4.9 เครื่องลายครามรัชศกหลงชิ่งยุคหมิง/明隆庆青花瓷
รัชศกหลงชิ่งยุคหมิง (ศักราชของจักรพรรดิจูไจ่โห้ว/หมิงมู่จง ปี1567-1572) เป็นช่วงเวลาเพียงแค่ 6 ปี เป็นช่วงที่ขนาดการผลิตของเครื่องเคลือบหดตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งปริมาณและชนิดของผลิตภัณฑ์ล้วนลดลง แต่ก็ไม่ขาดซึ่งผลงาน จากของสะสมที่ได้ตกทอดสืบมา จะเห็นได้ว่าเทคนิคการผลิตเครื่องลายครามรัชศกหลงชิ่งมีความประณีตมากกว่าของรัชศกเจียจิ้ง
• ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
เมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปลายรัชศกเจียจิ้ง ในรัชศกปีแรกจักรพรรดิหลงชิ่งก็ตัดสินใจยกเลิกกฎห้ามการติดต่อกันทางทะเล อนุญาตให้เอกชนดำเนินการค้าขายต่างประเทศทางทะเล จึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้ศูนย์กลางหัตถกรรมทางแถบพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่นอกชายฝั่งเข้าสู่การพัฒนาอย่างถ้วนหน้า สังคมยุคหมิงก็เกิดภาวการณ์ที่เปิดกว้างตามมา
ภายในช่วงเวลา 6 ปีอันสั้นของรัชศกหลงชิ่ง สถานการณ์การเมืองมั่นคง บ้านเมืองสงบสุข เศรษฐกิจพัฒนาเจริญก้าวหน้า อันเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีต่ออุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา อยู่ในภาวะการณ์พัฒนาที่ต่อเนื่องจากรัชศกเจียจิ้ง เครื่องเคลือบเตาหลวงได้สืบทอดรูปแบบของรัชศกเจียจิ้ง พร้อมทั้งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมหหลากหลายหลังจากการเปิดประเทศค้าขายต่างประเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ
• สารสีคราม
เครื่องลายครามรัชศกหลงชิ่งมีลักษณะเฉพาะเฉกเช่นเดียวกับของรัชศกเจียจิ้ง คือล้วนใช้สารสีคราม “หุยชิง” ในรัชศกเจียจิ้ง/หลงชิ่ง/ว่านลี่ล้วนใช้ “หุยชิง” แต่ของรัชศกหลงชิ่งมีความบริสุทธิ์มากกว่า สีลายครามจึงเป็นที่สดุดตามากที่สุดในสามรัชศกนี้ สำแดงสีที่เสถียรไม่ผิดเพี้ยน ในน้ำเงินเปล่งรัศมีสีม่วง สีออกเข้มสดกว่าของรัชศกเจียจิ้ง
• ลักษณะเฉพาะ
เครื่องลายครามและเครื่องเคลือบอู๋ไฉ่ถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของเตาหลวงรัชศกหลงชิ่ง กรรมวิธีการผลิตประณีต เครื่องลายครามได้รับมรดกที่เป็นเอกลักษณ์ของรัชศกเจียจิ้งมาทั้งหมด ในช่วงรัชศกนี้ได้เกิดปรากฎการณ์ “หลวงจ้างเอกชนเผา/官搭民烧” แล้ว เป็นการกระตุ้นให้เตาเอกชนเกิดการพัฒนา ชิ้นงานยอดเยี่ยมในบรรดาเครื่องลายครามเตาเอกชนรัชศกหลงชิ่งเทียบเท่าของเตาหลวง
• ตราประทับ
ตรายุคสมัยของภาชนะเครื่องเคลือบเตาหลวงก่อนรัชศกหลงชิ่งส่วนใหญ่จะใช้ตัวอักษร “製/ผลิต” ส่วนของรัชศกหลงชิ่งส่วนใหญ่จะใช้ตัวอักษร “造/สร้าง” ส่วนน้อยมากที่ใช้ตัวอักษร “製/ผลิต”
4.10 เครื่องลายครามรัชศกว่านลี่ยุคหมิง/明万历青花瓷
รัชศกว่านลี่ยุคหมิง (ศักราชของจักรพรรดิจูยี่จวิน/หมิงเสินจง ปี1573-1620) ช่วงรัชศกเป็นเวลา 48 ปี เป็นรัชศกที่ยาวนานที่สุดของราชวงศ์หมิง ระบบทุนนิยมเริ่มปรากฏขึ้นในรัชศกนี้ เศรษฐกิจสังคมมีความเจริญก้าวหน้า เนื่องจากทางพระราชวังและชนชั้นสูงมีความต้องการเครื่องเคลือบที่งานประณีต และการยกเลิกข้อห้ามการติดต่อกันทางทะเล ทำให้ผลผลิตเครื่องเคลือบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ชนิดเครื่องเคลือบหลากหลายมากขึ้น และยังปรากฏ “เครื่องเคลือบเพื่อการส่งออก/外销瓷” สำหรับการค้าต่างประเทศ ทั้งเครื่องเคลือบเตาหลวงและเตาเอกชนล้วนสามารถทำการส่งออก นี่เป็นการผลักดันให้ช่างฝีมือยิ่งมีความตั้งใจมากขึ้นเวลาทำการเผาผลิตเครื่องเคลือบ แล้วก็เป็นการกระตุ้นเกิดพัฒนาการก้าวขึ้นอีกขั้นในประวัติศาสตร์เครื่องเคลือบโดยปริยาย
• ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
จักรพรรดิว่านลี่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนม์มายุ 10 ขวบ เป็นฮ่องเต้องค์ที่ 13 ของราชวงศ์หมิง ในช่วงรัชศก 10 ปีแรก มีอัครมหาเสนาบดีทรงว่าราชการแผ่นดินแทน จนสามารถฟื้นฟูบ้านเมืองสู่ความรุ่งเรื่อง ประเทศมั่นคงเป็นปึกแผ่น
จักรพรรดิว่านลี่ในเยาว์วัยทรงต้องตรากตรำในตารางการเรียนที่แน่นเอี้ยด และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลเลี้ยงดูอย่างเคร่งครัดจากพระราชมารดา พระองค์จึงมีภาวะแรงต้านทานทางจิต มีอิทธิพลด้านไม่ค่อยดีต่ออุปนิสัยของพระองค์ นำไปสู่ให้พระองค์ไม้เสด็จท้องพระโรงทรงว่าราชกิจเป็นเวลาหลายสิบปีเฉกเช่นเดียวกันกับพระอัยกาจักรพรรดิเจียจิ้ง
• สารสีคราม
เครื่องลายครามในช่วงต้นรัชศกว่านลี่ยังใช้สารสีคราม “หุยชิง” ช่วงกลางรัชศกใช้สารสีครามผสมของ “หุยชิง”กับ “สือจื่อชิง” จนถึงรัชศกว่านลี่ปีที่ 24 (ปี1596) ได้เริ่มมาใช้ “เจ้อชิง” เนื่องจากในยุคนี้มีกรรมวิธีการผลิตสารสีครามแร่โคบอลต์แบบใหม่ จากวิธีการแช่แร่ให้ตกตะกอนแบบดั้งเดิมมาเป็นวิธีการเผาหลอม ยกระดับคุณภาพการเปล่งแสงสีของสารสีครามสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ “เจ้อชิง” สำแดงสีฟ้าหม่น น้ำเงินอมเทา ส่วนใหญ่จะเกิดการแผ่ซ่าน มีโทนสีที่ให้ความรู้สึกเงียบสงบ
• ลักษณะเฉพาะ
เครื่องลายครามช่วงต้นรัชศกว่านลี่เป็นการสืบสานเอกลักษณ์ของรัชศกเจียจิ้ง/หลงชิ่ง ในช่วงกลางปลายรัชศกว่านลี่เมื่อได้เริ่มใช้สารสีคราม “เจ้อชิง” รูปแบบของวัตถุภาชนะก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ค่อยๆก่อร่างเป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง แล้วตลอดจนมีอิทธิพลต่อรูปลักษณะของยุคปลายหมิงต้นชิง นักวิชาการบางส่วนได้จัดรัชศกว่านลี่เป็น “ช่วงเปลี่ยนแปลง” ของเครื่องเคลือบจีน
เอกลักษณ์คลาสสิกรูปแบบหนึ่งของเครื่องลายครามรัชศกว่านลี่ ก็คือลวดลายตกแต่งที่เขียนอย่างหนาแน่น ไม่มีธีมของภาพวาด เช่นเดียวกันกับยุโรปยุคศตวรรษที่ 16-17 ที่นิยม “ศิลปะโรโคโค (Rococo Art)” โดยนำมาเป็นรูปแบบของลวดลายตกต่างบน “เครื่องเคลือบเพื่อการส่งออก” ขายไปยังยุโรป ที่มีรูปลักษณะลวดลายอย่างหนาแน่น ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมจีนในช่วงยุคนั้น
• ตราประทับ
ตรายุคสมัยของภาชนะเครื่องเคลือบเตาหลวงรัชศกว่านลี่ส่วนใหญ่จะใช้ตัวอักษรข่ายซู “大明萬歷年製/ผลิตปีว่านลี่ต้าหมิง” แบบ “สองแถวสองวง”
ระยะปลายยุคหมิงในศตวรรษที่ 16-17 เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเปิดศักราชใหม่ของของการค้าทางทะเลของนานาชาติ ประเทศต่างๆในยุโรปต่างก่อตั้งบริษัทขนส่งทางเรือในมหาสมุทร ต่างแย่งชิงตลาดการค้า การปรากฏระบบทุนนิยมได้กระตุ้นการผลิตเครื่องเคลือบจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องลายคราม เครื่องลายครามเพื่อการค้าเป็นการตอบสนองต่อตลาดภายใน และก็ต้องตอบสนองต่อตลาดต่างประเทศ เครื่องลายครามปลายยุคหมิงจึงมีลักษณะเฉพาะแบบสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเด่นชัด ลักษณะเฉพาะแบบนี้อยู่นอกเหนือจากลักษณะเฉพาะแบบศิลปะในช่วงแรก เครื่องลายครามรัชศกหย่งเล่อ/ซวนเต๋อมีลักษณะเฉพาะแบบศิลปะอย่างชัดเจน ส่วนเครื่องลายครามรัชศกเจียจิ้ง/ว่านลี่มีลักษระเฉพาะแบบสินค้าโภคภัณฑ์อย่างแจ่มแจ้ง นี่ก็เป็นมนต์เสน่ห์ของเครื่องลายครามปลายยุคหมิง
รัชศกว่านลี่อยู่ในบั้นปลายของยุคหมิงแล้ว แต่ยังมีรัชศกเทียนฉี/ฉงเจินซึ่งเป็นสองรัชศกสุดท้ายของยุคหมิงมาปิดท้าย หลังจากชนเผ่าแมนจูได้รุกล้ำผ่านด่านมายึดครองจักรวรรดิจีน รัชศกซุ่นจื้อยุคชิงรับช่วงต่อจากราชวงศ์หมิง แล้วได้ไว้รากฐานให้เครื่องลายครามรัชศกคังซีอันยอดเยี่ยมที่ตามหลังมา ยุคปลายหมิงต้นชิงในช่วงระยะเวลาไม่ถึงครึ่งศตวรรษ ในประวัติศาสตร์เครื่องเคลือบดินเผาจีนยกให้เป็น “ช่วงเปลี่ยนผ่าน”
เอกสารอ้างอิง :
1. 明隆庆青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/v1364886.htm
2. 明万历青花瓷 : https://baike.sogou.com/m/fullLemma?lid=25568&g_ut=3
3. 嘉靖,隆庆,万历三朝瓷器-你最爱哪一款 : https://xw.qq.com/cmsid/20210508A03RAR00?f=newdc
4. 明万历青花瓷赏析 : https://k.sina.cn/article_5645072676_15078f924001001ndc.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น