ในท่ามกลางความหลากหลายของเคลือบสี มีเคลือบสีชนิดหนึ่ง ลึกลับแต่ไม่ขาดซึ่งความหรูหรา นิ่งสงบดั่งน้ำแต่ก็สุกสกาว นั่นก็คือสีสันอันเจิดจรัสในภาวะการณ์ของฟ้าหลังฝน มันก็คือ---“ฟ้าขนนกยูง”
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2004 บริษัทจัดประมูลคริสตีส์(Christie’s)ในฮ่องกง ได้จัดงานประมูลศิลปกรรมภาคฤดูใบไม้ผลิ ไฮไลท์ของงานคือ Lot0286「จานเคลือบสีฟ้าขนนกยูงรัชสมัยเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิง」ราคาที่ประมูลได้ไป 12.3824 ล้านHKD กลายเป็นเครื่องเคลือบสีโดดที่สร้างสถิติราคาประมูลสูงที่สุด
【จำแนกจัดแบ่งประเภท】
“เคลือบสีฟ้าขนนกยูง/孔雀蓝釉” คือเคลือบสีอุณหภูมิต่ำที่มีทองแดงเป็นสารให้สี หลังผ่านการเผาผลิตแล้ว เคลือบจะมันเงาสำแดงสีฟ้าสว่างไสว เหมือนสีสันอันสวยงามในขณะที่นกยูงรำแพน จึงตั้งชื่อเรียกตามสีของขนนกยูง เคลือบสีที่ค่อนข้างฟ้าจะเรียกเป็น “ฟ้าขนนกยูง” ที่ค่อนข้างเขียวจะเรียกว่า “เขียวขนนกยูง”
ประเภทของฟ้าขนนกยูงในช่วงเริ่มต้นยังไม่หลากหลาย เมื่อค่อยๆพัฒนาจนสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆเช่น สีที่สำแดง การเข้ากันได้ของดินกับน้ำเคลือบ เป็นต้น ก็ค่อยๆเป็นที่แพร่หลายในวงการเครื่องเคลือบดินเผา อ้างอิงตามรูปแบบของผลิตภัณฑ์ สามารถจัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
(1) เคลือบสีโดดฟ้าขนนกยูง/孔雀蓝单色釉 วิธีการจะค่อนข้างเรียบง่าย โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่เข้มงวดระดับความวิจิตรประณีตของผลิตภัณฑ์ดินเผา สามารถทำการชุบน้ำเคลือบบนภาชนะดินดิบแล้วผ่านการเผาผลิตครั้งเดียว ต่อมาเตาเผาหลวงที่มีความต้องการความวิจิตรประณีตในการผลิตอย่างเข้มงวด จึงทำการเผาดิบที่อุณหภูมิสูงก่อน ต่อจากนั้นทำการชุบเคลือบสีฟ้าขนนกยูงแล้วนำเข้าเตาเผาเป็นครั้งที่สองจนเป็นภาชนะสำเร็จรูป เพื่อไม่ให้เคลือบสีโดดๆดูราบเรียบเกินไป อาจดำเนินการตกแต่งโดยการแกะสลักลายบุ๋ม เขียนสีลงทองบนผิวเคลือบ เป็นต้น
(2) ลายครามฟ้าขนนกยูง/孔雀蓝青花 เป็นการรวมเคลือบสีฟ้าขนนกยูงอุณหภูมิต่ำกับลายครามใต้เคลือบอยู่บนร่างเดียว โดยการชุบผิวที่เขียนสีลายครามแล้วด้วยเคลือบสีฟ้าขนนกยูง แล้วทำการการเผาผลิตครั้งเดียว ก่อนยุคหยวนที่ยังขาดทักษะในการควบคุมการเผาผลิตได้ดีพอ ผลิตภัณฑ์ทั่วไปจะออกมาเป็น “ลายดำฟ้าขนนกยูง” ตราบจนถึงรัชสมัยเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิงภายใต้ระบบของเตาเผาหลวงจึงประสบความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ ผลิตออกมาเป็น “ลายคราม” สมชื่อ
(3) เครื่องเคลือบเขียนสีคละที่เกี่ยวข้องกับฟ้าขนนกยูง/与孔雀蓝有关的混和彩瓷 หลังจากการเผาผลิตเคลือบสีโดด ลายครามใต้เคลือบได้รับการพัฒนาจนเข้าที่แล้ว ช่างโรงงานราชสำนักจึงได้ทดลองโดยการนำฟ้าขนนกยูงมาผสมผสานกับเคลือบสีอุณหภูมิต่ำเช่น เหลือง น้ำตาล เป็นต้นมาร่วมกันตกแต่งเครื่องเคลือบพื้นสามสี/素三彩瓷 กระทั่งใช้เป็นสีบนเคลือบอุณหภูมิต่ำในภาชนะเบญจรงค์/五彩器 เป็นการเพิ่มเติมลงในช่องว่างของสีฟ้าบนเคลือบในช่วงเวลานั้น
【ต้นกำเนิดและการพัฒนาในยุคแรก】
“เคลือบสีฟ้าขนนกยูง” เป็นสีเคลือบดั้งเดิมในแถบเปอร์เซีย ได้เผยแพร่โดยผ่านทางการค้าเข้าสู่เมืองจีนในยุคถัง จากการขุดทางโบราณคดีได้ขุดพบ “แจกันดินเผาเคลือบสีฟ้าขนนกยูง” 3 ใบในสุสานของนางสนม หลิวหัว/刘华 ของรัฐหมิ่น(ปัจจุบันคือมณฑลฝูเจี้ยน)ยุคห้าวงศ์สิบรัฐ
ในยุคจินและต้นยุคหยวน เตาเผาสามัญชนทางเหนือเช่น เตาเผาฉือโจวได้เริ่มทำการเผาผลิตภาชนะเคลือบสีฟ้าขนนกยูง ส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานกับสีลายครามใต้เคลือบ แต่ทว่ายังขาดทักษะด้านเทคนิคการเผา ทั่วไปชิ้นงานออกมาเป็น “ลายดำฟ้าขนนกยูง”
ในช่วงยุคหยวน เตาเผาหลวงในจิ่งเต๋อเจิ้นก็ได้ทำการเผาผลิตภาชนะเคลือบสีฟ้าขนนกยูงขึ้นมาบ้างแล้ว แต่จากการขุดพบทางโบราณคดีมีจำนวนไม่มาก บ่งบอกถึงโรงงานราชสำนักผลิตเคลือบสีฟ้าขนนกยูงในช่วงนั้นยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก
【การผลิตและการพัฒนาในยุคหมิงและชิง】
การผลิตเครื่องเคลือบในรัชสมัยเซวียนเต๋อราชวงศ์หมิงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ฟ้าขนนกยูงก็มีความรุดหน้าเป็นอย่างมาก เครื่องเคลือบสีฟ้าขนนกยูงจากเตาเผาหลวงยุคหมิง ถือเป็นของขึ้นชื่อและทรงคุณค่าในช่วงขณะนั้นแล้ว แต่ผลงานที่ประสบความสำเร็จมีจำนวนไม่มาก ที่สามารถเก็บรักษาในสภาพสมบูรณ์ได้จนถึงทุกวันนี้ยิ่งเป็นของล้ำค่าที่หาได้ยากยิ่ง
ในยุคชิงถือเป็นยุคโชติช่วงชัชวาลของการผลิตเครื่องเคลือบจีน โดยเฉพาะในช่วงต้นถึงกลางยุคชิง เป็นยุคจุดสุดยอดในประวัติศาสตร์เครื่องเคลือบดินเผาของเมืองจีน ซึ่งผลผลิตของเคลือบสีฟ้าขนนกยูงชนิดนี้ได้ตกต่ำลงในช่วงปลายยุคหมิง แทบจะได้เลือนหายไป แต่เมื่อมาถึงรัชสมัยคางซีราชวงศ์ชิง เครื่องเคลือบสีฟ้าขนนกยูงก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา แล้วค่อยๆยกระดับจนถึงขั้นสูงสุดของประวัติศาสตร์เคลือบสีฟ้าขนนกยูง แต่ภายหลังตั้งแต่กลางยุคชิง อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเคลือบสีฟ้าขนนกยูงก็ค่อยๆอัสดง
【การพัฒนาและการชุบชีวิตในยุคจีนใหม่】
หลังการสถาปนาประเทศจีนใหม่(ปี1949) ทางโรงงานเครื่องเคลือบแห่งชาติและโรงงานเครื่องเคลือบแกะสลักได้ทำการพัฒนายกระดับเคลือบสีฟ้าขนนกยูงอีกครั้ง
ล่าสุด ทางเฟซเพจของ “China Xinhua News” ในวันที่ 7 มี.ค. ศกนี้ ได้นำเสนอเก๋อหยวนเซิง คุณปู่วัย 81 ปี ผู้ซึ่งได้ทำการทดลองเครื่องเคลือบสีฟ้าขนนกยูงที่เคยเลือนหายจากหน้าประวัติศาตร์ถึงเกือบ 1000 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาและชุบชีวิตเครื่องเคลือบสีฟ้าขนนกยูงกลับมาให้โดดเด่นยิ่งขึ้น (ข่าวซินหัว : https://www.xinhuathai.com/china/183452_20210307)
2. 孔雀蓝釉 : 那一抹雨过天晴的惊艳 :
https://collection.sina.cn/taoci/2016-08-26/detail-ifxvixeq0505654.d.html?from=wap
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น