วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คุณค่าที่ 4 : คุณค่าขององค์ประกอบที่มีสรรพคุณทางและกลไกทางยา (1)

คุณค่าที่ 4 ใน 4 คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของชาผูเอ๋อร์ : 
คุณค่าขององค์ประกอบที่มีสรรพคุณและกลไกทางยา (1)
普洱茶的四大价值之四 : 内含药用成分及药用机理价值 (一)




        ๑. ชาผูเอ๋อร์เป็นเครื่องดื่มที่ครบครันด้วย "สารัตถประโยชน์ที่ 3"

        เป็นช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน ที่พวกเรามักคุ้นกับการจัดแยกประเภทของชาตามสีที่อวัยวะประสาทสัมผัสได้ เช่น ชาเขียว ชาแดง ชาดำ ชาเหลือง ชาขาว เป็นต้น น้อยมากที่จะจัดแยกประเภทของชาตามสารัตถประโยชน์ ปัจจุบันนานาชาติได้ข้ามไปศึกษาใบชา โดยให้ความสำคัญทางด้านสารัตถประโยชน์ของใบชา และได้จัดแบ่งออกเป็น 3 สารัตถประโยชน์ :

  1. สารัตถประโยชน์ด้านโภชนาการ---คือใบชามีสารอาหารพื้นฐานที่จำเป็นครบถ้วน ซึ่งครอบคลุมถึงชาทุกประเภท 
  2. สารัตถประโยชน์ทางความรู้สึก---คือ สี กลิ่น รส รูปของใบชา ที่ผู้คนเมื่อได้เสพดื่มแล้วมีความรู้สึกที่สุนทรีย์และสดชื่น เช่น ชาเขียว ชาอูหลง เป็นต้น
  3. สารัตถประโยชน์ด้านพิเศษ---คือนอกจากจะได้ความพึงพอใจด้านโภชนาการ(สรป.1)และทางความรู้สึก(สรป.2)แล้ว ผลิตภัณฑ์ชาที่สามารถปรับกลไกทางชีวภาพของร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล ถือเป็น"ชาเพื่อสุขภาพ" หรือ "สารัตถประโยชน์ที่ 3"(第三功能)
        ทุกวันนี้เศรษฐกิจสังคมได้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ฉับไว คุณภาพชีวิตที่อยู่ดีกินดีเกินไป และต้องผจญอยู่ในอุตสาหกรรมยุคปัจจุบันและสังคมในเมืองยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ น้ำ อาหาร เป็นต้น ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บและโรคติดต่อมีสูงขึ้น ทำให้ผู้คนต้องเริ่มหันมาให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพเพื่อชีวิตที่ยืนยาวขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับเรื่องรสชาติในการบริโภคมากยิ่งขึ้น อาหารเพื่อสุขภาพจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพื่อสรรพคุณด้านโภชนาการที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ร่างกายและป้องกันโรคต่างๆได้ดี และช่วยปรับปรุงระบบและสภาพการทำงานของร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล

        "อาหารเพื่อสุขภาพ"(Functional Foods) ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของสารที่มีคุณสมบัติทางยาจากพืชตามธรรมชาติ ปัจจุบันประเทศที่เจริญแล้วส่วนใหญ่จะจัดอาหารที่ได้จากการหมักหรือเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพเป็น "อาหารเพื่อสุขภาพ" ซึ่งสามารถ "มีฤทธิ์" ทีมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกายและผลต่อสุขภาพ องค์ประกอบที่ "มีฤทธิ์" ลักษณะนี้เกี่ยวโยงกันระหว่างสรีรวิทยาและชีวเคมี เมื่อนำองค์ประกอบที่ "มีฤทธิ์" ผ่านการวิเคราะห์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แล้ว สามารถค้นพบว่าอาหารเพื่อสุขภาพจะประกอบด้วยองค์ประกอบทางยาจำนวนมากและมีกลไกทางยา

        ใบชาจัดอยู่ในบริบทของอาหาร ถือเป็นหนึ่งใน 3 เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่นิยมดื่มมากที่สุดในโลก ดังนั้น สังคมนานชาติจึงได้ใช้ "การหมัก" มาจัดแบ่งประเภทของชา โดยแบ่งชาแบบไม่มีการหมัก(เช่นชาเขียว) ชาแบบหมักระดับต่ำ(เช่นชาอูหลง) ชาแบบหมักระดับเต็มที่(เช่นชาแดง) ชาแบบหมักภายหลัง(เช่นชาผูเอ๋อร์) เป็นต้น

        ชาผูเอ๋อร์เป็นผลิตภัณฑ์จากการหมักทางชีวภาพ แม้ว่ากระบวนการและวิธีการผลิตเมื่อเทียบกับวิศวกรรมชีวภาพยุคใหม่แล้วถือเป็นแบบโบราณล้าสมัย แต่เป็นต้นแบบโบราณที่สามารถค้นหาเทคโนโลยี : 1 การแปรเปลี่ยนทางชีวภาพโดยจุลินทรีย์ของสารยาจากธรรมชาติ ; 2 การแปรเปลี่ยนทางชีวภาพโดยเอนไซม์ของสารยาจากธรรมชาติ ; 3 การแปรเปลี่ยนทางชีวภาพโดยเซลล์พืชของสารยาจากธรรมชาติ เป็นเครื่องดื่มในบรรดาชา่ทุกประเภทที่มีครบครันด้วยลักษณะเด่นของ "อาหารเพื่อสุขภาพ"

        แต่ทว่า ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า แม้ว่าชาผูเอ๋อร์ประกอบด้วยองค์ประกอบบางตัวที่มีคุณสมบัติทางยา และดำรงไว้ซึ่งกลไกทางยาบางด้าน แต่ถ้าจะยกระดับชาผูเอ๋อร์เป็น "ยา" ที่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บบางโรคได้นั้น ถือเป็นการเข้าใจผิด เพราะว่า "อาหารเพื่อสุขภาพ" และ "ผลิตภัณฑ์ยา" มีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน "เป้าหมาย"(靶向) ของ "ผลิตภัณฑ์ยา" จะต้องชัดเจน และใช้กับผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด ส่วน "อาหารเพื่อสุขภาพ" ไม่ใช่การรักษา "เป้าหมาย" ของโรคภัยไข้เจ็บ เป็นอาหารเสริมเพื่อบำรงสุขภาพ และช่วยปรับดุลยภาพของสรีระให้อวัยวะต่างๆทำงานได้ตามปกติ

        ๒. แก่นแท้ "สารัตถประโยชน์ที่ 3" ของชาผูเอ๋อร์ คือการแปรเปลี่ยนทางชีวภาพโดยจุลินทรีย์ของสารที่มีคุณสมบัติทางยาจากพืชตามธรรมชาติ

        ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากนำสารอาหารที่ประกอบอยู่ในใบชาที่มีสรรพคุณเทียบเท่า "สารัตถประโยชขน์ที่ 3" เหตุเพราะนอกจากใบชาประกอบด้วยสารอาหาร เช่น โปรตีน น้ำตาล ไขมัน วิตามิน สารสี เพคทิน แร่ธาตุ เป็นต้น ยังประกอบด้วยสารสรรพคุณ เช่น ทีโพลิฟีนอล ทีโพลิแซคคาไรด์ คาเฟอีน ธีอะมิน เป็นต้น แต่สารอาหารและสารสรรพคุณเหล่านี้ล้วนถือเป็นสรรพคุณขั้นพื้นฐานของใบชาทั่วไป ยังห่างไกลพอสมควรกับ "สารัตถประโยชน์ที่ 3" ที่เราได้กล่าวอ้างถึง

        เป็นที่เชื่อกันมาอย่างยาวนานแล้วว่า ชาที่มีทีโพลิฟีนอลส์ปริมาณสูงถือเป็นชาที่มีคุณภาพดี ชาผูเอ๋อร์ไม่ว่าชาดิบเก่าหรือชาสุกซึ่งมีปริมาณทีโพลิฟีนอลส์น้อยกว่าชาเขียวและชาอูหลง นั่นแสดงว่าคุณภาพของชาผูเอ๋อร์ไม่สามารเทียบเท่ากับชาเขียวและชาอูหลงได้ นี่ก็เป็นการเข้าใจที่ผิดเช่นกัน เพราะทีโพลิฟีนอลส์ถือเป็นสารประกอบพื้นฐานที่ประกอบอยู่ในใบชาทุกประเภท และไม่ใช่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพใบชาโดยมาตรฐานเดียว มีผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าทีโพลิฟีนอลส์เป็นสาร "ขั้นเทพ" กล่าวกันว่ามันไม่เฉพาะสามารถขจัดสารอนุมูลอิสระแล้ว ยังสามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันการอุดต้นของเส้นเลือดหัวใจ ต่อต้านโรคมะเร็ง เป็นต้น นี้เป็นเพราะผลงานวิจัยเรื่องทีโพลิฟีนอลส์ในชาเขียวเมื่อทตวรรษที่ 80 มาถึงทศวรรษที่ 90 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะยกทีโพลิฟีนอลส์มีสรรพคุณเป็น "ยาหม้อ" ที่สามารถรักษาสารพัดโรคได้ เท่ากับเป็นการผูกมัดชาเขียวแล้วประโคมข่าวว่า ชาเขียวมีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาหลายสิบโรคได้ แต่คำกล่าวเหล่านี้ภายหลังถูกองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่นานาชาติ---ไม่รับรอง อย่างเช่น FDA(Food and Drug Administration) ของสหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศบนเว็บไซด์หน้าแรกเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2006 ว่า "FDA ได้ข้อสรุปยืนยันได้ว่าไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือเพื่อสนับสนุนว่าชาเขียวหรือสารที่สกัดจากชาเขียวสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจได้" และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมิน 105 บทความแล้ว ยังไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการดื่มชาเขียวสามารถลดการเกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ FDA ได้เคยประกาศแล้วว่า ชาเขียวไม่น่าจะมีความสามารถที่จะลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งชนิดอื่นๆได้ ซึ่งก็คือเป็นการปฏิเสธว่าชาเขียวสามารถต่อต้านโรคมะเร็งได้

        มีข้อเท็จจริงหนึ่งที่พวกเราควรจะต้องเข้าใจคือ เมื่อหลังจากสารทีโพลิฟีนอลส์เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะเข้าสู่ที่ลำใส้แล้ว จะมีผลกระทบต่อจุลินทรีย์ประจำพื้นที่และระบบเมตาโบลิซึมของร่างกาย แม้ว่าทุกวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน ปัจจุบันทางนานาชาติได้จัดทีโพลิฟีนอลส์เป้นเพียงสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสารปรุงแต่งอาหาร ไม่ถือเป้นสารอาหารเข้มข้นสูง และไม่ถือเป็นวัตถุดิยยาในสารบัญยา คุณค่าของทีโพลิฟีนอลส์คือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ แต่สิ่งที่เป็นคุณค่ามากกว่าคือสารอนุพันธ์ที่เกิดจากหมัก พูดอีกนัยหนึ่ง ทีโพลิฟีนอลส์จะต้องผ่านกระบวนการภายใต้เงื่อนไขที่มีจุลินทรีย์และเอนไซม์ชนิดต่างๆมีส่วนร่วมแปรเปลี่ยนเป็นสารอนุพันธ์ที่มีคุณค่าทางยา จึงมีศักยภาพที่เป็น "สารัตถประโยขชน์ที่ 3"

        เพราะฉะนั้น การแปรเปลี่ยนทางชีวภาพโดยจุลินทรีย์ของสารที่มีคุณสมบัติทางยาจากพืชตามธรรมชาติ คือแก่นแท้ที่ดำรงไว้ซึ่ง "สารัตถประโยชน์ที่ 3" ของชาผูเอ๋อร์ ถ้าหากปราศจาก "การแปรเปลี่ยนทางชีวภาพ" หรือ "การแปรเปลี่ยนทางชีวภาพ" ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สมบูรณ์แล้ว คำกล่าว "สารัตถประโยชน์ที่ 3" ก็แค่เป็นแนวคิดที่ปั่นขึ้นมา หรือเป็นการ "จับจันทร์ใต้น้ำ" ไม่มีความหมายแท้จริงใดๆ...

........ยังมีต่อ........


(แปล-เรียบเรียง-ย่อ จากบทความ 4 คุณค่าของชาผูเอ๋อร์ --- คุณค่าที่ 4 : คุณค่าขององค์ประกอบที่มีสรรพคุณและกลไกทางยา...เขียนโดย เฉินเจี๋ย)

โพสต์นี้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2558 ลงในเฟสเพจสมาคมผู้รักชาผูเอ่อร์แห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/groups/1465523990337272/

คุณค่าทางพัฒนาการ (7)
คุณค่าขององค์ประกอบที่มีสรรพคุณและกลไกทางยา (2)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น