วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

อะไรคือชาต้นใหญ่? อะไรคือชาต้นโบราณ?

 



        ต้นชาแบบไหนจัดเป็นต้นใหญ่? ต้นชาลักษณะไหนนับเป็นต้นโบราณ?

        เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดชุดนี้ บทความนี้จะขอกล่าวถึง 3 ด้าน :


        1)  เบื้องหลังของต้นใหญ่คือรูปทรงต้น เบื้องหลังของต้นโบราณคืออายุต้น


        “ชาต้นใหญ่” และ “ชาต้นโบราณ” สองคำนามนี้เป็นคำที่ได้ยินบ่อยในวงการตลาดชาผูเอ่อร์ พวกมันเป็นตัวแทนของคุณภาพสูงและราคาสูง ซึ่งเทียบเคียงกับ “ชาต้นเล็ก” ที่เป็นตัวแทนของคุณภาพต่ำและราคาต่ำ


        “ชาต้นใหญ่” คืออะไร? จุดสำคัญของมันอยู่ที่รูปทรงต้น เมื่อต้นชามีโครงร่างที่เจริญเต็มที่ มีความสูงระดับคนหรือสูงกว่า เวลาเก็บใบชาจะต้องปีนขึ้นไปเด็ด จะเรียกเป็นต้นใหญ่

        แน่นอน “ใหญ่” โดยการเทียบเคียงกับ “เล็ก” มาตรฐานของชาต้นใหญ่ในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละภูเขา จะไม่เหมือนกัน แต่ต้องใหญ่กว่าชาต้นเล็กในพื้นที่นั้น และต้องเจริญเต็มที่


        “ชาต้นโบราณ” คืออะไร? จุดสำคัญของมันอยู่ที่อายุต้น เมื่ออายุต้นของต้นชาถึง 100 ปีแล้ว เป็นที่ยอมรับต้นลักษณะนี้เรียกต้นโบราณ


        จากการสังเกตทั่วไป รูปทรงต้นใหญ่และอายุต้นมากจะไปด้วยกันเสมอ ต้นที่อายุต้นมากโดยทั่วไปรูปทรงต้นก็จะใหญ่ ทำนองเดียวกัน ต้นที่รูปทรงต้นใหญ่โดยทั่วไปอายุต้นก็จะมาก

        แต่อาจเป็นเพราะภัยธรรมชาติ หรือการตัดแต่งกิ่งโดยมนุษย์ อาจเกิดปรากฏการณ์ต้นชาจำนวนมากที่อายุต้นมาก แต่รูปทรงต้นกลับเล็ก ดังนั้น แนวคิดต้นโบราณกับแนวคิดต้นใหญ่ต้องแยกออกจากกัน

▲สวนเพาะปลูกต้นชาสถาบันชาเมืองเหมิงไห่ – ต้นชา 2 ต้นต่างปลูกเมื่อ 37 ปีที่แล้ว อายุต้นเหมือนกัน แต่รูปทรงต้นแตกต่างกัน ซ้ายเป็นต้นใหญ่ ขวาเป็นต้นเล็ก


        ถ้ายังงั้น กล่าวเฉพาะด้านคุณภาพของใบชาแล้ว รูปทรงต้นมีความสำคัญกว่า หรืออายุต้นมีความสำคัญกว่ากันแน่?


        2)  รหัสลับทางคุณภาพของใบชา


        เนื้อแท้ของใบชาก็คือพืชผลทางการเกษตร ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกฏเกณฑ์ทางคุณภาพของพืชผลทางการเกษตร


        อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพของพืชผลทางการเกษตร? – คืออัตราส่วนของธาตุอาหารกับผลผลิตรวม


        ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย อย่างเช่นต้นทุเรียน สมมุติต้นทุเรียนต้นหนึ่งในสภาวะปกติจะผลิดอกออกผลได้ 100 ลูก แต่เกษตรกรทำการปลิดดอกปลิดผลจำกัดให้ผลิดอกออกผลเพียง 20 ลูก ทุเรียน 20 ลูกนี้จะกินอร่อยกว่า 100 ลูกอย่างแน่นอน เนื่องเพราะธาตุอาหารทั้งหมดป้อนให้กับผลผลิตที่น้อย คือผลทุเรียนได้รับอาหารมากขึ้น


        กล่าวสำหรับใบชาแล้ว สภาวะในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สภาพแวดล้อมความสูงเหนือระดับน้ำทะเล พันธุ์ต้นชา ที่เหมือนกันทั้ง 3 ด้าน รูปทรงต้นก็จะเป็นตัวกำหนดผลผลิตที่ได้

        ชาต้นเล็กที่ปรากฏตัวในระยะเยาว์วัย(Juvenile Phase) จะมีการเจริญเติบโตที่เร็ว อัตราการแตกยอดสูง ทำการเด็ดเก็บยอดใบหนึ่งรอบแล้ว อีกสองวันก็จะแตกยอดใหม่มาอีก โดยองค์รวมได้ผลผลิตรวมสูง

        ชาต้นใหญ่จัดอยู่ในระยะเจริญเต็มวัย(Mature Phase) ไม่มีความจำเป็นในการเจริญเติบโตได้ดี อัตราการแตกยอดต่ำ โดยทั่วไปในแต่ละรอบปีจะเด็ดเก็บใบชาได้เพียงหนึ่งถึงสองรอบเท่านั้น ผลผลิตรวมต่ำ ดังนั้นภายใต้สภาวะเดียวกัน คุณภาพของชาต้นใหญ่สูงกว่าชาต้นเล็ก


        พูดอีกนัยหนึ่งว่า ถ้าหากมีการจัดการกับชาต้นใหญ่มาเป็นระยะเวลานานเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้อัตราการแตกยอดของต้นชาเพิ่มขึ้น ภายใต้ธาตุอาหารที่ป้อนยังเหมือนเดิม คุณภาพก็จะลดลง ส่วนชาต้นเล็กที่ผ่านวิธีการจัดการดูแลรักษาแบบชาต้นหวาย(藤条茶) โดยลดจำนวนการแตกยอดลง ทำให้ธาตุอาหารรวมศูนย์ป้อนให้กับยอดใบที่มีจำนวนน้อยลง คุณภาพก็ยกระดับสูงขึ้น

▲ชาต้นหวาย/藤条茶 – ผ่านการจัดการเด็ดเก็บและดูแลดัดแต่งต้นชาเป็นระยะเวลานานจึงสร้างออกมาในรูปแบบต้นหวาย เป็นผลึกทางภูมิปัญญาจากแรงงานของบรรพบุรุษอวิ๋นหนาน

▲ชาต้นหวาย/藤条茶 – มีเพียงยอดอ่อนและใบอ่อนจำนวนเล็กน้อยงอกอยู่บนส่วนยอดหวาย แต่ละใบล้วนได้รับแสงสาดส่อง ธาตุอาหารในหวายแต่ละเถาเพียงถูกลำเลียงส่งตรงไปยังใบบนยอด ดังนั้น สารองค์ประกอบในใบชาจึงบริบูรณ์ ชงทน ฉาชี่เต็มพลัง


        3)  ความลึกลับที่ซ่อนอยู่ในเบื้องหลังของอายุต้น


        ให้พึงระลึกเสมอว่า ต้นชาจะจัดอยู่ในระยะเยาว์วัยหรือระยะเจริญเต็มวัย รูปทรงต้นจะเป็นตัวกำหนด ซึ่งไม่ใช่อายุต้นเป็นตัวตัดสิน นี่เป็นเพราะเหตุอันใด?


        นี่คือคุณลักษณะพิเศษของพืช การแบ่งเซลล์ของพืชอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ในอวัยวะของพืชที่มีรูปร่างยาว เช่นลำต้นและราก การเจริญเติบโตของเซลล์เป็นแบบ Cell Elongation เซลล์จึงยึดยาวออกในทิศทางเดียวมากกว่าที่จะขยายทุกทิศทาง เมื่อต้นไม้ตลอดทั้งต้นในระยะเจริญเต็มวัยถูกทำลาย อย่างเช่นการตัดยอดต้นใหญ่ให้เตี้ยลง หรือการตัดกิ่งของต้นใหญ่ที่เจริญเต็มที่นำไปปักชำ เซลล์พืชที่มีลักษณะเดียวกันก็จะได้รับสัญญาณ แล้วก็ปรากฏตัวออกมาในระยะเยาว์วัยอีกครั้ง แล้วก็เจริญเติบโตอย่างบ้าคลั่ง


        ถ้ายังงั้นอายุต้นมีความหมายอะไรกันแน่?


        ก่อนอื่น ตั้งสมมุติฐานขึ้นมาว่า ต้นชาที่อายุต้นไม่มากแต่รูปทรงต้นใหญ่มาก มีหรือไม่? - มี

        อัตราการเจริญเติบโตและรูปร่างขนาดใหญ่เล็กเมื่อเจริญเติบโตของต้นชา ล้วนเกี่ยวข้องกับพันธุ์ต้นชา ธาตุอาหาร และวิธีการจัดการดูแลรักษา ถ้าหากต้นชาพันธุ์ใบใหญ่อวิ๋นหนานปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติในพื้นที่ที่แวดล้อมเหมาะกับการเจริญเติบโต มีธาตุอาหารครบบริบูรณ์ โดยไม่ทำการเด็ดเก็บใบชา ระยะ 20-30 ปีก็สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นชาที่เจริญเต็มที่และมีขนาดต้นสูงใหญ่

        ถ้าเช่นนั้น คุณภาพใบชาของต้นชาเป็นอย่างไร? เนื่องจากมันเจริญเต็มที่ ผลผลิตต่ำ ดังนั้น คุณภาพจะสำแดงออกทางคุณภาพสูงแบบที่ชาต้นใหญ่พึงมี


        กลับกัน มีต้นชาที่อายุต้นมากแล้วแต่รูปทรงต้นยังเล็กมากหรือไม่? - มี

        ถ้าหากต้นชาอายุเกิน 100 ปี ถูกตัดยอดต้นให้เตี้ยลงอย่างกะทันหัน จะเข้าสู่ระยะเยาว์วัยทันทีที่จะเกิดการแตกยอดใหม่อย่างบ้าคลั่ง ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็ดเก็บใบชาครั้งแล้วครั้งเล่า จึงสำแดงออกทางคุณภาพค่อนข้างต่ำที่ชาต้นเล็กพึงมี

▲ต้นชาไร่บนเขาหนานนั้วหมู่บ้านเซี้ยงหยาง – เป็นไร่ชาแบบทันสมัยยุคแรกของจีน อายุต้นชาเกือบ 100 ปี เนื่องจากวิธีการจัดการดูแลแตกต่างกัน จึงยังไม่เจริญเติบโตเป็นต้นใหญ่เช่นเดิม


        ถ้าเช่นนั้นอายุต้นไม่มีความหมายอะไรเลยหรือ?


        ไม่ใช่ ให้ใคร่ครวญอย่างละเอียดจากการสาธยายที่พึ่งผ่านมา จากระยะเยาว์วัยถึงระยะเจริญเต็มวัยอย่างสมบูรณ์ ยังต้องอาศัยเวลาในการเจริญเติบโต 20-30 ปี กล่าวในแง่ของการลงทุนแล้ว เป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น เมื่อถอดรหัสอายุต้นบนความหมายเช่นนี้แล้ว เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง


        แต่ถ้าหากไม่พิจารณาทางรูปทรงต้น เพียงมุ่งเน้นที่อายุต้นของต้นชาถึง 100 ปีหรือยัง อาจไม่สามารถเสาะหาชาดีได้


        ท้ายสุด ขอว่างเว้นพื้นที่สำหรับทุกท่านแสดงความคิดเห็น ชาต้นโบราณหลายร้อยปีในตลาด :

        ควรที่จะทำความเข้าใจอะไรกันแน่?

        มีความตระหนักอย่างไร?

        มีคุณภาพอย่างไรกันแน่?


เอกสารอ้างอิง :

什么样的茶树算大树?什么样的茶树又算古树?https://m.chayu.com/article/199688

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น