วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

การวิเคราะห์โทนกลิ่นของชาผูเอ่อร์โดยสังเขป (ตอนที่3)

 


        12)  กลิ่นเก่า丨陈香


        กลิ่นเก่าพบเห็นได้ในชาสุกผูเอ่อร์ และชาดิบผูเอ่อร์ที่ผ่านการจัดเก็บมาเป็นระยะยาวนานและระดับพัฒนาการที่สูงมากจนใกล้เกิดการสุก 

        กลิ่นเก่าเป็นโทนกลิ่นที่เป็นแก่นแท้ของชาสุกผูเอ่อร์ กลิ่นเก่าที่บริสุทธิ์เป็นตัวแทนกลิ่นของชาสุกผูเอ่อร์ ไม่มีกลิ่นเก่าก็มิใช่ชาสุกผูเอ่อร์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน


        กลิ่นเก่าเป็นกลิ่นผสมที่สลับซับซ้อน เป็นกลิ่นที่ปรากฏขึ้นจากกลิ่นผสมของกลิ่นเก่า กลิ่นไม้ กลิ่นยา เป็นต้น 

        สารให้กลิ่นที่เกี่ยวข้องมีมากมาย ในนี้ที่มีบทบาทต่อกลิ่นเก่าของชาผูเอ่อร์มากที่สุดคือ 1,2-Dimethoxybenzene , 1,2,3-Trimethoxybenzene , 4-Ethyl-1-1,2-Dimethoxybenzene , 1,2,4-Trimethoxybenzene เป็นต้น ล้วนเป็นสารที่เกิดขึ้นจากการหมัก


        13)  กลิ่นพุทรา丨枣香


        โทนกลิ่นนี้ดมแล้วดั่งพุทราแห้ง มีกลิ่นหวานน้ำตาลบ้าง มีกลิ่นไม้บ้าง โดยทั่วไปมีเพียงชาสุกผูเอ่อร์จะมีบุคลิกนี้ กลิ่นพุทราในชาผูเอ่อร์เป็นเอกลักษณ์ที่สุดคลาสสิก


        ทั่วๆไปชาผูเอ่อร์ที่ใช้วัตถุดิบเป็นใบแก่หยาบจะปรากฏโทนกลิ่นนี้ได้ง่าย เนื่องจากใบแก่หยาบประกอบด้วยสารจำพวกน้ำตาลในปริมาณองค์รวมที่มากกว่า ในกระบวนการหมักยังสามารถก่อเกิดสารน้ำตาลที่ละลายได้ในน้ำได้มากยิ่งขึ้น


        14)  กลิ่นลำไย丨桂圆香


        โทนกลิ่นนี้ดมแล้วดั่งลำไยแห้ง โดยทั่วไปจะปรากฏอยู่ในชาสุกผูเอ่อร์เกรดกงถิง แต่ชาดิบผูเอ่อร์บางครั้งก็จะมีโทนกลิ่นนี้ได้โดยบังเอิญ


        กลิ่นลำไยเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ทำนองเดียวกันกับกลิ่นพุทรา


        15)  กลิ่นการบูร丨樟香


        กลิ่นการบูรส่วนใหญ่จะปรากฏในชาดิบผูเอ่อร์ที่เก่าเก็บไว้เป็นเวลายาวนาน ดมแล้วดั่งไม้การบูร ทำให้รู้สึกสงบสุขขึ้นตามธรรมชาติ


        สารให้กลิ่นตัวหลักที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นการบูรมี Camphene และ Fenchone ผสมปนเปกับกลิ่นดอกไม้และกลิ่นไม้แล้วทำให้ปรากฏกลิ่นการบูรที่ทำให้รู้สึกสดชื่นร่าเริง


        16)  กลิ่นไม้丨木香


        กลิ่นไม้เป็นโทนกลิ่นที่ปกติทั่วไปมากของชาผูเอ่อร์ จะเด่นชัดมากในชาสุก ชาสุกผูเอ่อร์ที่ผ่านการหมักโดยเทคโนโลยีชีวภาพทางการคัดเลือกหัวเชื้อจุลทรีย์จะมีกลิ่นไม้ที่โดดเด่นมาก


        สารประกอบที่หนุนส่งกลิ่นไม้ของชาผูเอ่อร์มากที่สุดคือ α- Cedrene , α- Cedrol , β-Guaiene , Dihydroactinidiolide เป็นต้น


        17)  กลิ่นรา丨


        กลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากใบชาขึ้นรา ดมแล้วแสบจมูก ทำให้ไม่สบายใจ โดยทั่วไปจะพบเห็นในชาที่จัดเก็บไม่ดี อย่างเช่นชาที่จัดเก็บภายใต้สภาพแวดล้อมที่ร้อนสูงชื้นสูงเป็นระยะเวลายาวนานแล้วเกิดเชื้อรา


        สารตัวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นราในชาผูเอ่อร์คือ 3,4-Dimethoxytoluene 


        18)  กลิ่นโสม丨参香


        โทนกลิ่นที่คล้ายต้นโสม(人参)แห้ง จะพบเห็นได้ในชาสุกที่เคยเก็บบ่มในสภาพแวดล้อมที่ร้อนสูงชื้นสูง


        สารให้กลิ่นในชาผูเอ่อร์ที่เป็นชนิดเดียวกันกับสารให้กลิ่นในต้นโสม อาทิเช่น Palmitic Acid ที่มีกลิ่นดิน และ Farnesene ที่มีกลิ่นไม้


        19)  กลิ่นควัน丨烟熏


        กลิ่นควันมิใช่กลิ่นตัวของชา เกิดขึ้นโดยการปนเปื้อนจากในกระบวนการผลิตหรือในช่วงการจัดเก็บ  ถือเป็นกลิ่นแปลกปลอมที่พบเห็นได้บ่อยในใบชา แต่จะมีผลไม่มากต่อคุณภาพของชาผูเอ่อร์


        อันเนื่องจากต้องทำการตากแดดเหมาฉา(ชาตากเขียว) ในช่วงฤดูฝนจำต้องทำการผึ่งชาให้แห้งภายในอาคารเพื่อหลีกเลี่ยงฝนสาด จึงถูกควันไฟปนเปื้อนได้ง่ายภายในบ้านบนดอยของเกษตรกร ดังนั้น ชาฤดูใบไม้ร่วงจะนำพากลิ่นควันได้ง่าย


        สารที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นควันมีมากมาย ตัวที่สำคัญที่สุดคือ Guaiacol และ 4-Ethylguaaiacol ซึ่งสารเหล่านี้มีจุดเดือดสูงจึงระเหยได้ช้า ดังนั้น กลิ่นควันผ่านการจัดเก็บจะจางหายไปได้ยาก


        20)  กลิ่นไหม้丨烟焦


        กลิ่นไหม้เป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่พบเห็นบ่อยในชาผูเอ่อร์ เกิดขึ้นเนื่องจากความร้อนในการฆ่าเขียวสูงเกินไป ใบชาบางส่วนจะถูกคั่วไหม้ ดังนั้น กลิ่นไหม้ปกติจะปรากฏได้ง่ายในชาผูเอ่อร์ที่ทำอย่างหยาบๆ


        21)  กลิ่นยา丨药香


        กลิ่นยาก็คือกลิ่นยาจีน อย่างกลิ่นโชยที่ดมได้ในร้านขายยาจีน ที่แท้ก็คือกลิ่นพืชพรรณที่เก่าเก็บมาช้านาน

        เนื่องจากใบชาก็เป็นใบไม้ชนิดหนึ่ง หลังการเก่าเก็บไว้นาน ก็ปรากฏโทนกลิ่นที่คล้ายกลิ่นยาจีนโดยธรรมชาติ


        สารให้กลิ่นตัวหลักที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นยามี Decanal ที่ออกกลิ่นยาจีน Safranal(หญ้าฝรั่น) และสารประกอบชนิดต่างๆที่มีกลิ่นไม้


        22)  กลิ่นผักดอง丨酸菜香


        ชาดิบที่ทำเสร็จใหม่ๆจะมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายผักดองเป็นประจำ เกิดขึ้นในวิธีการผลิตเหมาฉา มิใช่เกิดจากการปนเปื้อน 


        อาจารย์ทำชาโรงงานเก่าจำนวนมากในช่วงการผลิตชา จะดำเนินการนำชาหลังการฆ่าเขียวมากองไว้แล้วปิดคลุมด้วยผ้าสักระยะเวลาหนึ่ง เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว ใบชาหลังอบสีจะออกเข้มขึ้น รสชาติจะนุ่มละมุนมากขึ้น และมีกลิ่นหอมที่แตกต่างออกไป

        แต่ถ้าปิดคลุมด้วยผ้านานเกินไป ก็จะปรากฏโทนกลิ่นที่คล้ายผักดอง 


        สารประกอบตัวหลักที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นผักดองคือ Lower Fatty Acid ที่ระเหยจางหายได้ง่าย


        23)  กลิ่นเห็ดป่า丨野菌香


        โดยทั่วไปกลิ่นเห็ดป่าจะปรากฏในชาดิบผูเอ่อร์ ดมแล้วมีเสน่ห์ดึงดูด ยั่วยวนให้ผู้คนมีความอยากในการดื่มชา เป็นโทนกลิ่นที่คลาสสิกมาก โดยปกติเห็ดป่าจะเคียงข้างกับชาคุณภาพสูง


        สารที่ประกอบขึ้นเป็นโทนกลิ่นนี้คือ α- Linolenic Acid แปรเปลี่ยนเป็นอนุกรมของสารกลิ่นรสที่มี8คาร์บอน เช่น 1-Octen-3-one , 1-Octen-3-ol เป็นต้น สารประกอบจำพวกนี้มีจุดเดือดต่ำ จางหายได้เร็ว ดังนั้น ชาที่เก็บไว้เป็นแรมปียากที่รักษากลิ่นเห็ดป่าได้


(ยังมีต่อ...)


เอกสารอ้างอิง :

1. 普洱茶香气简析https://m.ipucha.com/show-174-140.html

2. 陈香究竟是什么香?https://m.ipucha.com/show-167-11050.html

3. 茶英语基本词汇 : 香气 , 茶叶香气的各种英文表达https://m.sohu.com/a/534024189_121333496/?pvid=000115_3w_a

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น