” จากเหมืองแร่ดินในเขาหวางหลงซาน-หยีซิง ลักษณะมีความเป็น “ทราย” สูง

▲ระดับความหยาบของเนื้อดินจื่อซา(: Mesh : ช่อง/ตร.นิ้ว) หลังการเผาผลิตเป็น「ปั้นจื่อซา」แล้วออกเป็นสี ม่วง แดง เขียว เหลือง หลากหลายสี เมื่อนำมือไปลูบสัมผัสจะมีความรู้สึกสากมือจากเนื้อทราย

▲หน้าตัดของเนื้อดินจื่อซาที่เผาผนึกแล้ว เป็นลักษณะที่มีความสามารถในการซึมผ่านอากาศได้ดี

▲ภาพ “โครงสร้างรูพรุนคู่” (ซ้าย) รูพรุนแบบที่ 1 (ขวา) รูพรุนแบบที่  2

        “ดินจูหนี” ของ「ปั้นปังโคย」ขุดได้จากใต้ท้องทุ่งนาในปังโคยแต้จิ๋ว คนพื้นที่เรียกขานกันว่า “ดินแดง” ถือเป็น “ดินเกาลิน” แต่มีคุณลักษณะพิเศษคือมีเหล็กออกไซด์เป็นองค์ประกอบในอัตราส่วนที่สูงมาก เนื้อดินละเอียด มีแร่ควอทซ์เป็นองค์ประกอบในอัตราส่วนที่ต่ำมาก แร่ดินดิบจะออกสีเหลือง หลังเผาเสร็จจะออกไปทางแดง เฉดสีจึงไม่หลากหลาย

▲“แร่ดินจูหนี” จากปังโคย-แต้จิ๋ว ดั้งเดิมขุดจากใต้ท้องทุ่งนาที่มีความเป็นดินเหนียวสูง ปัจจุบันเปลี่ยนใช้แร่ดินธรรมชาติที่มีแร่ธาตุโลหะ ธาตุอโลหะและสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบอยู่จำนวนมาก มีคุณลักษณะที่อากาศซึมผ่านได้

▲จากดินจูหนีที่ออกสีเหลือง เมื่อเผาผลิตเป็น「ปั้นปังโคย」แล้วจะออกเป็นสีแดง เนื้อดินหนาแน่น ผิวปั้นเรียบลื่น มีคุณลักษณะที่น้ำและอากาศซึมผ่านได้ต่ำ

        2. กรรมวิธี

       「ปั้นจื่อซา」ทั่วๆไปจะใช้กรรมวิธี “การขึ้นรูปโดยการตี” (拍打成型) ซึ่งยากและสลับซับซ้อน กรรมวิธีโดยการตีดินแผ่นสามารถทำปั้นออกมาในรูปทรงลักษณะต่างๆได้ง่าย เช่น ปั้นรูปทรงเหลี่ยม เป็นต้น แต่ถ้าเป็นปั้นทรงกลมที่มีลายวงแหวน ต้องอาศัยช่างฝีมือที่มีความชำนาญสูง

▲กรรมวิธี “การขึ้นรูปโดยการตี” ของ「ปั้นจื่อซา」

▲「ปั้นจื่อซา」รูปทรงสี่เหลี่ยม

       「ปั้นปังโคย」ใช้กรรมวิธี “การขึ้นรูปโดยแป้นหมุน” (手拉成型) ซึ่งเป็นวิธีการโบราณ ใช้ศิลปหัตถกรรมบนปลายนิ้วดึงและรีดดินโคลนให้เป็นปั้นที่อย่างมากออกเป็นรูปทรงกลม แต่สามารถทำเป็นลายวงแหวนออกมาได้ง่าย ผิวปั้นส่วนใหญ่จะเคลือบด้วยน้ำเคลือบ หลังเผาเสร็จผิวหน้ามันเงา

▲กรรมวิธี “การขึ้นรูปโดยแป้นหมุน” ของ「ปั้นปังโคย」

▲「ปั้นปังโคย」รูปแบบกลมที่มีลายวงแหวนล้อมรอบ

        3. ขนาดเชิงอุตสาหกรรม

        ปั้นจื่อซาหยีซิงได้กลายเป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบแล้ว แต่ขนาดเชิงอุตสาหกรรมของปั้นปังโคยแต้จิ๋วยังอยู่ในระดับที่เล็กมากโดยการเทียบเคียง สาเหตุที่ทำให้สองสิ่งนี้แตกต่างกันคืออะไร ?

        3.1  ชื่อชั้นต่างกัน
        เมื่อเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ระหว่างปั้นจื่อซาหยีซิงกับปั้นปังโคยแต้จิ๋วแล้ว ที่แท้ชื่อชั้นต่างกันมาก หลักใหญ่เป็นเพราะเบื้องหลังทางวัฒนธรรมและการเกี่ยวโยงทางพื้นที่ อดีตกาล แต้จิ๋วถือเป็นพื้นที่อันไกลพ้น แต่หยีซิงตั้งอยู่ในแถบเจียงเจ้อ จึงมีปัญญาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก นัยทางวัฒนธรรมจึงลึกซึ้งกว่า

        3.2  การประสาทวิชาความรู้ต่างกัน
        แม้ว่าคนแต้จิ๋วได้เริ่มทำปั้นในยุคปลายหมิงต้นชิง แต่ประเพณีดั้งเดิมของแต้จิ๋วที่มีมาตลอดในอดีตว่า หัตถกรรมการทำปั้นจะถ่ายทอดให้เฉพาะลูกชายไม่ถ่ายทอดให้ลูกสาว ต่างคนต่างมีสูตรการผสมแร่ดินและกรรมวิธีการปั้นเป็นของตนเอง เป็นความลับตระกูลไม่แพร่งพรายให้ภายนอกรู้ ดังนั้น การสืบทอดเทคโนโลยีการทำปั้น ผู้คนจำนวนมากคิดที่จะเรียนแต่ไม่รู้จะไปเรียนรู้ได้ที่ไหน ในเมื่อปั้นแต้จิ๋วไม่มีชื่อก็ขายไม่ได้ราคา จึงไม่ดึงดูดผู้ที่มีความสามารถเข้าสู่วงการนี้ เป็นตัวขัดขวางการพัฒนาของปั้นแต้จิ๋ว

        3.3  อุปกรณ์ชาและประเพณีการดื่มชาต่างกัน
        แต้จิ๋วถือเป็นถิ่นกำเนิดของ “ชากงฟู” (工夫茶) ดังนั้น รูปลักษณะของปั้นปังโคยแต้จิ๋วจึงทำออกมาในขนาดเล็ก ความจุประมาณ80-120มล. เมื่อไปถึงพื้นที่แถบเจ้อเจียง ปักกิ่ง เป็นต้นล้วนไม่รู้ว่าปั้นเล็กใบนี้ใช้ในการชงชา เนื่องจากพวกเขาล้วนดื่มชาจอกใหญ่ ปริมาณน้ำชาในขนาดความจุของปั้นปังโคยแต้จิ๋วได้เพียงชาจอกเดียวของพวกเขา จึงไม่เหมาะเจาะกับท้องถิ่นที่มีประเพณีการดื่มชาไม่ใช่แบบ “ชากังฟู”

▲อุปกรณ์ชาใน “ชากงฟู” ของแต้จิ๋ว

        3.4  จำนวนการจ้างงานต่างกัน
        จากการรวบรวมทางสถิติที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ มีผู้ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตปั้นจื่อซาหยีซิงมากที่สุดถึงแสนกว่าคน ถ้าหากนำส่วนที่ทำเหมืองแร่ดินจื่อซาและธุรกิจรายล้อมที่ต่อเนื่องกันนับรวมเข้าไปแล้ว จะมีจำนวนถึง2แสนกว่าคน แต่แต้จิ๋วมีเพียงไม่เกิน500คน ดูจากด้านการพัฒนาธุรกิจแล้ว ผู้คนที่ปฏิบัติงานจำนวนน้อยมากก็เป็นสาเหตุรากเหง้าที่ทำให้แต้จิ๋วกับหยีซิงแตกต่างกันมาก

        บทสรุป

        การเปรียบเทียบปั้นสองชนิดนี้ ควรที่พิจารณาบนด้านการใช้ประโยชน์และทางสุนทรียศาสตร์ ภายใต้การเทียบเคียง
        การใช้ประโยชน์ ปั้นจื่อซาจะมีภาษีเหนือกว่า เนื่องจากความสามารถที่อากาศซึมผ่านได้ดี เป็นสิ่งที่แร่ดินจากแหล่งอื่นๆไม่สามารถทดแทนกันได้
        สุนทรียศาสตร์ ปั้นจื่อซาสามารถทำออกมาบนศิลปกรรมที่มีรูปแบบหลากหลายกว่ามาก 1. รูปแบบ「ลวดลาย」(花货) 2. รูปแบบ「เงาเรียบ」(光货) 3. รูปแบบ「ซี่โครง」(筋纹)

▲「ปั้นจื่อซา」รูปแบบ「ลวดลาย」 เป็นประติมากรรมนูนที่ใช้สัณฐานพืชหรือสัตว์เป็นแม่แบบ

▲「ปั้นจื่อซา」รูปแบบ「เงาเรียบ」ที่มีรูปแบบต่างๆมากมายที่ใช้การแปรผันทางรูปลักษณ์บนผิวเรียบและมิติของเส้นสาย และความสัมพันธ์ทางอัตราส่วนขององค์ประกอบต่างๆของปั้น องค์รวมดูสมส่วน

▲「ปั้นจื่อซา」รูปแบบ「ซี่โครง」เป็นการนำรูปลักษณะของดอกไม้ ทำออกมาในโครงสร้างที่แม่นยำและงามวิจิตรประณีต

·        แนวความคิด ปรัชญา สิ่งสี้ลับ รสนิยม ที่ไม่สามารถพรรณนาออกมา ผู้คนก็จะกล่าวโดยสรุปรวบยอดว่า “สุดยอด!” สุดยอดเป็น “สภาพทางอารมณ์” แบบหนึ่ง เป็น “เสน่ห์” อย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกปลื้มปีติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รู้สึกสุนทรีย์ที่ความงามหาไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น ถ้าหาก「ปั้นจื่อซา」ใบหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้คนรู้สึก “สุดยอด” จนไม่สามารถกล่าวออกเป็นคำพูดได้ นั่นย่อมเป็น「ปั้นจื่อซา」ผลงานยอดเยี่ยมและสูงส่งในบรรดาปั้นทั้งหลาย

▲ศิลปกรรมจื่อซาที่โดดเด่นจะมีจินตนิยม มีจิตวิญญาณ การที่จะสามารถนำวิญญาณที่ล่องลอยมาตกผลึกอยู่ในผลงานได้หรือไม่ เป็นบททดสอบและเป็นสิ่งที่ศิลปินจื่อซาคาดหวังเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแนวความคิดในการออกแบบมีความหมายโดยนัย มีความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน จะต้องกระทำในทุกรายละเอียดไม่มีที่ติ จะต้องดำเนินการทุกขั้นตอนให้สำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์


-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

เอกสารอ้างอิง :
1.  紫砂界-宜兴紫砂 PK 潮州紫砂  :  https://kknews.cc/collect/qy6g55r.html
2.  宜兴紫砂壶PK潮州手拉壶,有何不同? :  http://www.360doc.cn/article/17976275_607688861.html
3.  宜兴紫砂壶和潮州手拉壶有哪些不同? :  https://kknews.cc/collect/gj9al8.html

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เครื่องเคลือบยุโรป

เครื่องเคลือบยุโรป—จากการเลียนแบบและจารกรรมถึงการขึ้นสู่บัลลังก์




        เมืองจีนโบราณ สิ่งที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักเมืองจีนและได้รับการเชิดชูบูชาอย่างมากนั้นไม่ใช่4สิ่งประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่ แต่เป็น2เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของโลก--ผ้าไหมและเครื่องเคลือบ

        เมืองจีนโบราณ เหมือนสาวที่มีจริตจะก้านอ่อนช้อยงดงาม สวมใส่ผ้าไหม มือถือเครื่องเคลือบ ได้แสดงเสน่ห์ทางศิลปะที่มีคุณภาพระดับสุดยอดและเงื่อนงำทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกเป็นนัยอย่างลึกซึ้งที่มีความเป็นมากว่าพันปีของเมืองจีนให้ชาวโลกได้รู้จัก กลิ่นซ่อนฟุ้งกระจาย น่าพิสมัยหลงใหล

        เครื่องเคลือบ ปรากฏเป็นตัวตนในยุคสมัยฮั่นตะวันออก(ปี25-225) แล้วรุ่งโรจน์เฟื่องฟูบน “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ในยุคสมัยถังและซ่ง เครื่องเคลือบอันงามวิจิตรประณีตจำนวนมากที่ส่งออกทางทะเลไปยังต่างประเทศ เครื่องเคลือบเหล่านี้ทำให้ตระกูลสูงศักดิ์ในยุโรปเกิดกระแสคลั่งไคล้ ยกย่องให้เป็น「ทองคำสีขาว」ห้วงเวลานั้นสำหรับคนยุโรป เครื่องเคลือบเมืองจีนก่อนอื่นเป็นเครื่องประดับประดาบ่งบอกฐานะมั่งคั่งและเป็นของหรูหราสื่อรสนิยมอันสูงล้ำ แล้วจึงเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาตระกูลสูงศักดิ์และผู้มีอำนาจในยุโรปไม่เพียงทุ่มเทเงินทองเพื่อแย่งซื้อเครื่องเคลือบเมืองจีน ยังทยอยกัน “เลียนแบบ” ผลิตภัณฑ์ของเมืองจีน ขณะเดียวกันได้ส่ง「สายลับเครื่องเคลือบ」เข้าไปในจิ่งเต๋อเจิ้นเมืองจีนเพื่อสืบความลับของวิธีการเผาผลิตเครื่องเคลือบ หลังผ่านการสืบเสาะซึมซับและศึกษาวิจัยเป็นเวลากว่า300ปี สุดท้ายเทคโนโลยีการผลิตเครื่องเคลือบก็อยู่ในมือของคนยุโรป เป็นสัมฤทธิ์ผลที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามมากมาย ทิ้งเมืองจีนที่เคยเป็นอาจารย์ตามอยู่ข้างหลัง

▲“เส้นทางสายไหมทางทะเล” ริเริ่มเมื่อกลางยุคสมัยถัง เป็นเส้นทางหลักทางทะเลในการติดต่อกับต่างประเทศกลางยุคกลาง(ศตวรรษที่5-15) เนื่องจากเครื่องเคลือบมีคุณลักษณะไม่เหมือนผ้าไหม หนักและแตกง่าย ไม่เหมาะที่ขนส่งทางบก จึงเลือกใช้ทางทะเล จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เส้นทางเครื่องเคลือบ” (The China Road)

▲ภาพสีน้ำมัน《The Feast of The Gods》ของจิตรกรชาวอิตาลี Giovanni Bellini (1427-1516) เป็นงานสร้างสรรค์ชิ้นสุดท้ายที่วาดเมื่อปี1514 : ชามลายครามบนมือของเทพเจ้าในภาพ แสดงให้เห็นถึงเครื่องเคลือบเมืองจีนเป็นที่นับถือบูชาในสังคมชั้นสูงของยุโรป

▲ห้องพอร์ซเลนอันอลังการของพระราชาลอตเตนเบิร์ก เยอรมัน

       「china」เป็นคำภาษาอังกฤษที่หมายถึงเครื่องเคลือบ ตาม 《The English-Chinese Word Ocean Dictionary》 อธิบายว่า「china」มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย「chini」ซึ่งภายหลังเกิดการออกเสียงเพี้ยนไปกลายเป็นคำที่เป็นชื่อเฉพาะของเครื่องเคลือบ เริ่มต้นคนยุโรปเรียกเครื่องเคลือบว่า「chinaware
        ทุกวันนี้ในภาษาอังกฤษมีศัพท์อยู่2คำที่หมายถึงเครื่องเคลือบ ซึ่งอีกคำคือ「Porcelain」นำมาบ่งชี้ถึงผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาระดับบนโดยเฉพาะ ส่วน「china」ซึ่งเคยเป็นของหายากจาการนำเข้า ถูกลดเกรดไปเป็นคำที่ใช้แทนภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันราคาถูก

        การประดิษฐ์เครื่องเคลือบเป็นงานหัตถกรรมหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองจีน 1600ปีก่อนคริสต์ศักราชในยุคสมัยซาง () ก็ปรากฏเครื่องเคลือบยุคขั้นต้นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นงานหยาบ ภายหลังเรียกขานกันว่า “เครื่องเคลือบดั้งเดิม” (原始瓷) จนถึงยุคสมัยซ่ง () เครื่องเคลือบเด่นเตาเผาดังได้แพร่หลายไปทั่วกังหนำ อุตสาหกรรมเครื่องเคลือบก้าวหน้ารุ่งเรืองอย่างมาก ศตวรรษที่15 เครื่องเคลือบถือเป็นเครื่องประดับที่หรูหราหายากและราคาแพงในยุโรป เมื่อถึงศตวรรษที่16 พ่อค้าโปรตุเกสได้นำเข้าเครื่องเคลือบลายครามที่สั่งผลิตจากเมืองจีนสำหรับเฉพาะพระราชวังโดยขนส่งทางเรือสำเภาคาร์แรท (Carrack) เมื่อถึงศตวรรษที่17 ฮอลแลนด์โดยบริษัทอินเดียตะวันออกได้นำเข้าเครื่องเคลือบภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่สั่งผลิตจากเมืองจีนเพื่อตลาดยุโรปเป็นจำนวนมหาศาล

▲“เครื่องเคลือบดั้งเดิม” (原始瓷) ในยุคสมัยซาง ()

▲เครื่องเคลือบ 5 เตาเผาอันโด่งดังยุคสมัยซ่ง () : (จากซ้ายไปขวา) กวน() หรู่() จิน() เกอ() ติ้ง()

▲เรือสำเภาคาร์แรท (Carrack) โปรตุเกสยุคศตวรรษที่16 แล่นไปมาระหว่างเมืองจีนกับโปรตุเกส

▲สัญลักษณ์ของบริษัทอินเดียตะวันออกฮอลแลนด์

▲ปี1603 เรือสำเภา Carrack ของโปรตุเกสที่บรรทุกเครื่องเคลือบที่สั่งผลิตจากเมืองจีนเป็นจำนวนแสนชิ้น ถูกเรือรบหลวงฮอลแลนด์สกัดกั้นที่ช่องแคบมะละกา เครื่องเคลือบเหล่านี้ถูกนำไปประมูลขายที่อัมสเตอร์ดัม เป็นที่โจษขานทั่วยุโรป ขณะนั้น คนฮอลแลนด์เรียกชื่อเรือสำเภาของโปรตุเกสว่า “Kraken” จึงตั้งชื่อเครื่องเคลือบเมืองจีนแบบนี้ว่า “Kraak Porceleint” (克拉克瓷)

        เครื่องเคลือบเมืองจีนปรากฏครั้งแรกในยุโรป คือ “เครื่องเคลือบแจกันสีขาว” ที่มาร์โค โปโล นำกลับไปอิตาลีในปี1295 และหนังสือ 《บันทึกการเดินทางของมาร์โคโปโล》 ที่ทำให้คนตะวันตกเกิดความสนใจคนตะวันออกเป็นอย่างมาก ได้เขียนบรรยายรายละเอียดของเครื่องเคลือบเมืองจีนเป็นครั้งแรก

▲“เครื่องเคลือบแจกันสีขาว” ที่ มาร์โค โปโล นำกลับไปอิตาลีในปี 1295

        อดีตกาล ทั่วๆไปเครื่องใช้สำหรับบนโต๊ะอาหารของคนยุโรป โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะเครื่องดินเผาที่มีคุณภาพด้านสุขลักษณะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แม้ว่าชนชั้นตระกูลสูงศักดิ์จะใช้ภาชนะสำหรับบนโต๊ะอาหารทำด้วยโลหะเงิน แต่มีข้อเสียเกิดสนิมเปลี่ยนเป็นสีดำได้ง่าย เมื่อภาชนะเครื่องเคลือบกระเบื้องสีขาวอันขาวสะอาดมันวาวที่ถูกสุขลักษณะอย่างยิ่งของเมืองจีนได้แพร่ขยายเข้าไปถึงยุโรป และเป็นที่นิยมชื่นชอบไปทั่วยุโรป ยกย่องให้เป็น「ทองคำสีขาว」เมื่อเป็นเช่นนี้ ยุโรปจึงต้องนำเข้าเครื่องเคลือบเพื่อการส่งออกของเมืองจีนเป็นจำนวนมาก

▲เครื่องดินเผาทางภาคเหนือของอิตาลีในยุคกลางศตวรรษที่ 15

        เป็นไปตามธรรมชาติในเมื่อเป็นตลาดที่สามารถแสวงหาผลกำไรได้ กระตุ้นให้บรรดาช่างฝีมือในยุโรปต่างก็พยายามทำเลียนแบบ แล้ว “การเลียนแบบ” เครื่องเคลือบเมืองจีนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงมาก แต่ในห้วงเวลาหลายร้อยปี ไม่มีคนยุโรปผู้ใดที่สามารถถอดรหัสสูตรการประดิษฐ์เครื่องเคลือบได้ กลางศตวรรษที่16 คนยุโรปได้บันทึกที่ตนคิดว่าเป็นสูตรการประดิษฐ์เครื่องเคลือบเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อหาอ่านดูในวันนี้ทำให้รู้สึกอดขำมิได้—อย่างเช่น 1.วัตถุดิบที่สำคัญที่สุดของเครื่องเคลือบ คือของเหลวลึกลับที่มีเฉพาะในเมืองจีนเกิดการแข็งตัวอยู่ใต้ดิน 2.นำเปลือกไข่และเกล็ดปลามาบดให้เป็นผง คนผสมด้วยน้ำ นำมาปั้นเป็นรูปลักษณ์เครื่องเคลือบ แล้วนำไปฝังใต้ดินเป็นเวลา100ปี ขุดออกมากลายเป็นเครื่องเคลือบ 3.วัตถุดิบที่สำคัญเป็นดินเหนียวที่เหมาะสมที่ต้องขุดจากใต้ดิน แล้วกองทิ้งไว้ให้ตากแดดตากฝนเป็นเวลาสามสี่สิบปี เพื่อให้ดินเหนียวเกิดการบ่มตัวตามธรรมชาติ แล้วจึงสามารถนำมาทำเป็นเครื่องเคลือบที่งามวิจิตรประณีตดั่งเช่นเมืองจีนได้ ; ตามคำกล่าวลักษณะแบบนี้ เครื่องเคลือบล้วนงอกออกจากดิน

        การพยายามเลียนแบบเครื่องเคลือบเมืองจีนของคนยุโรป ส่วนใหญ่ดำเนินการทดลองอยู่ใน2แนวทาง : หนึ่งคือตามลักษณะพิเศษของเครื่องเคลือบที่ผิวเงาโปร่งแสง ใช้วิธีการของการผลิตกระจกในการทดลองประดิษฐ์เครื่องเคลือบ อีกหนึ่งคือใช้วิธีการ “เล่นแร่แปรธาตุ

▲การเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) : ภาพวาดโดย Joseph Wright of Derby (1734-1797)

        ปลายศตวรรษที่16 จนมีผู้ที่คลั่งไคล้เก็บสะสมเครื่องเคลือบเมืองจีนคนหนึ่งทำของเลียนแบบที่พอมีเค้าออกมาได้ เขาผู้นั้นก็คือ ฟรานเชสโกที่1 แห่งตระกูลเมดีชี (Francesco I de’Medici) ในปี1575 ได้ทำการทดลองโดยนำดินเหนียวผสมกับผงแก้ว นำไปเผาที่อุณหภูมิต่ำได้เป็น Soft-paste Porcelain แม้ว่าจากรูปลักษณ์ สีเคลือบ ดูใกล้เคียงมากแต่ไม่ใช่เครื่องเคลือบแท้ เพราะไม่มีความโปร่งแสงดั่งเช่นเครื่องเคลือบ แต่ก็ถือเป็นการเป่าแตรสัญญาณให้ดังขึ้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบของยุโรป คนรุ่นหลังเพื่อเป็นการระลึกถึงเขา จึงเรียกขานเครื่องเคลือบชนิดนี้ว่า “เครื่องเคลือบเมดีชี

▲“เครื่องเคลือบเมดีชี” ยุคศตวรรษที่ 16 ผลิตโดยพระเจ้าฟรานซิสโกที่ 1 (ฟลอเรนซ์ อิตาลี ปี 1575-1587)

        นับตั้งแต่ตระกูลเมดีชีริเริ่มทำเลียนแบบเครื่องเคลือบเมืองจีน คนยุโรปได้ทำการทดลองเผาประดิษฐ์มาเป็นเวลา150ปีเต็มๆ สุดท้ายผู้ที่ทำความฝันประดิษฐ์เครื่องเคลือบได้อย่างสมบูรณ์ให้เป็นจริงได้ กลับกลายเป็นนักโทษของเยอรมันที่มีนามว่า โยฮานน์ ฟรีดริช บึตต์เกอร์ (Johann Friedrich Böttger)

▲โยฮานน์ ฟรีดริช บึตต์เกอร์ (Johann Friedrich Böttger ; 1682-1719)

        โยฮานน์เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุที่ยังหนุ่มแน่น ได้ไปแอบอ้างกับ พระเจ้าฟรีดริชที่1 แห่งปรัสเซีย (Fredrick I of Pussia) ว่าสามารถแปรเหล็กให้เป็นทองได้ เนื่องจากกลัวจะถูกคาดโทษฐาน “โกหกหลอกหลวงพระมหากษัตริย์” คืนหนึ่งในปี1701 ได้หนีเล็ดลอดออกมา หนีไปที่ราชอาณาจักรซัคเซิน (Sachsen) พระเจ้าออกัสตัสที่2 แห่งโปแลนด์ (Augustus II the Strong) ผู้ครองรัฐซัคเซินในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีความฝันคิดจะทดลองประดิษฐ์ภาชนะที่งามวิจิตรเหมือนดั่งเครื่องเคลือบเมืองจีนมาตลอด ได้จับกุมโยฮานน์กักขังไว้ในปราสาทแห่งหนึ่งในเมืองหลวงเดรสเดิน (Dresden)

        เอียเรนฟริด วาลเทอร์ (Ehrenfried Walther) นักวิทยาสาสตร์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาพระราชวังได้แนะนำพระเจ้าออกัสตัสให้โยฮานน์ทำความดีไถ่โทษ แทนที่จะไปทำการแปรเหล็กให้เป็นทอง สู้ให้ไปแปรดินให้เป็นทองคำสีขาวจะดีกว่า นับต่อจากนี้ไป โยฮานน์จากนักเล่นแร่แปรธาตุก็กลายมาเป็นอาจารย์การปั้นดินเผา

        โดยทำการศึกษาวิจัยกรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบเมืองจีนอย่างหามรุ่งหามค่ำ จากประสบการณ์ด้านการผลิตกระจกของเอียเรนเทอร์ และประสบการณ์ด้านการเล่นแร่แปรธาตุของโยฮานน์ ก่อนอื่นพวกเขาค้นพบว่า คิดที่จะประดิษฐ์เครื่องเคลือบดินเผาให้ได้อย่างสมบูรณ์นั้น อุณหภูมิการเผาเป็นนัยสำคัญมาก อุณหภูมิต่ำไปไม่เกิดการหลอมรวมกัน อุณหภูมิสูงไปเกิดการแตกได้ง่าย หลังผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายจากจุดเริ่มต้นที่เมื่อสามารถควบคุมอุณหภูมิการเผาได้แล้ว ในปี1708 ได้สร้างประดิษฐกรรมใหม่ในรูปแบบ #สโตนแวร์สีแดง เรียกขานกันว่า「Böttger Stoneware」ซึ่งถือเป็น Hard-paste Porcelain ชิ้นแรกของยุโรปที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลก

▲บันทึกผลการทดลองเมื่อวันที 15 ม.ค. 1708

▲「Böttger Stoneware」ซึ่งยังไม่หลอมตัวเกิดเป็นเฟสของเนื้อแก้วขึ้นมา (Vitrification)

        เอียเรนฟริดได้เสียชีวิตในปี1708 เมื่อความลับของอุณหภูมิการเผาถูกโยฮานน์เรียนรู้โดยช่ำชองแล้ว ถ้าต้องการทำเครื่องเคลือบที่มีลักษณะเหมืองของเมืองจีนใม่เป็นปัญหา เพียงแต่ทำอย่างไรให้วาววับและโปร่งแสงเช่นเครื่องเคลือบเมืองจีนนั่นเป็นปัญหาต่างหาก

        โยฮานน์ได้ค้บพบว่า วัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องเคลือบเมืองจีน ตัวหลักสำคัญก็คือ “ดินเกาลิน” นอกนั้นก็เพียงคำนวณอัตราส่วนให้ดีแค่นั้น #ความลับสุดยอดของเครื่องเคลือบเมืองจีน ได้ถูกโยฮานน์เล่นแร่แปรธาตุเป็นลำดับทีละขั้นจนถอดรหัสออกมา โดยได้เผาประดิษฐ์「เครื่องเคลือบน้ำเคลือบขาว」ออกมาได้สำเร็จในปี1709

▲「เครื่องเคลือบน้ำเคลือบขาว」ที่โยฮานน์ประดิษฐ์ออกมาได้สำเร็จในปี1709

        ปี1710 พระเจ้าออกัสตัสได้ก่อตั้งโรงงานเครื่องเคลือบดินเผาไมเซิน (MEISSEN) ที่ปราสาทอัลเบรชน์บูร์ก เมืองไมเซินเยอรมัน เป็นเจ้าแรกในวงการอุตสาหกรรมพอร์ซเลนของยุโรป

▲ เครื่องหมายการค้า「MEISSEN」ที่ก่อตั้งเมื่อปี1710 จนถึงปัจจุบันร่วม300ปี ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีชื่อเสียงอันดับโลก

        ความลับของเครื่องเคลือบเมืองจีนได้ถูกถอดรหัสจนหมดเปลือกแล้วหรือ ?

        ยังไม่ใช่ แม้ว่าเยอรมันได้ค้นพบวิธีการผลิตเครื่องเคลือบของเมืองจีน แต่ทว่าทางด้านคุณภาพยังมีข้อแตกต่างอยู่บ้างเล็กน้อย เครื่องเคลือบที่ผลิตจากเยอรมันล้วนเป็นเกรดธรรมดาทั่วไป ถ้าเป็นชิ้นงานระดับสุดยอดจริงๆ คงมีเพียงเมืองจีนที่สามารถผลิตออกมาได้

        และแล้ว ฟรันซิสโก คาเบียร์ ดังเตรโคลเลส (Francois Xavier d'Entrecolles ; 1664-1741) นักบุญชาวฝรั่งเศสที่ฝังตัวเป็นสายลับอยู่ในจิ่งเต๋อเจิ้นเมืองจีนร่วมยี่สิบปี ได้เขียนจดหมาย2ฉบับ เปิดเผยความลับของเครื่องเคลือบเมืองจีนอย่างล่อนจ้อน การค้าส่งออกของเครื่องเคลือบเมืองจีนค่อยๆถูกทำลายเกือบหมดสิ้น

        ปี1682 ฟรันซิสโกไปเป็นนักบุญในคณะเยซูอิต (Jesuit) ปี1698 ได้เดินทางมาเมืองจีนเป็นบาทหลวงเผยแพร่ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกในจิ่งเต๋อเจิ้น เนื่องจากมีความสามารถในการเรียนรู้และพูดภาษาจีนได้คล่อง จึงตั้งชื่อจีนให้ตนเองว่า—ยินหงสวี่ (殷弘绪)

        ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่นำวิทยาศาสตร์และศาสนาคริสต์ของตะวันตกไปเผยแพร่ในเมืองจีน ขณะเดียวกันก็จะเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมนำกลับไปเผยแพร่ที่ยุโรป ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เจริญก้าวหน้าพร้อมกัน แต่ไม่มีใครคิดได้ว่า ยินหงสวี่ผู้นี้ยังแบกรับภารกิจอีกหนึ่งคือเป็นสายลับทางธุรกิจซึ่งอาจถือเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

▲บาทหลวงเผยแพร่ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก คณะเยซูอิต (Jesuit)

        ห้วงเวลานั้น เทคโนโลยีการผลิตเครื่องเคลือบถือเป็นความลับขั้นสุดยอดแขนงหนึ่งของเมืองจีนยุคราชวงศ์ชิง เพราะทันทีที่รั่วไหลออกไปจะเกิดผลกระทบต่อรายได้เงินตราต่างประเทศ ดังนั้น เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นจึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติพักแรมค้างคืน

▲เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น (景德镇) ที่ซึ่งไม่ใช่สถานที่จัดเก็บความลับทางทหารของพระราชสำนัก และไม่ใช่เป็นป้อมปราการที่สำคัญ แต่ทำไมทำให้สายลับตะวันตกถึงหลงใหลยิ่งนัก?

        แต่ทว่า ดูเหมือนฟรันซิสโกจะเข้าใจหลักการของการอยู่รอดในเมืองจีน จึงสร้างสะสมความสัมพันธ์ทางสังคม ผลสุดท้ายในปี1709 โดยใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวผ่านผู้ตรวจการมณฑลเจียงซี ได้นำไวน์ฝรั่งเศสชั้นดีถวายบรรณาการจักรพรรดิคังซี สร้างความประทับใจเป็นยิ่งนัก

        ไวน์ขวดนี้ เป็นใบเบิกทางให้ฟรันซิสโกสามารถเข้าออกจิ่งเต๋อเจิ้นได้ตามใจชอบ ไม่มีใครกล้ามาขัดขวาง แต่อย่างไรก็ตาม คิดที่จะได้ศิลปกรรมการผลิตเครื่องเคลือบยังเป็นงานยากยิ่งนัก—ในจิ่งเต๋อเจิ้น ผู้ที่ควบคุมศิลปกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาจะสามารถถ่ายทอดส่งต่อให้ชนรุ่นหลังได้ก็ต่อเมื่อหลังเกษียณแล้ว และคนคนเดียวสามารถควบคุมเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพียงแขนงเดียวเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ฟรันซิสโกไม่ละความพยายาม เขาปักหลักอยู่ที่จิ่งเต๋อเจิ้น วางแผนอย่างรอบครอบที่รอคอย คอยถึงอาจารย์เครื่องปั้นดินเผาเกษียณ แล้วเขาร่อนเร่ไปถามคนแล้วคนเล่า จนได้จิ๊กซอร์ของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องเคลือบตัวแล้วตัวเล่า

        สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ความลับของงานศิลปกรรมการผลิตเครื่องเคลือบที่ธำรงไว้เป็นหลายพันปีของเมืองจีนได้ถูกฟรันซิสโกรวบรวมไว้อยู่ในกำมือแล้ว

        ปี1712 ฟรันซิสโกได้เขียนจดหมายฉบับแรกส่งไปถึงคณะเยซูอิตฝรั่งเศส ในจดหมายได้ไขความเครื่องเคลือบมีกรรมวิธีการผลิตอย่างไร วิธีการผสมวัตถุดิบตามอัตราส่วน วิธีการนวดและการม้วนดินเหนียว ขั้นตอนการขึ้นรูปด้วยแม่แบบและการเผาผลิต วิธีการทำเครื่องเคลือบใหม่ให้ดูเก่า การผลิตเครื่องเคลือบขนาดใหญ่ แม้กระทั่งงานหัตถกรรมบางอย่างที่ช่างฝีมือจำนวนมากเชื่อว่าได้หายสาบสูญไปแล้วได้ถูกเขียนสรุปรื้อฟื้นกลับมา

▲จดหมายฉบับแรกที่ ฟรันซิสโก คาเบียร์ ดังเตรโคลเลส นักบุญชาวฝรั่งเศสเขียนกลับไปให้คณะเยซูอิต ในปี 1712

        เมื่อคณะเยซูอิตฝรั่งเศสได้อ่านจดหมายฉบับนี้แล้ว แม้มีเนื้อหาครอบคลุมรายละเอียดต่างๆ แต่รู้สึกว่ายังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้เพื่อทลายตำแหน่งผู้นำด้านเครื่องเคลือบของเมืองจีนลงมาได้ เพื่อไม่ให้เป็นการแหวกหญ้าให้งูตื่น ทางคณะเยซูอิตเก็บจดหมายฉบับนี้ให้เป็นความลับชั่วคราว แล้วมอบภารกิจครั้งที่2ให้ฟรันซิสโกให้ไปขุดศิลปกรรมเครื่องเคลือบเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ฟรันซิสโกต้องอำพรางตัวอยู่ในเมืองจีนอีก10ปีเต็มๆ คราวนี้ ประสบการณ์ทางการผลิตเครื่องเคลือบที่บรรพบุรุษเมืองจีนใช้เลือดหยาดเหงื่อแลกมาถูกเขาคัดลอกมาอย่างหมดจด

        ปี1722 ฟรันซิสโกเขียนจดหมายฉบับที่2ถึงคณะเยซูอิตฝรั่งเศส อธิบายวิธีการฟื้นฟูผิวผลิตภัณฑ์ด้วยการประดับทอง วิธีการเคลือบดำให้ผิวเงาเหมือนกระจก วิธีการเสริมความแข็งแรงขอบของเครื่องเคลือบ เป็นต้น

▲จดหมายฉบับที่ 2 ที่ ฟรันซิสโก คาเบียร์ ดังเตรโคลเลส นักบุญชาวฝรั่งเศสเขียนกลับไปให้คณะเยซูอิต  ในปี 1722

        ฝรั่งเศสได้นำจดหมาย2ฉบับนี้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ จดหมาย2ฉบับ เวลา20กว่าปี ศิลปกรรมเครื่องเคลือบที่สืบทอดมาเป็นพันปีของเมืองจีนได้ถูกป่าวประกาศให้รับรู้ไปทั่วกัน

        ณ เวลานี้ สุดท้ายและท้ายสุด คนยุโรปพึ่งเข้าใจว่าทั้งหลายทั้งปวงไม่เกี่ยวข้องกับกระจกและทองคำสักนิด
      「แร่ฟันม้าคือเนื้อของเครื่องเคลือบ ดินเกาดินคือกระดูกของเครื่องเคลือบ

        นับแต่นี้ไป อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของประเทศต่างๆในยุโรปก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตราสินค้าดังมากมายในขณะนั้นได้ดำเนินธุรกิจสืบมาตราบจนถึงทุกวันนี้ และต่างออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีชื่อเสียงอันดับโลก

▲ถ้วยชาและจานรองที่ผลิตในปี 1724 โดย「MEISSEN」

        ประดิษฐกรรมใหม่จำนวนมากล้วนก่อเกิดขี้นมาในช่วงของการทำเลียนแบบ อย่างเช่น「โบนไชนา」 (Bone China)

        ศตวรรษที่18 อุตสาหกรรมพอร์ซเลนของอังกฤษกำลังรุดหน้าอย่างมาก ในปี1748 โทมัส ไฟรย์ (Tomas Frye) เผอิญนำเถ้ากระดูกวัวผสมลงในกระบวนการผลิต แล้วสามารถเผาผลิตเครื่องเคลือบที่มีความโปร่งแสงมากออกมาได้ ต่อมาในปี1796 โจเซียส สโปด (Josian Spode) ได้นำเทคโนโลยีเถ้ากระดูกนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาจนประดิษฐโบนไชนาเป็นผลสำเร็จ ผสมเถ้ากระดูกจะไปช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความโปร่งแสงของเครื่องเคลือบให้มากยิ่งขึ้น ทำให้โบนไชนาจะยิ่งบาง ยิ่งขาว ยิ่งโปร่งแสงกว่าเครื่องเคลือบแบบเดิม ประดิษฐกรรมเครื่องเคลือบใหม่ชนิดนี้ทำให้เกรดของพอร์ซเลนอังกฤษมีคุณภาพก้าวกระโดดขึ้นมานำหน้าในโลก

▲「Bone China」ผลิตโดย “Spode” ในปี 1802

          「china」อักษรตัวแรกที่เขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก จะหมายถึง「เครื่องเคลือบ」จากเมืองจีน ที่คนยุโรปเคยหลงใหลคลั่งไคล้มาหลายศตวรรษ และต้องใช้ระยะเวลา300ปีในการพัฒนาให้เป็นผลสำเร็จแล้วก้าวล้ำหน้าเครื่องเคลือบเมืองจีนที่เคยเป็นผู้นำมาหลายพันปี

        「China」อักษรตัวแรกที่เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ ในอีกนัยหนึ่งหมายถึง「เมืองจีน」ซึ่งนับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อปี1978 ถึงวันนี้ใช้ระยะเวลาร่วม40ปี เมืองจีนกลายเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่2ของโลกในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ถูกจัดว่ามีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจของโลกทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ

ปัจฉิมลิขิต :


        วันนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบาย「Make America Great Again」สหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจและผู้นำของโลกทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจมาร่วม150ปีแล้ว เกิดความรู้สึกว่าเมืองจีนทำให้สหรัฐตกอยู่ในอันตราย ซึ่งภัยอันตรายนี้หากไม่รีบสกัดกั้น เมื่อนโยบาย「Made in China 2025」ของเมืองจีนประสบความสำเร็จแล้ว ทางสหรัฐก็จะไม่มีกำลังความสามารถโดยสิ้นเชิง จะตกอยู่ในภาวะ「Death by China

        ดังนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ จึงต้องใช้โอกาสเริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึงปี2025  ซึ่งยังเหลือระยะเวลา7ปี ทำให้เมืองจีนที่กำลังพุ่งพรวดให้ล้มลงไปให้ได้ จึงใช้วิธีการเลียนแบบสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ เรแกน (ปี1981-18989) มาประจัญหน้ากับเมืองจีน

        ประธานาธิบดีเรแกน ชาญฉลาดที่ใช้การแข่งขันทางการทหารและราคาน้ำมันดิบ ทำให้สหภาพโซเวียตล่มแตกสลาย แล้วใช้ 《สนธิสัญญาพลาซ่า》 (Plaza Accord) ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟุบลงจนยังไม่ฟื้นตราบจนถึงทุกวันนี้

        ประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้2วิธีการดังกล่าวข้างต้นมารวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านเมืองจีน ด้านหนึ่งที่ใช้เศรษฐกิจมาโจมตีเมืองจีนไม่ให้ฟื้นขึ้นมา วิธีการโจมตีทางเศรษฐกิจที่ปรากฏให้เห็นได้ในวันนี้ก็คือ 「สงครามการค้า」 เนื่องจากสหรัฐขาดดุลทางการค้าต่อเมืองจีนเป็นมูลค่ามหาศาล จึงเป็นข้ออ้างเรียกร้องให้เมืองจีนลดการได้เปรียบทางดุลการค้า และข้ออ้างการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่วัตถุประสงค์จริงๆก็คือทำให้「Made in China 2025」ไม่ให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาได้

        สงครามโลกครั้งที่3ยังไม่เกิดขึ้น แต่「สงครามการค้า」ระหว่างจีนกับสหรัฐได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยทางสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนซึ่งครอบคลุม818รายการในอัตรา 25% เป็นมูลค่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. ศกนี้ และทางจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นมูลค่าในระดับเท่ากัน คงจะมีมาตรการการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ามาอีกเป็นละลอกๆ และเป็นเพียงการเริ่มต้นยังไม่สามารถเห็นผลกระทบต่อทั้งจีนกับสหรัฐและทั่วโลกจะมีความรุนแรงแค่ไหน? ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป........

-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

เอกสารอ้างอิง :
1. (揭秘) 从山寨,偷窃到加冕---逆风翻盘的欧洲瓷器  : https://www.sohu.com/a/239006066_556507
2. 欧洲间谍潜伏中国20年偷走全部技术  :  https://kknews.cc/culture/65byymv.html
3. 古老技艺被偷师 : 欧洲间谍是如何学会制作中国瑰宝“瓷器”?  :  https://kknews.cc/collect/zxz2jkl.html
4. 中国的外销瓷与欧洲的瓷业间谍  :  https://kknews.cc/news/lpel299.html  

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ตำนานผู้กำกับการเครื่องปั้นดินเผาแห่งยุค...ถังอิง

ตำนานผู้กำกับการเครื่องปั้นดินเผาแห่งยุค...ถังอิง



        พลิกดูประวัติศาสตร์เครื่องเคลือบดินเผากว่าพันปีของเมืองจีน ยุคสมัยซ่งถือเป็นยุคที่ทำการผลิตเครื่องเคลือบได้ความประณีตสวยงามที่สุด ยุคสมัยชิงเป็นยุคที่เทคโนโลยีการผลิตเครื่องเคลือบก้าวล้ำถึงขีดสุด เครื่องเคลือบดินเผาของแต่ละยุคสมัยที่ต่างก็มีอัตลักษณ์และได้ตกทอดสืบมามีเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าหากคุณพินิจพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว ก็จะค้นพบว่า ในบรรดาเครื่องเคลือบดินเผาระดับสมบัติแห่งชาติที่ล้ำเลิศจำนวนมากล้วนเป็นประดิษฐกรรมของ「ถังอิง」แล้วมาดูห้องค้าของแต่ละบริษัทการประมูลยักษ์ใหญ่ ราคาประมูลแพงอันดับต้นๆก็จะต้องมีเครื่องหมายการค้าของคนแซ่ถังผู้นี้

        เมื่อเป็นเช่นนี้「ถังอิง」คือใครกันแน่ ?


▲「ถังอิง」(ปี1682-1756) คนสามแผ่นดิน คังซี-หย่งเจิ้น-เฉียนหลง

      「ถังอิง」(唐英) เกิดในครอบครัวทาสที่อยู่ในกองธงฮั่นสีขาว เมืองเสิ่นหยาง ในรัชศกจักรพรรดิคังซีปีที่36 เมื่ออายุ16ปีได้ถูกคัดเลือกให้เข้าไปในพระราชวังต้องห้ามเพื่อปรนนิบัติจักรพรรดิ ต่อมาได้ไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานจัดการภายในพระราชสำนัก ควบคุมงานการออกแบบรูปภาพ ความเป็นจริง ถังอิงมีความถนัดทางด้านการวาดภาพและเขียนพู่กันจีน ตลอดระยะ30ปีที่รับราชการอยู่ในพระราชวัง ได้ปฏิบัติหน้าที่การงานต่างๆมากมาย แต่ไม่มีงานรับผิดชอบชิ้นใดเลยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเคลือบดินเผา

        ปี 1728 จักรพรรดิหย่งเจิ้นได้มีพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งถังอิงไปเป็นผู้ช่วยในโรงงานเตาหลวงที่จิ่งเต๋อเจื้น [แต่ทำหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมดแทนเหนียนซีหยาว(年希尧)ซึ่งยังดำรงตำแหน่งผู้กำกับการเครื่องปั้นดินเผาเพียงในนาม]

▲พระราชโองการ 26 ตัวอักษร จุดเปลี่ยนชีวิตของถังอิงกลายเป็นผู้กำกับการเครื่องปั้นดินเผาแห่งยุค

        ก็เพียงข้อความสั้นๆแค่26ตัวอักษร แต่เปลี่ยนแปลงชีวิตของถังอิงได้อย่างสิ้นเชิง

        ณ ช่วงเวลานั้น ถังอิงซึ่งมีอายุย่างเข้า47ปีแล้ว ต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนจากเหนือลงใต้มุ่งสู่เมืองแห่งเครื่องเคลือบอันไกลพ้น นอกจากไม่คุ้นเคยกับสภาวะลมฟ้าอากาศของถิ่นแดนใต้แล้ว งานการรับผิดชอบใหม่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องเคลือบดินเผายิ่งแล้วใหญ่ เพราะเป็นคนไร้ประสบการณ์อย่างสิ้นเชิง แล้วต้องมาจัดการควบคุมบรรดาช่างฝีมือที่มีความชำนาญการทั้งหลาย ในเมื่อเป็นสถานการณ์บังคับจำยอม จึงมีความแน่วแน่ที่จะต้องเรียนรู้งานศิลปะหัตกรรมเครื่องปั้นดินเผานี้ให้ทะลุปรุโปร่ง โดยลงไปคลุกคลีตีโมงกับพวกคนงาน ทำให้เขาจากคนไม่มีทักษะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 3 ปี

        ในรัชศกจักรพรรดิเฉียนหลงปีที่2 ถังอิงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้กำกับการเครื่องปั้นดินเผาอย่างเป็นทางการ แล้วเตาหลวงเครื่องเคลือบก็เข้าสู่ยุคสมัย「เตาถัง」(唐窑) อย่างเต็มภาคภูมิ จากรัชศกจักรพรรดิหย่งเจิ้นปีที่6ถึงจักรพรรดิเฉียนหลงปีที่21 รวมเป็นระยะเวลายาวนาน27ปีที่ถังอิงได้กำกับการผลิตเครื่องเคลือบในโรงงานเตาหลวง สามารถที่จะกล่าวได้ว่าพละกำลังทั้งครึ่งชีวิตหลังของถังอิงได้อุทิศให้แก่การผลิตเครื่องเคลือบ ถังอิงไม่เพียงมีความสามารถทางด้านสร้างสรรค์ศิลปกรรมและจัดการองค์กรเท่านั้น แล้วยังเพียบพร้อมด้วยบุคลิกภาพและอารมณ์ที่ดีเลิศ ทั้งหมดเหล่านี้หล่อหลอมให้ถังอิงประสบความสำเร็จที่เป็นหนึ่งไม่มีสอง

        การอุทิศตนของถังอิงที่มีต่อการผลิตเครื่องเคลือบ 1.คือการเลียนแบบของโบราณ 2.คือการเผาสร้างนวัตกรรมใหม่

        ในการชื่นชมเครื่องเคลือบของจักรพรรดิหย่งเจิ้นและเฉียนหลงต่างมีมาตรฐานที่สูงมาก แต่พ่อลูกคู่นี้มีเอกลักษณ์ร่วมกัน ก็คือจะหลงใหลเครื่องเคลือบอันประณีตงดงามที่ผลิตในยุคสมัยก่อน ดังนั้น การผลิตเครื่องเคลือบลอกเลียนแบบ5เตาเผาอันโด่งดังของยุคสมัยซ่ง ถือเป็นหน้าที่สำคัญภาระหนึ่ง

▲(ซ้าย) 琺瑯彩松竹梅圖橄欖式瓶  (ขวา) 粉彩冬青釉折枝花蝶紋尊 : หย่งเจิ้นนิยม สง่าผึ่งผาย ศิลปะไร้มายา ไม่หรูหราฉูดฉาดมาก

▲(ซ้าย) 粉彩醬地描金凸雕靈桃瓶   (ขวา) 唐英制仿古銅青綠浮雕夔龍開光石紋釉詩文壁瓶 : เฉียนหลงนิยม หรูหราฉูดฉาด แวววาวแพรวพราว

▲การเปรียบเทียบระหว่างเครื่องเคลือบยุคสมัยหย่งเจิ้น(ขวา)กับเฉียนหลง(ซ้าย)ที่ชาวเน็ตเมืองจีนทำโพสต์ขึ้นมา

▲(บน) ชามจากเตาเผาจิน ยุคสมัยซ่ง (宋 鈞窯 玫瑰紫釉菱花式盆托)
▲(ล่าง) ชามที่ทำเลียนแบบเตาเผาจิน ยุคสมัยหย่งเจิ้น (清雍正 仿鈞釉菱花式花盆托)

        อีกด้านหนึ่ง ศิลปะหัตกรรมที่ถังอิงทำถวายจักรพรรดินั้น ภายใต้การทุ่มทุนทางการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ได้กลับคืนมาคือนวัตกรรมใหม่จำนวนไม่น้อย ตลอดช่วงระยะเวลาของถังอิง มีสีใหม่ๆปรากฏให้เห็นทั้งด้าน สีบนเคลือบ(釉上彩)  สีใต้เคลือบ(釉下彩)  สีเคลือบ(色釉) ภายใต้การกำกับดูแลของเขา โรงงานเตาหลวงจิ่งเต๋อเจิ้นสามารถเผาสีเคลือบได้ถึง 70 กว่าสี ในบรรดาสีเคลือบเหล่านี้ Famille Rose(胭脂红) กระเจี๊ยบเขียว(秋葵绿) เป็นสีเคลือบที่โด่งดังที่สุด

▲จอกเคลือบ Famille Rose ยุคสมัยหย่งเจิ้น (清雍正 胭脂紅釉杯)

        เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของจักรพรรดิเฉียนหลงที่ชื่นชอบต่อเครื่องเคลือบที่แปลกใหม่ ถังอิงได้ทำการเผาเครื่องเคลือบชนิดแปลกใหม่ออกมาไม่น้อย อย่างเช่น แจกันหมุนรอบ(转心瓶) แจกันสลักลวดลาย(镂空套瓶) แจกันเจียวไท่(交泰瓶) ซึ่งต่างมีหลากหลายรูปแบบ เครื่องเคลือบทั้ง3ชนิดนี้ในประวัติศาสตร์การผลิตเครื่องเคลือบทั้งหมดในยุคโบราณของเมืองจีน ถือเป็นชิ้นผลงานที่ต้องออกแบบอย่างประณีตบรรจงที่สุด วิธีการที่สลับซับซ้อนมากที่สุด ต้องใช้กรรมวิธีที่ละเอียดแม่นยำและเทคโนโลยีที่สูงมาก

▲ภาพโครงสร้างภายในของแจกันแบบหมุนรอบ (转心瓶) : โดยทั่วไปเป็นแจกัน2ชั้น ชั้นในเป็นแกนกลางที่หมุนรอบได้ ชั้นนอกเป็นตัวร่างแจกันที่เจาะหรือแกะสลักให้เป็นรูเพื่อสามารถมองทะลุผ่านเข้าไปเห็นแกนกลางได้

清乾隆 粉青描金镂空开光粉彩荷莲童子转心瓶 : รูปแบบหนึ่งของแจกันหมุนรอบ

清乾隆 粉青描金镂空开光粉彩荷莲童子转心瓶 分解圖 : แยกส่วนประกอบของแจกันหมุนรอบออกได้เป็น 2 ชิ้น

清乾隆 霁青描金游鱼粉彩转心瓶 : รูปแบบหนึ่งของแจกันหมุนรอบ

清乾隆 霁青描金游鱼粉彩转心瓶 分解圖 : แยกส่วนประกอบของแจกันหมุนรอบออกได้เป็น 3 ชิ้น

清乾隆 粉彩鏤空「吉慶有餘」轉心瓶 : เป็นแจกันที่ถูกยกให้เป็นอันดับหนึ่งในเครื่องเคลือบของเมืองจีน โดยบริษัท Bainbridge ได้เปิดการประมูลเมื่อวันที่ 11.11.2010 ที่กรุงลอนดอน ผลราคาปิดที่ RMB 554 ล้าน สร้างสถิติราคาประมูลสูงที่สุดของเครื่องเคลือบดินเผาโบราณของเมืองจีนที่เคยประมูลกันมา

▲แจกันเจียวไท่ (交泰瓶) : ตรงท้องเครื่องเคลือบถูกแกะสลักเป็นรูปหรูยี่ นำส่วนบนและส่วนล่างประกบเป็นร่างเดียวกันเว้นช่องว่างตรงลวดลายไว้โดยการติดตะขอเกี่ยวยึด สามารถขยับเขยื้อนได้เล็กน้อย แต่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ กรรมวิธีแบบนี้เรียกว่า「เจียวไท่」ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า「ฟ้าดินรวมเป็นหนึ่ง สันติสุขทั่วหล้า สมหวังปรารถนา」「上下一體,天下太平,萬事如意

清乾隆 黃釉粉彩八卦如意轉心套瓶(交泰瓶): แจกันที่ผสมผสานรูปแบบหมุนรอบและเจียวไท่อยู่ในหนึ่งเดียว

        ตลอดช่องระยะเวลาภายใต้การกำกับของถังอิง สร้างสรรค์เครื่องเคลือบที่เลียนแบบของโบราณและการเผาสร้างนวัตกรรมใหม่รวมกันได้ 57 รูปแบบ

        เมื่อพูดถึงการเผาสร้างนวัตกรรมใหม่ในยุคสมัยเฉียนหลงแล้ว จะไม่กล่าวถึงเครื่องเคลือบเลียนแบบสิ่งมีชีวิตเลยก็กระไรอยู่ โดยการเลียนแบบรูปลักษณ์ของสัตว์เช่น เป็ด และรูปลักษณ์ของผลไม้เช่น ลิ้นจี่

▲เครื่องเคลือบเลียนแบบเป็ด (唐英制像生瓷鴨) : งานประมูลฤดูใบไม้ผลิครบรอบ10ปีของบริษัท Council กรุงปักกิ่ง ปี2016 ราคาปิด : RMB 3,680,000 

▲เครื่องเคลือบเลียนแบบลิ้นจี่ (清乾隆 唐英制粉彩像生荔枝)

        ชิ้นผลงานที่เป็นส่วนตัวของถังอิงเองนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องใช้ในการเซ่นไหว้ บนเครื่องเคลือบเหล่านี้จะตกแต่งด้วยการวาดรูปภาพ เขียนบทกลอนโวหาร หรือเขียนพู่กันจีน

唐英制粉彩李白斗酒詩文鈴鐺杯

清乾隆 唐英墨彩詩文筆筒 : งานประมูลฤดูใบไม้ผลิของบริษัท Council กรุงปักกิ่ง ปี2015 ราคาปิด : RMB 1,265,000

清乾隆 唐英款墨彩詩文水盂 ราคาปิด : RMB 728,000

清乾隆 唐英制青花纏枝蓮紋花觚 : งานประมูลฤดูใบไม้ผลิครบรอบ5ปีของบริษัท Council กรุงปักกิ่ง ปี2010 ราคาปิด : RMB 66,080,000

清乾隆 唐英制青花蒼龍教子詩文觀音瓶 : งานประมูลฤดูใบไม้ผลิครบรอบ10ปีของบริษัท Council กรุงปักกิ่ง ปี2016 ราคาปิด : RMB 7,130,000

        ในห้วงเวลาที่ถังอิงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้กำกับการเครื่องปั้นดินเผาอยู่นั้น ยังได้ทำการสืบสาวราวเรื่องและศึกษาค้นคว้ากรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบของจิ่งเต๋อเจิ้น ได้รวบรวมเรียบเรียงเขียนเป็นหนังสือ 《陶冶圖编次》 (ภาพลำดับวิถีทางการทำเครื่องปั้นดินเผา) ซึ่งเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายสภาวะของงานการผลิตเครื่องเคลือบยุคสมัยชิงในจิ่งเต๋อเจิ้น จึงกล่าวได้ว่า ถังอิงมีผลกระทบอย่างมากต่อเครื่องเคลือบดินเผาและการพัฒนาพื้นที่ของจิ่งเต๋อเจิ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงผลงานของถังอิง คนรุ่นหลังเจาะจงตั้งชื่อถนนหลักของนิคมอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นว่าถนนถังอิง พร้อมสร้างรูปปั้นสูงเด่นเป็นสง่าอยู่กลางถนน

▲รูปปั้น「ถังอิง」ตั้งตระหง่านอยู่กลางถนนหลักของนิคมอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้น

        ภายหลังจากถังอิงได้เสียชีวิตเมื่ออายุ75ปี เนื่องจากผู้กำกับการฯมิใช่คนเดิมอีกแล้ว นับต่อจากนี้เตาหลวงจิ่งเต๋อเจิ้นก็ไม่สามารถเผาสร้างชิ้นงานสุดยอดอันประณีตสวยงามดุจดั่งยุคต้นรัชสมัยเฉียนหลงได้อีก พอถึงยุคกลางรัชสมัยเฉียนหลง ความซับซ้อนเชิงชั้นและเรียบง่ายดั้งเดิมแทบจะสูญสิ้น ถึงยุคปลายราชวงศ์ชิงยิ่งขาดซึ่งความละเอียดประณีต เสื่อมถอยล้าหลังลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีวิถีทางของการทำเครื่องปั้นดินเผาหลงเหลืออยู่ เมื่อเสียงระเบิดอึกทึกครึกโครมจากปืนใหญ่ในสงครามฝิ่น เสียงดังแคร๊งกังวานจากการตกแตกของเครื่องเคลือบบนพื้นก็ตามมา ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ผ่านเลยไปไม่หวนคืนกลับมา...

▲ประวัติศาสตร์ผ่านเลยไปไม่หวนคืนกลับมา...


-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----…..-----

เอกสารอ้างอิง :
1.  唐英做了什么让他成为“史上最牛”督陶官?:  https://kknews.cc/culture/p5zr59e.html
2.  神一样的存在 : 大清陶瓷艺术总监“唐英” :  https://kknews.cc/culture/p8jmjve.html 
3.  他把有清一代的皇家瓷捧上了世界之巅 , 然而 , 背后的辛酸几人知? :  https://kknews.cc/culture/n5e86b8.html
4.  最懂康熙雍正心思的人 国宝级陶瓷背后的秘密  :  https://kknews.cc/culture/aele4xn.html