วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การวิเคราะห์กลิ่นหอมของชา



        กล่าวสำหรับคนชาหมู่มากแล้ว ในการชิมดื่มชาจะมุ่งเน้นไปทางกลิ่นหอมและรสชาติของชาเสมอ โดยเฉพาะกับคนที่ริเริ่มผัสสะชา กลิ่นหอมที่ทำให้สุขใจจะมีผลต่อการตัดสินใจ ขอเพียงน้ำชาดูแล้วไม่น่าเกลียด รสชาติไม่เข้มข้นดุดันเกินไป แต่ดมแล้วมีกลิ่นหอมๆของชาแล้วไซร้ นั่นก็คือชาดี พลังของกลิ่นหอมสามารถรู้สึกรับรู้ได้โดยตรงมากกว่ารสชาติ ทว่าชาที่ดมแล้วหอมแต่ดื่มแล้วไม่มีรสชาติ ใครๆก็คงจะไม่ชื่นชอบ ทำไมถึงมีชาที่หอมมากแต่ไม่น่าดื่ม? ทำไมถึงมีชาที่ไม่รู้สึกหอม แต่ดื่มแล้ววางจอกไม่ลง?

        ▌ แนวความคิดของกลิ่นชา

        “กลิ่นหอมของชา” เรียกสั้นๆว่า “กลิ่นชา” เป็นกลิ่นระเหยที่มีเฉพาะตัวตนในผลิตภัณฑ์ชาที่ทำให้ผู้คนสดชื่นและมีความสุข เป็นก๊าซระเหยเชิงซ้อนของกลิ่นที่คนชารู้สึกได้เวลาลิ้มชิมรสชา ส่วนกลิ่นระเหยที่ไม่พึงประสงค์ ก็จะไม่เรียกเป็นกลิ่นชา  แต่เป็น “กลิ่นแปลกปลอม

        ▌ สารองค์ประกอบของกลิ่นชา

        ในหนังสือ《ชีวเคมีของใบชา/茶叶生物化学》ได้นิยามกลิ่นชาไว้ว่า : กลิ่นชาที่แท้คือสารหอมชนิดต่างๆที่มีความเข้มข้นไม่ท่ากันประกอบกันขึ้นมา
        เพื่อการเข้าใจง่าย กลิ่นชาก็คือสารเคมีชนิดหนึ่งในใบชา---สารผสมของสารอะโรเมติก
        จุดกำเนิดของกลิ่นชา ส่วนหนึ่งจากใบชาสด คือสารที่เป็นองค์ประกอบตามสายพันธุ์ในใบชาตัวมันเอง อีกส่วนหนึ่งจากปัจจัยภายนอก หลักใหญ่จากปฏิกิริยาเคมีในขั้นตอนกรรมวิธีของกระบวนการผลิต (เช่น กรรมวิธีการทำเขียว การปิ้งไฟ ของชาวูหลง ขั้นตอนการผึ่งของชาขาว เป็นต้นล้วนเป็นกรรมวิธีที่เร่งให้เกิดกลิ่นชา)

        ตราบเท่าทุกวันนี้ สารหอมในใบชาที่ได้รับการจำแนกแยกแยะแล้วประมาณ 700 ชนิด ในใบชาสดจะมีสารหอมเกือบ 100 ชนิด ชาเขียวที่ทำการผลิตเสร็จแล้วมีมากกว่า 200 ชนิด ชาแดงมีมากกว่า 400 ชนิด ชาวูหลงจะมีมากกว่านั้น
        แม้ว่าชนิดของสารหอมมีเป็นจำนวนมาก แต่ปริมาณที่เป็นองค์ประกอบแทบจะมีเป็นจำนวนน้อยมากๆ สารหอมในใบชามีจำนวนคิดเป็น 0.005-0.05% ของใบชาแห้ง จะเห็นได้ว่า ก็เพียงแค่สารอันน้อยนิดนี้ ก็ทำให้ชาก่อเกิดกลิ่นหอมอันน่าพิศวง
        สารหอมในใบชา จำแนกตามโครงสร้างลักษณะเฉพาะแล้วแยกออกเป็น 4 หมู่ใหญ่ คือ อนุพันธ์ของลิพิด อนุพันธ์ของเทอร์พีน อนุพันธ์ของอะโรเมติก และ สารประกอบเฮเทอโรไซคลิกที่มีอะตอมออกซิเจน ไนโตรเจน

▲สารองค์ประกอบกลิ่นหอมของชาแต่ละประเภท---ชาเขียว ชาวูหลง ชาแดง

        ▌ การรับรู้กลิ่นชา

        พวกเราสามารถรับรู้กลิ่นชาได้โดยผ่าน 2 ช่องทาง : (1) ผ่านทางช่องจมูก (Nasal Route) จมูกเป็นอวัยวะรับกลิ่น เมื่อกลิ่นชาถูกสูดพร้อมกับอากาศเข้าไปในโพรงจมูก เซลล์รับกลิ่นจะส่งกระแสประสาทไปยังสมอง การรับรู้กลิ่นและการจำกลิ่นก็บังเกิดขึ้น ; (2) ผ่านทางช่องปาก (Retronasal Route) ปากและจมูกอยู่เชื่อมติดกัน เวลาดื่มชา ตอนที่กลืนน้ำชา ไอระเหยของกลิ่นที่ล่องลอยในปากบางส่วนจะผ่านทางคอหอยแล้วขึ้นไปในโพรงจมูก นี้เป็นเหตุที่ทำให้พวกเรารู้สึกถึง “การรับรู้รสที่หลงเหลือค้างในปาก (After Taste)”

▲ช่องทางการรับรู้กลิ่นชา

        ▌ ส่วนประกอบของกลิ่นชา

        ก๊าซหอม----ก๊าซที่ระเหิดออกมาจากใบชาแห้งที่ยังใหม่
        กลิ่นหอม----ก๊าซที่ระเหยออกมาจากน้ำชาที่เพิ่งชงมาใหม่
        รสหอม------ไอที่ระเหยเข้าไปในโพรงจมูกหลังการกลืนน้ำชา
        หอมย้อน----กลิ่นหอมที่หลงเหลือค้างอยู่ในปากหลังการกลืนน้ำชา         

        เมื่อทำการลิ้มชิมน้ำชา ลักษณะเฉพาะของการค่อยๆรับรู้รสกลิ่นในขั้นตอนที่ต่างกัน จะสำแดงรสกลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของขั้นตอนที่ต่างกัน เป็นหลักสำคัญในการประเมินรสกลิ่นหอมของชาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทุกส่วนย่อยใน 4 ส่วนประกอบของกลิ่นชาล้วนเกี่ยวข้องกับสารประกอบอะโรเมติก 1 หมู่หรือ 2 หมู่ในใบชา

▲ส่วนประกอบของกลิ่นชา---ก๊าซหอม/香气 กลิ่นหอม/香味 รสหอม/气味 หอมย้อน/回香

        • ก๊าซหอม/香气
        ก๊าซหอมของใบชาแห้งโดยทั่วไปจะไม่ให้ความสำคัญในการประเมิน ส่วนย่อยนี้ประกอบด้วยสารหอมที่ระเหยได้ง่าย ซึ่งเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะอุณภูมิสูง ก๊าซหอมส่วนนี้จะระเหยไปหมดได้โดยง่าย ดังนั้น ก๊าซหอมของใบชาแห้งและกลิ่นชาตอนชงส่วนใหญ่จะไม่เหมือนกัน ชาที่มีสารหอมที่มีจุดเดือดต่ำและระเหยได้ง่าย เมื่อดมแล้วมีกลิ่นหอมมาก แต่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วไม่แน่จะมีกลิ่นหอมเสมอไป

        • กลิ่นหอม/香味
        เมื่อใบชาสัมผัสกับน้ำร้อนแล้ว พลังงานความร้อนของน้ำจะทำให้สารอินทรีย์ในใบชาจะเปลี่ยนจากของเหลวกลายเป็นก๊าซ องค์ประกอบหลักของก๊าซที่ระเหยออกมาบางส่วนเป็นสารที่มีโครงสร้างโมเลกุลใหญ่ พวกมันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ก่อเกิดกลิ่นชา และก็เป็นก๊าซผสมที่สลับซับซ้อนที่สุดในกลิ่นชา ถือเป็นก๊าซที่ระเหยได้ปานกลาง

        • รสหอม/气味
        เมื่อดูดน้ำชาอย่างแรงลงสู่คอหอย สารอินทรีย์ที่ปรากฏในรูปของเหลวที่อยู่ในน้ำชา จะถูกออกซิไดซ์ในกระบวนการนี้ นอกจากนี้ก๊าซที่เดิมถูกห่อหุ้มอยู่ในน้ำชา ก็จะถูกปลดปล่อยออกมา พวกมันเป็นส่วนประกอบหลักที่ก่อเกิดรสหอม ซึ่งก็คือก๊าซที่ระเหยได้ยาก กลิ่นระเหยส่วนนี้ประกอบด้วยสารคาราเมลที่ก่อเกิดจากปฏิกิริยาคาราเมลไลเซชั่นช่วงการอบปิ้งใบชา และสารหอมที่มีจุดเดือดสูงที่ก่อเกิดจากกลูโคไซด์ไฮโดรซิส
        ชาวูหลงที่มีการหมักระดับค่อนข้างต่ำ เช่นเถี่ยกวนยิงแบบหอมใสจะมีกลิ่นระเหยที่สำแดงออกเป็นกลิ่นหอม เถี่ยกวนยิงที่คุณภาพสูงและเหยียนฉาที่ผ่านการอบปิ้งจะสำแดงออกเป็นรสหอม โดยเฉพาะเหยียนฉาชั้นเลิศ ตัวตนของรสหอมในช่องปากจะปรากฏ “ความรู้สึกลำดับขั้น/層次感” อย่างแรง กลิ่นระเหยของชาวูหลงคุณภาพดีจะเน้นหนักไปทางรสหอม มิใช่กลิ่นหอม ซึ่งก็คือทำให้กลิ่นละลายในน้ำ รสชาติและกลิ่นระเหยบรรลุถึงการผสมกลมกลืนกัน
        รสหอมของชาวูหลงถูกกำหนดจาก 2  กรรมวิธีการผลิตที่เป็นหัวใจสำคัญ---การหมักและการอบปิ้ง แน่นอนวัตถุดิบที่ดีก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ในกระบวนการชิมดื่ม กลิ่นหอมและรสชาติเป็นการผสมผสานที่กลมกลืนซึ่งกันและกัน ต่างมีผลกระทบต่อกันและกัน ชาที่รสหนานุ่มส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบนี้

        • หอมย้อน/回香
        เมื่อกลืนน้ำชาลงสู่ลำคอ ถ้าหากอยู่ในกระบวนการลิ้มชิมน้ำชา ช่วงที่ดูดอากาศอัดขึ้นไปในโพรงจมูก สารอินทรีย์ที่ค่อนข้างหนักที่อยู่บนเพดานปากจะกลายเป็นไอระเหย ก๊าซเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ก่อเกิดหอมย้อน ใบชาที่หลังจากผ่านการอบปิ้งอย่างหนักมาแล้ว จะบังเกิดสารประกอบโมเลกุลใหญ่เป็นจำนวนมาก ชาวูหลงคุณภาพสูงจำนวนมากจะสามารถทำให้รู้สึกรับรู้ถึง After Taste ที่ยาวนาน ชาที่มีเนื้อสัมผัสหนักมักจะเป็นเช่นนี้

        “ก๊าซหอม” และ “กลิ่นหอม” ของใบชาที่ดมได้จากก๊าซในชาที่ระเหยออกมา สามารถนิยามเป็น “กลิ่นชา/茶香” หรือ “กลิ่นเปิดเผย/明香
        “รสหอม” และ “หอมย้อน” ของชาซึ่งดมได้จากไอระเหยของกลิ่น เป็นการดมได้โดยผ่านการลิ้มชิมรส ซึ่งยิ่งจะใกล้เคียงกับ “กลิ่นรส/味香” หรือ “กลิ่นซ่อนเร้น/暗香



เอกสารอ้างอิง :
1. 茶香的科学分析https://kknews.cc/culture/grlj2z9.html
2. 喝茶闻香的学问https://kknews.cc/culture/5bogzqk.html
3. 喝不出来茶香及层次变化 , 那是你不会闻香https://www.sohu.com/a/364118534_112290

2 ความคิดเห็น: